หนังสือเล่มหนึ่งซึ่งเคยอ่านแล้วกลับมาอ่านใหม่


สนิมสร้อย

สมัยผมเป็นนักศึกษาน้องใหม่ปริญญาตรี ผมเคยหยิบหนังสือซึ่งเป็นเล่มนึงจากชั้นในห้องสมุดมาอ่าน ซึ่งเป็นผลงานของ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ. 2538 ผู้ล่วงลับหนังสือเล่มนั้นชื่อ “สนิมสร้อย” ครั้งแรกไม่ได้คิดอะไรมากไปกว่า อยากลองอ่านเพราะปีนั้นคุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์ ได้รับการยกย่องเป็นศิลปินแห่งชาติ และจากการที่ได้เคยพบ ได้ฟัง คารมเด็ดจาก “ตัวจริง” ของคุณ รงค์  ณ.ร้านอาหารติดแม่น้ำปิงแห่งหนึ่ง ที่ว่า “แอลกอฮอล์ 10 แก้ว ไม่ทำให้ผมมึนเมาได้เท่ากับสบตาคุณเพียงแค่แว๊บเดียว”

                หลังจากอ่านจบ ผมเกิดอาการมึนงงไปกับเอกลักษณ์ของงานเขียนซึ่งใช้คำยุคเก่า แต่สื่อถึงเรื่องราวที่ทันสมัย ผมแทบไม่สามารถทำความเข้าใจเรื่องราวที่ผู้เขียนต้องการสื่อสารออกมาด้วยตัวหนังสือ จำได้เพียงว่าผมอุทานออกมาว่า “เฮ้ยนี่มันมหากาพย์คุณโสนี่หว่า”

                เวลาผ่านไปจนถึงปี พ.ศ.2552 ซึ่ง คุณ รงค์ ได้เสียชีวิตจากอาการเส้นเลือดในสมองแตก เมื่อเวลาประมาณ 18.05 น. ของวันที่ 15 มีนาคม ณ โรงพยาบาลเทพปัญญา จังหวัดเชียงใหม่ ผมมีโอกาสได้อ่านหนังสือเล่มนี้อีกครั้งจากความอนุเคราะห์ของรุ่นพี่  และในการอ่านครั้งนี้ผมได้อะไรดีๆ จากหนังสือเยอะมากเลยครับ

สนิมสร้อย เป็นนวนิยายขนาดยาวมีพล๊อตเรื่องหลวมๆแบบจบในตอน พิมพ์ครั้งแรกในสยามรัฐสัปดาห์วิจารณ์ เป็นตอนๆ และได้พิมพ์รวมเล่มเป็นครั้งแรกโดยสำนักพิมพ์ผดุงศึกษา มีนาคม พ.ศ. 2504 เนื้อหาภายในนวนิยายเกี่ยวกับซ่องโสเภณีชั้นสูงแห่งหนึ่งในกรุงเทพ สมัยราวต้นปี 2500 ยุคที่ยังไม่มีอาบอบนวด ศูนย์การค้าก็ยังไม่มี วังบูรพาเพิ่งจะเป็นแหล่งชุมนุมของวัยรุ่น โดยมีพี่สมรเป็นเจ้าของซ่อง และนายก้าน เป็นแมงดาคุมซ่องผู้มีกิริยาสุภาพ ซึ่งเรื่องราวทั้งหมดนำเสนอจากมุมมองของก้าน โดยเรื่องราวนั้นสุดแสนจะสมจริง เพราะคุณ รงค์ ได้ลงทุนไปกินอยู่ในซ่องเป็นเดือนๆเพื่อให้ได้เรื่องราวเหล่านี้มาอ่านกัน โดยเป็นการนำเสนอสภาพสังคมและเศรษฐกิจยุคนั้นผ่านมุมมองของคนในซ่อง สำนวนสลับแสลงแปลกหู การตีแผ่เรื่องราวที่มาที่ไปของบรรดาผู้หญิงทั้งหลายที่เดินมาบนเส้นทางสายนี้ ไม่ว่าจะเป็น

พี่สมร - เจ้าของกิจการผู้ผ่านชีวิตอย่างโชกโชน

วงเดือน – ผู้ซึ่งถูกแม่เอามาขายแบบอ้อมๆตั้งแต่อายุ 15 โดยเธอเองก็พอใจกับงานและเงินแบบง่ายๆ

สมทรง - ผู้ไม่พอใจชีวิตที่เรียบง่าย

สิรี - ผู้ถูกแม่ยินยอมให้พ่อเลี้ยงขืนใจ

นารี - ที่หนีจากความใจแคบของแม่เลี้ยง

อิ่มตา - ผู้หวังจะได้รักแท้สักที

มีผู้หญิงหลายงคนออกมาทำเพียงชั่วครั้งคราว ซึ่งน่าจะหมายถึงเด็ก Sideline ในสมัยนี้ นอกจากนั้นในหนังสือยังนำเสนอกลุ่มตัวละครผู้ชายนักเที่ยวซึ่งมีที่แตกต่างกัน บางคนมาหารักแท้ เพราะครอบครัวไม่สามารถตอบสนองให้ได้ บางคนมาเพื่ออวดเบ่งต้องการแสดงอำนาจที่เหนือกว่าเพศตรงข้าม บางคนมาใช้บริการเพราะความเหงา ทั้งที่มาจากแฟนทึ้ง หรือเลิกกับคนรัก

ราคาค่าตัวของเด็กในสนิมสร้อยนั้นแพงมาก นั่นคือ 300 บาท ในยุคซึ่งก๋วยเตี๋ยวหรือข้าวราดแกงชามละ 6 สลึง และเงินเดือนของข้าราชการระดับขั้นแรกอยู่ที่ 400 บาท  ทำให้ซ่องในสนิมสร้อยเป็นซ่องระดับสูง

                ในยุคปัจจุบัน ซึ่งห่างจากยุคในหนังสือมาหลายสิบปี สังคมไทยยังแทบไม่เปลี่ยนไปในแง่มุมเรื่องเพศ ไม่ยอมรับ และถือเป็นเรื่องราวที่ต้องปกปิด ถึงแม้ในยุคปัจจุบัน ซ่องอาจจะแทบจะสูญหายไปจากสังคมไทย แต่มันกลับไปแอบแฝงอยู่ในรูปแบบของอาบอบนวด คาราโอเกะ สนนราคาในการให้บริการก็มีตั้งแต่หลักร้อย ไปจนถึงหลักหมื่น มีหญิงสาวมากมายหลากหลายวัยตั้งแต่เด็กอายุ 10 กว่าขวบ จนถึงวัยกลางคนได้เข้าไปในวงจรนี้ใน โดยจุดประสงค์ที่เข้าไปนั้น ก็ไม่ได้แตกต่างจากตัวละครทั้งหลายในสนิมสร้อย  ผมไม่สามารถตัดสินได้ว่าคนที่เลือกทำงานอย่างนี้เป็นเรื่องผิดหรือถูก คนเรามันเกิดมามีโอกาสไม่เหมือนกัน

เมื่อนำมาพิจารณาเทียบกับเรื่องราวของนักศึกษาขายตัว ซึ่งพวกนักการเมืองหลายๆคนฉวยโอกาส นำมาเป็นนโยบายหรือหนทางสู่อำนาจของตนนั้น ผมมองว่าต้องพิจารณาเป็นกรณีเพราะส่วนนึงคนกลุ่มนี้มองว่าการขายตัวเป็นเรื่องของการ “สมยอมด้วยความเต็มใจ” ซึ่งไม่ว่าจะมาจากสาเหตุใดๆก็ตาม เราต้องย้อนกลับไปดูวิธีคิดของคนกลุ่มนี้ว่าได้รับการปลูกฝังทัศนคติแบบนี้มาได้อย่างไร ทำไมเขาจึงคิดว่า เขาจึงคิดว่าเงินคือทุกอย่าง ยอมเสียอะไรก็ได้เพื่อให้ได้มันมา แต่หากไม่ได้เป็นการสมยอม ก็เป็นหน้าที่ของทุกๆฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องร่วมกันแก้ไข

(ในเรื่องนี้ผมเคยถามจากเพื่อนซึ่งเป็นเจ้าหน้าที่ตำรวจซึ่งดูแลรับผิดชอบคดีเหล่านี้พบว่า ทุกครั้งหลังจากการเขาจับกุมสถานที่ท่องเที่ยวแบบนี้และทำการช่วยเหลือผู้หญิงที่ทำงานในที่นั้นโดยการส่งไปบำบัดฟื้นฟูจิตใจ ฝึกอาชีพและส่งกลับภูมิลำเนา ซึ่งมีทั้งชาวไทยภูเขา และต่างด้าว แต่ทุกครั้งที่มีการเข้าทำการจับกุมซ้ำ จะเจอกับผู้หญิงหลายคนซึ่งเคยช่วยเหลือออกมาแล้วกลับมาทำงานใหม่ทุกครั้งไป นอกจากนั้นยังมีการชักชวนเพื่อนหรือญาติๆ ในภูมิลำเนาเดียวกันมาทำงานเพิ่มเติมอีกด้วย ซึ่งประเด็นนี้เป็นสิ่งซึ่งน่าสนใจทำการศึกษาวิจัยในเชิงลึกเป็นอย่างมาก)

บทสรุปส่วนตัวผมว่าสนิมสร้อยเป็นนิยายที่ดีที่สุดเรื่องหนึ่งที่ผมเคยอ่าน จุดสูงสุดในหนังสือนั้น มาจากปากคำของก้านที่ได้บอกไว้นั่นคือ “ข้าพเจ้าไม่สนใจหรอกว่าอะไรทำให้ผู้หญิงหันเหมาสู่อาชีพมากขึ้นทุกปี จะด้วย ความยากจน ดนตรีร๊อคแอนน์โรล (อีกนัยยะหมายถึงการหลั่งไหลเข้ามาของกระแสวัฒนธรรมตะวันตก) ความเกียจคร้าน หรือ ความโง่เขลา”  กาลเวลาผ่านไปนานเพียงใด แต่สาเหตุที่พวกผู้หญิงหลุดเข้ามาในวงจรเหล่านี้ก็ยังวนเวียนใน 4 ข้อนี้ไม่มีเปลี่ยน

คำสำคัญ (Tags): #สนิมสร้อย
หมายเลขบันทึก: 312917เขียนเมื่อ 12 พฤศจิกายน 2009 09:57 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 15:18 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

ไม่อนุญาตให้แสดงความเห็น
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท