พ่อแม่ครูอาจารย์ : พิจารณาทุกขเวทนา


 

Laungta01

 

       สัปดาห์นี้ทั้งสัปดาห์ ผมพยายามใช้เวลาตอนกลางคืนอ่านหนังสือ "พ่อแม่ครูอาจารย์" แต่ความพยายามก็ไม่เป็นผลเพราะเหนื่อยกับการเดินทางไปสอนต่างจังหวัดกลับถึงบ้านก็ประมาณ 4 ทุ่มเกือบทุกวัน เป็นเหตุปัจจัยให้หลับคาหนังสือเล่มนี้มาหลายวันแล้ว จึงเป็นเหตุปัจจัยให้อ่านพรรษาที่ 16 ไม่จบสักที วันนี้อ่านต่อถึงหน้าที่ ๓๔๖ ในหัวข้อที่ชื่อว่า "พิจารณาทุกขเวทนา" พบว่า ดีและน่าสนใจมากจึงนำมาบรรทึกไว้เป็นธรรมทานดังต่อไปนี้ครับ

...ขอย้อนกลับมา เวทนา อีก การพิจารณาทุกขเวทนานี้สำคัญมาก ทั้งนี้เพราะได้ยินได้ฟังจากท่านอาจารย์มั่น ท่านเอาจริงเอาจังมาก เวลาเจ็บไข้ สำหรับพระปฏิบัติอยู่ในวัดท่าน บางทีท่านเดินไปเอง ถามว่า ท่านพิจารณาอย่างไร แล้วท่านก็ย้ำธรรมลงไปเลยว่า ให้ค้นลงไปตรงนี้ มีมันทุกข์ตรงที่ไหน จงพิจารณาให้เห็นจริงของทุกข์ แล้วก็สอนวิธีพิจารณา อย่าไปถอย ความถอยนั่นแหละคือการเพิ่มทุกข์ ท่านว่าอย่างนั้น

ความเป็นนักสู้ ต่อสู้ด้วยปัญญานั้นแลเป็นสิ่งจะได้ชัยชนะ คือ รู้เท่าทันกับทุกขเวทนา ซึ่งเราถือว่า เป็นข้าศึกอันสำคัญต่อเรา ความจริงเวทนานั้นไม่ได้เป็นข้าศึกต่อผู้ใด ความรู้สึกของเขาไม่มี เพียงเป็นความจริงอันหนึ่งเท่านั้น ท่านสอนให้พิจารณาลงไป ทุกข์มากทุกข์น้อยเราไม่ต้องไปคิด มันมีอยู่กับใจ มันโกหกใจให้หลงสำคัญมั่นหมายไปต่าง ๆ ความโกหกกับความโง่ มันเชื่อกันง่าย ๆ คนฉลาดกับคนโง่ ความโกหกกับความโง่มันก็หลอกกันได้ง่าย ๆ ความฉลาดของกิเลสกับความโง่ของเรามันเข้ากันได้ง่าย ธรรมท่านจึงแยกแยะออกให้พิจารณาจนถึงความจริง แล้วเชื่อด้วยความจริงนั้นแล เป็นการได้ชัยชนะไปโดยลำดับ ๆ แยกแยะให้เห็นทุกข์ ซึ่งมีประจำอย่าปลีกหนีไปไหน ทุกข์มากทุกข์น้อยให้พิจารณาอยู่ที่ตรงนั้น เมื่อพิจารณาสาเหตุของมัน ทุกข์เป็นมากแค่ไหนก็ให้ค้นลงไป

คำว่า ทุกข์ นี้ อาศัยอะไรเป็นที่ตั้ง ทุกข์อาศัยกายเป็นที่ตั้ง อาศัยความรู้สึกเป็นสาเหตุที่จะให้ทุกข์กำเริบ ความรู้สึกหมายไปต่าง ๆ นานานั่นแหละ ทำให้ทุกข์กำเริบหนักขึ้น ความรู้สึกนี้ ต้องแก้ด้วยการพิจารณาให้ทราบทั้งเรื่องของทุกข์ว่าเป็นเช่นนั้น ทราบทั้ง ฐานเป็นที่เกิดแห่งทุกข์ เช่นร่างกายนี้ ส่วนใดก็ตาม จงให้ทราบชัดเจนว่า ฐานนั้น มันเป็นทุกข์จริงไหม เช่น เป็นทุกข์ในกระดูก ในเนื้อ ในหนังส่วนใด เนื้อหนังนั้นเป็นเนื้อหนังอยู่เช่นนั้น ทุกข์ก็เป็นทุกข์อยู่เช่นนั้น แม้จะอาศัยกันอยู่ ก็เป็นคนละชิ้นคนละอัน ไม่ใช่อันเดียวกัน จิต ผู้รู้ รับทราบสิ่งนั้น ก็เป็นจิตอันหนึ่ง แต่ จิตนี้เป็นผู้หลง แล้วก็ไปสำคัญว่านั้นเป็นทุกข์ นี้เป็นทุกข์ รวมทั้งหมดนั้นเข้ามาเป็น ตัว  ว่า เรา ทุกข์ที่นั่น เราทุกข์ที่นี่ ไม่อยากจะให้เราเกิดทุกข์ อยากจะให้ทุกหายไปเสีย ความอยากนี้ก็เป็นกิเลสอันหนึ่งที่ขึ้นมาส่งเสริม จึงเกิดความทุกข์ลำบากมากขึ้น ใจก็เป็นทุกข์ ที่เป็นทุกข์เวทนาทางกายก็เป็นทุกข์ ทางใจก็กำเริบขึ้นอีกด้วยความทุกข์ เพราะอยากให้เป็นอย่างใจหวัง ก็เลยส่งเสริมกันขึ้นไป นี่เป็นความโง่ของตัว ขนทุกข์มาทับถมตัวเอง...

 

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 320854เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 01:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ปล่อยและวางดีที่สุด....คอยตามรู้-ตามดู เดี๋ยวมันก็ไป

 

ปล่อยและวางดีที่สุด....คอยตามรู้-ตามดู เดี๋ยวมันก็ไป

 

 

  • จะเพียรพยายามต่อไปครับ
  • สาธุ สาธุ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท