๖๕. บวชนาคหมู่ เอกลักษณ์ของอำเภอหนองบัว นครสวรรค์ : เบ้าหลอมชุมชน


".....นาคนับเป็นร้อยจ้าวก็จะเริ่มแห่และทำพิธีตั้งแต่ก่อนสว่าง เมื่อต่างก็แห่นาคมาถึงวัดแล้วก็จะมารวมกันที่ศาลาวัดหนองกลับ...."

ประเพณีการแห่นาคหมู่และการบวชนาคหมู่ของชุมชนชาวหนองบัว อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งที่ริเริ่มมายาวนานนับแต่ยุคหลวงพ่ออ๋อย หรือพระครูนิกรปทุมรักษ์ (๑๗ กุมภาพันธ์ ๒๔๔๒ - ๒๙ สิงหาคม ๒๕๒๙ อายุ ๘๗ ปี พรรษา ๖๗ พรรษา) แห่งวัดหนองกลับหรือวัดหนองบัว ลูกศิษย์หลวงพ่อเดิม

                         

ภาพที่ ๑  ภาพขบวนแห่นาคหมู่อำเภอหนองบัว : ประเพณีการแห่นาคและการบวชนาคหมู่ อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์  ภาพประกอบวาดโดย : วิรัตน์ คำศรีจันทร์ กรกฏาคม ๒๕๕๒

การแห่นาคจะแห่นาคแต่ละจ้าวมาจากหมู่บ้านและชุมชนต่างๆทั่วสารทิศ ทั้งในตัวชุมชนอำเภอหนองบัวและจากโดยรอบ มักเริ่มแห่ออกจากบ้านตั้งแต่ก่อนรุ่งอรุณ ตี ๔-ตีห้าโดยประมาณ โดยกะให้ไปเตรียมข้าวของเพื่อเริ่มทะยอยเข้าโบสถ์อีกครั้งที่วัดหนองกลับซึ่งก็จะเริ่มแต่เช้าตรู่ให้เสร็จก่อนเพลเพื่อที่ญาติพี่น้องและนาคจะได้ทำการฉลองพระใหม่และถวายภัตตาหารเพลแด่พระสงฆ์ได้

บางปีมีนาคนับเป็นร้อยจ้าวก็จะเริ่มแห่และทำพิธีตั้งแต่ก่อนสว่าง เมื่อต่างก็แห่นาคมาถึงวัดแล้วก็จะมารวมกันที่ศาลาวัดหนองกลับ ซึ่งเป็นศาลาไม้ขนาดใหญ่โต

ระหว่างการรอเพื่ออุปสมบทเป็นนาคหมู่พร้อมกัน ก็จะมีการเล่นแตรวง รำวง ล้อมวงกินข้าว แบ่งปันขนมและสิ่งของเพื่อช่วยงานกันและทำบุญกุศลร่วมกัน

ในประเพณีดังกล่าว แตรวงมากมายหลายวง ก็จะมีบทบาทเหมือนกับเป็นผู้จัดกระบวนการทางสังคมและเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรม รวมกลุ่มช่วยกันเป่าแตรและเล่นเพลงให้ชาวบ้านรำวงเอาแรงกัน จ้าวไหนแห่เสร็จก่อนก็จะไปช่วยแห่ให้กับจ้าวอื่น บ้างก็จะขอหามเสลี่ยงและขอให้ได้เป็นพาหนะให้นาคขี่คอ ด้วยถือว่าได้อานิสงมาก บ้างก็ขอช่วยหาบข้าวของที่เป็นอัฐบริขาร และบางทีก็แบ่งปันข้าวของตนเองเข้าไปช่วย

                         

ภาพที่ ๒  เครื่องแห่นาค : คานหาม เสลี่ยง เครื่องทรงนาค และสิ่งตบแต่งต่างๆ สำหรับการแห่นาคในลักษณะต่างๆ ทั้งการขี่คอ การคอนเสลี่ยงและคานหาม การขี่ม้า การขี่ช้าง การขี่รถ เครื่องทรงและการตบแต่งจะเป็นงานแสดงออกทางฝีมือช่างของชาวบ้าน รวมทั้งแสดงออกทางปริศนาธรรมและภูมิปัญญาเกี่ยวกับพระศาสนา เช่น คานหามทำเป็นรูปม้า ๔ ขาก็อาจหมายถึงกายและรูปขันธ์ทั้ง ๔ คือ รูป เวทนา สัญญา สังขาร ซึ่งเป็นเหมือนพาหนะและที่อาศัยของวิญญาณขันธ์ เป็นต้น ภาพถ่ายโดย : เสวก ใยอินทร์ คนหนองบัว จากบล๊อก เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว

การเข้าไปเดินร่วมในขบวนและการออกไปร่ายรำหน้านาค มักมีคนเฒ่าคนแก่และชาวบ้านทั่วไปที่โดยปรกติก็จะไม่เห็นการร่วมกิจกรรมรื่นเริง เนื่องจากในประเพณีดังกล่าว การร่ายรำหน้าขบวนแห่นาค อยู่ในฐานคติของการทำเพื่อเป็นปฏิบัติบูชาหรือการบูชาด้วยดนตรีและการร่ายรำ มิใช่เพื่อความสนุกสนานเท่านั้น

ในหมู่แตรวง จะมีวัฒนธรรมการไล่เพลง นั่งต่อเพลง และสอบทานทางเพลงให้กัน จึงนอกจากจะทำให้การบวชนาคทำให้ผู้คนหนองบัวมีสำนึกในการเป็นศิษย์ครูอาจารย์ร่วมโบสถ์เดียวกันแล้ว วัฒนธรรมอย่างในกลุ่มแตรวงนี้ ก็มีส่วนในการทำให้ผู้คนซึ่งก็มาจากชาวนาและชาวบ้าน ได้รู้จักเคารพนับถือกันเป็นครูอาจารย์รวมไปถึงทั้งชุมชน จะคิดและทำสิ่งใดก็มุ่งปรึกษาหารือกัน เป็นกลไกโดยธรรมชาติในการอยูร่วมกันในอดีต

จากนั้นก็จะเริ่มแห่ขบวนนาค จัดเป็นนาคเอก นาคโท* หรือไปจัดในตอนนั่งในโบสถ์ แห่รอบโบสถ์ เข้ารับการบรรพชาอุปสมบทพร้อมกัน เป็นประเพณีการบวชนาคหมู่ที่เป็นเอกลักษณ์อย่างหนึ่งของชุมชนชาวหนองบัว นครสวรรค์

ระหว่างการแห่นาค ทั่วตลาดอำเภอหนองบัว รวมทั้งในวัดหนองกลับ ก็จะก่อให้เกิดการสื่อสารเรียนรู้และสร้างการเคลื่อนไหวทางวัฒนธรรมอย่างคึกคัก ทั้งชุมชนอำเภอเต็มไปด้วยบรรยากาศงานบุญและความครึกครื้น ปลื้มปีติ ผู้คนจะถามไถ่และทบทวนว่านาคเอก นาคโท เป็นใคร รวมทั้งพ่อนาคคนอื่นๆเป็นลูกหลานของใคร

สิ่งเหล่านี้ ก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นแน่นหนาของชุมชน เป็นวิธีสืบทอดประเพณีทางศาสนาที่ผสมผสานกลมกลืนกับวิถีของท้องถิ่น คงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้ ทำให้การบวชนาคและการแห่นาคหมู่ เป็นหนึ่งในคำขวัญของอำเภอหนองบัว.

--------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------------

  * นาคเอก นาคโท  

               ในประเพณีการบวชนั้น จะมีขั้นตอนที่สำคัญโดยผู้ที่จะบวชก็จะไปอยู่วัดเพื่อรับการอบรมทางด้านต่างๆ จากนั้นก็จะโกนหัวเป็นนาค เมื่อเป็นนาคแล้ว ก็จะผ่านขั้นตอนที่สำคัญอีกคือ การสมาทานศีล ๑๐ การถือนิสสัยสำหรับการปฏิบัติไตรสิกขา และแนวปฏิบัติศึกษาอสุภกรรมฐาน ซึ่งในขั้นตอนนี้บางครั้งก็อาจเรียกว่าเป็นการบรรพชาเป็นสามเณร จากนั้นจึงจะเป็นการอุปสมบทซึ่งเป็นขั้นตอนพิจารณารับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของหมู่สงฆ์ หรือเปลี่ยนผ่านเป็นสมาชิกของชุมชนทางศาสนา อยู่ร่วมกับผู้อื่นโดยได้ฉายาใหม่เป็นพุทธบุตร ขั้นตอนดังกล่าวนี้ ในแง่ความเป็นชุมชนนั้น ก็จัดว่าเป็นขั้นตอนแปรภาวะความเป็นปัจเจกให้เป็น ๒ สถานะ คือ เป็นส่วนหนึ่งของชุมชนผู้นำทางจิตใจ (Spiritual leadership community) และเป็นบุคคลของส่วนรวม (Public servant) ในเชิงสัญลักษณ์นั้น ก็จะสื่อถึงความไม่มีตัวตนของปัจเจก แต่ได้บังเกิดขึ้นในชีวิตทางการปฏิบัติธรรม  จึงไม่มีอายุทางโลกอีก แต่ใช้การนับพรรษาและอายุทางธรรมแทน จะอายุเท่าใดก็เคารพและอยู่กันด้วยอาวุโสทางธรรม ไม่ใช้ชื่อเดิมของปัจเจก แต่มีฉายาที่เหมือนกับธรรมนิยามในความเป็นท่านนั้นๆสำหรับใช้เรียกชีวิตการบวช ดังนั้น การเตรียมผู้ที่จะบวชจึงเป็นขั้นตอนที่สำคัญ ผู้ถึงวัยที่จะบวช เมื่ออายุ ๒๐ ปีขึ้นไป เมื่อประสงค์จะบวช จะต้องนำเอาขันธ์ ๕ และดอกไม้ธูปเทียนแพ ไปกราบอุปัชฌาจารย์ น้อมตนเป็นนาคและรับการฝึกหัดเพื่อเตรียมบวช ฝึกปฏิบัติรับใช้พระ เณร และผู้อื่นในวัด ฝึกขานนาค ฝึกกราบ และท่องบทสวดมนต์ ผู้ที่มีลักษณะความเป็นผู้นำในระหว่างเป็นนาค ทั้งโดยนิสัย การแสดงออก ความอ่อนน้อม ความจริงจังในการปฏิบัติ ความจริงจังในการอ่านและท่องหนังสือขานนาค รวมทั้งเป็นที่ยอมรับโดยธรรมชาติในกลุ่มของนาคที่จะบวชในรุ่นเดียวกัน เหล่านี้ จะเป็นองค์ประกอบที่พระพี่เลี้ยงและอุปัชฌาจารย์พิจารณาให้เป็นนาคเอกและนาคโท มีนัยะถึงความเป็นผู้นำโดยธรรมชาติ ระหว่างทำพิธีบวชก็จะเป็นผู้แสดงนำการขานนาคได้ถูกต้อง ชัดเจน เมื่อเป็นพระนวกะ หรือพระใหม่ในรุ่นเดียวกัน ก็มักเป็นผู้ที่ได้รับการยอมรับถึงความเป็นผู้นำเป็นอันดับแรกและอันดับรองกันไป จึงอาจกล่าวได้ว่า นาคเอกและนาคโท มีความเป็นกุศโลบายซึ่งมีนัยะต่อการสร้างปัจเจกที่มาจากพื้นฐานอันแตกต่างหลากหลาย ให้สามารถอยู่ร่วมกันเป็นชุมชนสังฆะของพระพุทธศาสนานั่นเอง

หมายเลขบันทึก: 321506เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 19:27 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:05 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (16)
  • ทำให้รู้ว่ามีสิ่งดีๆ ซ่อนอยู่ในวัฒนธรรมประเพณีมากมาย โดยเฉพาะก่อให้เกิดความเป็นปึกแผ่นของชุมชน
  • ขอบคุณความรู้ครับอาจารย์
พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)

ขออนุญาตอาจารย์วิรัตน์ นำคำขวัญอำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์มาลงไว้ที่นี่เพื่อประกอบภาพวาดขบวนแห่นาคหมู่ของอาจารย์ชุดนี้และให้เห็นภาพโดยรวมทั้งหมดของหนองบัวด้วย

คำขวัญอำเภอหนองบัว

  หลวงพ่อเดิมสร้างเมือง             ลือเลื่องความสามัคคี

  ประเพณีบวชนาคหมู่                หินสีชมพูคู่เขาพระ

 เมืองพันสระนามกล่าวขาน         พิพิธภัณฑ์พื้นบ้านมากมี

 ข้าวสารดีคือหนองบัว

 

สวัสดีครับอาจารย์ธนิตย์ครับ : เห็นด้วยเลยครับอาจารย์ หากส่งเสริมให้พระ ชาวบ้าน คนรุ่นใหม่ของชุมชนต่างๆ ถอดบทเรียนตนเองของชุมชน และสร้างความรู้จากวิถีชีวิตของชุมชน โยนเข้ามาเก็บไว้ในแหล่งรวบรวมอย่างนี้อย่างเก็บเล็กประสมน้อย ที่จะสามารถจัดการความรู้ ให้นำไปสู่การริเริ่มสร้างสรรค์สิ่งต่างๆต่อไปอีก ก็คงจะเกิดสิ่งดีๆที่สะท้อนขึ้นมาจากชุมชนท้องถิ่นต่างๆของประเทศ มากมายเลยนะครับ

กราบนมัสการพระคุณเะจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ : ช่วยเสริมเรื่องราวและเติมเต็มให้ได้รายละเอียดครบถ้วนมากยิ่งขึ้นเลยครับ อันที่จริงหลายเรื่องที่ได้มีการคุยกันในเวทีคนหนองบัว หากค่อยๆนำมาเรียบเรียงใหม่ แยกให้เป็นเรื่องๆ ก็จะเป็นคลังข้อมูลและคลังความรู้ของชุมชน ที่นำไปพัฒนาสิ่งดีๆได้อีกเยอะเลยนะครับ โดยเฉพาะการทำสื่อเรียนรู้ของสถานศึกษา และการวางแผนพัฒนาความเป็นชุมชนในมิติต่างๆ ให้มีความแยบคายต่อด้านที่เป็นคุณค่าเกี่ยวกับตนเองมากยิ่งๆขึ้น

กราบสวัสดีอาจารย์วิรัตน์ครับ เมื่อวานผมเพิ่งได้รับ E-Mail แนะนำจากพระอาจารย์มหาแล ว่าน่าจะนำเรื่องแนวคิดที่เขียนไว้ที่บล็อกของกระผม มาปรึกษาและขอความเห็นจากอาจารย์วิรัตน์ ถ้าไม่เป็นการรบกวนท่านอาจารย์มากเกินไป กระผมขอเรียนเชิญที่บล็อกของกระผมด้วยนะครับ

ขอบพระคุณเป็นอย่างสูงมา ณ โอกาสนี้อีกครั้งครับ

สวัสดีครับคุณนครพังคา ไปเยี่ยมมาแล้วนะครับ แนวคิดน่าสนใจดีมากๆครับ เป็นคนหนุ่ม-คนรุ่นใหม่ที่ตื่นตัวดีครับ ดีครับดี ขอให้เป็นคนนครสวรรค์ที่มีส่วนร่วมสร้างสรรค์สิ่งดีๆอีกคนหนึ่งอย่างแข็งขันครับ 

กราบขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์เป็นอย่างสูงครับ

ที่สละเวลามาเยี่ยมชมและให้ความเห็นเกี่ยวกับแนวความคิดของกระผม ที่ติดปัญหาอยู่ตอนนี้เห็นจะเป็น "ทำอย่างไรให้ผู้ใหญ่ฝ่ายต่างๆ รับรู้" อินเตอร์เน็ตนี่มีทั้งคุณและโทษจริงๆ ครับ มีโทษที่ไม่สามารถแพร่กระจายข่าวสารแบบนี้สู่แนวร่วมที่เป็นประชาชนในท้องถิ่นได้อย่างทั่วถึง ประชาชนในสังคมชนบทเป็นกำลังสำคัญในการผลักดันเรื่องแบบนี้จริงๆ ครับ

กราบขอบพระคุณอาจารย์วิรัตน์อีกครั้งขอรับ

เป็นเบ้าหลอมที่น่าเรียนรู้ขอรับอาจารย์..

หากทุกประเพณีผู้ร่วมได้ศึกษาตระหนักเรียนรู้สิ่งที่คนบุราณซ่อนเร้นไว้

ธรรมฐิตว่าสิ่งที่ดีๆคงปรากฏขึ้นอีกเยอะนะขอรับ..

สวัสดีครับคุณนครพังคา การเรียนรู้ชุมชน จัดเวทีการมีส่วนร่วมของท้องถิ่นและระดมความคิด แล้วก็เก็บรวบรวมข้อมูลร่วมสะท้อนเสียงของคนในสังคมโดยเฉพาะท้องถิ่น จากนั้นก็หาโกาสนำเสนอข้อมูลและผลักดันร่วมกับชุมชนในเวทีนโยบายหรือในเวทีปรึกษาหารือและเวทีสาธาธารณะต่างๆที่มีหน่วยงานผู้เกี่ยวข้องมาร่วมคิดและทำด้วยกัน น่าจะเป็นทางออกอย่างหนึ่งได้หรือเปล่าครับ แต่การนำเอามาเคลื่อนไหวในนี้ก็ช่วยได้มากเหมือนกันกระมังครับ

กราบนมัสการพระมหาธรรมฐิตครับ คนแต่ก่อนแม้นอ่านเขียนหนังสือได้น้อย แต่การศึกษาให้ได้ความลึกซึ้ง แยบคาย แล้วก็พัฒนาวิธีแสดงความรู้ให้มีบทบาทต่อการใช้สอยสิ่งต่างๆนั้น มีเยอะจริงๆนะครับ

สวัสดีค่ะอาจารย์

  • ขอขอบพระคุณสำหรับความรู้เรื่องประเพณีและนาคเอก นาคโทค่ะ
  • เข้ามาอ่านทีไร รวมทั้งการอ่านหนังสือของอาจารย์ ก็ทำให้รู้กระตุกความคิดว่าอยากจะทำอะไรให้กับชุมชนบ้าง
  • ปัจจุบันการบวชนาคของคนบ้านนอก ไม่ทราบว่าเขาทำด้วยการรักษาประเพณีวัฒนธรรมหรือค่านิยมปลอม ๆ ว่าบวชแล้ว
  • เพราะยังเห็นการดื่ม มึนเมา เฮฮา ลงทุนหนังจอยักษ์ ลิเกโรงใหญ่อยู่นะคะ แถมฆ่าสัตว์มาเป็นอาหารเลี้ยงกัน  แข่งขันว่างานใครจะยิ่งใหญ่กว่ากัน
  • มีพ่อแม่คู่หนึ่ง  มาคุยว่าเขาใช้หนี้เงินที่ยืมมาบวชลูกได้ ๘ ปีแล้วยังไม่หมด ส่วนลูกก็ไปมีครอบครัวไม่มาเหลียวแลเลยค่ะ

 

พระมหาแล ขำสุข(อาสโย)
  • เคยไปจังหวัดสงขลาอำเภอจะนะ บ้านสะพานไม้แก่นผ่านนาหม่อมวัดท่านมหาธรรมฐิตหลายครั้งเมื่อสิบกว่าปี
  • คนสงขลาเขากล่าวกันว่าพูดไพเราะที่สุดพูดหวานที่สุดในภาคใต้ เห็นด้วยเมื่อได้ฟัง พูดมีหางเสียงไม่ห้วนเหมือนจังหวัดอื่น ๆ ของแดนใต้
  • ที่เห็นเด่นอีกอย่างหนึ่งคือประเพณีท้องถิ่นของพี่น้องชาวพุทธทั้งประเพณีทอดผ้าป่า งานกฐิน
  • ปีหนึ่งได้ร่วมงานทอดกฐินวันเดียวสามสี่อำเภอ ๕-๖ วัด แต่ละวัดทำบุญโดยการเอาแรงกัน มีสมภารเจ้าวัดนำญาติโยมไปด้วยเป็นจำนวนมากแต่ละวัดคนเต็มวัดเลย คนต่างถิ่นที่อื่นมีน้อย
  • เป็นการทำบุญที่เหมือนกับเป็นคนบ้านเดียวกัน เหมือนญาติพี่น้องกันไม่ค่อยเน้นเงินทองมากนัก
  • สร้างความสัมพันธ์ผ่านงานบุญเป็นเครือญาติ ผู้คนเมื่อเจอกันก็ดูเหมือนสนิทสนมรู้จักกันดั่งญาติเห็นแล้วเกิดความอบอุ่นดีจริง ๆ
  • ประเพณีที่สามารรวมคนได้มากแบบนี้หาดูได้ยาก ได้ไปเห็นก็นึกถึงหนองบัวเรื่องบวชนาคหมู่ เรื่องลงแขกเกี่ยวข้าว เอาแรงกันฝัดข้าว เอาแรงกันปลูกเรือนหอ เรื่องกินดองแต่ละงานที่ต้องอาศัยความร่วมมือร่วมใจความสามัคคีและสิ่งเหล่านี้ล้วนแต่มีบทบาทต่อชุมชนทั้งสิ้น.

สวัสดีครับคุณครูคิม : dialogue ของครูคิมในนี้ไม่รู้ว่าหลงหูหลงตาผมไปได้อย่างไรตั้งหลายวัน เลยต้องขออภัยและต้องกราบขอบพระคุณพระคุณเจ้าพระอาจารย์มหาแลไปด้วยเลยทีเดียวครับที่ท่านเข้ามาคุย เลยทำให้ได้เข้ามาเห็นข้อสนทนาของคุณครูคิมด้วย 

จริงๆแล้วการบวชพระบวชเณร ใช้จ่ายอย่างมากก็เพียง ๒-๓,๐๐๐ บาท เท่านั้นแหละครับ สำหรับเตรียมผ้าไตร สบง จีวร บาตรและอัฐบริขารที่จำเป็น แล้วก็การทำอาหารถวายพระสงฆ์ และยิ่งไปกว่านั้น หากแสดงเจตนาและตั้งอกตั้งใจอบรมและเตรียมตนเองที่จะบวชอย่างจริงจัง แต่ไม่มีค่าใช้จ่าย ก็อาจจะสามารถขอผ้าไตรจากวัดที่ชาวบ้าน ญาติโยมเขาถวายพระ ดังนั้น แทบไม่ต้องมีเงินทอง แต่มีศรัทธาปสาทะก็ยังบวชได้เหมือนกัน

ผมเคยเล่นแตรวงงานบวชและงานประเพณีของชาวบ้านในชนบท  เลยคุ้นเคยกับงานบวชงานบุญประเพณีอยู่บ้างพอสมควร ซึ่งเมื่อก่อนนั้น ก็เห็นและรู้สึกเหมือนกันว่าค่านิยมของชาวบ้านต่อการบวชดูจะห่างไกลจากแก่นศาสนธรรมไปมาก แต่เมื่อดูเงื่อนไขแวดล้อมของชาวบ้าน โดยเฉพาะวิถีชีวิตของชนบทแล้ว ก็จะเห็นความสมเหตุผล ไม่ดูฟุ่มเฟือนเลอะเทอะเหมือนอย่างปัจจุบัน

วิถีชาวบ้านอย่างในอดีต การบวชจะมีการโฮม หรือการระดมความช่วยเหลือเกื้อกูลกัน ก่อนถึงวันงาน ชาวบ้านและญาติพี่น้องก็บอกต่อๆกันอย่างเป็นการเอาบุญ ร่วมแสดงความนับญาติ ไม่ต้องมีการแจกซองเพราะในชีวิตประจำวันของคนส่วนใหญ่ไม่มีและไม่ได้ใช้สตางค์ แต่ชาวบ้านเมื่อรู้แล้ว ก็จะไปโฮมหรือระดมทรัพยากรและร่วมแรงร่วมใจกัน ของที่โฮมกันก็จะเป็นอาหาร ข้าวของ และการใช้แรงงาน เอาไม้และแรงงานไปช่วยทำบ้าน ซ่อมแซมบ้านให้พร้อมจัดงาน ขุดสระ ทำเตาหลุุม เตรียมโอ่งไหและตักน้ำท่า เอามะพร้อมและอาหารแห้งไปสมทบ ทำเครื่องใช้อย่างใส่จิตใส่ใจ

                          

 อ้างอิงภาพ : ภาพถ่ายโดย เสวก ใยอินทร์ คนหนองบัว จากบล๊อก เวทีเรียนรู้สร้างสุขภาวะคนหนองบัว

อย่างเสลี่ยงและคานหามที่เห็นหรูหราอลังการนี้ แต่เดิมนั้นก็เป็นผลของการไปโฮมสิ่งของและแรงงานกันของชาวบ้าน ยิ่งไปกว่านั้น ก็เป็นกระบวนการเรียนรู้ ถ่ายทอด และสะสมภูมิปัญญากับเชิงช่างจากคนแต่ละรุ่นผ่านการทำงานช่วนกันไปด้วย สิ่งของเหล่านี้จะเห็นพลังการให้จิตใจสะท้อนอยู่ในความพิถีพิถันและประดิษฐ์ประดอย เพราะเป็นสื่อของการฮักโฮมใจ หรือหลอมรวมจิตใจ แสดงความเป็นญาติและผู้อยู่ร่วมทุกข์สุขในชุมชนด้วยกัน

ผู้หญิง หนุ่มสาว และเด็ก ก็จะเป็นแรงงานไปขูดมะพร้าว ตำพริก โม่แป้ง ทำขนมจีน ทอดแหจับปลามาทำน้ำยา ผู้เฒ่าผู้แก่ก็มานั่งคอยเป็นหลักใจ ทำกันทั้งกลางวันกลางคืน พวกแตรวงและกิจกรรมทางวัฒนธรรม ก็จะเป็นองค์ประกอบหนึ่งของงาน โดยเป็นการขับเคลื่อนกระบวนการชุมชนและสร้างวัฒนธรรมการทำงานช่วยแรงกัน แต่ไม่ใช่อย่างปัจจุบันซึ่งมักกลายเป็นกิจกรรมให้ความบันเทิงและเป็นหน้าเป็นตาเป็นหลัก เปลี่ยนเนื้อหาเรื่องราวของงานบวชให้กลายเป็นกิจกรรมที่รองลงไป แล้วก็สิ้นเปลืองมากจริงๆ

ผมเคยลองเทียบเคียงดูกับเวลาญาติพี่น้องตนเองต้องจัดงาน แล้วก็ลองสนทนากับชาวบ้านดูเหมือนกันว่าทำไมต้องทำอย่างนั้น ลดรูปแบบที่เป็นส่วนเกินลงไปแล้วเพิ่มความเข้มข้นในเรื่องที่เป็นแก่นสารของการบวชได้ไหม ส่วนใหญ่ก็จะออกมาอย่างที่พอจะคาดเดาได้นะครับว่า ไม่ได้ เหตุผลก็คือ มันไม่ใช่แค่ทำเพื่อเป็นงานของเราอย่างเดียว ทว่า เมื่อเราเป็นเจ้าภาพจัดงานนั้น ผู้อื่นเขาก็มาเอาแรงคืน ซึ่งในปัจจุบันนี้ก็จะไม่ใช่เป็นการเอาแรงทำงานช่วยงานกันอีกแล้ว แต่เป็นการช่วยสตางค์ใส่ซองและกินโต๊ะจัดเลี้ยง เลี้ยงเหล้ายาปลาปิ้ง ซึ้งพอถึงงานตนเอง หากทำน้อยไปกว่าคนอื่นเขา ก็เป็นการเอาเปรียบคนอื่น เรื่องย่างนี้พอไล่เรียงดูแล้ว จึงเป็นปรากฏการณ์ที่ผุดบังเกิดขึ้นจากระบบและโครงสร้างการจัดความสัมพันธ์กันทางสังคม ในระบบสังคมหนึ่งๆ เหมือนกัน

การทำเรื่องพัฒนาคน รวมไปจนถึงเรื่องการพัฒนาจิตใจของปัจเจกเพื่อสร้างคนในสภาพแวดล้อมปัจจุบัน จึงจำเป็นมากที่จะต้องหาโอกาสสะท้อนการเรียนรู้ทางสังคม เพื่อให้มีโอกาสเกิดประสบการณ์ต่อสังคมที่ใหญ่กว่าตนเองและเกิดรูปการณ์ทางจิตสำนึกที่มีพลังความเป็นส่วนรวมมากยิ่งๆขึ้น อย่างที่คุณครูคิมและเครือข่ายกับเพื่อนๆทำนั้น ก็เชื่อว่าจะเป็นทางหนึ่งที่ทำให้เรื่องที่ดูเล็กๆอย่างนี้สามารถมีกำลังเคลื่อนไหวสังคมให้ค่อยพัฒนาและสร้างความเปลี่ยนแปลงช่วยกันได้

ขอถือโอกาสกล่าวสวัสดีปีใหม่ ๒๕๕๓ ด้วย สคส จากฝีมือการทำกันเองของคนหนองบัวในเวทีคนหนองบัว มอบแด่คุณครูคิมในโอกาสนี้ด้วยเลยนะครับ 

                        

                       

                       

รูปวาดทั้งชุดของภาพ สคส ทำเองนั้น เป็นผลพวงจากเวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และเดินบวกความสร้างสรรค์ให้กันในเวทีคนหนองบัว และตอนนี้กำลังจัดเป็นนิทรรศการอยู่ที่ร้านหนังสือเบิกม่าน หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา จังหวัดนครปฐม แสดงตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ๒๕๕๒ จนถึงกลางเดือนมกราคม ๒๕๕๓ ครับ อาจารย์ณัฐพัชร์ท่านกรุณารวบรวมทำเป็นการ์ดเหมือนกับปฏิทินตามการเสนอความคิดของท่านพระอาจารย์มหาแล ซึ่งเป็นท่านหนึ่งที่ร่วมเสวนาและเป็นที่มาของการวาดรูปชุดดังกล่าวนี้ด้วย

อีกสองรูปเป็นรูปที่ถ่ายเองแต่สวยดี เลยเอามาฝากและแบ่งกันดูให้มีความสุขสดชื่นครับ รูปท้องนายามเช้านั้นผมถ่ายจากใกล้ๆบ้านคุณครูคิมนะครับคือเป็ยภาพที่ถ่ายที่บ้านเกิดผม บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว นครสวรรค์ ส่วนดอกไม้นั้น เป็นดอกบานบุรี (คุณครูอ้อยเล็กเพิ่งบอกให้รู้จัก) จากบ้านสันป่าตอง เชียงใหม่ครับ

ขอส่งความสุขและน้ำใจแห่งมิตรมายังคุณครูคิม ลูกศิษย์ลูกหา และเครือข่ายกัลยาณมิตรนะครับ มีกำลังใจและมีพลังชีวิตเพื่อการงานอยู่เสมอครับ

ด้วยจิตคาระวะจากทีมวิจัยสร้างสุขภาวะชุมชน สถาบันพัฒนาสุขภาพอาเซียน คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ชมรมชีวเกษมและเครือข่ายชุมชน : ปรีชา ก้อนทอง | ศราวุธ ปรีชาเดช | สนั่น ไชยเสน | เริงวิชญ์ นิลโคตร | กานต์ จันทวงษ์ | อาจารย์ณัฐพัชร์ ทองคำ | ดร.วิรัตน์ คำศรีจันทร์

กราบนมัสการพระคุณเจ้า พระอาจารย์มหาแลครับ

ภาพชีวิตชุมชนอย่างที่พระคุณเจ้าเล่าไว้นั้น เป็นบรรยากาศของการดำเนินชีวิตและสร้างความเป็นส่วนรวมด้วยกันของชาวบ้านในอดีตเหมือนอย่างที่ผมกล่าวถึงเลยครับ เรื่องพวกนี้นำมาทบทวนและหาแง่มุมการเรียนรู้ให้ได้ตัวปัญญาการจัดการชีวิตการเป็นอยู่ของชุมชนให้แยบคาย ก็จะทำให้ผู้คนเกิดกำลังใจและมีปัญญาเห็นความเป็นตัวของตัวเองในสภาวะแวดล้อมของสังคมยุคใหม่ได้ว่าเรามีทุนทางสังคมอยู่แต่เดิมหลายอย่าง ไม่ใช่เริ่มต้นจากศูนย์และต้องเดินตามคนอื่นเขาไปหมดได้ในหลายเรื่อง

โดยเฉพาะวิธีทำงานและการบริหารจัดการอย่างมีส่วนร่วม รวมทั้งการเรียนรู้ทางสังคมและสร้างความเป็นส่วนรวมในวิถีแบบไทยๆ ซึ่งการเรียนรู้ให้เห็นวิธีคิดและความเป็นเหตุเป็นผลในวิถีสังคมนั้น ก็จะทำให้เราสามารถเรียนรู้เข้าสู่การเปลี่ยนแปลงที่ต่อยอดกับสิ่งที่สังคมมีอยู่ได้ดียิ่งๆขึ้น กิจกรรมอย่างนี้จึงต่างจากการคุยอดีตเพียงนอนกอดหวงแหนประวัติศาสตร์แบบเบ็ดเสร็จและปิดโอกาสการเรียนรู้เพื่อการเปลี่ยนแปลงที่เหมาะสมของตนเองอยู่เสมอของสังคม

ผมกับพระคุณเจ้าได้แต่ใช้ สคส ที่เป็นรูปอันเป็นผลสืบเนื่องจากเวทีคนหนองบัว ซึ่งอาจารย์ณัฐพัชร์นำเอาไปทำเป็นรูป สคส คล้ายๆกับปฏิทินให้ ไปมอบให้กับเครือข่ายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ท่านอื่นๆ โอกาสนี้ เลยขอกราบนมัสการพระคุณเจ้าอีกบ้าง ด้วยภาพถ่ายที่ดูเป็นชนบทดีทั้งสองรูป และอีกรูปเป็นรูปที่เกี่ยวกับหลวงพ่ออ๋อยเลยละครับ

                        

                        

                        

รูปแรกเป็นผืนนาและชีวิตชนบทเชิงดอยสุเทพ เชียงใหม่ครับ  รูปที่สองเป็นรูปหมู่ผีเสื้อ เกาะอยู่บนต้นดอกไม้เล็กๆริมคลอง-คูน้ำ หน้ามหาวิทยาลัยมหิดล ศาลายา ที่ทำงานผมเองครับ และรูปที่สาม เป็นรูปหน้าวัดใหม่นิกรประทุมรักษ์ที่บ้านตาลิน อำเภอหนองบัว จังหวัดนครสวรรค์ครับ เป็นวัดที่ชาวบ้านสร้างให้เป็นที่รำลึกหลวงพ่ออ๋อย

ผมมีรูปนี้บ้างแล้วอยู่ในข้อเขียนเรื่องโรงเรียนวันครู(๒๕๐๔)และบ้านตาลิน แต่ก็ไปถ่ายมาเก็บไว้อีกเพราะกลับไปคราวนี้ชาวบ้านเขาปรับปรุงป้ายหน้าวัดให้สวยงามกว่าเดิม ทาป้ายสีใหม่อย่างสวยงามและชื่อฆราวาสของหลวงพ่ออ๋อยแต่เดิมจะอยู่ในวงเล็บ แต่คราวนี้ก็เขียนติดกันเป็นชื่อวัดเลย

ขอกราบนมัสการด้วยความเคารพ เพื่อเป็นกำลังใจและเป็นกำลังความรื่นรมย์เบิกบาน ส่งเสริมเกื้อหนุนการทำงานแห่งชีวิตในธรรมเพื่อประโยชน์สุขแก่ชาวบ้านและหมู่ผู้ศรัทธาปสาทะ ตลอดจนผู้คนทั้งหลาย มากยิ่งๆขึ้นต่อไปครับ

เข้ามาเจอชื่ออาจารย์ก็เลยสนใจเรื่องท่อาจารยเขียน กำลังอ่านดังลมหายใจทีได้มาจากครูพิมอยู้พอดี

พี่เรียมหรือเปล่าครับ
สบายดีนะครับพี่ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท