สุขฟรีๆ มีจริงๆ (๑)


"สุขแท้ที่ลึกล้ำอยู่ภายในมักได้มาฟรีๆ สุขที่ต้องขวนขวายตะเกียกตะกายจากภายนอกมักฉาบฉวย"

นักศึกษาหลายคนที่เรียนวิชา สปช.๒ (การรู้จักตนเองและการเปลี่ยนแปลงตน) เมื่อผ่านกระบวนการวิเคราะห์ตนเองโดยใช้แนวคิดการแบ่งประเภทคนตามธาตุ ๔ แล้วพบว่าตนเองเป็นพวกธาตุไฟมีนิสัยใจร้อน มักทำโครงงานพัฒนาบุคลิกภาพตน ประเภทขับรถช้าลง เดินช้าลง พูดช้าลง เคี้ยวช้าลง ฯลฯ เมื่อได้ปฏิบัติโครงงานดังกล่าวแล้วก็พบหลายสิ่งหลายอย่างที่ไม่คาดฝันเกิดขึ้นกับตนเอง ครอบครัว ที่ทำงาน และชุมชน

การปฏิบัติโครงงานที่นักศึกษาทำในระหว่างการดำเนินชีวิตประจำวัน ซึ่งดูเผินๆ เหมือนจะเป็นเรื่องเล็กๆ ทำง่ายๆ แต่เรื่องเล็กๆ ทำง่ายๆ ได้ทำบ้าง เผลอไปบ้างนี้  ทุกคนต้องมานำเสนอโดยเล่าสิ่งที่ตนทำ ความรู้สึกและผลที่เกิดขึ้น เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้กันในระหว่างภาคเรียนเป็นระยะๆ

โดยรวมๆ เมื่อผ่านการปฏิบัติแล้วนักศึกษามักจะได้สัมผัสกับความรู้สึกภายในบางอย่างที่ลึกซึ้งด้วยตนเองมากบ้างน้อยบ้าง การรู้ได้ด้วยตนเองจากประสบการณ์ตรงนี้ ตรงกับภาษาบาลีว่า ปัจจัตตัง คือ รู้ได้ด้วยตนเองเท่านั้น ประสบการณ์ที่เกิดขึ้นนั้น ก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในตน ในความสัมพันธ์ระหว่างตนกับคนอื่น และเป็นก้าวแรกที่นำไปสู่การเปลี่ยนแปลงชีวิตตนในเรื่องอื่นๆ ต่อไป ดังภาษิตว่า การเดินทางไกลเริ่มด้วยก้าวแรกก่อน (A long journey begins with a single step.)

ตัวอย่างเช่น นักศึกษาหญิงวัยกลางคนคนหนึ่ง เธอเป็นคนขยัน ทำงานพร้อมกันหลายอย่าง และทุ่มเทจริงจังมากกับทุกงานที่ทำ ตื่นเช้าขึ้นมารีบทำงานอย่างหนึ่ง พอสายก็ต้องรีบไปทำอีกอย่าง และอีกหลายๆ อย่างในระหว่างวัน การประสบความสำเร็จในงานแต่ละงานมีผลต่อความรู้สึกเป็นตัวตนของเธอมาก กระทั่งครั้งหนึ่งที่โครงการใหญ่โครงการหนึ่งทำท่าว่าจะล้มเหลวเธอถึงขั้นคิดจะฆ่าตัวตาย

เมื่อได้มาเรียนวิชานี้ เธอพบตนเองเป็นคนธาตุไฟ ใจร้อน มุ่งมั่น ทำอะไรเร็ว ชีวิตอยู่กับความเร็ว ลงมือทำ และมุ่งความสำเร็จในสิ่งที่ทำ  แม้แต่กินข้าวก็กินเร็ว ไม่กี่นาทีก็เสร็จ เมื่ออาจารย์บอกว่าวิชานี้ให้นักศึกษาเลือกทำโครงงานอะไรก็ได้แต่ต้องทำเพียงเรื่องเดียว เธอตัดสินใจทำ "โครงงานเคี้ยวอาหารให้ช้าลงของข้าพเจ้า”

ในการปฏิบัติโครงงานวิชานี้ นักศึกษาแต่ละคนต้องทำ “สมุดบันทึกการสังเกตตนเอง” แล้วนำประสบการณ์ที่บันทึกไว้นั้นมาแบ่งปันกันในชั้นเรียน วันนั้น เธอเล่าด้วยคำพูดเรียบๆ ง่ายๆ กึ่งขำตนเอง ว่า "เพิ่งรู้ว่าข้าวมีรสหวาน อาหารที่อร่อยเป็นยังไง"

เพิ่งรู้ว่าการใช้เวลากับการกินอาหารแต่ละมื้อเกิน ๕ นาที ที่ไม่ใคร่เกิดขึ้นในชีวิตของคนที่ทำอะไรอย่างเร่งรีบมาทั้งชีวิตอย่างเธอ จะทำให้ชีวิตมีความสุขขึ้นมาอย่างง่ายๆ ได้เช่นนี้ และยิ่งสุขขึ้นอีกเมื่อมาพบตนเองนั่งพร้อมหน้าพร้อมตาร่วมกับคนอื่นๆ ในครอบครัว ได้เห็นดวงตาและท่าทางของลูกที่มีต่อพฤติกรรมแปลกใหม่ของแม่ที่ค่อยๆ เคี้ยว ค่อยๆ กลืน ค่อยๆ ใช้เวลากับการลิ้มรสอาหาร ซึ่งเธอก็บอกลูกด้วยว่า เธอทำโครงงานวิชานี้อยู่ ทำให้เธอได้พบกับความสัมพันธ์ที่อบอุ่นใกล้ชิดกันยิ่งขึ้นในครอบครัว ทำให้เธอเริ่มเบนความสนใจจาก "งาน" มาที่ "คน" มากขึ้น

หนึ่งในเรื่องราว "ปาฏิหาริย์แห่งการเคี้ยวช้า" ของเธอเรื่องหนึ่งที่ทำให้เพื่อนร่วมชั้นอึ้งและหลายคนจะเอาอย่างบ้าง คือ โรคปวดท้องที่ทำให้เธอทุกข์ทรมานมาหลายสิบปีได้ค่อยๆ หายไปเองจากการเปลี่ยนพฤติกรรมนี้ รวมทั้งโรค "หายใจไม่ทัน" (หายใจขัด ไม่เต็มปอด) ก็หายไปด้วย เธอได้ค้นพบวิธีรักษาโรคประจำตัวด้วยตนเอง ไม่ต้องกินยาอีก

ผมแสดงความยินดีที่โรคประจำตัวเธอหายไปได้เองจากโครงงานเคี้ยวช้าของเธอ และกับการได้สัมผัสกับชีวิตที่มีอิสระขึ้น ไม่ต้องพึ่งยาอีกต่อไป แล้วก็ถามเธอว่า ความสุขจากการทำอะไรช้าลง ร่างกายสบายขึ้น และจิตใจสงบลงเช่นนี้ ต่างจากความสุขจากการทำงานประสบความสำเร็จอย่างไร เธอนั่งนิ่ง ใช้เวลาระลึกเปรียบเทียบความรู้สึกจากการสัมผัสความสุขแบบแรกและแบบหลังอยู่นาน ผมจึงขอให้เธอใช้เวลาอยู่กับตนเองพิจารณาเรื่องนี้โดยไม่ต้องตอบผมก็ได้ เพียงแต่ตอบตนเองได้ก็พอ

เมื่อเห็นเธอนั่งนิ่งเงียบไปพักหนึ่ง ผมจึงแนะนำว่า ความสุขที่คนเราได้มาโดยไม่ต้องลงทุนขวนขวายแสวงหาจากภายนอก มักเป็นความสุขลึกๆ ที่เกิดขึ้นภายในจากการปล่อยวางบางสิ่งบางอย่างของตนเองลง วันหนึ่งเมื่อเราไม่ต้องไปแสดง “ความสำเร็จ” อะไรให้คนอื่นเห็นก่อน ก็สามารถมีความสุขด้วยตนเองได้ ไม่ดีกว่าหรือ ลองนึกดูดีๆ เราเคยมีประสบการณ์ของการมีความสุขอยู่กับบางสิ่งบางอย่างในวัยเด็กมาแล้ว ในวัยเด็กความสุขของเรามีเพียงสิ่งที่กำลังเล่นสนุกอยู่ตรงหน้าในขณะนั้นๆ เท่านั้น แล้วให้ลองคิดดูว่าการได้เห็น “ความสำเร็จ” ของตนผ่านสายตาคนอื่น หรือต้องอาศัยสายตาคนอื่นมายืนยันภาพลักษณ์ความสำเร็จของเรา มักกระตุ้นเราให้กระหายใคร่ไล่ล่าความสำเร็จอื่นๆ ต่อไปหรือเปล่า ไล่ไปไล่มาจนเราเหนื่อยหมดแรงอยู่เสมอหรือเปล่า "เหนื่อยมั๊ย?" ผมถาม เธอพยักหน้า ผมจึงให้กำลังใจว่า เธอทำได้ดีแล้ว ขอให้ "เคี้ยวช้า" เช่นนี้ต่อไป ขอให้ใส่ใจตนเอง รักและเมตตาร่างกายและจิตใจตนเองเช่นนี้ต่อไป เมตตาต่อตนเองแล้วความเมตตานั้นมันจะแผ่ไปถึงคนอื่นๆ ด้วย

คนอื่นๆ ก็แบ่งปันประสบการณ์อันน่าทึ่งจาก “ปาฏิหาริย์แห่งการทำอะไรช้าลง” ของตน

นักศึกษาคนหนึ่งทำโครงงาน "นับหนึ่งถึงร้อยค่อยพูด" เธอเล่าว่า ที่ผ่านมา พูดหรือทำอะไรไปแล้วมักต้องเสียใจในภายหลังเสมอ เช่น ครั้งหนึ่ง เธอกำลังทำงานบ้านอยู่ในบ้าน มองออกไปนอกบ้านเห็นลูกชายเล็กๆ วัยซุกซน ๒ คนของเธอเล่นรถมอเตอร์ไซค์กันอยู่ คนพี่ขึ้นขี่บนเบาะ คนน้องจับอยู่ข้างรถ พอหันไปอีกทีเห็นรถล้มลงมาทับน้องร้องไห้ใหญ่ จึงพุ่งออกไปตีคนพี่จนร้องไห้ตามไปอีกคน เมื่อทุกอย่างสงบลง สอบถามจึงได้ความว่า คนน้องเป็นคนดึงรถล้มเอง เหตุการณ์นี้ทำให้เธอรู้สึกเสียใจจนร้องไห้ไปด้วยอีกคน เหตุการณ์ทำนองนี้เกิดขึ้นครั้งแล้วครั้งเล่าในชีวิต ไม่เพียงกับลูก แม้แต่กับสามีเธอก็ไล่ไม่ให้นอนร่วมห้องกันอยู่บ่อยๆ

ผมถามเธอว่า "เมื่อทำร้ายร่างกายลูกแล้วใครเจ็บบ้าง?" (ผมเจตนาเปลี่ยนคำว่า "ตี" ที่เธอพูด เป็นคำ "ทำร้ายร่างกาย" เพื่อสร้างความเข้าใจบางอย่างให้แก่เธอโดยไม่ต้องอธิบายมาก) เธอนิ่งคิดอยู่ครู่หนึ่งแล้วตอบด้วยเสียงเบาๆ ว่า "ลูกเจ็บ ฉันก็เจ็บ" ตอบแล้วก็เธอก็ยกกระดาษทิชชูขึ้นซับน้ำตาที่ซึมออกมา ผมจึงให้เธอนั่งอยู่กับตนเองสักพัก หายใจลึกๆ

เมื่ออารมณ์สงบลงแล้ว เธอก็เล่าต่อว่า เมื่อทำโครงงานนี้แล้ว เธอรู้สึกตนเองสงบลง การเห็นอารมณ์และอาการทางกายของตนเองที่พุ่งขึ้นมาบ่อยๆ แล้วสามารถชลอปฏิกิริยาไว้ได้ทันมากขึ้นๆ ช่วยให้เธอพบความสุขในชีวิตขึ้น เธอบอกเพื่อนในชั้นเรียนแบบขำๆ ว่า สามีบอกเธอว่า เธอเปลี่ยนแปลงไป ทุกวันนี้สามีของเธอก็ใช้เวลาส่วนใหญ่อยู่ในบ้านกับครอบครัวมากขึ้น เลิกงานแล้วก็กลับบ้าน ไม่เหมือนแต่ก่อนที่เลิกงานแล้วจะไปกินเหล้ากับเพื่อน

อีกคนเป็นนักศึกษาชาย เขาต้องขับรถจากบ้านต่างอำเภอไปส่งลูกที่โรงเรียนและส่งภรรยาที่ทำงานในตัวจังหวัดเกือบทุกวัน ที่ผ่านมาเขาขับด้วยความเร็ว ๑๔๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง ทุกคนจะนั่งตัวตรง ตามองจ้องแต่ถนนข้างหน้า ไม่มีใครพูดกับใคร ในรถมักมีแต่ความเงียบ ตั้งแต่วันที่เขาเริ่มทำโครงงานขับรถช้าลงเหลือ ๑๐๐ กิโลเมตรต่อชั่วโมง เขาได้สัมผัสกับบรรยากาศแห่งความสุขของสมาชิกครอบครัวที่นั่งอยู่ด้วยกันในรถ เริ่มมีการพูดคุยกัน เขาเห็นการผ่อนคลายของลูกและภรรยา และสังเกตพบตนเองก็รู้สึกผ่อนคลายเช่นกัน ดูหน้าตนเองในกระจกเงาที่แผงกันแดดก็เห็นเป็นหน้าธรรมดาขึ้น คิ้วไม่ขมวดอย่างเคย ทำให้เขาพบกับความสุขบางอย่างที่ไม่เคยประสบมาก่อน นั่นคือความสุขภายในจากการที่เขาเปลี่ยนพฤติกรรมที่คุ้นชินบางอย่างในชีวิต

เป็น ความสุขที่เกิดขึ้นได้ง่ายๆ และได้มาฟรีๆ โดยไม่ต้องลงทุนซื้อหา เขาบอกว่า ความสุขที่เกิดขึ้นจากเหตุการณ์เดียวนั้นได้นำเขาไปสู่ความสุขจากการช้าลงในเรื่องอื่นๆ ของชีวิตด้วย เมื่อนำผลของโครงงานมานำเสนอในปลายภาค เขาบอกว่าเขาพบตนเองเป็นคนใหม่ที่อ่อนโยนขึ้นทั้งในการพูดการจา ทั้งกับคนในครอบครัวและที่ทำงาน เขาชอบใบหน้าใหม่ในกระจกของตนมากกว่าใบหน้าเก่าที่คุ้นเคยมาหลายสิบปี ที่สำคัญคือ โรคปวดหลังปวดไหล่ได้ค่อยๆ ทุเลาลงด้วย

อีกคนหนึ่งเป็นคนขับรถของหน่วยงานราชการแห่งหนึ่งก็บอกว่า เมื่อทำโครงงานขับช้า เขาสามารถสัมผัสกับความสุขที่เกิดขึ้นในตนเองได้ ก่อนที่จะได้ยินเสียงชมจากพนักงานที่ใช้บริการรถสำนักงานว่าเขาขับนุ่มนวลขึ้น ใส่ใจผู้โดยสารมากขึ้น

ครั้งหนึ่ง มีสุภาพสตรีคนหนึ่งขับรถมาส่งสามีของเธอ แล้วมาพบผมที่หน้าห้องเรียน เธอแนะนำตัวว่าเป็นภรรยาของนักศึกษาคนนั้น และยกมือไหว้ขอบคุณผม เพราะเข้าใจว่าผมทำให้สามีของเธอเปลี่ยน ผมตอบขอบคุณเธอที่มาขอบคุณผม พร้อมบอกว่า ที่จริงผมเองก็ได้เรียนรู้อะไรจากเขาและนักศึกษาทุกคนมาก ผมไม่สามารถเปลี่ยนใครได้หรอก สามีหรือภรรยาของเขาเปลี่ยนแปลงตัวเขาเอง 

ผมเป็นเพียงอาจารย์ธรรมดาๆ คนหนึ่งที่ร่วมเรียนรู้ไปพร้อมกับนักศึกษาด้วยเท่านั้น ผมเองก็อยู่ในกระบวนการเปลี่ยนแปลงตนด้วยเช่นกัน.

สุรเชษฐ เวชชพิทักษ์
๑๑ ธ.ค. ๒๕๕๒

หมายเลขบันทึก: 319588เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 16:56 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 พฤษภาคม 2012 13:22 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

ขออนุญาตนำไปอ่านให้ นศ.โครงการ ม.ชีวิต ศรร.เทศบาลเมืองชุมพร ฟัง-คิด-พูด ในการเสวนา 1 วัน 1 คืน 12-13 ธ.ค.52 ที่โครงการพระราชดำริหนองใหญ่ ครับ.

เห็นด้วยครับ......ชอบมากครับ คำว่า "ปาฎิหาริย์แห่งการทำอะไรช้าลง" หรือ "ปาฎิหาริย์แห่งความช้า" "Slow but sure" และขอนำไปลงใน www.lifethailand.net ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท