supanee
ผศ.ดร. สุภาณี ต้อย เส็งศรี

คุณลักษณะของผู้สอนทางไกล


“ผู้สอนที่ประสบความสำเร็จในการสอนแบบ F2F(Face to Faceเผชิญหน้า)อาจไม่ใช่ผู้ที่ประสบความสำเร็จในการสอนทางไกล และ ผู้ที่ไม่ประสบความสำเร็จในการสอนแบบ F2F อาจเป็นผู้ประสบความสำเร็จในการสอนทางไกล”
           การนำเทคโนโลยีมาใช้ประโยชน์เพื่อการจัดการเรียนการสอนมีมานานหลายศตวรรษ  หากแต่ในยุคที่เทคโนโลยีเฟื่องฟูนี้   สถาบันการศึกษาพยายามจัดการเรียนการสอนทางไกลเพื่อสนับสนุนการเรียนรู้ให้ผู้เรียนสามารถเรียนที่ใดก็ได้ตามความต้องการ   ส่งผลให้หลายฝ่ายที่เกี่ยวข้องมักคาดเดาว่า   เทคโนโลยีจะมาแทนผู้สอนหรือมีความพยายามใช้เทคโนโลยีเพื่อมาแก้ปัญหาทางการศึกษาโดยนำมาใช้สอนแทนผู้สอน   ซึ่งจาการสำรวจความคิดเห็นของผู้สอนส่วนใหญ่ยอมรับในการเปลี่ยนแปลงของสังคมโลก  แต่ผู้สอนจะเกิดความวิตกกังวลมากว่าตนจะมีบทบาทอย่างไร  จะต้องปรับตัวอย่างไรในยุคสมัยที่เทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสารเจริญก้าวหน้ารุ่งเรืองมาก ดังเช่นปัจจุบัน และอนาคต
            อย่างไรก็ตามหากพิจารณาถึงองค์ประกอบของการเรียนการสอน   ไม่ว่าจะยุคใด มีการจัดการเรียนการสอนรูปแบบใดก็ตาม  ผู้สอนยังคงเป็นองค์ประกอบหลักที่สำคัญของความสำเร็จที่เกิดขึ้น   แต่ในยุคสารสนเทศที่มีการจัดการเรียนการสอนทางไกลผู้สอนยังคงมีความสำคัญยิ่ง  เพียงแต่ต้องปรับเปลี่ยนบทบาทให้เหมาะสมกับยุคสมัยเท่านั้น    ผู้สอนในปัจจุบัน และอนาคตจะต้องทำหน้าที่หลากหลาย แม้ว่าจะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เป็นเครื่องมือทางการศึกษา รูปแบบการเรียนการสอนจะเปลี่ยนแปลงอย่างไร  ผู้สอนยังมีบทบาทที่สำคัญในการดำเนินการเรียนการสอน  เพราะเทคโนโลยีไม่สามารถจัดการได้ด้วยตัวเทคโนโลยีเอง  และผู้สอนก็จะไม่ใช่ผู้บอก  หรือผู้สอนที่เป็นศูนย์รวมของความรู้อีกต่อไป  ในโลกแห่งความรู้ที่มากมายซึ่งไม่มีใครรอบรู้ทั้งหมดนี้เป็นบทบาทที่ท้าทายของผู้สอนอย่างยิ่ง   และ ผู้สอนจะต้องมีคุณลักษณะอย่างไรในการเรียนการสอนทางไกล

คุณลักษณะของผู้สอนทางไกล

ผู้สอนทางไกลจะต้องมีลักษณะพิเศษที่นอกเหนือจากการสอนแบบเดิม  ซึ่งสามารถพัฒนาได้   โดยผู้สอนต้องใช้เวลาและประสบการณ์เพื่อกำหนดเทคนิคและรูปแบบการทำงานที่ดีเพื่อตัวผู้สอนเอง  แต่ที่สำคัญที่สุดคือ เพื่อผู้เรียนทางไกล   ซึ่งจากการศึกษาความคิดเห็นของผู้สอนและผู้เรียนทางไกลของ Prof. Dr. Theodore Sizer (Harvard University) ระบุว่า
ผู้สอนทางไกลนอกจากจะมีคุณลักษณะพื้นฐานแล้ว จำเป็นต้องมีคุณลักษณะที่สำคัญ  คือ

          * มีความสามารถและความเต็มใจที่จะเรียนรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีใหม่ 


            ผู้สอนไม่จำเป็นต้องรู้เรื่องเทคโนโลยีอย่างละเอียด  แต่ต้องมีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการรับ-ส่งสารสนเทศด้วยเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร  นอกจากนั้นผู้สอนจะต้องมีส่วนร่วมในการวิเคราะห์-ออกแบบสื่อประสมต่าง ๆ และแนะนำเทคนิคการนำเสนอเนื้อหาผ่านเทคโนโลยีการเรียนการสอนทางไกลด้วย

             * มีสมรรถภาพส่วนตัวเรื่องการรับรู้อารมณ์และสนใจผู้อื่นอย่างจริงใจ

          ผู้สอนทางไกลต้องมีส่วนร่วมและมีปฏิสัมพันธ์กับผู้เรียนทางไกลซึ่งอยู่ห่างไกลผู้สอน และไม่เคยพบกับผู้สอนหรือเพื่อนร่วมชั้นแบบเผชิญหน้าเลย  การที่ผู้สอนทางไกลสามารถรับรู้อารมณ์ความรู้สึกของผู้เรียนทางไกลได้ดีจะช่วยให้ผู้เรียนทางไกลมีความสุข และสนุกกับประสบการณ์เรียนรู้ของตนเอง รวมทั้งการติดต่อกับผู้สอนซึ่งไม่เคยพบหน้า  ดังนั้นผู้สอนจะต้องสร้างบรรยากาศให้ทุกคนรู้สึกอยากมีส่วนร่วมในรายวิชา หรือเนื้อหาที่เรียนทางไกล  และต้องมั่นใจว่าทุกคนจะมีส่วนร่วมในกิจกรรมการเรียนการสอนด้วย  สิ่งสำคัญที่สุด คือ ผู้สอนจะต้องมีความสามารถรับรู้และเข้าใจความรู้สึกความต้องการของผู้เรียนทางไกลที่เป็นผู้ใหญ่ได้เป็นอย่างดี

            * มีความเต็มใจ สมัครใจที่จะใช้เทคนิคการสอนที่อาจแตกต่างจากที่เคยใช้ใน
              ห้องเรียน
(On-Campus)

            ความแตกต่างระหว่างเทคนิคการสอนในห้องเรียนหรือเผชิญหน้ากับการเรียนการสอนทางไกล  คือ การสอนในชั้นเรียนจะเน้นไปที่การสอนแบบบรรยาย (lecture-based course) เป็นหลัก ส่วนการเรียนการสอนทางไกลจะเป็นการสอนที่เน้น หรือ มุ่งไปที่ผู้เรียนเป็นสำคัญ (learner-center approach)  หากพิจารณาตามลักษณะของกิจกรรมการเรียนการสอนทางไกลแล้วพบว่ากิจกรรมที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญนี้เหมาะกับผู้เรียนทางไกลที่เรียนด้วยตนเองและนำไปสู่การเรียนรู้ที่มีประสิทธิภาพ เพราะเป็นรูปแบบที่ผู้เรียนสามารถควบคุม หรือกำกับตนเองได้   ดังนั้นผู้สอนทางไกลจำเป็นอย่างยิ่งที่จะปรับรูปแบบ หรือกิจกรรมการเรียนการสอนจากที่คุ้นเคยเป็นเทคนิคการสอนที่เน้นผู้เรียนเป็นสำคัญ

          * มีความสามารถทำงาน และปรับตัวได้ดี ทั้งกับทีมงาน และ ผู้เรียนทางไกล

            ผู้สอนทางไกลต้องมีทักษะการทำงานร่วมกับผู้อื่น โดยเฉพาะอย่างยิ่งกับทีมงานออกแบบบทเรียน และถ่ายทอดบทเรียนทางไกล   เพราะกิจกรรมการเรียนต่าง ๆ หรือลักษณะสื่อ และการถ่ายทอดจะแตกต่างจากที่เคยสอนในห้องเรียน   นอกจากนี้ผู้สอนจะต้องพยายามโน้มน้าว ชักจูงให้เกิดสภาพแวดล้อมการเรียนแบบร่วมมือระหว่างผู้เรียนทางไกล   เพราะตารางเวลาเรียนและการใช้เวลาทั้งของผู้เรียนและผู้สอนทางไกลมักจะไม่ตรงกันซึ่งต่างจากการเรียนแบบชั้นเรียน หรือ แบบเผชิญหน้า  ผู้เรียนแต่ละคนจะอยู่ต่างสถานที่ และ เรียนหรือทำกิจกรรมทางไกลโดยใช้เวลาที่ต่างกันตามความพร้อมของแต่ละบุคคล   ส่วนใหญ่ผู้เรียนจะทำกิจกรรมต่าง ๆ ในเวลาที่ไม่ตรงกัน  หรือ เหลื่อมเวลากัน (Overlap)  ผู้สอนจึงจำเป็นต้องสามารถปรับตัวได้ดี

          * มีความสามารถเตรียมแผนรายวิชา  ให้ยืดหยุ่นและปรับได้ตลอดเวลา
            เนื่องจากผู้เรียนที่ด้วยตนเองทางไกลต้องการทราบแผนรายวิชาอย่างชัดเจน  แต่บางครั้งเทคโนโลยีไม่สามารถจัดการได้ตามที่คาด  เทคโนโลยีอาจเปลี่ยนก่อนที่บทเรียนจะถูกนำเสนออีกครั้ง  สื่อการสอนอิเล็กทรอนิกส์มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว เช่น Web Site  รายวิชาที่จัดการเรียนการสอนทางไกลแล้วประสบความสำเร็จนั้นจะต้องถูกจัดการอย่างดีก่อนที่จะเริ่มสอน และผู้สอนจะต้องมีความสามารถจัดการได้เป็นอย่างดี  ถึงอย่างไรก็ตามความจำเป็นในการปรับเปลี่ยน หรือเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นต้องควบคุมได้  โปรดระลึกไว้ว่า  ผู้สอนที่ประสบความสำเร็จนั้นต้องสามารถจัดการเรียนรู้ ไม่ใช่เพียงแค่ดำเนินการหรือจัดการรายวิชาอย่างเป็นขั้นตอนเท่านั้น

          * มีความเต็มใจ สมัครใจ และจัดเวลาเพื่อพัฒนางานด้วยวิธีการและสื่อใหม่ ๆ
          ความพยายาม ต้องตรวจสอบแผนงานที่เริ่มขึ้น และพัฒนาเทคนิคการเรียนการสอนทางไกล และสื่อ โดยเฉพาะ การนำเสนอ การทำให้เป็นปัจจุบัน การประเมิน และการวางแผนเพื่อการเปลี่ยนแปลง  ทักษะการจัดการเป็นสิ่งจำเป็นอย่างยิ่ง 

          * ให้ความสนใจคำถามและตอบคำถามของผู้เรียน  และให้ข้อมูลย้อนกลับผู้เรียนอย่างสม่ำเสมอ

            การตอบคำถามและตระหนังในคำถามของผู้เรียนเป็นสิ่งสำคัญ   ความคิดเห็นของผู้เรียนเกี่ยวกับเนื้อหารายวิชา  ความสัมพันธ์  ความก้าวหน้า ปัญหาการถ่ายทอด และการตระหนักในการสอนเป็นสิ่งที่สำคัญ สำหรับความเป็นไปได้ในการปรับแผนรายวิชาเพื่อให้เกิดการเรียนรู้ทางไกล
โดยสรุป  ผู้สอนในยุคสารสนเทศ  จะต้องมีคุณสมบัติพิเศษ  คือ  มีความรู้เกี่ยวกับเทคโนโลยีและสื่อสาร   เชี่ยวชาญภาษาอังกฤษโดยเฉพาะเพื่อการสืบค้นข้อมูลทางวิชาการ  ต้องติดตามความก้าวหน้าในเทคนิควิธีการสอนต่าง ๆ  ตลอดเวลา  มีความชำนาญเรื่องสื่อ  ความเป็นนักจิตวิทยาชั้นดี  และเป็นคนทันสมัย  แต่ไม่ควรให้ความสำคัญแก่เทคโนโลยีสมัยใหม่จนลืมสาระที่ผู้เรียน  หรือผู้รับสารว่าจะต้องเรียนรู้   และจะต้องเป็นผู้คิด  ผู้จัดกิจกรรมการเรียนรู้   โดยจัดกิจกรรมการเรียนการสอนที่ยึดผู้เรียนเป็น

          แม้ว่า  ผู้สอนทางไกลจะไม่เผชิญหน้าผู้เรียน  แต่ผู้สอนจำเป็นต้องมีคุณธรรมจริยธรรม  เช่น  ความเมตตากรุณา  เสียสละ  ขยัน  อดทน  เป็นแบบอย่างในการถ่ายทอดคุณธรรมและวัฒนธรรม  ปลูกฝังศีลธรรมจริยธรรมค่านิยมให้ผู้เรียน  และมีความรับผิดชอบต่อสังคมตลอดเวลา
ซึ่งผู้สอนจะทำได้ดีกว่าเทคโนโลยีแน่นอน
            จะเห็นได้ว่าบทบาทและหน้าที่ของผู้สอนต้องปรับเปลี่ยนไป ครูที่แท้จริง คือ  กัลยาณมิตรของลูกศิษย์  เป็นผู้ช่วยเหลือเกื้อกูลให้ศิษย์เกิดการเรียนรู้ด้วยความรัก  ความเอาใจใส่  และความปรารถนาดีต่อศิษย์  เสมือนหนึ่งลูกของตนเอง  และเป็นที่พึ่งของศิษย์ที่เทคโนโลยีใด ๆ  มิอาจทดแทนได้  

          ในการเรียนการสอนทางไกล แม้จะมีการนำเทคโนโลยีมาใช้เพื่อกระจายโอกาสทางการศึกษา  หรือแก้ปัญหาการศึกษา  ผู้สอนยังคงมีบทบาทที่สำคัญยิ่ง เพราะการดำเนินการยังต้องใช้ ความรู้ความสามารถของผู้สอน  ในการออกแบบการเรียนการสอน   แต่สิ่งที่ต้องพัฒนาเพื่อให้ผู้สอนทางไกลรู้สึกมั่นใจคือ การอบรมเข้มเกี่ยวกับการบริหารจัดการ และกระบวนการเรียนการสอนโดยใช้สื่อการเรียนการสอนทางไกลอย่างต่อเนื่อง และให้ทั่วถึงยิ่งขึ้น (บุญส่ง  คูวรากุล,  2541)  การเรียนการสอนทางไกลจะประสบผลสำเร็จไม่ได้หากผู้สอนไม่เปลี่ยนบทบาท   ผู้สอนจำนวนมากยังเคยชินกับบทบาทเดิม  คือ  การเป็นผู้บอก  อธิบายเนื้อหาความรู้ให้กับผู้เรียน ผู้สอนจำเป็นต้องเริ่มปรับพฤติกรรมก่อน  (ทัศนา  แขมมณี,  2542)  ที่ผ่านมาผู้สอนเปลี่ยนพฤติกรรมการจัดการเรียนการเรียนการสอนทางไกล  และไม่สะดวกใจที่จะใช้สื่อสารทางไกล (กษมา  วรวรรณ  ณ อยุธยา,  2540)

          ผู้สอนทางไกลต้องเป็นคนที่เก่งที่สุด  คำว่าเก่งหมายถึง  คนที่นำเสนอได้ดีที่สุด  (รุ่ง แก้วแดง, 2539)  ผู้สอนทางไกลต้องเตรียมการสอนมากเป็นพิเศษต้อง ผลิตสื่อ  จัดหาวัสดุอุปกรณ์ใช้ประกอบการสอน (ณรงค์ฤทธิ์  ศักดารณรงค์, 2539)  บทบาทของผู้สอนจะอยู่ระหว่างผู้พัฒนารายวิชาที่ออกแบบและเตรียมสื่อการเรียน  และเป็นผู้สอนเพิ่มเติม (Tutors) ที่ช่วยเหลือผู้เรียนทางไกล  ผู้สอนกระทำตนเหมือนสื่อกลางระหว่างสถาบันและผู้เรียน   และปกติผู้สอนจะประเมินงานของผู้เรียน (Kaye and Rumble, 1991)  ผู้สอนจะต้องมีความคล่องตัวสูง  ผู้บริหารและผู้เกี่ยวข้องทุกฝ่ายควรสนับสนุนและส่งเสริม  การทำงานของผู้สอนให้เกิดความคล่องตัว  (ณรงค์ฤทธิ์   ศักดารณรงค์,  2539)  ดังนั้นทุกฝ่ายต้องปรับพฤติกรรมด้วยเช่นกัน  แต่ผู้สอนจำเป็นต้องเริ่มก่อนเพราะผู้สอนเป็นผู้ดำเนินการ  และรับผิดชอบจัดการเรียนการสอน

อ้างอิง
สุภาณี  เส็งศรี. การพัฒนารูปแบบการจัดการเรียนการสอนทางไกลในสถาบันอุดมศึกษาไทย.   
             วิทยานิพนธ์ดุษฎีบัณฑิต สาขาเทคโนโลยีและสื่อสารการศึกษา จุฬาลงกรณ์-
             มหาวิทยาลัย. 2543.
Sizer,  Theodore. “Effective Teaching Techniques for Distance Learning”
              
http://www.rit.edu/~609www/ch/faculty/effective2.htm
               [Search :
Sep,5 2005]

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31889เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 23:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 พฤษภาคม 2012 16:30 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ฝากอาจารย์เข้าไปที่

http://gotoknow.org/blog/averageline/36542

ไม่รู้ว่าเข้าใจอะไรผิดหรือเปล่าคะ ฝากดูแลรุ่นน้องหนูด้วยคะ ขอบคุณคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท