อัจฉริยะข้ามคืน …..เสี้ยวหนึ่งของกิจกรรมงานศิลปหัตถกรรมนักเรียนภาคเหนือ ครั้งที่ ๕๙ ตอนที่ ๑ ขั้นตอนการฝึกฝน


การพัฒนาความคิดสร้างสรรค์

  ตัดสินใจในนาทีสุดท้ายขอเปลี่ยนตัวผู้เข้าร่วมแข่งขันประกวดสุนทรพจน์ภาษาญี่ปุ่น เวลาเกือบเที่ยงวันของวันอังคารที่ ๑๕ ธันวาคม  ฉวยข้อมือนายแค้มป์( นราธิป  น้อยระแหง) ลงไปห้องสำนักงานและขอเอกสารจากนักเรียนที่ได้รับมอบหมายคนแรก มาพิมพ์และช่วยกันปรับแต่งเนื้อหาสุนทรพจน์  จนเวลาล่วงเลยไปถึง ๑๖:๓๐ น  นัดหมายมาฝึกซ้อมและแก้ไขสำนวนประโยคช่วงเวลา ๑๙๐๐-๒๒๓๐ น   นายแค้มป์เพิ่งจำเนื้อหาเรื่องแรกได้เพียงเรื่องเดียวแต่ต้องยอมปล่อยให้ไปพักผ่อนเนื่องจากต้องออกเดินทางไปกับคณะฯ เวลา ๐๕:๐๐ น   

                                   นัดหมายเพื่อนๆ ช่วยกันแต่งประโยค                   

                        

                        

พบกันช่วงเช้าบนรถ  นายแค้มป์ฝึกพูดเรื่องที่ ๒ ให้ฟังได้อีกสัก ๓-๔ รอบ พนักงานขับรถก็ปิดไฟแต่เปิดรายการตลกให้ดูด้วยเสียงดังกลบเสียงนายแค้มป์ จึงต้องพักไปก่อน
งีบหลับได้สัก ๒๐ นาทีก่อนที่รถจะจอดที่โรงเรียนประชานุเคราะห์ในเวลา ๐๗:๐๐ น คุณครูเครือวัลย์เรียกพรรคพวกจำนวนเกือบ ๕๐ คน ให้ลงรถไปต่อรถสองแถวที่คอยบริการรับ-ส่งไปสถานที่แข่งขัน ซึ่งกำหนดไว้ จำนวน ๗ แห่ง  แต่ทางคณะฯไปที่โรงเรียนนครสวรรค์และวิทยาลัยอาชีวศึกษานครสวรรค์   แต่ผู้เขียนบอกไปว่า ขอนั่งบนรถอีกสักพักเพราะยังง่วงงุนเนื่องจากได้นอนแค่ ๔ ชั่วโมงและต้องการจะฝึกนายแค้มป์พูดต่ออีก ๔ เรื่อง น้องขนุนหนังและนายวัฒน์ครูคอมพิวเตอร์พาเด็กจำนวน ๓ คนมาแข่งขันฯ ด้วยจึงอยู่ร่วมขบวนด้วยกัน  ฝึกไปด้วยแอบหลับเล็กๆไปด้วย แต่ก็ช่วยแก้ไขสำเนียงและการเน้นคำและประโยคเป็นระยะๆ  ก่อนนั่งรถไปทานอาหารเช้าในเวลา ๐๘:๔๐ น  นายแค้มป์สามารถจำเนื้อหาได้อีก ๑ เรื่อง   ครูกำชับว่าเดินไปด้วยฝึกพูดเรื่องที่ ๓ ไปด้วยก็ได้นะ  ระหว่างรออาหารก็ฝึกๆพูดไปสัก ๒-๓ประโยค 

                                            

                                          ข้าวมันปู- เป็ดย่าง (อาหารเช้า) 

  

 

 

 

 

  เสร็จภารกิจเรื่องปาก-ท้อง จึงได้ฝึกกันอย่างจริงจังในเวลา ๑๐:๐๐ น เวลาล่วงเลยจนถึง ๑๑:๔๕ น นายแค้มป์พอจะจำได้เกือบ ๔ เรื่องแต่ยังไม่แม่นยำ…. ต้องคอยแก้ไขบางคำ และเน้นสำเนียง รวมทั้งการกล่าวคำและประโยคหนัก-เบา   แต่ก็ลดขั้นตอนการฝึกฝนไปอ่านเนื้อหาของเรื่องที่ ๕ เพื่อเก็บเกี่ยวคำศัพท์และประโยคที่สามารถนำไปประยุกต์ใช้ในเรื่องอื่นๆ ได้

                        

กำหนดเวลาให้รายงานตัวช่วง  ๑๒:๐๐ น ใช้เวลาของนาทีทองที่เหลือเกือบ ๒๐ นาทีอย่างคุ้มค่าทั้งเทคนิคการจำ  การพูดออกเสียงการแสดงกิริยาท่าทางประกอบ  ก่อนจับสลากลำดับขั้นการพูดเวลา ๑๒:๓๐ น  โชคดีที่ได้ลำดับหมายเลข ๑๔  มีเวลาพอที่นายแค้มป์ได้ใช้สมาธิทบทวนเนื้อหา

     ผู้เข้าร่วมแข่งขันมีอยู่ ๒๑ คน ซึ่งเป็นตัวแทนเขตจาก ๑๗ จังหวัดภาคเหนือ

    

ได้รับฟังผู้แข่งขันคนที่ ๑-๕ ผ่านมา  เริ่มยิ้มออก….มีสิทธิ์ลุ้นบ้างละมั๊งเพราะบางคนเสียคะแนนให้ความตื่นเต้นเนื่องจากลืมเนื้อหาที่จะพูด  บางคนพูดคนละเรื่องกับหัวข้อที่จับสลากได้  ซึ่งกำหนดไว้ ๕ เรื่อง

      แต่พอรับฟังคนต่อๆมา อีกหลายๆคน  รู้สึกหนาวยะเยือกจับขั้วหัวใจ   โอ้โฮ….นี่ถ้าไม่ได้ยินคำแนะนำตัวว่าเป็นนักเรียนที่เรียนอยู่ในโรงเรียนของประเทศไทย คงนึกว่าชาวญี่ปุ่นมาพูดเองเสียอีก  ทั้งบุคลิกลักษณะ  ท่าทาง สำเนียง  เนื้อหา /ประโยคและความคิดที่สอดแทรกในเนื้อหา…..ยอดเยี่ยมจริงๆ    แต่บางสำนวนดูเป็นธรรมชาติมากๆ  และบางประโยคใช้รูปแบบของไวยากรณ์ที่ค่อนข้างยาก  เช่น รูปขอกระทำที่สุภาพ (させてくれた)ฯลฯ  เชื่อว่าครูสอนภาษาญี่ปุ่นชาวไทยหลายคน(รวมทั้งผู้เขียน) ยังลังเลว่า....ตนเองใช้ได้ถูกต้องหรือไม่

                                     

        ต้องชื่นชมการพัฒนาในด้านความคิดสร้างสรรค์ของชาวญี่ปุ่นจริงๆเขาฝึกให้ผู้คนได้คิดสิ่งต่างๆ ได้อย่างสร้างสรรค์ อย่างเช่นรายการทีวีเกมซ่าท้ากึ๋น ทางสถานีโทรทัศน์ช่อง ๙ นำมาให้ชมเวลา ๒๐:๓๐ -๒๑:๓๐ น  เป็นรายการที่ดูแล้วนอกจากได้ความสนุกสนานแล้วยังได้เห็นความคิดสร้างสรรค์แปลกๆ  รวมทั้งประเทศอื่นๆ ที่ให้ความสำคัญต่อการพัฒนาผู้คนของเขาอย่างจริงจัง แต่สำหรับบางประเทศยังไม่ได้รับการใส่ใจเท่าที่ควร และบางประเทศก็ยังไม่มีการปลดแอก

หมายเลขบันทึก: 320851เขียนเมื่อ 17 ธันวาคม 2009 01:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 22:04 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

สวัสดีครับ

ขอเป็นกำลังใจให้ครับ

และก็อยากเรียนรู้ภาษาญี่ปุ่นด้วยเหมือนกันครับ

P รองฯประเสริฐคะ

   ขอบคุณนะคะสำหรับกำลังใจ....
   การเรียนรู้ภาษา....เป็นกิจกรรมที่ท้าทาย.... และสนุกค่ะ
   จะรอสื่อสารกับท่านรองฯด้วยภาษาญี่ปุ่นนะคะ

                                

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท