ลัทธิจักรวรรดินิยม (Imperialism)


จักรวรรดินิยม

คือนโยบายขยายอำนาจในการเข้าควบคุมหรือมีอำนาจบังคับบัญชาเหนือดินแดนต่างชาติ อันเป็นวิถีทางเพื่อการได้มาและ/หรือการรักษาจักรวรรดิให้ดำรงอยู่ต่อไปได้ ทั้งจากการขยายอำนาจเข้ายึดครองดินแดน โดยตรง และจากการเข้าคุมอำนาจทางอ้อมในด้านการเมือง และ/หรือทางเศรษฐกิจของประเทศอื่น ๆ บางคนใช้คำศัพท์นี้เพื่ออธิบายถึงนโยบายของประเทศใดประเทศหนึ่งในการคงไว้ซึ่งอาณานิคม และอิทธิพลเหนือดินแดนอันไกลโพ้น โดยไม่คำนึงว่าประเทศนั้น ๆ จะเรียกตนเองว่าเป็นจักรวรรดิหรือไม่ แต่อย่างไรก็ตาม มีการนำเอาคำว่า 'จักรวรรดินิยม' ไปใช้ในบริบทที่แสดงถึงความมีสติปัญญา/ความเจริญที่สูงกว่าด้วย ซึ่งในบริบทนี้คำว่า "จักรวรรดินิยม" มีนัยแสดงถึงความเชื่อที่ว่า การเข้าถือสิทธิยึดครองดินแดนต่างชาติและการคงอยู่ของจักรวรรดิเป็นสิ่งดีงาม เนื่องจากมีการประสมผสานรวมเอาหลักสมมุติฐานที่ว่า โดยธรรมชาติแล้วชาติมหาอำนาจจักรวรรดินิยมนั้นจะมีวัฒนธรรมและความเจริญด้านอื่น ๆ เหนือกว่าชาติที่ถูกรุกรานเข้าไว้ด้วย

ลัทธิจักรวรรดินิยม จะมีแนวคิดการอ้างอิงถึง “ภาระคนขาว” หรือ "White Man's Burden" บทกวี 7 ตอนที่เขียนโดยรัดยาร์ด คิปลิง (กวีชาวอังกฤษ ซึ่งเกิดและเติบโตในอินเดีย ผู้ประพันธ์ วรรณกรรมอมตะ เมาคลีลูกหมาป่า) ในบทกวีนี้ระบุว่าจักรวรรดินิยม และการล่าอาณานิคมนั้นเป็น “สิ่งจำเป็น” และเป็นภาระอันยิ่งใหญ่ของคนขาว เพราะอารยธรรมคนขาวนั้นอยู่เหนืออารยธรรมชาติอื่นที่ไม่ใช่คนขาว แม้ว่า “ภาระคนขาว” ที่ว่านี้จะหมายรวมถึงการใช้ความรุนแรงกับคนอื่นก็ตาม และ การการฆ่าล้างเผ่าพันธุ์ซึ่งเกิดขึ้นในหลากหลายพื้นที่ในโลกใบนี้ ก็รวมอยู่ใน“ภาระ” อันชอบธรรมของคนขาวด้วยเช่นกัน

นักมาร์กซิสต์ใช้ศัพท์คำว่า "จักรวรรดินิยม" ในความหมายเช่นที่เลนินให้คำจำกัดความไว้คือ "สภาวะ/ขั้นตอนสูงสุดของลัทธิทุนนิยม" โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ทุนการเงินผูกขาดได้กลายเป็นปัจจัยสำคัญยิ่ง ในการบีบให้ประเทศจักรวรรนิยมทั้งหลายต้องแข่งขันระหว่างกันเองเพิ่มมากขึ้นเพื่อให้สามารถเข้าควบคุมแหล่งทรัพยากร และตลาดทั่วโลกไว้ได้ การเข้าควบคุมนี้อาจอยู่ทั้งในรูปแบบของการใช้เครื่องมือทางภูมิรัฐศาสตร์, การใช้กองกำลังทหารเข้ายึด หรือการยักย้ายถ่ายเททางการเงินก็ได้

สาระสำคัญของทฤษฎีมาร์กซิสต์ที่เกี่ยวกับลัทธิจักรวรรดินิยม หรือทฤษฎีที่เกี่ยวข้องอื่นๆ เช่น ทฤษฎีพึ่งพา (dependency theory) นั้นต่างก็มุ่งเน้นไปที่ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจระหว่างประเทศต่างๆ มากกว่าความสัมพันธ์ที่ชัดเจนทางการเมือง ดังนั้นลัทธิจักรวรรดินิยมในทฤษฎีของมาร์กซิสต์จึงไม่เพียงแต่ประกอบด้วยการเข้าควบคุมปกครองประเทศใดประเทศหนึ่งโดยตรงเท่านั้น แต่ยังครอบคลุมไปถึงการกดขี่ขูดรีด แสวงหาผลประโยชน์ทางเศรษฐกิจในภูมิภาคหนึ่ง โดยภูมิภาคอื่น ๆ หรือโดยกลุ่มใดกลุ่มหนึ่งจากนอกภูมิภาคด้วย ความหมายของจักรวรรดินิยมที่มาร์กซิสต์ใช้นี้ตรงกันข้ามกับความหมายที่คนส่วนใหญ่เข้าใจ ซึ่งโดยปกติมักจะเข้าใจกันว่า "ลัทธิจักรวรรดินิยม" นั้นมีความหมายเกี่ยวข้องกับยุคสมัยที่ประเทศมหาอำนาจขยายอิทธิพลเข้าปกครองควบคุมเหนือดินแดนอันกว้างใหญ่ไพศาลไว้โดยตรง มากกว่าที่จะเป็นการเข้าควบคุมครอบงำทางเศรษฐกิจ อันเป็นลักษณะเหมือนกันกับที่บางประเทศในโลกปัจจุบันนี้เข้ามีอิทธิพลครอบงำเหนือชาติอื่นๆ ซึ่งความเข้าใจในลักษณะนี้ เป็นผลมาจากการผนวกรวมเอาความหมายของลัทธิจักรวรรดินิยม เข้ากับคำว่า ลัทธิอาณานิคม ซึ่งเป็นการขยายอำนาจด้วยการเข้าไปตั้งดินแดนภายใต้ปกครองหรืออาณานิคมขึ้นในดินแดนโพ้นทะเล

รูปแบบการล่าอาณานิคมในยุคเดิมนั้นประกอบด้วยหลักการ 4 C นั่นคือ

Commerce – การค้า  ใช้การค้าเป็นข้ออ้างหรือเครื่องบังหน้า การเข้าครอบครองมีเป้าหมายสำคัญในการดูดกลืนทรัพยากรของเมืองขึ้นไปใช้ในประเทศของตน ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุด คือ การที่อังกฤษอาศัยบริษัทอิสต์อินเดีย เป็นฐานเข้าไปครอบงำอินเดียเพื่อรับสัมปทานป่าไม้ เหมืองแร่ เครื่องเทศ โดยมีการจัดตั้งกองกำลังเพื่อปกป้องผลประโยชน์ของบริษัทขณะเดี่ยวกันก็ใช้เป็นเครื่องมือบุกรุก สู้รบ และครอบครองเมืองใหญ่น้อยในอินเดีย

Christianity – ศาสนาคริสต์ เป็นวิธีการที่ประเทศฝรั่งเศสใช้ในการยึดครองอาณานิคม โดยอ้างการเผยแพร่ศาสนาเป็นหลัก หากประเทศใดๆ ไม่ยอมรับการเข้ารีตศาสนาคริสต์ ก็จะใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังทหารเข้ายึดครองประเทศนั้นๆ ตัวอย่างที่ชัดเจนที่สุดคือ เมื่อ ฟรานซิส การ์นิเยร์ ซึ่งเป็นนายทหาร นักสำรวจและนักเขียนชาวฝรั่งเศส อาศัยข้ออ้างที่ว่าชาวญวณ ปฎิเสธศาสนาคริสต์ และทำการสังหารชาวญวณคริสต์ซึ่งเป็นคนเชื้อชาติเดียวกัน แต่แตกต่างเพียงความเชื่อทางศาสนา ล้มตายไปราว 20,000 คน และอีกราว 70,000 คน ต้องไร้ที่อยู่ ทำให้จักรวรรดินิยมฝรั่งเศสสนับสนุนกองกำลังทหารเข้าทำการบุกและยึดครองอินโดจีน โดยสามารถยึดครองอินโดจีนได้อย่างเด็ดขาด

(มีการกล่าวเกี่ยวกับเรื่องนี้ไว้ว่า พ่อค้าอังกฤษจะมากับเรือปืนและกองกำลังทหาร ส่วนบาทหลวงฝรั่งเศสจะมากับนักสำรวจและกองกำลังทหาร)

Clean – ความสะอาด เป็นข้ออ้างที่จักรวรรดินิยม ใช้เป็นข้ออ้างอีกประการในการยึดครองดินแดนอื่นๆ โดยระบุว่าประเทศที่เข้าทำการยึดครองนั้นป่าเถื่อน คุณภาพชีวิตความเป็นไม่ได้มาตรฐาน ต้องทำการจัดระเบียบชีวิตและสังคมให้ ไม่ว่าจะเป็น การแต่งกายจากที่ไม่มีเครื่องนุ่งห่ม ก็ต้องสวมใส่เครื่องนุ่งห่มที่มิดชิด สวมรองเท้า ทำการชำระร่างกายให้สะอาดด้วยสบู่ และแปรงฟันให้ขาวสะอาด  หากมองในมุมมองของมายาคติในเรื่องนี้เราสามารถสังเกตเห็นได้จากสื่อโฆษณาผลิตภัณฑ์ชำระความสะอาดให้ร่างกาย ทั้งของไทยและต่างประเทศไม่ว่าจะเป็น สบู่ ครีมอาบน้ำ น้ำยาสระผม จะเห็นได้อย่างชัดเจนว่า นางแบบผู้โฆษณานั้น จะต้องมีผิวขาวและมีแรงดึงดูดทางเพศสูง

Civilization – ความเจริญก้าวหน้าในเชิงวัตถุ  เป็นรูปแบบที่มีการต่อต้านน้อยที่สุด เพราะอาศัยความเจริญมั่งคั่งเป็นเครื่องจูงใจ เมื่อได้อำนาจครอบครองประเทศใด ผู้ครอบครองก็บังคับให้ประชาชนที่เป็นเมืองขึ้นศึกษาเล่าเรียนภาษา ขนบธรรมเนียมประเพณีของตน สร้างค่านิยมให้เกิดขึ้นว่า ภาษาและวัฒนธรรมของผู้เป็นเจ้าอาณานิคมเหนือหรือดีกว่าภาษาหรือวัฒนธรรมของตนเอง เช่น อังกฤษบังคับให้อินเดีย พม่า ฯลฯ เรียนภาษาอังกฤษ ฝรั่งเศสบังคับให้ลาว เขมร เวียตนาม ฯลฯ เรียนภาษาฝรั่งเศส

คำสำคัญ (Tags): #จักรวรรดินิยม
หมายเลขบันทึก: 312920เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 10:02 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 01:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท