สุขใจเมื่อไปขึ้นเตียงผ่าตัด (๓) : ผ่อนคลายในห้องเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด


"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะไม่ฟ้องร้องอะไรใครเด็ดขาด”

เวลาเที่ยงครึ่งพอดี มีพนักงานเข็นเตียงเข้ามาพาผมจากหอผู้ป่วยไปแผนกศัลยกรรม ซึ่งอยู่ชั้น ๕ ของตึก ชั้นนี้มีพื้นที่โล่งๆ กว้างๆ ดูสะอาดสะอ้านมาก เข้าใจว่าไม่มีกิจกรรมอื่นๆ นอกจากที่เกี่ยวกับการผ่าตัด ผมถูกเข็นไปพร้อมกับน้ำเกลือ โดยมีภรรยาเดินไปข้างเตียงด้วย พอถึงหน้าห้องใหญ่ห้องหนึ่ง หน้าห้องมีข้อความว่า ห้องเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด แผนกวิสัญญี เขาก็ขอให้ภรรยาผมรอข้างนอก มีที่ให้นั่งรอ เราจับมือและมองตากันครู่หนึ่ง ผมบอกเธอว่า “เดี๋ยวเจอกันนะ” เธอยิ้มหวานให้กำลังใจก่อนที่ผมก็ถูกเข็นเข้าไปข้างใน

ในห้องนั้นมีวิสัญญีแพทย์ คือ พญ.สุมาลี ไชยธีรพันธ์ กับวิสัญญีพยาบาล ๒ คน ซึ่งเป็นทีมที่รับผิดชอบเรื่องทำอย่างไรไม่ให้ผมเจ็บขณะที่ศัลยแพทย์ คือ นพ.ไพโรจน์ ชัยกิตติศิลป์ และทีมพยาบาลศัลยกรรมลงมีดผ่าท้องผม ทุกคนในห้องนี้สวมชุดเขียว สวมหมวกผ้าคลุมศรีษะสีเดียวกับเสื้อ

พยาบาลวิสัญญีอาวุโสท่านหนึ่ง มานั่งข้างเตียง ถามน้ำเสียงอ่อนโยนว่า คนไข้ชื่ออะไรคะ? มาผ่าตัดด้วยโรคอะไรคะ? ฯลฯ ซึ่งผมก็ตอบไปตามความจริงทุกข้อ โดยผมเข้าใจว่าเป็นการตรวจสอบเพื่อให้แน่ใจว่าคนไข้ที่ถูกเข็นเข้ามานี้ ไม่ผิดตัวแน่ๆ ก็นึกชมว่า ระบบเขาดี มีการตรวจสอบซ้ำเพื่อความแน่ใจ มีข้อสุดท้ายที่เธอถามแล้วบอกว่าข้อนี้ไม่ต้องตอบก็ได้นะคะ คำถามก็คือ ผู้ป่วยได้รับการศึกษาสูงสุดระดับใด? ผมก็ตอบไป ดูเหมือนเธอจะจดคำตอบทุกข้อของผมไว้ด้วย

จากนั้นเธอก็อธิบายกระบวนการผ่าตัดอย่างละเอียดด้วยภาษาชาวบ้าน ที่คนไม่ได้อยู่ในวงการแพทย์อย่างผมฟังเข้าใจได้หมด ว่าจะมีขั้นตอนอย่างไรบ้าง เธอบอกว่า วิสัญญีแพทย์ดูจากประวัติและผลการตรวจเลือดและฟิล์มเอ็กซเรย์แล้ว ตัดสินใจจะใช้วิธีบล็อกหลังเพื่อไม่ให้ผมเจ็บระหว่างการผ่าตัด โดยจะฉีดยาเข้าไประหว่างข้อต่อกระดูกสันหลัง วิธีนี้มีข้อดีคือผ่าตัดเสร็จแล้วจะไม่ปวดแผลผ่าตัดไปอีกระยะเวลาหนึ่ง จนกว่าจะหมดฤทธิ์ยา

หากใช้วิธีการดมยา บางคนจะมีผลข้างเคียงหลังผ่าตัด เช่น คอแห้งทำให้ไอ การไอแต่ละครั้งจะทำให้ปวดแผลผ่าตัดที่ท้อง

อย่างไรก็ตาม หลังผ่าตัดแล้ว ขณะที่ฤทธิ์ยาจากการบล็อกหลังยังอยู่ ร่างกายท่อนล่างของผมจะยังไม่มีความรู้สึกและผมจะยังเคลื่อนไหวเท้าไม่ได้ไปอีกระยะหนึ่ง แต่ก็ไม่กี่ชั่วโมง บางคนอาจรู้สึกตกใจว่าขาหายไปไหน ทำไมเขาเหลืออยู่แค่ครึ่งตัว แต่ไม่ต้องตกใจ เพราะมันก็จะค่อยๆ รู้สึกกลับขึ้นมาเอง ผมก็พยักหน้ารับไปเรื่อยๆ ขณะเธออธิบาย  

จากนั้นเธอก็ยืนขึ้น กำมือทั้งสองข้างเป็นกำปั้นซ้ายและขวาขึ้นมาตรงหน้าผม เอากำปั้นทั้งสองนั้นมาชกกันเอง แล้วบอกว่ากระดูกสันหลังคนเราเป็นข้อๆ เรียงกัน ระหว่างแต่ละข้อสามารถง้างถ่างออกได้เหมือนกำปั้นนี้  แล้วเธอก็ขยับกำปั้นที่ประกบกันอย่างสนิทนั้นให้เห็นมุมอ้าออกจากกันเล็กน้อย แล้วอธิบายว่ายาจะถูกฉีดเข้าไประหว่างข้อกระดูกสันหลัง ผ่านเข็มที่มีขนาดเล็กมาก ประมาณเข็มร้อยดอกไม้เล็กๆ เคยเห็นมั๊ยคะ...จึงขอความร่วมมือผมว่า ขณะที่วิสัญญีแพทย์จะสอดเข็มเข้าไปในกระดูกสันหลังนั้นให้ผมพยายามโค้งงอตัวให้มากที่สุด เพื่อให้ข้อต่อระหว่างกระดูกเปิดออกให้มากที่สุด ผมก็รับปากเธอ

หลังจากนั้นครู่หนึ่ง คุณหมอสุมาลี วิสัญญีแพทย์ผู้มีน้ำเสียงอ่อนโยนอารี ก็เข้ามาคุยกับผมที่ข้างเตียง บอกวิธีการที่เธอและทีมงานจะใช้สั้นๆ แล้วถามว่าผมมีญาติมาด้วยหรือเปล่า ผมบอกเธอว่าภรรยาผมรออยู่ข้างนอกห้องนี้เอง ท่านจึงขอตัวไปคุยกับภรรยาผม

ผมทราบจากภรรยาภายหลังว่าท่านมาทำความเข้าใจภรรยาผมเรื่องวิธีการที่เธอจะใช้ระงับความเจ็บปวดระหว่างผ่าตัด พร้อมถามว่า หากจำเป็นต้องใช้ยาที่ท่านถนัดใช้บางตัวแต่ไม่อยู่ในบัญชียาของประกันสังคมร่วมด้วยจะได้ไหม ภรรยาผมตอบท่านว่าได้ แม้จะมีค่าใช้จ่ายที่ต้องจ่ายเองก็ยินดี ลึกๆ แล้วในใจเธอบอกว่า โปรดใช้เถอะ...อะไรประมาณนั้น

ตอนที่เธอเล่าให้ผมฟังภายหลังนั้น เธอเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่า การแพทย์สมัยนี้ต่างจากสมัยก่อนในเรื่องการสื่อสารกับผู้ป่วยและญาติผู้ป่วยมาก คือเราจะได้รับทราบข้อมูลอยู่ตลอดเวลาว่าแพทย์และทีมงานจะปฏิบัติอะไรต่อเราอย่างไรบ้าง และในบางเรื่องก็ขอให้เราเป็นฝ่ายตัดสินใจ ซึ่งผมเองก็ชื่นชมเรื่องนี้มาก เพราะหากผมตัดสินใจเรื่องอะไร ผมก็พร้อมที่จะรับผลจากการตัดสินใจของผมเองเสมอ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น

จากนั้น คุณหมอไพโรจน์ ศัลยแพทย์ในชุดเขียว ก็เข้ามาในห้องเตรียมผ่าตัด ท่านมายืนมองดูผมอยู่ครู่หนึ่ง ผมรู้สึกว่าท่านมองหน้าผมด้วยสายตาแบบผู้ใหญ่เมตตาเด็ก แล้วท่านก็ถามผมด้วยเสียงเบาๆ ว่า “กลัวมั๊ย?” ผมเงียบอยู่อึดใจหนึ่ง เพื่อถามตนเองต่อว่าคุณสุรเชษฐ คุณกลัวไหม เมื่อผมได้ยินคำตอบจากภายในแล้วจึงตอบท่านไปว่า “นิดหน่อยครับ”

ที่ว่ามี "นิดหน่อย" นั้น มาจากบางขณะที่ผมพบตนเองเผลอคิดฟุ่งซ่านไปว่าถ้าอย่างนั้นอย่างนี้แล้วจะเป็นยังไง เป็นความคิดที่ผุดขึ้นเป็นครั้งคราว แต่พอรู้ตัวว่ากำลังฟุ้งซ่านอีกแล้วก็วางลง กลับมาอยู่กับปัจจุบันได้อีก ก็เลยต้องตอบว่า "นิดหน่อย" เพราะเจ้าความคิดนี้มันยังไม่หมดไปเสียทีเดียว

ในระยะหลังมานี้การ "เผลอคิดฟุ้งซ่าน" ของผมน้อยลงไปมาก จากการฝึกกับท่านอาจารย์สันติกโรมา ๓ ปี อาจารย์สอนให้เราสังเกตตนเองอยู่เสมอทั้ง ๓ ฐาน คือ ฐานกาย ที่ร่างกายเราเขาสื่อสารกับเราอยู่ตลอดเวลา ไม่ฟังให้ดีจะไม่ได้ยิน ฐานหัว ที่วิ่งไปโน่นนี่อยู่ตลอดเวลา วันหนึ่งเป็นหมื่นความคิด และ ฐานใจ อารมณ์ความรู้สึกที่เกิดขึ้นแล้วหายไป วันหนึ่งหลายอารมณ์ ทุกอารมณ์เกิดขึ้นแล้วดับไป เมื่อฝึกสังเกตมากเข้าๆ ในชีวิตประจำวัน เราก็ค่อยๆ เห็นการทำงานของฐานเหล่านี้เร็วขึ้น โดยเฉพาะเรื่องของความคิดที่หากเผลอวิ่งตามเมื่อไร เราก็ไม่สามารถอยู่กับปัจจุบันได้ ทุกครั้งที่เท่าทันมัน หันกลับมาอยู่กับปัจจุบันได้ เราก็จะเห็นโลกตามความเป็นจริง และจะพบกับความสุขยิ่ง   

เมื่อวางความคิดทั้งปวงลงได้ก็พบว่าตนสงบมากในวันนั้น เท่าที่สังเกตตนไม่พบความกังวลใดๆ แถมยังยิ้มแย้มแจ่มใส อยากช่วยให้กำลังใจทีมงานผ่าตัดด้วย

ในตอนนั้น ผมคิดถึงคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ ขึ้นมา หน่วยงานผมเพิ่งเชิญท่านมาบรรยายให้วิทยากรกระบวนการในโครงงานมหาวิทยาลัยชีวิตฟัง ท่านพูดตอนหนึ่งในวันนั้นว่า เวลาเข้าไปทำงานในชุมชนแล้วโครงการมีปัญหา แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างคนทำงานกับชาวบ้านยังคงอยู่ ท่านถือว่านั่นเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เพราะมันหมายถึงการเรียนรู้ร่วมกัน อันจะนำไปสู่การเริ่มต้นใหม่ เรียนรูใหม่ ดำเนินงานกันต่อไปใหม่

ผมก็เลยปิ๊งแว็บเชื่อมโยงเข้ากับเหตุการณ์ผ่าตัดไส้เลื่อนของผมในวันนี้ว่า ถ้าการผ่ามีปัญหา แต่ความสัมพันธ์อันดีระหว่างหมอและทีมงานกับผมยังคงอยู่ ก็ถือว่าเป็นความสำเร็จอย่างหนึ่ง เป็นการเรียนรู้ร่วมกัน ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ทุกคนก็ต้องเรียนรู้ต่อไป แก้ไขปัญหากันต่อไป ก็แค่นั้นเอง

เมื่อพยาบาลวิสัญญีถามว่ามีอะไรจะถามอีกไหม ผมจึงตอบไปว่า “ผมไม่มีคำถามครับ มีแต่อยากให้ทีมงานทำหน้าที่กันให้เต็มที่เลยนะ ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะไม่ฟ้องร้องอะไรใครเด็ดขาด” หลังจากนั้นพี่พยาบาลคนนั้นก็ไม่พูดอะไรเพื่อให้ผมสบายใจอีก

ผมเข้าใจเอาเองว่าการช่วยพูดให้คนไข้หายกังวลนี้เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการทำงานของพวกเธอ ซึ่งผมก็ขอบคุณทุกคนที่เข้ามาช่วยพูดให้ผมคลายกังวล แต่ผมไม่มีความเครียดหรือความกังวลอะไรอีก มีแต่ความสงบ และทุกครั้งที่ผมสงบลงก็มักจะได้สัมผัสกับอะไรบางอย่างที่ลึกซึ้งเสมอ

--------------------------------------------------------------------------------------------

อ่านบันทึกทั้ง ๙ ตอนในชุดผ่าตัดไส้เลื่อนของผมได้โดยคลิกลิงก์ข้างล่างนี้ครับ

  1. รู้ได้อย่างไรว่าเราเป็นไส้เลื่อน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321431)
  2. เมื่อวันนัดผ่ามาถึง (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321469)
  3. ผ่อนคลายในห้องเตรียมผู้ป่วยก่อนผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321489)
  4. ความสุขที่เกิดขึ้นภายในใจระหว่างทางสู่ห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321619)
  5. ในห้องผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/321793)
  6. ผลข้างเคียงจากการบล็อกหลังในห้องสังเกตอาการหลังผ่าตัด (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322526)
  7. พักฟื้นในหอผู้ป่วย (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322581)
  8. กลับมาพักฟื้นต่อที่บ้าน (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322678)
  9. หมอที่มีหัวใจมนุษย์ (http://gotoknow.org/blog/inspiring/322779)
หมายเลขบันทึก: 321489เขียนเมื่อ 19 ธันวาคม 2009 18:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 22 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

อ่านแล้วรู้สึกดีใจแทนรพ.นั้นจังเลย

 ที่คนไข้มีความพึงพอใจในการบริการ

โดยเฉพาะการสื่อสารที่เป็นหัวใจสำคัญอย่างหนึ่งในการให้บริการ

"ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะไม่ฟ้องร้องอะไรใครเด็ดขาด”  ประโยคนี้กินใจมาก

 

 

อ่านบันทึกนี้แล้ว..

รู้สึกมีความสุขกับการทำงาน..

รักทั้งคนไข้ แพทย์ พยาบาล และตัวเอง

ขอบคุณคุณ P นะคะ

พี่สุรเชษฐครับ

พักฟื้นให้แข็งแรง ทั้งร่างกาย จิตใจและจิตวิญญาณนะครับ

ผมพึ่งได้เรียนรู้ "นพลักษณ์"จากอ.ศิลามาเมื่ออาทิตย์ที่ผ่านมา

ประทับใจ และเห็นว่ามีประโยชน์มากครับ

ขอบคุณมากครับ

สวัสดีครับคุณ P นาง...มณีวรรณ ตั้งขจรศักดิ์ 

ประโยค "ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ผมจะไม่ฟ้องร้องอะไรใครเด็ดขาด”  เป็นความรู้สึกจากใจจริงๆ อยากให้แพทย์และทีมงานได้ทำงานอย่างเต็มที่ด้วยความสบายใจที่สุด แม้ผลจะออกมาเป็นบวกหรือลบ ผู้ป่วยอย่างผมก็รับได้ด้วยความสุขใจ เกิดไม่สำเร็จก็แก้ไขกันใหม่ สำคัญคือการ "วางใจ" กัน ระหว่างบุคลากรกับคนไข้ ผมก็อยากให้พวกท่าน "วางใจ" ในตนเองอย่างที่ผมวางใจท่าน แม้จะล้มเหลวแต่ก็ล้มเหลวในแง่ของโรคภัยไข้เจ็บ ก็แก้ไขกันไป แต่ความวางใจกันนี้ไม่ควรจะล้มเหลวไปด้วย

เมื่อเดือนที่แล้ว ได้ฟังคุณหมอโกมาตร จึงเสถียรทรัพย์ จากกระทรวงสาธารณสุข พูดเรื่องงานพัฒนาว่า ถ้าโครงการที่นักพัฒนาไปทำร่วมกับชาวบ้านล้มเหลว แต่ความสัมพันธ์ที่ดียังคงอยู่ ก็ต้องถือเป็นความสำเร็จของการพัฒนา อันนี้จับใจผมมาก เป็นแนวคิดเดียวกัน

ขอบคุณทุกท่านสำหรับกำลังใจและคำอวยพรครับ

Dr. Chet,

First of all, bless you and your family buddy. Secondly, this is one of the most of your beautiful and refined stories among many of them. I appreciated your sharing this particular one. This story is full of what I should call from "HEAVEN" to "EARTH". It has compiled things and things that tells so much about something that I should also call "NOTHINGNESS".

Let me try to find some poem that describe your SMOOTH MORE THAN SILK operation to contribute to your success in the next few days great friend.

Wish you all the very best of everything for this holy time of the year. A Very Merry Christmas and a Happy New Year to all.

Best,

Dome 13

Thanks a lot Dome,

Wishing you and your family a blessed time with each other and a Happy New Year in 2010 !!

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท