ผชช.ว.ตาก (16): วิทยากร "การจัดการความรู้สำหรับผู้บริหาร"


การจัดการความรู้เป็นกระบวนการเรียนรู้ที่อาศัยบรรยากาศเชิงบวกเพื่อทำให้เกิดการเปลี่ยนสถานะของความรู้ฝังลึกกับความรู้ชัดแจ้งให้เกิดประโยชน์จากการนำไปสู่การปฏิบัติจริงในงานประจำ

        ผมได้รับเชิญจากวิทยาลัยพยาบาลบรมราชชนนีอุตรดิตถ์โดยอาจารย์มณฑา ให้ไปช่วยบรรยายให้ผู้บริหารระดับตนที่ผ่านการอบรมหลักสูตรผู้บริหารระดับต้นแล้วมาทำ Refreshing course จำนวน 50 คน เป็นจังหวะที่ผมว่างในวันที่ 12 พฤศจิกายน 2552 พอดี โดยกำหนดการช่วงเช้า 9.00-12.00 น. ผมเดินทางตั้งแต่ 7 โมงเช้าไปถึงที่วิทยาลัยเกือบ 9 โมงเช้า ปรากฎว่า มีผู้บริหารมาเข้าร่วมกิจกรรมเพียง 7 คน จากทั้งรุ่น 49 คน ซึ่งผมคิดว่าอาจารย์ผู้จัดก็คงใจแป้วอยู่แล้ว ผมก็ไม่ว่าอะไรจะกี่คน ถ้ามีคนฟังเราก็บรรยายได้ นึกไปถึงตอนที่แม่ผมจ้างลิเกคณะวรเชษฐ์ ศิษย์กรุทอง มาแสดงที่วัดเชิงคีรี ศรีสัชฯ ปรากฎว่าฝนตกมาถล่มทลายก่อนแสดง จนเกือบแสดงไม่ได้ ทำให้มีคนดูแค่ไม่กี่สิบคน แต่ลิเกทุกคนก็แสดงกันอย่างเต็มที่ ไม่ให้เจ้าภาพเสียกำลังใจ

            ผมส่งเอกสารประกอบไปให้ก่อน และจัดทำสไลด์ประกอบบรรยาไปอีก 1 ชุด แต่ผมคิดว่า คนฟังแค่ 12 คน (มีอาจารย์ของวิทยาลัยร่วมฟังด้วย 5 คน) จะบรรยายตามสไลด์ก็คงไม่สนุกนัก ผมเลยขออนุญาตไม่พูดตามสไลด์แต่พูดจากประสบการณ์กันแบบปากเปล่า โดยผมขอเล่าประสบการณ์ทำงานที่สอดคล้องกับแนวทางการจัดการความรู้ให้ฟัง พร้อมเปิดโอกาสให้ผู้ฟังถามได้ตลอดเวลา

            การบรรยายKMของผม เนื้อหาต่างๆได้มาจากการถอดบทเรียนสมัยที่ผมทำงานที่โรงพยาบาลบ้านตาก แต่พูดคราวนี้ผมได้เล่าให้ฟังว่า ผมได้เอาหลักการเหล่านั้นมาใช้อีกรอบอย่างไรบ้างที่โรงพยาบาลสามเงา โดยที่ไม่ได้บรรยายหรือพูดถึงKMกับเจ้าหน้าที่เลย ผมคิดว่าผู้ฟังสนใจดีมาก ไม่หลับ มีการซักถามตลอดเวลา บรรยายกาศจึงเป็นกันเองเหมือนบอกเล่าเรื่องราวหรือพูดคุยกัน ลดความเป็นทางการลงไปอย่างมาก

            ผมได้ยกตัวอย่างแบบเล่าเรื่องเพื่อให้สะท้อนถึงแก่นของการจัดการความรู้ที่ถูกต้อง โดยผมพยายามสรุปให้เป็นแก่นชัดขึ้น เช่น

- การจัดการความรู้เป็นการใช้มุมมองเชิงบวกค้นหาสิ่งดีๆของตนเองและบุคคลรอบข้างมาสังเคราะห์ความรู้เพื่อนำมาใช้ประโยชน์ในการปฏิบัติงานต่อไป

- การจัดการความรู้ทำได้ 2 แนวทางคือเข้ารหัส (เน้นความรู้ในวัตถุ) กับเข้าคน (เน้นความรู้ในคน) แต่ต้องสร้างสมดุลให้เหมาะสม โดยเฑาะอย่าลืมแนวทางเข้าคน ที่มุ่งจัดการความรู้ส่วนใหญ่ 70-80 % ที่ใช้ในการทำงานจริง

- การจัดการความรู้มีวัตถุประสงค์สำคัญคือ งานดีขึ้น คน (ในองค์กร) ดีขึ้น (เก่ง มุ่งมั่น ทุ่มเท) และวิธีการทำงานดีๆหรือนวัตกรรมมากขึ้น ไม่ใช่การได้เอกสารถอดบทเรียนออกมาเป็นเล่มแล้วยัดเข้าไปไว้ในคลังความรู้อย่างเดียวโดยไม่นำไปสู่การปฏิบัติ

- การจัดการความรู้เป็นกระบวนการเรียนรูจากการใช้ข้อมูล ข่าวสาร (สารสนเทศ) ความรู้ไปสู่การปฏิบัติให้เกิดปัญญา

- การจัดการความรู้ต้องทำให้ครบวงจรคือแปลงความรู้ในคนให้เป็นความรู้ในวัตถุเพื่อให้คนอื่นๆนำไปประยุกต์ใช้โดยฝังเข้าไปในคนอีกครั้ง แล้วหมุนวนแบบนี้ไปเรื่อยๆ

- การจัดการความรู้ไม่มีรูปแบบตายตัว ต้องปรับให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ จึงอย่ายึดติดรูปแบบ การจัดการความรู้เป็นเหมือนน้ำ ไม่ใช่น้ำแข็ง

- การจัดการความรู้ต้องเกี่ยวพันกับคนอย่างแยกไม่ได้ ดังนั้นจึงต้องทำให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างผู้ที่จะมาแลกเปลี่ยนเรียนรู้กัน ทำนองการจัดการความรัก

- การจัดการความรู้เป็นเรื่องสมัครใจ ไม่ใช่บังคับกะเกณฑ์ ต้องทำให้คนมีใจที่อยากจะแลกเปลี่ยนเรียนรู้ พร้อมที่จะแลกเปลี่ยนเรียนรู้

- การจัดการความรู้เป็นการทำให้คนเอาสิ่งที่ได้ปฏิบัติจริงแล้วเห็นผลดีมาบอกเล่าหรือถ่ายทอดให้คนอื่นๆได้รับทราบ ในลักษณะใช้ดีจึงบอกเพื่อน

- การจัดการความรู้เป็นการพูดถึงเรื่องเก่า ท้าวความหลัง ซึ่งในการนำมาบอกเล่าถ่ายทอดอาจมีลักษณะน้ำท่วมทุ่งผักบุ้งโหรงเหรงไปบ้าง คนฟังก็ต้องพยายามเก็บผักบุ้งให้ได้

- เวทีการแลกเปลี่ยนเรียนรู้มีกฎกติกาที่สำคัญ 4 อย่างที่ขาดไม่ได้คือพูดอย่างจริงใจ ฟังอย่างตั้งใจ ถามอย่างซาบซึ้งใจ และจดอย่างเข้าใจใส่ใจ

- คนที่จะเอาสิ่งดีๆมาแลกเปลี่ยนให้คนอื่นๆนั้น คนที่มารับการถ่ายทอดต้องให้ความนับถือเขาด้วย จะทำให้เขามีความอยากที่จะถ่ายทอด จะส่งผลให้สามารถถ่ายทอดความรู้ฝังลึกๆในคนออกมาได้มาก

- การจัดการความรู้แบบบูรณาการ จะต้องมีความบูรณาการให้ครบ 5 กระบวนการคือ การจัดการให้เกิดการเรียนรู้ การจัดการให้เกิดองค์ความรู้ การจัดการให้เกิดการใช้ความรู้ การจัดการให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ และการจัดการให้เกิดคลังความรู้

- การจัดการความรู้กับองค์การแห่งการเรียนรู้ เป็นเรื่องเดียวกัน โดยการจัดการความรู้เป็นโครงร่างสำคัญขององค์การแห่งการเรียนรู้ (Knowledge management is a connective tissue of a learning organization: Dave Snowden)

- การจัดการความรู้ที่ดีต้องกำหนดทิศทาง บอกให้ชัดว่าจะทำอะไร แล้วจึงค่อยจัดเวทีแลกเปลี่ยนเรียนรู้จนเกิดขุมทรัพย์ความรู้ได้

- การวิจัยจากงานประจำ (R2R: Routing to research) เป็นตัวเชื่อมต่อสำคัญที่ทำให้ความรู้เชิงปฏิบัติจากการทำKMเปลี่ยนเป็นความรู้เชิงทฤษฎีที่มีความเป็นวิชาการสูงขึ้น คือเปลี่ยนจากPractical-based เป็น Theoretical-based

          ปรากฎว่า เวลาสามชั่วโมงของการพูดคุยเล่าสู่กันฟังได้อรรถรสที่ดี ผู้ฟังต่างมาขอบคุณที่ช่วยสรางความเข้าใจให้กระจ่างถึงแนวคิดที่สำคัญหรือแก่นของKMให้ฟังแบบง่ายๆ การเป้นวิทยากรในเวทีที่คนฟังน้อยที่สุดเท่าที่บรรยายมาจึงจบลงด้วยความสุขใจของผม ผู้ฟังและผู้จัด และผมคิดว่าผมตัดสินใจถูกที่รับบรรยายเพราะเดี๋ยวนี้ ผมรับบรรยายน้อยลงมาก

หมายเลขบันทึก: 313716เขียนเมื่อ 15 พฤศจิกายน 2009 16:30 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 กุมภาพันธ์ 2019 20:17 น. ()สัญญาอนุญาต: สงวนสิทธิ์ทุกประการจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เป็นการฝึกผู้นำได้ดีครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท