ภาคี KM ท้องถิ่น


ลปรร. เพื่อขับเคลื่อนสังคมไทยสู่สังคมเรียนรู้

ภาคี KM ท้องถิ่นนัดประชุม ลปรร. ประสบการณ์และแผนยุทธศาสตร์กันทุกๆ ๒ เดือน    ขอเอารายงานการประชุมคราวที่แล้วมาลงไว้

รายงานการประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น - ภาคประชาชน  - ประชาสังคม (ครั้งที่ 16)
วันอังคารที่ 23 สิงหาคม  2548   เวลา 9.00 - 2.00 น.
ณ  ห้องประชุม สกว  ชั้น 14   อาคารเอส เอ็ม ทาวเวอร์

ถนนพหลโยธิน  สามเสนใน  กรุงเทพฯ


ผู้เข้าร่วมประชุม                     

1.      นครสวรรค์ฟอรั่ม
นายแพทย์สมพงษ์  ยูงทอง       นายแพทย์ศัลยกรรมประสาท รพ. สวรรค์ประชารักษ์
2.      คณะมนุษยศาสตร์และสังคมศาสตร์ มหาวิทยาราชภัฏนครสวรรค์
อาจารย์พรรณภัทร  ใจเอื้อ        อาจารย์ประจำโปรแกรมพัฒนาชุมชน
3.      สำนักงานเกษตรอำเภอบรรพตพิสัย จ. นครสวรรค์
คุณวีระพัฒน์ นพพันธ์             นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร 6ว
4.   โครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์         หัวหน้าโครงการ
คุณสมโภชน์ นาคกล่อม           ผู้ประสานงานวิชาการ
          5.  สำนักงานเกษตรจังหวัดสมุทรสงคราม
                   คุณสรณพงษ์  บัวโรย             นักวิชาการส่งเสริมการเกษตร
                   คุณสุริยา  หรือประเสริฐ           แกนนำชุมชน
          6.   คณะสังคมศาสตร์และมนุษย์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
                   รศ.ดร. เนาวรัตน์  พลายน้อย     อาจารย์ประจำภาควิชาศึกษาศาสตร์
          7.   กลุ่มงานวิจัยและพัฒนาระบบส่งเสริมการเกษตร กรมส่งเสริมการเกษตร
                   คุณธุวนันท์  พานิชโยทัย          ผู้อำนวยการ
5.  สถาบันส่งเสริมการจัดการความรู้เพื่อสังคม (สคส.)
ศ.นพ. วิจารณ์ พานิช              ผู้อำนวยการ
คุณชุติมา อินทรประเสริฐ        
คุณอุรพิณ  ชูเกาะทวด            เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
คุณสุภาภรณ์  ธาตรีโรจน์         เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
คุณนภินทร  ศิริไทย               เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ
เริ่มประชุม 9.00 น.     

วาระที่ 1.        เรื่องเพื่อทราบ

วาระที่ 1.1        ความคืบหน้าโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชน
ท้องถิ่น
 คุณทรงพล เจตนาวณิชย์ หัวหน้าโครงการความร่วมมือเพื่อพัฒนาสถาบันจัดการความรู้ของชุมชนท้องถิ่น (สรส.) นำเสนอความคืบหน้าของการดำเนินงานโครงการฯ สรุปได้ว่า นักจัดการความรู้ท้องถิ่น (นจท.) ต้องเชื่อมโยงกับองค์กรหรือองค์การบริหารส่วนตำบล (อบต.) ให้เห็นความสำคัญของการจัดการความรู้และผลักดันให้เกิดวิทยาลัยชุมชน/สถาบันการจัดการความรู้ของท้องถิ่นขึ้น โดย อบต. จะเป็นกลไกที่ตอบสนองต่อการเรียนรู้หลายๆ วิธีในชุมชน และทำเรื่องการเรียนรู้ในชุมชนเชื่อมโยงกับแหล่งเรียนรู้ภายนอกได้  ซึ่งขณะนี้กำลังดำเนินการอยู่ 17 อบต. ใน 5 จังหวัดคือ สุพรรณบุรี อ่างทอง สิงห์บุรี ชัยนาท และอุทัยธานี  และอีก 1 เครือข่าย โดยในแต่ละพื้นที่กำลังผลักดันให้เกิดเป็นรูปธรรมของการจัดการความรู้ เพื่อสร้างการเปลี่ยนแปลงในแต่ละเรื่องตามความสนใจของสมาชิก อบต.   เพื่อพัฒนาสมาชิก อบต. ให้เป็นคุณกิจ/คุณอำนวย/นักจัดการความรู้ท้องถิ่น
แผนงานระยะต่อไปคือการจัดตลาดนัดความรู้ระดับเครือข่าย โดยผู้เข้าร่วมคือผู้ที่มีบทบาทต่างๆ ใน อบต. จากหลายๆพื้นที่เข้ามาเรียนรู้ความก้าวหน้าและความสำเร็จที่แต่ละคนทำในพื้นที่ของตนเอง เพื่อสกัดความรู้ออกมาเป็นขุมความรู้และแก่นความรู้ ทำให้ได้เรียนรู้ซึ่งกันและกันจากการปฏิบัติจริงของ อบต. อื่นๆ  
ในส่วนของการเชื่อมโยงกับสหกรณ์นั้น คุณทวี วิริยฑูรย์  แกนนำหอการค้า สหกรณ์ออมทรัพย์  และเป็นเครือข่ายที่ปรึกษาของ อบต. ปากพนังตะวันออก จ.นครศรีธรรมราช มีความประสงค์ที่จะพัฒนาสถาบันการจัดการความรู้ระดับจังหวัดขึ้น ซึ่งจะได้วางแผนร่วมกันต่อไป 
สำหรับภาคเหนือนั้นได้เชื่อมโยงสหกรณ์ และ อบต. ในจังหวัดลำพูนและจังหวัดเชียงใหม่ ให้ทำงานร่วมกัน โดยใช้พื้นที่เป็นตัวตั้ง
                  
ที่ประชุมรับทราบ

 

วาระที่ 1.2        ความคืบหน้าการดำเนินการโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้ เรื่องการทำนา
ข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืน
รศ.ดร. เนาวรัตน์  พลายน้อย ให้ความเห็นต่อผลการดำเนินงานของโครงการส่งเสริมการจัดการความรู้เรื่องการทำนาข้าวในระบบเกษตรกรรมยั่งยืนโดยการตีความและสังเคราะห์จากประสบการณ์การทำหน้าที่ประเมินการดำเนินงานของมูลนิธิข้าวขวัญและเกษตรยั่งยืนในพื้นที่ใกล้เคียง สรุปประเด็นสำคัญได้ 3 ประเด็นดังนี้
1.)     Program Concept
จากการส่งเสริมการผลิตแนวใหม่ เช่น การทำนาข้าวระบบปลอดสารและกิจกรรมโรงเรียนชาวนา ทำให้เกิดกระแสขึ้นมา 2 กระแสคือ 1.) เกิดกระแสการทำเพื่อเน้นประโยชน์จากโลกาภิวัฒน์ หรือเน้นความมั่งคั่งในชีวิต และ 2.) เกิดกระแสการสร้างความมั่นคงในชีวิต ซึ่งมูลนิธิข้าวขวัญเน้นกระแสที่ 2 คือการสร้างความมั่นคงมากกว่าความมั่งคั่ง
ประเด็นที่น่าสนใจคือจะทำอย่างไรให้เกิดทั้ง 2 กระแสในสังคมไทยอย่างสมดุล โดยไม่เน้นความมั่งคั่งในชีวิตและความมั่นคงในชีวิตมากเกินไปหรือน้อยเกินไป
2.)     Program Management
เพื่อให้บรรลุเป้าหมายในการจัดการความรู้ ต้องสร้างคุณอำนวยเพื่อผลักดันในเรื่องการจัดการความรู้  ซึ่งเมื่อมองลึกลงไปที่ตัวคุณอำนวย จะมีคุณอำนวย 2 ประเภทคือ 1.) ประเภทที่ทำตามภาระหน้าที่ที่ต้องทำหรือได้รับมอบหมาย แต่ไม่ได้ศรัทธาในหน้าที่หรืองานที่ได้รับมอบหมาย และ 2.) คุณอำนวยที่ยอมรับและศรัทธาในหน้าที่ ทำด้วยใจที่ต้องการจะทำ   
ประเด็นที่สำคัญคือจะสร้างคุณอำนวยที่ยอมรับศรัทธาในหน้าที่และทำด้วยใจที่ต้องการจะทำให้เพิ่มขึ้นในสังคมไทยได้อย่างไร  เพราะขณะนี้เราอยู่ภายใต้นวัตกรรมที่มีการจัดการความรู้รองรับ  หากยังทำงานแบบคุณอำนวยประเภทที่ 1 ย่อมมีข้อจำกัดเกิดขึ้นอย่างแน่นอน
3.)     Program Personnel
ปัจจุบันนี้ในสังคมไทยไม่สามารถสร้างคุณอำนวยที่มีคุณภาพขึ้นมาได้ทันกับ
เวลาและความต้องการในบริบทที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างมาก ทำให้ไม่มีผู้ที่สามารถออกแบบการเรียนรู้ที่มีศักยภาพได้  ดังนั้น จึงจำเป็นต้องสร้างคุณอำนวยที่มีคุณภาพและหลายรูปแบบ เช่น สร้างคุณอำนวยจากคุณกิจ ซึ่งโรงเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ มีคุณกิจที่มีศักยภาพและพร้อมที่จะยกระดับเป็นคุณอำนวยอีกหลายท่าน  แต่ยังไม่ได้ดำเนินการเพราะยังมีคุณอำนวยเดิมอยู่
ประเด็นสำคัญคือทำอย่างไรที่จะทำให้คุณอำนวยทำให้คนในชุมชนอยากเรียนรู้อย่างต่อเนื่อง และมีพฤติกรรมแบบบูรณาการเข้ากับวิถีชีวิตจริง ให้จัดการความรู้กับชีวิตได้
                  
ที่ประชุมรับทราบ
                                                                    
วาระที่ 1.3        การอบรมนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคตะวันออก
คุณอุรพิณ ชูเกาะทวด เจ้าหน้าที่ประสานงานโครงการ สคส. นำเสนอผลการอบรมนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคตะวันออก ซึ่งจัดขึ้นเมื่อวันที่ 18-19 กรกฎาคม 2548  ณ    เขาชะเมาชาเล่ต์  จังหวัดจันทบุรี  ผู้เข้าร่วมประมาณ 40 คน โดยผู้เข้าร่วมทั้งหมดเป็นนักพัฒนาในพื้นที่ต่างๆ ของภาคตะวันออก ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการประชุมแลกเปลี่ยนกันเป็นประจำอยู่แล้ว  ภายใต้โครงการชุมชนเป็นสุข ภาคตะวันออก มีคุณอนุ สง่าเรืองฤทธิ์ เป็นหัวหน้า แต่ไม่ได้นำ KM เข้าไปใช้ในการแลกเปลี่ยน กิจกรรมเริ่มโดยการบรรยายโดย ดร.ประพนธ์ ผาสุขยืด เพื่อปูพื้นฐานและดูปฏิกิริยาการรับและเข้าใจแนวคิดเรื่องการจัดการความรู้ ซึ่งผู้เข้าร่วมสะท้อนความรู้สึกว่าค่อนข้างเป็นวิชาการเกินไป  แต่สามารถรับได้ และคิดว่าสามารถนำไปปรับใช้ในพื้นที่ของตนเองได้ดี  ต่อจากนั้นเป็นการระดมสมองตารางแห่งอิสรภาพ และเกณฑ์การประเมินตนเองซึ่งใช้เวลานานมาก  แต่ทุกคนรู้สึกดีที่ตารางหรือเกณฑ์ออกมาได้ตามที่ต้องการ  ช่วงสุดท้ายเป็นการทำ AAR ผู้เข้าร่วมสะท้อนว่าเข้าใจแนวคิดการจัดการความรู้ (KM) ในระดับหนึ่ง และจะนำไปปรับใช้ให้เหมาะสมกับบริบทของตนเองและชุมชนต่อไป   
นอกจากนี้ คุณอุรพิณ ชูเกาะทวด ได้ให้ข้อมูลเพิ่มเติมว่าได้เชื่อมโยงให้สถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) เชิญกลุ่มนักพัฒนารุ่นใหม่ภาคตะวันออกเข้าร่วมกิจกรรมตลาดนัดแก้ปัญหาหนี้สินครั้งที่ 2 ด้วย   

ความเห็นที่ประชุม

ศ.นพ.วิจารณ์  พานิช ให้ความเห็นว่า ควรมีการติดตามผลการนำการจัดการความรู้ไปใช้ของกลุ่มนี้ว่ามีผลอย่างไรต่อไป

วาระที่ 2.        รับรองรายงานการประชุม

วาระที่ 2.1        รับรองรายงานการประชุมภาคีจัดการความรู้ในท้องถิ่น – ภาคประชาชน – ประชาสังคม ครั้งที่ 15
                                   
ความเห็นที่ประชุม
                             รับรองรายงานการประชุมครั้งที่ 15

วาระที่ 3.        เรื่องเพื่อพิจารณา

วาระที่ 3.1        ยุทธศาสตร์การแก้ปัญหาความยากจน คณะกรรมการบริหารจังหวัดแบบบูรณาการ จังหวัดนครสวรรค์ :  จัดตั้งโรงเรียนชาวนา 30 แห่ง
นายแพทย์สมพงษ์  ยูงทอง นำเสนอผลการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาโดยได้รับการสนับสนุนงบประมาณจากท่านผู้ว่าราชการจังหวัด สรุปได้ว่า เมื่อได้รับอนุมัติงบประมาณ 1.7 ล้านบาท จากท่านผู้ว่าราชการจังหวัดนครสวรรค์ให้ดำเนินการจัดตั้งโรงเรียนชาวนาจำนวน 30 แห่งขึ้น จึงเริ่มติดต่อประสานงานผ่านทีมประสานงานหรือทีมพี่เลี้ยง ได้แก่ กลุ่มนครสวรรค์ฟอรั่ม, มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์, การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครสวรรค์, สำนักงานเกษตรตำบล และองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นบางแห่ง ร่วมกันกำหนดพื้นที่ที่จะจัดตั้งเป็นโรงเรียนชาวนา 30 แห่ง  และประชุมเพื่อกำหนดแนวคิด หลักการ และข้อตกลงที่สำคัญๆ ของกระบวนการโรงเรียนชาวนา  หลังจากนั้นนายแพทย์สมพงษ์  ยูงทอง กับ อาจารย์พรรณภัทร ใจเอื้อ และทีมงานได้ลงพื้นที่ จำนวน 21 ครั้ง โดยแบ่งเป็นกลุ่มที่มีพื้นฐานการจัดตั้งและกลุ่มที่ยังไม่มีพื้นฐานการจัดตั้ง สำหรับเนื้อหาที่ร่วมประชุมกันที่สำคัญ ได้แก่ 1.) การทบทวนทำความเข้าใจปัญหา หรือภาวะที่เกษตรกรถูกเอารัดเอาเปรียบ ในระบบการผลิตแบบเคมี เช่น เรื่องปุ๋ยและสารเคมี เป็นต้น  และ 2.) การนำเสนอกลยุทธ์ เรื่องโรงเรียนชาวนา เพื่อออกจากวิกฤติ รวมทั้งนำเสนอเรื่องให้กลุ่มดำเนินการจัดการความรู้ในระยะสั้น ได้แก่ การไปคว้าความรู้ (Capture) จากกลุ่มต่างๆ, การจัดทำแปลงสาธิต เปรียบเทียบ ปุ๋ยสูตรต่างๆ, การเรียนรู้ เรื่องการจัดการแมลงในนา (IPM) คู่ไปกับการทดลองสูตรปุ๋ย,  การเตรียมการ เพื่อนำไปสู่ระบบการบริหารจัดการการจัดหาหรือการผลิตปุ๋ยโดยกลุ่ม หรือเตรียมการสำหรับการจัดตั้งโรงผลิตปุ๋ยชุมชน โดยการ จัดตั้ง-ระดมเงิน ของกลุ่มจัดตั้งเป็น “กองทุนปุ๋ย”
อาจารย์พรรณภัทร ใจเอื้อ ได้นำเสนอประเด็นเพื่อขอความคิดเห็นว่า จะสร้างนักจัดการความรู้ให้ทันกับการขยายพื้นที่โรงเรียนชาวนา 50 กลุ่มได้อย่างไร อีกประเด็นหนึ่งคือการออกแบบการเรียนรู้ของแต่ละกลุ่มที่มีความเข้มแข็งของผู้นำและสมาชิก หรือความเข้มแข็งของกลุ่มแต่ละกลุ่มที่ต่างกันจะเป็นอย่างไร จึงจะเรียนรู้ไปพร้อมกันได้ นอกจากนี้ได้เสนอกรณีการก้าวต่อไปของการจัดการความรู้เครือข่ายโรงเรียนชาวนา สรุปได้ดังนี้ 1.) การพัฒนายกระดับหมุนเกลียวความรู้ของคุณกิจ  2.) สร้างคุณอำนวย ให้เพียงพอต่อปริมาณพื้นที่การทำกิจกรรมเพื่อนำสู่คุณภาพของโรงเรียนชาวนา อาทิ นักศึกษาวิชาเอกด้านการพัฒนาชุมชน มหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ให้ทำงานในชุมชนของตนเองได้  3.) การจัดตลาดนัดความรู้ในแต่ละพื้นที่ และจัดตลาดนัดความรู้โรงเรียนชาวนาระดับจังหวัด  ในเบื้องต้นอาจจะร่วมกับจังหวัดใกล้เคียง  4.) ทำกลุ่มนำร่องหาแนวทางแก้ไขปัญหาหนี้สิน โดยใช้เรื่องการจัดการความรู้เป็นเครื่องมือ
5.) เปิดหลักสูตร ให้ปริญญาชาวนาร่วมกับภาคีต่าง ๆ  โดยตั้งชื่อว่า “ศูนย์การศึกษาเพื่อชีวิต” โดยทางมหาวิทยาลัยราชภัฏนครสวรรค์ ร่วมกับการศึกษานอกโรงเรียน จ.นครสวรรค์ จะเป็นแกนกลางของสถาบันการศึกษาที่จะเปิดหลักสูตรให้วุฒิการศึกษาแก่นักเรียนชาวนา โดยมีการแบ่งนักเรียนออกเป็น 2 กลุ่ม คือ 1) กลุ่มที่ยังไม่จบการศึกษาชั้นมัธยมศึกษา สำนักงานบริหารสถานศึกษาศูนย์การศึกษานอกโรงเรียนจังหวัดนครสวรรค์ จะเป็นผู้ดูแลเทียบวิชาและหน่วยกิตให้จนจบหลักสูตรและได้คุณวุฒิชั้นมัธยมศึกษา  2) นักเรียนชาวนาที่จบมัธยมแล้วหรือถูกโอนผ่านจากการศึกษานอกโรงเรียน มหาวิทยาลัยราชภัฎนครสวรรค์จะเป็นผู้เทียบรายวิชาและหน่วยกิตจนจบระดับปริญญาตรีศิลปศาสตร์บัณฑิต สาขาการพัฒนาชุมชน โดยผ่านกระบวนการเรียนรู้การทำนาในโรงเรียนชาวนา  อย่างไรก็ตามระบบที่กล่าวถึงนี้ อยู่ระหว่างการเตรียมการ

ความเห็นที่ประชุม
คุณทรงพล  เจตนาวณิชย์ ให้ความเห็นว่าควรมีการจัดตลาดนัดความรู้ในระดับพื้นที่และให้แต่ละพื้นที่นำตัวอย่างหรือบทเรียนเรื่องความสำเร็จที่เกิดจากความร่วมมือ มาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ร่วมกัน  โดยอยู่บนวัตถุประสงค์และเป้าหมายเดียวกัน และต้องฝึกคุณอำนวยและคุณลิขิต ก่อนการจัดตลาดนัดความรู้ เพื่อสร้างความเข้าใจและบทบาทหน้าที่ให้ชัดเจน ต้องฝึกฝนหลายครั้ง แล้วนำมาถอดเป็นบทเรียน เพื่อให้เกิดความชำนาญมากขึ้น
สำหรับการเทียบโอนกระบวนการเรียนรู้เป็นคุณวุฒิปริญญาตรีนั้นเป็นโครงการที่ดี และจะดียิ่งขึ้นหากสามารถพัฒนาหลักสูตรที่จะตอบสนองต่อการเปลี่ยนแปลงกระบวนการเรียนรู้ในเชิงความคิดและพฤติกรรม เกิดการสร้างจิตสำนึก เกิดความเชื่อมโยงและการมีส่วนร่วมในการสร้างความรู้และหาความรู้ที่มีอยู่ในท้องถิ่นให้เกิดประโยชน์ได้
                                    ศ. นพ. วิจารณ์  พานิช  ให้ความเห็นว่า 1.) ต้องมีการจดบันทึกและเก็บเป็นหลักฐานช่วงก่อนเก็บเกี่ยว-หลังเก็บเกี่ยวข้าว เพื่อเปรียบเทียบผลผลิตหรือเรื่องอื่นๆ ที่เกิดขึ้น และจะต้องจดบันทึกรายรับ-จ่าย เพื่อเปรียบเทียบต้นทุนกับค่าใช้จ่ายที่สูญเสียไป 2.) คุณอำนวยต้องมีกระบวนการเรียนรู้ ที่จะทำให้กลุ่มมีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันภายในกลุ่มและนอกกลุ่ม และผลการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ จะทำให้ชาวนาบางคนสามารถนำความรู้มาทดลองและประยุกต์ใช้เองได้ จนเกิดเป็นแรงกระตุ้นให้คนอื่นทำตาม  3.) คุณอำนวยต้องทำหน้าที่กระตุ้นการเรียนรู้ภายในกลุ่มให้เกิดความเชื่อมโยงและเกิดการแลกเปลี่ยนดูงานระหว่างกลุ่มซึ่งกันและกัน (Peer assist) 4.) คุณอำนวยต้องทำหน้าที่เป็น Internal Monitor ภายในกลุ่ม  5.) มีการศึกษาดูงานนอกสถานที่ เพื่อให้เกิดกระบวนการเรียนรู้เพิ่มขึ้น  6.) ให้มีการจัดตลาดนัดความรู้ เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้  7.) ให้มีการแยกแยะระหว่างกลุ่มว่า มีจุดแข็งและจุดอ่อนอย่างไร และเพราะอะไร   8.) ชาวนาและคุณอำนวยต้องมีการจดบันทึกอย่างสม่ำเสมอ  9.) เปิดโอกาสให้กลุ่มคนภายนอกเข้าไปศึกษาดูงาน เพื่อเป็นการกระตุ้นให้ชาวนาเกิดความภาคภูมิใจในสิ่งที่ทำอยู่

วาระที่ 3.2        รูปแบบการส่งเสริมความเข้มแข็งและการมีส่วนร่วมของชุมชน

(กรมส่งเสริมการเกษตร กระทรวงเกษตรและสหกรณ์)

คุณสรณพงษ์ บัวโรย นำเสนอการจัดการองค์ความรู้ของจังหวัดสมุทรสงครามที่เกิดจากการจัดกระบวนการเวทีชาวบ้าน ค้นหาศักยภาพของชุมชน และจากการค้นหาศักยภาพของชุมชน ในตำบลบางแก้ว ทำให้สามารถพัฒนาบุคลากรจากคุณกิจ ยกระดับขึ้นมาเป็นคุณอำนวยได้ในชุมชน อย่างเช่นกรณี คุณสุริยา หรือประเสริฐ ซึ่งเป็นคุณกิจ สามารถพัฒนาขึ้นมาเป็นคุณอำนวยได้ จากผลการทำงานโครงการศึกษาวิจัยคุณสมบัติและการใช้ประโยชน์จากขี้แดดนาเกลือ พบว่าคนเหล่านี้คิดต่อยอดเรื่องของชุมชนตนเองในประเด็นอื่นๆ ได้ เช่น จัดกิจกรรมกลุ่มสัจจะออมทรัพย์ของชุมชน  ธนาคารข้าว มีการจัดเก็บข้อมูลสำรวจความต้องการใช้ข้าวสารของคนในชุมชน และจัดประชุมวันออมทรัพย์เสนอข้าวสารมาให้ชุมชนเลือก ชุมชนก็เริ่มให้ความสนใจสั่งข้าวมาจำหน่ายแก่ผู้สั่งซื้อครั้งแรก 90 ถัง ปัจจุบันขายข้าวได้เดือนละ 200 ถัง และชาวบ้านจะซื้อถูกกว่าที่เคยซื้อถังละ 20 บาท ทำให้ลดต้นทุนวิถีชีวิตได้เดือนละ 4,000 บาท และมีการกำหนดแนวทางการสร้างธนาคารไข่  เพราะในชุมชนมีการบริโภคไข่กันมาก สำหรับธนาคารไข่เพิ่งเริ่มดำเนินการเมื่อเดือนกรกฎาคม 2548 ปัจจุบันขายได้ 3,000 ฟองแล้ว
จะเห็นได้ว่ากระบวนการทำงานโดยการจัดเวทีชาวบ้านแบบมีส่วนร่วม ทำให้สามารถจัดการเรียนรู้ของชาวบ้านได้สำเร็จในระดับหนึ่ง ชาวบ้านเข้าใจตนเอง เข้าใจวิถีชีวิตของชุมชน ส่งผลให้ชุมชนร่วมใจกันพัฒนาตามปัญหาและความต้องการของตัวเองได้ต่อไป

                    ที่ประชุมรับทราบ
 
วาระที่ 3.3        การจัดงานมหกรรมเกษตรปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตร
คุณอุรพิณ ชูเกาะทวด เสนอความคืบหน้าการจัดงานมหกรรมเกษตรปลอดสารพิษจังหวัดพิจิตรแทนคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ ว่าขณะนี้เครือข่ายเกษตรปลอดสาร จังหวัดพิจิตร ได้ขยายเครือข่ายกว้างมากขึ้น   โดยได้ประสานงานกับสำนักงานเกษตรจังหวัดและสำนักงานสาธารณสุขจังหวัด เพื่อขอความร่วมมือให้บุคลากรเป็นวิทยากรกระบวนการและคุณบันทึกในกิจกรรมตลาดนัดวันที่ 19-20 กันยายน 2548 เบื้องต้นคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมมากถึง 500 คน  โดยนัดประชุมกับหน่วยงานทั้งสองข้างต้นเพื่อทำความเข้าใจแนวคิดการจัดการความรู้ การสร้างเครือข่าย และรูปแบบกิจกรรม ในวันพุธที่ 24 สิงหาคม 2548 นี้ สำหรับความคืบหน้าจะได้แจ้งให้ทราบในการประชุมภาคีท้องถิ่นครั้งที่ 17
สำหรับแนวคิดของคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ นั้นสอดคล้องกับงานมหกรรมความรู้แห่งชาติครั้งที่ 2 ซึ่ง สคส. เรียนเชิญคุณสุรเดช เดชคุ้มวงศ์ เป็นวิทยากรในเรื่องการหาวิธีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือในการส่งเสริมเกษตรปลอดสาร ซึ่งมีผู้เข้าร่วมจาก 4 กลุ่มคือ กลุ่มชาวบ้านทั้งที่ปลูกข้าวและปลูกผัก, หน่วยงานด้านเกษตรทั้งในส่วนกลางและระดับจังหวัด, หน่วยงานด้านสาธารณสุขทั้งส่วนกลางและระดับจังหวัด และผู้ให้การสนับสนุนทุนในพื้นที่ 
                  
                   ที่ประชุมรับทราบ
 
 วาระที่ 4         เรื่องอื่น ๆ                               
                             กำหนดการประชุมครั้งต่อไปเป็นวันจันทร์ที่ 18 ตุลาคม 2548  เวลา 9.00 น.
ปิดประชุมเวลา 12.00 น.
นางสาวสุภาภรณ์ ธาตรีโรจน์                                 
ผู้สรุปการประชุม
                  
คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 3221เขียนเมื่อ 30 สิงหาคม 2005 14:42 น. ()แก้ไขเมื่อ 5 พฤษภาคม 2012 11:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท