งานวิจัยเล่ม 6


ปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมคึกษา

ชื่องานวิจัย: ศึกษาปัญหาการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี

ผู้วิจัย: นางบุปผา สุขภาคกิจ

ปีที่วิจัย: 2542

วัตถุประสงค์ในการวิจัย:

                1. เพื่อศึกษาระดับปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี จำแนกตามขนาดโรงเรียนและประสบการณ์การบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน

                2. เพื่อเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี จำแนกตามขนาดโรงเรียนและประสบการณ์การบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน

ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง:

ประชากร: ได้แก่ผู้บริหารโรงเรียนระดับประถมศึกษาที่จัดการเรียนการสอนในระดับก่อนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี จำนวน 220 คน

กลุ่มตัวอย่าง: ได้มาโดยการสุ่มแบบแบ่งชั้น (Stratified random sampling) ตามขนาดโรงเรียน โดยใช้ตารางของเครจซี่ และมอร์แกน (Krejcie and Morgan, 1970, p. 608) ซึ่งได้กลุ่มตัวอย่างเป็นผู้บริหารโรงเรียนจำนวน 105 คน

เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัย: เครื่องมือที่ใช้ในการวิจัยครั้งนี้ คือ แบบสอบถามที่ผู้วิจัยสร้างขึ้นเอง โดยแบ่งเป็น 2 ตอน

ตอนที่ 1 เป็นแบบสอบถามเกี่ยวกับขนาดของโรงเรียน ชนิดสำรวจรายการ (check list) และแบบกรอกของรายการเกี่ยวกับประสบการณ์ในการบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน

ตอนที่ 2 เป็นแบบสอบถามชนิดมาตราส่วนประมาณค่า 5 ระดับ (rating scale) เกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา

การเก็บรวบรวมข้อมูล:

            1. ผู้วิจัยได้ขอหนังสือจากบัณฑิตวิทยาลัย มหาวิทยาลัยบูรพา ถึงผู้อำนวยการการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี เพื่อขอประสานงานและขอความร่วมมือในการเก็บข้อมูลจากสถานศึกษาในสังกัด

                2. ผู้วิจัยและผู้ช่วยผู้วิจัยประสานงานขอความร่วมมือ จากผู้บริหารสถานศึกษาเข้าไปแจกแบบสอบถาม

                3. ผู้ช่วยผู้วิจัยเก็บแบบสอบถามคืนภายใน 14 วัน นับจากวันที่ส่งแจกแบบสอบถาม แบบสอบถามที่ไม่ได้รับคืนผู้วิจัยได้เดินทางไปรวบรวมแบบสอบถามคืนด้วยตนเอง

                4. จากจำนวนแบบสอบถามที่ส่งไป จำนวน 105 ฉบับ ได้รับคืนมาจำนวน 105 ฉบับ คิดเป็นร้อยละร้อย และนำแบบสอบถามทั้ง 105 ฉบับ มาวิเคราะห์ข้อมูล

สถิติที่ใช้ในการวิจัย:

            1. ค่าเฉลี่ย, ค่าเบี่ยงเบนมาตรฐาน

            2. One – way ANOVA

            3. t – test

การวิเคราะห์ข้อมูล:

            1. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อหาระดับของปัญหาว่าอยู่ในระดับใด สถิติที่ใช้วิเคราะห์ คือ การหาค่าเฉลี่ย และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน

            2. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของปัญหาการจัดการศึกษา ระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรีตามขนาดโรงเรียน สถิติที่ใช้ คือ One – way ANOVA

            3. การวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อเปรียบเทียบความแตกต่างของปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี ตามประสบการณ์การบริหารงานของผู้บริหารโรงเรียน ทดสอบค่า ที (t – test)

สรุปผลการวิจัย:  จากการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี ในการศึกษาค้นคว้าครั้วนี้ สรุปสาระสำคัญของผลการค้นคว้า ดังนี้

1. ปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี ผลการวิเคราะห์พบว่า

                1.1 ปัญหาการบริหารโรงเรียนที่จัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาโดยรวมอยู่ในระดับน้อย และเมื่อพิจารณาเป็นรายด้านก็พบว่า ส่วนใหญ่มักมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ด้านที่มีปัญหาสูงสุด คือ ด้านงานอาคารสถานที่ และด้านที่มีปัญหาต่ำสุด คือ ด้านงานกิจการนักเรียน

                1.2 ปัญหาด้านงานวิชาการจำแนกตามขนาดโรงเรียน โรงเรียนที่มีขนาดใหญ่และขนาดกลางมีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับน้อย ส่วนโรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาในระดับปานกลาง เมื่อพิจารณาเป็นรายด้านตามขนาดโรงเรียน โรงเรียนขนาดใหญ่มีปัญหาในระดับน้อย และระดับปานกลาง โรงเรียนขนาดกลางมีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อย โรงเรียนขนาดเล็กมีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในระดับปานกลาง นอกจากด้านงานกิจการนักเรียนมีปัญหาในระดับน้อย

                1.3 ปัญหาในการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษาตามความคิดเห็นของผู้บริหารโรงเรียนจำแนกตามประสบการณ์การบริหารงานทั้งประสบการณ์น้อยและประสบการณ์มาก ปัญหาโดยรวมของผู้บริหารที่มีประสบการณ์น้อยอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนผู้บริหารที่มีประสบการณ์มากมีปัญหาโดยส่วนรวมอยู่ในระดับน้อย เมื่อพิจารณาตามกลุ่มผู้มีประสบการณ์น้อยเป็นรายด้านพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนด้านงานกิจการนักเรียน ด้านงานความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชน มีปัญหาในระดับน้อย และเมื่อพิจารณากลุ่มผู้มีประสบการณ์มากเป็นรายด้านพบว่า มีปัญหาส่วนใหญ่อยู่ในระดับน้อย นอกจากด้านงานอาคารสถานที่และด้านงานความสัมพันธ์โรงเรียนกับชุมชนมีปัญหาในระดับปานกลาง

                1.4 ด้านงานวิชาการโดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า มีปัญหาอยู่ในระดับน้อย 7 ข้อ และมีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง 6 ข้อ ส่วนปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ การจัดทำสื่อการเรียนการสอนระดับก่อนประถมศึกษายังไม่เพียงพอ และปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ โรงเรียนไม่รายงานผลความก้าวหน้าของเด็กระดับก่อนประถมศึกษาให้ผู้ปกครองทราบ

                1.5 ด้านงานบุคลากรมีปัญหาโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ ครูผู้สอนไม่มีวุฒิด้านการสอนนัดเรียนระดับก่อนประถมศึกษาโดยตรง ปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ ครูผู้สอนไม่มีขวัญและกำลังใจในการปฏิบัติงาน

                1.6 ด้านกิจการนักเรียนโดยรวมมีปัญหาอยู่ในระดับน้อย และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับน้อยเช่นกัน นอกจากการจัดอาหารเสริม (นม) ให้กับเด็กชั้นก่อนประถมศึกษายังไม่ครบทุกคนทุกวัน ส่วนปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ คุณภาพของอาหารกลางวันที่จัดให้กับเด็กยังไม่ครบตามหลักโภชนาการ ปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ การจัดอาหารเสริม (นม) ให้กับเด็กชั้นก่อนประถมศึกษายังไม่ครบทุกคนทุกวัน

                1.7 ด้านงานธุรการและการเงินโดยรวมอยู่ในระดับน้อย และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับน้อยเช่นเดียวกัน นอกจากงบประมาณสนับสนุนด้านอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ไม่เพียงพอและปริมาณเครื่องมือเครื่องใช้ที่จำเป็นในการปฏิบัติงานธุรการและการเงิน ปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ งบประมาณสนับสนุนด้านอาหารกลางวันและอาหารเสริม (นม) ไม่เพียงพอ ปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ ครูผู้สอนไม่มีความรู้ความเข้าใจในด้านงานธุรการในชั้นก่อนประถมศึกษา

               1.8 ด้านงานอาคารสถานที่โดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง และเมื่อพิจารณาเป็นรายข้อพบว่า ส่วนใหญ่มีปัญหาอยู่ในระดับปานกลาง ส่วนปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ โรงเรียนไม่มีห้องประกอบที่ถูกสุขลักษณะและเหมาะสมกับเด็ก ปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ นักเรียนอยู่ชั้นบนไม่เหมาะกับเด็กระดับก่อนประถมศึกษา

               1.9 ด้านงานความสัมพันธ์กับชุมชนโดยรวมอยู่ในระดับปานกลาง ข้อที่มีปัญหาสูงสุดในด้านนี้ คือ โรงเรียนไม่สามารถจัดบุคลากรออกไปเยี่ยมเยียนถึงบ้านผู้ปกครองเด็กระดับก่อนประถมศึกษา ข้อที่มีปัญหาต่ำสุดในด้านนี้ คือ โรงเรียนประชาสัมพันธ์เรื่องการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาให้กับชุมชนทราบน้อยมาก

2. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี จำแนกตามขนาดโรงเรียนพบว่า ปัญหาในการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาจำแนกตามขนาดโรงเรียนโดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

3. ผลการเปรียบเทียบปัญหาการจัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษาในโรงเรียนประถมศึกษา สังกัดสำนักงานการประถมศึกษาจังหวัดจันทบุรี จำแนกตามประสบการณ์การบริหารของผู้บริหารโรงเรียนประถมศึกษาที่จัดการศึกษาระดับก่อนประถมศึกษา จำแนกตามประสบการณ์โดยภาพรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

 

คำสำคัญ (Tags): #ปัญหาการศึกษา
หมายเลขบันทึก: 320451เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 15:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มีนาคม 2012 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอมาดูเพื่อเรียนรู้ด้วยครับ..

คำว่า "แตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ" หากใช้ภาษาที่ทุกคนสามารถเข้าใจได้ จะหมายถึงอะไรครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท