จับอารมณ์ความรู้สึกของคุณกิจที่เข้าร่วมประชุมเสวนา


การจัดที่นั่งสำหรับผู้เข้าร่วมประชุมเสวนาเหมาะหรือไม่เหมาะ ก็มีผลต่อบรรยากาศการเรียนรู้ของผู้เข้าร่วมนะครับ

เมื่อวานนี้ทีมทำงาน KM  ของ กศน.อำเภอเมืองนครศรีธรรมราช  ประกอบด้วยผม อาจารย์สำราญ เฟื่องฟ้า อาจารย์มนัสชนก จันทิภักดิ์ และอาจารย์เกษม ผลกล่ำ   ได้ไปร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำ KM ภาคราชการ ซึ่ง กศน.อำเภอ 2 อำเภอ ชวนให้ไปร่วมพูดคุยด้วย คือ ภาคเช้า ที่ กศน.อำเภอขนอม และภาคบ่ายที่ กศน.อำเภอลานสกา

กลุ่มเป้าหมายที่ กศน. 2 อำเภอ กำหนดให้เข้าร่วมพูดคุยด้วย คือแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คน และครูอาสาฯ ครูศูนย์การเรียนชุมชน ซึ่งเป็นครู กศน. เป็นหนึ่งในทีมงานคุณอำนวยตำบล ที่จะร่วมกันส่งเสริมกระบวนการเรียนรู้ ในโครงการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเมืองนคร รวมจำนวนผู้เข้าร่วมประชุม  ที่อำเภอขนอมประมาณ 30 และที่อำเภอลานสกาประมาณ 50 คน

เนื่องด้วยระยะทางที่จะต้องเดินทางไปพูดคุยแห่งละประมาณ 100 กิโลเมตร ทำให้ทีมของเราไปไม่ทันกำหนด ช้าไปแห่งละประมาณ 45 นาที จึงไม่ทราบว่าก่อนหน้าที่ทีมของเราจะนำเสนอ ผู้เข่าร่วมประชุมได้มีการพูดคุยแลกเปลี่ยนอะไรไปบ้างแล้ว

แต่สิ่งที่ผมได้พูดคุย ผมก็เล่าประสบการณ์ที่ผมจัดการความรู้เรื่องการส่งเสริมอาชีพชาวบ้านที่ กศน.อำเภอเมืองทำมาตั้งแต่ปี 2546  การเข้าไปร่วมเป็นทีมทำโครงการจัดการความรู้เพื่อพัฒนาองค์กรการเงินชุมชนแบบบูรณาการ ร่วมกับหน่วยงานเครือข่าย 9 องค์กร ทำในพื้นที่ 3 ตำบลของอำเภอเมือง โดยงบประมาณ 285,000 บาท จากผู้ว่าฯ CEO เมื่อปี 2548 แต่เกิดผลดีต่อการกระบวนการเรียนรู้ การพึ่งตนเองของชาวบ้านอย่างไร ตอนนั้นก็ทำจัดการความรู้ไปเพื่อตอบสนองภารกิจของหน่วยงานเท่านั้นเอง สำหรับการจัดการความรู้เรื่องการส่งเสริมอาชีพชาวบ้าน ตอนนั้นไม่เรียกว่าจัดการความรู้ด้วยซ้ำไป และไม่ได้ทำไปเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจน เหมือนดังโครงการจัดการจัดการความรู้เพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนเมืองนครที่กำลังจะทำกันอยู่นี้ แต่ถ้ามองว่าแก้จนก็ย่อมมองเช่นนั้นได้เลย เพราะถ้าชาวบ้านปรับปรุงอาชีพได้ดี แก้ก็ไขปัญหาความยากจนได้ระดับหนึ่งแน่นอน


ผมจึงเรียนที่ประชุมว่าการทำ KM  นี้ คือการทำงานในหน้าที่ปรกติของเราให้มันดีขึ้น ไม่ใช่ทำสิ่งพิเศษอะไรเลย ทุกคนที่ทำงานที่เรียกว่าคุณกิจก็ต้องทำงานไม่ว่าจะอยู่ในหน้าที่ใด ลงแรงเอาเอง ซึ่งก็ทำกันอยู่แล้ว ยิ่งแก้จนไม่อาจที่ใครจะแก้ให้ได้อย่างยั่งยืนถาวร อย่ามัวแต่รอรับการช่วยเหลือจากใคร เริ่มจากกิจกรรมเล็กๆที่เราสามารถทำได้ ตั้งเป้าหมายและลงมือทำสิ่งนั้น ผมสังเกตท่าทีผู้เข้าร่วมประชุมที่เป็นคุณกิจมีความสนใจกิจกรรมนี้มากขึ้น นึกได้แล้วว่าง่าย ทำได้เลย สังเกตจากคำถามความเห็นที่ร่วมแลกเปลี่ยน( มีอารมณ์ร่วมมากขึ้น) อยากจะพูดอีก และกล้าพูดในสิ่งที่ตนอยากทำมากขึ้น


แต่เนื่องจากว่าการจัดที่นั่งประชุมทั้งสองแห่งไม่เป็นวงพูดคุยเท่าที่ควร ทำให้บรรยากาศพูดคุยมันไม่ค่อยจะเป็นกันเอง เป็นบรรยากาศชั้นเรียนเกินไป   เรื่องการจัดสถานที่ผมว่ามีผลต่อท่าทีและความรู้สึกของผู้เข้าร่วมประชุมว่าจะแสดงออกหรือไม่แสดงออก แสดงมากหรือแสดงน้อยเหมือนกันนะครับ ผมว่าถ้าจัดที่นั่งเป็นวงกลม หรือทำที่นั่งเป็นรูปสี่เหลี่ยม ความรู้สึกเท่าเทียม เป็นชาวบ้านๆ จะเกิดขึ้น ทำให้รู้สึกผ่อนคลาย ส่งผลดีต่อการแลกเปลี่ยนเรียนรู้

ผมจึงคิดว่าถ้าหากจัดประชุมเสวนาในลักษณะนี้ขึ้นอีก ต้องให้ความสำคัญกับเรื่องนี้ครับ

 



ความเห็น

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท