เสวนากับท่าน ผอ.สมศ.


สิ่งที่ผมไม่ได้บอกท่านคือ ผมรู้สึกชื่นชมในตัวท่าน และอยากเป็นกำลังใจให้ ผมทราบดีว่างานมันยากและเหนื่อย ผมทำในระดับมหาวิทยาลัยยังขนาดนี้ ท่านต้องทำในระดับประเทศ และต้องทำในทุกระดับการศึกษา จะขนาดไหน ถ้าประเภทผมยังไม่เข้าใจและเห็นใจท่านแล้ว จะหาใครเข้าใจได้ จึงอยากให้กำลังใจท่าน
         วันนี้ (พุธที่ 24 ส.ค.48) ช่วงเช้า และช่วงค่ำ ผมมีโอกาสดี ได้ฟังท่านอาจารย์สมหวัง (ศ.ดร.สมหวัง พิธิยานุวัฒน์) ผอ.สมศ. บรรยายพิเศษในช่วงเช้า เรื่อง “แนวคิดและหลักการประเมินคุณภาพภายนอก เพื่อรับรองมาตรฐานการศึกษา” ส่วนช่วงค่ำก็ได้มีโอกาสพูดคุยกับท่าน ระหว่างรับประทานอาหารค่ำด้วยกัน 

         ที่มีโอกาสเช่นนี้ เนื่องจากคณะศึกษาศาสตร์ ม.นเรศวร เชิญท่านมาเป็นวิทยากร บรรยายให้กับศูนย์เครือข่าย สมศ.มหาวิทยาลัยนเรศวร ในจังหวัดภาคเหนือตอนล่าง มีผู้เข้าร่วมฟังล้นหลามเกินเป้าหมายไปมากกว่าเท่าตัว (จาก 300 เป็นกว่า 600 คน) (อยากให้คุณภาพการศึกษามันพุ่งทะลุเป้าอย่างนี้บ้างจัง) แต่ก็ไม่มีปัญหาอะไรเนื่องจากในม.นเรศวร เราสามารถจัดให้มีการถ่ายทอดออกไปยังห้องต่าง ๆ หรือจะออกจากทาง internet ก็ได้ไม่ยากอะไร 

         เช้าวันนี้ท่านอาจารย์สมหวังไม่ได้พูดเรื่อง QA ระดับอุดมศึกษา แต่พูดในระดับการศึกษาขั้นพื้นฐาน ตัวผมเองก็ถูกตามตัวเข้า ๆ ออก ๆ แต่ก็พอจะจับประเด็นมาเล่าสู่กันฟังได้ เช่น 

         1. ในบรรดาโรงเรียนต่าง ๆ ที่ประเมินไปแล้วประมาณ 17,000 โรงเรียน ถ้ามีการประเมินในรอบ 2 (20 สิงหาคม 2548 – 19 สิงหาคม 2553) ซึ่งจะมีการรับรอง-ไม่รับรองคุณภาพด้วย เราสามารถใส่ผลว่า “ไม่รับรอง” ไปล่วงหน้าได้เลยประมาณ 12,000 โรงเรียน (ประมาณ 70%) ซึ่งส่วนใหญ่เป็นโรงเรียนที่ “ห่างไกล ขนาดเล็ก และเป็นของรัฐ” (ทำให้ผมอยากทราบข้อมูลของระดับอุดมศึกษาแต่ลืมถามท่าน) 

         2. ในการประเมินรอบแรก ( 20 สิงหาคม 2542 - 19 สิงหาคม 2548 ) ส่วนใหญ่จะเน้นไปในเรื่องของการประเมินเป็นหลัก ในรอบสองจะต้องช่วยกันผูกโยงระหว่างการประเมินกับการพัฒนา (ตรงนี้จะคล้ายกันกับกรณีของ NUQA) 

         3. ปัญหาอีกอย่างของการดำเนินการในรอบแรก คือ ความไม่สอดคล้องกันระหว่าง IQA และ EQA โดย IQA ไปเน้นมาตรฐานหลักสูตร ส่วน EQA ก็มีมาตรฐานของ สมศ. แม้พยายามใช้ SAR เป็นตัวร่วม แต่ก็ไม่สามารถเชื่อมโยง IQA - EQA ได้ ดังนั้น รอบสองนี้จะต้องช่วยกันสร้างมาตรฐานการศึกษาขั้นพื้นฐานให้ดีและใช้เป็นตัวร่วมร่วมกัน 

         4. เรื่องการจัดทำหลักสูตร ควรให้มีส่วนที่เป็นแกนหลักใช้ร่วมกันประมาณ 70% ส่วนอีก 30% ให้เป็นความรู้ท้องถิ่น ซึ่งจะต้องมีการวิเคราะห์ สังเคราะห์ หรือทำการจัดการความรู้ท้องถิ่นให้ดีเสียก่อน ก่อนที่จะนำมาทำการสอน (ทำให้ผมนึกถึง KM) 

         5. การทำ QA “อย่างเดียว” ให้ดี ๆ จะ “ได้หลายอย่าง” เพราะ QA จะเป็นตัวเชื่อมโยงกันหมด เช่น “ปรับการเรียน เปลี่ยนการสอน ปฏิสังขรณ์การบริหาร” 

         ความจริงเนื้อหาดี ๆ มีมากกว่านี้เยอะ แต่ส่วนใหญ่จะเป็นทางด้านการศึกษาขั้นพื้นฐาน ในช่วงรับประทานอาหารค่ำด้วยกัน ผมชวนคุยในเรื่อง QA ระดับอุดมศึกษา ประเด็นที่น่าสนใจ เช่น 

         (1.) มาตรฐานและตัวบ่งชี้ต่าง ๆ ใกล้เสร็จแล้ว รอให้ปรึกษาหารือกันอีกสักระยะแล้ว จะจัดพิมพ์เป็นคู่มือ และนำมาทำความเข้าใจกันอีกทีภายหลัง 

         (2.) เมื่อเทียบกับขั้นพื้นฐาน อุดมศึกษาจะเป็นพวก “เจ้าปัญญา” ทำให้ทำอะไรจะเสร็จได้ช้า เนื่องจากพอมีใครเสนออะไรมา มักจะถูกพวกเจ้าปัญญาตีตกหมด พวกขั้นพื้นฐานไม่คิดอะไรมาก ทำเลย ดีไม่ดี ค่อยมาปรับแก้กันทีหลังได้ ไม่เสียหายอะไร แต่ถ้ามาเปลี่ยนของอุดมศึกษาในภายหลัง จะเปลี่ยนยาก เพราะกลัวว่าจะเสียหน้า (เนื่องจากเป็นคนเจ้าปัญญา) ส่วนระดับอาชีวะ ก็คิดไม่มาก โต้แย้งไม่มาก เอียงไปทางขั้นพื้นฐาน และที่เป็นเอกลักษณ์คือ มีวินัยสูง ถ้าได้ผู้นำดี จะมีพลังสร้างสรรค์ได้มาก 

         (3.) ท่านอาจารย์สมหวัง ยังได้พูดถึงบทความเกี่ยวกับการประกันคุณภาพการศึกษาของอังกฤษ (QAA) ที่ผมและทีมผู้เดินทางไปศึกษาดูงานด้วยกันเขียนให้กับ สกอ.นำไปตีพิมพ์เผยแพร่ว่ามีประโยชน์มาก ท่านแสดงความคิดเห็นต่ออีกว่า อยากให้ทำอะไรที่มากกว่านี้จะได้เกิดประโยชน์ที่มากยิ่งขึ้น 

         (4.) จากบทความในข้อ (3.) ท่านเริ่มสนใจที่อยากจะให้มีการจัดทำ “Student written submission” ทำนองเดียวกันกับที่ QAA ทำ 

         (5.) ผมเลยเสนอต่อ ว่าน่าจะมีข้อกำหนดให้แต่ละมหาวิทยาลัยต้องจัดทำเอกสาร เพื่อให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณภาพมาตรฐานต่าง ๆ ของแต่ละสถาบันเพื่อให้ผู้ปกครอง นักเรียน และผู้สนใจ ได้ศึกษาก่อนตัดสินใจที่จะเลือกเข้าเรียน (มิใช่เป็นเป็นเพียง Prospectus ) และเมื่อเวลา สมศ.มาประเมินก็ให้ช่วยตรวจสอบดูว่า ข้อความต่าง ๆ เป็นจริงตามนั้น หรือว่ามีการบิดเบือน แนวความคิดนี้ ผมก็ได้มาจากการเขียนบทความเกี่ยวกับ QAA เช่นกัน 

         สิ่งที่ผมไม่ได้บอกท่านคือ ผมรู้สึกชื่นชมในตัวท่าน และอยากเป็นกำลังใจให้ ผมทราบดีว่างานมันยากและเหนื่อย ผมทำในระดับมหาวิทยาลัยยังขนาดนี้ ท่านต้องทำในระดับประเทศ และต้องทำในทุกระดับการศึกษา จะขนาดไหน ถ้าประเภทผมยังไม่เข้าใจและเห็นใจท่านแล้ว จะหาใครเข้าใจได้ จึงอยากให้กำลังใจท่าน 

         วิบูลย์ วัฒนาธร

คำสำคัญ (Tags): #สมศ.#qa#eqa
หมายเลขบันทึก: 3166เขียนเมื่อ 29 สิงหาคม 2005 10:50 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

สวัสดีค่ะอาจารย์ เป็นครั้งแรกที่หาข้อมูลในเว็ปไซต์อ่าน การเข้ามาอ่านครั้งนี้เพื่อต้องการข้อมูลไปประกอบการเขียนบทความ เรื่องการจัดการความรู้ในการประกันคุณภาพการศึกษา (คิดเรื่องไว้ค่ะ แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียน)หาข้อมูลอยู่

เป็นการเริ่มหัดเขียนบทความ เป็นงานชิ้นหนึ่งที่อาจารย์ประจำวิชาทฤษฎีการจัดการความรู้ ให้เขียนส่งค่ะ

ขอบคุณข้อมูลอาจารย์นะค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท