หนึ่งขวบปีแห่งการเรียนรู้คู่คุณธรรม วิทยุเด็ก เยาวชน ครอบครัว สยชช.


ทั้งหมดนี่ก็เป็นข้อมูลที่ได้จากเวทีเสวนาแบบมีส่วนร่วมวงเล็ก ระหว่างทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับสถานีวิทยุของเรา และกลุ่มผู้ฟัง ที่นำมาบันทึกไว้เป็นประโยชน์ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจ

หนึ่งขวบปีแล้วที่ สยชช. เราจัดตั้งสถานีวิทยุชุมชนขึ้นโดยเงินบริจาคและสินทรัพย์ส่วนตัวของผมกับภรรยา ด้านผู้จัดก็จิตอาสามาทำกุศลผลิตรายการวิทยุด้วยกัน ไม่มีโฆษณา ไม่มีเรี่ยไร ถามว่าอยู่ได้อย่างไร เราก็บอกว่า เราทำเล็กๆ คิดว่ามาทำมาบุญด้วยกัน จะขาดทุนกำไรอย่างไรไม่ใช่เรื่องที่จะนำมาคิด เอาเป็นว่า คนจัดก็มีความสุขใจที่ได้ฝึกตนเอง ได้ทำสิ่งดีๆให้กับคนอื่น ค่าใช้จ่ายไม่ได้มีอะไรมากมายเพราะเราตั้งเป้าจะทำเล็กๆไม่โลภ บางครั้ง ก็สามารถนำกิจกรรรมในบางโครงการเข้ามาอุดหนุนบ้าง แต่ส่วนใหญ่เราก็รับผิดชอบเสียสละเงิน เสียสละเวลาและแรงงานเอง  

มีมากก็ทำมาก มีน้อยก็ทำน้อย ตามกำลังก็พอเพียง

อย่างไรก็ตาม ก็ถือว่าเป็นบุญของพวกเรา เมื่อ 5 ธันวาคมที่ผ่านมา ทาง สยชช. เราก็ได้มีโอกาสต้อนรับ อ.ปัณณพร ไพบูลย์วัฒนกิจ และคณะนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยแม่โจ้  ดั้นด้นมาพันกว่าโค้งจากเชียงใหม่ มาช่วยเก็บข้อมูลและร่วมวิเคราะห์การจัดรายการวิทยุของเราตามโครงการศึกษาวิจัยเชิงปฎิบัติการแบบมีส่วนร่วม “แนวทางในการสร้างสรรค์รายการวิทยุชุมชนสำหรับเด็ก เยาวชนและครอบครัว” ภายใต้การสนับสนุนของแผนงานสื่อสร้างสุขภาวะเยาวชน (สสย.) งานนี้วิทยุเล็กๆของเราก็รู้สึกดีใจมาก

ที่ผ่านมา ถึงแม้ผมจะนำความรู้ทางวิชาการมาช่วยหนุนเสริมงานวิทยุที่นี่ แต่ก็หนักไปในทางสังคมวิทยามานุษยวิทยาซะมาก คราวนี้ได้นักวิชาการสายนิเทศศาสตร์มาช่วยสะท้อนงานวิทยุ ก็ได้ข้อมูลน่าสนใจมากมายที่จะนำไปปรับใช้ต่อ ทำให้บุญของเรามีพลานุภาพมากขึ้น

วันนี้ เด็ก เยาวชน และคนชราในละแวกบ้านก็ได้มาร่วมวงเสวนาเล็กๆกันที่ศาลาประชุมของสโมสร อ.ปัณณพร ช่วยเราวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายของวิทยุที่นี่

               บรรยากาศการเสวนา

เราพบว่า แม้คนจัดรายการเกือบทั้งหมดเป็นเยาวชนแต่เด็ก กับเยาวชนในหมู่บ้านกลับไม่สนใจฟังวิทยุ เนื่องจากฟังเพลงจาก MP3 ง่ายกว่า และติดกับสื่อกระแสหลักเช่น ทีวี  บางกลุ่มก็บิดแมงกะไซต์ออกไปเที่ยวเตร่ ผู้ฟังส่วนใหญ่ที่สนใจฟังวิทยุที่นี่กลับเป็นผู้สูงอายุ และพ่อแม่ คนวัยทำงาน

ดังนั้น แม้จะเป็นวิทยุเด็ก เยาวชน และครอบครัวก็ต้องมองว่าเราจะสื่ออะไรกับกลุ่มคนเหล่านี้ (ผู้สูงอายุ และพ่อแม่ คนวัยทำงาน )

ก.      วิเคราะห์เนื้อหาที่ผู้ฟังน่าจะได้รับ 

1.กลุ่มพ่อแม่ ควรมีเนื้อหากระตุ้นให้พ่อแม่หันมาสนใจลูก ให้เวลาลูก เลี้ยงลูกให้ถูกทาง อย่าเอาแต่หาเงิน เพราะเด็กปัจจุบันมีปัญหามากขึ้นๆ สาเหตุสำคัญมาจากพ่อแม่

2. กลุ่มผู้สูงอายุจะสนใจฟังธรรมะ ถือว่าจัดมาถูกทางแล้ว แต่น่าจะเพิ่มสัดส่วนรายการธรรมะให้มากขึ้น

3.คนวัยทำงาน สนใจเรื่องปากท้อง อาชีพ  ข่าวสารเรื่องสุขภาวะในการทำงาน การปรับตัวให้เข้ากับงาน นายจ้าง เพื่อนร่วมงาน

 ภาพรวม ที่ผ่านมาหนึ่งปีเนื้อหาส่วนผู้สูงอายุ และพ่อแม่ คนวัยทำงาน ของเรายังน้อย เพราะที่ผ่านมาไปพุ่งเป้าที่เด็ก เยาวชน มากเกินไป ต่อนี้ไปก็จะปรับผังใหม่ เน้น เป็นสื่อกลางที่ก่อให้เกิดความเข้าใจกันในครอบครัว เสิมสร้างธรรมะประจำบ้าน และสุขภาวะในการทำงาน

 ข.      วิเคราะห์รูปแบบรายการ

1.ที่ผ่านมาหนึ่งปีเราทดลองเปิดเพลงหลายแนว แนววัยรุ่น แนวเด็ก แนวเพลงลูกทุ่ง  แนวเพลงไทใหญ่ (ร่วมสมัย) แต่นี้ไปก็จะปรับให้ตรงกับความสนใจผู้ฟังมากขึ้น คือ เพลงไทใหญ่ และเพลงลูกทุ่ง

2.กลุ่มผู้ฟังเป็นคนไทใหญ่และนิยมใช้ภาษาไทใหญ่ในการพูดคุย ดังนั้นวิทยุชุมชนก็ควรจะเป็นรายการภาษาไทใหญ่ด้วย

3.ควรปรับรายการให้เป็นแบบสนทนากันในรายการ สร้างการมีส่วนร่วมให้มาก อาทิ

-      โดยเชิญชาวบ้านเข้าร่วมจัดรายการ

-       สัมภาษณ์ผู้นำชุมชน , ชาวบ้าน นำข่าวจากชุมชนมาออกอากาศ

-       กระตุ้นให้มีการขอเพลงเข้ามามากขึ้น อาจจะโทรมาหรือส่ง SMS ก็ได้

-       มีเกม ของรางวัล เช่น แจกวิทยุทรานซิสเตอร์

-       ประชาสัมพันธ์ให้หน่วยงานต่างๆ เช่น สธารณสุข, โรงพยาบาล, โรงเรียน , อบต. ทราบเพื่อหาแนวร่วม

ค.   วิเคราะห์ช่วงเวลาออกอากาศ

1.สยชช. เราจัดเปิดสถานีเฉพาะวันเสาร์-อาทิตย์ เก้าโมงเช้าถึงบ่ายสามโมง  เนื่องจากเป็นช่วงที่เด็ก เยาวชนว่างมาจัดรายการ (วันธรรมดาเด็กๆไปเรียน)  ควรจัดผังรายการให้สอดคล้องกับเวลาของกลุ่มผู้ฟัง เช่น คนเฒ่าคนแก่ชอบตื่นเช้ามืด รายการธรรมมะน่าจะเริ่มแต่เช้าสักหกโมงเช้า (อันนี้ทำยาก เพราะสโมสรเราคนน้อย และมีงานเยอะ ให้ตื่นเช้ามืดมาจัดรายการจะหนักเกินไป)

 ง.  วิเคราะห์รูปแบบการประเมิน

ที่ผ่านมา วิทยุเราได้รับการประเมินแบบปากต่อปาก คือชาวบ้านช่วยกันติชมฝากผ่านๆกันมาบ้าง เด็กๆไปเจอแม่ค้าที่ตลาด แม่ค้าก็บอกมาบ้าง แต่ถือว่าเป็นการประเมินแบบมีส่วนร่วมที่จริงใจ ใช้ได้อยู่ นอกจากนี้เราก็ยังมีการประเมินภายในกันอย่างสม่ำเสมอ ซึ่งถือว่าเพียงพอกับวิทยุชุมชนเล็กๆอย่างเราอยู่แล้ว

 ทั้งหมดนี่ก็เป็นข้อมูลที่ได้จากเวทีเสวนาแบบมีส่วนร่วมวงเล็ก ระหว่างทีมวิจัยของมหาวิทยาลัยแม่โจ้ กับสถานีวิทยุของเรา และกลุ่มผู้ฟัง ที่นำมาบันทึกไว้เป็นประโยชน์ต่อไป สำหรับผู้ที่สนใจ

 

   "ทีมงานวิทยุจิตอาสา สยชช."

ฟังข่าวการจัดเวทีครั้งนี้ย้อนหลังได้ทาง “รายการเพื่อนคนพันธุ์มอ” ช่วงข่าวเพื่อนคนพันธุ์มอ วันที่ 11 ธ.ค. 2552 ที่  http://www.thaicr.org/node/333?page=2  ครับ

หมายเลขบันทึก: 323101เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

พี่ยอดครับ...

สบายดีนะครับ

ผมมาสวัสดีปีใหม่...

มา กทม.เอิ้นบอกกันบ้างนะครับ

Hny1

เอก จตุพร วิศิษฏ์โชติอังกูร

 

ขอบคุณเอกสำหรับ สคส.ที่ส่งมา (What a wonderful world!)

  • ทางผมสบายดีครับ กำลังพัฒนางานปีหน้าอยู่
  • ครอบครัวมีความสุขมากครับ พ่อมีเวลาอยู่บ้านมากขึ้นกับชีวิตแบบพอเพียง
  • ปี 53 ผมก็ขอให้สุขสมหวัง โดยเฉพาะการเรียนนะครับ

ทางนักศึกษาที่เข้ามาเก็บข้อมูล พอได้ข้อมูลไปวิเคราะห์แล้ว เค้า feedback อะไรกลับมาบ้างครับ

ตอนนี้ ทีมวิจัยยังไม่ feedback กลับมา อีกไม่เกินสามเดือน ทางทีมวิจัยคงได้ข้อสรุปจากการวิเคราะห์ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท