วิเคราะห์และประเมินค่าวรรณกรรมสำหรับเด็ก เรื่อง กูนี่ย์ คนเก่ง


วิเคราะห์และประเมินค่าวรรณกรรมสำหรับเด็ก เรื่อง กูนี่ย์ คนเก่ง

วิเคราะห์และประเมินค่าวรรณกรรมสำหรับเด็ก 

เรื่อง กูนี่ย์ คนเก่ง

 

1.       ประเภทของงานเขียน 

วรรณกรรมสำหรับเด็ก เรื่องกูนี่ย์ คนเก่ง มีลักษณะเนื้อหาจัดอยู่ในหนังสือสำหรับเด็ก

ประเภทบันเทิงคดี  เป็นหนังสือที่แปลมาจากหนังสือเด็กของประเทศสหรัฐอเมริกา  ซึ่งเขียน

เป็นร้อยแก้ว  พร้อมทั้งเสนอเนื้อหาอยู่ในรูปแบบของนิทาน

 

2.       โครงเรื่อง 

2.1    โครงเรื่องในภาพรวม  (เรื่องย่อ)

เนื้อเรื่องกล่าวถึง  กูนี่ย์ เบิร์ด กรีน  เด็กหญิงซึ่งเรียนอยู่ชั้นประถมสองของโรงเรียน

ประถมวอเตอร์ทาวเวอร์  กูนี่ย์เป็นหนูน้อยที่มีความเก่ง  และมีความเป็นตัวของตัวเอง  ทั้งในเรื่องของการแต่งตัว  และในเรื่องของการคิดริเริ่มสิ่งใหม่ๆ ให้กับเพื่อนๆ ในห้อง  ในช่วง 1 สัปดาห์ก่อนถึงวันคริสต์มาส  กูนี่ย์ได้คิดโครงการนิทานขึ้นมา  เพื่อเป็นงานเฉลิมฉลองเทศกาลคริสต์มาสของโรงเรียน  โดยการให้เพื่อนๆ ในห้องเรียน  แต่งนิทานเกี่ยวกับสัตว์ขึ้นมาเล่าสู่กันฟังหน้าชั้น พร้อมแสดงคติสอนใจในเรื่องที่ตนเองแต่งขึ้นมา  และแต่งตัวให้เข้ากับเรื่องที่เล่า  งานนี้ทุกคนจึงต่างสนุกสนานกัน  ยกเว้นแต่นิโคลัสเพื่อนคนหนึ่งในห้องเรียนที่เป็นทุกข์ใจอย่างมาก  เพราะว่าไม่มีสัตว์ตัวใดที่มีชื่อขึ้นต้นด้วยตัวอักษรเดียวกันกับชื่อของเขา  กูนี่ย์จึงต้องแก้ปัญหาโดยการจับคู่กับ

นิโคลัส  นอกจากนี้กูนี่ย์ยังช่วยแก้ปัญหาเฉพาะหน้าต่างๆ ที่เกิดขึ้นให้กับเพื่อนได้  หลังจากเล่านิทานจนครบทุกคนแล้ว  กูนี่ย์และเพื่อนๆ ในห้องเรียนก็ได้ร่วมกันร้องเพลง  เต้นรำ  และเดินพาเหรดในชุดแฟนซีไปยังห้องอเนกประสงค์ของโรงเรียน

2.2    ลักษณะการเปิด  การดำเนินเรื่อง  และการปิดเรื่อง

การเปิดเรื่อง  ผู้เขียนเริ่มต้นเรื่องจะกล่าวถึงครูพิดเจี้ยน โดยการใช้บทพูดและบทบรรยาย

ประกอบการกระทำของตัวละคร  นอกจากนี้ยังมีการแนะนำตัวละครแทรกด้วย ดังจะเห็นได้จากเนื้อหาต้นเรื่องที่ว่า

“และดังนั้น” ครูพิดเจี้ยนกล่าว ขณะอ่านหน้าสุดท้ายของหนังสือที่เธอกำลังถืออยู่ “เพราะมดทำงานหนัก เขากับเพื่อนจึงมีอาหารกินตลอดฤดูหนาว ส่วนตั๊กแตนไม่มีอาหาร จึงตายลงด้วยความหิว”                                                                                                 

 ( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 7 )

 

ซึ่งเป็นบทพูดของครูพิดเจี้ยนครูประจำชั้นประถมสอง  ที่กล่าวถึงคติสอนใจในนิทานเรื่อง “มดกับตั๊กแตน”  ที่เพิ่งเล่าให้เด็กๆฟังจบไป  ผู้เขียนใช้การเริ่มเรื่องที่ทำให้เด็กหรือผู้อ่านได้รู้จักกับฉากว่าเป็นโรงเรียน  และรู้ว่าตัวละครกำลังอยู่ในช่วงของเวลาการเรียนการสอน  ซึ่งเป็นจุดที่ทำให้เกิดเรื่องราว   และเป็นการเร้าให้เด็กหรือผู้อ่านสนใจในเนื้อหาของเรื่องต่อไป

 

            การดำเนินเรื่อง  ผู้เขียนดำเนินเรื่องตามลำดับเวลา  โดยใช้บทสนทนาสลับกับบทบรรยายพฤติกรรมต่างๆ ของตัวละครและเหตุการณ์ที่สืบเนื่องมาจากเหตุการณ์ที่เริ่มไว้ในตอนเริ่มเรื่อง  ซึ่งเหตุการณ์ต่างๆ มีความสัมพันธ์กันเป็นอย่างดี  การดำเนินเรื่องค่อนข้างรวดเร็ว

ผู้เขียนได้ดำเนินเรื่องต่อจากเหตุการณ์ที่ครูพิดเจี้ยนเล่านิทานจบ  แล้วถามเด็กๆ ในห้องเรียนว่าคติสอนใจคืออะไร  เด็กๆ ต่างเปิดพจนานุกรมหาคำศัพท์กัน  ซึ่งผู้เขียนได้นำเสนอตัวละครเอกผ่านการดำเนินเรื่อง  โดยเปิดตัวละครให้กูนี่ย์เป็นคนพบคำศัพท์เป็นคนแรก ซึ่งสะท้อนให้เห็นความฉลาดของกูนี่ย์และเรื่องก็ดำเนินต่อไปโดยให้ตัวละครเอกอย่างกูนี่ย์เป็นผู้ดำเนินเรื่องต่อไป  โดยผู้เขียนได้สร้างให้กูนี่ย์เกิดความคิดในการทำโครงการนิทานขึ้นมา  แล้วทำให้การดำเนินเรื่องไปสู่เหตุการณ์ที่กูนี่ย์ก็ได้รับมอบหมายให้ดูแลเรื่องการเล่านิทาน 

ผู้เขียนก็ใช้กลวิธีในการดำเนินเรื่องต่อไปโดยการใช้นิทาน โดยให้ตัวละครในเรื่องเป็นผู้เล่าแทรกในเนื้อเรื่องที่กำลังดำเนินอยู่ได้อย่างกลมกลืนเป็นเรื่องเดียวกัน  และเพื่อความสนุกสนานของเรื่อง  ผู้เขียนได้ใช้กลวิธีการดำเนินเรื่องด้วยการสร้างปมปัญหาที่ตัวละครเอกต้องเผชิญกับปัญหาและแก้ไขปัญหาหลายๆ ครั้ง  ทำให้เนื้อเรื่องน่าติดตามมากขึ้น  นอกจากนั้นยังทำให้เด็กหรือผู้อ่านรู้สึกสนุก  อารมณ์ไม่หยุดนิ่ง  มีความตื่นเต้นขณะอ่าน  ซึ่งปัญหาที่เกิดในเรื่องนั้นก็ล้วนแล้วแต่เกิดจากการที่เพื่อนๆในห้องจะต้องออกมาเล่านิทานของตนหน้าชั้น  และปมปัญหาที่เป็นจุดสูงสุดของเรื่องก็คือ  ปัญหาที่ของนิโคลัสเพื่อนคนหนึ่งในห้องของกูนี่ย์ที่ชื่อของเขาไม่ตรงกับชื่อสัตว์ตัวใดเลย  เขาไม่รู้จะแต่งนิทานอะไรเล่าให้เพื่อนๆ ฟัง  ทำให้เขาเป็นทุกข์มาก   และไม่ยอมพูดจากับใคร  แล้วผู้เขียนก็ทำให้เรื่องราวคลี่คลายอย่างไม่เยิ่นเย้อ  โดยการสร้างให้กูนี่ย์คนเก่งเป็นคนแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

               

            การปิดเรื่อง  ในตอนท้ายของเรื่องผู้เขียนได้เสนอให้เรื่องจบและยุติลงอย่างมีความสนุกสนาน  โดยให้เด็กๆ ในชั้นประถมสองของครูพิดเจี้ยนต่างร่วมกันร้องเพลง เต้นรำ พร้อมกับเดินพาเหรดในชุดแฟนซี  ต้อนรับเทศกาลคริสต์มาสที่จะมาถึง  ซึ่งความสุขอันเนื่องมาจากตัวละครเอกอย่างกูนี่ย์ได้ตัดสินใจแก้ปัญหา  เรื่องราวจึงคลี่คลายและจบลงอย่างสร้างสรรค์และความสุขสมหวัง  ซึ่งทำให้เด็กหรือผู้อ่านพอใจ  มีความอิ่มเอมใจ  และประทับใจในความสามารถของตัวละคร  ดังจะเห็นได้จาก

นี่เป็นตอนจบของพาเหรดที่มีชื่อเสียง

แต่ยังมีเรื่องราวอีกมากมายให้แต่งขึ้นมา

เพราะลุงอีสปเป็นผู้ชนะ

ตอนนี้เราทุกคนกลับบ้านไปกินข้าวของเราดีกว่า

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 125 )

 

 

3.       แก่นเรื่อง  (สาระความสำคัญ)

ใจความสำคัญของเรื่องสะท้อนให้เห็นแนวทางในการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้า  การรู้จักและเข้าใจตนเอง  รู้จักการปรับตัวให้เข้ากับผู้อื่น  ซึ่งเป็นเรื่องที่ใกล้ตัวเด็กหรือผู้อ่าน  และไม่ยากต่อการปฏิบัติ  แนวคิดของเรื่องมีคุณค่าในด้านส่งเสริมคุณธรรมและจริยธรรมด้วยในเรื่องของความเข้าใจและเห็นอกเห็นใจผู้อื่น  การมีน้ำใจและการแบ่งปัน 

 

4.       ตัวละคร

4.1    บุคลิกภาพ  ลักษณะนิสัยของตัวละคร

ผู้เขียนได้สร้างตัวละครให้อยู่ในวัยใกล้เคียงกับเด็ก ตัวละครแต่งละตัวถูกสร้างให้มี

ความสัมพันธ์กันโดยเป็นบุคคลในโรงเรียน  ส่วนจำนวนตัวละครนั้นมีค่อนข้างมาก  แต่ผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละครแต่ละตัวมีบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยที่แตกต่างกัน  ผู้เขียนได้สร้างบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยของตัวละครในเรื่องให้เป็นตัวแบน  โดยตัวละครมีบทบาทที่มีความชัดเจนและมีความคงที่ตลอดทั้งเรื่อง  ซึ่งตัวละครมีทั้งที่เป็นตัวละครเอกและตัวละครประกอบดังนี้

ตัวละครเอก

กูนี่ย์ เบิร์ด กรีน  ตัวละครเอกของเรื่อง  เป็นหนูน้อยทีมีความเก่ง  เป็นตัวของตัวเองทั้งในเรื่องการแต่งตัวและเรื่องความคิดริเริ่ม  มีลักษณะของความเป็นผู้นำที่ดีและเป็นคนที่มีเหตุมีผล

ดังเห็นจาก

                กูนี่ย์ เบิร์ด กรีนพบความหมายของคำนั้นเป็นคนแรกและยกมือขึ้น  วันนี้เธอสวมถุงมือที่ตัดส่วนปลายนิ้วออก  และสวมชุดยาวทำจากผ้าสักหลาดที่มีจีบรอบตัวตรงชายเสื้อ  มันดูค่อนข้างเหมือนชุดนอน  กูนี่ย์ เบิร์เป็นที่รู้จักกันว่าชอบสวมเสื้อผ้าไม่เหมือนใคร

                ( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 11 )

 

ตัวละครประกอบ   มีค่อนข้างมากแต่ละตัวละครมีบุคลิกภาพและลักษณะนิสัยดังต่อไปนี้

นิโคลัส  เด็กชายผู้มีความร่าเริง  และเข้ากับคนอื่นได้ง่าย  แต่บางตอนในเรื่องผู้เขียนได้สร้างให้ตัวละครตัวนี้เกิดพฤติกรรมที่เปลี่ยนไปจากเดิม  ซึ่งเป็นปมปัญหาที่สำคัญของเรื่อง

ครูแพตซี่ พิดเจี้ยน  ครูประจำชั้นประถมสอง  มีลักษณะใจดี  แต่ค่อนข้างขี้ลืม

ไคโกะ  เด็กหญิงผู้มีอารมณ์อ่อนไหวต่อสิ่งต่าง  โดยเฉพาะเรื่องเศร้า หรือเรื่องการตาย

มัลคอล์ม  เด็กชายที่มีพฤติกรรมค่อนข้างก้าวร้าว ไม่ค่อยฟังใคร เป็นคนที่ชอบพูดซ้ำๆ กันหลายรอบ เป็นผลมาจากการที่ครอบครัวมีน้องแฝดสาม ทำให้รู้สึกว่าถูกแบ่งความรักของพ่อแม่ไป

ไทโรน  เด็กชายที่รักความยุติธรรม มีคล่องแคล่ว  แม้แต่คำพูดที่พูดออกมายังเป็นภาษาแร็พ

แบร์รี่ ทัคเกอร์แมน  เด็กชายที่ชอบเหม่อลอย  ชอบแสดงพฤติกรรมการโบกมือไปมาอย่างไร้ความหมาย

ทริเชีย  เด็กหญิงผู้อ่อนโยน  เข้าใจความรู้สึกของผู้อื่นได้ดี

เฟลิเซีย แอนน์  เด็กหญิงที่ขี้อายที่สุดในชั้นประถมสอง  ชอบก้มหน้า พูดไม่ชัดเนื่องจากฟันสองซี้หน้าเพิ่งหลุดออกไป  และพูดเสียงเบาเหมือนกระซิบ

บีนนี่  เด็กหญิงผู้ช่างสงสัย มีความอยากรู้  อยากเห็น

เชลซี  เด็กหญิงผู้มีความมั่นใจในตนเอง  พูดเสียงดังฟังชัด

เบน  เด็กชายผู้มีความร่าเริง ชอบกระโดดโลดเต้นแบบฮิปฮอป

ครูจอห์น โธมัส ลีรอย  ครูใหญ่ของโรงเรียนประถมวอเตอร์ทาวเวอร์  เป็นชายร่างสูง เข้าร่วมกิจกรรมเดินพาเหรดกับเด็กๆ ชั้นประถมสองด้วยความสนุกสนาน

เลสเตอร์ ฟูริลโล  ภารโรงของโรงเรียนประถมวอเตอร์ทาวเวอร์  ที่ต้องใช้เวลาช่วงพักทำความสะอาดพื้นของห้องอเนกประสงค์ที่เด็กๆ กินอาหารกลางวัน

บรูโน่  สุนัขประจำโรงเรียนซึ่งเป็นพันธุ์เซนต์เบอร์นาร์ด  ชอบนอนอยู่ที่หน้าห้องอเนกประสงค์   ถูกเด็กๆ จับสวมเขากวางพลาสติก ให้กลายเป็นกวางเรนเดียร์ในช่วงเทศกาลวันคริสต์มาส

 

4.2    ลักษณะนิสัยของตัวละครจะส่งผลต่อเด็ก/ผู้อ่าน

ผู้เขียนได้กำหนดลักษณะนิสัยของตัวละครให้มีอุปนิสัยใจคอเป็นเด็กในวัยเดียวกันกับ

ผู้อ่านและมีความสมจริง  จึงทำให้เด็กน้อมนำไปปฏิบัติ  เหมือนเป็นส่วนหนึ่งของเรื่อง  เพราะเด็กหรือผู้อ่านมักคิดเอาตนเองไปเปรียบกับตัวละครในเรื่อง  ตัวละครในเรื่องกูนี่ย์ คนเก่งจึงเป็นแบบอย่างที่ดีให้เด็กได้ซึมซับไปโดยไม่รู้ตัว   นอกจากนี้ลักษณะนิสัยของตัวละครที่แสดงออกในเรื่องยังส่งผลโดยตรงต่ออารมณ์และความรู้สึกของเด็กหรือผู้อ่านอีกด้วย          

 

5.       บทสนทนา

5.1    ลักษณะบทสนทนา

ผู้เขียนสร้างบทสนทนาของตัวละครให้มีลักษณะสมจริง  เป็นบทสนทนาที่เห็นได้จริง

ในชีวิตประจำวัน  เหมาะสมกับบุคลิกลักษณะของตัวละคร  บทสนทนาในเรื่องมีค่อนข้างมากเพราะใช้เป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินเรื่อง  บทสนทนาที่ปรากฏในเรื่องเป็นประโยคสั้นๆ ได้ใจความชัดเจน  บทสนทนามีความชัดเจนว่าใครพูดกับใคร  ภาษาที่ใช้ในบทสนทนาก็เหมาะกับเวลา  สถานที่  และวัยของเด็กหรือผู้อ่าน  ภาษาพูดที่ใช้ในบทสนทนาเหมือนภาษาพูดจริงๆ

ตัวอย่างเช่น

      “ฉันชอบนิทานเรื่องนี้จังเลยล่ะ” ไคโกะพูดพลางถอนหายใจ “มันน่ารักมากไ เลย”

              “ช่าย”  เฟลิเซีย แอนน์พูด “น่าร้าก”

             “แล้วเจ้าทารกพวกนั้นมีก้นสีม่วงด้วยหรือเปล่า” ไทโรนถาม

         มัลคอล์มยักไหล่ “ฉันก็ว่างั้นแหละ” เขาพูด “ก็มันเป็นแมนดริลเหมือนกันนี่นา”

กูนี่ย์ เบิร์ดเดินไปหน้าชั้น “ไม่เห็นเป็นไรเลยถ้าจะมีก้นสีม่วง”  เธอพูด  “มีสีสันถือเป็นเรื่องดี”

                                ( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 107-108 )

 

5.2    บทสนทนามีส่วนช่วยในการเข้าใจเรื่อง /เข้าใจตัวละคร

บทสนทนานั้นเป็นการช่วยเพิ่มเสน่ห์และรสชาติของเรื่อง  บอกให้รู้รสอารมณ์ของตัว

ละคร  ทำให้ผู้อ่านเข้าใจบุคลิกลักษณะของตัวละคร  บทสนทนามีส่วนช่วยในการดำเนินเรื่องให้มีความฉับไว  และยังช่วยให้เด็กหรือผู้อ่านได้เข้าใจเรื่องราวได้ชัดเจนขึ้น

 

6.       ฉาก  (รวมสถานที่  เวลาและบรรยากาศ )

6.1    ลักษณะสถานที่  เวลาและบรรยากาศ

ผู้เขียนได้สร้างฉากให้อยู่ในลักษณะที่เป็นรูปธรรม  ฉากที่ปรากฏในเรื่องมีความ

ชัดเจนตรงกับเนื้อหาของเรื่อง  โดยผู้เขียนได้ใช้โรงเรียนเป็นสถานที่เกิดเหตุการณ์ต่างๆ ในเรื่อง  ซึ่งโรงเรียนเป็นสถานที่ที่เด็กคุ้นเคยเป็นอย่างดี  เป็นเรื่องของชีวิตเด็กๆ ที่มาโรงเรียน  ส่วนเวลาที่กล่าวถึงในเรื่องก็เป็นช่วงสัปดาห์สุดท้ายที่ตัวละครได้มาโรงเรียน  เพราะถึงวันหยุดเทศกาลคริสต์มาส  ซึ่งช่วงเป็นเวลาที่เด็กๆ ในเรื่องต่างๆ  มีความสุขสนุกสนานกันทุกคน  และบรรยากาศในเรื่องก็ชวนระทึกใจได้อย่างเหมาะสม  ดังจะเห็นจากบทบรรยาย คือ

                รอบข้างพวกเขา  ห้องเรียนอื่นๆ  ก็กำลังกินและพูดคุยกัน  ตอนนี้เป็นเดือนธันวาคม  จึงมีการตกแต่งบนผนังตามเทศกาลคริสต์มาส  แม้แต่คุณครูลีรอยซึ่งเป็นครูใหญ่ที่นี่  ก็ยังสวมเนคไทของช่วงเทศกาลนี้มาหลายวันแล้ว  วันนี้เขาสวมเนคไทลายเชิงเทียนขนาดใหญ่ที่ปักเทียนได้เก้าแท่ง  ส่วนเมื่อวานก็เป็นลายกวางเรนเดียร์  เด็กอนุบาลแปะภาพถ่ายของตัวเองบนกระดาษโปสเตอร์รูปวงกลม  และนำภาพเหล่านั้นมาห้อย  แขวนเรียงกันว้เหนือหน้าต่างห้องอเนกประสงค์แห่งนี้

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 18 )

6.2    สถานที่  เวลาและบรรยากาศมีผลต่อการอ่าน/การทำความเข้าใจในเรื่อง

ฉากที่ปรากฏไม่ว่าจะเป็นสถานที่  เวลาและบรรยากาศนั้นล้วนแล้วแต่ช่วยทำให้เด็ก

หรือผู้อ่านเกิดจินตนาการ  เข้าใจอารมณ์และความรู้สึกของตัวละคร  มีส่วนช่วยให้เด็กหรือผู้อ่านเข้าใจเนื้อเรื่องได้ดียิ่งขึ้น  บรรยากาศที่เด็กหรือผู้อ่านได้เห็นจากในเรื่องทำให้สุขใจ  สบายใจได้เป็นอย่างมาก

 

7.       ภาษา  

การใช้สำนวนภาษาของเรื่อง  ผู้เขียนได้ใช้สำนวนภาษาง่ายๆ แบบการพูดคุยระหว่าง

ผู้ใหญ่กับเด็ก

7.1    การใช้คำและความหมาย

ผู้เขียนใช้คำที่เด็กเข้าใจได้ง่ายโดยไม่ต้องแปลความหมายอีก  คำที่ใช้นั้นมีความ

เหมาะสมกับความรู้ของเด็ก  และเด็กก็สามารถอ่านออกได้  การเลือกใช้คำนั้นมีความถูกต้องชัดเจนในความหมายเพราะใช้คำง่ายๆ  เด็กคุ้นเคยกันโดยทั่วไป  จึงเข้าใจความหมายได้รวดเร็ว  รู้สึกเพลิดเพลินในการอ่านและรับรู้เรื่องราว

 

การใช้คำสรรพนาม  การใช้คำสรรพนามบุรุษที่ 1 ที่ปรากฏในเรื่อง คือ ฉัน ผม หนู

ใช้ในบทสนทนาแทนตัวละคร  ในขณะที่ตัวละครเป็นคนดำเนินเองเรื่อง   ตัวอย่างเช่น

                “ผมด้วย” มัลคอล์มบอก “ผมก็ด้วย ผมดูด้วย ผมได้ดูการเดินทางของนกเพนกวินด้วยครับ”

                “ผมด้วยครับ” เบนร้อง “พ่อผมพาไปครับ”

                “หนูก็ดูค่ะ” เชลซีพูดเสียงดัง

                “หนูก็ดูค่ะ” เฟลิเซีย แอนน์กระซิบ

                “จุ๊ๆๆๆ” กูนี่ย์ เบิร์ดกล่าว โดยยกนิ้วไว้ที่ปาก “ฉันแน่ใจว่านิทานของคุณครูพิดเจี้ยนคงไม่ใช่เรื่องเศร้าหรอก ใช่ไหมคะคุณครู”                                     

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 29-30 )

 

 

การใช้คำที่เป็นชื่อเฉพาะของตัวละคร และถ้าบรรยายถึงตัวละครเดิมอีกก็จะใช้คำ

สรรพนามบุรุษที่ 3 ได้แก่ เขา มัน แทนตัวละครนั้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่าผู้เขียนเป็นผู้เล่าเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นต่างๆ  ในเรื่อง  ตัวอย่างเช่น

                ในขณที่ฟังนิทาน  มัลคอล์มปั้นกระดาษเป็นก้อนกลม  เขาโยนลูกบอลกระดาษเล็กๆ  ใส่

ไคโกะ “มันม่ใช่คนซะหน่อย” เขาชี้แจง “มันก็แค่ตั๊กแตนโง่ตัวหนึ่งแค่นั้นเอง  แค่ตั๊กแตนน่ะแค่ตั๊กแตน”

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 7 )

 

                บรูโน่  มันเป็นหมาของภารโรงชื่อเลสเตอร์ ฟูริลโล  มันไม่เดือดร้อนอะไรกับการสวมเขากวางพลาสติกบนหัวของมัน

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 18-19 )

 

                และนอกจากนี้มีการใช้คำว่า “เด็กๆ” แทนตัวละครที่เป็นนักเรียนในห้องทั้งหมด  แสดงให้เห็นว่าตัวละครมีความสนิทสนม  และเป็นกันเอง  ดังจะเห็นได้จาก

                เด็กๆ” คุณครูพิดเจี้ยนพูดและยืนขึ้น “ตอนที่ครูเป็นเด็กเล็กๆ ก็เคยมีตุ๊กตาแกะ  ครูต้องนอนกับมัน  มันชื่อฟลีซี่  แล้วรู้อะไรไหมเด็กๆ

“อะไรครับ/คะ”  นักเรียนถาม

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 44 )

 

             การใช้คำอุทาน  ในขณะที่เรื่องดำเนินไปนั้นจะมีเหตุการณ์ที่ทำให้ตัวละครตกใจ  แปลกใจ  ดีใจ ตัวละครจึงได้อุทานออกมา  การใช้คำอุทานนั้นเน้นความรู้สึกของตัวละคร  ซึ่งสร้างความเป็นกันเองให้กับผู้อ่านและยังช่วยกระตุ้นให้เด็กหรือผู้อ่านเกิดความรู้สึกตามเนื้อเรื่องอีกด้วย ดังตัวอย่าง

                “คนแปลกหน้าอันตระ-ราย”  เฟลิเซีย แอนน์พึมพำขึ้นขัดจังหวะมัลคอล์ม

“ตายล่ะ”  ไคโกะพูด “นั่นมันน่ากลัวนะ”

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 33 )

 

             การใช้คำเลียนเสียงธรรมชาติ  ทำให้เด็กหรือผู้อ่านได้เข้าความรู้สึกของตัวละครตัวนั้นมากขั้น  และมีอารมณ์ร่วมไปกับการอ่าน  ดังตัวอย่าง

 “ปัง!” มัลคอล์มตะโกนพลางยกมือขึ้นเลียนแบบปืนที่กำลังเล็งเป้าขึ้นมา “ปัง! ปัง!”คุณครูพิดเจี้ยนเดินไปที่โต๊ะของมัลคอล์มและเอาแขนโอบรอบไหล่ของเขา

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 82 )

 

              การใช้คำทับศัพท์  การใช้คำทับศัพท์นั้นมีปรากฏให้เห็นอยู่ตลอดทั้งเรื่อง  คงไม่ใช่เรื่องแปลกอะไร  เพราะเป็นวรรณกรรมที่แปลมาจากภาษาต่างประเทศ  แต่เป็นคำที่คุ้นเคยและมีการใช้อยู่ป็นประจำ  ได้แก่  เชียร์ โชว์ ฮอทดอก  เจลลี่ ชีส แซนด์วิช พุดดิ้ง แฮมเบอร์เกอร์ ออร์เดิร์ฟ ฮิปฮอป วอลซ์ เฟอร์นิเจอร์ โซฟา สเต็ก สเตอริโอ  ซึ่งแต่ละคำก็เขียนได้ถูกต้อง  ยกเว้นคำว่า “คุกกี้”  ซึ่งในเรื่องเขียนผิดโดยใช้วรรณยุกต์เป็นเสียงตรี “คุ๊กกี้”  แต่ยังสามารถสื่อได้ตรงความหมายอยู่  คำศัพท์ที่ใช้ส่วนใหญ่เด็กหรือผู้อ่านเข้าใจได้ทันทีอยู่แล้วไม่ต้องแปล     

                                                                                                        

7.2    ลักษณะการเรียบเรียงประโยค

การเรียบเรียงประโยคในเรื่องนั้น เป็นประโยคสั้นๆ กระชับไม่ซับซ้อน อ่านแล้วเข้าใจ

ได้ความ  มีการใช้ประโยคซ้ำๆ บ่อยๆ ทำให้เด็กได้อ่านและเข้าใจความหมายได้รวดเร็วยิ่งขึ้น  การเรียบเรียงประดยคด้วยการใช้ถ้อยคำ สำนวนภาษาก็เป็นปกติ ทำให้เด็กหรือผู้อ่านรู้สึกสบายใจและเพลิดเพลินกับการอ่าน

ตัวอย่างเช่น

เมื่อนักเรียนในห้องเข้านั่งโต๊ะเรียนของตนเองแล้ว  กูนี่ย์ เบิร์ดประกาศว่าถึงตาของเขาเล่านิทานแล้ว  มัลคอล์มจึงหยิบปากกาหัวสักหลาดสีแดงหนาขึ้นมาระบายสีจมูกของตัวเอง

( นิธินาฏ,2551,กูนี่ย์ คนเก่ง,หน้า 101 )

 

8.       ภาพประกอบ

ภาพประกอบในหนังสือเรื่องกูนี่ย์ คนเก่ง เป็นภาพวาดผลงานของ มิดดี้ โธมัส

ภาพประกอบในหนังสือมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นภาพหน้าปกกับส่วนที่เป็นภาพประกอบเนื้อหา

ภาพหน้าปก ภาพหน้าปกเป็นภาพของตัวละครเอกก็คือ กูนี่ย์ดูมีความสุข ท่าทางยิ้มแย้มแจ่มใส  สวมชุดที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง ในภาพมือซ้ายของกูนี่ย์กำลังถือเคราสีน้ำตาลเข้มที่เขาใช้สวมเวลาเล่าเรื่อง ละมั่งอัฟริกัน 2 ตัว พื้นหลังของภาพใช้สีขาว ทำให้รูปของกูนี่ย์ดูโดดเด่นมากขึ้นไปอีก  ซึ่งเมื่อผู้อ่านได้เห็นหน้าปกก็เกิดความสนใจที่จะอ่านตามมา

ภาพประกอบเนื้อหา ภาพประกอบเนื้อหามี 2 แบบ ซึ่งทั้งสองแบบต่างสอดคล้องกัน คือ

แบบที่แรกเป็นภาพของสิ่งของต่างๆ ที่ตัวละครใช้ประกอบการเล่านิทานของตนเอง  เพื่อเป็นการเร้าความสนใจของผู้อ่าน ภาพวางตัวในแนวนอน อยู่ในกรอบขนาด 3.4 ซม. x 5.2 ซม.   

ซึ่งภาพในลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นในหน้า 7  ภาพของมดกับตั๊กแตน หน้า 16 ภาพอาหารกลางวันมีแอปเปิ้ล นม และแซนด์วิช หน้า 25 ภาพเสื้อกั๊กสีขาว หน้า 35 ภาพจิงโจ้ หน้า 43 ภาพตุ๊กตาหมีเท็ดดี้ หน้า 52 ภาพนกฟลามิงโก้ หน้า 62 ภาพผ้ากันเปื้อนลายปัก หน้า 72 ภาพความอเมริกัน หน้า 85 ภาพปอกคอของสุนัข หน้า 95 ภาพอาหารกลางวันมีส้มกัมควอท ไก่ทอด และแฮมเบอร์เกอร์ หน้า 101 ภาพลิงแมนดริล  และหน้า 109 ภาพเคราปลอมสีน้ำตาลเข้ม

แบบที่สองเป็นภาพของเหตุการณ์  การกระทำของตัวละครที่เกิดขึ้นในเรื่อง  เพื่อให้เด็กหรือผู้อ่านเกิดจินตนาการตามเรื่องราวที่เกิดขึ้นได้ชัดเจน  ภาพวางตัวในแนวตั้ง ใหญ่เต็ม 1 หน้ากระดาษ  อยู่ในกรอบขนาด 12 ซม. x 15.2 ซม.  ซึ่งภาพในลักษณะนี้ปรากฏให้เห็นในหน้า 10 ภาพกูนี่ย์กำลังยกมือและยืนขึ้บอกความหมายของคำศัพท์ หน้า 22 ภาพกูนี่ย์กับเพื่อนเข้าไปดูอาการของนิโคลัส หน้า 28 ภาพคุณครูพิดเจี้ยนกับกูนี่ย์ยืนอยู่หน้าชั้น หน้า 38 ภาพไคโกะออกมาเล่านิทานโดยใช้กระเป๋าเป้มาแต่งเป็นชุดแฟนซี หน้าชั้น หน้า 56 ภาพไทโรนกลิ้งตัวและหยุดถาดขนมพายห้อยต่องแต่งกระดอนอยู่บนหน้าอก หน้า 63 ภาพกูนี่ย์กำลังหยิบผ้ากันเปื้อนลายปักออกมาสวมก่อนกินอาหารกลางวัน หน้า 74 ภาพเบนกับทริเชียออกมาเล่านิทานโดยเบนติดสำลีไว้ที่ก้นส่วนทริเชียสวมถุงมือที่มือและเท้า หน้า 88 ภาพเชลซีสวมปอกคอ ออกมาเล่านิทาน หน้า 98 ภาพกูนี่ย์กับเพื่อนกำลังแลกอาหารกลางวันกันอย่างสนุกสนาน หน้า 104 ภาพมัลคอล์มกระโดดไปมาเลียนแบบลิงแมนดริล หน้า 111 กูนี่ย์กับนิโคลัสกำลังกระซิบกันที่มุมห้องข้างกรงหนู ก่อนจะนิทาน และหน้า122-123  เป็นภาพสุดท้ายจะดูพิเศษ  เพราะเป็นภาพของตัวละครเดินพาเหรดยาวต่อกันถึงสองหน้า

ลักษณะของภาพเป็นภาพวาดที่มีสีสันสดใสสวยงาม ใช้ภาพที่มีหลากหลายสี ชัดเจนไม่เลอะเลือน มีความประณีต มีชีวิตชีวา สอดคล้องกับเนื้อหาของเรื่อง มีความน่าสนใจ  ทำให้เด็กหรือผู้อ่านเข้าใจเรื่องราว  เกิดจินตนาการและสื่ออารมณ์ความรู้สึกต่างๆตามเนื้อเรื่อง  เพราะผู้เขียนได้วางภาพไว้หลังที่เหตุการณ์นั้นเกิด  ทำให้เด็กหรือผู้อ่านได้จินตนาการก่อนแล้วพออ่านไปเรื่อยๆ ภาพก็จะปรากฏให้เห็นตามมา  ซึ่งไม่ทำลายจินตนาการของเด็กหรือผู้อ่าน  และที่สำคัญทำให้เด็กหรือผู้อ่านเกิดความประทับใจ

9.       การพิมพ์  การจัดหน้า  และการเย็บเล่ม

9.1  ข้อดีและข้อจำกัด

การพิมพ์  พิมพ์ลงบนกระดาษถนอมสายตา เป็นกระดาษที่มีลักษณะสีเหลืองอ่อน

นวลตา  ผิวของกระดาษที่ไม่เรียบ  ความสว่างของสีมีปริมาณน้อย  ดูดกลืนแสงได้ดี  ทำให้ลดการสะท้อนแสงเข้าตาน้อย  ซึ่งช่วยทำให้ถนอมสายตา  ทำให้สามารถอ่านหนังสือได้นาน  และที่สำคัญสีของกระดาษจะคงทน ไม่คล้ำ หรือไม่เปลี่ยนสี  ทำให้หนังสือไม่ดูเก่าลง ประกอบกับมีการพิมพ์ตัวอักษรที่หน้าปกเป็นตัวอักษรประดิษฐ์  แต่อ่านง่าย ใช้ตัวอักษรตัวโต หนา สีเขียวเข้ม  ส่วนตัวอักษรที่เป็นเนื้อหาเป็นตัวพิมพ์ธรรมดา  ขนาด 18-20 พอยท์ (ประมาณ 2 มม.)  ซึ่งตัวโต  สีดำ

อ่านง่าย  สบายตา  และเนื้อหาที่เป็นนิทานที่ผู้เขียนนำมาแทรกไว้ในเรื่องหรือจุดที่เน้นเป็นสำคัญ  เป็นตัวพิมพ์ธรรมดาขนาด 24 พอยท์ (ประมาณ 3 มม.)  ซึ่งตัวโต  หนา  สีดำ  อ่านได้อย่างชัดเจน ตัวอักษรแต่ละตัวมีความถูกต้อง  ตรงตามหลักภาษาไทย 

                การจัดหน้า  จัดหน้าโดยแต่ละหน้ามีการกำหนดขอบกระดาษทั้งชานด้านใน ด้านนอก ด้านบน และด้านล่าง  ในเนื้อเรื่องมีการจัดช่องไฟสม่ำเสมอ  แบ่งวรรคตอน ช่องว่างระหว่างตัวอักษร สระ พยัญชนะ ไม่ห่างและชิดกันจนเกินไป  ทำให้ดูสวยงาม โปร่งตา อ่านง่ายไม่ดูรกทึบหรือแน่จนเกินไป  แต่ละหน้าก็มีเนื้อหาไม่แน

หมายเลขบันทึก: 322201เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2009 17:55 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:06 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

น่าอ่านจังค่ะ..ชอบอ่านวรรณกรรมเด็กค่ะ..เหมือนได้ย้อนไปเป็นเด็กอีกครั้ง..

..ขอบคุณสำหรับการวิเคราะห์ที่น่าสนใจ..

ว่างๆจะไปตามหามาอ่านนบ้างค่ะ..

^^

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท