ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต (4)


ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต

 

ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา

 ผู้วิจัย : พรทิพย์  มั่งคั่ง

สาขาวิชาการบริหารการศึกษา  คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา

มิถุนายน  2547

 

ความสำคัญของปัญหา

                การพัฒนานิสิตนักศึกษาให้มีคุณภาพ  มีความเป็นคนที่สมบูรณ์ทั้งทางสติปัญญา  ทางกาย  จิตใจ อารมณ์และสังคม  ย่อมไม่อาจสำเร็จได้ด้วยการศึกษาในห้องเรียนตามหลักสูตรต่างๆ ที่สถาบันกำหนดให้เรียนแต่เพียงอย่างเดียวเท่านั้น แต่ยังมีองค์ประกอบอื่นๆ ที่มีส่วนสำคัญในการสร้างเสริมเติมเต็มให้กระบวนการจัดการศึกษาดังกล่าวประสบความสำเร็จตามที่มุ่งมาดปรารถนาได้ เช่น การจัดหลักสูตรการเรียนการสอน  การบริหารงานของสถาบัน การจัดสภาพแวดล้อมของสถาบัน และงานกิจการนิสิตนักศึกษา  โดยเฉพาะอย่างยิ่ง กิจกรรมนิสิตนักศึกษามีส่วนช่วยส่งเสริมให้นิสิต นักศึกษาเป็นบัณฑิตที่มีความสมบูรณ์มายิ่งขึ้น  สุวพร            ตั้งสมวรพงษ์ (2542, หน้า 76)

                กิจกรรมนิสิตนักศึกษามีความสำคัญต่อการพัฒนานิสิตนักศึกษา แต่ก็ยังมีผู้บริหาร อาจารย์ และนิสิตนักศึกษาจำนวนมากที่ไม่ได้ให้ความสำคัญในเรื่องการทำกิจกรรมนักศึกษา และหากกิจกรรมไม่เป็นไปตามความต้องการหรือไม่น่าสนใจโอกาสที่นิสิตนักศึกษาจะเข้าร่วมจึงมีความเป็นไปได้น้อยมาก เนื่องจากสิ่งเร้าภายนอกมหาวิทยาลัยยังมีผลต่อนิสิตเพราะมหาวิทยาลัยบูรพาตั้งอยู่ในแหล่งชุมชนที่เป็นเมืองท่องเที่ยว มีความเจริญทางด้านอุตสาหกรรม  ห้างสรรพสินค้า และแหล่งทัศนียภาพสวยงาม  ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งที่ดึงดูดความสนใจในการใช้เวลาว่างจากการเรียนสำหรับนิสิตมากกว่าที่จะเห็นความสำคัญของการเข้าร่วมกิจกรรมของมหาวิทยาลัย และถ้ากิจกรรมใดที่ไม่มีผลโดยตรงต่อตวนิสิตนักศึกษาก็จะไม่ได้รับความร่วมมือ

ความมุ่งหมายของการศึกษาค้นคว้า

                1. เพื่อศึกษาความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา

                2.  เพื่อเปรียบเทียบความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามเพศและระดับชั้นปี

ความสำคัญของการศึกษาค้นคว้า

                1.  ผลการศึกษาวิจัยครั้งนี้จะเป็นข้อมูลสำหรับผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องในการจัดกิจกรรมคณะศึกษาศาสตร์  เพื่อนำไปเป็นแนวทางพิจารณาแก้ไขปรับปรุงและพัฒนาการปฏิบัติงานให้ดียิ่งขึ้น

                2.  เพื่อเป็นแนวทางให้คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  ใช้ในการวางแผน ปรับปรุง แก้ไข และพัฒนาการจัดกิจกรรมให้บรรลุสอดคล้องกับความต้องการและความสนใจของนิสิต นำไปสู่การส่งเสริมให้นิสิตเข้าร่วมกิจกรรมมากขึ้นต่อไป

 คำถามในการวิจัย  

                1.  ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา อยู่ในระดับใด

                2.  ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา จำแนกตามเพศและระดับชั้นปีแตกต่างกันหรือไม่

สมมติฐานการศึกษาค้นคว้า

ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามเพศและระดับชั้นปีแตกต่างกัน

 วิธีดำเนินการศึกษาค้นคว้า

 ประชากรและกลุ่มตัวอย่าง

                1.  ประชากร   ประชากรที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  ภาคปกติ  โดยแบ่งเป็น นิสิตชั้นปีที่ 1  ชั้นปีที่  2  ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4  ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  ปีการศึกษา  2546  จำนวน  880  คน  แบ่งเป็นเพศชาย 207 คน เพศหญิง 673 คน 

                2.  กลุ่มตัวอย่าง  กลุ่มตัวอย่างที่ใช้ในการศึกษาครั้งนี้ ได้แก่ นิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา ภาคปกติ  โดยแบ่งออกเป็น นิสิตชั้นปีที่ 1  ชั้นปีที่  2  ชั้นปีที่ 3 และชั้นปีที่ 4  ที่กำลังศึกษาระดับปริญญาตรี คณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  ปีการศึกษา  2546  จำนวน  272  ใช้การสุ่มแบบแบ่งชั้น  (Stratified Random Sampling)  ตามตัวแปรเพศและระดับชั้นปีและกำหนดขนาดกลุ่มตัวอย่างตามตารางสำเร็จรูปของเครจซี่และมอร์แกน (Krejcie  &  Morgan,1970,p608) 

 เครื่องมือการวิจัย

                แบบสอบถาม

 

วิธีสร้างเครื่องมือ

 1. ศึกษาเอกสาร  รายงานการวิจัย วิทยานิพนธ์ และปรึกษาจากผู้เชี่ยวชาญ เพื่อให้แนวทางเกี่ยวกับความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิต

 2.  สร้างแบบสอบถามให้ครอบคลุมเนื้อหาเกี่ยวกับความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา  ภายใต้คำแนะนำของอาจารย์ที่ปรึกษา

3. นำแบบสอบถามที่สร้างขึ้นเสนอต่อประธานและกรรมการผู้ควบคุมงานนิพนธ์ตรวจแก้ไขเพื่อความถูกต้อง

4.  นำแบบสอบถามที่ผ่านการแก้ไขปรับปรุงแล้ว เสนอผู้ทรงคุณวุฒิพิจารณาตรวจสอบความเที่ยงตรงและความถูกต้องตามเนื้อหา  (  Content  Validity)   

5.  นำแบบสอบถามมาปรับปรุงแก้ไขตามข้อเสนอแนะของผู้ทรงคุณวุฒิ และนำเสนอต่อประธานและกรรมการควบคุมงานนิพนธ์  เพื่อพิจารณาปรับปรุงแก้ไขเป็นขั้นสุดท้ายก่อนนำไปทดลองใช้

6.  นำแบบสอบถาม ไปทดลองใช้  (Try Out)  กับประชากรที่ไม่ใช่กลุ่มตัวอย่าง จำนวน  30  คน แล้วนำมาหาอำนาจจำแนกรายข้อ  (Discrimination)  โดยใช้วิธีสหสัมพันธ์แบบเพียร์สัน (Peason’ Product-Moment Correlation Coefficient)  ระหว่างคะแนนรายข้อกับคะแนนรวม (Item  Total Correlation)    โดยใช้เกณฑ์การคัดเลือกข้อที่มีอำนาจจำแนกตั้งแต่  .20  ขึ้นไปได้ค่าอำนาจจำแนกของแบบสอบถามเป็นรายข้อระหว่าง  .31-.79

                7.  นำแบบสอบถามมาหาความเชื่อมั่น โดยวิธีหาค่าสัมประสิทธิ์แอลฟ่า  (Alpha  Coefficient)  ของคอนบาค  (Cronbach, 1990,pp.202-204)  โดยได้ค่าความเชื่อมั่นเท่ากับ .96  ซึ่งสามารถนำไปเก็บรวบรวมข้อมูลจากกลุ่มตัวอย่างได้

 

สถิติที่ใช้ในการวิเคราะห์ข้อมูล

                1.  วิเคราะห์จำนวนของกลุ่มตัวอย่างของผู้ตอบแบบสอบถาม  โดยการคำนวณค่าความถี่ร้อยละ

                2.  วิเคราะห์ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  โดยใช้คะแนนเฉลี่ย  และความเบี่ยงเบนมาตรฐาน (SD) 

                3.  เปรียบเทียบความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามเพศ  โดยการทดสอบค่าที  (t-Test)

                4.  เปรียบเทียบความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามระดับชั้นปี  โดยการวิเคราะห์ความแปรปรวนทางเดียว (One-way ANOVA) และทดสอบความแตกต่างรายคู่ด้วยวิธีการทดสอบความแตกต่างนัยสำคัญน้อยที่สุด  (Least-Significance Difference-LSD)  

สรุปผลการวิจัย

                ในการวิเคราะห์ข้อมูลเกี่ยวกับความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา    สรุปผลการวิจัยดังนี้

                1.  ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  โดยรวมและรายด้านอยู่ในระดับมากทุกข้อ  โดยเรียงลำดับจากมากไปหาน้อย คือ ด้านบำเพ็ญประโยชน์ ด้านวิชาการ  ด้านกีฬา และด้านศิลปวัฒนธรรม

                2.  ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามเพศ  โดยรวมและรายด้านแตกต่างกันอย่างไม่มีนัยสำคัญทางสถิติ

                3.  ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  จำแนกตามระดับชั้นปี  โดยรวมและด้านศิลปวัฒนธรรมและด้านวิชาการแตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติที่ระดับ .05  ส่วนด้านกีฬาและด้านบำเพ็ญประโยชน์ไม่แตกต่างกัน โดยพบว่า ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา โดยรวมจำแนกตามระดับชั้นปีเป็นรายคู่ พบว่านิสิตชั้นปีที่ 2  มีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมโดยรวมมากกว่านิสิตชั้นปีที่ 1  และชั้นปีที่ 3   ความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์มหาวิทยาลัยบูรพา  ด้านศิลปวัฒนธรรมจำแนกตามระดับชั้นปีเป็นรายคู่ พบว่า นิสิตชั้นปีที่ 2  มีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมด้านศิลปวัฒนธรรมมากกว่านิสิตชั้นปีที่ 1 และ 3  ส่วนชั้นปีอื่นๆ มีไม่แตกต่างกัน และความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมของนิสิตคณะศึกษาศาสตร์  มหาวิทยาลัยบูรพา  ด้านวิชาการ  จำแนกตามระดับชั้นปี  เป็นรายคู่ พบว่า นิสิตชั้นปีที่ 2 มีความต้องการเข้าร่วมกิจกรรมด้านวิชาการมากกว่านิสิตชั้นปีที่ 3  ส่วนชั้นปีอื่นๆ ไม่แตกต่างกัน

 

หมายเลขบันทึก: 319339เขียนเมื่อ 10 ธันวาคม 2009 13:21 น. ()แก้ไขเมื่อ 21 มิถุนายน 2012 11:10 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)

มาชื่นชมผลงานด้ายคน...เล่มที่เท่าไหร่แล้วครับ

เล่มที่ 4 เองค่ะ ตามไม่ทันเพื่อนๆ แล้วเนี่ย

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท