การระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน


ระงับการเคลื่อนไหว

การสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน:คืออะไรและเป็นอย่างไร

ความเป็นมาของเรื่อง

           พระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๒) พ.ศ. ๒๕๕๑ ได้กำหนดให้มีมาตรการทางปกครองในการยับยั้งรายการบุคคลทางทะเบียนราษฎรที่นายทะเบียนตรวจสอบหลักฐานและเชื่อได้ว่าน่าจะมีการดำเนินการที่ไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบ หรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง มิให้ย้ายไปจากสำนักทะเบียนที่ตรวจพบความไม่ปกติ ก่อนที่การดำเนินการของนายทะเบียนตามกฎหมายจะได้ข้อยุติ ทั้งนี้เพื่อเป็นการป้องกันมิให้มีการนำรายการบุคคลที่ไม่ถูกต้องนั้นขยายผลต่อไปยังสำนักทะเบียนอื่นๆ ซึ่งจะทำให้การตรวจสอบและขจัดความไม่ถูกต้องกระทำได้ยากขึ้น โดยกฎหมายฉบับดังกล่าวได้กำหนดเพิ่มเติมมาตรา ๑๐ วรรคสี่ แห่งพระราชบัญญัติการทะเบียนราษฎร พ.ศ. ๒๕๓๔ สรุปว่าในกรณีปรากฏหลักฐานเชื่อได้ว่าการแจ้ง  การรับแจ้ง การบันทึก หรือการลงรายการเพื่อจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรได้ดำเนินการไปโดยไม่ถูกต้องหรือโดยอำพราง หรือโดยมีรายการข้อความผิดจากความเป็นจริง ให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งไม่รับแจ้ง จำหน่ายรายการทะเบียน เพิกถอนหลักฐานทะเบียน และดำเนินการแก้ไขให้ถูกต้อง โดยให้นายทะเบียนมีอำนาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรที่เชื่อว่าไม่ถูกต้องนั้นไว้ก่อนที่จะรับฟังคำชี้แจงหรือการโต้แย้งจากคู่กรณีได้ และเพื่อเป็นการป้องกัน คุ้มครองสิทธิของเจ้าของรายการทะเบียนราษฎรที่เชื่อว่าไม่ถูกต้องไม่ให้ถูกรบกวนโดยไม่เป็นธรรมจากการกระทำของนายทะเบียน กระทรวงมหาดไทยได้ออกกฎกระทรวงกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการ เกี่ยวกับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริง การอุทธรณ์และการพิจารณาอุทธรณ์คำสั่งของนายทะเบียน พ.ศ. ๒๕๕๑ และสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้ออกระเบียบ   ว่าด้วยการจัดทำทะเบียนราษฎร (ฉบับที่ ๕) พ.ศ. ๒๕๕๑ เพื่อกำหนดแนวทางปฏิบัติให้มีความชัดเจน

ขั้นตอนการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนต้องทำอย่างไร

        เนื่องจากการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเป็นการดำเนินการตามกฎหมายที่มีผลกระทบต่อสิทธิของเจ้าของรายการทะเบียนที่ถูกสั่งระงับ  นายทะเบียนจึงต้องดำเนินการภายใต้เงื่อนไขของกฎหมายโดยสำนักทะเบียนกลาง กรมการปกครองได้วางแนวทางปฏิบัติไว้ตามหนังสือที่ มท ๐๓๐๙.๑/ ว ๖๑ ลงวันที่ ๑๔ ตุลาคม ๒๕๕๒ กล่าวคือ เมื่อปรากฏเหตุต่อนายทะเบียนว่าการจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรของบุคคลใดดำเนินการไปโดยมิชอบด้วยกฎหมาย ระเบียบหรือโดยอำพรางข้อเท็จจริง หรือมีข้อความผิดจากความเป็นจริงไม่ว่าจะปรากฏเหตุด้วยวิธีการใด เช่น นายทะเบียนได้รับแจ้งหรือได้รับการร้องเรียนจากบุคคล หน่วยงานหรือสื่อมวลชน หรือนายทะเบียนตรวจพบความไม่ถูกต้องด้วยตนเอง นายทะเบียนจะต้องดำเนินการ ดังนี้

        ขั้นตอนแรก คือการตรวจสอบข้อเท็จจริงจากหลักฐานที่ใช้ในการจัดทำรายการทะเบียนราษฎร วิธีการดำเนินการ รวมถึงเจ้าหน้าที่ที่ดำเนินการจัดทำรายการทะเบียนราษฎรที่มีปัญหา เพื่อให้ได้ข้อมูลว่าหลักฐานมีความน่าเชื่อถือหรือไม่ วิธีการดำเนินการเป็นไปตามที่กฎหมายและระเบียบกำหนดหรือไม่ เจ้าหน้าที่มีอำนาจตามกฎหมายหรือไม่ และตรวจสอบประเด็นที่ได้รับแจ้งหรือที่มีการร้องเรียนว่ามีความเป็นไปได้หรือไม่โดยการสอบจากพยานบุคคลและพยานแวดล้อมต่างๆ ที่เกี่ยวข้อง โดยขั้นตอนนี้นายทะเบียนอาจสอบข้อเท็จจริงจากเจ้าของหลักฐานทะเบียนราษฎรดังกล่าวด้วยก็ได้

        ขั้นตอนที่สอง เมื่อดำเนินการตามขั้นตอนแรกแล้วนายทะเบียนพิจารณาเห็นว่ารายการทะเบียนราษฎร ที่ตรวจสอบนั้น มีเหตุเชื่อได้ว่าน่าจะมีการจัดทำรายการที่ไม่ถูกต้องจริง นายทะเบียนจะต้องรวบรวมพยานหลักฐานที่เกี่ยวข้องพร้อมทำความเห็นเสนอนายอำเภอเพื่อพิจารณา นายทะเบียนจะดำเนินการสั่งระงับการเคลื่อนไหวโดยพลการไม่ได้

        ขั้นตอนที่สาม ถ้านายอำเภอพิจารณาเห็นว่าจากพยานหลักฐานที่มีอยู่นั้นเชื่อได้ว่ามีการจัดทำหลักฐานทะเบียนราษฎรโดยมิชอบหรือโดยไม่ถูกต้องจริง จะแจ้งความเห็นไปยังนายทะเบียนจึงจะดำเนินการสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรกรณีนั้นได้ แต่ถ้านายอำเภอพิจารณาเห็นว่าพยานหลักฐานที่มีอยู่ไม่เพียงพอที่จะเชื่อได้ว่ามีการกระทำโดยไม่ถูกต้องตามที่นายทะเบียนเสนอความเห็น นายทะเบียนก็ไม่อาจสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนได้ แต่สามารถที่จะรวบรวมพยานหลักฐานเพิ่มเติมแล้วเสนอเรื่องใหม่ก็ได้

        ขั้นตอนที่สี่ เมื่อนายทะเบียนมีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวรายการทะเบียนราษฎรแล้วจะต้องแจ้งคำสั่งให้เจ้าของรายการทะเบียนนั้นทราบเป็นหนังสือภายในสามวันนับแต่วันที่มีคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน โดยหนังสือแจ้งคำสั่งดังกล่าวจะต้องมีข้อความที่เป็นสาระสำคัญ ได้แก่ (๑) ข้อเท็จจริงหรือเหตุผลที่ทำให้เชื่อว่ามีการกระทำโดยมิชอบ (๒) ข้อกฎหมายหรือระเบียบที่เกี่ยวข้อง (๓) ข้อพิจารณาและเหตุผลสนับสนุนในการใช้ดุลพินิจของนายทะเบียน (๔) สิทธิในการแต่งตั้งบุคคลอื่นให้ดำเนินการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงแทน (๕) สิทธิในการขอดูเอกสารที่จำเป็นสำหรับการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อป้องกันสิทธิของตน และ (๖) ระยะเวลาในการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงซึ่งกำหนดให้ดำเนินการภายในสามสิบวันนับแต่วันที่ได้รับแจ้งคำสั่ง

        ถ้าเจ้าของรายการทะเบียนราษฎรที่ถูกสั่งระงับการเคลื่อนไหวไม่โต้แย้งคำสั่งของนายทะเบียนหรือไม่ชี้แจงข้อเท็จจริงเพื่อหักล้างคำสั่งของนายทะเบียนภายในระยะเวลาที่กำหนดโดยไม่มีเหตุอันสมควร หรือการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงนั้นไม่ระบุเหตุผลหรือไม่แสดงพยานหลักฐาน จะส่งผลให้นายทะเบียนสามารถสั่งจำหน่ายรายการทะเบียนหรือเพิกถอนหลักฐานทะเบียนราษฎรนั้น

ความแตกต่างระหว่างการระงับการเคลื่อนไหวกับการจำหน่ายรายการทะเบียน

        การสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเป็นการดำเนินการทางคอมพิวเตอร์ต่อรายการทะเบียนราษฎรในฐานข้อมูลทะเบียน โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการ marked เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักของรายการบุคคลให้อยู่กับที่ โดยไม่กระทำกับเอกสารทะเบียน ดังนั้น รายการบุคคลที่ถูกสั่งระงับการเคลื่อนไหวที่อยู่ในทะเบียนบ้านจึงเป็นปกติ หรือแม้จะมีการขอคัดสำเนารายการ ท.ร.๑๔/๑ จากระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะไม่ปรากฏข้อความใดๆ ที่แสดงว่ารายการบุคคลนั้นถูกสั่งระงับการเคลื่อนไหว แต่จะแสดงข้อความให้เห็นในหน้าจอคอมพิวเตอร์เท่านั้น  สำหรับผลของการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนจะเกี่ยวข้องเฉพาะในส่วนของงานทะเบียนราษฎรโดยเฉพาะการแจ้งย้ายที่อยู่และมีผลผูกพันต่อเจ้าของรายการทะเบียนราษฎรที่ถูกคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวเท่านั้น ตัวอย่างเช่น นายชูศักดิ์  แซ่ฮั้ว ถูกสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเนื่องจากตรวจสอบข้อเท็จจริงพบว่ามีการเพิ่มชื่อและลงรายการสัญชาติไทยในทะเบียนบ้าน (ท.ร.๑๔) โดยใช้หลักฐานไม่ถูกต้อง การระงับดังกล่าวจะมีผลต่อตัวนาย ชูศักดิ์ฯ เท่านั้น โดยผลที่จะเกิดขึ้นก็คือนายชูศักดิ์ แซ่ฮั้ว ไม่สามารถแจ้งย้ายที่อยู่ออกจากทะเบียนบ้านได้จนกว่านายทะเบียนจะยกเลิกการสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน  แต่ถ้าในระหว่างถูกระงับการเคลื่อนไหวนายชูศักดิ์ฯ ต้องการขอมีบัตรประจำตัวประชาชน หรือจะขอเปลี่ยนชื่อใหม่ หรือขอจดทะเบียนสมรส ขอแจ้งการเกิดหรือขอเพิ่มชื่อให้แก่บุตรของตน หรือขอดำเนินการในเรื่องใดๆ ที่ไม่ใช่การทะเบียนราษฎรและไม่ใช่เป็นการดำเนินการเกี่ยวกับรายการทะเบียนราษฎรของนายชูศักดิ์ฯ แล้ว ย่อมสามารถดำเนินการได้ตามกฎหมายและระเบียบว่าด้วยการนั้น เป็นต้น เพราะตราบใดที่นายทะเบียนยังไม่ได้จำหน่ายรายการทะเบียนราษฎรหรือเพิกถอนหลักฐานทะเบียนราษฎรก็ยังถือว่าบุคคลดังกล่าวมีรายการทะเบียนราษฎรตามที่ปรากฏตามหลักฐานทะเบียนราษฎรนั้น 

         ส่วนการจำหน่ายรายการทะเบียนเป็นการดำเนินการทางคอมพิวเตอร์ต่อรายการทะเบียนราษฎรในฐานข้อมูลทะเบียน และจะมีผลต่อเอกสารทะเบียนรายการนั้นด้วย โดยโปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำการบันทึกเป็นหมายเหตุไว้ที่เลขประจำตัวประชาชน ๑๓ หลักของรายการบุคคลว่าถูกจำหน่ายด้วยเหตุใด เช่น จำหน่ายเนื่องจากเพิ่มชื่อโดยมิชอบ จำหน่ายเนื่องจากเป็นบุคคลซ้ำ เป็นต้น ผลของการถูกจำหน่ายรายการทะเบียน  นายทะเบียนจะประทับหรือเขียนข้อความลงในทะเบียนบ้านตรงรายการบุคคลว่า “จำหน่าย” แล้วพิมพ์บันทึกการจำหน่ายรายการบุคคลไว้ในทะเบียนบ้านด้วย และถ้ามีการขอสมุดทะเบียนบ้านฉบับใหม่ โปรแกรมคอมพิวเตอร์จะทำให้รายการบุคคลที่ถูกจำหน่ายไม่อาจพิมพ์ในเล่มทะเบียนบ้านได้อีก แต่ถ้าเป็นกรณีขอคัดรายการ ท.ร.๑๔/๑ จากระบบคอมพิวเตอร์ ก็จะปรากฏข้อความที่แสดงว่ารายการบุคคลนั้นถูกจำหน่ายรายการแล้ว ดังนั้น ผลของการจำหน่ายรายการทะเบียนจึงร้ายแรงกว่าการระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียน เพราะตามกฎหมายแล้วรายการทะเบียนใดที่ถูกสั่งจำหน่ายย่อมเสมือนไม่มีรายการนั้น  อย่างไรก็ตามบุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการก็มิใช่ว่าจะไม่มีหนทางที่จะได้รายการของตนกลับคืนมา เพียงแต่ระเบียบสำนักทะเบียนกลางได้กำหนดเหตุที่นายทะเบียนจะคืนรายการทะเบียนที่ถูกจำหน่ายไว้เฉพาะกรณีที่มีเหตุ มีผลสมควรเพื่อความถูกต้องตามความเป็นจริงเท่านั้น อาทิ ถ้าการจำหน่ายรายการทะเบียนเป็นการดำเนินการไม่ถูกต้อง เป็นการสำคัญผิดในข้อเท็จจริง เช่น นายมานพ ออกจากบ้านไปอยู่ที่อื่นเป็นเวลานานโดยไม่มีข่าวคราว บังเอิญพื้นที่ที่นายมานพไปอยู่ใหม่นั้นเกิดภัยพิบัติและมีผู้เสียชีวิตทั้งที่พบศพและไม่พบศพ ทางบ้านเข้าใจว่านายมานพเสียชีวิตแล้วจึงไปแจ้งนายทะเบียนขอให้จำหน่ายคนตายออกจากทะเบียนบ้าน แต่ภายหลังปรากฏข้อเท็จจริงว่านายมานพยังมีชีวิตอยู่  การที่นายทะเบียนจำหน่ายรายการทะเบียนของนายมานพจึงเป็นการจำหน่ายตายผิดคน เช่นนี้นายมานพย่อมสามารถขอคืนรายการทะเบียนของตนได้ เป็นต้น แต่ถ้าเป็นการจำหน่ายเพราะเหตุแห่งการกระทำความผิดกฎหมาย  มีการทุจริต หรือการดำเนินการที่ไม่ชอบด้วยระเบียบซึ่งผลการดำเนินการตามกฎระเบียบของฝ่ายปกครองเป็นอันสิ้นสุดแล้ว การคืนรายการทะเบียนที่ถูกจำหน่ายนั้นย่อมไม่อาจดำเนินการได้

บทสรุป

        การสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนเป็นเพียงมาตรการของฝ่ายปกครองในการป้องกันมิให้รายการทะเบียนราษฎรที่ถูกกล่าวหาและนายทะเบียนได้ตรวจสอบเบื้องต้นแล้วมีเหตุน่าเชื่อได้ว่าจะมีการจัดทำขึ้นโดยไม่ถูกต้องตามกฎหมาย ระเบียบปฏิบัติ หรือโดยปิดบังอำพรางข้อเท็จจริง ไม่ว่าจะเป็นการจัดทำรายการทะเบียนนั้นจะเป็นการกระทำที่มีการทุจริตหรือไม่ก็ตาม มิให้โยกย้ายฐานข้อมูลหรือรายการทะเบียนนั้นไปยังที่อื่น เพื่อให้กระบวนการในการตรวจสอบรายละเอียดและรับฟังข้อเท็จจริงจากเจ้าของรายการทะเบียนนั้นสามารถดำเนินการได้อย่างต่อเนื่องจนจบกระบวนงานโดยจำกัดพื้นที่สำนักทะเบียนที่เกี่ยวข้องกับรายการทะเบียนดังกล่าวให้น้อยลง และเป็นการดำเนินการในระยะเวลาสั้นๆ ไม่เกินสามสิบวัน เว้นแต่เจ้าของรายการจะขอขยายระยะเวลาในการโต้แย้งหรือชี้แจงข้อเท็จจริงต่อนายทะเบียน นอกจากนี้  ผลของการถูกสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนยังถูกจำกัดเฉพาะเรื่องการย้ายรายการทะเบียนราษฎร และมีผลกระทบเฉพาะรายการทะเบียนราษฎรที่ถูกคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวเท่านั้น ไม่เกี่ยวกับการดำเนินการอื่นใดที่เจ้าของรายการทะเบียนนั้นจะพึงปฏิบัติหรือกระทำการตามกฎหมายอื่น ถือว่าเป็นการให้โอกาสเจ้าของรายการทะเบียนที่ถูกกล่าวหาว่ามีการดำเนินการไม่ถูกต้องได้ทราบข้อมูลและดำเนินการแก้ต่างข้อกล่าวหาก่อนที่จะถูกตัดสินลงโทษหรือก็คือการจำหน่ายรายการทะเบียนนั่นเอง       

        ดังนั้น การระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรจึงไม่อาจทำให้บุคคลตกอยู่ในความไร้รัฐหรือไร้สัญชาติ และเมื่อมีการตรวจสอบทางทะเบียนแล้วและพบว่าการจัดทำรายการทะเบียนนั้นเป็นไปตามที่กฎหมาย ระเบียบกำหนด หรือไม่พบความผิดพลาดทางทะเบียนราษฎรและมีการเพิกถอนคำสั่งระงับการเคลื่อนไหวทางทะเบียนราษฎรแล้ว บุคคลก็ยังมีสิทธิในสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรดังเดิม

       แต่หากผลการตรวจสอบทางทะเบียนแล้วพบว่ามีความไม่ถูกต้องในการจัดทำหลักฐานหรือรายการทะเบียนราษฎร นายทะเบียนก็จะจำหน่ายรายการทะเบียนที่ไม่ถูกต้องนั้น ส่วนผลที่จะเกิดขึ้นภายหลังการจำหน่ายรายการมักจะปรากฏใน ๒ ลักษณะ กล่าวคือ (๑) ถ้ารายการทะเบียนที่ไม่ถูกต้องและถูกจำหน่ายนั้นเป็นรายการที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงสถานภาพของบุคคล เช่น การเปลี่ยนจากคนไม่มีสัญชาติไทย (บุคคลประเภท ๖) ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๓  เป็นคนสัญชาติไทย (บุคคลประเภท ๕) ในทะเบียนบ้าน ท.ร.๑๔ โดยไม่ถูกต้อง เป็นต้น การดำเนินการกับรายการของบุคคลดังกล่าวจะเป็นลักษณะของการปรับสถานภาพเพื่อให้กลับคืนไปยังสถานะเดิมตามข้อเท็จจริงของเจ้าของรายการ ซึ่งกรณีเช่นว่านี้จะเกิดขึ้นได้กับบุคคล ๒ ประเภท กล่าวคือ ๑) เจ้าของรายการทะเบียนเป็นบุคคลที่ยังมีสิทธิอาศัยในประเทศไทย หรือ ๒) เป็นบุคคลที่มีสถานะเป็นคนไร้รัฐซึ่งหมายถึงเป็นบุคคลที่ไม่มีสถานะทางทะเบียนราษฎร เพราะทั้งสองกรณีนี้อาจทำให้บุคคลตกเป็นคนไร้สัญชาติได้หากไม่มีประเทศอื่นใดยอมรับสถานะคนสัญชาติ แต่อย่างไรก็ตาม บุคคลดังกล่าวก็ไม่ไร้รัฐ กล่าวคือรัฐไทยยังยอมรับว่ามีสถานะบุคคลตามกฎหมายทะเบียนราษฎรของรัฐไทย และ (๒) ถ้ารายการทะเบียนที่ไม่ถูกต้องและถูกจำหน่ายนั้นเป็นกรณีของบุคคลที่ไม่มีสิทธิอาศัยตามกฎหมายว่าด้วยคนเข้าเมือง และเป็นบุคคลที่มีชื่อในทะเบียนราษฎรของรัฐใดรัฐหนึ่งบนโลก กล่าวคือเป็นคนมีรัฐ  นายทะเบียนย่อมจำหน่ายรายการบุคคลดังกล่าวออกไปจากทะเบียนราษฎรไทยได้โดยไม่ต้องดำเนินการใดๆ กับสถานะของบุคคล ซึ่งการกระทำดังกล่าวไม่ผิดกฎหมายระหว่างประเทศที่ผูกพันประเทศไทย เพราะมิได้ทำให้บุคคลที่ถูกจำหน่ายรายการประสบความไร้รัฐแต่อย่างใด

หมายเลขบันทึก: 313778เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 22:48 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 มิถุนายน 2012 09:13 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

ข้าพเจ้าเชยที่ไม่ทราบว่า ท่านมีโกทูโนแล้ว

คราวนี้ ก็ลากลิงค์ไปให้นักศึกษาอ่านได้สบายหน่อย

เปิดอีกบล็อกเอาต้นฉบับหนังสือกฎหมายทะเบียนราษฎรมาใส่ได้ เป็นเวอร์ชั่นแก้ไขไปเรื่อยๆ จนกว่าจะพิมพ์ใหม่

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท