ของเล่นพื้นบ้านกับความผันแปรชุมชนบ้านสบป่อง: ว่าด้วยกลยุทธ์พัฒนายุววิจัยในมิติประวัติศาสตร์ท้องถิ่น


ยุววิจัยเริ่มที่ “ใจ” เป็นปฐมบท ครู นักเรียน นักวิชาการ ต้องเอาใจมารวมกันก่อน มีใจร่วมแล้วค่อยนำวิชาการและเทคนิคที่มีอยู่หลากหลายมาพัฒนาให้เหมาะสมกับกลุ่มและพื้นที่ของตน

จริงๆแล้ว สยชช. เราทำงานยุววิจัยเป็นฐาน แต่ที่ผ่านมาที่เคยร่วมงานวิจัยกับสถาบันต่างๆ ผมจะรับเป็นหัวหน้าทีม เด็ก เยาวชนในระยะแรกๆพวกเขาจะเข้ามามีส่วนร่วมในระดับการรับรู้ เข้าใจ ปฏิบัติงานเป็นหลัก ต่อมาเริ่มพัฒนาแกนนำเห็นเป็นตัวคนขึ้นมา แกนนำเยาวชนก็จะเข้ามาร่วมวางแผนมากขึ้น ตอนนี้ก็ยังอยู่ในระดับนี้อยู่  คือเรายังปล่อยให้เขาเดินเต็มตัวไม่ได้เพราะฐานยังไม่แข็งพอ

ถ้าเป็นบ้าน ฐานคืออิฐถ้าก่อไว้ไม่ดีก็จะพังครืนลงมา การสร้างยุววิจัยจึงไม่ใช่กระบวนการแบบ Workshop 3 วันจบ หากแต่เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่ต้องพยายามบูรณาการให้อยู่ในวิถีชีวิตประจำวันของพวกเขาเป็นปีๆ โดยจัดให้มีระบบติดตาม มีโครงการวิจัยไปให้เขาลองฝึก มีพื้นที่นำเสนอให้พวกเขาแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และที่สำคัญต้องมีครูหรือพี่เลี้ยงที่สามารถย่อยเรื่องยากๆให้เขาเข้าใจง่ายๆ  และเป็นบุคคลที่เป็นแบบอย่างที่ดีแก่พวกเขาได้ทุกด้าน คือเข้าถึงจิตใจพวกเขา คือ ยุววิจัยเริ่มที่ “ใจ” เป็นปฐมบท ครู นักเรียน นักวิชาการ ต้องเอาใจมารวมกันก่อน มีใจร่วมแล้วค่อยนำวิชาการและเทคนิคที่มีอยู่หลากหลายมาพัฒนาให้เหมาะสมกับกลุ่มและพื้นที่ของตน

เดือนนี้ ที่ปางมะผ้าเราก็มีโครงการยุววิจัยเกิดขึ้นอีกครั้ง คราวนี้มาในนามการศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่น เด็กๆก็มาปรึกษาผมว่าจะศึกษาวิจัยเรื่องอะไรดี ก็คิดกันอยู่หลายเรื่องประชุมหลายครั้ง มาลงเอยกันเรื่องของเล่นพื้นบ้านนี่แหละ

 

 

ที่เด็กๆสนใจเรื่องของเล่นพื้นบ้านนี่ก็เพราะตลอดสองปีที่ผ่านมาพวกเขาได้ร่วมโครงการที่เกี่ยวข้องกับของเล่นพื้นบ้านมาก่อน คือ โครงการของเล่นพื้นบ้าน นิทานพอเพียง ที่ได้รับการสนับสนุนจากสถาบันสิ่งแวดล้อมไทย คือ ไปเก็บรวมรวมข้อมูลของเล่นและนิทานพื้นบ้านกลุ่มชาติพันธุ์ต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น ไทใหญ่ กะเหรี่ยง ลาหู่ ลีซู ลัวะ ปะโอ แล้วนำมาเชื่อมโยงกับแนวคิดเศรษฐกิจพอเพียง พอโครงการเสร็จเด็กก็ประทับใจหลายอย่าง ถ้าใครเคยอ่านบันทึกที่ผ่านมา อาจจะผ่านตามาบ้าง

ทีนี้ประทับใจ มีข้อมูลแล้วก็อยากทำต่อ พอเหมาะพอดีกับที่สำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย (สกว.) ฝ่ายชุมชน มาสนับสนุนให้มีชุดโครงการยุววิจัยประวัติศาสตร์ท้องถิ่นขึ้นทั่วประเทศ งานนี้ก็เลยตกมาถึงเด็กๆที่ปางมะผ้า โดยทำในนามศูนย์การเรียนรู้ชุมชนบ้านสบป่อง (ศรช. สบป่อง) มีผมคอยช่วยเป็นนักวิชาการหนุนเสริมแบบจิตอาสา

ตอนนี้ โครงการอยู่ในระหว่างทำสัญญา แต่ด้วยเวลาที่รวบรัดมาก เดือนที่แล้ว ทางผู้ประสานงานภาคเหนือก็ได้จัดให้เด็กกับครูที่นี่ก็เข้ารับการอบรมกันไปหนึ่งรอบเรื่องแนวคิดประวัติศาสตร์ท้องถิ่น กระบวนการตั้งคำถาม การเขียนรายงาน ฯลฯ เด็กกับครูก็กลับมาพัฒนาโจทย์ และ Proposal ซึ่งตอนนี้ผ่านอนุมัติเรียบร้อย แต่หากช่วงที่รอเงินโอนมานี้ ถ้าไม่ทำอะไรเลยก็เกรงว่าจะเขียนรายงานไม่ทัน เพราะโครงการนี้สั้นมาก คือเดือนเศษๆต้องเสร็จแล้ว

ระหว่างรออนุมัตินี่ เด็กกับครูก็ได้เริ่มลงพื้นที่ไปสามครั้ง แล้วก็เขียนข้อมูลออกมา ผมในฐานะผู้ประสานงานจังหวัดและด้านหนึ่งก็ทำงานใกล้ชิดกับเด็กในโครงการนี้ เพราะเป็นเด็กที่ทำงานกับ สยชช.อยู่แล้ว ก็เอารายงานความก้าวหน้าของพวกเขามาอ่าน ก็พบปัญหาหลายอย่าง ที่นำมาสู่การขบคิดทางปัญญา

 

เนื่องจากเด็กเหล่านี้คุ้นเคยกับการทำงานกับชุมชนในนาม     สยชช.มาหลายปีจนเป็นที่ยอมรับแล้ว ทั้งในวันเสาร์อาทิตย์ยังเป็นดีเจน้อยคอยจัดรายการดีๆในสถานีวิทยุชุมชน ผู้คนจึงรู้จักค่อนข้างมาก

ปัญหาของยุววิจัยที่ปางมะผ้าไม่ใช่เรื่อง “ใจ” ทักษะในการถาม หรือการสัมภาษณ์พอมีแล้ว หากแต่ทักษะในการกำหนดคำถาม คือ ถอดแนวคิดออกมาประกอบสร้างเป็นคำถามยังทำไม่ได้ ไปอ่านคู่มือที่ สกว.ให้มาเด็กก็ไม่เข้าใจ มัน dialogue คือสื่อสารสองทางกับพวกเขาไม่ได้  Workshop ที่ทีมภาคเคยจัดอบรมให้ความรู้ไป ก็ดูจะเอามาใช้กับปัญหาเฉพาะหน้าอย่างนี้ไม่สะดวก จากการอ่านรายงาน ผมเห็นอาการอย่างนี้เกิดขึ้นในทีม ก็เลยเรียกเด็ก และครูที่ร่วมโครงการมาคุยกันเพื่อตีกรอบคิดให้แตกเป็นคำถามที่เด็กๆจะใช้ไปสัมภาษณ์

 

แรกสุดเลยให้เด็กๆไม่ต้องไปยึดติดตำรา คือเด็กกลัวผิด ผมบอกว่า เรามีฐานการวิจัยชุมชนมาบ้างแล้ว ที่เหลือคือเติมเรื่องมิติเวลาเข้าไปเท่านั้น เราน่าจะคิดต่อยอดจากตำรา คือเอาหลักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นเข้ามาจับ แล้วไปหาหนทางเอาในแบบฉบับของเรา งานจะสนุก

งานยุววิจัยควรเป็นงานที่ทำแล้วสนุก ไม่เพิ่มภาระจนเกินไป จริงไหม

วกมาที่หลักประวัติศาสตร์ท้องถิ่น ก็มีแก่นไม่กี่ข้อ คือ

  1. หลักสำคัญ  “คนเป็นเหตุแห่งความเปลี่ยนแปลง วัฒนธรรมเป็นผลที่ตามมา” จึงเอาคนในท้องถิ่นเป็นตัวตั้ง ไม่ใช่เอาประเพณีหรือวัตถุเป็นตัวตั้ง
  2. เป็นเรื่องที่เกี่ยวกับของหน้าหมู่ , สมบัติส่วนร่วม, หรืออัตลักษณ์ของกลุ่ม
  3. ดูความเปลี่ยนแปลงความสัมพันธ์ของคนกับสิ่งต่างๆที่ไปกำหนดประเพณี วัตถุต่างๆ
  4. จำเป็นจะต้องให้เห็น “ช่วงเวลา” บริบท และเงื่อนไขที่ซับซ้อนที่มากำหนดการเปลี่ยนแปลงนั้น

พอมาอ่าน “ระหว่างบรรทัด” ดูอีกที ก็จะพบว่างานประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ จะบรรลุได้ต้องมีการเกี่ยวร้อยกับหลายเรื่อง ทั้งความเชื่อ, วิถีการผลิตเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม , ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ไล่ไปทีละยุคๆ

 

  • ทีนี้จะกำหนดยุคได้อย่างไร

ทีแรกเด็กๆก็จะช่วงอายุคนมากำหนด ผมก็ว่ามันไม่ใช่ มันต้องเอาการเปลี่ยนแปลงในสิ่งที่เราศึกษามากำหนดยุค ก็มาลงเอยว่า พวกเขาสนใจเรื่องของเล่น (ที่เกี่ยวข้องกับความสัมพันธ์ของคน) ดังนั้น ก็ลองมาคิดดูว่าจะแบ่งยุคยังไง เพราะพวกเราก็เป็นคนในพื้นที่น่าจะพอกำหนดได้คร่าวๆ อีกทั้งประวัติศาสตร์หมู่บ้านของเราก็ไม่นานประมาณหกสิบปี เด็กๆก็มาช่วยกำหนดเป็น ยุคของเล่นธรรมชาติ, ยุคของเล่นพลาสติกและโลหะ, ยุคของเล่นอิเลคทรอนิสก์ ส่วนแต่ละยุคจะกินเวลาเท่าใดนั้น ค่อยไปว่ากันอีกทีหลังจากได้ข้อมูลภาคสนามมาแล้ว

 

  • พอได้ยุคคร่าวๆมาแล้ว ก็มากำหนดคนได้ละว่า แต่ละยุคน่าจะไปถามข้อมูลที่ใคร อันนี้ไม่ยาก เพราะเด็กยังรู้จักคนในชุมชนดี

 

  • ทีนี้จะถามแต่ละยุคอย่างไร 

 

ผมลองไกด์ให้เด็กเห็นว่า งานศึกษาประวัติศาสตร์ท้องถิ่นตามแนวคิดนี้ จะบรรลุได้ต้องมีการเกี่ยวร้อยกับหลายเรื่อง ทั้งความเชื่อ, วิถีการผลิตเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม , ความสัมพันธ์ของคนในชุมชน ไล่ไปทีละยุคๆ

ดังนั้น คำถามแต่ละยุคๆจึงต้องมีการแบ่งเป็นหมวดคำถามต่างๆ ได้แก่

1.หมวดคำถามว่าด้วยเรื่องทั่วไป (เช่น ชนิด จำนวน ปริมาณ ลักษณะทางกายภาพของของเล่น รวมถึงการถามไถ่สารทุกข์สุขดิบของผู้ให้ข้อมูลเพื่อแสดงมิตรภาพ)

2.หมวดคำถามว่าด้วยความเชื่อ,

3.หมวดคำถามว่าด้วยวิถีการผลิตเศรษฐกิจสังคม วัฒนธรรม ,

4.หมวดคำถามว่าด้วยความสัมพันธ์ของคนในชุมชน

 

จากนั้นให้เด็กๆแบ่งหน้าที่กันรับผิดชอบรับดูแลคำถามในแต่ละหมวด คือคิดคำถาม ใส่ลำดับการถามก่อน-หลัง จากนั้นเอาคำถามทั้งหมดมาแลกเปลี่ยนกันในวง เพื่อตัดคำถามที่ซ้ำ ยำคำถามให้มีรสกลมกล่อมรื่นหู ครูพี่เลี้ยงที่มางานนี้ ก็พลอยได้เรียนรู้กลวิธีนี้ไปโดยปริยาย ผมเองก็ได้ค้นพบว่า การตั้งต้นเช่นนี้ เป็นสิ่งสำคัญอย่างยิ่ง คือ ที่นี่เราผ่านขั้นทดสอบใจมาแล้ว แต่กำลังพัฒนาขั้นการตีคอนเซ็ปต์นามธรรมให้เป็นคำถามเชิงรูปธรรมที่เด็กและครูสามารถนำไปทำงานได้อย่างเป็นระบบ และสนุกให้ได้

งานยุววิจัยประวัติศาสตร์ของเล่นพื้นบ้านที่นี่กำลังเริ่มต้น และเป็นโจทย์เล็กๆที่ท้าทายเรื่องใหญ่ๆหลายอย่าง ไม่ว่าจะเป็นกระบวนการประกอบสร้างความรู้ในสังคมไทย การจัดการความรู้ การพัฒนาเด็กและเยาวชน

ผมคิดว่าความรู้เชิงกระบวนการนี้อาจจะเป็นประโยชน์แก่คนอื่นๆและไว้เป็นฐานข้อมูลในการทำงานวันข้างหน้า จึงนำมาลงไว้ ณ ที่นี้ครับ

 

 

 

หมายเลขบันทึก: 315563เขียนเมื่อ 23 พฤศจิกายน 2009 20:00 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:56 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (11)

ให้กำลังใจครับ

นักวิจัย ค้นหาความรู้ใหม่

มาให้มนุษยชาติ

ให้กำลังใจอย่าลืมไปให้ถึงฝันน๊ะคะ

ชื่นชมด้วยใจจริงเลยครับ คนคุณภาพ และ ยุววิจัย

เป็นอย่างไรบ้างครับ ทำงานกับเด็กๆ ผมอ่านแล้วตื่นเต้นกับกระบวนและสิ่งที่ได้ ยิ่งเรื่องของการแบ่งยุคของเล่น ยิ่งน่าสนใจ

ทำอย่างไรครับ เด็กๆ ถึงมีคุณภาพ และ รักการเรียนรู้ได้ขนาดนี้

สวัสดีครับคุณบีเวอร์ , azotomara และคุณน้ำผึ้ง

  • จริงๆผมไม่ได้เก่งอะไรเลยครับ ยังมีความโง่ ความหลางยึดติดอยู่มากมาย

งานที่ทำอยู่ก็เป็นงานธรรมดาที่ทุกคนทำได้ ถ้าเราเลือกจะใส่ใจและแสวงหาโอกาสนะครับ ตัวผมเองถือว่าได้เติบโตขึ้นจากการเรียนรู้จากสิ่งเหล่านี้ คือต้องเริ่มที่ใจรักก่อนครับ

  • ผมคิดว่าหัวใจสำคัญในการพัฒนาเด็กคือเราต้องทำตัวเป็นแบบอย่างก่อน และจริงใจ ทุ่มเทกับเขา เขาก็จะวางใจ ชนะใจเขาได้ แต่ก่อนจะชนะใจเขาต้องชนะใจตัวเองก่อน
  • อีกหลักที่ใช้มีในศาสนาพุทธอยู่แล้วครับ สังคหวัตถุสี่ คือ ทาน ปิยวาจา อัตถจริยา สมานัตตา แต่จะใช้ได้ ใจเราต้องศรัทธาเป็นที่ตั้งก่อนครับ

สวัสดีเจ้า ครูยอด

ของเล่นพื้นบ้าน ที่น้องพอ เล่นล่าสุดคืออะไร ยังนึกไม่ออกเลยค่ะ

เสียดายที่เด็กๆ ไม่มีของเล่นพื้นบ้าน ซึ่ง หาง่าย ทำง่าย เล่นง่าย แต่ ไม่ทำกัน นะคะ

น้องออมสิน สบายดีนะคะ

สวัสดีครับ ครูใหม่บ้านน้ำจุน

  • น้องออมสินสบายดีครับ เพราะคุณพ่อทำงานแบบพอเพียงมากขึ้น มีเวลาเล่นและเรียนรู้ไปกับเขามากกว่าแต่ก่อน ตอนนี้กำลังจ้อ และร่าเริงมากครับ
  • ของเล่น เป็นสื่อทางเลือกอีกแบบที่พ่อแม่ทุกคนทำได้ครับ ไม่จำเป็นต้องเป็นของจากภูมิปัญญาพื้นบ้าน แต่เป็นของจากวัสดุเหลือใช้ในครัวเรือนก็ได้ แค่เราประยุกต์เอาคุณค่าจากของเล่นและกระบวนการของมันไปใช้ ไม่ต้องไปติดรูปแบบ น่าจะเหมาะสมกว่านะครับ
  •  ขอบคุณที่มาเยี่ยม ขอให้รักษาสุขภาพนะครับ

แวะมาชื่นชมกิจกรรมดี ๆ ครับ

โครงการได้รับอนุมัติหรือยังครับ

สวัสดีครับหนานเกียรติ

  • เห็นชื่อนี้ไม่คุ้น แสดงว่าน่าจะเพิ่งแวะเข้ามาเยี่ยมกัน
  • ยังไงก็ขอให้มาติชม แลกเปลี่ยนกันอย่างนี้เรื่อยๆนะครับ
  • ตอนนี้โครงการอนุมัติแล้ว เก็บข้อมูลใกล้เสร็จแล้วครับ
  • แล้วจะหาเวลามาพิมพ์ลงบล็อก คอยติดตามอ่านนะครับ

พี่ยอด หากลองไล่เรียงดีๆ พี่อาจจะรู้จัก หนานเกียรติ นะครับ เพราะ ทำงานในเเวดวงเดียวกัน ที่เครือข่ายภาคเหนือ

งานเสร็จไปตั้งแต่ปี 2553 แล้วครับ แต่เดี๋ยวจะนำมาย่อยสรุปลงบันทึก ขอบคุณที่ช่วยสะกิดครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท