เรียนวิศวฯ อย่างไรจึงจะประสบความสำเร็จ แนวคิดของ Prof. ที่ MIT


พอดีไปอ่านเจอว่าอาจารย์ฝรั่งเขาคิดอย่างไรเรื่องข้อแนะนำ 10 ประการเพื่อความสำเร็จในการเรียนวิศวกรรมศาสตร์ ก็เลยเอามาฝากไว้ในที่นี้ ส่วนเรื่องที่ว่าแนวคิดของเขาจะใช้ได้ หรือไม่ได้กับเราอย่างไรนั้น เป็นเรื่องที่ต้องพิจารณากันเองตามบริบทการศึกษาของแต่ละที่ คงไม่ใช่ว่าแนวคิดของเขาจะถูกต้องทุกอย่าง หรือผิดหมด

อาจารย์ผู้ที่ให้ข้อแนะนำในที่นี้ชื่อ Edward Crawley เป็นอาจารย์คณะวิศวกรรมศาสตร์ และเป็น director ของ Bernard M. Gordon Engineering Leadership Program ที่ MIT  สามารถอ่านคำบรรยายภาษาอังกฤษได้ที่ link ที่ให้ไว้ข้างต้น  ส่วนข้างล่างนี้ดิฉันเอามาแปลและใส่ความเห็นของตัวเองเพิ่มเติมลงไป

ข้อ 1. หาคนที่สร้างแรงบันดาลใจ แล้วดูว่าอะไรคือแรงบันดาลใจของคนๆ นั้น

การมีแรงบันดาลใจเป็นสิ่งสำคัญ ถ้าเราไม่มีแรงบันดาลใจเป็นของตนเอง ก็ให้ดูตัวอย่างจากคนที่จะเป็นต้นแบบให้เราได้   ที่สำคัญจะเรียนสำเร็จหรือทำงานได้ประสบความสำเร็จต้องมีอิทธิบาท ๔

ข้อ 2. ทำ Portfolio ประสบการณ์ทำงานของตัวเอง (เท่าที่มีโอกาสและเวลาอำนวย)

ข้อนี้นักศึกษาไทยยังขาดอยู่มาก เพราะเราไม่ได้สอนนักเรียนให้เป็นนักเขียน นักเล่าประสบการณ์ตนเองมากนัก  บางครั้งแค่ถามว่านักศึกษาให้อธิบายว่าตัวเองเป็นใคร ชอบอะไร ยังตอบไม่ค่อยได้ดี (ให้ถามผู้ใหญ่บางคนก็ยังตอบไม่ค่อยได้เลย)   การเขียนบันทึกประจำวัน (Journal) เป็นเรื่องที่คนไทยไม่ค่อยทำ  ทำให้ระบบการเก็บข้อมูล การเรียนรู้ประวัติศาสตร์ (แม้กระทั่งประวัติของตัวเอง) ขาดหายไป

ข้อ 3. เรียนรู้และเห็นความสำคัญของการ networking (การรู้จักผู้คน การมี connection)

การทำงานวิศวกรรมศาสตร์หรืองานใดๆ ก็ตาม จะต้องทำร่วมกับผู้อื่นเสมอ  ยิ่งถ้างานยากๆ หรือซับซ้อน ยิ่งทำคนเดียวไม่ได้  การมีเพื่อนในสาขาต่างๆ การมีมนุษยสัมพันธ์เป็นสิ่งที่จำเป็นในการทำงานให้ประสบความสำเร็จ

ข้อ 4. ทำงานเป็นคณะทำงานร่วมกับคนอื่นๆ ให้มากที่สุด

การทำงานเป็นหมู่คณะหรือทำงานเป็น team รู้จักมี teamwork เป็นสิ่งสำคัญ  ถ้าเปรียบโครงการวิศวกรรมเป็นร่างกายคน ทีมงานก็เหมือนอวัยวะต่างๆ ถ้าอวัยวะทำงานไม่สอดคล้องกัน โอกาสที่ร่างกายจะเดินแล้วหกล้มหรือเดินไม่ได้เลยจะมีสูงมาก

ข้อ 5. รู้จักทำงานโดยเป็นผู้นำ(อย่างไม่เป็นทางการ) รู้จัก/เรียนรู้บทบาทผู้นำ โดยที่ไม่จำเป็นต้องได้รับการแต่งตั้งเป็นผู้นำในโครงการหรือคณะทำงานนั้นจริงๆ

ข้อนี้อาจารย์ Crawley บอกว่าเราสามารถเป็นผู้นำ(อย่างไม่เป็นทางการ)ได้เสมอ ไม่ว่าเราจะได้รับการมอบหมายหรือไม่  เพราะถ้าเราชักจูงผู้อื่นเป็น ให้ความเห็นที่ดีๆ แล้วมีผู้ดำเนินการตาม ก็เหมือนเราได้ฝึกเป็นผู้นำนั่นเอง

ข้อ 6. หาจุดอ่อนของตัวเองแล้วแก้ไขเสีย

เรื่องนี้เป็นเรื่องสำคัญ ถ้าไม่รู้จักตัวเอง หรือคิดว่าตัวเองเก่ง และไม่รู้จักจุดอ่อนของตัวเองนั้นจะเป็นข้อด้อยในการทำงานในอนาคตแน่นอน  ปรัชญาจีนกล่าวว่า "รู้เขา รู้เรา รบร้อยครั้ง ชนะร้อยครั้ง"  ถ้ารู้เขาก็ไม่รู้ รู้เราก็ไม่รู้.. ก็แพ้่ตั้งแต่ยังไม่ได้เดินแล้ว

ข้อ 7. เรียนวิชาเกี่ยวกับบริหารธุรกิจ

ถึงจะเป็นนักศึกษาเรียนวิศวกรรมศาสตร์ แต่งานวิศวกรรมก็ต้องใช้เงิน ต้องมีการขาย การตลาด การจัดซื้อ การทำบัญชี logistics ฯลฯ เพราะฉะนั้นต้องรู้จักรู้วิชาอื่นๆ นอกจากเทคโนโลยีทางด้านวิศวกรรมเพียงอย่างเดียว

ข้อ 8. เรียนวิชาออกแบบและวิชามนุษยศาสตร์/สังคมศาสตร์

เช่นเดียวกันกับข้อที่ผ่านมา เรื่องสังคม มนุษยวิทยา ประวัติศาสตร์ก็เป็นความรู้ที่นักศึกษาจำเป็นต้องมีในการประกอบวิชาชีพในอนาคต  คนที่เก่งทางเทคนิคมากๆ แต่ไม่มีมนุษยสัมพันธ์เลย จะสื่อสารความเก่งไปยังคนอื่นๆ ไม่ได้ จะไปเป็นหัวหน้างานใครในอนาคตก็คงไม่ค่อยมีผู้ยอมรับ  เรื่องนี้เหมือนความสมดุลระหว่างหยินกับหยาง  จะแรงไปทางเทคโนโลยีอย่างเดียวก็ไม่ได้ จะออกไปทางสังคมเพียงอย่างเดียวโดยไม่มีความรู้ทางเทคโนโลยีก็ไม่ได้เช่นกัน

ข้อ 9. ใช้เวลาช่วงปิดภาคฤดูร้อนให้เป็นประโยชน์

อันนี้ขอเสริมว่านอกจากจะเริ่มใช้เวลาภาคฤดูร้อนหาประสบการณ์เพิ่มเติมแล้ว ควรใช้เวลาที่มีอยู่ตอนเรียนนี้ให้เป็นประโยชน์ด้วย โดยการศึกษาเล่าเรียนอย่างมีเป้าหมาย และเข้าเรียน ทำการบ้าน อ่านหนังสือเพิ่มเติมด้วยตนเอง  การเรียนรู้ด้วยตนเองนั้นทำได้ตลอดเวลาและตลอดชีวิต

ข้อ 10. หา Board of directors ส่วนตัว มาเป็นผู้ช่วยในการตัดสินใจหรือสนับสนุนการทำงาน ในที่นี้เหมือนเราเป็นผู้จัดการบริษัท ต้องมีคณะกรรมการบริหารบริษัทมาช่วยสนับสนุนหรือช่วยตัดสินใจเรื่องสำคัญๆ ในชีวิต คนกลุ่มนี้อาจเป็นผู้ปกครอง ครู อาจารย์ รุ่นพี่ เพื่อน ฯลฯ

แนวคิดข้อแนะนำนี้เป็นข้อแนะนำที่ดี  สำหรับนักศึกษาไทย มักจะมีระบบ board of directors ส่วนตัวอยู่บ้างแล้ว เช่น พ่อแม่ ผู้ปกครอง  แต่ที่สำคัญคือ อย่าเอาเพื่อนมาเป็น board of directors มากนัก ควรหาคนที่สามารถแนะนำเราได้ เป็นคนที่มีประสบการณ์  และนำข้อคิดเห็น/แนะนำสนับสนุนของเขามาคิดวิเคราะห์ ดูข้อดีข้อเสีย และปฏิบัติจะดีกว่า

บันทึกนี้เขียนขึ้นอย่างรวดเร็ว ไม่ได้สืบค้นมากนัก เอาแนวทางของอาจารย์  Crawley เป็น Guidelines และใส่ความเห็นความคิดของตัวเองเสริมลงไป คงจะไม่ได้ถูกต้องทุกประการหรือผิดทุกประการ  ถ้ามีใครจะเสริมอะไรก็เชิญได้เลยค่ะ

หมายเลขบันทึก: 318032เขียนเมื่อ 4 ธันวาคม 2009 09:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 19:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เย้ !!! อาจารย์กมลวัลย์ the FarmVille ... สบายกาย สบายใจ นะครับ ;)_

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท