โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease)


โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) เป็นความผิดปกติที่เกิดจากการทำลายของระบบประสาท โดยเฉพาะเซลล์สมอง ทำให้สูญเสียความจำ

วันหยุดที่ผ่านมาได้ไปเยี่ยมคุณย่า วัย 90 ปี ซึ่งป่วยอยู่ในห้อง ICU ก่อนหน้านั้นแกป่วยเป็นโรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) แล้วเกิดอุบัติเหตุล้มลงจนศีรษะฟาดกับราวบันได ทำให้มีอาการทรุดลงอย่างรวดเร็ว มีญาติคนหนึ่งถามว่า เมื่อไม่ได้ใช้ความคิดบ่อยๆ จะเป็นอย่างไร แล้วเราต้องคิดมากตลอดเวลาหรือเปล่า ถึงจะไม่เป็นโรคสมองเสื่อม

มีผู้รู้ (Guru) หลายท่านได้เขียนตำราเพื่ออธิบายการทำงานของสมอง มีข้อมูลกล่าวไว้ว่า"เราอาจเปรียบเทียบสมองเรา เหมือนเครื่องคอมพิวเตอร์ ซึ่งจะไม่เหมือนกันเสียทีเดียว แต่มีความคล้ายคลึงกันมาก เรามีความจำ ระยะสั้นที่จะถูกลบหายไป กับความจำระยะยาวที่เราจะเก็บไว้ จริง ๆ แล้วเราอยากจะเก็บข้อมูลทุกอย่าง แต่ก็ไม่สามารถเก็บได้หมด ข้อมูลส่วนใหญ่ที่เรารับรู้เข้ามาจะลอยไปลอยมาอยู่ในเวิร์กกิ้งเมมโมรี่ หรือถ้าเทียบกับคอมพิวเตอร์ก็คือแรม (RAM - Random Access Memory) นั่นเอง แต่ความจำระยะสั้นในสมองจะหายไปได้ ในขณะที่ข้อมูลในแรมของคอมพิวเตอร์ยังคงอยู่ แรมหรือเวิร์กกิ้งเมมโมรี่ จะทำให้เราสามารถคิดเลขคณิตง่ายๆ ในใจได้ หรือจำตัวเลขง่ายๆ ได้ แต่ก็จำได้แค่ระยะสั้นๆ เหมือนที่เราหมุนหมายเลขโทรศัพท์ หลังจากนั้นเราก็จะลืม ความจำระยะยาวก็เหมือนฮาร์ดไดรฟ์ (Hard Drive) ในคอมพิวเตอร์ ทุกครั้งที่เราได้รับข้อมูลใหม่ๆ เข้าไป กลุ่มของเซลล์ประสาทจะถูกกระตุ้น ถ้าหากว่าเราได้รับข้อมูลนั้นซ้ำๆ กลุ่มเซลล์ประสาทเดิม จะถูกกระตุ้นซ้ำๆ ก็จะทำให้เรามีความจำระยะยาวได้ แต่ถ้าหากเราได้รับข้อมูลนั้นเข้าไปเพียงครั้งเดียวและเราไม่ได้ใช้อีกเลย ข้อมูลก็จะถูกลบเลือนหายไป แต่ข้อมูลในฮาร์ดไดรฟ์ของคอมพิวเตอร์ยังอยู่ เราสามารถเก็บข้อมูลที่ได้รับเข้ามา ให้เป็นความจำระยะยาว ได้ด้วยการท่องจำข้อมูลนั้นซ้ำๆ แต่การตัดสินว่าจะเก็บข้อมูลหรือไม่ ขึ้นอยู่กับสมองส่วนฮิปโปแคมปัส หรือสมองที่มีหน้าที่เกี่ยวกับอารมณ์ทั้งข้างซ้ายและข้างขวา สมองส่วนนี้ทำหน้าที่เหมือนคีย์บอร์ด ของคอมพิวเตอร์ที่เราจะกด ให้เก็บข้อมูลหรือไม่เก็บข้อมูล และการที่ฮิปโปแคมปัสจะตัดสินว่าจะเก็บข้อมูลนี้เป็นความจำระยะยาวหรือไม่ ก็ขึ้นอยู่กับปัจจัย 2 ปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรก คือ ข้อมูลนี้มีความสัมพันธ์เกี่ยวข้องกับอารมณ์หรือไม่ ปัจจัยที่สอง คือ ข้อมูลที่เข้ามาใหม่มีความเกี่ยวข้อง กับข้อมูลที่รู้แล้วหรือไม่ ซึ่งต่างจากคอมพิวเตอร์ คือ ถ้าเราเก็บข้อมูลใหม่ ไม่ว่าจะมีความเกี่ยวข้องกับข้อมูลที่มีอยู่แล้วหรือไม่ คอมพิวเตอร์ก็จะเซฟข้อมูลไว้หมด แต่สมองเราไม่เป็นเช่นนั้น การที่เราเลือกเก็บข้อมูลที่น่าสนใจเป็นสิ่งดี เพราะเรา ไม่สามารถ เก็บทุกอย่าง ไว้ในสมองได้หมด ถ้าเราเก็บข้อมูลทุกอย่างไว้ในสมอง เราจะไม่สามารถมุ่งความสนใจหรือมีความตั้งใจกับสิ่งใดได้ เพราะฉะนั้นหน้าที่เลือกเก็บข้อมูลของสมองส่วนฮิปโปแคมปัสจึงเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เมื่อคนเรามีอายุมากขึ้น สมองส่วนนี้จะค่อยๆ ฝ่อไป ลดการทำงานลง ดังนั้นคนอายุน้อยจะมีความจำดีกว่าคนอายุมาก อย่างไรก็ตามยังนับว่าโชคดีที่สมองในสภาวะปกติ ถึงแม้ว่า ความจำ จะมีการเสื่อมสภาพเล็กน้อย แต่ก็ไม่มากพอที่จะลดประสิทธิภาพในการทำงานหรือในการใช้ชีวิตประจำวันลง นอกจากในคนที่เป็นโรคบางอย่าง เช่น โรคอัลไซเมอร์ (Alzheimer's disease) โรคของเส้นเลือดที่ทำให้เลือดไปเลี้ยงสมองส่วนนี้ไม่เพียงพอ ก็จะทำให้มีอาการหลงลืมผิดปกติ" (ที่มา : http://www.novabizz.com/NovaAce/Brain.htm)

พ.ญ.นันทิกา ทวิชชาชาติ ผู้เชี่ยวชาญด้านสมองจากโรงพยาบาลจุฬากล่าวว่าโรคสมองเสื่อมเป็น กลุ่มอาการความบกพร่องของกระบวนการความคิดผู้ป่วยยังมีสติสัมปชัญญะ แต่ส่วนที่เสียไป คือ สติปัญญาความสามารถของสมอง ซึ่งทำให้กระบวนการคิดบกพร่อง ซึ่งอาการที่แสดงออกประกอบด้วย ความจำโดยเฉพาะการสูญเสียความจำใหม่ๆ

 

คำถามสำคัญที่คนทั่วไปอยากรู้ก็ คือ โรคสมองเสื่อมเป็นเรื่องใกล้ตัวใคร คนในวัยไหน จากสถิติโรคสมองเสื่อมจะพบในคนวัย 40 ปีขึ้นไป เพราะหลัง 40 ปี ทุกอย่างในร่างกาย จะหย่อนยานลง เสื่อมลง โรคนี้จึงเป็นโรคที่พบในผู้สูงอายุ จากการศึกษาในประเทศต่างๆ พบตัวเลขแตกต่างกันออกไปมาก ถ้าตัวเลขเฉลี่ยจะพบในคนอายุ 65 ปีขึ้นไป ในวัยนี้จะพบมากที่สุด และ 5%ของคน 65 ปีขึ้นไป จะเป็นโรคสมองเสื่อมชนิดรุนแรง

 

ปัจจัยเสี่ยงของโรคอัลไซเมอร์
อัลไซเมอร์มีความสัมพันธ์กับ 4 ปัจจัย คือ อายุ พันธุกรรม มีประวัติอุบัติเหตุที่กระทบต่อสมอง และเพศ

เพราะฉะนั้นก็ทำให้วางใจได้ว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะเป็น โรคสมองเสื่อม หรืออัลไซเมอร์ เนื่องจากขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายๆ อย่าง แต่อย่างไรก็ตาม ควรระมัดระวังไว้ก่อนเพราะสมองเป็นส่วนสำคัญ หากได้รับการกระทบกระเทือนอาจทำให้เกิดอันตรายได้ และควรที่จะเรียนรู้อยู่ตลอดเวลา เพื่อให้สมองได้ปรับตัวกับการรับรู้สิ่งใหม่ๆ  ที่สำคัญจะเป็นการพัฒนาตนเองด้วยเช่นกัน

คำสำคัญ (Tags): #uncategorized
หมายเลขบันทึก: 31583เขียนเมื่อ 29 พฤษภาคม 2006 14:45 น. ()แก้ไขเมื่อ 20 มิถุนายน 2012 18:19 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)
ได้อ่านแล้ว เขียนดีมากครับ
  • ดีมากจริงๆค่ะ  ครูอ้อยอ่านแบบข้ามๆเพราะไม่สบายยังได้ใจความดีค่ะ
  • หวังว่าสมองส่วนฮิปโปแคมปัสของครูอ้อยยังทำงานดีอยู่นะคะ

ขอบคุณค่ะ

คุณแม่เป็นโรคสมองเสื่อมได้สองปีแล้วคับขอบคุณคับถือเป็นวิทยาทานนะคับ

มีพี่เป็นโรคสมองเสื่อมค่ะ พึ่งเป็นได้ประมาณปีหนึ่ง ตอนนี้พี่อายุ 42 ปี เป็นห่วงพี่มาก ตอนนี้ยังทำงานเป็นปกติอยู่ แต่อาการที่พบประจำคือ ปวดหัวมากติดต่อกันเป็นอาทิตย์ อาการนี้เป็นมานานแล้ว และมีอาการซึมเศร้าเป็นบางครั้งที่เค้ามีอาการปวดหัวรุนแรง ชอบพูดแต่เรื่องอดีต

ระดับการทำงานยังปกติ ความทรงจำก็ยังดีอยู่ สามารถทำงานได้

จะมีวิธีปฏิบัติอย่างไรกับผู้ป่วยในระยะนี้ (พี่ยังไม่มีคนดูแล อยู่คนเดียว) 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท