เป็นที่ทราบกันดีว่า สังคมไทยไม่ใช่สังคมนักอ่าน สังคมนักเขียน เพราะคนไทยส่วนใหญ่ไม่รักการอ่านและการเขียนหนังสือ ซึ่งเป็นกันทั่วตลอด ตั้งแต่เด็ก ๆ จนถึงบุคลากรมหาวิทยาลัย ทำให้เป็นอุปสรรคต่อการพัฒนาสติปัญญาและการงานเป็นอย่างยิ่ง
สำหรับคนที่รักการอ่านหนังสือ นอกจากจะทำให้มีความรู้และทรรศนะที่กว้างไกลอันหล่อหลอมให้เป็นคนสุขุมลุ่มลึกแล้ว การอ่านยังนำความสุขมาให้เหลือคณา และเป็นความสุขที่ราคาถูกที่สุด ไม่ต้องซื้อหา หรือหากจะซื้อหาก็ซื้อหาด้วยราคาที่ไม่แพง นอกจากนี้หนังสือยังเป็นเพื่อนที่ดีที่สุด ทั้งยามเหงา เบื่อ เซ็ง เครียด และอ่อนล้า ดังคำกล่าวที่ว่า "หนังสือคือมิตรแท้"
การอ่านหนังสือในวัยเด็ก ไม่มีหลักฐานว่าการหัดอ่านหนังสือตั้งแต่อายุยังน้อยเป็นการทำลายสมองและก่อให้เกิดปัญหาภายหลัง แต่ตรงกันข้าม เด็กเรียนพูดจากพ่อแม่และเลียนเสียงธรรมชาติได้โดยไม่ลำบากฉันใด การที่เด็กเรียนอ่านหนังสือก็เป็นเรื่องไม่ลำบากฉันนั้น เพราะคำพูดคือเสียง และตัวหนังสือคือภาพ เด็กจะสนใจจำเสียงและภาพไปพร้อม ๆ กัน
ที่นี้เรามาทำความเข้าใจระหว่างคำสองคำ คือคำว่า "เรียน" กับคำว่า "เข้าโรงเรียน" สองคำนี้มีความหมายต่างกัน การเข้าโรงเรียน คือ การให้เด็กเรียนรู้ในระบบโรงเรียน ซึ่งต้องมีครูผู้สอน และเด็กต้องปฏิบัติตนตามกติกาของโรงเรียน การเข้าโรงเรียนสำหรับเด็กเล็ก ที่ปัจจุบันนี้พ่อแม่นิยมส่งลูกเข้าโรงเรียนตั้งแต่อายุ 2-3 ขวบ ในขณะที่เด็กยังไม่พร้อมจะออกสู่โลกภายนอกที่ห่างไกลจากบ้านอาจเป็นการทารุณจิตใจเด็ก จนกระทั่งเกิดความหวาดกลัวต่อการเรียน ส่วนคำว่าเรียนนั้น เด็กสามารถเรียนรู้ได้ตั้งแต่เกิดและเรียนด้วยความสนุก โดยใช้วิธีเล่นควบคู่ไปกับการเรียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องเข้าโรงเรียนในระยะ 2-3 ขวบแรกก็ได้ ถ้าเราซึ่งเป็นพ่อแม่ทำให้การอ่านหนังสือเป็นเรื่องสนุกสนาน เด็กก็จะชอบเรียน มีความสุข มีการพัฒนาสมอง ฉลาด และรักการอ่าน การเรียนรู้ต่อไป เป็นผู้ใฝ่รู้ใฝ่เรียน ซึ่งนิสัยนี้จะติดตัวไปจนเติบใหญ่
ประเทศไทยมีเด็กเกิดใหม่ปีละหนึ่งล้านคนเศษ เรามาลองคิดกันเล่น ๆ ว่า ภายใน 5-10 ปี จะมีเด็กเกิดใหม่ 5 ล้านถึง 10 ล้านคน เด็กเหล่านี้เป็นทรัพยากรมนุษย์อันมีค่าของเรา แต่เขาตกอยู่ในสภาพต่าง ๆ กัน หากเราสร้างเงื่อนไขให้เขาได้หัดอ่านและปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กที่เกิดใหม่เหล่านี้ ลองนึกดูว่าประเทศไทยในอนาคตจะเป็นเช่นไร คงมีแต่ทรัพยากรมนุษย์ที่มีคุณค่า สร้างความเจริญก้าวหน้าให้กับประเทศชาติ และยิ่งเราปลูกฝังคุณธรรม จริยธรรมให้เกิดขึ้นในจิตใจเด็กเหล่านี้ ก็จะยิ่งมีแต่คนดี คนเก่งในสังคมไทย ไม่ทำให้เป็นปัญหาของสังคม การปลูกฝังนิสัยรักการอ่านในเด็กจึงต้องรู้จักวิธีสร้างความสนใจในการอ่าน มีวิธีการทำอย่างไร จะได้กล่าวต่อไปในวันพรุ่งนี้ โปรดติดตาม
“เพื่อน”ของแต่ละคนมีความหมายแตกต่างกันไป
เพื่อนไม่จำเป็นต้องเป็นมนุษย์แต่สามารถเป็นได้ทั้งสัตว์
ทั้งหนังสือ หรือสิ่งอื่นๆ
ที่เรารัก เราชอบ เราโปรดปราน เปรียบได้ดั่งคนคนหนึ่งที่อยู่ข้างๆเรา
เวลาเราเหงา เราเบื่อ ถึงจะเป็นเพื่อนที่พูดไม่ได้ แต่ก็ช่วยให้เราเพลิดเพลินได้เหมือนกัน