การพัฒนาใจตนเองเพื่อชนะใจผู้อื่น


พัฒนาตนต้องพัฒนาที่ใจ พัฒนาใครต้องพัฒนาตัวเองก่อน

การพัฒนาบุคลิกภาพ 

 

            แนวคิดในการพัฒนาบุคลิกภาพคือ การสร้างภาพลักษณ์ของเราให้ดูดี น่าสนใจ น่ามีปฏิสัมพันธ์ด้วย ซึ่งดิฉันคิดว่าการพัฒนาบุคลิกภาพคือการทำให้ตัวเรา มาดต้องตา วาจาต้องใจ ภายในต้องเยี่ยม นั่นคือการพัฒนาบุคลิกภาพนั้นแบ่งเป็นการพัฒนาในสามองค์ประกอบคือ

  1. การพัฒนาทางกายภาพ ลักษณะท่าทาง การแต่งกาย
  2. การพัฒนาทักษะในการพูดเพื่อครองใจผู้ฟัง
  3. การพัฒนาใจ ให้มีจิตใจสูง

          โดยการพัฒนาทั้งสามองค์ประกอบนี้จะช่วยให้เราพัฒนาทั้งในส่วนของการคิด พูด และการกระทำ การพัฒนาที่ง่ายที่สุดคือการพัฒนาทางกายภาพ ซึ่งเกี่ยวข้องการการแต่งกาย ลักษณะท่าทาง สิ่งต่าง ๆ เหล่านี้เราสามารถพัฒนาได้ เรียนรู้ได้ รองลงมา คือการพัฒนาการพูด พูดอย่างไรให้ครองใจผู้ฟัง ฟังอย่างไรให้ชนะใจผู้พูด ซึ่งเรื่องนี้มีการจัด Course สอนกันอย่างกว้างขวางในปัจจุบัน การพัฒนาเรื่องการพูดนั้น ต้องอาศัยเวลา ค่อยๆ พัฒนาไป แต่สิ่งที่สำคัญที่สุดในการพัฒนาบุคลิกภาพคือการพัฒนาใจให้มีจิตใจสูงขึ้น เพราะคนที่พัฒนาใจให้สูงขึ้นแล้ว จะคิดก่อนพูด พูดแล้วทำ เขาจึงพูดในสิ่งที่ทำได้ ไม่พูดเพ้อเจ้อ เพราะเมื่อพูด คำพูดจะกลายมาเป็นนายเราค่ะ

          จะเห็นได้ว่าการพัฒนาบุคลิกภาพเราสามารถเริ่มจากการพัฒนาสิ่งที่ง่ายที่สุดสู่การพัฒนาใจซึ่งเป็นสิ่งที่ยากที่สุด และการพัฒนานี้จะส่งผลให้เรามีการกระทำจากสิ่งที่ยากสุดสู่สิ่งที่ง่ายสุดคือคิด พูดและทำในสิ่งที่ดีซึ่งเป็นสืบเนื่องจากใจที่ได้พัฒนาแล้วนั่นเอง

          วันนี้ดิฉันนำแนวคิดการพัฒนาใจตนเองเพื่อชนะใจผู้อื่นซึ่งเป็นศาสตร์ที่ขงจื้อได้สอนไว้นมนานมาแล้ว แต่กลับยังคงใช้ได้ดีแม้ในโลกไร้พรมแดนใบนี้ แนวคิดนี้ Thomas Cleary ได้นำมาเขียนในหนังสือเรื่อง The Essential Confucius  สรุปเป็นเรื่องคำสอนของขงจื๊อเกี่ยวกับคุณธรรมที่ควรปลูกฝังไว้ในจิตใจมนุษย์  ซึ่งมีประเด็นสำคัญในการครองใจคนอื่นคือ  การเอาชนะใจตนเองในเรื่องต่อไปนี้

1. ความรักและเคารพเพื่อนมนุษย์ด้วยกัน

ความรักและเคารพต่อเพื่อนมนุษย์ด้วยกันในมุมมองของขงจื๊อคือ การเคารพและให้เกียรติมนุษย์ทุกคนอย่างเท่าเทียมกัน โดยไม่มีการเลือกปฏิบัติ นอกจากนั้น ผู้ที่ได้ชื่อว่ามีคุณธรรมจะต้องมีความยุติธรรม ตรงไปตรงมา และมีมารยาทสังคม รู้จักผิดชอบชั่วดี ไม่มีการเล่นเส้นเล่นสาย ตัดสินทุกอย่างบนพื้นฐานของความถูกต้อง และคำนึงถึงผลประโยชน์ของประเทศชาติเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม คุณธรรมความดีดังกล่าวจะไม่ช่วยสร้างประโยชน์อันใดมากนักหากผู้ที่มีคุณธรรมไร้ซึ่งความรู้ความสามารถและความใฝ่ใจในการศึกษาหาความรู้เพิ่มเติม ในมุมมองของขงจื๊อ คุณธรรมความดีและความรู้ความสามารถเป็นสิ่งที่ต้องมีควบคู่กันไป

2. คุณธรรมเพื่อยกระดับคุณภาพจิตใจ

1)      จงอย่ากังวลว่าคนอื่นจะไม่รู้จักเรา แต่ให้กังวลว่า ตัวเรามีคุณค่าเพียงพอแล้วหรือยังที่จะให้คนอื่นรู้จัก

2)      คนที่มีความละโมบ และกระสับกระส่ายอยู่ตลอดเวลา ยากที่จะมีความสงบและความมั่นคงในจิตใจ

ความกังวลสับสนและความเคร่งเครียด จะทำให้จิตใจขุ่นมัวไม่สามารถขบคิดแก้ไขปัญหาได้ และส่งผลให้กิริยาที่แสดงออกมามีแต่ความเกรี้ยวกราดและรุนแรง ทำให้ลูกน้องหมดศรัทธา และไม่อยากจะร่วมงานด้วย ดังนั้น ขงจื๊อจึงสอนว่า เราควรประคับประคองจิตใจให้มีความสงบและสบาย เมื่อใจสบาย กิริยาและคำพูดที่แสดงออกมาก็จะน่าฟัง และน่าเชื่อถือ

3. คนที่ไม่รู้จักวางแผนระยะยาว จะรู้สึกอึดอัดและกังวลต่อสิ่งที่กำลังทำอยู่เสมอ

การตั้งใจทำงานอย่างเต็มที่โดยไม่รู้ตัวว่า กำลังทำอะไร ทำไปเพื่ออะไร ผลที่ตามมาคืออะไร และที่สำคัญคือ สิ่งที่เราทำอยู่นี้เป็นสิ่งที่เราต้องการทำจริงหรือ หรือทำไปเพื่ออยู่ไปวันหนึ่ง ๆ การทำงานอย่างไร้เป้าหมายในชีวิต นอกจากจะสร้างความอึดอัดและเคร่งเครียดแล้ว ยังจะเป็นการเสียเวลาโดยเปล่าประโยชน์ ดังนั้น เราควรสร้างมโนภาพเกี่ยวกับแผนที่ชีวิตของตนเองเสียตั้งแต่ต้น

4. คนที่หมั่นศึกษาหาความรู้โดยการท่องตำราแต่เพียงอย่างเดียว โดยไม่นำความรู้ไปทบทวนหรือนำไปปฏิบัติเปรียบได้กับ “เต่าแบกคัมภีร์หรือตาบอดคลำทาง” ในขณะเดียวกัน คนที่ชอบแสดงความคิดเห็นอยู่ตลอดเวลาโดยไม่สนใจข้อเท็จจริงใด ๆ เปรียบได้กับคนตาเป็นต้อ

          ฉะนั้น สิ่งที่ดีที่สุดคือ การหมั่นศึกษา หาความรู้และนำความรู้เหล่านั้นมาทบทวนพิจารณา และนำมาปรับประยุกต์ใช้กับชีวิตประจำวัน

5. คนที่มีคุณธรรมจะไม่พูดจาเกินจากสิ่งที่ตนเองทำได้ เพราะคนที่มีคุณธรรมจะต้องมีปากกับใจตรงกัน

6. แม้ว่าคุณจะเป็นคนดีมีความสามารถปานใด ความอวดดีหรือความตระหนี่ถี่เหนียว จะทำให้คุณเป็นคนที่ไม่มีใครต้องการคบหาสมาคมด้วย

7. จงอย่าสนใจว่าคนอื่นจะมีชื่อเสียงและเกียรติยศมากน้อยเพียงใด แต่ให้สนใจว่าตัวเราเองยังขาดคุณสมบัติในด้านใดบ้างที่ยังต้องปรับปรุงแก้ไข

8. จงอย่ากังวลว่าทำไมผู้อื่นจึงไม่เข้าใจเรา แต่ให้กังวลว่าทำไมเราจึงไม่เข้าใจผู้อื่น

9. การก้มหน้ายอมรับชะตากรรมว่าเราเกิดมายากจน เป็นสิ่งที่ทำได้ง่ายกว่าการถ่อมตัวและฝืนใจที่จะไม่โอ้อวดความร่ำรวยของตนเอง

      ธรรมชาติของมนุษย์เมื่อมีความร่ำรวยหรือมีสิ่งที่เหนือกว่าผู้อื่น มักชอบโอ้อวดและประกาศศักดาของตัวเอง พฤติกรรมเช่นนี้ย่อมเป็นการนำภัยมาสู่ตนเองโดยไม่รู้ตัว ขงจื๊อจึงสอนว่า เมื่อร่ำรวยแล้วไม่ควรอวดตัว แต่ให้มีความสำรวม สมถะ และมีความพอเพียง

10.  สิ่งที่สำคัญที่สุดของความเป็นมนุษย์คือ ความซื่อตรงและซื่อสัตย์ต่อผู้อื่น

11.  จงอย่าสุงสิงกับคนที่มีคุณภาพจิตต่ำกว่าเรา และจงอย่าลังเลที่จะแก้ไขข้อผิดพลาดของตนเอง

เพราะความคิด คำพูด และการกระทำของอีกฝ่ายย่อมกระทบกระเทือนจิตใจเราอย่างที่หลีกเลี่ยงเสียไม่ได้

12.  จงอย่าใส่ใจกับเรื่องความรวดเร็วและอย่าสนใจกับเรื่องเล็ก ๆ น้อย ๆ

เพราะยิ่งสนใจเรื่องความรวดเร็วเท่าไร เรายิ่งห่างไกลจากความเป็นจริง และถ้าเราสนใจเรื่องเล็กน้อย จะทำให้ทำการใหญ่ยาก เพราะคนที่มีจิตใจจะคับแคบ ย่อมไม่สามารถดึงดูดผู้คนมาช่วยเหลือให้การสนับสนุนได้

 

 

Merry X'mas

Merry Christmas ค่ะ

.....................

คนึงนิจ อนุโรจน์

คำสำคัญ (Tags): #hrd
หมายเลขบันทึก: 322147เขียนเมื่อ 22 ธันวาคม 2009 14:16 น. ()แก้ไขเมื่อ 29 พฤษภาคม 2013 09:14 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท