ชุมชนเข้มแข็งปัญหาใหญ่ของคนไทย


การพัฒนาประเทศต้องสร้งความเข้มแข็งให้ชุมชน ปัญหาใหญ่สร้างอย่างไรให้เข้มแข็ง

          มีโอกาสทำงานในวงการพัฒนา  ผลการพัฒนาที่ผ่านมาหลายคนสรุปว่าเป็นการพัฒนาที่ผิดพลาด  ครอบครัวจึงไม่อบอุ่น  ชุมชนไม่เข้มแข็ง  ได้แต่โครงสร้างพื้นฐานและการผลิตทีมุ่งเน้นการตลาด  การพัฒนาสังคมก็เป็นการพัฒนาแบบการตลาด  การพัฒนาการเมืองก็เป็นพัฒนาแบบการตลาด  ทุกอย่างจึงเป็นธุรกิจ  สังคมจึงเป็นสังคมธุรกิจ  การเมืองก็เป็นการเมืองแบบธุรกิจ  การที่ชุมชนจะเข้มแข็งได้ก็ต้องทำชุมชนให้เป็นชุมชนธุรกิจ

           การพัฒนาชุมชนในปัจจุบันเป็นการพัฒนาที่สนองความต้องการของบุคคลอื่น  ที่กำหนดว่าชุมชนจะเข้มแข็งและดีได้ต้องเป็นอย่างนั้น  เป็นอย่างนี้ตามที่บุคคลอื่น ๆ กำหนด  เช่น  ภาคราชการ  ภาคการเมือง  องค์กรพัฒนาเอกชน  เป็นต้น  ทั้งที่ผลของการพัฒนาคนชุมชนเป็นผู้รับ  คนในชุมชนไม่มีโอกาสกำหนดชีวิตของตนเองว่าจะเข้มแข็งด้วยตัวเองอย่างไร  แบบไหน  ความเข้มแข็งของชุมชนจึงมีความหลากหลายตามต้นแบบที่ยัดเยียดให้กับชุมชน

            ตอนเข้ามาสู่วงการพัฒนาชุมชนใหม่ ๆ ถูกสอนไว้ว่า  การพัฒนาชุมชนให้เข้มแข็งและยั่งยืนนั้น  ชุมชนต้องพัฒนาตัวเอง  โดยคนในชุมชนเป็นผู้คิด  คนในชุมชนทำตามที่คิด  คนในชุมชนต้องเป็นผู้รับประโยชน์จากที่ตัวเองได้คิดและทำตามที่คิด  จึงมีโครงการต่าง ๆมากมายที่กำหนดให้คนในชุมชนเป็นผู้คิด  แต่มีกรอบว่าคิดอย่างไรตามแบบที่กำหนดไว้ให้  ตามศักยภาพของตนเองที่มี  ตามที่ผู้สั่งให้คิดกำหนดกรอบไว้ให้  แต่ก็เป็นจุดเริ่มต้นที่ชุมชนมีส่วนร่วมในการคิดเพื่อพัฒนาตนเองไปสู่ความเข้มแข็ง

            ความเข้มแข็งของชุมชนจึงมีจุดเริ่มต้นที่คนชุมชนจะต้องเป็นผู้คิดและทำการพัฒนาตามที่ตนเองได้คิดไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ  จึงมีต้นแบบของชุมชนที่เป็นที่ยอมรับกันว่าได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง  คิดเอง  ทำเอง  และรับผลประโยชน์เอง  มาช่วยกันออกแบบเครื่องมือที่จะให้ชุมชนอื่นคิด  เพื่อที่จะพัฒนากระบวนการคิดของชุมชนให้เป็นระบบ  ได้มีการระดมสมองของผู้นำชุมชนทั่วประเทศในการคิดค้นเครื่องมือในการพัฒนากระบวนการคิดของชุมชนขึ้น

            เครื่องมือที่ได้จากการระดมสมองของผู้นำชุมชนทั่วประเทศ  ในการส่งเสริมกระบวนการคิดของชุมชนให้ชุมชนมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่อง  เพื่อให้ชุมชนมีความเข้มแข็งพึ่งตนเองได้  เรียกเครื่องมือนี้ว่า  "ระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.)"  เป็นเครื่องมือที่ส่งเสริมกระบวนการคิดของชุมชนอย่างเป็นระบบ  ส่งเสริมให้ชุมชนมีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องด้วยความสมัครใจ  การพัฒนามีเป้าหมายที่ชัดเจนปรากฎเป็นลายลักษณ์อักษร  บ่งบอกได้ว่าในปัจจุบันชุมชนนี้เป็นอย่างไร  อนาคตชุมชนนี้จะเป็นอย่างไร  ชุมชนเป็นผู้คิดและกำหนดอนาคตของตนเอง  และพัฒนาตามที่ตัวเองเป็นผู้กำหนด 

             ระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.)  เป็นเครื่องมือ  เป็นองค์ความรู้ที่ทุกคนนำไปใช้ได้  ถ้ารู้วิธีการใช้เครื่องมือ  และจะเป็นประโยชน์อย่างยิ่งในการพัฒนากระบวนการคิดของชุมชน  เพื่อพัฒนาชุมชนให้มีความเข้มแข็ง  และจะเป็นความเข้มแข็งของชุมชนอย่างแท้จริง  เพราะเครื่องมือ  มชช.  คนในชุมชนเป็นผู้คิดเอง  ทำเองด้วยความสมัครใจ  ผลประโยชน์ก็จะเป็นผู้รับเอง ผลของการพัฒนาจะยั่งยืน  และวัดได้ว่าชุมชนเข้มแข็งอย่างไร  ปัญหาใหญ่ของประเทศก็จะหมดไป  

              

            

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3223เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 14:49 น. ()แก้ไขเมื่อ 15 มิถุนายน 2012 11:49 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)
ไอศูรย์ ภาษยะวรรณ์

เรื่อง ระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.) เป็นประเด็นที่น่าสนใจมาก จึงเข้าไป Download เป็นไฟล์ PowerPoint ที่

www.geocities.com/cdchon2001/standard.ppt
www.cdd.go.th/cddoc/jiravath/mcc_3.pps

ขอศึกษาสักระยะหนึ่งก่อน ค่อยแวะเข้ามา "แลกเปลี่ยนเรียนรู้" ครับ

- "ความเข้มแข็งของชุมชนจึงมีจุดเริ่มต้นที่คนชุมชนจะต้องเป็นผู้คิดและทำการพัฒนาตามที่ตนเองได้คิดไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ จึงมีต้นแบบของชุมชนที่เป็นที่ยอมรับกันว่าได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง คิดเอง ทำเอง และรับผลประโยชน์เอง"

- ข้อความนี้คือหลักคิด หลักการที่ควรจะเป็น แต่ในความเป็นจริงเมื่อแปลงหลักคิด หลักการไปสู่การปฏิบัติมีปัจจัยที่เกี่ยวข้องอีกมากมายที่ทำให้หลักคิดหลักการที่กล่าวไว้ไม่เป็นจริง

- ระบบมาตรฐานงานชุมชน (มชช.) เป็นเครื่องมือที่ดีอีกเครื่องมือหนึ่ง แต่คนที่จะนำไปใช้อาจไม่มีทักษะ ความชำนาญที่ดีพอ รวมทั้งคนที่ดูแลเครื่องมือ(สโตร์)ก็ไม่ค่อยได้บำรุงรักษา หรือเอาออกมาใช้งานอย่างจริงจัง หรือถ้านำมาใช้ก็เป็นไปในทำนอง "เอากระบี่ไปหั่นผัก" ใช้เสร็จก็ไม่บำรุงรักษาทิ้งไว้ในซอกหลืบ พอถึงเวลาได้งบประมาณก็นำออกมาใช้แบบผ่านไปอีกครั้งหนึ่ง

- ถ้าจะให้ชุมชนเข้มแข็งจริงๆ นอกจาก "คนในชุมชนจะต้องเป็นผู้คิดและทำการพัฒนาตามที่ตนเองได้คิดไว้ให้บรรลุผลสำเร็จ จึงมีต้นแบบของชุมชนที่เป็นที่ยอมรับกันว่าได้มีการพัฒนาตนเองอย่างต่อเนื่องและเข้มแข็ง คิดเอง ทำเอง และรับผลประโยชน์เอง" ผมเพิ่มว่าต้องให้โอกาสเขาจัดการตนเองได้ด้วยอย่างมีอิสระ รวมทั้งมีกระบวนการเรียนรู้ มีการบริหารจัดการที่ดีด้วย

- ผมเสนอเพิ่มเติมว่า "ทุกภาคส่วนต้องกระจายอำนาจ กระจายทรัพยากรลงไปให้ชุมชนจัดการด้วยตนเองมากขึ้น พร้อมทั้งให้หน่วยงานทั้งหลายเป็นฝ่ายสนับสนุน ตัวอย่างที่ชาวบ้านเขาจัดการกันเองแล้วมีประสิทธิภาพ มีผลสัมฤทธิ์ที่ดีมากมาย ตัวอย่างเช่น ชาวบ้านบริหารจัดการสร้างศาลากลางบ้านด้วยเงิน เอสเอ็มแอล ราคา 250,000 บาท ได้เก้าอี้ พัดลม มิเตอร์ไฟฟ้า ตู้ เครื่องเสียง โดยการบริจาคเพราะเขาร่วมมือกันศาลาหลังนี้จึงเป็นของพวกเขา แต่ในขณะเดียวกันที่หน่วยงานรัฐสร้างในรูปแบบเดียวกัน เสปค เดียวกันทุกประการ แต่ในราคา 399,900 บาท และก็มีเฉพาะตัวอาคารโล่ง ๆ เท่านั้น และเป็นศาลาของหลวง หรือ ชาวบ้านคิดอะไรไม่ออกนำไปซื้อเต๊นท์ในขนาด รูปแบบ วัสดุเดียวกันได้ในราคา 9,500 บาท แต่รัฐจัดซื้อในราคา 12,000 บาท เป็นต้น

- คือจะสื่อว่าต้องเปลี่ยนวิธีงบประมาณของแผ่นดินด้วย เขียนกฎหมาย ออกระเบียบให้โอกาสประชาชนสามารถเข้าถึง และใช้งบประมาณได้โดยตรง ไม่ต้องรอให้ผู้ปารถนาดีที่อยู่ในรัฐบาลกลาง ราชการส่วนกลางเก็บภาษีแล้วค่อยแบ่งมาให้เป็นทอด ๆ ถ้าต้องการให้ชุมชนเข้มแข็งจริงต้องกล้าที่จะเปลี่ยนแปลงเช่นนี้(ขบถต่อโครงสร้าง และระบบเดิมจึงจะถึงฝั่งฝันที่คุณพูดได้(ตัวอย่างนี้ก็แค่ปัจจัยหนึ่งเท่านั้น ยังมีอย่างอื่น ๆ ประกอบอีกมากมายครับ)

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท