เมื่อประวัติศาสตร์ท้องถิ่นปะทะกับลานวัฒนธรรมจังหวัด : อำนาจ และศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์


การเปิดกว้างให้ชาวบ้านยากจนมีสิทธิเขียน/สร้างประวัติศาสตร์จากความเข้าใจของพวกเขาเอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก จึงเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐที่ผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์เสมอมา เราต้องถามตัวเองว่า ในฐานะนักวิจัย เรากล้าพอไหม และเรากลัวอะไร

บ่ายวานนี้ ที่ประชุมร่วมของ สกว. แม่ฮ่องสอน มีประเด็น HOT ที่ผมคิดว่าน่าสนใจ และคนที่สนใจเรื่องการพัฒนาท้องถิ่นจะมองข้ามไม่ได้

ในขณะที่แอร์กำลังเย็นฉ่ำ แต่บรรยากาศในห้องประชุมก็ระอุพอท้วมๆ เนื่องจากประเด็นถกเถียงเรื่องการบูรณาการงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ากับการพัฒนา ลานวัฒนธรรม ของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งตอนนี้ทุ่มทุนสร้างเป็นอาคารใหญ่โต มันไม่ลื่นอย่างที่คิด

ในขณะที่บางคนในที่ประชุมกำลังทุ่มเถียงกันเรื่องจะเอางานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่มีไปใส่ไว้ในส่วนไหนของลานวัฒนธรรม หัวสมองผมมีภาพอาจารย์ฉลาดชาย ที่ปรึกษาวิทยานิพนธ์ของผมลอยมา ให้นึกถึงเสมอว่า เวลาจะวิเคราะห์เรื่องอะไร ต้องรู้ให้ลึกถึงที่มาที่ไปและวิเคราะห์อย่างมีบริบท

ผมก็เลยบอกกับที่ประชุมว่า ท่ามกลางแบบเรียนประวัติศาสตร์ที่ถูกผูกขาดโดยรัฐชาติ (Nation State) และชนชั้นปกครอง ซึ่งแน่นอนว่าเป็นการเขียนจากมุมมองของกลุ่มตัวเองเป็นหลัก จะด้วยตั้งใจ หรือหลีกเลี่ยงไม่ได้ก็ตามแต่ แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่า เป็นประวัติศาสตร์เพียงเศษเสี้ยวเดียว

เพราะยังมีคนอีกหลายภาคส่วนที่เกี่ยวข้องกับประวัติศาสตร์ที่รัฐชาติและชนชั้นปกครองเขียนขึ้น เช่น ชาวนา ชาวไร่ ชาวดอย หรือแม้กระทั่งผู้หญิงชาวบ้านและเด็กๆ แต่มิได้มีส่วนร่วมในการเขียน

ที่ร้ายไปกว่านั้น ประวัติศาสตร์ฉบับเดียวนี้ยังถูกใช้เป็นเครื่องมือในการเหมารวม ใส่ร้ายป้ายสี และกดขี่บีฑาชนกลุ่มน้อยเสมอมา

  กระแสการสร้างประวัติศาสตร์ท้องถิ่นจึงเป็นการเปิดเวทีให้ชนชายขอบผู้ซึ่งไม่มีตัวตน หรือเป็นคนที่ถูกใส่ร้ายป้ายสีในประวัติศาสตร์กระแสหลัก ได้ลุกขึ้นมาอธิบายตนเอง ได้แสดงอัตลักษณ์ตัวตนของตนเองให้โลกรับรู้

ตรงนี้เป็นประเด็นสำคัญ สำคัญมากกว่าการวิจัยเพื่อเพิ่มพูนผลผลิต หรือพัฒนารูปแบบกลไกการแก้ปัญหาที่มักนิยมทำกันในรูป งานวิจัย PAR เพราะเป้าหมายที่ยิ่งใหญ่ในเชิงนามธรรมของงานวิจัยเพื่อท้องถิ่น ก็คือเรื่องศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทำให้ทีมวิจัยท้องถิ่นภาคภูมิใจในตัวตนของเขา และเขาก็สามารถเปิดเผยตัวตนให้โลกรู้ว่าพวกเขาก็มีภูมิปัญญาท้องถิ่น มีเลือดเนื้อมีชีวิต มีความคิดสร้างสรรค์ และไม่ยอมจำนน ต่อการกดขี่ขูดรีดในทุกระดับ

งานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น มิใช่การสร้างภาพว่าท้องถิ่นของเรามีแต่สิ่งดีงาม เพราะนั่นเป็นได้แค่งานวิจัยเพื่อประทินโฉมอันฉาบฉวย ตรงกันข้าม มันเป็นการศึกษาหาความจริง ซึ่งมีอยู่มากกว่าสองด้าน   และพร้อมจะเปิดกว้างให้มีการตีความใหม่ๆเสมอ รวมถึงการโต้แย้งกับประวัติศาสตร์กระแสหลักด้วย

การเปิดกว้างให้ชาวบ้านยากจนมีสิทธิเขียน/สร้างประวัติศาสตร์จากความเข้าใจของพวกเขาเอง ซึ่งสุ่มเสี่ยงต่อการปะทะกับประวัติศาสตร์กระแสหลัก  จึงเท่ากับเป็นการท้าทายอำนาจรัฐที่ผูกขาดการเขียนประวัติศาสตร์เสมอมา เราต้องถามตัวเองว่า ในฐานะนักวิจัย เรากล้าพอไหม และเรากลัวอะไร

ถ้าถามชาวบ้านในคำถามเดียวกันนี้ คุณว่าพวกเขาน่าจะตอบว่าอย่างไร?

ส่วนลึก ผมตอบแทนพวกเขาว่า เขากล้า เพราะเขารู้ว่ามันเจ็บปวดเพียงไรกับการถูกสังคมรังแก

ต่างจากเรา ที่มีโอกาสทางเศรษฐกิจสังคมมากกว่าอย่างฟ้ากับเหว

จากประสบการณ์ของผม ชาวบ้านไม่รู้ว่าประวัติศาสตร์กระแสหลักนั้น ทรงพลังขนาดไหน ผมบอกชาวบ้านลัวะ ม้ง จีนยูนนาน ในที่ประชุมว่า ที่คนไทยพื้นราบเข้าใจว่า พวกคุณชอบตัดไม้ทำลายป่า ค้ายาเสพติด เป็นภัยคอมมิวนิสต์ แถมยังล้าสกปรก ก็เพราะถูกประวัติศาสตร์กระแสหลักครอบงำ ถึงพวกคุณจะมีฐานะสูงขึ้น ได้เป็นใหญ่เป็นโต แต่ถ้าคนไทยส่วนใหญ่ของประเทศยังเชื่อมายาคติในประวัติศาสตร์กระแสหลักอย่างนี้ ชีวิตพวกคุณจะอยู่อย่างมีศักดิ์ศรีได้อย่างไร ลูกหลานของคุณจะภาคภูมิใจในอัตลักษณ์ของกลุ่มชาติพันธุ์และกลับมาพัฒนาบ้านเกิดของเขาได้แค่ไหน ถ้าสังคมไทยยังมองพวกคุณมีค่าแห่งความเป็นคนต่ำกว่าพวกเขา

ตรงนี้ ผมย้ำกับทาง สกว.ว่าอย่าลดทอนพลังของประวัติศาสตร์ท้องถิ่นลงให้เป็นเพียงเครื่องมือในการเรียนรู้ของชาวบ้าน หรือเป็นแค่องค์ความรู้  เพราะในความเป็นจริง มันคือยุทธศาสตร์การต่อสู้ที่จะนิยามความเป็นมนุษย์ที่จำเป็นต้องขับเคียวให้เข้มข้น มีน้ำหนักและชัดเจน จึงจะมีพลัง และเรียกศรัทธาจากมวลชนได้

การที่ สกว. ประสงค์จะบูรณาการงานวิจัยชาวบ้านเข้ากับงานพัฒนาของรัฐและองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น อย่างงานลานวัฒนธรรมนี้เป็นหลักการที่ดี  แต่ต้องรู้เท่าทัน ต้องระวังมิให้ตกเป็นเครื่องมือขององค์กรและนักแสวงหาแห่งอำนาจและผลประโยชน์เหล่านี้

ที่สำคัญต้องตั้งคำถามว่า เราจะมีลานวัฒนธรรมไว้เพื่อใคร เพื่อการท่องเที่ยว หรือคนยากไร้ อย่าคิดว่าสองส่วนนี้ไปด้วยกันได้อย่างราบรื่น มันไม่ง่าย

โครงการลานวัฒนธรรมมีมาจวนจะสองปีแล้ว ผมเห็นใจในความพยายามของคนที่ตั้งใจและมีเจตนารมณ์ที่ดีที่จะผลักดัน แต่ถ้ามีงานวิจัยประวัติศาสตร์เพื่อท้องถิ่นเพื่อให้ไปหนุนเสริมการท่องเที่ยวแล้ว ผมคิดว่าอย่าเอาไปใส่เลย ให้ ททท.มาทำจะเหมาะสมกว่า

เพราะงานวิจัย คือการวิจารณ์วัฒนธรรม ยิ่งเป็นงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ยิ่งสุ่มเสี่ยงต่อการไปขัดหูขัดตา (และขัดผลประโยชน์) กับผู้หลักผู้ใหญ่ในจังหวัด รวมถึงจากส่วนกลาง งานวิจัยในนิยามนี้ถามว่า จะ ได้รับอนุญาต ให้เข้าร่วมสังคายนากับลานวัฒนธรรมของจังหวัดหรือไม่ และจะถูกจัดวางไว้ที่โชว์รูมไหน

ด้วยเหตุนี้ ผมจึงคิดว่า สกว.ไม่น่าจะเป็นผู้ตอบว่าจะนำงานวิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้าร่วมหรือไม่ อย่างไร เพราะผู้ที่เป็นเจ้าของประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ในที่นี้ก็คือ ชาวบ้าน ชาวเขา ชาวดอย ชาวคนชายขอบทั้งหลายต่างหากล่ะ  ที่เป็นผู้เขียน ผู้สืบทอดอย่างชอบธรรม จึงควรจะมีสิทธิ์มากกว่า ในการกำหนดทีท่าเช่นนี้

ถ้าคนของ สกว.มาอ่าน ก็อภัยผมด้วยที่อาจทำให้เคือง แต่ทั้งหมดนี่ก็จากความคิดที่อยากเห็นเราก้าวไปด้วยกันด้วยดี ทั้งงานวิจัยและพัฒนา (อย่างรู้เท่าทัน)

และเป็นองค์กรที่พึ่งของประชาชนคนยากจนอย่างแท้จริง.....
คำสำคัญ (Tags): #พลเมืองวิจัย
หมายเลขบันทึก: 31608เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 00:53 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:03 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (6)
ชัดเจนดีแล้วครับ ผมขอสนับสนุนแนวคิดนี้ด้วย 1 เสียงเต็ม ๆ ที่มีในมือผมเองครับ "ชาวบ้านมีสิทธิเขียนประวัติศาสตร์จากความเข้าใจของพวกเขาเอง" ครับ
เคยได้ยินมาว่าประวัติศาสตร์ของชาติใดก็รับใช้ชนชาตินั้น เขียนความจริงออกมาเถอะครับ เพราะความจริงเป็นสิ่งไม่ตาย มันจะได้มารับใช้พี่น้อง เพื่อคานอำนาจกันจะได้พบจุดร่วมและจุดต่างในประวัติศาสตร์วัฒนธรรมร่วมกัน.. เห็นด้วยครับ โหวดให้ 1 เสียง..

คิดว่าคนทำงาน เขา คงรู้เท่าทันกับสิ่งที่จะเกิดขึ้นนะครับ

แต่ผมมองว่า ประวัติศาสตร์บ้านเราก็ถูกกำหนด หรือ เขียน

โดยคนอื่นมาตลอด จนส่งผลกระทบต่อ คน ที่อาศัยอยู่จนทุกวันนี้ และที่สำคัญ แนวคิดเรืองรัฐชาติ กระบวนการสร้างชาติ มันถูกพัฒนาเป็นกระบวนการ กรรมวิธี ที่แทรกซึมเข้าไปในทุกที่

ที่เห็นง่ายๆ เพลงชาติ (คิดว่าคุณคงเคยร้องเพลงนี้นะ ถ้าไม่ปฎิเสธ) ภาษา ฯลฯ ความเป็นสากล ที่เรียกว่า ชาติ

อย่าอธิบายมากดีกว่า เดี๋ยวจะถูกกล่าวหาว่าเป็น คนแบ่งแยกดินแดน

แต่ วัฒนธรรมที่พูดถึง มันก็เป็นวัฒนธรรมที่ถูกผลิตขึ้นเพื่อรับใช้อยู่แล้วนะ มันไม่ใช่วัฒนธรรมเพื่อมวลชน วัฒนธรรมของชาวบ้านเอง แม้แต่นิดเดียว

คุณเอง ก็ทำงานบนฐานวัฒนธรรม เพื่อปากท้องไม่ใช่เหรอ

ขอบคุณทุกความเห็นที่โพสต์เข้ามานะครับ

               ถ้าเรามองอย่างเชื่อมโยง เราจะเห็นความก้าวหน้าของเราสัมพันธ์กับคนยากจน คนด้อยโอกาสในประเทศไทยเสมอ เหมือนที่กรุงเทพเติบโตเพราะดูดกลืนทรัพยากรจากชนบทที่ห่างไกล เราเองในฐานะชนชั้นกลาง ปลอกเปลือกดูก็จะเห็นว่าดีเด่นกันมาได้เพราะคนยากไร้ทั้งสิ้นที่เสียภาษีให้รัฐ ที่เป็นแรงงานราคาถูกให้ตลาด ที่เลือกนักการเมืองมาบริหารประโยชน์แก่ชนชั้นนายทุนและชนชั้นกลาง อันนี้ สหายทุกท่านคงอุปมาอุปไมยกันได้ไม่ยาก

               ผมเองก็เป็นหนี้วัฒนธรรมของชาวบ้านอยู่มาก หากไม่มีซึ่งชุมชนคนบ้านป่าบ้านดอยเหล่านี้ ผมก็อาจจะไปเป็นลูกจ้างลูกจ้อกสมองฝ่ออยู่ที่ไหนแล้วก็ไม่รู้ ไม่ได้มีโอกาสสร้างครอบครัวที่อบอุ่นและมีภรรยาแสนดีอยู่ที่นี่ ไม่เพียงแต่ปากท้องที่พอจะยาไส้ผม ภรรยาและลูกน้อยที่กำลังจะลืมตาดูโลกในไม่ช้า วัฒนธรรมของชาวบ้านยังช่วยให้ผมเข้าใจ "ความโง่"  "ความหลงระเริง" อยู่บนหอคอยงาช้างของตัวเองหลายอย่าง และที่สำคัญคือเรียนรู้ที่จะเป็นคนที่ปล่อยวางได้มากขึ้น มีความสุขที่เรียบง่ายได้ง่ายขึ้น แม้ในยามไม่มีเงินสักแดงก็ยิ้มได้ 

                 และผมคิดว่า กลายที่ผมรู้สึกเป็นหนี้ชาวบ้านเช่นนี้ บ่อยครั้ง มันทำให้ผมอยู่เฉยไม่ได้เวลาที่เห็นความเสียหายเกิดขึ้นกับสังคมพวกเขา ในฐานะคนที่เกิดมาไดรับโอกาสในการอ่านออกเขียนได้ มีทักษะในการใช้ภาษามากกว่าคนอื่นในชุมชน ผมจึงต้องพยายามถ่ายทอด "ความจริง" ให้ใกล้เคียงกับความคิดของชาวบ้านให้ได้มากที่สุด ตามหลักวิชามานุษยวิทยาที่ผมได้ร่ำเรียนมา

ซึ่ง "ความจริง" ที่ผมถ่ายทอดมานี้ ก็อาจไม่ตรงใจหรือไปจี้ใจดำของใครเข้า ก็เป็นธรรมดาวิสัย ก็ไม่อยากให้ใครเอาไปถือสานะครับ แบกไว้ทุกข์เปล่าๆ

ผมเห็นว่า "ความจริง" เป็นสิ่งที่สังคมบ้านเราขาดแคลนครับ เพราะโครงสร้างสังคมและอำนาจหน้าที่ รวมถึงระบบอลุ่มอล่วย ในแง่หนึ่งนั้น มันก็ไม่อนุญาตให้คุณพูด "ความจริง"

              "ความจริง" มักจะเป็นถ้อยคำที่ไม่รื่นหู เป็น "ความหยาบคาย" ในสายตาของนักอนุรักษ์นิยมสุดขั้ว ที่ไม่อยากจะให้มีการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างอำนาจสังคมเพราะเกรงจะกระทบกระเทือนอำนาจหน้าที่ผลประโยชน์ของตนเองและพวกพ้อง

               อย่างเวลาความเห็นไม่ตรงกัน สังคมไทยก็มักจะเลี่ยงหรือกลบเกลื่อน ไม่ยอมเอา "ความจริง" มาพูดกัน เพราะเกรงจะเสียหน้าบ้าง เสียไมตรีต่อกันบ้าง

                ผลก็คือ "ความจริง" ก็ถูกกดไว้ต่อไป

                ตัวอย่างง่ายๆ ในหมู่บ้านบางกลุ่มชาติพันธุ์ ที่เศรษฐกิจชุมชนดูเติบโตอย่างรวดเร็วเพราะยาเสพติดหรือการไปค้าบริการทางเพศ ผู้นำชุมชนก็ไม่ยอมรับ "ความจริง" อย่างนี้ เกรงว่าจะเสียชื่อหมู่บ้าน ตอนนี้ผลเลยมีเด็กติดยา ขนยา ขายตัว เพิ่มขึ้นมากมาย

                 ผมอาจจะดูห่ามๆที่พูดกันตรงๆอย่างนี้ เพราะผมเบื่อกับการอ้อมค้อม และเห็นแก่ศักดิ์ศรีจอมปลอมที่ปรุงแต่งกันขึ้น เอาความจริงมาพูดกันเถอะครับ ว่าแต่ละชุมชน แต่ละบ้านมีปัญหาสังคมมากมาย เด็กและเยาวชนบ้านเรากำลังจะเอาตัวไม่รอดกันอยู่แล้ว เพราะพวกผู้ใหญ่เอาแต่อ้อล้อกัน

                 ความเกรงใจเป็นสิ่งที่ดี แต่ถ้าจะพูดถึงความเดือดร้อน การถูกกดขี่ของผู้คน อันนี้เกรงใจไม่ได้

มาเล่าความจริงกัน แล้วเอามาถกหาทางแก้ปัญหาด้วยกัน เลิกทีได้ไหม

                แน่นอนว่า การที่จะพูด "ความจริง" ออกมาได้ ต้องอาศัยความกล้าหาญ และความซื่อสัตย์ต่อตัวเองอย่างยิ่ง และอดทนต่อการกระทบกระทั่งกับผู้คนจำนวนมากที่เห็นว่า "ความจริง" เป็นสิ่งหยาบคาย

                 อย่างน้อย ผมก็ดีใจที่ในสังคม Blog นี้ มีคนศรัทธาต่อ "ความจริง" ร่วมชุมชนออนไลน์เดียวกันอีกหลายคน

                 และก็ดีใจ ที่มีคนแสดงความคัดค้าน หรือแม้กระทั่งต้องการจะโจมตีผม เพราะจะทำให้ผมเข้มแข็งขึ้น

                  ไม่ว่าใครจะมีความเห็นอย่างไร ก็มีประโยชน์กับผมเสมอ เหนือสิ่งอื่นใด ผมอยากให้มีผลในทางปฏิบัติด้วย

อุ่นใจครับ.....สำหรับทุกความเห็น ในทุกประเด็นที่ส่งมา

                

คุณยอดดอยที่นับถือ

ผมจะกลับเมืองไทยกลางเดือนกค.นี้ อยากได้เบอร์มือถือเพื่อแลกเปลี่ยน ช่วยส่งทางอีเมล์ผมดัวยครับ

รักษาสุขภาพนะครับ

ss

ผมเขียนบันทึกนี้ตั้งแต่ปี 2549 ดีใจที่ยังมีคนเห็นคุณค่ามาโพสต์ต่อ ปัจจุบันก็ยังทำงานอยู่ในฟิลด์นี้ที่แม่ฮ่องสอนครับ

ผมไม่รู้จะส่งเบอร์โทรไปทางอีเมล์คุณ SS ยังไง เนื่องจากผมไม่รู้ชื่อคุณ และไม่รู้อีเมล์คุณนะครับ ต้องขอโทษด้วย

ถ้าอย่างไรแล้ว ขออนุญาตให้อีเมล์ และเบอร์โทรของผมไว้ ณ ที่นี้เลยละกันครับ

[email protected]

เบอร์โทรก็ 086-9169486 ครับ

ยินดีที่ได้เป็นส่วนหนึ่งของสังคมแห่งการเรียนรู้ครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท