ความสำคัญของ “ปลายน้ำ”


แม้จะเป็นผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 แต่ผลกระทบสูงมากครับ เนื่องจากมีกระบวนการของการบริหารโครงการที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรง “ปลายน้ำ”
         บ่ายวันพุธที่ 24 ส.ค. 48 ผมมีโอกาสดีที่ได้ไปเป็นประธานเปิด “โครงการสรุปผลการดำเนินการศึกษารูปแบบการแก้ไขปัญหาพัฒนาการเด็กอายุต่ำกว่า 5 ปี ในศูนย์พัฒนาเด็กเล็กในชุมชนตำบลท่าโพธิ์ (ซึ่งเป็นชุมชนรอบมหาวิทยาลัยนเรศวร) อ.เมือง จ.พิษณุโลก” ที่คณะแพทยศาสตร์ ม.นเรศวร ผมกำลังสนใจเรื่องพัฒนาการของเด็กอยู่พอดี เนื่องจากไปออก Mobile Unit มา แล้วเจอปัญหาเรื่องเด็กตัวเล็กกว่าเพื่อน ๆ มาหลายคน จึงได้อยู่ฟังโดยตลอดจนคณะผู้จัดเขาเชิญให้กล่าวปิดโครงการและถ่ายรูปร่วมกัน 

         อีกเรื่องหนึ่งที่ผมถือว่าเป็นโอกาสดีมาก ๆ คือผมได้ไปเรียนรู้เรื่องการบริหารงานวิจัยตรง “ปลายน้ำ” จากการปฏิบัติงานจริง กำกับการแสดงโดยนักวิจัยมืออาชีพชั้นยอด คือ ศ.นพ.ศุภสิทธิ์ พรรณารุโณทัย นำเสนอการดำเนินโครงการโดย ดร.อรพิน กฤษณเกรียงไกร และนำเสนอสรุปผลการดำเนินโครงการโดยตัวแทนนิสิตคณะแพทยศาสตร์ชั้นปีที่ 3 ตามด้วยการอภิปราย เพื่อการนำผลการดำเนินโครงการไปใช้ในเชิงนโยบาย และมอบอุปกรณ์การเรียนให้กับศูนย์พัฒนาเด็กเล็ก 

         แม้จะเป็นผลงานวิจัยที่เป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของนิสิตแพทย์ชั้นปีที่ 3 แต่ผลกระทบสูงมากครับ เนื่องจากมีกระบวนการของการบริหารโครงการที่ดีโดยเฉพาะอย่างยิ่งตรง “ปลายน้ำ” 

         ท่านอาจารย์หมอศุภสิทธิ์โทรติดต่อผมให้ไปเป็นประธานเปิดโครงการพร้อมส่ง “Draft 7 : The Bangkok Charter for Health Promotion in Globalized World” ไปให้ผมอ่านก่อน เพื่อให้เห็นว่า Activity ที่จัดสัมพันธ์กับเรื่อง Health promotion ที่ปรากฏอยู่ใน Ottawa Charter for Health Promotion 

         ผู้เข้าร่วมฟังและอภิปราย (Stake holders) ประกอบด้วย ท่านคณบดีคณะแพทยศาสตร์ (รศ.นพ.ดร.ชุมนุม พรหมขัติแก้ว) ประธานสมาชิกสภาองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ปลัดองค์การบริหารส่วนตำบลท่าโพธิ์ ประธานศูนย์พัฒนาเด็กเล็กชุมชนท่าโพธิ์ ครูพี่เลี้ยง คณาจารย์ และนิสิต นอกจากนี้ยังมีท่านคณบดีคณะวิทยาการจัดการฯ (ศ.ดร.ดิเรก ปัทมศิริวัฒน์) ที่เชี่ยวชาญด้านการบริหารส่วนท้องถิ่นเข้าร่วมอภิปรายด้วย 

         ผมขอสรุปบรรยากาศสั้น ๆ ว่า การวิจัยของนิสิตระดับปริญญาตรี ชั้นปีที่ 3 โครงการนี้มีผลกระทบสูงมาก ถึงขั้นอาจทำให้มีการปรับเปลี่ยนการจัดสรรงบประมาณของ อบต.ท่าโพธิ์ ในปีงบประมาณ 2549 ที่กำลังจะถึงนี้ Stake holders อภิปรายกันกว้างขวางมาก กล่าวขอบคุณและขอข้อมูลเพื่อนำกลับไปปรับปรุงการทำงานของท้องถิ่น และแสดงความคิดเห็นว่าอยากให้มีการทำวิจัยที่ต่อเนื่องต่อไปอีก ผมกล่าวปิดการประชุมด้วยความรู้สึกชื่นชมจากใจจริง และได้เรียนรู้อะไรมากจากการเข้าร่วมโครงการในวันนี้ จึงขอขอบคุณทุกท่านที่เกี่ยวข้องอีกครั้ง ทั้งจากตัวผมเองและในฐานะตัวแทนเด็ก ๆ ที่จะเป็นอนาคตของชาติด้วยครับ 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

หมายเลขบันทึก: 3168เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2005 10:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 10:29 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท