โครงงาน"ขนมครกแสนอร่อย


ระดับอนุบาล 1-2

บทคัดย่อ

โครงงานเรื่อง ขนมครกแสนอร่อย จัดทำขึ้นเพื่อให้นักเรียนชั้นอนุบาล 1 และชั้นอนุบาล 2 โรงเรียนบ้านคลองตะแบก ได้ทราบประโยชน์ของข้าวที่นอกจากจะเป็นอาหารไว้สำหรับรับประทานกับกับข้าวแล้ว ข้าวยังสามารถนำมาทำอาหารได้หลายอย่าง หลายประเภท โดยผ่านกระบวนการปรุงด้วยวิธีการที่หลากหลาย กลายเป็นอาหารที่ให้คุณค่าแก่ร่างกายของเรา ซึ่งการจัดกิจกรรมการเรียนรู้ในระดับอนุบาลนั้นควรเปิดโอกาสให้เด็กได้ลงมือกระทำกิจกรรมต่างๆ เพื่อให้เกิดองค์ความรู้จากการลงมือกระทำ จำ เข้าใจได้ด้วยตนเอง โดยเรียนรู้จากสิ่งที่ใกล้ตัวไปหาสิ่งที่ไกลตัว เรียนรู้จากสิ่งที่รู้ และไม่รู้มาก่อน หรือเรียนรู้จากความสนใจที่เกิดจากการจัดการเรียนการสอนในห้องเรียน

ดังนั้นการจัดการเรียนการสอนแบบโครงงาน เรื่อง ขนมครกแสนอร่อย เป็นการเรียนรู้ที่เกิดจากความสนใจจากสิ่งนักเรียนบางคนรู้ และไม่รู้ นำมาต่อยอดความคิดผ่านการเรียนการสอนที่เป็นลำดับขั้นตอน จากการลงมือปฏิบัติจริง เห็นได้ จับได้ ชิมได้ ซึ่งจากการเก็บสถิติการชิมขนมครกแสนอร่อยของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และชั้นอนุบาล 2 รวมทั้งหมด 33 คน ปรากฏผลการทำดังนี้

 รสชาติของขนมครก 3 รสชาติ

- รสหวาน 20 คน

- รสจืด 9 คน

- รสขม 4 คน

รวมทั้งหมด 33 คน

 ลักษณะของขนมครกที่ชิม

- นุ่มอร่อย 20 คน

- แข็ง 8 คน

- เละเกินไป 5 คน

รวมทั้งหมด 33 คน

1. ระยะเริ่มต้นโครงงาน (ระยะเวลา 16 – 20 พฤศจิกายน 2552)

ที่มาและความสำคัญของโครงการ

เนื่องจากการเรียนการสอนแต่ละครั้ง นักเรียนมีโอกาสได้เรียนรู้แบบโครงการน้อยมาก ซึ่งอาจจะมาจากปัจจัยแวดล้อมที่กระทบการเรียนการสอนอยู่บ่อยครั้ง หรือเกิดจากการขาดความสนใจในเรื่องที่เรียน สื่อการสอนที่ไม่กระตุ้นให้นักเรียนเกิดการเรียนรู้เพิ่มเติมหรือแม้แต่สาระการเรียนรู้ที่เตรียมไว้ไม่เอื้อต่อการจัดการเรียนการสอนแบบโครงการ ฉะนั้นการเรียนรู้ในครั้งนี้นับเป็นโอกาสที่ดีของนักเรียนชั้นอนุบาล 1 และนักเรียนชั้นอนุบาล 2 เพราะครูประจำชั้นทั้ง 2 ห้อง ได้จัดทำแผนการจัดประสบการณ์ตรงกัน คือ เรื่อง ข้าว ไว้ 2 สัปดาห์ สัปดาห์แรกจะเป็นหน่วยย่อย เรื่อง ข้าว ให้นักเรียนรู้จักว่า ข้าว คืออะไร ข้าวมาจากไหน สัปดาห์ที่สอง หน่วยย่อย คือ อาหารที่ทำมาจากข้าว ซึ่งมีมากมายหลายชนิด หลายประเภททั้งคาว หวาน ผ่านการปรุงด้วยกรรมวิธีที่หลากหลาย เช่น ต้ม นึ่ง ผัด หมัก ทอด เป็นต้น ซึ่งการทำอาหารดูเป็นเรื่องที่ วุ่นวายมากในระดับอนุบาล แต่ถ้าได้ลงมือกระทำจริงๆ แล้วจะพบความสนุกสนานมากกว่าความวุ่นวาย ที่เกิดจากความไร้เดียงสา กล้าๆ กลัวๆ ของนักเรียน ซึ่งครูต้องคอยดูแลอย่างใกล้ชิด ให้กำลังใจ เพื่อให้ผลงานออกมาสำเร็จ นักเรียนเกิดความภูมิใจในผลงานของตนเอง

ครูประจำชั้นทั้ง 2 ห้องจึงเปิดโอกาสให้นักเรียนชั้นอนุบาล 1 และชั้นอนุบาล 2 รวม ทั้งหมด 33 คน ได้เสนออาหารที่มาจากข้าวตามความสนใจ ดังนี้

1.พี่เฟิร์น “หนูอยากทำข้าวต้มคะ มันอร่อยดี ไม่ต้องเคี้ยวเลยคะ”

2.พี่มิ้น “หนูอยากทำขนมครกคะ เพราะว่าที่บ้านหนูมีที่ทำขนม

ครก ย่าหนูเคยพาทำด้วยคะ”

3. น้องเจมส์ “ผมอยากกินข้าวไข่เจียวครับ”

4. น้องป๋อ “ข้าวต้มมัดครับ แม่ผมเคยทำให้กิน”

5. พี่เบียร์ “ผมอยากทำบัวลอยครับ เพราะปั้นเป็นก้อนกลมได้เยอะ

ดีครับ”

6. น้องปิงปอง “หนูชอบกินข้าวผัด เอาผัดๆใส่หมูอร่อยดีคะ”

เมื่อได้รายชื่ออาหารที่นักเรียนเสนอมาแล้ว จากนั้นให้นักเรียนทั้งหมด 33 คน ถือสีไม้คนละ 1 แท่ง เพื่อนำไปใส่กระป๋องให้ตรงกับรายชื่ออาหารที่ตนเองสนใจ ผลปรากฏดังนี้

1. ข้าวต้ม 6 คน

2. ขนมครก 6 คน

3. ข้าวไข่เจียว 8 คน

4. ข้าวต้มมัด 5 คน

5. บัวลอย 3 คน

6. ข้าวผัด 5 คน

จากการลงคะแนนครั้งที่ 1 พบว่าข้าวไข่เจียว ได้คะแนนมากที่สุด 8 คะแนน ซึ่ง

ข้าวเจียวนั้น นักเรียนรู้จัก และรับประทานบ่อยแล้ว ครูจึงพยายามโน้มน้าวให้นักเรียนเลือกอาหารประเภทอื่นอีกครั้ง เพื่อจะได้มีโอกาสได้ลองทำ และชิมอาหารใหม่ๆ จึงนำรายชื่ออาหารที่ได้คะแนนมากที่สุด 3 รายการมาให้นักเรียนเลือกอีกครั้ง โดยครูแนะนำให้นักเรียนลองพิจารณาอาหารที่ นักเรียนไม่เคยรับประทาน หรือว่ารับประทานไม่บ่อย หรืออาหารที่มีรสชาติหวาน อร่อย ข้าวเรารับประทานบ่อยแล้ว เราควรลองอาหารใหม่ๆ ดูบ้าง ผลปรากฏดังนี้

1. ข้าวต้ม 7 คน

2. ขนมครก 21 คน

3. ข้าวไข่เจียว 5 คน

จากการลงคะแนนครั้งที่ 2 พบว่าขนมครก ได้คะแนนมากที่สุด มีนักเรียนเลือก 21 คน

ดังนั้น โครงงานอาหารที่ทำจากข้าวที่นักเรียนและครูร่วมกันทำ คือ ขนมครก

สมมติฐานการ

นักเรียนเกิดความคิดรวบยอดและสร้างแผนผังความคิดการทำขนมครกได้ทุกคน

วัตถุประสงค์

1. นักเรียนสามารถสร้างแผนผังความคิดของขนมครกได้

2. นักเรียนรู้จักส่วนผสมและอุปกรณ์ในการทำขนมครก

3. นักเรียนรู้จักการทำงานอย่างเป็นขั้นตอน

4. เพื่อฝึกทักษะการสังเกตสิ่งต่างๆ ที่เปลี่ยนแปลงในขณะทำขนมครก

5. เพื่อส่งเสริมให้เรียนรู้จากการมีส่วนร่วม และลงมือปฏิบัติจริง

2. ระยะพัฒนาโครงงาน

2.1 (แสวงหาความรู้ใหม่)

1. ส่งเสริมให้นักเรียนรู้จักแสวงหาความรู้ด้วยตนเอง (สอบถามผู้ปกครอง)

2. ส่งเสริมให้ความกล้าแสดงออกด้วยการพูด สอบถาม และแสดงความคิดเห็น

3. เกิดความคิดรวบยอดจากการเรียนรู้ และต่อยอดความรู้ใหม่

4. ฝึกกระบวนการคิดแก้ปัญหา

2.2 การดำเนินงาน

1. นำนักเรียนไปที่โรงอาหารเพื่อลงมือทำขนมครก

2. ครูสอบถามส่วนประกอบขนมครกมีอะไรบ้างจากประสบการณ์เดิมของนักเรียน

3. ครูนำส่วนประกอบของขนมครกมาวางให้นักเรียนดู สอบถามส่วนผสมแต่ละชนิดมีชื่อว่าอย่างไร

4. ครูสอบถามนักเรียนเกี่ยวกับลำดับขั้นตอนการผสมแป้งขนมครก จากนั้นให้นักเรียนสังเกตขณะที่ครูผสมส่วนประกอบขนมครก

5. แบ่งนักเรียนออกมาหยอดขนมครก 2-3 คน ลงมือหยอดขนมด้วยตนเอง และช่วยกันใส่หน้าขนมครกตามใจชอบ ครูดูแลอย่างใกล้ชิดเพื่อป้องกันความร้อนจากเตา

6. เมื่อสุกแล้วจึงช่วยกันแคะขนมครกออกจากเบ้า

7. นักเรียนผลัดเปลี่ยนกันมาหยอดขนมครก และหน้าขนมครกจากที่ครูเตรียมไว้จนครบทุกคน

8. นักเรียนและครูช่วยกันแคะขนมครกแสนอร่อย

3. ระยะที่ 3 รวบรวมสรุป (การจัดนิทรรศการแสดงผลงานให้ผู้อื่นได้ร่วมชม)

เด็กๆ ช่วยกันสรุป

1. นำเสนอผลงานการทำขนมครกจากภาพวาด

2. นักเรียนสร้างแผนผังความคิดของตนเอง หลังจากเรียนรู้แล้ว

3. นักเรียนร่วมกันสรุป และเกิดคำถามใหม่ พร้อมคำตอบจากการปฏิบัติกิจกรรม ดังนี้

ถาม ทำไมขนมครกต้องทำในเบ้าหลายเบ้า

ตอบ เพราะว่าเด็กๆ มีหลายคนทำหลายเบ้าได้เยอะดี

ขนมครกทำใส่เบ้าจะได้ขนมครกอันเล็กๆ กินง่าย ไม่เลอะปาก

คนขายอยากให้ขนมครกเป็นวงกลมเลยหยอดใส่ในเบ้า

เวลาเขาทำขายจะได้ขนมครกเยอะๆ ได้เงินเยอะๆ

ถาม ทำไมน้ำกะทิมี 2 ถุง (กะทิใสคือหางกะทิ, กะทิสีเข้มๆ คือหัวกะทิ)

ตอบ หางกะทินำมาผสมกับแป้งขนมครก หัวกะทิสีเข้มเหมือนนมนำมาทำ

หน้าขนมครกให้หวานอร่อย

ถาม ทำไมคุณครูใส่แครอทหน้าขนมครก

ตอบ คุณครูมีต้นหอมน้อย จึงใช้แครอททำหน้าขนมครกแทน

นักเรียนไม่เคยกินขนมครกหน้าแครอท เมื่อคุณครูพาทำก็อร่อย ชอบกิน

แปลกดี ,หน้าขนมครกบางอันใส่ข้าวโพดด้วย

ถาม ทำไมขนมครกบางชิ้นอ่อน, เละ, บางชิ้นแข็ง, บางชิ้นก็ขม, บางชิ้นก็ใหญ่

ตอบ ขนมครกที่อ่อน เละ เพราะว่าคุณครูใส่น้ำผสมแป้งมากเกินไป

ขนมครกชิ้นที่แข็ง เพราว่าคุณครูใส่น้ำน้อยเกินไป

ถาม คุณครูใส่น้ำมันลงในเบ้าขนมครกเพื่ออะไร

ตอบ ไม่ให้ขนมครกติดกระทะ, ทำให้แคะได้ง่าย, ทำให้ขนมกรอบ

ถาม ทำไมคุณครูแคะขนมครกไม่ออก , มันไม่เป็นชิ้นกลมๆ , ทำไมมันขาด

ตอบ เพราะขนมครกไหม้เพราะไฟแรง, เพราะกระทะเหนียว, นักเรียนแคะไม่

ออกมาเหนียวขนมครกเลยขาด

ถาม ขนมครกบางชิ้นทำไมมีรสหวาน , ทำไมมีรสจืด , บางชิ้นก็ขม

ตอบ ที่หวานเพราะคุณครูใส่น้ำตาล , ชิ้นที่มีรสจืดคุณครูไม่ใส่น้ำตาล

คุณครูใส่น้ำลงไปมากทำให้ความหวานจางลง , ชิ้นที่ขมเพราะว่ามันไหม้

ถาม ทำไมขนมครกมีขนาดวงกลมใหญ่ และวงกลมเล็ก

ตอบ เพราะคุณครูมีถาดเบ้าขนมครก 2 อัน ถาดแรกเป็นเหล็กมีหลายเบ้ามีขนาด

เล็ก ถาดที่สองทำมาจากดินเผา เป็นเบ้าขนาดใหญ่ มีเบ้าแตก 1 เบ้าถาม ทำไมคุณครูแคะขนมออกจากเบ้าง่ายขึ้น

ตอบ เพราะคุณครูแคะเก่งแล้ว, เพราะเด็กๆ แคะเองได้แล้ว , เพราะเราทำ

ขนมครกกันมากแล้วกระทะมันลื่นทำให้แคะง่ายขึ้น,

วันนี้เราทำขนมครกหน้าแครอทหน้าตาแปลกดีแต่ก็อร่อย,

ขนมครกอร่อยจัง, อยากให้คุณครูพาทำอีก

4. ผลปรากฏต่อเด็ก

1. พัฒนาการด้านจิตใจ เด็กๆ รู้จักการปรับตัวเข้าหาเพื่อน และรู้จักการทำงานร่วมกันเป็นกลุ่มให้งานสำเร็จลุล่วง และรู้จักการรอคอย

2. พัฒนาการด้านสังคม เด็กๆ รู้จักการช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และรู้จักการรอคอยการช่วยกับเก็บของเข้าที่ได้เรียบร้อย

3. พัฒนาการด้านสติปัญญา เด็กๆ ได้ทดลองทำกิจกรรมด้วยตนเอง ค้นคว้า ทดลองคิดหาเหตุผล แก้ปัญหาด้วยตนเอง จดจำกระบวนการทำงานและลำดับขั้นตอนที่ถูกต้อง

4. แยกแยะรสชาติ และรูปร่างลักษณะของอาหารได้ดังนี้

 รสชาติของขนมครก 3 รสชาติ

- รสหวาน 20 คน

- รสจืด 9 คน

- รสขม 4 คน

รวมทั้งหมด 33 คน

 ลักษณะของขนมครกที่ชิม

- นุ่มอร่อย 20 คน

- แข็ง 8 คน

- เละเกินไป 5 คน

รวมทั้งหมด 33 คน

5. นำเสนอผลงานการทำขนมครกเป็นรูปภาพ และเล่าเรื่องราวจากภาพได้

6. สามารถสร้างแผนผังความคิดหลังจากการทำขนมได้ดีขึ้น

5.ผลปรากฏต่อครู

1. ครูศึกษาข้อมูลการทำขนมครกที่ถูกต้อง และความพร้อมที่จะให้ความรู้เด็ก ตอบ

คำถามในสิ่งที่เด็กอยากรู้

2. นักเรียนเกิดการเรียนรู้หลังเรียนดีขึ้นกว่าก่อนเรียน

3 ผู้ปกครองสนใจ ให้ความร่วมมือและสนับสนุน ในการจัดกิจกรรมการเรียนการ

สอนเป็นอย่างดี

4. ครูเกิดทัศนคติที่ดีต่อการเรียนการสอนแบบโครงงาน ทำให้เกิดกำลังใจในการจัดการเรียนรู้แบบโครงงานต่อไป

หมายเลขบันทึก: 323323เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 23:02 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

สวัสดีค่ะ น้องครูKroonamm

ยินดีที่ได้รู้จักค่ะ

ขอบคุณคะที่แวะมาอวยพร

ฝากเนื้อฝากตัวด้วยนะคะ

  • สวัสดีค่ะkroonamm
  • มาเยี่ยมชมบันทึกค่ะ

ขอบคุณมากค้าที่แวะมาทักทาย

เด็กๆๆน่ารักจัง

โครงงานน่าสนใจนะคะ  อยากเห็นภาพการจัดกิจกรรมด้วยจังเลย  อยากเอาไปเป็นตัวอย่างจัดกิจกรรมกับเด็กที่ห้องบ้างจัง

จรรยาพร จิตรกิติรัตน์

โครงงานที่จัดทำขึ้น ok.นะคะเยี่ยมมากเลยค่ะเก็บรายละเอียดความคิดเห็นจากเด็กๆได้ดีมากๆค่ะ

ข้อมูลดีมากขอคำแนะนำช่วยหาโครงการให้ทีคะ่ไม่เคยสอนอนุบาล

ดีมาณค่ะขอบคุณค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท