การหาโจทย์วิจัยPARพืชปลอดภัยที่ ต.คลองลานพัฒนา อ.คลองลาน จ.กำแพงเพชร (ตอนที่ 1)


ในสถานการณ์ในภาคสนามเราต้องประยุกต์และปรับใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุดครับ

          มื่อวันที่ 30 พฤษภาคม 2549 ผมและคุณสายัณห์ ปิกวงค์ ได้ลงสนามเพื่อร่วมในกระบวนการการหาโจทย์วิจัยเชิงปฏิบัติการแบบมีส่วนร่วม  ตามโครงการผลิตสินค้าเกษตรที่ปลอดภัยและได้มาตรฐาน (PAR พืชปลอดภัย) ณ หมู่ที่ 3 บ้านคลองน้ำไหลใต้  ตำบลคลองลานพัฒนา อำเภอคลองลาน จังหวัดกำแพงเพชร

          ที่จริงเราได้รับการประสานงานเบื้องต้นจากพื้นที่ถึงการร่วมกระบวนฯ ในวันนี้ไว้ 2 ตำบล คือตำบลคลองลานพัฒนา และตำบลท่ามะเขือ อำเภอคลองขลุง แต่เนื่องจากตำบลท่ามะเขือได้เลื่อนออกไป เราจึงมีกำหนดของวันนี้เพียงตำบลเดียว แต่ก็มี 2 กิจกรรมทั้งเช้า-บ่าย ลองตามผมมานะครับว่าช่วงเช้าของวันนี้ ในกระบวนการสร้่างโจทย์วิจัย PAR พืชปลอดภัย เราดำเนินการกันอย่างไร....?

                            คุณอรวรรณ  เก่งสนาม

          เราเดินทางจากสำนักงานเกษตรจังหวัดกำแพงเพชรเวลาประมาณ 8.00 น. เศษ  โดยรถยนต์ส่วนตัวของคุณอรวรรณ  เก่งสนาม นักส่งเสริมการเกษตรประจำบล (เลขานุการของศูนย์บริการและถ่ายทอดเทคโนโลยีการเกษตรประจำตำบลคลองลานพัฒนา) การเดินทางใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมงจึงถึงหมู่บ้านเป้าหมาย  มีชาวบ้านมารออยู่แล้วไม่ถึง 10 คน แต่เมื่อทักทายกันแล้วพบว่าส่วนหนึ่งกำลังไปเอาเสื่อเพื่อใช้ปูพื้นสำหรับนั่ง และส่วนหนึ่งกำลังเดินทางมา พอเราไปถึง คุณลุงจรัล โกนขุนทด แกนนำชาวบ้านก็ประกาศเสียงตามสายเพื่อ ปชส.ให้สมาชิกกลุ่มผู้ปลูกข้าวฯ ให้รีบมาพบกันที่ศาลาเอนกประสงค์ตามที่นัดหมาย เพราะเจ้าหน้าที่เกษตรมาถึงแล้ว

          เวลาประมาณ 09.30 น.  เมื่อชาวบ้านมาพร้อมแล้วประมาณ 30 คน คุณอรวรรณ เก่งสนามก็เริ่มกระบวนการ  โดยการกล่าวทักทายชาวบ้าน และพูดคุยถึงที่ความเป็นมาของการนัดหมายในวันนี้ เพื่อที่จะร่วม ลปรร.กับชาวบ้านในการพัฒนาอาชีพการเกษตรของชาวบ้าน โดยเน้นการมีส่วนร่วมในการ คิด - ทำ และเรียนรู้่ร่วมกันระหว่างนักส่งเสริมฯ และเกษตรกร ตลอดจนหน่วยงานหรือองค์กรต่างๆ ในพื้นที่

                          เริ่มด้วยการทักทาย

 

          ขณะที่คุณอรวรรณ กำลังคุยกับชาวบ้านอยู่นั้น ผมก็เตรียมสื่อสำหรับการฉายวีซีดี  เนื่องจากเป็นตอนกลางวันและไม่มีห้องที่มิดชิด  ผมจึงใช้บอร์ดทำเป็นจอฉายวีซีดี โดยใช้กระดาษฟางจำนวน 3 แผ่นปูเป็นพื้นจอ และหันหน้าเข้าข้างฝาเพื่อให้มองเห็นภาพ ในสถานการณ์ในภาคสนามเราต้องประยุกต์และปรับใช้ทรัพยากรที่มีอย่างจำกัดให้เกิดประโยชน์สูงสุด เพราะเวลาที่ผ่านไปเราไม่สามารถย้อนมันกลับมาใหม่ได้ครับ

                           เตรียมจอฯ

 

          หลังจากที่ใช้เวลาประมาณ 10 นาที ในการทักทายและพูดคุยของคุณอรวรรณ เก่งสนามแล้ว  ผมก็ฉายวีซีดีเรื่อง "ปัญหามา ปัญญามี" ของ สคส. เพื่อเป็นการนำเข้า่สู่บทเรียนในวันนี้ ซึ่งเป็นประเด็นของการเรียนรู้ของชาวบ้าน คล้ายๆ กับสิ่งที่เรากำลังจะมาเริ่มต้นกระบวนการ ลปรร.ร่วมกับชาวบ้านที่นี่

                           ดูวีซีดีเรื่อง "ปัญหามา ปัญญามี"

          ขณะที่เราเริ่มกระบวนการ   ได้มีนักวิจัยมาเก็บข้อมูลเพื่อทำดุษฎีนิพนธ์ ซึ่งทราบจากคุณอรวรรณ ว่าได้นัดหมายเกษตรกรกลุ่มเดียวกันนี้ไว้ 10 คน และตกลงกันว่าดำเนินการโดยแยกกันดำเนินการคนละกลุ่ม เสียดายที่ต่างคนต่างมีภาระกิจ เราจึงไม่ได้ ลปรร.ซึ่งกันและกัน

                           นศ.ป.เอก มาเก็บข้อมูลมันฯ

          ในช่วงเริ่มต้นกระบวนการ ได้ใช้วีซีดีฉายให้กับผู้เข้าร่วมสนทนาดู พบว่าได้รับความสนใจมาก แต่เนื่องจากเป็นตอนกลางวัน ต้องจัดมุมฉายหรือหาวิธีควบคุมแสงให้ได้ อีกประการหนึ่งคือเครื่องเสียงจากลำโพงคู่เล็กๆ ของคอมพิวเตอร์ พบว่าหากใช้ในห้องประชุมที่มิดชิดอาจใช้ได้ดี แต่หากเป็นศาลาโล่งๆ เช่นศาลากลางบ้านอย่างในวันนี้เสียงจะไม่ค่อยดัง ต้องใช้ไมค์มาจ่อที่ลำโพงอีกทีหนึ่งพอแก้ปัญหาไปได้

โปรดติดตามบันทึกตอนต่อไปนะครับ (ลิงค์อ่านตอนที่ 2)

วีรยุทธ  สมป่าสัก

คำสำคัญ (Tags): #par#วิจัยชุมชน#rd
หมายเลขบันทึก: 32225เขียนเมื่อ 31 พฤษภาคม 2006 13:59 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 17:24 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท