ชีวิตที่พอเพียง : ๙๐๐. ตามเสด็จทัศนศึกษา สมเด็จพระเทพรัตน์ฯ ๒๕๕๒ (๒) ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี และ ๓ สถานที่ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา



ตอนที่ ๑


          ตอนบ่ายเราออกจากบ้านสวนปทุมไปยัง

ศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานี
           พิธีรับเสด็จจัดใหญ่โต   เขาเตรียมให้ชม ๓ ด้าน คือศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ   การอนุรักษ์พันธุ์ข้าวป่า   และการปรับปรุงพันธุ์ข้าว  

          มองในแง่ความรู้ ผมชอบการมาเยี่ยมชมที่นี่มากที่สุด   และในขณะเดียวกัน ก็ผิดหวังที่สุดด้วย    ผมมองว่าแนวทางที่ทางราชการใช้กันอยู่ จะนำชาวนาไปเป็นทาสของบริษัทขายเมล็ดพันธุ์ในที่สุด 


          พอลงจากรถบัสทหาร เราเข้าไปชมศูนย์ปฏิบัติการและเก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ข้าวแห่งชาติ เป็นแห่งแรก   หลังจากนั้นเขาก็ให้เราขึ้นรถบัสที่ยืมมาจากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์    ซึ่งคันเล็กกว่า คล่องตัวกว่า   พาเราทัวร์บริเวณศูนย์ซึ่งกว้างกว่า ๑ พันไร่ทันที   พร้อมผู้ถวายคำอธิบายเป็นภาษาอังกฤษ   สาวน้อยและผมโชคดีที่เขาให้นั่งรถคันที่แขกต่างประเทศอยู่   จึงได้ข้อมูลครบถ้วนดี   ประกอบกับการทำการบ้าน เข้าอินเทอร์เน็ต อ่านมาก่อน   ทำให้ผมมองทะลุกิจการพัฒนาข้าว   ว่าเป็นกิจการที่มองข้ามบทบาทของชาวนา ในฐานะผู้พัฒนาทุกสิ่งทุกอย่างเกี่ยวกับข้าว    คือมองชาวนาเป็นเพียงผู้รับถ่ายทอดเทคโนโลยีจากทางราชการ    ท่าทีเช่นนี้จะทำลายประเทศไทย และสังคมไทย

          นี่คือเรื่องเชิงกระบวนทัศน์นะครับ   เปลี่ยนแปลงยากมาก   และยังผูกอยู่กับผลประโยชน์หรือกิเลสมนุษย์ด้วย   ที่มองผลประโยชน์ของหน่วยงานหรือหน้าที่ของตนเองมากกว่าผลประโยชน์ที่มีคุณค่ากว่า คือผลประโยชน์ของชาวนา หรือสังคมในวงกว้าง   และยังติดกระบวนทัศน์ว่าชาวนาเป็นคนโง่   ไม่คิดว่ามีชาวนาจำนวนไม่น้อยเป็นคนฉลาด    เป็นทรัพยากรสมองพร้อมๆ ไปกับการเป็นชาวนา   ดังกรณีของชาวนาที่เป็นนักเรียนชาวนาของมูลนิธิข้าวขวัญ    

          ผู้ถวายรายงานบนรถเป็นข้าราชการผู้หญิง ภาษาดีใช้ได้ และตั้งใจมาก   เรานั่งรถผ่านแปลงนาทดลองสารพัดแบบ   มีแปลงข้าวป่าด้วย   ที่ดูเขาจะภูมิใจมากคือแปลงพัฒนาข้าวลูกผสม   ซึ่งจะให้ผลผลิตสูงถึงไร่ละ ๑,๑๐๐ – ๑,๒๐๐ กก.   ในขณะที่พันธุ์ข้าวชนิดดีในขณะนี้ให้ผลผลิต ๖๐๐ – ๘๐๐ กก./ไร่   นั่นคือคำอธิบายของนักวิชาการที่ทั้งน่าชื่นชม   และเมื่อคิดลึกๆแล้วน่าเป็นห่วงอนาคตของชาวนามาก   เพราะพันธ์ข้าวลูกผสมนี้ใช้ได้หนเดียว ต้องซื้อเมล็ดพันธุ์จากผู้ผลิตเท่านั้น   เท่ากับชาวนาจะต้องตกเป็นเบี้ยล่างของผู้ผลิตพันธุ์ข้าวตลอดไป   ผมคิดว่าชาวนาที่ฉลาดต้องระวังอย่าตกเป็นทาส

          ผมถามข้าราชการผู้ใหญ่มากของกรมการข้าว   ว่ามีการใช้ปุ๋ยเคมีหรือไม่ใช้อย่างไร   ได้คำตอบว่า มีสูตรให้ปฏิบัติ   ต้องทำตามนั้น   แสดงว่ากรมการข้าวเน้นการวิจัยแบบวิชาการ    ไม่มีความคิดที่จะใช้ชาวนาร่วมเป็นนักวิจัย   และไม่เข้าใจการวิจัยแบบบูรณาการหลายด้าน   เพื่อให้ได้พันธุ์ข้าวที่เหมาะสมต่อการปลูกในสภาพของแต่ละพื้นที่   เขาไม่เข้าใจความหลากหลายทางพันธุกรรม   ว่าข้าวพันธุ์เดียวกันก็ไม่ใช่ว่าจะ identical กันในทาง genetics   และการคัดพันธุ์เองโดยชาวนา (ซึ่งทำอย่างถูกหลักวิทยาศาสตร์ได้) จะช่วยให้ค้นพบสายพันธุ์ย่อยที่ดีกว่าเดิม    คือชาวนาจำนวนหนึ่งสามารถร่วมเป็น “นักวิจัยชาวบ้าน” ได้

          ไฮไล้ท์ ของที่นี่คือห้องเก็บเชื้อพันธุ์ข้าว ที่เขาให้เราเข้าไปดูภายในห้องได้   เป็นห้องใหญ่น่าจะสัก ๕๐ ตารางเมตร    มีชั้นวางโถแก้วใส่เมล็ดพันธุ์ข้าว    ห้องนี้ปรับอุณหภูมิที่ ๑๘ องศาเซลเซียส   เก็บเมล็ดเชื้อพันธุ์ให้ดำรงความงอกได้ ๓ ปี   เขามีห้อง ๕ องศา เก็บได้ ๒๐ ปี   และห้องลบ ๕ องศา เก็บได้ ๕๐ ปี 

          ผมมีความคิดแผลงๆ ว่าน่าจะใช้ชุมชนไทยเป็นแหล่งเก็บ และแหล่งพัฒนาพันธุ์ข้าวไปพร้อมๆ กันได้ด้วย   คือทางราชการน่าจะร่วมมือกับมูลนิธิและหรือกลุ่มชาวนา ในการพัฒนาพันธุ์ เมื่อได้สายพันธุ์ที่ดีหรือมีลักษณะพิเศษ ก็นำมาเก็บเชื้อพันธุ์ไว้   วิธีได้รับรู้เรื่องราวและลักษณะของสายพันธุ์ใหม่ ก็ทำโดยจัดประกวด    วิธีประกวดต้องมีกระบวนการตรวจสอบข้อมูลการปลูกและดูแลประกอบด้วย

          เรื่องการเก็บรักษาและพัฒนาพันธุ์นี้ Sir John Sulston ให้ความเห็นว่า น่าจะใช้พลังของ genomics และ bioinformatics เปรียบเทียบระหว่างพันธุ์ของเรากับ genome sequence ที่มีอยู่ในคลังข้อมูลสาธารณะ    จะทำให้เราเข้าใจพันธุ์ข้าวของเรามากขึ้น 

          ที่สถานที่สุดท้ายมีการนำเอาผลิตภัณฑ์จากข้าวมาแสดง    และวิธีแสดงให้ได้รับความสนใจและซึ้งที่สุดคือให้ชิม    เราชิมกันจนพุงกาง    ดาราของผลิตภัณฑ์คือไอศครีมข้าวกล้องงอกผสมกระทิ อย่างละ ๔๙.๕%   อีก ๑% เป็นน้ำตาล    ผมชิมเสีย ๒ ถ้วย   สมาชิกในขบวนบอกว่าขนมจีนแกงไก่ก็อร่อย แต่ผมหมดพื้นที่กระเพาะเสียแล้ว

          ที่จริงตรงพื้นที่จัดแสดงนิทรรศการเขามีโปสเตอร์แสดงวิธีพัฒนาพันธุ์    และแสดงเทคโนโลยีที่กรมการข้าวพัฒนาให้ชาวนาใช้ด้วย   เช่นแผ่นสีใช้เทียบสีของใบข้าว สำหรับเป็นตัวบอกการใส่ปุ๋ย
  

ศูนย์ศึกษาประวัติศาสตร์อยุธยา

          ผมเคยมาชมแล้วกับมูลนิธิสยามกัมมาจล เมื่อ ๒๑ มิ.ย. ๕๑   โดยมี ศ. (พิเศษ) ศรีศักร วัลลิโภดม เป็นผู้อธิบาย อ่านบันทึกการมาชมครั้งนั้นได้ที่นี่    ในบันทึกนี้มีสาระมากกว่าการมาชมครั้งใหม่ในวันที่ ๑๔ พ.ย. ๕๒ อย่างเทียบกันไม่ติด

          เราออกจากศูนย์วิจัยข้าวปทุมธานีช้ากว่ากำหนดชั่วโมงครึ่ง   การชมอยุธยาจึงต้องเร่งขึ้น   ผมได้ถ่ายรูปแบบจำลองวัดไชยวัฒนาราม ทำให้เข้าใจผังของโบราณสถานแห่งนี้    ต่อไปเมื่อไปชมทรากหักพังก็จะจินตนาการได้ถูกต้อง   ผมคิดในใจว่า น่าจะทำแบบจำลองอีกชุดหนึ่งไปไว้ที่หน้าสถานที่จริง   ผู้ไปเยี่ยมชมจะได้มองออกว่าภาพรวมทั้งหมดของสถานที่ในสมัยที่ยังไม่หักพังเป็นอย่างไร 

          ผมขอบันทึกไว้ว่า ผู้นำชมมีภาษาอังกฤษและความรู้ดีมาก   แต่เราต้องเร่งเพราะยังมีอีก ๒ ที่  

 

พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติเจ้าสามพระยา

          นี่ก็เช่นกัน ผมมาชมเมื่อปีครึ่งที่แล้ว    ดังนั้น ผมจึงเฝ้าตั้งข้อสังเกตว่า มาคราวนี้ต่างจากคราวที่แล้วอย่างไรบ้าง   พบว่าผมได้ถ่ายรูปต้นมะกล่ำตาควาย ที่ผมเล่าและลงรูปเมล็ดไว้ในบันทึกตอนมาชมคราวที่แล้ว   ได้ถ่ายรูปเครื่องทองในห้องกรุวัดมหาธาติ และกรุวัดราชบูรณะ   และได้รู้ว่าครุฑไม้ที่วางตรงบันไดชั้นล่างขึ้นชั้นที่ ๒ นั้น เป็นโขนเรือรูปครุฑของโบราณชิ้นเดียวที่มีเหลืออยู่ในปัจจุบัน

 

อุทยานประวัติศาสตร์พระนครศรีอยุธยา


          อ่านแต่ละจุดสำคัญในอุทยานได้ที่นี่   เมื่อเราไปถึงนั้นมืดแล้ว เขาเปิดไฟส่องโบราณสถานทำให้ได้บรรยากาศอีกแบบหนึ่ง   เราไม่ได้ลงจากรถ ไกด์อธิบายโดยรถแล่นเข้าไปภายใน   ช่วงที่เป็นไฮไล้ท์ คือตอนแล่นผ่านถนนพระนเรศวร ที่มีวัดราชบูรณะอยู่ด้านซ้าย วัดมหาธาตุอยู่ด้านขวา    เราเห็นฝรั่งมาเดินชมในบริเวณวัดมหาธาตุจำนวนหนึ่ง 

          สรุปแล้วการมาชมโบราณสถานอยุธยาคราวนี้ผมแทบไม่ได้ความรู้ใหม่

          แต่ในอาหารเย็นที่โรงแรม Kantary อยุธยา ที่คณะไปพัก    มีรายการประทับใจคือกุ้งแม่น้ำเผา   และอาหารไทยอีกหลายอย่าง    ผมกินกุ้งแม่น้ำเผาถึง ๒ ตัว ที่เป็นกุ้งขนาดใหญ่ ถ้ากินที่ภัตตาคารน่าจะราคาตัวละ ๔๐๐ บาท

          ทางโรงแรมจัดให้ร้านทำของที่ระลึกพื้นเมือง คือปลาตะเพียนทำด้วยใบลาน มาจัดแสดง   และมอบให้แขกที่มาในคณะคนละชุดสองชุด   หมออมราดีใจได้เอามาฝากหลาน

 

วิจารณ์ พานิช
๑๖ พ.ย. ๕๒

ภายในห้องเก็บเชื้อพันธุ์ข้าว

แปลงนาทดลอง พัฒนาพันธุ์ข้าว

นิทรรศการผลิตภัณฑ์จากข้าว

หุ่นจำลองวัดไชยวัฒนาราม ที่แสดงจินตนาการสภาพตอนสมบูรณ์

ภาพแสดงงานรื่นเริงในอดีต ดูให้ดีๆ

จะเห็นอารมณ์ขันแกมสัปดนของศิลปิน

ต้นมะกล่ำตาควาย หน้าพิพิธภัณฑสถานเจ้าสามพระยา

เครื่องทอง กรุวัดมหาธาตุ

เครื่องทอง กรุวัดราชบูรณะ

กรุวัดราชบูรณะ

ดาวเด่นของห้อง

นี่ก็ดาวเด่น

 

หมายเลขบันทึก: 319586เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 16:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 7 มีนาคม 2014 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มีอาจารย์บางท่านบอกว่าตอนนี้ประเทศเราไม่เหลืออาชีพชาวนาจริงๆให้เห็นแล้วครับ....จะมีก็แต่อาชีพลูกจ้างชาวนา(มีโครงสร้างของผู้ประกอบการและการจ้างงานเป็นช่วงๆไม่ได้ทำเอง กินเอง ทั้งหมด?

อ่านแล้วคิดถึงความหลังอันประทับใจ ที่ได้ไปเยี่ยมชมพร้อมคุณหมอและน้องเยาวชน กับมูลนิธิสยามกัมมาจลค่ะ..

           

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท