ฟื้นความหลัง: ๕ ปีสึนามิกับมรดกโลกในเอเซีย


สึนามิ มรดกวัฒนธรรม ถ้ำผีหัวโต ผลกระทบของสึนามิ ถ้ำไวกิ้ง

           ครบรอบ ๕ ปีสึนามิในวันนี้  เลยถือโอกาสมีส่วนร่วมด้วย  จำได้ว่าเคยเขียนบทความเรื่องสึนามิไว้เมื่อเกิดขึ้นใหม่ๆ  ซึ่งตีพิมพ์ในจุดประกาย  ของกรุงเทพธุรกิจ เมื่อวันที่ ๖ มกราคม ๒๕๔๙  เลยหยิบขึ้นมาปัดฝุ่นอีกครั้ง   เพราะอาจจะเป็นเรื่องที่น่าสนใจสำหรับท่านที่สนใจเรื่องของโบราณคดี   

            บทเขียนนี้ไม่ได้เขียนเพิ่มเติม  จึงไม่ได้ update ข้อมูลเกี่ยวกับศูนย์ข้อมูล/นิทรรศการต่างๆ ที่มีดำเนินงานโดยรัฐและเอกชนในปัจจุบัน

 

ผลกระทบของคลื่นยักษ์สึนามิต่อมรดกโลกในเอเซีย

 

เช้าวันอาทิตย์ที่ ๒๖ ธันวาคม ๒๕๔๗  ข่าวคลื่นยักษ์สึนามิ กระหน่ำบริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน   ทำลายชีวิตทรัพย์สิน  และทรัพยากรธรรมชาติของประเทศต่างๆ  ไม่ว่าจะเป็นประเทศไทย  อินโดนีเซีย  ศรีลังกา มัลดิฟส์  รวมทั้งประเทศในทวีปอาฟริกา  เป็นเรื่องที่น่าเศร้าสลดใจสำหรับการเริ่มต้นปีระกา ๒๕๔๘

รายงานประจำวันที่เราได้บริโภคจากสื่อประเภทต่างๆ  มักจะเป็นความเสียหายที่เกิดขึ้นกับชีวิตผู้คน  บ้านเรือน  สิ่งของ   สภาวะจิตใจของผู้ที่อยู่ในเหตุการณ์  รวมทั้งมรดกทางธรรมชาติ  ขณะที่เรื่องราวความเสียหายเกี่ยวกับแหล่งมรดกทางวัฒนธรรมมักจะไม่ค่อยมีใครทราบเท่าใดนัก... 

ท่านรู้หรือไม่ว่า?   ในเอเชียมีมรดกโลกหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ธรณีพิบัติในครั้งนี้...

 

เครือข่ายโบราณคดีโลกเพื่อมนุษยชาติ

เมื่อเกิดสึนามิขึ้น  เครือข่ายขององค์กรทางโบราณคดีได้รวมตัว  ทำงานประสานงานกันอย่างรวดเร็ว 

เพื่อสำรวจว่ามีแหล่งโบราณคดีกี่แห่งในแต่ละประเทศได้รับความเสียหายบ้าง  และระดมทุนเพื่อช่วยเหลือด้านมานุษยธรรมและวัฒนธรรม     องค์กรที่สำคัญทางวัฒนธรรมได้แก่ องค์กรยูเนสโก (UNESCO) หรือองค์กรด้านการศึกษา  วิทยาศาสตร์และวัฒนธรรมแห่งสหประชาชาติ  (United Nations Educational, Scientific and Cultural Organization),  อิคครอม (ICCROM) หรือ ศูนย์ศึกษาว่าด้วยเรื่องการสงวนรักษาและการซ่อมแซมทรัพย์สินทางวัฒนธรรมระดับนานาชาติ (International Centre for the Study of  Preservation and Restoration of Cultural Property) และ สภาโบราณคดีโลก (World Archaeological Congress)  เป็นต้น

            เมื่อเกิดธรณีภิบัติขึ้น  โคอิชิโร  มัสสูรา (Koichiro  Matsuura)  ผู้อำนวยการองค์กรยูเนสโก  ซึ่งมีสำนักงานใหญ่อยู่ที่ประเทศฝรั่งเศส    ได้ประกาศให้ความช่วยเหลืออย่างฉุกเฉินทันที  และได้ทำการสำรวจแหล่งมรดกโลกในเขตที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ   โดยการประสานงานกับตัวแทนประจำภูมิภาคเอเชียและแปซิฟิก   แล้วส่งทีมจากประเทศสมาชิกไปทำการสำรวจ    นอกจากนี้ยังมีการเชื่อมโยงข้อมูลกับองค์กรวัฒนธรรมจากทั่วโลก  และส่งข่าวสารทางอินเตอร์เนตให้กับประเทศสมาชิกทั่วโลกได้รับทราบอย่างทันควัน (ดูที่ www.unesco.org)

ปาลี  วิเจรัสเน  (Pali Wijeratne )นายกของอิคครอมศรีลังกา  ได้ประสานงานกับสำนักงานใหญ่ที่กรุงโรม   และมีการตั้งคณะอนุกรรมการเฉพาะกิจระดับชาติเพื่อสำรวจแหล่งมรดกวัฒนธรรม    แต่ได้ทำการช่วยเหลือด้านมนุษยธรรมก่อนเป็นอันดับแรก   Pali  ได้ขอความร่วมมือจากผู้เชี่ยวชาญในประเทศและนานาชาติมาร่วมกันศึกษาประเมินผลกระทบจากสึนามิ    และได้รายงานว่า ขณะนี้มหาวิทยาลัย ๗ แห่งของศรีลังกา  ประกอบด้วยนักโบราณคดี  นักประวัติศาสตร์  สถาปนิก  เป็นต้น   ได้ทำการสำรวจความเสียหายทั้งประเทศ และกำหนดพื้นที่อันตรายของแหล่งโบราณคดี    จากนั้นก็จะมาวางแผนป้องกัน  และซ่อมแซมบูรณะต่อไป 

            ดร. แคลร์  สมิทธ   (Claire Smith) นายกสภาโบราณคดีโลก  ซึ่งเป็นองค์กรอิสระที่เกิดจากการรวมตัวของนักโบราณคดีจากทั่วโลก   ที่มีหลักในการดำเนินงานเพื่อธำรงไว้ซึ่งความยุติธรรมและสันติภาพของมนุษยชาติ  โดยใช้โบราณคดีเป็นบทเรียนของอดีตในการเข้าใจปัจจุบันและอนาคต  ได้ประสานกับนักโบราณคดีในเครือข่ายโดยเฉพาะนักโบราณคดีท้องถิ่นของประเทศที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ    เพื่อให้ความช่วยเหลือทั้งในด้านข้อมูลทางวิชาการ  และผู้เชี่ยวชาญ  ในการสำรวจสภาพ  ฟื้นฟู  หรือบูรณะ   พร้อมทั้งเป็นสื่อสารในการเผยแพร่ข้อมูลให้ประชาคมได้รับทราบและมีส่วนร่วมในการช่วยเหลือเพื่อนมนุษย์

การร่วมมือร่วมใจขององค์กรระดับนานาชาติเป็นเรื่องที่น่าสนใจและน่ายินดี   เพราะแสดงให้เห็นว่าโลกใบนี้ไร้พรมแดนของเชื้อชาติ  ศาสนา  และวัฒนธรรม    วิกฤตการณ์ในครั้งนี้ทำให้โลกเล็กลง   ข้อมูลข่าวสารในโลกยุคดิจิตอลทำให้มนุษย์ได้อยู่ใกล้กันมากขึ้น  ติดต่อสัมพันธ์กันง่ายมากขึ้น  ไม่ใช่ต่างคนต่างอยู่ดั่งเดิม   เพราะต่างถือว่ามรดกทางวัฒนธรรมของประเทศหนึ่ง   ก็เป็นมรดกของโลกที่มวลมนุษยชาติทุกคน  พึงช่วยกันดูแลและธำรงรักษาเพื่อไว้ลูกหลานของมนุษย์ทุกคนในอนาคต

 

มรดกโลกในเอเซีย

          ยูเนสโก  ได้รับรายงานจากผู้เชี่ยวชาญขององค์กรมรดกโลก และเจ้าหน้าที่ท้องถิ่นของแต่ละประเทศได้สำรวจและประเมินว่ามีแหล่งมรดกโลกในเอเชียหลายแห่งที่ได้รับผลกระทบจากสึนามิ

            แหล่งมรดกโลกที่อยู่ในพื้นที่ซึ่งได้รับผลกระทบ  มีทั้งแหล่งมรดกโลกทางโบราณคดีและทางธรรมชาติ  ดังมีรายงานต่อไปนี้

            ประเทศศรีลังกา    แหล่งโบราณคดีเมืองเก่ากัลเล (Galle) และป้อมปราการ  (Fortification) ตั้งอยู่ในเขตจังหวัดภาคใต้ของประเทศ      เมืองโบราณแห่งนี้ได้ถูกน้ำท่วมและมีรายงานเบื้องต้นว่าได้รับผลกระทบและถูกทำลายเสียหายไม่มากอย่างที่คาดคิด  โดยเฉพาะแหล่งมรดกทางโบราณคดีที่อยู่ใต้น้ำซึ่งเป็นเมืองท่าโบราณ   แต่ป้อมปราการของเมืองยังดำรงสภาพเดิมอยู่  อย่างไรก็ดี ห้องปฏิบัติการโบราณคดีใต้น้ำได้สูญเสียอุปกรณ์ไปจำนวนหนึ่ง

            เมืองเก่ากัลเลถูกสร้างขึ้นมาเมื่อประมาณ คริสศตวรรษที่ ๑๖ โดยชาวโปรตุเกส  เมืองกัลเลได้เจริญสูงสุดในช่วงคริสศตวรรษที่ ๑๘ ก่อนที่อังกฤษจะเข้ามาปกครองอินเดีย

            นอกเหนือจากมรดกโลกแล้ว  วัดวาอาราม  บ้านเมืองโบราณหลายแห่งก็ได้รับความเสียหาย  แต่ก็สามารถจะบูรณะได้ตามเดิม

ประเทศอินเดีย    อลัน ครอเกอร์  (Alan Croker) จากตัวแทนอีคครอมจากออสเตรเลีย ได้รายงานจากประเทศอินเดีย  ซึ่งเขาเพิ่งเดินทางกลับมา ดังนี้

            แหล่งโบราณคดีมหาบาลีบุรัม (Mahabalipuram)  รัฐทมิฬนาดู  และวัดแห่งพระอาทิตย์ของโกนารัก (Sun temples of Konarak) ในประเทศอินเดีย  เป็นแหล่งโบราณคดีที่ตั้งอยู่ในบริเวณที่ได้รับผลกระทบ  แต่ก็ไม่ได้รับความเสียหายที่รุนแรง

            กลุ่มโบราณสถานมหาบาลีบุรัมได้สร้างขึ้นโดยกษัตริย์ราชวงศ์ปัลลาวะ  ระหว่างคริสศตวรรษที่ ๗-๘ ศาสนสถานแห่งนี้   ได้นำหินจากบริเวณชายฝั่งโคโรแมนเดล (Colomandel coast)  มาแกะสลักเป็นภาพนูนต่ำลอยตัวตามผนังอาคาร  และ มีประติมากรรมของพระศิวะนับพันๆ องค์  นอกจากนี้ยังมีศาสนสถานที่เป็นถ้ำ เรียกว่า “แมนดาปาส” (Mandapas)  และภาพสลักนูนต่ำขนาดใหญ่อยู่กลางแจ้งซึ่งเป็นที่รู้จักในนามของ “ผู้สืบสายโลหิตของพระแม่คงคา” (Decent of the Ganges)

            สำหรับวัดแห่งพระอาทิตย์ของโกนารัก  ตั้งอยู่บริเวณอ่าวเบงกอล  เป็นศาสนาสถานสร้างขึ้นประมาณ   คริสศตวรรษที่ ๑๓   เพื่อเป็นตัวแทนของพระอาทิตย์ โดยสร้างเป็นสัญลักษณ์รูปรถม้า   มีการตกแต่งที่ล้อรถและมีม้า ๖ ตัว  อาจกล่าวได้ว่าเป็นศาสนสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของศาสนาพราหมณ์

            ประเทศอินโดนีเซีย  มีรายงานเบื้องต้นจากยูเนสโกว่ามรดกโลกธรรมชาติทั้งสองแห่ง คือ  อุทยานแห่งชาติอูจุง กูโลน (Ujung Kulon National Park) และป่าร้อนชื้นของสุมาตรา  (Tropical Rainforest of  Sumatra) ในประเทศอินโดนีเซีย  ได้รับความเสียหายไม่มาก  แต่เจ้าหน้าที่อุทยานได้เสียชีวิตและสูญหายไปจำนวนหนึ่ง  แหล่งมรดกทางธรรมชาติทั้งสองแห่งเป็นแหล่งที่มีความสำคัญในแง่ของความหลากหลายทางชีวภาพโดยเฉพาะพืชพรรณและสัตว์ป่าของป่าเขตร้อนชื้น  โดยเฉพาะภูมิประเทศหินปูนแบบคาสต์และถ้ำต่างๆ ในเทือกเขาหินปูน

            อย่างไรก็ดี  นอกเหนือจากแหล่งมรดกโลกทางธรรมชาติแล้ว   ยังมีแหล่งโบราณคดีในอาเจห์ที่ได้รับผลกระทบ  ซึ่งเราแทบจะไม่เคยทราบมาก่อน  หากเราพิจารณาจากแผนที่ประวัติศาสตร์แล้ว  จะพบว่าอาเจห์ตั้งอยู่บริเวณช่องแคบมะละกา  ซึ่งมีความสำคัญมานับตั้งแต่สมัยศรีวิชัย  มัชปาหิต  อยุธยา  และสมัยอาณานิคมที่ดัชท์เข้ามาตั้งสถานีการค้า VOC   

เดา ตานูเดอโจ  (Daud Tanudirjo)  อาจารย์และนักโบราณคดี  จากมหาวิทยาลัยกาดจาห์ มาดา  (Gadjah Mada) ประเทศอินโดนีเซียได้แจ้งให้ผู้เขียนทราบว่า  แหล่งโบราณคดีในกรุงบันดา อาเจห์ ที่อยู่ภายในรอบๆ เมืองส่วนใหญ่ไม่ได้รับความเสียหาย  แต่เมืองสมัยอาณานิคมของดัชท์  เช่นสุสานของชาวดัชท์ได้รับความเสียหาย  ที่น่าสะเทือนใจและเป็นเรื่องที่น่าเศร้าที่สุดคือนักโบราณคดีและเจ้าหน้าที่ของสำนักงานสงวนรักษามรดกทางโบราณคดีที่เมืองบันดา  อาเจห์ได้เสียชีวิตไปครึ่งหนึ่ง...  ขณะนี้ทางสำนักประวัติศาสตร์และโบราณคดี  กระทรวงวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวได้ดำเนินการสำรวจ  ทำแผนผังและประเมินความเสียหายที่เกิดขึ้น  คาดว่าจะเสร็จภายในต้นเดือนกุมภาพันธ์

อิคครอมได้รายงานเพิ่มเติมว่าพิพิธภัณฑ์ในเมืองบันดา  อาเจห์   อาคารก็ยังอยู่ในสภาพที่ปลอดภัย

แม้ว่ามีอาคารและโบราณวัตถุประเภทภาชนะดินเผาความเสียหายบางส่วน 

 

จากมรดกโลกสู่มรดกท้องถิ่น

ส่วนในประเทศไทย   มีแหล่งโบราณคดีหลายแห่งที่อยู่ในเขตที่ได้รับผลกระทบจากภัยพิบัติโดยเฉพาะในเขตจังหวัดภูเก็ต  พังงาและกระบี่

กรมศิลปากร  ได้สำรวจและประเมินสถานภาพของแหล่งโบราณคดีเหล่านี้  พบว่าไม่ได้รับความเสียหายเลย  เพราะแหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ตั้งอยู่ในพื้นที่สูง   วสุ  โปษยะนันท์   สถาปนิกจากกรมศิลปากร รายงานความเสียหายให้กับอิคครอมในฐานะของผู้ช่วยเลขานุการขององค์กรนี้    ซึ่งกรมศิลปากรเป็นสมาชิกอยู่  ได้รายงานว่าแหล่งโบราณคดี 20 แห่งในบริเวณตั้งแต่จังหวัดตรังจนถึงภูเก็ตไม่ได้รับความเสียหายแต่อย่างใด     

            แหล่งโบราณคดีเกาะคอเขา  จังหวัดพังงา  เป็นแหล่งโบราณคดีที่เป็นเมืองท่าโบราณในพุทธศตวรรษที่ 9  มีกลุ่มโบราณสถานที่เกาะคอเขาประมาณ ๘ แห่ง   แหล่งโบราณคดีแห่งนี้อยู่ใกล้กับชายฝั่งทะเลมากที่สุดในบรรดาแหล่งโบราณคดีทั้งหมด   หมู่บ้านชายฝั่งถูกทำลายไปอย่างย่อยยับทั้งหมด    แต่แหล่งโบราณคดีแห่งนี้ได้รับความเสียหายเพียงเล็กน้อยบริเวณขอบๆ   เนื่องจากตั้งอยู่ภายในแผ่นดินบนเนินเขา  ซึ่งเป็นที่สูง

            นอกจากนี้บริเวณชายฝั่งทะเลอันดามัน  ยังมีแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญอีกหลายแห่ง  ซึ่งก็ไม่ได้รับผลกระทบใดๆ จากคลื่นยักษ์  เพราะส่วนใหญ่อยู่ภายในแผ่นดิน  ห่างจากชายฝั่งทะเลหลายกิโลเมตร  ส่วนแหล่งโบราณคดีที่อยู่ในกลางทะเล  เพิงผาหรือถ้ำก็อยู่ในตำแหน่งที่สูง    ได้แก่

            แหล่งโบราณคดีถ้ำหลังโรงเรียน  และถ้ำหมอเขียว  จังหวัดกระบี่  แหล่งโบราณคดีทั้งสองแหล่งเป็นแหล่งโบราณคดีก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีที่เก่าที่สุดเท่าที่พบในภาคใต้ย้อนกลับไปถึงเมื่อประมาณ ๔๐,๐๐๐-๒๕,๐๐๐ ปีมาแล้ว

            แหล่งโบราณคดีถ้ำผีหัวโต  จังหวัดกระบี่  เป็นแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสีสมัยก่อนประวัติศาสตร์  อายุประมาณ ๒๐๐๐-๓๐๐๐ ปีมาแล้ว  ที่มีชื่อเสียงของจังหวัดกระบี่

            แหล่งโบราณคดีถ้ำไวกิ้ง   เป็นแหล่งโบราณคดีภาพเขียนสี  สมัยประวัติศาสตร์อายุประมาณพุทธศตวรรษที่ ๓-๑๗  มีรูปเรือของชาติต่างๆ  เช่นเรื่อใบยุโรป  อาหรับ เป็นต้น  นักโบราณคดีเชื่อว่าภาพวาดที่ถ้ำแห่งนี้เป็นส่วนหนึ่งของหลักฐานของเส้นทางการเดินเรือระหว่างตะวันตกกับตะวันออก  และยังมีแหล่งโบราณคดีรอบๆ อ่าวพังงา  และอ่าวลึก จังหวัดพังงา  ซึ่งเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์และชุมชนโบราณอีกจำนวนมากกว่า ๒๐ แหล่ง

            อย่างไรก็ดี    ในขณะนี้กรมศิลปากรก็ได้สำรวจและเลือกพื้นที่บ้านบางเนียง  ตำบลคึกคัก  อำเภอตะกั่วป่า  จังหวัดพังงา, บริเวณหาดไม้ขาว  จังหวัดภูเก็ต และ บริเวณที่เรือตำรวจน้ำมาเกยติ้นที่จังหวัดพังงา   เพื่อเสนอให้จัดทำอนุสรณ์สถานธรณีพิบัติอย่างทันควันตามคำปรารภของนายกรัฐมนตรี      

ขณะเดียวกัน  ผู้เขียนคิดว่ากรมศิลปากร  กระทรวงวัฒนธรรมมีความจำเป็นเร่งด่วนในการดำเนินงานสำรวจพื้นที่ ๖ จังหวัด   เพื่อสำรวจและประเมินผลกระทบทางด้านวัฒนธรรมและแหล่งโบราณคดีว่ามีสภาพความเสียหายมากน้อยเพียงใดอย่างไร  และจะมีแนวทางในการป้องกันสำหรับอนาคตอย่างไร   คงต้องเร่งทำอย่างจริงจังควบคู่กันไป    ทั้งนี้เพราะเราทราบจากรายงานการศึกษาของสารานุกรมวัฒนธรรมภาคใต้ พ.ศ. ๒๕๒๙, โครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคใต้)  พ.ศ. ๒๕๓๒  และหนังสือที่ระลึกพิธีเปิดพิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติถลาง  จังหวัด  ภูเก็ต  พ.ศ. ๒๕๓๒   ว่ามีแหล่งโบราณคดีทีอยู่ในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต  พังงาและกระบี่ถึง ๕๐ กว่าแห่ง    หากรวมอีก ๓ จังหวัดก็น่าจะเกือบๆ ร้อยแห่ง     

แม้ว่าในปัจจุบัน  จะมีเพียงรายงานเบื้องต้น  ทำให้ทราบเพียงว่าแหล่งโบราณคดีทั้งหมด   แทบจะไม่มีความเสียหายใดๆ   แต่กรมศิลปากรก็จำเป็นต้องให้ความสำคัญกับการเร่งสำรวจลงพื้นที่จริง   เพื่อตรวจสอบสภาพแหล่งโบราณคดีอย่างละเอียดทั้ง  ๖ จังหวัดและรายงานให้สาธารณชนได้ทราบ   เราหวังว่าปลายเดือนนี้ก็คงจะได้รับรายงานที่สมบูรณ์ต่อไป....

 

เรียนรู้จากภูมิปัญญาโบราณเพื่ออนาคต

            ข้อสังเกตที่น่าสนใจ คือแหล่งโบราณคดีส่วนใหญ่ทั้งในศรีลังกา  อินเดีย  อินโดนีเซียและประเทศไทย  มักไม่ได้รับความเสียหายจากแผ่นดินไหวและคลื่นสึนามิ   น่าจะเป็นเพราะการรู้จักเลือกทำเลที่ตั้งบ้านเรือนที่อยู่อาศัย    พวกเขามีภูมิปัญญาดั้งเดิมที่สะสมและสืบทอดมาหลายรุ่นหลายศตวรรษ   ที่สำคัญพวกเขารู้จักธรรมชาติรอบตัวเขาเป็นอย่างดี     ดังนั้นจึงคนโบราณจึงมักเลือกตั้งถิ่นฐานบริเวณที่สูง   มีภูเขาเป็นที่กำบัง  สำหรับหลบภัยธรรมชาติจากลมหรือคลื่นที่แรง   

ยกเว้นแหล่งโบราณคดีประเภทเมืองท่าโบราณ  และเมืองในสมัยอาณานิคม   ซึ่งมักจะสร้างภายในอ่าวใกล้กับชายฝั่งทะเล  เช่นบริเวณเมืองท่าในช่องแคบมะละกา  ในอาเจห์  อินโดนีเซีย  เป็นต้น

            ดังนั้น  เราควรจะเรียนรู้จากอดีต  และอดีตของปัจจุบันที่เพิ่งจะเกิดเมื่อไม่ถึงหนึ่งเดือนที่ผ่านมา  ว่าการปฏิสัมพันธ์ระหว่างคนกับธรรมชาตินั้นจำเป็นต้องมีความสมดุลย์   เราต้องรู้จักธรรมชาติ   เราจึงสามารถจะอยู่กับธรรมชาติได้อย่างกลมกลืน 

กรณีของประเทศไทย   เราควรจะต้องหยุดการบุกรุก  ทำลาย  ขยายพื้นที่ชายฝั่งทะเล   เพียงเพื่อเร่งรื้อฟื้นการท่องเที่ยวสำหรับนักท่องเที่ยวชาวต่างประเทศ   เรา ควรมีข้อกำหนดขอบเขต/บริเวณที่อนุญาตให้ก่อสร้างโรงแรมหรือรีสอร์ทไม่ให้อยู่ใกล้กับทะเลมากจนเกินไป    น่าจะขยับพื้นที่ของสิ่งก่อสร้างประเภทต่างๆ ให้ห่างจากชายฝั่งทะเลพอสมควร   เราน่าจะลองศึกษาการตั้งชุมชนสมัยโบราณจากภูมิปัญญาบรรพบุรุษมาพิจารณาร่วมกับการวางแผนฟื้นฟูเมืองใหม่   เพื่อความปลอดภัยสำหรับอนาคต  และเพื่ออนุรักษ์ฟื้นฟูพื้นที่ชายฝั่งให้กลับไปสู่ธรรมชาติ  

ส่วนชาวบ้านที่ตั้งถิ่นฐานอยู่ใกล้ธรรมชาติมาเป็นเวลาหลายชั่วคน  เช่นชาวมอแกน  หรือชาวเล ก็ควรจะให้เขากลับไปดำรงวิถีชีวิตวัฒนธรรมแบบเดิม   โดยน่าจะมีการระดมสมองจากนักมานุษยวิทยาและนักวิชาการทางวัฒนธรรมก่อนที่จะจัดการเปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตของพวกเขาอย่างสิ้นเชิง  ด้วยการจัดระเบียบให้เป็นแบบเมืองของนักวางแผนทั้งหลาย

หากเปลี่ยนวิกฤตให้เป็นโอกาส   มีการจัดระเบียบได้โดยยุติธรรมดั่งที่ตั้งใจ (ไม่ใช่ไล่คนจนออกแล้วให้อภิสิทธิ์นายทุนแทน!)   เราจะมีพื้นที่ชายหาดสาธารณะที่กว้างใหญ่  ไม่มีสิ่งก่อสร้างที่รกตาทำลายทัศนียภาพของธรรมชาติที่งดงาม  หรือมีมลพิษทางเสียงของเครื่องยนต์ประเภทต่างๆ ที่รกหู

ถ้าเราต้องการชื่นชมธรรมชาติ     ก็ควรจะปล่อยให้ธรรมชาติเป็นไปตามครรลองของมันเอง   เสียงคลื่นที่กระทบฝั่ง...น่าจะเป็นเสียงดนตรีที่มีความไพเราะที่สุด

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 323100เขียนเมื่อ 26 ธันวาคม 2009 12:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 พฤษภาคม 2012 18:16 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท