ชีวิตที่พอเพียง : ๘๙๕a. ผู้ประกอบการทางสังคม (๓) หลากหลายแนวทางและลีลา


“ผู้ประกอบการสังคม” มีผลงานสำคัญไม่ใช่แค่ที่กิจการประสบผลสำเร็จและยั่งยืน แต่ยังมีผลต่อสังคมที่สำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือวิธีคิดของสังคม ในเรื่องนั้นๆ ดังนั้น คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทักษะด้านการสื่อสารสังคม (social communication) และการสื่อสารสังคมที่จะได้ผลชัดเจนลึกซึ้งที่สุดคือ การสื่อสารด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม คือสื่อด้วยผลงาน ด้วยกระบวนการปฏิบัติงาน และด้วยคำอธิบายหลักการเหตุผล

 

ตอนที่ ๑ 

ตอนที่ ๒

 

          ผมอ่านหนังสือ ผู้ประกอบการสังคม : พลังความคิดใหม่เพื่อการเปลี่ยนแปลงโลก แบบวางไม่ลง   และเมื่อปรารภกับลูกสาว เขาก็บอกว่าเขามีเล่มภาษาอังกฤษ ชื่อ How to Change the World : Social Entrepreneurs and The Power of New Ideas เขียนโดย David Bornstein   และเอามาให้ยืมอ่าน   ผมพบว่าการอ่านหนังสือฉบับแปลกับฉบับภาษาอังกฤษให้อรรถรสต่างกัน  

          กลับไปอ่านบันทึกเรื่องผู้ประกอบการทางสังคม ตอนที่ ๒   ที่เสนอเรื่อง social venture capital ไว้   ผมคิดว่าเรื่องนี้ก็คล้ายธนาคาร SME นั่นเอง    คือเป็นกลไกกู้ยืมทางการเงินสำหรับงานสร้างสรรค์เพื่อสังคม   หวังให้กิจการพัฒนาเลี้ยงตัวได้ แต่ไม่เน้นกำไร  

          “ผู้ประกอบการ” มีคุณสมบัติพิเศษคือมองเห็นโอกาส คู่กับมองเห็น value ของโอกาสนั้น    ผู้ประกอบการธุรกิจแปล value เป็น “มูลค่า” เพื่อเป้าหมายกำไรของตน   ส่วนผู้ประกอบการทางสังคมแปล value เป็น “คุณค่า” เพื่อประโยชน์ของสังคม  

          มองอีกมุมหนึ่ง ผู้ประกอบการธุรกิจ มีตัณหา ตัวโลภะ (greed) เป็นพลังขับเคลื่อน    ส่วนผู้ประกอบการสังคม มีฉันทะ เป็นพลังขับเคลื่อน

          ผู้ประกอบการ ๒ แบบนี้แยกกันยาก เพราะผู้ประกอบการธุรกิจที่มีจิตสาธารณะก็มีมาก    และผู้ที่อ้างตัวเป็นผู้ประกอบการสังคมปลอม ก็มีได้

          สิ่งที่ช่วยแยกผู้ประกอบการ ๒ กลุ่มนี้ได้ชัดเจนที่สุดคือ กาละ ครับ   เมื่อเวลาผ่านไป ธาตุแท้ของคนจะเผยตัว   ในทางศาสนาและความเชื่อดั้งเดิม “กาละ” กลืนกินทุกสิ่ง    แต่มองมุมกลับ กาละ เป็นผู้สร้าง “คนจริง”   กาละเป็นผู้สร้างหรือผู้ยืนยันธาตุแท้ของคน  

          เมื่อเริ่มต้นดำเนินการ ผู้ประกอบการสังคมอาจไม่มีความคิดใหม่หรือแหวกแนวมากนัก   แต่ด้วยความมุ่งมั่น ทำแบบกัดติด กัดไม่ปล่อย ฟันฝ่า และไตร่ตรอง ทดลอง ปรับปรุง ก็จะพบแนวทางที่ถือได้ว่าเป็นนวัตกรรมสังคม

          การมี “เพื่อนร่วมทาง” หรือกัลยาณมิตร ก็มีความสำคัญ   เพราะการเดินทางบนถนน “ผู้ประกอบการ” ที่แหวกแนวนั้น มันว้าเหว่ ไม่มั่นใจ   และ “หมดแบต” ได้ง่าย    ต้องเป็นคนใจแข็งจริงๆ จึงจะไปได้ตลอดรอดฝั่ง 

          ผู้ประกอบการ เป็นผู้ที่ใช้พลังของการจัดการ เพื่อบรรลุผล   คล้ายๆ เป็นผู้ระดมสรรพกำลัง หรือทรัพยากร จากแหล่งต่างๆ มาดำเนินการสู่ผลที่เป็นเป้าหมาย   ลักษณะของผู้ประกอบการคือทำงานในลักษณะที่เกินกำลังของตนคนเดียว   ยิ่งเกินกำลังมากเพียงใด ความเป็น “ผู้ประกอบการ” ก็ยิ่งเด่นชัด

          “ผู้ประกอบการสังคม” มีผลงานสำคัญไม่ใช่แค่ที่กิจการประสบผลสำเร็จและยั่งยืน    แต่ยังมีผลต่อสังคมที่สำคัญที่สุดคือ เปลี่ยนกระบวนทัศน์ หรือวิธีคิดของสังคม ในเรื่องนั้นๆ    ดังนั้น คุณสมบัติสำคัญอย่างหนึ่งคือ ทักษะด้านการสื่อสารสังคม (social communication)   และการสื่อสารสังคมที่จะได้ผลชัดเจนลึกซึ้งที่สุดคือ การสื่อสารด้วยสิ่งที่เป็นรูปธรรม   คือสื่อด้วยผลงาน  ด้วยกระบวนการปฏิบัติงาน และด้วยคำอธิบายหลักการเหตุผล

           มองอีกมุมหนึ่ง คุณค่าสำคัญที่สุดของ “ผู้ประกอบการสังคม” คือการสร้างแรงบันดาลใจ (inspire) คนรุ่นใหม่    ให้กล้าที่จะอุทิศชีวิตให้แก่งานเพื่อสังคม   ยืนยันให้ผู้คนเห็นว่า งานเพื่อสังคมเลี้ยงตัวได้    และชีวิตของการทำงานเพื่อสังคมเป็นชีวิตที่ดี    

          แล้วผมก็ได้หนังสือ พลังของคนหัวรั้น แปลโดย สฤณี อาชวานันทกุล  จากหนังสือภาษาอังกฤษชื่อ The Power of Unreasonable People มาเปรียบเทียบวิธีคิดเรื่องผู้ประกอบการทางสังคม   ซึ่งในหนังสือเล่มนี้ใช้คำว่า “ผู้ประกอบการเพื่อสังคมและสิ่งแวดล้อม”   และหนังสือเล่มนี้เน้นคุณสมบัติความเป็นคนคิดต่างจากกระแสหลัก เพราะคนเหล่านี้มี “อุดมคติ” ของตน   ไม่เชื่อในข้อจำกัดที่คนทั่วไปยึดถือ  และมุ่งมั่นพิสูจน์ให้เห็นว่าความเชื่อหรือวิธีการของตนให้ผลที่ฝรั่งเรียกว่า make a difference

 

          และแล้ววันที่ ๓ ธ.ค. ๕๒ ผมก็ได้เห็นของจริงในสังคมไทย ที่มีการนำเอาธุรกิจ และวิธีการทางการตลาดมาใช้สร้างสรรค์สังคมไทยโดยคุณดนัย จันทร์เจ้าฉาย   ในโครงการสังคมสีขาว    ที่มีเขียนไว้ในหนังสือ White Ocean Strategy : กลยุทธน่านน้ำสีขาว   โดยผมมองว่าคุณดนัยเป็นทั้งนักธุรกิจและผู้ประกอบการเพื่อสังคม    ใช้พลังด้านการประชาสัมพันธ์ การตลาด และการปฏิบัติธรรมของตน ในการขับเคลื่อน “ธุรกิจสีขาว” และ “สังคมสีขาว”   

 

 

วิจารณ์ พานิช

๓ ธ.ค. ๕๒

 

        

        

        

หมายเลขบันทึก: 318033เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 09:52 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 11:07 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

อ่านแล้วมีความหวัง...

และเฝ้ารอดูปรากฏการณ์ทางสังคมต่อไป...

ขอบพระคุณอาจารย์มาก ๆ ค่ะ ที่นำเรื่องผู้ประกอบการสังคมมาเขียนเป็นบันทึกสั้น ๆ ให้อ่านเข้าใจง่าย..^__^..

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท