อักษรไทน้อย หรือ อักษรลาวเก่า เป็นอักษรที่เคยใช้ในชุมชนลุ่มน้ำโขงตอนกลาง ในสมัยอาณาจักรล้านช้างทั้งในดินแดนประเทศสาธารณรัฐประชาธิปไตยประชาชนลาวและภาคอีสานของประเทศไทยในปัจจุบัน มีหลักฐานปรากฎในศิลาจารึกที่วัดแดนเมือง จ. หนองคาย ระบุปีที่จารึก พ.ศ. 2073 ซึ่งตรงกับรัชสมัยพระยาโพธิสาลราชเจ้ากษัตริย์แห่งอาณาจักรล้านช้าง ซึ่งตรงกับสมัยสมเด็จพระไชยเชษฐาธิราชแห่งอาณาจักรอยุธยา นับเป็นเวลากว่า 400 ปี ที่อักษรไทน้อยได้บันทึกเรื่องราวเกี่ยวกับวิถีวัฒนธรรมของคนลุ่มน้ำโขงมาโดยตลอด
อักษรไทน้อยเป็นสื่อบันทึกเรื่องราวสำคัญของคนลุ่มน้ำโขง เป็นภาษาเขียนที่ถือได้ว่าเป็นภาษาราชการในการสื่อสารของคนแถบนี้ แม้การจารึกอักษรไทน้อยในอดีตต้องใช้ความพยายามสูงที่ต้องจารึกในแผ่นหิน โลหะ หรือใบลาน โดยมีความเชื่อว่าเสียงของคมเหล็กจาร ที่กรีดตัดเส้นใยของใบลานจะดังสนั่นขึ้นไปถึงทวยเทพบนสวรรค์ชั้นอกนิษฐพรหม ซึ่งเป็นพรหมโลกชั้นสูงสุด ด้วยเหตุนี้คนลุ่มน้ำโขงจึงทุ่มเทต่อการสร้างคัมภีร์ใบลาน และใช้คัมภีร์ใบลานเป็นแหล่งเรียนรู้เรื่องราวต่าง ๆ สืบต่อกันเรื่อยมา
อักษรไทน้อยเคยรุ่งเรืองในดินแดนลุ่มน้ำโขงและภาคอีสานของไทยในอดีต แต่ในที่สุดได้ลดความสำคัญลงเป็นลำดับ ด้วยเหตุที่ในยุคล่าอาณานิคมตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 5 เป็นต้นมา ดังปรากฎในปี พ.ศ.2442 หลังจากสยามเสียดินแดนฝั่งซ้ายแม่น้ำโขงให้ฝรั่งเศส 6 ปีเพื่อเหตุผลทางการเมือง รัชกาลที่ 5 โปรดเกล้าฯ ให้เปลี่ยนชื่อดินแดนที่เป็นมณฑลชั้นนอกที่ยังคงอยู่ในปกครองของสยามจาก มณฑลลาวพวน เปลี่ยนเป็น มณฑลฝ่ายเหนือ มณฑลลาวกาว เปลี่ยนเป็นมณฑลตะวันออกเฉียงเหนือ เพื่อไม่ให้ดินแดนที่เคยเรียกว่า "ลาว" เกิดความแตกต่างจากสยาม แรงผลักดันดังกล่าวส่งผลต่อการน้อมรับภาษาและวัฒนธรรมจากส่วนกลางของสยามอย่างไม่มีเงื่อนไข ต่อมาในสมัยรัชกาลที่ 6 เมื่อได้มีการประกาศใช้พระราชบัญญัติประถมศึกษา พ.ศ. 2464 จึงทำให้การจัดการศึกษาอยู่ที่โรงเรียนแทนวัด และมีการเรียนหนังสือไทยอย่างแพร่หลาย ในที่สุดอิทธิพลของอักษรไทยจึงเข้ามาแทนที่ ทำให้อักษรไทน้อย หรือที่นิยมเรียกกันว่าอักษรลาวเก่า จึงค่อย ๆ เลือนหายและลดความสำคัญลงในที่สุด
บันทึกนี้เขียนที่ GotoKnow โดย นาง นายิกา เดิดขุนทด ใน ห้องสมุดน่ารู้คู่ชุมชน
ขอบคุณค่ะที่เชิญเข้าร่วมวงด้วย ด้วยความยินดีเจ้า :)
Grandma