คณะกรรมการ 4 ฝ่ายแก้ไขปัญหามาบตาพุด


ในที่สุดก็มาถึงจุดที่จะต้องหาทางออกร่วมกันโดยตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และการลงทุน

หลังจากยืดเยื้อมายาวนานกรณีปัญหาการพัฒนาอุตสาหกรรมในจังหวัดระยอง ทั้งมาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียง จนได้รับผลกระทบกันอย่างกว้างขวางทั้งนักลงทุนและชาวบ้านผู้ได้รับผลกระทบ รวมทั้งหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อันเป็นผลมาจากการไม่ดำเนินการให้สอดคล้องกับรัฐธรรมนูญมาตรา 67 วรรคสอง ซึ่งรัฐบาลได้หาวิธีแก้ไขสารพัดแต่ก็ไม่เป็นที่ยอมรับ จนในที่สุดก็มาถึงจุดที่จะต้องหาทางออกร่วมกันโดยตั้งคณะกรรมการ 4 ฝ่ายมาหาแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และการลงทุน

 

โดยนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีได้ลงนามในคำสั่งสำนักนายกรัฐมนตรี ที่ 250/2552 เรื่อง แต่งตั้งคณะกรรมการแก้ไขปัญหาการปฏิบัติตามมาตรา 67 วรรคสอง ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย เมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2552 โดยมีนายอานันท์ ปันยารชุน อดีตนายกรัฐมนตรี เป็นประธานกรรมการ ซึ่งเราน่าจะมากันถึงองค์ประกอบและอำนาจหน้าที่ของคณะกรรมการชุดนี้กันสักหน่อย เพื่อเป็นข้อมูลประกอบการติดตามการทำงานว่าผลจะออกมาเป็นอย่างไร จะหาทางออกเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่ายหรือไม่

 

1. องค์ประกอบ  

                   ภาคประชาชน กรรมการประกอบด้วย นายชูชัย  ศุภวงศ์  นางเรณู  เวชรัชต์พิมล นายสุทธิ  อัชฌาศัย นายหาญณรงค์  เยาวเลิศ  

                   ภาครัฐ  กรรมการประกอบด้วย นายกอร์ปศักดิ์  สภาวสุ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ปลัดกระทรวงสาธารณสุข รองปลัดกระทรวงอุตสาหกรรม (นายโกศล  ใจรังษี)  

                   ผู้ทรงคุณวุฒิ กรรมการประกอบด้วย  นายเดชรัตน์  สุขกำเนิด นายธงชัย  พรรณสวัสดิ์ นายสุทิน  อยู่สุข นางสาวสมฤดี  นิโครวัฒนยิ่งยง นายสมรัตน์  ยินดีพิธ

                   ภาคเอกชนผู้ประกอบการ กรรมการประกอบด้วย นายชายน้อย  เผื่อนโกสุม นายพยุงศักดิ์  ชาติสุทธิผล นายมหาบีร์     โกเดอร์ นายรุ่งโรจน์  รังสิโยภาส

 

2. อำนาจหน้าที่

                 2.1หน้าที่

                         2.1.1 ศึกษาความคิดเห็นและความต้องการของประชาชน ผู้ประกอบการ นักวิชาการ และผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย

                        2.1.2 ประสานแนวทางแก้ไขปัญหา  เพื่อให้เกิดประโยชน์กับทุกภาคส่วน ทั้งในด้านสิ่งแวดล้อม สุขภาพอนามัย สังคม เศรษฐกิจ และการลงทุน

                      2.1.3 จัดทำข้อยุติเพื่อเสนอให้นายกรัฐมนตรีพิจารณาดำเนินการตามอำนาจหน้าที่ในการแก้ไขปัญหากรณีพื้นที่มาบตาพุด และพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง  และการปฏิบัติตามบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรคสอง

               2.2 อำนาจ

                      2.2.1 แต่งตั้งคณะอนุกรรมการ   คณะทำงาน หรือบุคคลใดเพื่อดำเนินการตามที่คณะกรรมการกำหนด

                     2.2.2 เชิญข้าราชการ เจ้าหน้าที่ของรัฐ หรือบุคคลใดมาให้ข้อมูล  หรือแสดงความคิดเห็นต่อคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ หรือคณะทำงาน เพื่อประกอบการพิจารณา

                    2.2.3 เรียกให้หน่วยราชการ หน่วยงานของรัฐ หรือรัฐวิสาหกิจ  ส่งเอกสารหรือวัตถุที่เป็นของหรืออยู่ในความครอบครองของหน่วยงานนั้น ๆ  มาเพื่อประกอบการพิจารณา

                   2.2.4 ดำเนินการอื่นที่จำเป็นเพื่อให้การปฏิบัติหน้าที่บรรลุผล

3. วิธีดำเนินการ

             3.1 จัดทำข้อยุติเพื่อให้รัฐบาลดำเนินการให้สอดคล้องกับบทบัญญัติรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย มาตรา 67 วรรคสอง ที่เกี่ยวข้องกับ

            3.1.1 การกำหนดประเภทโครงการหรือกิจกรรมที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านสิ่งแวดล้อม  ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ

           3.1.2 ศึกษาการจัดตั้งองค์กรอิสระ ทั้งในส่วนของรูปแบบการดำเนินงาน โครงสร้างองค์กร บทบาท และอำนาจหน้าที่ ในการให้ความเห็นประกอบการดำเนินการ

           3.2 จัดทำข้อยุติเพื่อให้รัฐบาลสามารถดำเนินการจัดทำแผนปฏิบัติการลดและขจัดมลพิษได้อย่างมีประสิทธิภาพและปฏิบัติได้จริงอย่างเป็นรูปธรรม สำหรับเขตควบคุมมลพิษในพื้นที่มาบตาพุดและพื้นที่ใกล้เคียงในจังหวัดระยอง

          3.3 จัดทำข้อยุติเพื่อให้รัฐบาลแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าสำหรับโครงการ จำนวน 76 โครงการที่ถูกระงับการดำเนินการ โดยให้เป็นที่ยอมรับกันของทุกภาคส่วนและเพื่อให้ชุมชนและอุตสาหกรรมอยู่ร่วมกันได้อย่างยั่งยืน

          3.4 ให้สำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรีเป็นฝ่ายเลขานุการ และทำหน้าที่หน่วยธุรการของคณะกรรมการ และให้มีหน่วยธุรการของคณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน ตามที่คณะกรรมการเห็นสมควร

         3.5 เบี้ยประชุมประธานกรรมการ กรรมการ อนุกรรมการ และคณะทำงาน ให้เป็นไปตามพระราชกฤษฎีกาว่าด้วยเบี้ยประชุมกรรมการ พ.ศ. 2547 โดยให้เบิกจ่ายจากสำนักงานปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี

         3.6  ให้สำนักงบประมาณจัดสรรเงินงบประมาณในลักษณะเงินอุดหนุนทั่วไปให้เพียงพอกับการปฏิบัติงานของคณะกรรมการ คณะอนุกรรมการ และคณะทำงาน

 

คณะกรรมการชุดนี้เริ่มประชุมนัดแรกไปแล้วเมื่อบ่ายวันที่ 19 พฤศจิกายน 2552 ในขณะที่องค์กรเอกชนบางส่วนนำโดยนายกสมาคมต่อต้านสภาวะโลกร้อนยังไม่ค่อยวางใจจึงมีการตั้งคณะทำงานคู่ขนานขึ้นมาตรวจสอบการทำงานของคณะกรรมการ 4 ฝ่ายด้วย

ในขณะเดียวกันกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ก็ได้มีการออกประกาศกระทรวง เรื่อง   กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ซึ่งเป็นเรื่องที่เกี่ยวข้องกันเต็มๆเลย จึงไม่แน่ใจว่าสิ่งที่หน่วยงานต่างๆได้ดำเนินการล้ำหน้าสิ่งที่คณะกรรมการต้องดำเนินการไปแล้ว จะหาทางออกอย่างไร

 

 

หมายเลขบันทึก: 314827เขียนเมื่อ 20 พฤศจิกายน 2009 13:19 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 18:49 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

ลองมาดูเนื้อหาอย่างละเอียดของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อมทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ว่ามีเนื้อหาสาระอย่างไร

                   โดยที่ การจัดทำรายงานและการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม สำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงมีลักษณะเฉพาะแตกต่างจากการพิจารณารายงานในโครงการหรือกิจการทั่ว ๆ ไป  และเพื่อให้มีการดำเนินกระบวนการพิจารณาให้เป็นไปโดยครบถ้วนตามแนวทางของมาตรา ๖๗ ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  อาศัยอำนาจตามความในมาตรา ๔๖ และมาตรา ๕๑ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยความเห็นชอบของคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ จึงกำหนดหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติ และแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ ไว้ดังต่อไปนี้

                    ข้อ ๑  โครงการหรือกิจการของส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจหรือเอกชนที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ  และจัดให้มีกระบวนการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย รวมทั้งการให้องค์การอิสระให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการ ตามหลักเกณฑ์และวิธีการที่กำหนดในท้ายประกาศนี้ ได้แก่ โครงการหรือกิจการ ดังต่อไปนี้

                             (๑) โครงการหรือกิจการตามประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการที่ต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมตามเอกสารท้ายประกาศ ๑ ของประกาศกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เรื่อง กำหนดประเภทและขนาดของโครงการหรือกิจการซึ่งต้องจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม และหลักเกณฑ์ วิธีการ ระเบียบปฏิบัติและแนวทางในการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม ลงวันที่ ๑๖ มิถุนายน พ.ศ. ๒๕๕๒ ที่ตั้งอยู่ในพื้นที่ที่ง่ายต่อการได้รับผลกระทบและเป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ทั้งนี้ ตามหลักเกณฑ์ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติประกาศกำหนด  และให้รวมถึงการแก้ไขเปลี่ยนแปลงในส่วนที่เป็นสาระสำคัญหรือการขยายขนาดของโครงการหรือกิจการนั้นในพื้นที่ดังกล่าวด้วย

                              (๒) โครงการหรือกิจการใดซึ่งคณะอนุกรรมการวินิจฉัยข้อร้องเรียนสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ ที่คณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติแต่งตั้ง ได้วินิจฉัยว่า โครงการหรือกิจการดังกล่าวอาจส่งผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

                             (๓)  โครงการหรือกิจการใดซึ่งมีการประกาศหรือกำหนดตามกฎหมายอื่นให้เป็นโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ

 

                   ข้อ ๒  ผู้ที่จัดทำรายงานตามประกาศนี้จะต้องเป็นผู้ที่ได้รับอนุญาตให้เป็นผู้มีสิทธิจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมและได้ขึ้นทะเบียนไว้แล้วกับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  ทั้งนี้ หากการจัดทำรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมดังกล่าว มีกฎหมายอื่นบัญญัติเกี่ยวกับการได้รับอนุญาตไว้และมีกระบวนการที่จะให้ผู้มีสิทธิจัดทำรายงานดำเนินการตามกฎหมายดังกล่าวไว้แล้ว ผู้มีสิทธิจัดทำรายงานจะต้องได้รับอนุญาตตามที่บัญญัติไว้ในกฎหมายนั้น ๆ ด้วย

 

                   ข้อ ๓  เมื่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ได้รับรายงานจากผู้ที่จัดทำรายงานตามข้อ ๒ แล้ว ให้ดำเนินการตามมาตรา ๔๘ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ โดยเสนอต่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรง ทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติ และสุขภาพ เพื่อพิจารณาให้ความเห็นตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา ๔๙ แห่งพระราชบัญญัติส่งเสริมและรักษาคุณภาพสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ พ.ศ. ๒๕๓๕ ต่อไป

 

                   ข้อ ๔  เมื่อคณะกรรมการผู้ชำนาญการเห็นชอบกับรายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ แล้ว  ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดส่งผลการพิจารณาของคณะกรรมการผู้ชำนาญการให้หน่วยงานของรัฐซึ่งเป็นผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น หรือหน่วยงานของรัฐผู้อนุญาตเพื่อให้หน่วยงานดังกล่าวจัดให้มีการดำเนินการรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้มีส่วนได้เสีย  ทั้งนี้ ตามกระบวนการรับฟังความคิดเห็นที่กำหนดตามเอกสารท้ายประกาศนี้

 

                   ข้อ ๕  ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมจัดทำข้อมูลซึ่งประกอบด้วย สรุปสาระสำคัญของโครงการหรือกิจการ และความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อมสำหรับโครงการหรือกิจการที่อาจก่อให้เกิดผลกระทบต่อชุมชนอย่างรุนแรงทั้งทางด้านคุณภาพสิ่งแวดล้อม ทรัพยากรธรรมชาติและสุขภาพ  และประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจการนั้นให้ทราบทั่วไป เพื่อให้องค์การอิสระขอรับข้อมูลดังกล่าวเพื่อพิจารณาให้ความเห็นประกอบก่อนมีการดำเนินการของหน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบหรือในการอนุญาต

 

                   องค์การอิสระที่จะเสนอความเห็นประกอบตามวรรคหนึ่ง ต้องเป็นองค์การอิสระที่ประกอบด้วยผู้แทนองค์การเอกชนด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ และผู้แทนสถาบันอุดมศึกษาที่จัดการการศึกษาด้านสิ่งแวดล้อม หรือทรัพยากรธรรมชาติ หรือด้านสุขภาพ และได้จดแจ้งรายชื่อเป็นองค์การอิสระไว้กับสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมแล้ว โดยในการจดแจ้งต้องแสดงรายละเอียดของบุคคลที่เป็นผู้ดำเนินการให้ความเห็นที่มีองค์ประกอบครบถ้วนดังกล่าวด้วย  

                         

                   ข้อ ๖  องค์การอิสระตามข้อ ๕ วรรคสอง ที่ประสงค์จะให้ความเห็นประกอบในการดำเนินการโครงการหรือกิจการใด ให้ยื่นความประสงค์ขอรับข้อมูลตามข้อ ๕ วรรคหนึ่ง ได้ภายในสิบห้าวันนับแต่วันที่สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมประกาศรายชื่อโครงการหรือกิจการนั้น  และให้องค์การอิสระที่ขอรับข้อมูลจัดทำความเห็นประกอบเกี่ยวกับโครงการหรือกิจการนั้น ส่งให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมภายในสี่สิบห้าวันนับแต่วันที่ได้รับข้อมูลดังกล่าวจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

                   เมื่อสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมได้รับความเห็นจากองค์การอิสระ ให้รวบรวมและแจ้งให้หน่วยงานของรัฐที่รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้นหรือหน่วยงานของรัฐผู้อนุญาต เพื่อประกอบการพิจารณาต่อไป ในกรณีที่ครบกำหนดระยะเวลาในการให้ความเห็นขององค์การอิสระตามวรรคหนึ่งแล้ว  องค์การอิสระที่ขอรับข้อมูลยังมิได้จัดส่งความเห็นเป็นประการอื่นใด ให้ถือว่าองค์การอิสระนั้นมีความเห็นไม่แตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ

 

                   ในกรณีที่องค์การอิสระให้ความเห็นเป็นประการอื่นที่เพิ่มเติมหรือแตกต่างจากความเห็นของคณะกรรมการผู้ชำนาญการ ให้หน่วยงานของรัฐผู้รับผิดชอบโครงการหรือกิจการนั้น หรือหน่วยงานของรัฐผู้อนุญาตพิจารณาตามที่เห็นสมควร ในกรณีเช่นว่านี้หน่วยงานของรัฐดังกล่าวอาจขอความเห็นจากคณะกรรมการผู้ชำนาญการหรือหน่วยงานอื่นใดเพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วยก็ได้

 

                   ข้อ ๗  ในกรณีที่เป็นโครงการหรือกิจการตามข้อ ๑ ซึ่งเป็นของส่วนราชการหรือรัฐวิสาหกิจที่ต้องได้รับความเห็นชอบจากคณะรัฐมนตรี ให้สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมรวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับการดำเนินการตามประกาศนี้เสนอต่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติ เพื่อให้ความเห็นประกอบการพิจารณาของคณะรัฐมนตรีด้วย

 

                   ข้อ  ๘  ประกาศนี้ให้ใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษาเป็นต้นไป

 

                             ประกาศ ณ วันที่ ๑๑ พฤศจิกายน ๒๕๕๒

 

                                                           (นายสุวิทย์  คุณกิตติ)

                                   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

 

เมื่อ 14 ม.ค. 53 เวลา 08.30 –12.30 น. ณ. ห้องสายน้ำผึ้ง สวนสมุนไพรสมเด็จพระเทพพระรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี จังหวัดระยอง ปตท. จัดให้มีการจัดเวทีประชุมรับฟังความคิดเห็น โครงการวิจัยการประเมินผลกระทบทางสุขภาพตามหลักแนวคิดและหลักเกณฑ์ของการประเมินผลกระทบทางสุขภาพ หรือ (Public scoping) หรือ HIA โครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6 การเปลี่ยนแปลงรายละเอียดโครงการโรงแยกก๊าซธรรมชาติหน่วยที่ 6(การเพิ่มประสิทธิภาพระบบปรับปรุงคุณภาพน้ำเพื่อหมุนเวียนกลับมาใช้ใหม่) และโครงการท่อส่งก๊าซธรรมชาติไปยัง บริษัท พีทีที ยูลิตี้ จำกัด อะโรเมติกส์ (ประเทศไทย) จำกัด (มหาชน) และบริษัท มาบตาพุด โอเลเนฟินส์ จำกัด โดยมีคณะทำงานจาก ม. มหิดล บริษัท NPC และ บริษัท Entic เป็นผู้จัดทำโครงการวิจัย

รองศาสตราจารย์ ดร.วันทนี พันธุ์ประสิทธิ์ ภาควิชาอาชีวอนามัยและความปลอดภัย คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล ในฐานะคณะทำงานการจัดรับฟังความคิดเห็นกล่าวยอมรับว่าการจัดเวทีในครั้งนี้แม้ความเห็นส่วนใหญ่จะออกมาในด้านลบมากกว่าบวก คณะผู้จัดทำก็จะนำข้อมูลไปปรับปรุงแก้ไข และแจ้งให้สาธารณะรับทราบภายใน 15 วันหลังจากการรับฟังความคิดเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท