ความคิด ทำให้ใจขุ่นมัว


หนูได้เรียนรู้ว่าความคิดของหนู โจมตีใจตนเอง ตลอดเวลา ไม่ว่าช่องทางไหน ที่มันจะซ้ำเติมตนเองได้ แทบไม่มีช่องว่าง มีเพียงอย่างเดียว อาวุธอย่างเดียวที่ครูให้ไว้ยึดเป็นหลักของใจในทางสายนี้คือ ความอดทน พออดทนได้แล้ว ก็จะมีปัญญาอยู่กับลมหายใจ แม้จะเป็นการหายใจกับความขุ่นมัวและอึดอัด แต่ถ้าหนูหายใจไปเรื่อย ๆ ลมหายใจก็จะค่อย ๆ สบายขึ้น พอมีความคิดขึ้นมาอีก ก็จะรู้สึกอึกอัดขึ้นมาอีก แต่พอถึงเวลาต้องทำงาน ทำอาหาร ใจหนูก็ค่อย ๆ คลายลง หันมาจดจ่อกับการทำอาหาร

หลังจากที่ยืนทำเส้นไหมช่วยคุณยายชี สักพักหมอดาวและพี่ปุ๋มมาชวนไปอาบน้ำ รู้สึกกังวลเล็กน้อย ตอนนั้นมีความคิดขึ้นมาว่ากลัวโดนดุขึ้นมา ทั้งเรื่องบันทึกและเรื่องที่ให้พี่เขยมาส่งไกลถึงเสลภูมิ แม้จะบอกตนเองว่าทำดีที่สุดแล้ว ทำไปแล้ว ผ่านไปแล้ว แต่ดูเหมือน ใจติ๋วไม่ได้ให้อภัยตนเอง ยังเพ่งโทษ และไม่อยู่กับปัจจุบัน 

พอพี่ปุ๋มพาติ๋วและหมอดาวมาที่กุฏิ พี่ปุ๋มถามว่า “ใครจะอาบก่อน” ติ๋วจึงตอบว่า “พี่ปุ๋มอาบก่อนก็ได้ค่ะ” แล้วทุกคนก็เงียบ ตอนนั้นติ๋วรู้สึกว่า ใจติ๋วมันแข็ง ๆ คำตอบที่เอ่ยออกไปมันดูไม่ค่อยสุภาพ ดูเหมือนการสั่ง ถ้าเป็นการเสียสละน่าจะพูดได้อ่อนโยนกว่านี้เช่น “หนูอาบสุดท้ายก็ได้ค่ะ” น่าจะเป็นเช่นนี้มากกว่า ตอนนั้นหนูมีความคิดแบบนี้ค่ะ  ยิ่งมีความคิดเพ่งโทษตนเอง ใจยิ่งขุ่นมัว ทั้ง ๆ ที่ผู้อื่นนั้น สบาย ๆ นิ่ง ๆ

พี่ปุ๋มจึงบอกว่า "งั้นช่วงรอก็กวาดใบไม้ไปก่อน" หนูหยิบไม้กวาดมากวาด ๆ ใบไม้ไปก็คิดไป ไม่ค่อยมีสติ ใจเป็นหนักๆ เพ่งโทษ บางทีไม้กวาดก็ไปโดนหลังคากุฏิ หรือบางทีก็ไปเคาะโดนไม้ไผ่ที่ตอกไว้ตามแนวทางจงกลม ยิ่งรู้สึกหงุดหงิด ได้แต่บอกตนเองว่า “ถ้ายังโง่โกรธอยู่ก็ต้องอดทน”        

          พอพี่ปุ๋มอาบเสร็จ เรียกติ๋วไปอาบต่อ ติ๋วเปิดกระเป๋าอยู่ด้านนอกกุฏิ พี่ปุ๋มบอกว่าให้เอากระเป๋าเข้ามาด้านใน ติ๋วยังค้นของอยู่ พี่ปุ๋มเรียกเป็นครั้งที่ 2 ติ๋วจึงหอบกระเป๋าเข้าไปแบบหน้างอ ๆ  พี่ปุ๋มจึงเตือนสติว่า “เป็นไง” ติ๋วตอบว่า “ใจมันยังขุ่นมัวกับสิ่งที่ไม่เป็นไปตามที่ตั้งใจอยู่ค่ะ” ตอนนั้นในใจหนูอยากจะแก้ตัวเรื่องการเดินทางและเรื่องอื่น ๆ อีกมากมาย หนูได้แต่อดทนกับเสียงคร่ำครวญภายใน แต่มันก็ยังลอดออกมาทางวาจาและกายที่ดูกระเง้ากระงอดไม่พอใจ พี่ปุ๋มเตือนสติว่า "มาที่นี่มาช่วยพี่ มาทำประโยชน์ไม่ใช่เหรอ" “รู้ใช่ไหมว่าคนที่เขามาที่นี่ มาพึ่งพี่ทั้งนั้น” “ค่ะ” หนูตอบอย่างรู้สำนึก แต่ใจยังแข็ง ๆ ต้าน ๆ อยู่ พี่ปุ๋มจึงบอกว่า “เดี๋ยวพี่ออกไปทำกับข้าวก่อน” ติ๋วจึงลงไปอาบน้ำ

          การพูดคุยกับพี่ปุ๋มทำให้หนูกลับมาใคร่ครวญกับตนเอง แต่ตอนนั้นก็ไม่มีปัญญา แต่ทำให้หยุดเสียงคร่ำครวญภายในได้ หันกลับมาที่กิจกรรมที่กำลังทำ พออาบน้ำหนูมีแผลบริเวณขาพับที่ค่อนข้างลุกลาม รู้สึกเจ็บ เวลาอาบน้ำต้องระวังมาก ๆ ท่านแนะนำให้งดทานสัตว์ ให้ทานผักแทน พออาบน้ำเสร็จหนูนั่งทบทวนในตนเอง เพราะอะไรจึงขุ่นมัว เพราะว่ามันคิดๆ ๆ ๆ เพราะความกลัวในใจ อาบเสร็จจึงไปตามหมอดาวมาอาบน้ำ มองเส้นทางที่คนอื่นกวาดใบไม้ ยิ่งมีความคิดซ้ำเติมตนเอง เพราะท่านอื่น ๆ กวาดได้อย่างเรียบร้อยและทำงานกันอย่างเงียบ ๆ และมีสติ ตอนนั้นหนูได้แต่อดทน

          สักพักเดินแบกกระเป๋าออกมาตามเส้นทางพยายามภาวนาและบอกตนเองว่า "เรามาที่นี่เพื่อทำประโยชน์ ละความเห็นแก่ตัว ใจมันจะเศร้าหมองก็เรื่องของมัน แต่ต้องทำประโยชน์"

          หนูได้เรียนรู้ว่าความคิดของหนู โจมตีใจตนเอง ตลอดเวลา ไม่ว่าช่องทางไหน ที่มันจะซ้ำเติมตนเองได้ แทบไม่มีช่องว่าง มีเพียงอย่างเดียว อาวุธอย่างเดียวที่ครูให้ไว้ยึดเป็นหลักของใจในทางสายนี้คือ ความอดทน พออดทนได้แล้ว ก็จะมีปัญญาอยู่กับลมหายใจ แม้จะเป็นการหายใจกับความขุ่นมัวและอึดอัด แต่ถ้าหนูหายใจไปเรื่อย ๆ ลมหายใจก็จะค่อย ๆ สบายขึ้น พอมีความคิดขึ้นมาอีก ก็จะรู้สึกอึกอัดขึ้นมาอีก แต่พอถึงเวลาต้องทำงาน ทำอาหาร ใจหนูก็ค่อย ๆ คลายลง หันมาจดจ่อกับการทำอาหาร

          แค่ช่วงเวลาสั้น ๆ ใจหนูสอนอะไรเยอะมาก การอยู่ในวัด ทำให้เห็นใจตนเองชัดขึ้น เห็นใจตนเองที่ตอบสนองต่อสิ่งอื่น ๆ ชัดขึ้น มันง่ายมากที่จะโดนกิเลสครอบงำ แต่ลมหายใจและสังฆะ ช่วยให้หนูมีสติทำความเข้าใจมันได้ดีขึ้น

         ขอบพระคุณพี่ปุ๋มที่เมตตาเตือนสติ ขอบพระคุณพี่นก ที่ชักพาให้มาเรียนรู้สิ่งต่าง ๆ

         

 

หมายเลขบันทึก: 320351เขียนเมื่อ 15 ธันวาคม 2009 05:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:21 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท