brochill
วราวรรณ จันทรนุวงศ์(ศิริอุเทน)

Affective Dimension


เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์,เจตคติต่อวิทยาศาสตร์

Research on The Affective Dimension of Science Learning 

แปลและเรียบเรียงจาก

Simpson, D. R., Koballa R. T., Oliver  J. S. (1994). Research on The Affective Dimension

of Science Learning. In D. L. Gabel (ed.), Handbook of Research on Science Teaching and  Learning. New York: McMillan. 237 - 247.

วราวรรณ  จันทรนุวงศ์

…………………… 

สิ่งที่ส่งผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์นั้น นักวิจัยทางจิตวิทยา สังคมวิทยา และการศึกษา ให้ความสำคัญอย่างยิ่ง เพื่อทำการศึกษาอิทธิพลที่ทำให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ ทั้งทางด้านคุณค่า แรงจูงใจ ความเชื่อ จากบ้านสู่โรงเรียน และเจตคติเกี่ยวกับโรงเรียน วิทยาศาสตร์ และชีวิตประจำวัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้เป็นความรู้สึกของผู้เรียนที่เกี่ยวข้อง สัมพันธ์กันระหว่าง บ้าน ตัวผู้เรียน และโรงเรียน ดังนั้นสังคมและบริบทต่างๆ จึงมีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์ ดังรายละเอียดต่อไปนี้ 

Essential ingredients of the Affective Domain

ในวิทยาศาสตร์ศึกษานั้นผู้เรียน วิทยาศาสตร์ และสังคมเติบโตขึ้นพร้อมๆ กัน ซึ่งต้องพัฒนาทั้ง 3 ส่วนพร้อมๆ กันคือ

1. ด้านความรู้ความเข้าใจ (cognitive domain) ในตัวเนื้อหาความรู้ การได้มาซึ่งความจริงและตัวความรู้ ซึ่งรวมถึงการพัฒนาขึ้นมาจากทักษะการแก้ปัญหา(problem solving) และทักษะการใช้เหตุผล(reasoning skill)

2. ด้านทักษะพิสัยหรือทักษะปฏิบัติ (psychomotor domain) เป็นทักษะปฏิบัติที่ต้องใช้ความชำนาญ การลงมือปฏิบัติ

3. ด้านจิตพิสัย (Affective domain) หรือด้านความรู้สึก (feelings) ที่เกิดขึ้นภายในตัวบุคคล เช่น เจตคติ การเห็นคุณค่า ความเชื่อ ความคิดเห็น ความสนใจและแรงจูงใจ

เจตคตินั้นมักจะมองในแง่ ความรู้สึก ความคิด และการแสดงพฤติกรรม ซึ่งเจตคตินั้นเป็นการสะท้อนความรู้สึกในแง่บวกและลบเกี่ยวกับสิ่งของ บุคคล สถานที่ เหตุการณ์ หรือแนวคิดต่างๆ ที่สามารถวัดได้ตรวจสอบได้ ส่วนการมองเห็นคุณค่านั้น จะเกี่ยวข้องกับความคิดความรู้สึกที่เป็นนามธรรม เช่น ประชาธิปไตย ความรัก ความอิสระ

ส่วนความเชื่อนั้นคือการยอมรับหรือไม่ยอมรับความคิดพื้นฐานของสิ่งต่างๆ ที่เกิดขึ้น และแรงจูงใจจะมุ่งไปที่การแสดงออกหรือไม่แสดงออกเมื่อเจอสถานการณ์ใดสถานการณ์หนึ่ง 

Scientific Attitudes and Values

                เนื่องจากงานวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวข้องกับสังคม ดังนั้นจึงมีการแบ่งเจคติ (Scientific Attitudes) ออกเป็น 2 ลักษณะคือ

                1. เจตคติเชิงวิทยาศาสตร์ (Scientific Attitudes) เกิดจากความเชื่อภายในของนักวิทยาศาสตร์จากงานที่พวกเขาสร้างขึ้น เช่น รายงาน Education and the Spirit of Science 1966, published by Educational Policies Commission  ที่อธิบายถึงสิ่งสำคัญในการจัดการเรียนการสอนวิทยาศาสตร์ คือ

                - การมองเห็นความสำคัญของการหาความรู้ การรู้และการเข้าใจ โดยความรู้นั้นสามารถสามารถสืบเสาะแสวงหาได้จากแหล่งต่างๆ

                - ต้องมีการคิดคำถามอยู่ตลอดเวลา แล้วพยายามค้นหาคำตองของคำถามนั้นด้วยการสืบเสาะหาความรู้

                - มีการหาข้อมูลและสร้างความหมายของสิ่งที่พบ สามารถอธิบายสิ่งต่างๆ และเหตุการณ์ด้วยข้อมูลที่ค้นพบด้วยความเที่ยงตรง จากปัญหาที่เกิดขึ้นในสังคมหรือผลของการพัฒนาจากรัฐโดยตรง

                - การพิสูจน์และยืนยันด้วยข้อมูลที่น่าเชื่อถือ จากการค้นหาหลักฐานและคำอธิบายข้อค้นพบนั้น

                - เคารพในตรรกะ คือการเคารพและยอมรับในการให้เหตุผล ยอมรับในเหตุและผลของเหตุการณ์ มีการสรุปและยอมรับในข้อมูลที่เชื่อถือได้จากการพิสูจน์โดยใช้หลักการและมีเหตุผลประกอบ

                - ต้องมีการพิจารณาถึงการทบทวนอยู่บ่อยๆ เป็นประจำทั้งข้อสันนิษฐานภายในและภายนอก เพื่อนำไปสู้การหาคำตอบในอนาคต

                - มีการยอมรับและพิจารณาผลลับ ที่ตามมา โดยเชื่อว่าผลที่เกิดขึ้นโดยตรงและโดยอ้อมนั้นได้มาจากการแสวงหาความรู้หรือการพิสูจน์ที่น่าเชื่อถือ

                ยิ่งไปกว่านั้นในรายงาน The Academy of Sciences (1989) ยังมีการยอมรับว่าการเขียนรายงานของนักวิทยาศาสตร์ในบางครั้งยังใช้ความเชื่อเฉพาะบุคคล หรือเจคติของผู้รายงานอยู่ แม้แต่ในการตั้งสมมติฐาน ก็ยังมีความลำเอียงเกิดขึ้นในใจขณะหาคำตอบ โดยมักจะมีใจเอนเอียงว่าน่าจะเป็นอย่างนั้นอย่างนี้อยู่ นักวิทยาศาสตร์ และนักปรัชญายังเชื่อว่าการตั้งสมมติฐานทางวิทยาศาสตร์นั้นจะต้องมีความตรงภายใน ดังนั้นเขาจะต้องไม่สร้างข้อสรุปที่ขัดแย้งกัน ซึ่งบางครั้งเป็นไปไม่ได้ โดยเฉพาะความรู้ทางด้านธรณีวิทยาและดาราศาสตร์ ข้อสรุปได้จากการสังเกต จึงเป็นไปได้ง่ายที่จะสร้างข้อสรุปจากความเชื่อและการลำเอียง

                ส่วนการเห็นคุณค่า(Value) นั้น เชื่อมโยงไปยังญาณวิทยา หรือความรู้พื้นฐานของการพัฒนาสมมติฐาน แต่จะต่างจากในเชิงวิทยาศาสตร์ นักประวัติศาสตร์ นักสังคมศาสตร์ และผู้ที่ศึกษาทางสังคมวิทยา เชื่อว่าสิ่งที่มีผลต่อการสังเกตที่ลำเอียงนั้นเกิดจาก

                1. ความคิดเห็น ความเชื่อส่วนบุคคล (Human Value)

                2. ความแตกต่างของเผ่าพันธุ์หรือชาติพันธุ์ (Racist View)

                3. เพศที่แตกต่างกัน (Sexes)

                ดังนั้นสิ่งต่างๆที่อยู่รอบๆ ตัว มีผลต่อการเรียนรู้ทางวิทยาศาสตร์ เพื่อให้ผู้เรียนตระหนัก เห็นคุณค่า และมีเจคติที่ดีต่อวิทยาศาสตร์ ผู้เรียนควรเรียนเกี่ยวกับประวัติศาสตร์ ปรัชญา และสังคมวิทยา เพื่อให้บุคคลเห็นคุณค่าและต้องทำอย่างค่อยเป็นค่อยไปเพื่อการเปลี่ยนแปลงอย่างช้าๆ 

                2. เจตคติต่อวิทยาศาสตร์ (Attitudes Toward Science) เป็นเจคติที่บุคคลสะท้อนความรู้สึกว่าเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วยต่อวิทยาศาสตร์ จึงมีผู้สร้างเครื่องมือเพื่อวัดเจตคติต่อวิทยาศาสตร์หลากหลายรูปแบบ ทั้งเกี่ยวกับแรงจูงใจ (motivation) ความห่วงใยและวิตกกังวลเกี่ยวกับความรู้วิทยาศาสตร์ (science anxiety) เจตคติต่อครูวิทยาศาสตร์ และเจตคติต่อหลักสูตรวิทยาศาสตร์

                โดยคุณลักษณะของบุคคลที่แสดงออก ถึงการมีหรือไม่มีเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ มักมีดังต่อไปนี้

                1. ความรู้สึกเกี่ยวกับตัวเอง (Self-Concept) มีงานวิจัยด้านจิตวิทยาสังคมและการศึกษา เช่น Bloom(1976), Brookover, Thomas, and Paterson (1964) อธิบายว่านักเรียนส่วนใหญ่เห็นว่าสำคัญ และสิ่งสำคัญอย่างยิ่งที่มีผลต่อการเรียนวิทยาศาสตร์คือ การรู้สึกว่าตนทำได้หรือทำไม่ได้ ความรู้สึกว่าตน “ล้มเหลว” หรือ “ยอดเยี่ยม” เป็นเรื่องสำคัญมาก

                2. โชคชะตา (Fate Control) เชื่อว่าสิ่งต่างๆ ถูกกำหนดโดยโชคชะตา การกระทำต่างๆ ที่เกิดขึ้นเป็นเพราะโชคชะตากำหนด การที่จะทำอะไรจากพลังของประชาชน จึงไม่มีผล หรือไม่มีอิทธิพล ดังนั้นสิ่งนี้จึงมีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์

                3. ตำแหน่งที่ควบคุม (Locus of Control) สิ่งต่างๆ ถูกกำหนดและกระทำขึ้นโดยพฤติกรรมของบุคคล ดังนั้นความเชื่อของแต่ละบุคคลจึงมีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์

                4. พื้นฐานทางวัฒนธรรม (Cultural Background) มีงานวิจัยหลายครั้งที่อธิบายถึงพื้นฐานทางวัฒนธรรมส่งผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ Kluckhohn (1956) อธิบายว่าบุคคลมีพื้นฐานทางวัฒนธรรมที่แตกต่างกัน โดยแบ่งเป็นกลุ่มใหญ่ 3 กลุ่มคือ กลุ่มที่เชื่อว่าธรรมชาติอยู่เหนือบุคคล (Man Subjugated to Nature) ทุกอย่างขึ้นอยู่กับธรรมชาติเป็นตัวกำหนด ถ้าพระเจ้าให้ตาย เราก็ต้องตาย ซึ่งส่วนใหญ่เป็นชาวสเปนที่อพยพไปอยู่ที่อเมริกา  กลุ่มที่เชื่อว่าบุคคลต้องอยู่กับธรรมชาติ (Man in Nature) ผู้คนเป็นส่วนหนึ่งของธรรมชาติ และธรรมชาติอยู่ร่วมกับบุคคล ถ้าส่วนใดส่วนหนึ่งขาดหายไปจะเกิดความไม่สมดุล เช่นความเชื่อเรื่องหยินหยาง ลัทธิเต๋า ในประเทศจีน และกลุ่มที่เชื่อว่าบุคคลอยู่เหนือธรรมชาติ (Man over Nature) เชื่อว่าบุคคลสามารถกำหนดให้ธรรมชาติเกิดขึ้นได้ สามารถจัดการธรรมชาติให้เป็นไปตามที่ตนต้องการได้ จึงมีการพยายามศึกษา ค้นคว้า สร้างเทคโนโลยีมาจัดการกับธรรมชาติ ซึ่งเป็นคุณลักษณะของชาวอเมริกัน สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์

                5. ระบบความเชื่อ (Belief Systems) ระบบความเชื่อของแต่ละบุคคลที่แตกต่างกัน มีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์ อธิบายโดย Harvey, Prather, White and Hoffmeister (1968) and Harvey (1970) ดังนี้คือ กลุ่มที่มีความเชื่อมั่นในตัวเองอย่างแข็งแรง ทุกอย่างต้องเป็นไปตามกฎ ตามระเบียบ อย่างเคร่งครัด มองเห็นสิ่งต่างๆ ถูกแยกออกอย่างชัดเจนเป็นดำและขาว กลุ่มที่ต่อต้านสังคม มองสังคมเป็นสิ่งเลวร้าย ไม่ยุติธรรม ไม่มีความมั่นใจในตัวเอง หนีออกจากสังคม กลุ่มที่ต้องช่วยเหลืออย่างมาก ไม่สามารถทำอะไรได้ด้วยตนเอง  ต้องมีคนอื่นกำกับและควบคุมดูแลอย่างใกล้ชิด และกลุ่มที่เปิดใจยอมรับสิ่งต่างๆ ซึ่งเป็นกลุ่มที่คิดหาแนวทางแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นด้วยตนเอง มองเห็นว่าทุกสิ่งต้องพึ่งพา สร้างสรรค์ ยืดหยุ่น มีการแสดงออก มีกฎ มีระเบียบแต่ก็ยืดหยุ่นและปรับตัว ไม่มองสิ่งต่างๆ เป็นโครงสร้างที่ถาวร ตายตัว สิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์

                6. คุณค่าเชิงสังคม (Social Values)  ซึ่งแต่ละคนมีเป้าหมายปลายทาง (terminal values) และเป้าหมายนำทาง (instrumental values) ที่แตกต่างกัน ซึ่งสิ่งเหล่านี้มีผลต่อการเรียนรู้วิทยาศาสตร์และต่อเจตคติต่อวิทยาศาสตร์เช่นเดียวกัน 

Focusing Attitude Research in Science Education

                ในการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาเกี่ยวกับเจตคตินั้น ส่วนใหญ่ในปัจจุบันจะเชื่อมโยงสู่ประเด็นทางสังคม Gardner (1975), Simpson and Troost (1982) โดยในระยะแรกๆ ของการวิจัยทางวิทยาศาสตร์ศึกษาจะเป็นการวัดเจคติ การพัฒนาเจตคติ และทฤษฎีการสื่อสาร หลังจากนั้น จึงหันมาสนใจว่า อะไรคือสิ่งที่จะทำให้นักเรียนเรียนรู้วิทยาศาสตร์ได้ดีขึ้น มีปัจจัยใดบ้างที่ส่งผลต่อเจตคติ หรือจะใส่อะไรเข้าไปเพื่อพัฒนาเจตคติของนักเรียน และมีอะไรบ้างที่เชื่อมโยงระหว่างเจคติกับพฤติกรรมการเรียนในโรงเรียน

                การวัดเจตคติ (Traditional Measurement of Attitude) Gardner (1975) ใช้ Likert scale ใช้การวัดเชิงปริมาณแล้วหาค่าเฉลี่ย ใช้การวัดเชิงลึกเป็นการวัดเชิงคุณภาพ ‘clinical” or “anthropologist”

                แต่ก็มีงานวิจัยของ Gardner (1975)  ที่อธิบายว่าเจคติมีผลน้อยมากต่อผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และมีการเชื่อมโยงกันน้อยมากต่อความสามารถ และต่อพฤติกรรมที่แสดงออก หรือไม่มีความเกี่ยวข้องสัมพันธ์กันเลย เพราะบางครั้งถึงแม้จะมีเจตคติที่ดีต่อการเรียน แต่เรียนแล้วไม่สำเร็จจะทำให้เกิดความท้อแท้ ถดถอย แต่ถ้าผลสัมฤทธิ์ของวิชาที่เรียนดี หรือสามารถทำคะแนนได้ดีในวิชานั้น จะทำให้เจคติที่ดีเกิดขึ้นตามมา ดังนั้นในปัจจุบันจึงมองว่าพฤติกรรมมาก่อนเจตคติ หรือเมื่อทำอะไรสำเร็จแล้วค่อยรู้สึกดี………

 

 

หมายเลขบันทึก: 319576เขียนเมื่อ 11 ธันวาคม 2009 15:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:57 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ขอบคุณมากค่ะ ข้อมูลที่ดี มีประโยชน์มากค่ะ

ขอบพระคุณมากค่ะ ยินดีเรียนรู้ร่วมกันค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท