ครั้งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จอุบัติก็มั่นคงไพบูลย์ ด้วยว่า ในกรุงเวสาลีนั้นมีเจ้าอยู่ถึง ๗ ,๗๐๗ พระองค์. พระยุพราชเสนาบดีและภัณฑาคาริกเป็นต้นก็เหมือนกัน เหมือนอย่างที่ท่านกล่าวไว้ว่า
สมัยนั้นแล กรุงเวสาลีมั่นคงเจริญ มีคนมาก มีคนเกลื่อนกล่น มีอาหารหาได้ง่าย มีปราสาท ๗,๗๐๗ หลัง มีเรือนยอด ๗,๗๐๗ หลัง มีอาราม ๗,๗๐๗ อาราม มีสระโบกขรณี ๗,๗๐๗ สระ.
สมัยต่อมา กรุงเวสาลีนั้นเกิดทุพภิกขภัย ฝนแล้งข้าวกล้าตายนึ่ง. คนยากคนจนตายก่อน เขาทิ้งคนเหล่านั้นไปนอกนคร. พวกอมนุษย์ได้กลิ่นคนตายก็พากันเข้าพระนคร. แต่นั้น ผู้คนก็ตายเพิ่มมากขึ้น. เพราะความปฏิกูลนั้น อหิวาตกโรคก็เกิดแก่สัตว์ทั้งหลาย.
ชาวกรุงเวสาลีถูกภัย ๓ อย่าง คือ ทุพภิกขภัย อมนุสสภัย และโรคภัยเบียดเบียน ก็เข้าไปเฝ้าพระราชา กราบทูลว่า ขอเดชะ เกิดภัย ๓ อย่างในพระนครนี้แล้ว พระเจ้าข้า แต่ก่อนนี้ นับได้ ๗ ชั่วราชสกุล ไม่เคยเกิดภัยเช่นนี้เลย ชรอยพระองค์ไม่ทรงตั้งอยู่ในธรรม บัดนี้ ภัยนั้นจึงเกิดขึ้น.
พระราชาทรงประชุมเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ในที่ว่าราชการตรัสว่า ขอได้โปรดพิจารณาทบทวนข้อที่เราไม่ตั้งอยู่ในธรรมเถิด เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น พิจารณาทบทวนถึงประเพณีทุกอย่าง ก็ไม่ทรงเห็นข้อบกพร่องไร ๆ แต่นั้น ก็ไม่เห็นโทษขององค์พระราชา จึงพากันคิดว่า ภัยนี้ของเรา จะระงับไปได้อย่างไร. ในที่ประชุมนั้น เจ้าลิจฉวีบางพวก อ้างถึงศาสดาทั้ง ๖ ว่า พอศาสดาเหล่านั้นย่างเท้าลงเท่านั้น ภัยก็จะระงับไป บางพวกตรัสว่า ได้ยินว่า พระพุทธเจ้าเสด็จอุบัติแล้วในโลก, พระผู้-มีพระภาคเจ้านั้น ทรงแสดงธรรมเพื่อประโยชน์เกื้อกูลแก่ปวงสัตว์ ทรงมีฤทธิ์มาก มีอานุภาพมาก พอพระองค์ย่างพระบาทลงเท่านั้น ภัยทุกอย่าง ก็จะระงับไป
ด้วยเหตุนั้น เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น จึงดีพระทัยตรัสว่า ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่ที่ไหนเล่า พวกเราส่งคนไปเชิญ จะไม่เสด็จมาน่ะสิ.
เจ้าลิจฉวีอีกพวกหนึ่งตรัสว่า ธรรมดาพระพุทธเจ้า ทรงเอ็นดูสัตว์ เหตุไร จะไม่เสด็จมาเล่า. ก็พระผู้มีพระภาคเจ้าพระองค์นั้น บัดนี้ ประทับอยู่กรุงราชคฤห์ พระเจ้าพิมพิสารทรงอุปฐากอยู่ เกรงท้าวเธอจะไม่ให้เสด็จมา.
ตรัสว่า ถ้าอย่างนั้นเราจะทูลพระเจ้าพิมพิสารให้ทรงเข้าพระทัยแล้วนำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา
แล้วทรงมอบเครื่องบรรณาการเป็นอันมากส่งเจ้าลิจฉวีสองพระองค์ พร้อมด้วยกองกำลังขนาดใหญ่ไปยังราชสำนักพระเจ้าพิมพิสาร โดยสั่งว่า ขอท่านทูลพระเจ้าพิมพิสารให้เข้าพระทัยแล้ว นำพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมา
เจ้าลิจฉวีทั้งสองพระองค์เสด็จไปถวายเครื่องบรรณาการแด่พระเจ้าพิมพิสาร แล้วแจ้งให้ทรงทราบเรื่องราวแล้วทูลว่า
ข้าแต่พระมหาราชเจ้า ขอพระองค์ทรงพระกรุณาโปรดส่งพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมายังนครของข้าพระองค์ด้วยเถิด. พระราชาไม่ทรงรับรองตรัสว่า พวกท่านทรงรู้เอาเองเถิด.
เจ้าลิจฉวีก็ทูลรับว่า ดีละ พระเจ้าข้า แล้วเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้า ถวายบังคมแล้วกราบทูลอย่างนี้ว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ภัย ๓ อย่างเกิดขึ้นในนครของข้าพระองค์ ถ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าฟังเสด็จมาไซร้ ความสวัสดีก็จะพึงมีแก่พวกข้าพระองค์ พระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงพิจารณาว่า เมื่อตรัสรัตนสูตรในกรุงเวสาลีการอารักขาจักแผ่ไปแสนโกฏิจักรวาส จบสูตร สัตว์ ๘๔,๐๐๐ จักตรัสรรู้ธรรม แล้วจึงทรงรับนิมนต์.
ครั้งนั้น พระเจ้า-พิมพิสารทรงสดับข่าวว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์แล้ว โปรดให้โฆษณาไปในพระนครว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าทรงรับนิมนต์เสด็จไปกรุงเวสาลีแล้ว เสด็จเข้าไปเฝ้าพระผู้มีพระภาคเจ้าทูลถามว่า
ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญพระองค์ทรงรับ จะเสด็จไปกรุงเวสาลีหรือพระเจ้าข้า.
พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสว่า ถวายพระพร มหาบพิตร. ท้าวเธอทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ถ้าอย่างนั้นโปรดทรงรอจนกว่าจะจัดแจงหนทางถวายนะ พระเจ้าข้า.
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำพื้นที่ ๕ โยชน์ ระหว่างกรุงราชคฤห์และแม่น้ำคงคาให้ราบเรียบแล้ว ให้กราบทูลพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงเวลาที่จะเสด็จไป พระผู้มีพระภาคเจ้า อันภิกษุ ๕๐๐ รูป แวดล้อมแล้วเสด็จไป พระราชาทรงเอาดอกไม้ ๕ สีโปรยหนทาง ๕ โยชน์เพียงหัวเข่า ให้ยกธงผ้า หม้อน้ำและต้นกล้วยเป็นต้น ให้กั้นเศวตฉัตร ๒ ชั้นสำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า ฉัตรชั้นเดียวสำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ทรงทำการบูชาด้วยดอกไม้และของหอมเป็น นี้พร้อมด้วยราชบริพารของพระองค์ให้พระผู้มีพระภาคเจ้าประทับอยู่ใน วิหารหลังหนึ่ง ๆ ถวายมหาทาน ทรงนำเสด็จสู่ฝั่งแม่น้ำคงคา ๕วัน .
ณ ที่นี้ ทรงประดับเรือด้วยเครื่องประดับทุกอย่าง แล้วทรงส่งสาสน์ไปถวายเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลีว่า พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จมาแล้ว ขอเจ้าลิจฉวีทุกพระองค์ ตกแต่งหนทางถวายการรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าเถิด. เจ้าลิจฉวีเหล่านั้น ตกลงกันว่า จะทำการบูชาเป็นสองเท่า ทำพื้นที่ ๓ โยชน์ระหว่างกรุงเวสาลี และแม่น้ำคงคาให้เรียบร้อย จัดเศวตฉัตร ๔ ชั้น สำหรับพระผู้มีพระภาคเจ้า สำหรับพระภิกษุแต่ละรูป ๆ ละ ๒ ชั้น ทำการบูชา เสด็จมาคอยอยู่.
ครั้งนั้น พระเจ้าพิมพิสาร ทรงทำเรือขนาน ๒ ลำแล้วสร้างมณฑปประดับด้วยพวงดอกไม้ ปูลาดพุทธอาสน์ทำด้วยรัตนะล้วน ณ มณฑปนั้น. ที่นั้นพระผู้มีพระภาคเจ้าประทับนั่งเหนือพุทธอาสน์นั้น. แม้ภิกษุ ๕๐๐ รูปก็ลงเรือนั่งกันตามสมควร พระราชาส่งเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้า ลงน้ำประมาณแต่พระศอ กราบทูลว่า ข้าแต่พระองค์ผู้เจริญ ข้าพระองค์จักอยู่กันริมฝั่งแม่น้ำคงคานี้นี่แหละ จนกว่าพระผู้มีพระภาคเจ้าจะเสด็จกลับมา แล้วก็เสด็จกลับ.
เทวดาเบื้องบนจนถึงอกนิษฐภพ ได้พากันทำการบูชา. นาคราชทั้งหลาย มี กัมพลนาคและอัสสตรนาคเป็นต้น ซึ่งอาศัยอยู่ใต้แม่น้ำคงคา ก็พากันทำการบูชา. ด้วยการบูชาใหญ่อย่างนี้ พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จไปทางแม่น้ำคงคาสิ้นระยะทางไกลประมาณโยชน์หนึ่ง ก็เข้าเขตแดนของพวกเจ้าลิจฉวีกรุงเวสาลี.
ต่อนั้น พวกเจ้าลิจฉวีก็ทำการบูชาเป็น ๒ เท่าที่พระเจ้าพิมพิสารทรงทำการบูชา ออกไปรับเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้าถึงในน้ำประมาณแค่พระศอ. ขณะนั้นเอง ครู่นั้นเอง มหาเมฆมียอดคลุมด้วยความมืดมีแสงฟ้าแลบเคลื่อนตัวไปส่งเสียงคำรามครืนครั่นก็ดังขึ้นทั้งสี่ทิศ.
ลำดับนั้น พอพระผู้มีพระภาคเจ้ายกพระบาทแรกวางลงริมฝั่งแม่น้ำคงคา ฝนโบกขรพรรษก็โปรยเม็ดลงมาชนเหล่าใดต้องการจะเปียก ชนเหล่านั้น เท่านั้นย่อมเปียก ผู้ไม่ต้องการเปียกก็ไม่เปียก ในที่ทุกแห่ง น้ำย่อมไหลไปเพียงแค่เข่า แค่ขา แค่สะเอว แค่คอซากศพทั้งปวงถูกน้ำพัดส่งลงสู่แม่น้ำคงคา พื้นดินก็สะอาดสะอ้าน.
พวกเจ้าลิจฉวีให้พระผู้มีพระเจ้าประทับอยู่ทุก ๆ หนึ่งโยชน์ในระหว่างทางถวายมหาทาน ทรงทำการบูชาเป็นทวีคูณ ๓ วัน จึงนำเสด็จสู่กรุงเวสาลี.เมื่อพระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลี ท้าวสักกะจอมทวยเทพ อันหมู่เทพห้อมล้อมก็เสด็จมาถึง. พระผู้มีพระภาคเจ้า ประทับ ยืนใกล้ประตูพระนครทรง เรียกท่านพระอานนที่มาส่งว่า ดูก่อนอานนท์ เธอจงเรียนรัตนสูตรนี้ ถือเครื่องประกอบพลีกรรม เที่ยวเดินไประหว่างปราการ ๓ ชั้นแห่งกรุงเวสาลีกับพวกเจ้าลิจฉวีราชกุมาร ทำพระปริตร แล้วได้ตรัสรัตนสูตร.
ดังนั้น ในวันที่พระผู้มีพระภาคเจ้าเสด็จถึงกรุงเวสาลีนั่นเอง รัตนสูตร นี้ที่พระผู้มีพระภาคเจ้าตรัสใกล้ ประตูกรุงเวสาลี เพื่อกำจัดอุปัทวะเหล่านั้นท่าน พระอานนท์ก็เรียนเอา เมื่อจะกล่าวเพื่อเป็นปริตร [ป้องกันอุปัทวะ] จึงเอาบาตรของพระผู้มีพระภาคเจ้าตักน้ำมา เดินประพรมไปทั่วพระนคร.
พอพระเถระกล่าวว่า ยงฺกิญฺจิ เท่านั้น พวกอมนุษย์ที่อาศัยกองขยะและที่ฝาเรือน เป็นต้น ซึ่งยังไม่หนีไปในตอนแรก ก็พากันหนีไปทางประตูทั้ง ๔. ประตูทั้งหลาย ก็ไม่มีที่ว่าง อมนุษย์บางพวก เมื่อไม่ได้ที่ว่างที่ประตูทั้งหลาย ก็หลายกำแพงเมืองหนีไป. พอพวกอมนุษย์พากันไปแล้ว ที่เนื้อตัวของพวกมนุษย์ทั้งหลาย โรคก็สงบไป พวกมนุษย์ทั้งหลาย ก็พากันออกมาบูชาพระเถระ ด้วยดอกไม้ของหอมเป็นต้นทุกอย่าง มหาชนเอาของหอมทุกอย่างฉาบทาสัณฐาคารที่ประชุม ท่ามกลางพระนคร ทำเพดานขจิตด้วยรัตนะ ประดับด้วยเครื่องประดับทั้งปวง ปูพุทธอาสน์ลง ณ ที่นั้นแล้วนำเสด็จพระผู้มีพระภาคเจ้ามา.
พระผู้มีพระภาคเจ้า เสด็จเข้าสู่สัณฐาคาร ประทับนั่งเหนืออาสนะที่เขาปูไว้. ทั้งภิกษุสงฆ์ คณะเจ้า และมนุษย์ทั้งหลายก็นั่ง ณ อาสนะที่เหมาะที่ควร.
แม้ท้าวสักกะ จอมทวยเทพก็ประทับนั่งใกล้กับเทวบริษัท ในเทวโลกทั้งสอง ทั้งเทวดาอื่น ๆ ด้วย.
แม้ท่านพระอานนทเถระ ก็เที่ยวเดินไปทั่วกรุงเวสาลี ทำอารักขาแล้ว ก็มาพร้อมกับชาวกรุงเวสาลี นั่ง ณ ที่ควรส่วนหนึ่ง. ณ ที่นั้น พระผู้มีพระภาคเจ้าก็ได้ตรัสรัตนสูตรนั้นนั่นแหละแก่ทุกคนแล.
จบเทศนา ความสวัสดีก็ได้มีแก่ราชสกุล. อุปัทวะทั้งปวงก็ระงับไป สัตว์ ๘๔,๐๐๐ ก็ได้ตรัสรู้ธรรม
พระผู้มีพระภาคเจ้าได้ตรัสรัตนสูตรซ้ำอีกในมหาสมาคมนั้น เมื่อจบเทศนา ทุกสิ่งทุกอย่างดีหมด สรรพอุปัทวันตรายภัยพิบัติสงบหาย ความสวัสดีสุขกายสุขใจแผ่ไปทั่ว พุทธเวไนยได้ศรัทธาปสาทะและเกิดความรู้ธรรมเป็นอันมาก ฯลฯ แต่นั้นฝนก็ตกต้องตามฤดูกาล พืชพรรณธัญญหารกลับอุดมเหมือนดังเดิม ด้วยอำนาจแห่งพระพุทธปริตร คือ รัตนสูตร ดังพรรณามาฉะนี้
พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ เล่ม ๑ ภาค ๑ - หน้าที่ 222-269
กล่าวโดยสรุป
รัตนสูตร เป็นพระสูตรที่พระอานนทเถระ เรียนจากพระพุทธองค์โดยตรง เพื่อใช้สวดขจัดปัดเป่าภัยพิบัติ ที่เกิดกับชาวกรุงเวสาลี พระพุทธองค์ทรงแนะนำให้พระเถระ อ้างคุณของพระรัตนตรัย คือ พระพุทธ พระธรรมและพระสงฆ์ ทำสัจกิริยาให้เกิดเป็นอานุภาพ ขจัดปัดเป่าภัยพิบัติทั้งหลาย
เนื้อความของรัตนสูตร ท่อนแรก เริ่มต้นด้วยการแนะนำให้เหล่าภูตทั้งหลายได้อนุโมทนาบุญกุศลที่หมู่มนุษย์อุทิศให้ และเมื่ออนุโมทนาแล้ว ขอให้เกิดความเมตตา ทำการรักษามนุษย์ทั้งหลาย
เนื้อความท่อนต่อมา เป็นการอ้างคุณพระรัตนตรัยเป็นสัจวาจา ให้เกิดความสวัสดี ต่อมาจนถึงปัจจุบันได้กลายเป็นแบบอย่างในการทำน้ำพระพุทธมนต์ของพระสงฆ์ จะต้องสวดรัตนสูตรเพื่อทำน้ำมนต์
ด้วยอานุภาพแห่งรัตนสูตร แม้กรุงเวสาลีจะเกิดภัยพิบัติอย่างร้ายแรง ผู้คนอดอยากล้มตายเป็นจำนวนมาก ซากศพถูกทิ้งเกลื่อนนคร ภูตผีปีศาจทำอันตรายแก่หมู่มนุษย์ โรคระบาดเกิดขึ้นแพร่กระจายไปทั่ว ผู้คนล้มตายเป็นจำนวนมาก เมื่อพระพุทธองค์ทรงรับสั่งให้พระอานนทเถระสวดรัตนสูตร และประพรมน้ำพระพุทธมนต์ภัยพิบัติร้ายแรงเช่นนี้ ก็ระงับลงได้อย่างฉับพลัน จุดประสงค์ของการสวดรัตนสูตร ก็เพื่อการขจัดภัย 3 ประการ ตามที่ปรากฏในพระสูตร คือ ข้างยากหมากแพง (ทุพภิกขภัย) ๑ ภูตผีปีศาจทำอันตราย (อมนุสสภัย) ๑ โรคภัยไข้เจ็บ (โรคภัย) ๑ ให้อันตรธานไป
รัตนสูตร ในขุททกปาฐะ
พระไตรปิฎก ฉบับสยามรัฐ เล่มที่ ๒๕ พระสุตตันตปิฎก ขุททกนิกาย ขุททกปาฐะ หน้าที่ ๓-๖
[๗] ภูตเหล่าใด ประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดา เหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี ขอหมู่ภูตทั้งปวงจงเป็นผู้มีใจดีและจงฟังภาษิตโดยเคารพ
ดูกรภูตทั้งปวง เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงตั้งใจฟัง ขอจงแผ่เมตตาจิตในหมู่มนุษย์ มนุษย์เหล่าใด นำพลีกรรมไปทั้งกลางวันทั้งกลางคืน เพราะเหตุนั้นแล ท่านทั้งหลายจงเป็นผู้ไม่ประมาทรักษามนุษย์เหล่านั้น ทรัพย์เครื่องปลื้มใจอย่างใดอย่างหนึ่งในโลกนี้ หรือในโลกอื่น หรือรัตนะใดอันประณีตในสวรรค์ ทรัพย์และรัตนะนั้น เสมอด้วยพระตถาคตไม่มีเลย พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้
ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ พระศากยมุนีมีพระหฤทัยดำรงมั่น ได้บรรลุธรรมอันใดเป็นที่สิ้นกิเลส เป็นที่สำรอกกิเลส เป็นอมฤตธรรมอันประณีต ธรรมชาติอะไรๆเสมอด้วยพระธรรมนั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะ แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐสุด ทรงสรรเสริญแล้วซึ่งสมาธิใด ว่าเป็นธรรมอันสะอาด บัณฑิตทั้งหลายกล่าวซึ่งสมาธิใด ว่าให้ผลในลำดับสมาธิอื่นเสมอด้วยสมาธินั้นย่อมไม่มี ธรรมรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
บุคคล ๘จำพวก ๔ คู่ อันสัตบุรุษทั้งหลายสรรเสริญแล้ว บุคคลเหล่านั้นควรแก่ทักษิณาทาน เป็นสาวกของพระตถาคต ทานที่บุคคลถวายแล้วในท่านเหล่านั้น ย่อมมีผลมาก สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีตด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระอริยบุคคลเหล่าใด ในศาสนาของพระโคดม ประกอบดีแล้ว [ด้วยกายประโยคและวจีประโยคอันบริสุทธิ์] มีใจมั่นคง เป็นผู้ไม่มีความห่วงใย [ในกายและชีวิต] พระอริยบุคคลเหล่านั้น บรรลุอรหัตผลที่ควรบรรลุหยั่งลงสู่อมตนิพพาน ได้ซึ่งความดับกิเลสโดยเปล่า เสวยผลอยู่ สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
เสาเขื่อนที่ฝังลงดินไม่หวั่นไหวเพราะลมทั้งสี่ทิศ ฉันใด ผู้ใดพิจารณาเห็นอริยสัจทั้งหลาย เราเรียกผู้นั้นว่าเป็นสัตบุรุษ ผู้ไม่หวั่นไหวเพราะโลกธรรมมีอุปมาฉันนั้น สังฆรัตนะนี้ เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระอริยบุคคลเหล่าใด ทำให้แจ้งซึ่งอริยสัจทั้งหลาย อันพระศาสดาทรงแสดงดีแล้ว ด้วยปัญญาอันลึกซึ้ง พระอริยบุคคลเหล่านั้น ยังเป็นผู้ประมาทอย่างแรงกล้าอยู่ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านย่อมไม่ยึดถือเอาภพที่ ๘ สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
สักกายทิฏฐิและวิจิกิจฉา หรือแม้สีลัพพตปรามาส อันใดอันหนึ่งยังมีอยู่ ธรรมเหล่านั้น อันพระอริยบุคคลนั้นละได้แล้ว พร้อมด้วยความถึงพร้อมแห่งการเห็น[นิพพาน] ทีเดียว อนึ่ง พระอริยบุคคลเป็นผู้พ้นแล้วจากอบายทั้ง ๔ ทั้งไม่ควรเพื่อจะทำอภิฐานทั้ง ๖ [คืออนันตริยกรรม ๕ และการเข้ารีด] สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระอริยบุคคลนั้นยังทำบาปกรรมด้วยกาย ด้วยวาจา หรือด้วยใจ ก็จริง ถึงกระนั้น ท่านไม่ควร เพื่อจะปกปิดบาปกรรมอันนั้น ความที่บุคคลผู้มีธรรมเครื่องถึงนิพพานอันตนเห็นแล้ว เป็นผู้ไม่ควรเพื่อปกปิดบาปกรรมนั้น พระผู้มีพระภาคตรัสแล้ว สังฆรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีตด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พุ่มไม้ในป่ามียอดอันบานแล้วในเดือนต้นในคิมหันตฤดู ฉันใดพระผู้มีพระภาคได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐยิ่ง เป็นเครื่องให้ถึงนิพพาน เพื่อประโยชน์เกื้อกูลมีอุปมา ฉันนั้นพุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระพุทธเจ้าผู้ประเสริฐทรงทราบธรรมอันประเสริฐ ทรงประทานธรรมอันประเสริฐทรงนำมาซึ่งธรรมอันประเสริฐ ไม่มีผู้ยิ่งไปกว่า ได้ทรงแสดงธรรมอันประเสริฐ พุทธรัตนะแม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
พระอริยบุคคลเหล่าใดผู้มีจิตอันหน่ายแล้วในภพต่อไป มีกรรมเก่าสิ้นแล้ว ไม่มีกรรมใหม่เครื่องสมภพพระอริยบุคคลเหล่านั้น มีพืชอันสิ้นแล้ว มีความพอใจไม่งอกงามแล้ว เป็นนักปราชญ์ ย่อมนิพพาน เหมือนประทีปอันดับไป ฉะนั้น สังฆรัตนะ แม้นี้เป็นรัตนะอันประณีต ด้วยสัจจวาจานี้ ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์
เหล่านี้ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระพุทธเจ้า ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์ทั้งหลายบูชาแล้ว ขอความสวัสดี จงมีแก่สัตว์เหล่านี้
ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลายจงนมัสการพระธรรม อันไปแล้วอย่างนั้น อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้
ภูตเหล่าใดประชุมกันแล้วในประเทศนี้ก็ดี หรือภุมมเทวดาเหล่าใดประชุมกันแล้วในอากาศก็ดี เราทั้งหลาย จงนมัสการพระสงฆ์ผู้ไปแล้วอย่างนั้น ผู้อันเทวดาและมนุษย์บูชาแล้ว ขอความสวัสดีจงมีแก่สัตว์เหล่านี้ ฯ
บทรัตนสูตร
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข สัพเพ วะ ภูตา สุมะนา ภะวันตุ อะโถปิ สักกัจจะ สุณันตุ ภาสิตัง ตัสมา หิ ภูตา นิสาเมถะ สัพเพ เมตตัง กะโรถะ มานุสิยา ปะชายะ ทิวา จะ รัตโต จะหะรันติ เย พะลิง ตัสมา หิ เน รักขะถะ อัปปะมัตตาฯ
ยังกิญจิ วิตตัง อิธะ วา หุรัง วา สัคเคสุ วา ยัง ระตะนัง ปะณีตัง นะ โน สะมัง อัตถิ ตะถาคะเตนะ อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
ชะยัง วิราคัง อะมะตัง ปะณีตัง ยะทัชฌะคา สักยะมุนี สะมาหิโต นะ เตนะ ธัมเมนะ สะมัตถิ กิญจิ อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
ยัมพุทธะเสฏโฐ ปะริวัณณะยี สุจิง สะมาธิมานันตะริกัญญะมาหุ สะมาธินา เตนะ สะโม นะ วิชชะติ อิทัมปิ ธัมเม ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
เย ปุคคะลา อัฏฐะ สะตัง ปะสัฏฐา จัตตาริ เอตานิ ยุคานิ โหนติ เต ทักขิเณยยา สุคะตัสสะ สาวะกา เอเตสุ ทินนามิ มะหัปผะลานิ อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
เย สุปปะยุตตา มะนะสา ทัฬเหนะ นิกกามิโน โคตะมะสาสะนัมหิ เต ปัตติปัตตา อะมะตัง วิคัยหะ ลัทธา มุธา นิพพุติง ภุญชะมานา อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
ยะถินทะขีโล ปะฐะวิง สิโต สิยา จะตุพภิ วาเตภิ อะสัมปะกัมปิโย ตะถูปะมัง สัปปุริสัง วะทามิ โย อะริยะสัจจานิ อะเวจจะ ปัสสะติ อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
เย อะริยะสัจจานิ วิภาะวะยันติ คัมภีระปัญเญนะ สุเทสิตานิ กิญจาปิ เต โหนติ ภุสัปปะมัตตา นะ เต ภะวัง อัฏฐะมะมาทิยันติ อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
สะหาวัสสะ ทัสสะนะสัมปะทายะ ตะยัสสุ ธัมมา ชะหิตา ภะวันติ สักกายะทิฏฐิ วิจิกิจฉิตัญจะ สีลัพพะตัง วาปิ ยะทัตถิ กิญจิ จะตูหะปาเยหิ จะ วิปปะมุตโต ฉะ จาภิฐานานิ อะภัพโพ กาตุง อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
กิญจาปิ โส กัมมัง กะโรติ ปาปะกัง กาเยนะ วาจายุทะ เจตะสา วา อะภัพโพ โส ตัสสะ ปะฏิจฉะทายะ อะภัพพะตา ทิฏฐะปะทัสสะ วุตตา อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
วะนัปปะคุมเพ ยะถา ผุสสิตัคเค คิมหานะมาเส ปะฐะมัสมิงคิมเห ตะถูปะมัง ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ นิพพานะคามี ปะระมัง หิตายะ อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
วะโร วะรัญญู วะระโท วะราหะโร อะนุตตะโร ธัมมะวะรัง อะเทสะยิ อิทัมปิ พุทเธ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
ขีณัง ปุราณัง นะวัง นัตถิ สัมภะวัง วิรัตตะจิตตายะติเก ภะวัสมิง เต ขีณะพีชา อะวิรุฬหิฉันทา นิพพันติ ธีรา ยะถายัมปะทีโป อิทัมปิ สังเฆ ระตะนัง ปะณีตัง เอเตนะ สัจเจนะ สุวัตถิ โหตุฯ
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข ตถาคะตัง เทวะมนุสสะปูชิตัง พุทธัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข ตถาคะตัง เทวะมนุสสะปูชิตัง ธัมมัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ
ยานีธะ ภูตานิ สะมาคะตานิ ภุมมานิ วา ยานิวะ อันตะลิกเข ตถาคะตัง เทวะมนุสสะปูชิตัง สังฆัง นะมัสสามะ สุวัตถิ โหตุฯ