นักศึกษาแพทย์อยากทำความดี


นักศึกษาแพทย์ของผมอยากทำความดี

       เมื่อต้นเดือนตุลาคมที่ผ่านมา นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ที่อยู่ในความดูแลของผมเองมาคุยกับผม เพราะว่าเขาอยากจะทำความดีให้เป็นศรีแก่ตัวเอง แต่จะว่าไปก็คงไม่ถูกสักทีเดียวนักนะครับ ทั้งนี้เป็นเพราะว่ามันเป็นกิจกรรมที่หลักสูตรได้กำหนดไว้ต่างหาก ว่านักศึกษาจะต้องประกอบกิจกรรมบำเพ็ญประโยชน์หนึ่งอย่าง

       แรกเริ่มเดิมที พวกเขาประชุมกันแล้วว่าจะไปปลูกป่ากันที่จังหวัดสุราษฎร์ฯบ้านเกิดผมเอง แต่ไอ้เราผู้เปี่ยมล้นด้วยประสบการณ์ มองปร๊าดเดียวก็รู้ว่าเขาอยากเที่ยว เลยเบรกโปรเจคของเขาไว้ก่อน แล้วถามไปว่า “ปลูกต้นไม้แล้วจะได้อะไร (วะ)” “ช่วยลดโลกร้อนครับ’จารย์” โธ่ถัง ปลูก 10 ต้นคงช่วยได้กระมัง “แล้วนี่อยากจะปลูกต้นอะไรกัน ปลูกไม้สักที่ป่าชายเลนกันไหม หรือว่าปลูกดอกบัวตองกันดี ฮ่า ฮ่า...อันนี้คิดในใจครับ” ว่าแล้วก็เสนอไปว่า หากอยากจะเที่ยว ก็กรุณาเที่ยว เที่ยวให้เป็นเรื่องเป็นราวไปเลย ผมแนะนำให้เขาไปเที่ยว “เกาะพงัน” เพราะที่นั่นสวยและสบาย ที่ว่าสบายก็เพราะมีลูกศิษย์เป็นหมออยู่ที่พงันหนึ่งคน “คุณหมอพัฒน์” คือคนที่ผมกล่าวถึง เขาน่าจะดูแลน้องๆได้อย่างดี อีกทั้งไปนอนในบ้านพักของโรงพยาบาลนั้นเท่ไม่หยอกหรอกครับท่าน ดีไม่ดี ยังได้มีโอกาสดูงานของโรงพยาบาลชุมชนอีกด้วย

       คราวนี้เลยต้องมานั่งใคร่ครวญกันใหม่ ว่าจะเอายังไงกันดี อยากทำดีช่วยลดโลกร้อนสักหน่อย กลายเป็นว่ามีพญามาร’จารย์แป๊ะขัดขวางเอาไว้เสียแล้ว ข้อสรุปอยู่ในใจผมครับ เพราะผมเองมีความฝันส่วนตัวว่าอยากให้มีกิจกรรมสำหรับเด็กป่วยบ้าง อยากมานานมาก สงสัยคราวนี้จะมีคนช่วยจริงๆเสียที เลยถามพวกเขาว่า “อยากไปเล่นกับเด็กๆป่วยด้วยโรคเรื้อรังไหม” !..!..! เป็นสัญลักษณ์แทนคำตอบ เพราะบรรดาลูกศิษย์ทั้งหลายซึ่งล้วนเป็นนักศึกษาปีที่ 2 นั้นไม่เคยเห็นและรู้จัก เขาไม่เคยขึ้นมาบนวอร์ดเลย ผมจึงอธิบายไปว่า เด็กป่วยด้วยโรคเรื้อรังเหล่านี้ล้วนน่าสงสาร หลายคนเป็นโรคมะเร็ง บางคนเป็นโรคเลือดออกไม่หยุด ต้องมานอนในโรงพยาบาลอยู่เรื่อยๆ จนหลายครั้งไม่สามารถเรียนหนังสือหนังหาได้ตามปกติเหมือนเด็กคนอื่นๆ หลายคนอ่านหนังสือไม่ออก “เราน่าจะมาอ่านหนังสือให้เด็กๆเหล่านี้ฟังกัน น่าจะดีไหม” และนี่จึงเป็นที่มาของโครงการ “แบ่งปันรอยยิ้ม” ของนักศึกษาแพทย์กลุ่มอาจารย์ธนพันธ์

       ย้อนกลับไปสมัยที่ผมยังคงเป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 อยู่นั้น วอร์ดเด็กชั้น 6 เป็นวอร์ดที่สร้างความสะเทือนใจให้กับผมเป็นอย่างมาก ทั้งนี้เพราะว่าที่นี่มีแต่เด็กป่วยด้วยโรคเรื้อรัง บางคนเป็นมะเร็ง เช่น Rhabdomyosarcoma ผมเรียกสั้นๆว่า “เด็กแร๊พ” หลายคนเป็นมะเร็งเม็ดโลหิตขาว (leukemia) ลักษณะเด่นของเด็กกลุ่มนี้ก็คือ หัวล้านโป๊งเหน่ง เพราะพวกเขาได้รับการรักษาด้วยยาเคมีบำบัด ผมจึงร่วงผลอยกันไปตามๆกัน หลายคนมองเห็นหัวแววมาแต่ไกล เด็กบางคนป่วยด้วยโรคฮีโมฟิลเลีย ซึ่งขาดสารในการกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด ทำให้เลือดออกเองง่ายมาก และมักเป็นที่ข้อเข่า ข้อศอก เป็นกันทีหนึ่งก็เดินกันไม่ไหวเพราะปวดข้อเหลือเกิน ต้องมานอนโรงพยาบาลเพื่อให้สารประกอบของเลือดเพื่อกระตุ้นการแข็งตัวของเลือด อยู่ไปอยู่มาก็ “ข้อติด” ขยับไม่ได้ เดินเป๋บ้าง ข้อศอกงอบ้าง น่าสงสารนัก สิ่งหนึ่งที่จะได้รับจากคนไข้ตึกนี้ก็คือ ความสนิทสนมฉันท์พี่น้อง เพราะเราก็เป็นแค่พี่นักศึกษาแพทย์หน้าใหม่ไก่อ่อน ไอ้เจ้าเด็กแก่วอร์ดก็เลยสอนมวยพี่ๆเสียเลย อยู่ไปอยู่มาก็เลยรักเด็กกลุ่มนี้มากเป็นพิเศษ หลายคนก็ตายไปต่อหน้าต่อตา เรียกน้ำตาพวกเรามานักต่อนัก นี่คงเป็นอีกสาเหตุหนึ่งกระมัง ที่ผมไม่อยากเป็นหมอเด็ก

       ผ่านมาอีกนานแสนนาน ผมก็ยังคงคิดถึงไอ้เจ้าบังเล๊าะ เด็กแร็พสุดที่รักของผม เบิร์ดและโดม เด็กชายผู้มีเข่าติด ศอกติด ก็ยังคงอยู่ในหัวใจของผม พวกนี้มีปัญหาเรื่องการเรียนทั้งนั้น เพราะกว่าครึ่งชีวิตที่เขามีนั้นล้วนอยู่แต่ในโรงพยาบาล ปัญหาจากการอ่านหนังสือไม่ออกเป็นปัญหาที่ทำให้เขาไม่สามารถเข้าถึงความรู้อย่างที่เด็กๆคนอื่นทำได้ ผมจึงเคยมีความฝันว่า นักศึกษาแพทย์น่าจะใช้เวลาว่างเดินไปเล่นกับพวกเขาบ้าง อ่านหนังสือให้ฟังบ้าง รวมถึงการสอนให้อ่านและเขียน แต่นั่นมันก็แค่ความฝันของผมเท่านั้นเองครับ และตอนนี้ผมกำลังหลอกล่อให้ลูกศิษย์มาติดกับดักเข้าแล้ว ฮ่า ฮ่า...

       เมื่อทุกคนเห็นร่วมกันว่าจะทำงานบำเพ็ญประโยชน์แบบนี้ ผมจึงเป็นคนไปติดต่อกับท่านอาจารย์หมอสมชาย หัวหน้าภาควิชากุมารเวชศาสตร์ เพื่อขออนุญาต ซึ่งท่านก็ดีใจหาย ตอบตกลงปลงใจไปกับผมแทบจะในทันที (สำเร็จไปอีกเปลาะหนึ่ง) ขั้นต่อมาก็คือให้นักเรียนเขียนโครงการมาส่ง ซึ่งก็ช่วยขัดเกลาจนมาเป็นแบบนี้

 

ชื่อโครงการ  : แบ่งปันรอยยิ้ม

 

หลักการและเหตุผล

       ความเจ็บป่วยทุกชนิด ล้วนก่อให้เกิดผลกระทบหลายด้าน ทั้งทางด้านร่างกายและจิตใจของผู้ป่วยประการหนึ่ง อีกทั้งผลกระทบทางด้านสังคมและครอบครัวก็มีความเกี่ยวเนื่องถึงกัน ซึ่งจะเห็นได้จากความรู้สึกเป็นทุกข์ของผู้ใกล้ชิดผู้ป่วย การขาดงาน การขาดเรียน เป็นต้น และการเจ็บป่วยในผู้ป่วยที่เป็นเด็กนั้น มีลักษณะที่แตกต่างจากการเจ็บป่วยในวัยอื่นๆ อันสืบเนื่องมาจากผลกระทบที่สำคัญจากการเจ็บป่วยทางกายก็คือ พัฒนาการทางด้านต่างๆของการเจริญเติบโตทางกาย สมอง และการปรับตัวของเขาต่อการเป็นโรคทั้งโรคชนิดเฉียบพลันและโรคเรื้อรัง การปรับตัวให้เข้ากับสังคมทั้งในโรงพยาบาล โรงเรียน และครอบครัว

       นักศึกษาแพทย์กลุ่ม PBL 5 ชั้นปีที่ 2 ได้มีความสนใจในบริบทของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง เนื่องจากผู้ป่วยกลุ่มนี้จำเป็นต้องได้รับการรักษาในโรงพยาบาลเป็นระยะเวลานานๆ ครั้นเมื่อทุเลาหรือหายจากโรคในระยะเวลาหนึ่ง ก็มีโอกาสต้องเข้ามารับการรักษาในโรงพยาบาลซ้ำๆ จึงทำให้ขาดโอกาสในการศึกษารวมทั้งประสบการณ์การใช้ชีวิตในสังคมเหมือนเด็กทั่วไป จากปัญหาดังกล่าวน่าจะก่อให้เกิดผลกระทบทางด้านจิตใจเป็นอย่างมาก เช่น ภาวะซึมเศร้า

       โครงการ “แบ่งปันรอยยิ้ม” จึงเกิดขึ้นมา เพื่อให้นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสเข้าไปมีส่วนร่วมและช่วยเหลือในการฟื้นฟูจิตใจของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง โดยอาศัยกิจกรรมการอ่านหนังสือ การเล่านิทานให้เด็กๆฟัง อีกทั้งการเข้าไปพูดคุยคลุกคลีกับผู้ป่วย และ/หรือญาติของผู้ป่วย อาจจะมีส่วนในการรับฟังสภาวะและผลกระทบทางจิตใจของทั้งผู้ป่วยและครอบครัวได้อีกทอดหนึ่ง นอกจากนี้นักศึกษาแพทย์ยังได้ฝึกสังเกตพฤติกรรมของผู้เข้าร่วมกิจกรรมว่ามีการตอบสนองอย่างไร รวมถึงฝึกสังเกตความรู้สึกของตนที่มีต่อกิจกรรมนี้ด้วย สิ่งเหล่านี้จะช่วยให้เกิดพัฒนาการที่ดีของการศึกษาในวิชาแพทย์ ที่มุ่งเน้นให้มีการบูรณาการความรู้มาใช้ได้อย่างครอบคลุมทั้งเรื่องกาย จิตใจ และสังคม

 

วัตถุประสงค์

  1. เพื่อเป็นส่วนร่วมในกระบวนการฟื้นฟูสภาพจิตใจของผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง
  2. เพื่อพัฒนาทักษะในการสื่อสารกับผู้ป่วยเด็ก โดยใช้กิจกรรมการอ่านหนังสือและเล่านิทาน
  3. เพื่อพัฒนาทักษะในการเข้าหา และเข้าถึงข้อมูลทางด้านกาย จิตใจ และสังคมของผู้ป่วยและครอบครัว

 

เป้าหมาย/กลุ่มเป้าหมาย

ผู้ป่วยเด็กที่เป็นโรคเรื้อรัง หอผู้ป่วยเด็ก 2 ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ โรงพยาบาลสงขลานครินทร์

 

ขั้นตอนการดำเนินงานและแผนการดำเนินโครงการ

ขั้นตอนวางแผนงาน

  1. ประชุมคิดเค้าโครงการ
  2. เข้าพบอาจารย์ที่ปรึกษา
  3. หาข้อมูลและความเป็นไปได้ในการทำโครงการ
  4. ประชุมเขียนโครงการ

 

ขั้นตอนการดำเนินงาน

  1. พบอาจารย์ที่ปรึกษา เพื่อปรึกษาความเป็นไปได้ของการจัดทำโครงการ
  2. เขียนโครงการ
  3. นำเสนอโครงการต่ออาจารย์ที่ปรึกษา
  4. ส่งและขออนุมัติโครงการ
  5. ดำเนินกิจกรรมของโครงการ

            - จัดหาหนังสือเพิ่มเติมโดยการซื้อ และขอรับบริจาค

            - นักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 2 ขอความร่วมมือจากนักศึกษาแพทย์ชั้นปีที่ 5 ที่กำลังศึกษาในกองกุมารเวชศาสตร์ เพื่อเป็นคนเชื่อมโยงในการเข้าพบผู้ป่วย

            - จัดกิจกรรมในทุกวันอาทิตย์ (หรือเสาร์) ช่วงเวลา 13-15.00 น. โดยมีตารางกำหนดรายชื่อผู้ดำเนินกิจกรรมไว้ในหอผู้ป่วยตลอดภาคการศึกษา

            - ช่วงที่จัดกิจกรรม แบ่งให้นักศึกษาแพทย์ 1-3 คนทำหน้าที่อ่านหนังสือ อีก 1 คนมีหน้าที่ในการสังเกตพฤติกรรมของผู้ร่วมกิจกรรม

            - มีการประเมินความรู้สึกของผู้จัดกิจกรรมในทุกวันที่ดำเนินงาน วัตถุประสงค์หลักเพื่อเป็นการสะท้อนความรู้สึก โดยใช้ blog เป็นช่องทางในการสื่อสาร

  1. ประชุมสรุปผลโครงการต่ออาจารย์ที่ปรึกษา
  2. จัดนิทรรศการนำเสนอโครงการ

 

 

 

ระยะเวลาดำเนินการ ตลอดภาคการศึกษาที่ 2 ปีการศึกษา 2552

 

 

ผู้รับผิดชอบโครงการ

  1.  นางสาวชมพูนุท            ลิ่มรัชชพงศ์     5110310024
  2.  นายชวลิต    สุขสง่า       5110310026
  3.  นางสาวณัฐชนา             เปรมปราชญ์    5110310042
  4.  นายณัฐวุฒิ   ปรีชาปัญญากุล 5110310048
  5.  นายธนพฤธ อิสระวัฒนา 5110310060
  6.  นางสาวบุศวรรณ            ถิระผลิกะ        5110310087
  7.  นางสาวฟ้าใส               รัตนบุรี    5110310109
  8.  นายภาณุพงศ์               ศรีอินทร์เกื้อ    5110310112
  9.  นายวรรธนะ บูรพเกียรติ 5110310133
  10. นางสาวอาลีม๊ะห์        จินาแว      5110310181

 

 

ผลที่คาดว่าจะได้รับ

  1. ผู้ป่วยเด็กมีความสุขที่ได้เข้าร่วมกิจกรรม
  2. นักศึกษาแพทย์มีความสุขที่ได้จัดกิจกรรม
  3. สร้างค่านิยมที่ดีในการแบ่งปัน

 

       ฮ่า ฮ่า สุดท้าย ความฝันที่อยากจะให้เด็กชั้น 6 (เป็นหอผู้ป่วยโรคเรื้อรังและไม่ติดเชื้อ) ได้มีพี่ๆมาร่วมเล่นด้วย อ่านหนังสือให้ฟัง ก็น่าจะเริ่มเห็นเค้าโครงขึ้นมา ส่วนเมื่อมีการดำเนินกิจกรรมไปนั้นจะเป็นเช่นไร เด็กๆในกลุ่มบอกว่า จะนำมาเล่าให้ฟังอีกครั้งหนึ่งครับ

หมายเลขบันทึก: 312567เขียนเมื่อ 11 พฤศจิกายน 2009 08:14 น. ()แก้ไขเมื่อ 10 มิถุนายน 2012 21:58 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (63)
  • ครั้งหนึ่งสมัยผมยังเรียนอยู่ได้มีโอกาสเชิญอาจารย์มาเป็นวิทยากรในกิจกรรมชมรมเพื่อนช่วยเพื่อนที่มหาวิทยาลัยทักษิณ มีความประทับใจมากครับและดีใจที่ได้เจออาจารย์อีกครั้งใน gotoknow ครับ
  • สำหรับความคิดที่แสนฉลาดของอาจารย์ในการหลอกล่อลูกศิษย์ให้ทำความดีโดยสานต่อความฝันของอาจารย์ในอดีตช่า่งเป็นไอเดียร์ที่บรรเจิดมากครับ แค่ผมได้อ่านก็มีความสุขแล้ว ผมเคยดูรายการทีวีเกี่ยวกับน้องๆที่เป็นโรคเรื้อรังหลายรายการและข่าวก็มี รู้สึกสงสารน้องๆเค้ามาก น้องเค้าเกิดมาไม่ได้ทำผิดอะไรเลยแต่ต้องมาเจอกับสิ่งเหล่านี้ ทำให้การใช้ชีวิตต้องลำบาก การที่เราหยิบยื่นความสุขกำลังใจ ความเข้าอกเข้าใจให้กับพวกเค้านั้นเป็นภาพที่สวยงามรู้สึกดีทุกครั้งที่ได้เห็นและได้ยินครับ

ขอชูมือทั้งสองข้างสนับสนุนไอเดียนี้เต็มที่ครับ

แล้วผมจะส่งหนังสือเด็กไปให้คุณหมอครับ

ว่าแต่เด็กเล็กจะสามารถเข้าร่วมกิจกรรมนี้ได้เปล่าครับ

สวัสดีและขอบคุณครับ อุชุจาโร

ขอบคุณสำหรับหนังสือครับพี่หนึ่ง

ส่วนเรื่องเด็กๆอยากเข้าร่วมกิจกรรมนั้น บางทีต้องคิดหนักนิดหนึ่ง เพราะว่า คุณนนท์อาจจะติดเชื้อจากโรงพยาบาลได้ครับ

ถึงแม้ว่าเป็นวอร์ดไม่ติดเชื้อ แต่ก็มีเชื้อบางอย่างที่มีประจำวอร์ดครับ บางคนอาจจะมีไข้อยู่

และที่สำคัญ เด็กเราเอง อาจจะเอาหวัดไปส่งให้ท่านๆที่กำลังรับยาเคมี ซึ่งท่านเหล่านั้นมีภูมิคุมกันน้อยมากเลยครับ

ขอชูมือทั้งสองสนับสนุนด้วยคนครับ เด็กๆคงจะดีใจมากเลยครับ เป็นกำลังใจให้อีกแรงครับ สำหรับเรื่องดีๆที่แบ่งปันให้กัน

อ่านที่มาและรายละเอียดโครงการแล้วรู้สึกประทับใจในไอเดียของคุณหมอมาก เด็ก ๆ คงจะมีความสุขทีเดียว เพิ่มสีสรรและสร้างวันดี ๆ ให้กับพวกเขา ชื่นชม ชื่นชม มาก ๆ ค่ะ

สวัสดีครับ พัฒนพงศ์

ชูมือนานๆแล้วอย่าลืมเอาลงนะครับ เมื่อย

พี่อ้นที่รักครับ

มีหนังสือมอบให้บ้างไหมครับ

เรียนอาจารย์ค่ะ

ยินดีที่ได้เห็นความคิดของน้องๆนสพ.ค่ะ ขอส่งกำลังใจให้น้องๆด้วยอีกคน

อยากให้น้องได้ทำสิ่งดีๆที่น้องคิด แล้วสิ่งนี้จะทำให้น้องไม่ลืมที่จะมองดูผู้อยู่ในความทุกข์ของโรคภัยไข้เจ็บ

โดยเฉพาะผู้ป่วยรวมไปถึงญาติซึ่งบางทีทุกข์หนักกว่าผู้ป่วยด้วยซ้ำ

ทุกวันนี้มีคนถามมาว่า หมอเดี๋ยวนี้เป็นอะไร อยู่กับความเจ็บไข้จนชินชา เห็นเป็นธรรมดา จนลืมนึกถึงจิตใจของผู้ป่วยและญาติ

หมอที่เข้ามาอธิบายอาการให้ญาติฟังแบบในละครนั้นไม่มีอยู่จริงใช่หรือไม่เข้ามาตรวจเวลาห้ามเยี่ยมเท่านั้น

เมื่อถึงเวลาญาติเข้าเยี่ยมได้ก็ไม่สามารถสอบถามหมอได้ หรือถ้าตอบก็ไม่เต็มใจตอบ

อวัจนภาษาที่หมอแสดงนั้น นำมาซึ่งความกลัวที่ญาติจะสอบถามอาการผู้ป่วย

ที่กลัวอย่างที่สุดคือกลัวหมอจะว่าญาติเรื่องมากแล้วส่งผลต่อการรักษาผู้ป่วย

ทั้งๆที่ถ้าเขารู้เขาจะไม่ถามหมอหรอกไม่อยากรบกวนหมอ ให้เป็นที่รำคาญใจ

แต่ที่ต้องที่ถามเพราะเป็นห่วงคนอันเป็นที่รักของเขาที่อยู่ในการดูแลของหมอต่างหาก

หวังว่าความสุขที่ได้รับจากโครงการนี้ของน้องๆจะอยู่ในหัวใจของผู้ที่จะเป็นแพทย์เต็มตัวในอนาคตไปตลอด

เพื่อผู้อยู่ในความทุกข์ของโรคภัยไข้เจ็บจะได้พบกับหมอที่มีหัวใจของความเป็นมนุษย์ ที่ไม่หลงไปว่าหมอคือผู้ที่สูงส่งกว่าผู้อื่น

เรียน อาจารย์หมอ ที่เคารพอย่างสูง

ขอแสดงความดีใจอย่างสุดซึ้งกับโครงการ "แบ่งปันรอยยิ้ม" ที่เป็นหลักสูตรประกอบกิจกรรมในการ

สร้างสิ่งที่ดีงาม เพื่อเด็กๆ จะได้มีโอกาสเรียนรู้ ได้สัมผัสกับ ความเมตตา ความสุข ความดี

ความเข้าใจ ความเป็นห่วงใย ความปรารถนาดีสู่สังคม เด็กๆ จะไม่ได้ไม่เกิดภาวะซึมเศร้า

(ได้อ่านบทความถึงได้ทราบว่าเด็กๆ ก็มีภาวะซึมเศร้าได้) คิดเอาเองว่าจะเป็นเฉพาะแต่ผู้ใหญ่ ฮ๋า ฮ่า

สุดท้ายนี้จะส่งหนังสือและกำลังใจเป็นความฝันที่ดีงาม ไปเข้าร่วมกิจกรรมเพื่อบำเพ็ญประโยชน์ เด็กๆ

จะได้มีความสุข มีรอยยิ้ม มีความร่าเริง ความน่ารัก ซึ่งความน่ารักนี้เด็ก ๆ ทุกคน ก็มีความแตกต่างกัน

อยู่ในตัวของเค้าอยู่แล้ว คือเขาจะมีเสน่ห์อยู่ในตัวคนละแบบกันค่ะ

ด้วยเคารพอย่างสูง

อาจารย์หายไปนาน ผลเป็นอย่างไรบ้างครับ หลอกสำเร็จไหม รอฟังผลนะครับ เอารูปมาให้ดูด้วยครับ...

ขอบคุณพี่หนึ่ง

กัลยาณมิตรผู้มอบหนังสือมาร่วมสมทบกับกิจกรรมหลายเล่มครับ งานนี้เด็กๆจะได้มารู้เรื่องเต่ามะเฟืองกันบ้างล่ะ ขอบคุณนะครับ

ขอบคุณท่านผู้ไม่แสดงตนครับ

น้อมรับไว้ เรียกให้เด็กๆมาอ่านมารับฟังครับ

ขอบคุณ kitt ครับ

จะรอรับหนังสือ ฮา...

อาจารย์ขจิตที่เคารพ

กิจกรรมเริ่มแล้วครับเมื่อเสาร์ที่ผ่านมา เดี๋ยงลูกศิษย์คงเข้ามาเล่าให้ฟัง

ภาณุพงศ์ ศรีอินทร์เกื้อ PBL 5

ถึงอาจารย์ธนพันธ์

อาจารย์คับหลังจากที่ได้รับความคิดเห็นดีๆจากอาจารย์แล้วทางกลุ่มได้จัดทำตัวรายงานเพื่อส่งโครงการไปแล้ว และได้เริ่มทำโครงการกันไปแล้ว

วันที่ึ 7 พ.ย. 2552 สมาชิกในกลุ่มไปศึกษาดูสถานที่ ณ หอผู้ป่วยเด็กสอง รพ. มอ. เข้าไปปุ๊บ ความรู้สึกแรกทำไมที่นี่มีแต่เด็กหัวล้าน พี่พยาบาลบอกน้องส่วนใหญ่เป็นมะเร็ง มีบ้างที่เป็นโรคไตแบบเรื้อรัง มีหลายคนต้องให้เคมีบำบัดผมจึงร่วงจนหมดหัว พวกเราก็แอบอึ้งเพราะก็ยังไม่เคยเจอคนเป็นมะเร็งที่ให้เคมีบำบัดจนผมร่วงกันสักคน หลังจากได้สอบถามพี่พยาบาลประจำ ward พี่บอกว่าที่นี่มีห้องให้จัดกิจกรรม ถ้าจะทำอะไรก็ให้มาบอกพี่เดี่ยวพี่เค้าจะจัดการเปิดห้องแล้วจะเชิญน้องๆให้เข้าไปร่วมกิจกรรมเอง พี่พยาบาลยังบอกอีกว่าเด็กที่นี่ค่อนข้างที่จะกระตือรือร้นที่จะเข้าร่วมกิจกรรมเกือบทุกอย่างที่มีบุคคลภายนอกมาจัดให้ สิ่งที่น้องๆชอบทำมากที่สุดคือ การเล่นมายากล ซึ่งก็เป็นสิ่งที่ค่อนข้างจะลำบกอยู่ที่จะให้ นสพ.ปีสองอย่างพวกเราโชว์มายากลให้ดู แต่ทางกลุ่มก็จะพยายามหากิจกรรมอื่นให้น้องทำแทนละกัน

จากการที่เราได้แบ่งกันไปสอบถามน้องๆตามเตียงผู้ป่วยว่าน้องๆอยากให้ทางกลุ่มมีกิจกรรมอะไรให้นั้น น้องๆหลายคนบอกว่าอยากระบายสีรุปภาพแปลก เพราะรูปที่มีอยู่ที่นี่ระบายกันจนเบื่อแล้ว พวกเราจึงให้คำสัญญาว่าเราจะจัดหารูปภาพแปลกๆ สวยๆ มาให้น้องได้ระบายสีกัน อีกอย่างที่น้องต้องการมากคือ สี ซึ่งที่มีอยู่นั้นก็ไม่พร้อมที่จะใช้งานซะเป็นส่วนใหญ่ จึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทางกลุ่มสามารถทำให้ได้ พอได้ข้อมูลจนครบเราจึงบอกลาน้องๆและพี่พยาบาลแล้วจึงแยกย้ายกันไปจัดหาอุปกรณ์ให้น้องๆ

ภาณุพงศ์ ศรีอินทร์เกื้อ PBL 5 (แดน)

วันที่ 14 พ.ย. 2552

วันนี้เป็นวันที่เราต้องไปทำกิจกรรมเป็นครั้งแรกในกลุ่มก็ยังงว่าเราจะเริ่มทำอะไรกันก่อนดี ไปถึงเราจะเริ่มพูดกับน้องอย่างไร น้องจะคุยกับพวกเรามั้ย พี่พยาบาลจะให้ความร่วมมือหรือเปล่า แต่ทุกคนที่ไปก้พร้อมเต็มร้อยที่จะไปทำกิจกรรมในวันนี้(ออ ลืมบอกไปคับ วันนี้เราไปกันห้าคนคือผมเอง กอล์ฟ จ๊ะเอ๋ ม๊ะห์ และก็เตย สาเหตุที่ไปกันคึ่งกลุ่มก็เพราะว่าถ้าไปกันทั้งหมดสิบคนทางกลุ่มคิดว่าจะไปรบกวนพี่บนตึกเค้าเปล่าๆ ไปไม่ต้องเยอะแล้วเราผลัดกันไปเยี่ยมน้องกันดีกว่าจะได้ดูไม่ดูรกตาคนไข้บนตึกด้วย)

พอไปถึงเราก็เดินตรงไปหาพี่พยาบาลคนเดิมที่เราเคยได้มาติดต่อไว้แล้วพี่เค้าก็จำพวกเราได้พร้อมกับทักทายว่า"มาทำโครงการหรอ เดี่ยวพี่ไปเปิดห้องให้" ว่าแล้วพี่เค้าก็เดินไปเปิดห้องทำกิจกรรมให้เรา ภายในห้องก็พอจะมีอุปกรณ์ที่จะทำโครงการอยู่บ้างแล้วที่เรานำมาวันนี้ก็คือ ภาพระบายสี หนังสือนิทาน และสมุดสอนพับกระดาษ ขณะที่เรายังเตรียมตัวยังไม่ทันจะเสร็จนั้นก็มีเด็กกลุ่มหนึ่งประมาณสองสามคนเดินจูงเสาน้ำเกลือหรือเสาน้ำยาอะไรซักอย่างของตัวเองเดินเข้ามาด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็น บางคนก็ให้ญาติจูงเข้ามาส่ง บางคนแม่พามายืนที่ประตูแต่ก็ไม่กล้าเข้ามา แม่จึงพยายามขยั้นขยอกันใหญ่ว่า "เข้าไปตะๆๆ(เป็นภาษาใต้นะคับ)" ผมซึ่งกำลังเตรียมของอยู่จึงบอกให้เตยไปชวนน้องเค้าเข้ามา ซึ่งเตยก็ทำได้ดีจนน้องเค้ายอมเข้ามา ตอนนี้เราก้มีผู้มาร่วมโครงการกับพวกเราสี่ห้าคนแล้ว สักพักพี่พยาบาลก็มาบอกว่า"มีแค่นี้นะที่เหลือให้คีโมอยู่" เราจึงได้เวลาเริ่มโครงการของพวกเรา

เริ่มโดยเราให้น้องๆแนะนำตัวแลกกับพวกเราแนะนำตัว วันนี้มีน้อง อามีเราะห์ น้องตาล น้องหยก น้องหวาน และน้องออม(ขอสารภาพว่าตอนแรกผมดูไม่ออกเลยว่าทั้งสี่คนเป็นผู้หญิงเพราะน้องเค้าหัวล้านกันทุกคน คล้ายเด็กผู้ชายที่ตัดผมทรงสกินเฮดแต่สั้นกว่าจนเกือบจะไม่มีผมซะด้วยซ้ำ)มาร่วมกิจกรรมกับพวกเรา ทางกลุ่มจึงยื่นข้อเสนอให้น้องเลือกว่าน้องๆ อยากทำอะไรบ้าง วันนี้พวกพี่มีกิจกรรมวาดภาพระบายสี เล่านิทาน แล้วก็พับกระดาษ ปรากฎว่าน้องทั้งห้าแยกกันเป็นสามพวกอย่างชัดเจนพวกแรกอยากวาดภาพระบายสี กล่มสองอยากพับกระดาษ แต่น้องอีกคนกลับนั่งนิ่งไม่เลือกอะไร มีะห์จึงถามน้องว่า"น้องอยากทำอะไรจ๊ะ" น้องก็ยังไม่ตอบม๊ะห์จึงถามว่า"ฟังนิทานมะ เอามั้ย" น้องจึงพยักหน้า เราจึงแบ่งกันเป็นสามกลุ่มเล็กเช่นกันโดย เตยเป็นหัวหน้าฝ่ายเล่านิทานนหัวหน้าฝ่ายซึ่งมีลูกทีมคืม๊ะห์กับกอล์ฟ จ๊ะเอ๋เป็นหัวหน้าฝ่ายพับกระดาษ ส่วนผมเองซึ่งไม่เก่งทั้งสองอย่างที่กล่าวมาจึงอาสาอยู่ฝ่ายระบายสีกับน้องๆ

สิ่งที่ให้น้องทำอย่างแรกคือ ให้น้องเลือกภาพที่จะระบายสีพอน้องเลือกเสร็จผมก็จะเลือกภาพมาอันนึงด้วย เราจึงนั่งๆนอนระบายสีกันตรงนั้นเลย ดดยมีข้างๆเป็นมะกำลังเล่านิทานเรื่องโหรวิชัยคาวีให้น้องฟัง น้องคนที่ระบายสีกับผมนั่นนอนระบายสีโดยไม่พูดจาอะไรกับใครเลยผมพยายามถามว่าระบายอะไรอยู่น้องเค้าก็จะตอบแค่คำต่อคำว่า ระบายนางฟ้า บางครั้งก็นิ่งไปเลยไม่ตอบอะไรตั้งใจระบายสีกันใหญ่ ผมจึงบอกว่าเรามาแข่งกันมั้ยว่าใครระบายสวยกว่า น้องพยักหน้าแล้วก็ก้มลงไประบายสีต่อ เราระบายสีกันไปเรื่อบก้ไม่ได้คุยอะไรกันมากอาจจะเป็นเพราะเราเพิ่งพบกันครั้งแรกต่างฝ่ายต่างเกรงใจกัน จึงไม่ค่อยคุยกัน

ระหว่างที่พวกเรากำลังทำกิจกรรมกันไปนั้นก็จะได้ยินเสียงพี่พยาบาลเดินมาตามน้องไปทีละคนเพื่อไปกินยา ฉีดยาบ้างแล้วแต่คนไปหลังจากกินยาอะไรเสร็จน้องเค้าก็จะรีบกลับมาทำสิ่งที่ตัวเองทำอยู่ตามเดิม มีสิ่งหนึ่งที่ทำให้ผมกับจ๊ะเอ๋ต้องตกใจคือ ขณะที่เราทำกิจกรรมไรกันไปนั้นก้มีเสียงๆหนึ่งดังมาจากเสาน้ำยา ดัง "ติ๊ด ติ๊ด ติ๊ด" เราสองคนมองหน้ากันแล้วถามกันว่าเสียงอะไร เราทำสายอะไรของน้องเค้าหลุดรึปล่าว(ว่ะ) ทำไมมันถึงดังขึ้นมา เราจึงถามน้องว่ามันเคยดังรึเปล่า น้องบอกว่าเคย แล้วน้องก็บอกว่า "น้ำยาหมด(ภาษาใต้)" ผมจึงถามน้องว่า "แล้วพี่ต้องทำไง"(รู้สึกแปลกเหมือนกันนะกับคำถามนี้ที่คนที่กำลังจะเป็นหมอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าต้องมานั่งถามคนไข้ว่าต้องทำยังไงต่อดี) น้องจึงบอกว่า "เรียกพยาบาลมาแล(ภาษาใต้)"ผมจึงไปตามพี่พยาบาลมาช่วยแทน ผมกับจ๊ะเอ๋จึงโล่งใจ

ผมช่วยเพื่อนทำกิจกรรมได้ประมาณชั่วโมงครึ่งก็ต้องขออนุญาตเพื่อนกลับก่อนเพราะผมต้องไปช่วยเป็นกรรมการตัดสินพาเหรดกีฬาศรีตังเกมส์ต่อ หลังจากไปเป็นกรรมการเสร็จจึงกลับมาถามจ๊ะเอ๋กับเตยว่าหลังจากที่ผมกลับแล้วมีอะไรอีกบ้าง เตยบอกว่าตอนที่เตยจะกลับมีน้องถามว่า "พี่เตยจะกลับแล้วหรอ" เตยบอกว่าใช่ แล้วน้องก็ถามต่อว่า"กลับไปอาบน้ำแล้วมาอีกใช่มั้ย" เตยบอกว่า เปล่าพี่กลับแล้วเดี่ยววันหลังพี่มาอีก ฟังแล้วรู้สึกแปลกเล็กน้อยเพราะไม่คิดว่าน้องเค้าจะอยากอยู่กับเรามากขนาดนี้ทั้งที่เพิ่งรู้จักกับน้องเค้าได้ไม่ถึงครึ่งวันเลย

กลุ่มเราจะมีโครงการอีกในวันเสาร์นี้ครับอาจารย์โดยคราวหน้านี้จะเป็นสมาชิกในกลุ่มที่เหลือครับ รายละเอียดเป็นอย่างไรเดี่ยวผมจะบอกให้เพื่อนมาโพสไว้ให้นะครับ

ณัฐวุฒิ ปรีชาปัญญากุลPBL5(กอล์ฟ)

ขออภัยถ้าใช้คำไม่สลวย

ถึงอาจารย์ธนพันธ์

ในวันที่7พ.ย.นั้นผมไม่ได้ไปดูสถานที่กับเพื่อนๆเพราะว่าผมต้องไปทำโครงการ light up your life จุดประกายให้ชีวิต ที่โรงพยาบาลมหาราชซึ่งเป็นโครงการสำหรับผู้ป่วยครับ เรื่องนั้นไว้เล่าทีหลัง เอาเป็นว่าวันแรกผมไม่ได้ไปครับ

ในวันที่14พ.ย.ช่วงเช้าผมก็ยังนั่งเล่นคอมอยู่ พอบ่ายโมงก้อเริ่มออกเดินทางไปวอร์ดเด็กกัน ก็ไปถึงก็ไหว้พี่พยาบาล พี่เขาก็บอกว่าเดี๋ยวเปิดประตูให้ ผมเลยขอตัวไปเข้าห้องน้ำก่อน หลังจากสบายตัวและกลับมาเข้าห้องที่เปิดแล้ว ผมก็ได้พบว่า ห้องเจ๋งเหมือนกันนี้หว่า มีของเล่นครบ หนังสือนานาชนิด มีทีวีด้วย แล้วก็มีเด็กหัวเหม่งนั่งม๊อง(หมายความว่านั่งจ้องอย่างงงๆ)อยู่จำนวนหนึ่ง มาถึงเราก็ไม่รู้จะทำอะไรก่อน แนะนำตัวกันหน่อยละกัน น้องส่วนใหญ่ที่มาเล่นกับเราก็จะเป็นน้องๆมุสลิม ทำให้ผมไม่ค่อยสันทัดในการออกเสียงชื่อน้องเช่นเดียวกับเพื่อนๆ(ยกเว้นมะห์) ชื่อผมก็จำไม่ค่อยได้เท่าไหร่ แต่น้องเขาจำชื่อพี่ๆได้หลายคนอยู่ แล้วเราก็เริ่มกันโดยถาม น้องอยากทำอะไรครับ ก็แบ่งออกได้เป็นระบายสี พับกระดาษ เล่านิทาน ผมเองอยากจะเล่านิทานให้ทุกคนฟัง แต่เด็กๆดันอยากระบายสีซะนี้ ไม่เป็นไร เอาหน่อยเว้ย ทีแรกผมก็อยู่ในห้องดีๆ แต่จู่ๆนพยบ.(นางพยาบาล)ก็มาเรียกน้องหยกว่า "เดี๋ยวพี่จะไปให้ยานะ "เอ้าทำไงละทีนี้ ผมกับเตยซึ่งกำลังเริ่มเล่านิทาน ก็ตกลงว่า ตามไปเล่าที่เตียงดีกว่า น้องๆก็เห็นควรด้วยอย่างยิ่ง เอาเป็นว่าเราไปที่เตียงของน้อง โดยมีน้องหยกซึ่งเป็นคนไข้และน้องหวานที่เป็นน้องคนไข้+แม่+ป้าคนไข้ อยู่ แล้วพอเราจะเล่านิทาน เราก็ว่าระหว่างเล่าถ้าพยาบาลมาฉีดยา คงจะเสียอารมณ์น่าดู เราเลยหันไประบายสีแทน น้องหยกระบายได้โปรมาก เตยถึงกับเศร้าทีเดียว แต่ด้วยความเก๋าของเตยกับผมก็ยังพอระบายสีให้พอไปวัดไปวาได้ ส่วนเจ้าหวานนั้นมองหน้าผมแล้วไม่ยอมคุยด้วย สงสัยจะกลัว หุหุ เพราะผมไม่ได้โกนหนวด ถือว่าหน้าโหดพอควรถึงโหดสาด ไม่แปลกที่เด็กกลัว กลับมาต่อ น้องหวานแกก็ระบายแต่สีตากับปาก ระบายสีม่วงเลยทีเดียว แล้วก็เปลี่ยนแผ่น โฮ่ๆๆ พอนพยบ.มาถึงผมก็ทึ่งในความอดทนของน้อง ทีแรกนพยบ.มาต่อสายยาเป็นสามสาย แล้วก็เริ่มฉีดยาที่หลังมือซักสองเข็ม แล้วฉีดยาอีกเข็มนึงแล้วปักคาไว้แล้วเอาเทปมัด แต่เจ้าหยกแกก็มาดูบอกว่าไม่ต้องมัดก็ได้ มันระบายไม่ถนัดน่ะ ผมนี้ถึงกับอึ้งทีเดียว เห็นเข็มก็ว่าเสียวแล้วนะ เจ๋งจริง แล้วก็มาระบายสีต่อจนเสร็จ แล้วเราก็เริ่มเล่านิทานเรื่องลูกหมูสามตัว โดยเตยเป็นผู้เล่า แม่หมู ลูกหมูทั้งสามตัว คนถือหนังสือนิทาน ส่วนผมเป็นหมาป่าอย่างเดียว(ไม่เอาเปรียบผู้หญิงเลยทีเดียว) ก็เรียกเสียงฮาจากน้องหยกได้โขอยู่ส่วนน้องหวานก็นิ่งเหมือนเดิม หลังจากนั้นเราก็หันมาพับกระดาษกัน ผมไม่สันทัดในเรื่องนี้ เลยยกให้เตยไป แล้วผมก็เข้าไปลายเครงคนในห้องต่อ ก็ไปดูจ๊ะเอ๋พับนกเพนกวิน และไปฟังคุณมะห์เล่านิทานเรื่องลูกหมูสามตัว(ซึ่งผมถามแล้วว่าผิดหลักศาสนาหรือเปล่า มะห์บอกไม่ผิด) แล้วผมก็ได้รู้ข้อควรระวังอย่างหนึ่งว่า ไม่ควรให้มะห์เล่านิทานเรื่องหมูน้อยสามตัวหรือเรื่องใดๆทั้งปวง เพราะว่าเธอคนนี้เล่าเหมือนlectureมาก ผมไปนั่งฟังนี้ผมเกือบเผลอกดอัดสตรีมไปแล้ว(โทดนะมะห์ หุหุ) ตอนกลางๆที่พาเหรดเริ่มเดินผมเองก็เซ็งๆอยากลงไปดูเหมือนกัน แต่พอเห็นแววตาของน้องก็รู้สึกดีว่าเราหน้าตาแบบนี้ก็ทำให้เด็กน้อยคนหนึ่งยิ้มได้เหมือนกันแฮะ แล้วก็ทิ้งพวกนี้ไม่ลง อยู่ต่อ ตอนจะกลับก็รู้สึกว่าทำไมเวลามันเดินเร็วจังวะ ทีตอนสอบไม่เห็นเป็นแบบนี้ ก็สนุกดีครับ ได้เห็นเด็กยิ้ม มีความสุขแล้วรู้สึกดีเป็นบ้า แล้วเรา(เตย)กับน้องหยกอีกว่าเดี๋ยวจะพับนกมาให้นะ ถ้าครั้งหน้าเราได้เจอกันอีกก็ดีนะ แต่ถ้าไม่เจอเพราะพวกนายได้กลับบ้านมันก็ดีกว่าใช่มะ

Just Believe is enough

คุณหมอเป็นคนที่เอื้ออาทรต่อคนอื่นมากเลยนะคะ

อ่านแล้วคิดอยากทำบ้าง สงสารเด็กตัวเล็กๆที่เค้าไม่มีโอกาสเหมือนเด็กอื่น(เศร้าจัง)

ปล.ข้อความที่เคยพิมพ์กับคุณหมอจอยจำไม่ได้ว่าพิมพ์ไว้ที่ไหนหาเท่าไหร่ก็หาไม่เจอค่ะ(555)

เรียนอาจารย์ธนพันธ์ค่ะ

ต้องขอประทานโทษอาจารย์ด้วยค่ะที่เสียมารยาท พิมพ์ไปก่อนแล้วคิดว่าจะใส่ชื่อที่หลังแต่กลับคลิกส่งเลย ปัญหาคือความสามารถในการพิมพ์ต่ำมาก อยู่ในระดับจิ้มทีละตัว ทำให้ผลออกมาเป็นเช่นนั้นค่ะ

และขอขอบพระคุณอาจารย์ที่รับฟัง รวมทั้งให้น้องๆได้อ่านค่ะ เพราะความรู้สึกแรกที่ได้ยินคำพูดนี้จากคนไข้คือ เราเคยทำหรือไม่

แต่ที่ยืนยันได้แน่นอนก็คือถ้าเคยทำย่อมไม่ได้เกิดจากความตั้งใจ และคิดว่าที่บุคลากรทางการแพทย์ทำแบบนั้นอาจเป็นเพราะเราชินชากันมาโดยอาชีพที่ต้องพบเจออยู่ทุกวัน

น้องที่มาเล่าเรื่องนี้ ขอร้องว่าอยากจะขอให้ช่วยสื่อไปให้ด้วย น้องเล่าหลายเรื่องเพราะเป็นเรื่องที่จากคนไข้และญาติหลายคน

ได้แต่คิดว่าจะทำอย่างไร น่าจะเริ่มตั้งแต่การผลิตแพทย์เลยจะดีหรือไม่

พอดีมาพบเรื่องราวและความตั้งใจที่อาจารย์ได้สานฝันโดยน้องๆนสพ.ทำให้ยินดีมากที่ยังได้พบว่าหัวใจแห่งเมตตายังมีอยู่

ในวันที่น้องๆยังไม่ได้รับการไหว้หรือยกย่องจากคนไข้และญาติรวมไปถึงเจ้าหน้าที่อื่นๆในโรงพยาบาลจนลืมเลือนไปว่าแพทย์ไม่ใช่ผู้ที่ทุกคนต้องเคารพ หรือพูดได้ก็ต่อเมื่อorder

ดังนั้นจึงได้นำเรื่องราวดีๆในที่นี้ไปเล่าให้เขาฟังแล้วค่ะ ซึ่งเขาขอบคุณที่มีโครงการนี้และขอร้องมาว่าอย่าได้ลืมเลือนความรู้สึก

เมตตากรุณานี้ เมื่อได้ดำเนินชีวิตในฐานะแพทย์ เพราะเขาไม่ได้เห็นว่าแพทย์จะต้องสูงส่งกว่าวิชาชีพอื่น

แต่การทำงานกับชีวิตและความทุกข์ของคนก็ต้องมีเมตตาสูงยิ่ง เมื่อก้าวเข้ามาแล้วก็ต้องรับความเหนื่อยยากลำบากนี้ด้วยเมตตา

วันนี้เพิ่งคุยกับเพื่อนที่คุณพ่อได้รับชีวิตใหม่จากอาจารย์แพทย์ค่ะ เพื่อนบอกว่าทุกคนในครอบครัวร้องไห้ด้วยความยินดีที่สุดในชีวิต

เพราะนี่ไม่ใช่แค่ความสุขของคุณพ่อแต่เป็นความสุขของทุกคนในครอบครัวที่รอมายาวนาน จากการดูแลทั้งร่างกายและจิตใจที่อาจารย์มอบให้พวกเขา นี่เป็นชีวิตของพวกเขาทุกคนค่ะ

ขอฝากถึงน้องๆที่ทำโครงการนี้ ได้อ่านสิ่งที่น้องๆทำแล้ว ขอเอาใจช่วยค่ะ แล้วน้องจะได้พบด้วยตนเองต่อไปเรื่อยๆว่า

สิ่งที่น้องทำนำความสุขที่แท้อันเกิดจากการให้ด้วยเมตตามากกว่าเวลาที่ได้รับการไหว้จากใครเพียงเพราะเราเป็นหมอ

จะเข้ามาติดตามความก้าวหน้าบ่อยๆนะคะ ขอให้โครงการนี้ประณีตและยั่งยืนด้วยหัวใจที่ดีงาม

และสำหรับประโยคนี้ของน้อง

"ผมจึงถามน้องว่า "แล้วพี่ต้องทำไง"(รู้สึกแปลกเหมือนกันนะกับคำถามนี้ที่คนที่กำลังจะเป็นหมอในอีกไม่กี่ปีข้างหน้าต้องมานั่งถามคนไข้ว่าต้องทำยังไงต่อดี)"

อยากจะฝากบอกน้องว่า อย่าแปลกเลย คำถามนี้เป็นคำถามที่เรายังต้องหาคำตอบตลอดชีวิต และอาจจะต้องถาม

คนที่เราคิดว่าต้องพึ่งเรานั่นเอง

คนเรามีเรื่องที่ไม่รู้อีกมากมาย แม้จะเป็นเรื่องในวิชาชีพของเราเองก็ตาม

เมื่อน้องเรียนจบมาจะพบว่าเราไม่ได้เรียนจบเลย(แต่เราต้องออกมาทำงานแล้วละนะ..)

เพราะเราต้องเรียนกันตลอดชีวิต(แล้วก็ยังไม่จบ.....)

ต้องขอขอบพระคุณอาจารย์อีกครั้งค่ะที่กรุณาอ่านและรับฟัง หากมีที่ใดทำให้ระคายใจต้องกราบขอโทษไว้ด้วยนะคะ

คุณจอยครับ

สามารถเข้าไปหาอ่านในสิ่งที่เคยตอบโต้กันไว้ โดยเข้าไปในเมนูศูนย์รวมข้อมูลของผม แล้วเลือกเมนู

ศูนย์รวมข้อมูล->รายการแลกเปลี่ยนเรียนรู้->ความเห็นที่ฉันได้รับ-> บันทึก

จากนั้นก็เขาไปอ่านสิ่งที่เคยคุยกันในอดีตชาติได้ครับ ผมเองก็ตอบคุณจอยไปหลายครั้งครับ

ชอบที่คุณพลอยเขียนมาครับ

ขอบคุณจริงๆ

สำหรับลูกศิษย์ที่เขียนมาเล่า จะดีมากครับ หากได้ประเมินจิตใจตัวเอง ว่าทำกิจกรรมไปแล้วได้อะไรติดตัวมาบ้าง เสียเวลา เสียพลังงาน ได้พลังใจ ได้แนวคิด ได้ให้ (คิดว่าอันสุดท้ายน่าจะเป็นพลังในการเรียนต่อไปมากเลยนะครับ)

ตามมาอ่านต่อมาให้กำลังใจคุณหมอธนพันธ์และว่าที่คุณหมอ

อยากให้น้องๆๆเขียนแสดงความรู้สึกมากๆๆว่าก่อนมาร่วมโครงการมีความคาดหวังอะไร รู้สึกอย่างไรบ้างที่ได้ทำกิจกรรม สิ่งไหนได้เรียนรู้จากคนไข้ คิดว่าจะทำอะไรต่อไปจากการได้ร่วมกิจกรรมนี้ครับ

ขอบคุณน้องๆๆและคุณหมอธนพันธ์มากครับ ที่สนับสนุนให้น้องๆได้ทำความดี

อาจารย์ขจิตที่เคารพ

ผมเองก็กำลังรอการรายงานของรุ่นที่ 2 อยู่เหมือนกันครับ เขาไปจัดกิจกรรมกันมาแล้ว

สวัสดีครับแป๊ะ P

อ่านถึงนี่แล้วอดมิได้ ต้องขอ jam ด้วยคน

ตอนผมอยู่ศิริราช ผ่าน ward เด็ก ซึ่งแยกเป็นกลุ่มโรค อาทิ โกศลก็โรคติดเชื้อ ตึกอุ่นก็ท้องเสีย โรค GI ตึกข้าวไทยล่างก็ nephrotic ยังมีตึกโรคหัวใจ และตึกเด็ก chemo อีก ฯลฯ ward เด็กจะเป็น ward ที่เต็มไปด้วยอารมณ์ ความรู้สึกจริงๆ

เคยสังเกตว่าทำไมหนอ เด็กที่เริ่มแรกวินิจฉัยเป็น leukemia lymphoma มักจะหน้าตาน่ารัก ผมสลวย มองไปที่สีหน้าคุณพ่อคุณแม่ที่กังวลและเสียใจเนื่องจากทราบข่าวร้ายไปแล้ว ทั้งคู่ยังไม่ทราบหรอกว่าหนทางข้างหน้ายิ่งหนักมากกว่านี้ ต้องการกำลังใจ  กำลังกายมากกว่านี้อีกเยอะ และน้องที่นั่งตาแป๋วข้างนี้กำลังจะเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปแค่ไหน

ผมอ่านโครงการแป๊ะแล้วชื่นชมยินดีมาก แค่อ่านโครงการก็ทราบแล้วว่าเด็กของเราจะมีโอกาสอันงามที่จะได้หล่อหลอม professionalism มาจากความเรียบง่ายของกิจกรรม บวกกับความใส่ใจและละเอียดอ่อนของอาจารย์ที่ปรึกษาแน่นอน ผมคิดว่าโครงการแบบนี้ ไม่ต้องใส่วัตถุประสงค์ลงไปเป็นกรอบก็ยังได้ เพราะสิ่งที่น้องๆจะได้ รับประกันว่ามากมายเกินจินตนาการของเรา เพราะเป็นเรืองการเรียนชีิวิต การสร้างเมตตาบารมี และการเกิด "จิตใหญ่" มันไม่สามารถจะเขียนกำหนดไว้ล่วงหน้าว่าจะได้อะไร แค่ไหน

อ่านที่น้องๆเขียนมา ผมอยากจะเรียกว่า "อภิชาตศิษย์" หมายถึงเหนือกว่าผม เพราะที่น้องเขาสามารถสะท้อนและ​"เห็น" ได้ขนาดนี้ ต้องเรียนว่าเหนือกว่าผมตอนเป็นนักศึกษาแพทย์หลายเท่า ทั้งนี้และทั้งนั้นเพราะการจัดประสบการณ์การสอนที่เอื้ออำนวยโอกาสทองให้เป็นอย่างดีนั่นเอง

อยากให้มี dialogue เพื่อการ reflection ทั้งแบบบุคคลและแบบกลุ่มครับ ลำพังเขียนมันไม่พอหรอกครับ เรื่องความรู้สึก เรื่องของอารมณ์ ถ้าได้มาคุยกัน อาจจะเกิดอะไรที่งดงามและต่อยอดไปอีกอย่างคาดไม่ถึงก็ได้ การได้คุยกันต่อหน้าต่อตา บางทีแค่ "ความเงียบ" ก็เป็นภาษาที่สวยงามที่คนในวงสามารถเสพย์ได้อย่างอิ่มทิพย์

"ขอเพียงรักษาไว้ซึ่งธรรมะแห่งวิชาชีพ ลาภยศทรัพยศฤงคารจะตกเป็นของท่านเอง"

เราไม่ได้หมายถึงแค่โภคทรัพย์ แต่สิ่งที่แป๊ะกำลังทำ จัดให้น้องๆนั้นเป็น "อริยทรัพย์" ครับ

อนุโมทนา

พี่สกล

  • ตามมารออ่านรุ่นที่ 2 ครับ
  • เอหรือรุ่นที่สองเป็นเหรีญทองไปตรัง
  • ฮ่าๆๆ

เขากำลังอยู่ในช่วงสอบครับท่านขจิต

เรียน อาจารย์ธนพันธ์ ชูบุญ

ขอโทษนะครับ มาตอบกระทู้ช้าไปหน่อย มัวแต่ผัดวันประกันพรุ่ง

21 พฤศจิกายน พศ. 2552

วันนี้ฝนตกหนักมาก อากาศเย็นสบาย อยากจะนอนให้เต็มอิ่มซะหน่อย แต่ต้องตื่นขึ้นมาเพื่อที่จะไปทำโครงการเล่านิทานให้น้องๆตึกผู้ป่วยเด็ก พวกเรานัดรวมพลกันใต้หอพัก(บินหลา1)สมาชิกมีดังนี้ ชิวอิด ฟ้าใส ลูกตาล มะห์ แล้วก็เริ่มออกเดินทางกัน ด้วยวิธีเดินเท้า โดยมีร่มคู่กายเพื่อป้องกันละอองฝนที่โปรยลงมา

ถึงซะที ตึกผู้ป่วยเด็ก 2 พวกเรารีบตรงเข้าไปทักทายพยาบาลประจำตึกทันที พร้อมกับแจ้งวัตถุประสงค์ที่บุกมาในวันนี้ สิ่งแรกที่สะกิดใจคือเด็กๆตัวเล็กๆอายุเพียงไม่กี่ขวบต้องมาทนกับโรคร้ายรวมถึงทรมานจากการบำบัดรักษา แล้วเราจะทำอย่างไร ให้น้องๆเค้ามีความสุข

พี่ๆพยาบาลก็พาเราไปที่ห้องจัดกิจกรรม ภายในห้องเต็มไปด้วยของเล่น หนังสือนิทาน กระดาษ โทรทัศน์ คีย์บอร์ด ไมโครโฟน 9ล9 พวกเราเริ่มต้นด้วยการเปิดคีย์บอร์ดให้เล่นเพลงเป็นทำนองอัตโนมัติเพื่อสร้างบรรยากาศ แล้วจึงไปชวนน้องๆมารวมกันที่ห้องจัดกิจกรรมบางคนก็เขิน บางคนก็หลบหน้า บางคนก็นอนหลับ บางคนก็กำลังรับยาเคมีบำบัดอยู่ บางคนก็กลัว รวมๆแล้วก็มีน้องๆ 7-10 คนที่มาร่วมกิจกรรม

พอถึงห้องเราก็กระจายกันดูแลน้อง โดย ผมชวนน้องผู้ชาย 2 คน ชื่อ แบงค์ กับ ทัก เล่นโดมิโน่กัน โดยพยายามวางโดมิโน่ให้เป็นรูปต่างๆ โดยไม่ให้ล้ม โดยส่วนตัวแล้วคิดว่าเป็นการฝึกสมาธิให้กับน้องๆ น้องแบงค์ก็พยายามแนะนำให้เอาของเล่นชิ้นใหญ่มาวางคั่นไว้เผื่อว่าโดมิโน่อันใดอันหนึ่งล้ม จะได้ไม่ล้มทั้งหมด ระหว่างที่กำลังเล่น ผมก็ชวนน้องคุย โดยใช้ความรู้บางส่วนจากวิชา human interaction อย่างในขณะสัมภาษณ์ผู้ป่วยเราควรจะทิ้งประสบการณ์ของเราไป พยายาม tune in เข้าหาผู้ป่วย แล้วก็ต้องพยายามแสดงออกถึงemphaty “น้องแบงค์/น้องทักอายุเท่าไหร่” “เรียนป.ไหนแล้ว” “อยู่โรงเรียนอะไร” “เพื่อนๆเยอะรึเปล่า” “โห!!มาเข้าโรงพยาบาลอย่างงี้เพื่อนคิดถึงแย่เลย” “มาอยู่โรงพยาบาลกี่วันแล้ว” “หล่อเหมือนกันนะเรา” (ชมหน่อยละ ยิ้มแก้มปริเลย) 9ล9 คุยไปคุยมาผมจึงได้ทราบว่า น้องทั้งสองคนไม่ได้กลัวก้อนที่งอกออกมาในช่องท้องแต่อย่างใด แต่ทั้งคู่กลัวต้องซ้ำชั้น กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน ซึ่งนับได้ว่าแตกต่างไปจากมุมมองที่ผมคิดเอาไว้

ซักพักเพื่อนในกลุ่มก็ชวนน้องๆไปพับกระดาษแบงค์ก็อวดใหญ่ว่าตัวเองพับดาวกระจายเป็น จากนั้นก็สอนผมกับน้องทัก พอเสร็จผมก็ชวนพับนกบ้าง พับนกไม่ทันจะเสร็จก็ถึงเวลาอาหารกลางวัน ผมจึงบอกให้น้องสองคนไปกินข้าวแล้วค่อยกลับมาเล่นใหม่ น้องแบงค์ก็ถามขึ้นมาทันทีว่า แล้วพี่จะกลับรึยัง ผมก็ตอบไปว่ายังไม่กลับ ไปกินข้าวก่อนแล้วเดี๋ยวมาแล่นด้วยกัน

พอน้องๆแยกย้ายไปกินข้าว สมาชิกในกลุ่มก็เก็บของเล่นเข้าที่ เก็บกวาดขยะ เศษกระดาษ จากนั้นเพื่อนๆก็บอกว่าจะกลับแล้ว ผมจึงไปบอกลาน้องๆ โดยเฉพาะน้องทักกับน้องแบงค์ ตอนที่เดินไปลา น้องแบงค์ก็ถามมาว่าจะมาอีกวันไหน ผมบอกยังไม่แน่ใจเลย เดี๋ยวสัปดาห์หน้าก็มีพี่ๆเค้ามาอีกกลุ่มหนึ่งมาเล่นด้วย แล้วผมก็บอกไว้เจอกันใหม่ น้องแบงค์ดูท่าทางซึมๆ จากนั้นก็โบกมือลาให้ผม

ปล. ยังงงตัวเองเลยครับ โครงการอ่านนิทานให่น้อง แต่กลายเป็นเล่นโดมิโน่ แฮะๆๆ :D

ขอบคุณครับตั้ม

ดีครับ จะอ่านหรือไม่อ่าน แต่นี่ก็เกิดประโยชน์แล้วครับ แบ้งค์และทัก รับไปเต็มๆนะครับ

ประเด็นที่ว่า "กลัวซ้ำชั้น ไม่ใช่กลัวก้อนในท้องงอก" ผมก็เพิ่งรับรู้ได้วันนี้แหละครับ

วันนี้ลูกศิษย์เดินมาหาแล้วเล่าเรื่องราวของความทุกข์ให้ฟังว่า เขายังหาเกณฑ์ในการประเมินกิจกรรม หรือตัวชี้วัดความสำเร็จไม่ได้เลย ผมก็เลยถามไปว่า ทำไมต้องยุ่งยากถึงขนาดนั้น คำตอบก็คือ มันควรจะเป็นตัวชี้วัดที่มองเห็นเป็นรูปธรรม จับต้องได้ ว่าแล้วเขาก็หยิบใบประเมินคร่าวๆมาให้ผมดู โดยมีหัวข้อที่คุ้นๆตา เช่น ประเมินความสามัคคีของทีม การทำงานเป็นทีม ความก้าวหน้าของกิจกรรม เหล่านี้เป็นต้น

ว่าแล้วก็ถึงบางอ้อ ว่าที่เขาเป็นทุกข์นั่นก็เพราะเหตุนี้นี่เอง เลยได้บอกเขาไปว่า กิจกรรมที่เรากำลังทำร่วมกันนี้ ก็คือ การแบ่งปันความสุขให้กับคนอื่นๆ ซึ่งดัชนีชี้วัดความสำเร็จจะเอามาวัดเป็นตัวเลขก็คงดูตลกเป็นแน่แท้ สิ่งที่เป็นตัวประเมินความสำฤทธิ์ของกิจกรรมนี้ น่าจะเป็นความรู้สึกของผู้จัดไม่ใช่หรือ การที่หมอได้มานั่งเล่าเรื่องราวดีๆให้คนอื่นฟัง การที่หมอได้มานั่งนึกความเป็นมาของกิจกรรม และการที่หมอรู้สึกว่าเป็นสุขเสมอเมื่อเห็นน้องๆเข้ามานั่งร่วมวงทีละคน บางคนไม่อยากให้เรากลับด้วยซ้ำ อันนี้น่าจะเป็นตัวชี้วัดที่ดีเป็นอย่างมาก

ผมคิดว่า กิจกรรมที่กำลังทำกันอยู่นี้ เป็นกิจกรรมจำพวกที่ทำให้หมอเป็นคน คิดถึงคน (ไม่ใช่โรค) ทำงานเพื่อคน (อื่น) เป็น humanized doctor อันนี้แหละที่สำคัญกว่าการวัดเรื่องการทำงานเป็นทีมบ้าบอคอแตก

แถมยังเสนอไปอีกว่า เอาการเขียนเล่าเรื่องราวและความรู้สึกเป็นการประเมินตนเองส่งไปเลย แล้วยังท้าอีกด้วยว่า คนมีสมองเท่านั้นจึงจะอ่านแล้วเข้าใน ฮ่า ฮ่า ฮ่า อันนี้เรียกว่ากวนทีนกันสุดๆครับ แต่จะว่ากวนไปก็ไม่ใช่นะครับ เพราะมันเป็นอย่างนี้จริงๆ จริงๆด้วย และก็อยากรู้เหมือนกัน ว่าคนอื่นที่มาอ่านนั้น คิดเห็นเรื่องการประเมินนี้ว่ายังไงครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์หมอธนพันธ์ ที่เคารพอย่างสูง

หนึ่ง สอง ชะ ชะ ช่า อ้าว...ฮา เฮ ฮา

อุ้ย...ขอโทษนะค่ะมาผิดงานแล้ว

ใกล้จะถึงบรรยากาศปีใหม่แล้วเลยนึกถึงแต่จังหวะลีลาศ

เอาใหม่นะค่ะ

ยิ้ม ยิ้ม ยิ้ม ยิ้มมานัยตาหวานชื่น

ยิ้มนิด "ชีวิตยั่งยืน" สดชื่นอุรานัยตาหวาน

สดชื่นอุราอย่ารีรอ มายิ้มกันหนอ น้อง น้อง เอย

(เป็นเพลงที่คุณครูสอนให้ร้อง เมื่อสมัยเรียน

อยู่ชั้นม.ต้นนะค่ะ วิชาดนตรีและการขับร้อง

พอจำได้อยู่ค่ะเพราะร้องให้เพื่อนๆ ฟังบ่อยเลย

ไม่ขี้อาย)

ต้องแบบนี้ถึงจะถูกกับบรรยากาศ สถานการณ์

"โครงการแบ่งปันรอยยิ้ม" มหัศจรรย์แห่งรอยยิ้ม

แย้มยิ้มยินดีปรีย์เปรม สุขเกษมเปรมใจ

คือ ทั้งคุณหมอและผู้ป่วยมีความสุข อิ่มเอม

อิ่มบุญกับการประกอบกิจกรรมที่สร้างสรรค์

ทำให้โลกสดใส น่าอยู่มากที่สุดในโลกเลย ฮา...

นี่ขนาดว่าโครงการเพิ่งเริ่มก็เห็นตัวชี้วัด

ทางด้านจิตใจเกิดขึ้นแล้ว คือ ...

น้องคลายความทุกข์

น้องอยากเล่นกับพี่นักศึกษาอีก

น้องไม่อยากให้พี่ๆ นักศึกษากลับ

(น้องต้องคิดถึงพี่ๆ นักศึกษาแน่ๆ เลย)

น้องอุ่นใจเมื่อพี่นักศึกษามาพูดคุยด้วย

น้องมีความสุขและสนุกเมื่อพี่นักศึกษามาเล่นด้วย

และที่สำคัญนะค่ะ น้องไม่กลัวก้อนเนื้อในท้องงอก เก่งจังเลยน้องพี่ ฮิ ฮิ...

ขอชื่นชม และชมเชยนักศึกษาแพทย์ว่า เก่งมากๆๆ กับกิจกรรมที่ได้บำเพ็ญประโยชน์เพื่อสังคม

เข้ามาอ่านแล้วปลี้ม น้องนักศึกษาแพทย์เล่าให้ฟัง รู้สึกสัมผัสได้เลยกับความดีงาม ที่ได้ช่วยเหลือผู้ป่วย

ขออนุญาตไปรับประทานกาแฟสักนิด กับขนมเค้กสูตรเด็ดที่อร่อยๆ ก่อนนะคะ

ด้วยความเคารพอย่างสูง

ภาณุพงศ์ ศรีอินทร์เกื้อ แดน PBL5

สวัสดีครับอาจารย์

วันนี้ผมและเพื่อนๆได้ไปทำโครงการอีกแล้วนะคับ วันนี้เราไปกัน7คน มีแดน จีเอ๋ ฟ้าใส มะห์ กอล์ฟ ซัน และก็ชิล คับ เราไปถึงวอร์ดปุ๊บเราก็ขอกุญแจเปิดห้องทำกิจกรรมกันเลย วันนี้เรานำหนังสือระบายสี ชุดระบายสี สีไม้ และก็หนังสือนิทานมากมายที่เราได้รับมาจากอาจารย์อีกที ซึ่งก็คือกล่องพัสดุที่คุณชนกานต์ ลิ่มสุวรรณ์ส่งมาให้เรา อาจารย์ธนพันธ์และก็ทางกลุ่มต้องขอขอบคุณ คุณชนกานต์อย่างมากนะคับ ที่เล็งเห็นถึงความสำคัญของโครงการของพวกเราแล้วได้จัดส่งของเหล่านี้มาให้ พอเข้ามาในห้องเราก็จัดการเคลียร์บริเวณในห้อง หลังจากเคลียร์เสร็จไม่ถึงห้านาทีภาพเดิมที่เราเคยเห็นมาแล้วก็คือเด็กๆกับผู้ปกครองที่เดินจูงเสาน้ำเกลือที่มีเคื่อง infusion pump ติดอยู่แต่ละคนก็มีกันคนละเครื่องทำให้เราต้องเชิญให้น้องเดินเข้ามาทีละคนเครื่องจะได้ไม่พันกัน พอเข้ามาครบแล้วพี่พยาบาลก็พาปลั๊กพวงมาให้เพื่อจะได้เสียบเครื่องนี้ได้ วันนี้เรามีน้องมาร่วมประมาณ 5คน ผมคุ้นๆว่าเป็นเด็กเก่าประมาณสองคน เรามีกิจกรรมให้น้องๆทำหลายอย่างแล้วแต่ว่าน้องๆอยากทำอะไร ไม่ว่าจะเป็นระบายสี ฟังนิทาน ดูการ์ตูน ต่อเลโก้ และก็เล่นของเล่น ผมเริ่มเล่นกับน้องผู้หญิงคนนึงซึ่งเป็นเด็กมุสลิมที่พูดภาษายาวี(ไม่แน่ใจสะกดถูกมั้ยนะคับ) ทำให้ผมกับน้องสื่อสารกันไม่ค่อยรู้เรื่อง แต่ยังดีที่วันนี้มีมะห์มาด้วยมะห์จึงเล่นกับน้องคนนี้เป็นส่วนใหญ่ ผมกับจ๊ะเอ๋จึงหันไปเล่นกับน้องคนนึงที่จะเอ๋ไปอุ้มมาเองกับมือ ดูภายนอกแล้วก็พอจะรู้ได้ว่าน้องน่าจะเป็น Down's syndrome ซึ่งผมก็ทายไม่ผิด จ๊ะเอ๋บอกว่าพี่พยาบาลบอกว่าน้องเค้าเป็นDown's syndrome แต่ไม่มากยังพอจะคุยกันรู้เรื่องแต่ตอนนี้น้องเค้ามี UTI ที่ไตจึงต้องมารักษาที่ รพ น้องเค้าชื่อน้องแชมป์คับ เป็นเด็กผู้ชายอายุประมาณสองขวบ พอเข้ามาในห้องปุ๊บก็วิ่งใหญ่เลย พี่ๆชวนเล่นต่อเลโก้ก้ไม่เล่นแต่กลับวิ่งไปหาชิลเป็นคนแรกแต่พอชิลชวนเล่นน้องก็ไม่เล่นแต่น้องกลับไปติดใจกับการ์ตูนที่เราเปิดตั้งไว้ น้องพูดว่า การ์ตูน ซึ่งตอนนั้นเราเปิดนิทานเรื่องหมึกกระดองซึ่งเป็นแผ่นซีดีที่มีอยู่ในหนังสือหมึกกระดอง ของคุณชนกานต์ให้น้องฟังๆ แต่แล้วเราก็ต้องเปลี่ยนไปเปิดเป็นการ์ตูนตามที่น้องแชมป์ร้องขอมา ซึ่งการ์ตูนที่มีในห้องนั้นเป็นเรื่องบาร์นี่(ซึ่งผมก็ไม่ค่อยได้ดูเหมือนกัน) ผมก็เลยนั่งดูการ์ตูนกับน้องไปเลย(แอบอู้งาน 555) พอถามน้องว่ารู้จักมั้ยชื่ออะไรน้องก็ตอบว่า "....นี่"(จับคำแรกไม่ค่อยได้ได้ยินแต่คำว่า นี่ นี่ อะไรซักอย่าง) ดูไปซักพักน้องน่าจะเบื่อก็เลยเดินไปนอกห้อง ซึ่งก็ต้องเป็นหน้าที่ผมกับจะเอ๋ที่ต้องวิ่งตามไปดูเราจึงออกไปเล่นกันที่โซนเด็กเล่นกันพักนึงแล้วแล้วน้องก็เหนื่อยเราจึงเดินไปส่งน้องที่เตียง แล้วก็กลับมาถ่ายรูปบรรยากาศในห้องต่อเวลาที่เหลือผมก็ใช้เวลาไปกับการเล่นต่อตัวต่อแข่งกับน้องคนนึงจนได้เวลาพักเที่ยงพวกเราจึงออกไปส่งน้องตามเตียงกัน ขณะที่ผมนั่งลงใส่รองเท้าหน้าห้องกิจกรรมน้องคนที่ผมเล่นต่อตัวต่อด้วยก็บอกว่า"เดี่ยวกินข้าวเสร็จ มาเล่นต่อนะ" (ซึ่งตามเวลาที่เราขอไว้คือแค่ตอนเที่ยงเพราะตอนบ่ายน้องต้องให้คีโมต่อเราจึงไม่ได้จัดในตอนบ่ายให้) ซึ่งผมก็ต้องบอกน้องไปว่า "เดี่ยวค่อยมาเล่นอีกละกันนะ" น้องเค้าก็ซึมไปนิดนึง ก่อนกลับพวกเราจึงไปลาและขอบคุณพี่พยาบาลบนวอร์ดที่ให้ความร่วมือกับพวกเรา ภาพที่ทำให้ผมรู้สึกหดหู่คือภาพของน้องคนที่บอกว่าเดี่ยวมาเล่นกันต่อ นั่งดูพวกเราเดินกลับด้วยสายตาเศร้าสร้อย เป็นภาพที่เหมือนว่าน้องเค้าต้องการเพื่อนเล่น ต้องการคนเล่นด้วยทุกวัน โอ กาสที่น้องเค้าจะได้เข้าไปเล่นในห้องก็น้อยอยู่แล้วเมื่อเทียบกับผมสมัยอายุประมาณจะเล่นอะไรที่ไหน เล่นกับเพื่อนกี่คนก็ได้เล่น ทำให้ผมได้รู้ว่าคนที่ขาดโอกาสในสิ่งดีๆต่างยังมีอีกมาก(พิมพ์ไปเศร้าไป) ผมสัญญากับตัวเองว่าคราวหน้าผมจะมาจัดกิจกรรมนี้ให้น้องๆกลุ่มนี้อีก ซึ่งกิจกรรมต่อไปก็คงจะเป็นกิจกรรมวันเด็กปีหน้าเลยซึ่งทางกลุ่มคิดว่าจะจัดร่วมกันสองกลุ่มคือกลุ่มพีบีแอลเจ็ด(กลุ่มอาจารย์เปิ้ล)ด้วย ส่วนกิจกรรมเป็นอย่างไรเดี่ยวจะมาเล่าให้ฟังอีกนะคับ

อนุโมทนาต่อเจตนาที่ดีสำหรับเด็กนักศึกษาแพทย์ทั้งกลุ่ม และอาจารย์ที่ปรึกษา โดยเฉพาะการมอบรอยยิ้มให้แก่ทุกคนที่ต้องการความช่วยเหลือ อาตมามีโครงการหนึ่งกำลังดำเนินการอยู่คือ การมอบรอยยิ้มให้แก่ผู้นำองค์กรพระพุทธศาสนาทั่วโลกจำนวน ๒๐๐๐ รูปคน ที่จะเดินทางมาร่วมประชุมและเฉลิมฉลองวันวิสาขะที่เมืองไทยวันที่ ๒๓ ถึง ๒๕ เดือนพฤษภาคม ๒๕๕๓ ซึ่งโครงการนี้อาตมาต้องการหมอจำนวน ๑๐ ท่านซึ่งสามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษ หรือภาษาอื่นๆ ช่วยกรุณาฝากข่าวไปยังลูกศิษย์ของอาจารย์ด้วย

แก้ข่าวเล็กน้อยนะครับแดน

หนังสือ 4 เล่มที่ให้ไปนั้น ที่เป็นเรื่องราวของทะเล หมึกกระดอง ฯลฯ เพื่อนผมหรือ พี่หนึ่ง มอบให้มาครับ

ส่วนที่เป็นชุดใหญ่อีกชุดหนึ่ง รวมกับชุดระบายสีและสีนั้น คุณชนกานต์ ลิ่มสุวรรณ์ ส่งมาให้ ผมและลูกศิษย์ขอขอบพระคุณอย่างสูงเลยนะครับ

ตอนนี้หนังสือก็อยู่บนบอร์ดเด็ก 2 วางตั้งไว้ในห้องที่เด็กๆสามารถเข้าไปใช้บริการได้เองโดยไม่ต้องรอนักศึกษาแพทย์เลยครับ

นมัสการพระคุณเจ้า

ผมจะแจ้งไปยังลูกศิษย์ให้ครับ รวมถึงแพทย์ท่านอื่นที่มีความสนใจครับ

สวัสดีค่ะ อาจารย์แป๊ะ

รายงานผลการไปทำกิจกรรมกับน้องๆที่วอร์ดเด็กครั้งที่สองค่ะ

ครั้งนี้รู้สึกคุ้นเคยกับบรรยากาศ พี่พยาบาล และน้องๆมากกว่าครั้งก่อนๆ พอมาถึงพวกเราก็ขอกุญแจจัดการเปิดห้อง และเตรียมอุปกรณ์กิจกรรมที่จะให้น้องๆทำกัน คราวนี้มีน้องๆมาร่วมกิจกรรมกันเยอะกว่าครั้งแรก อาจเพราะน้องๆเริ่มคุ้นเคยกับพวกเรามากขึ้น(หลังจากสงสัยมานานว่าพี่ๆมาทำอะไรกัน??) ปกติพวกเราต้องส่งหน้ามาไปชวนน้องๆมาเล่นด้วย แต่ครั้งนี้ น้องเดินมาด้วยตัวเอง บางคนที่โตหน่อยก็จูงเสาที่มีเครื่องกับสายน้ำเกลือมาคนเดียวเลย พวกเราก็ตกใจ เลยต้องรีบไปช่วยน้องลากมา แต่ก็ดีใจมากๆแสดงว่าที่ผ่านมากิจกรรมของเราคงจะทำให้น้องมีความสุข ^^ เนื่องจากตอนนั้นเป็นช่วงใกล้ปีใหม่ นอกจากกิจกรรมเดิม(เล่านิทาน เล่นเกมส์ ระบายสี)ที่พวกเรามีให้น้องทำแล้ว วันนี้ยังมีส.ค.ส.มาให้น้องๆทำด้วย ซึ่งน้องๆให้ความสนใจกันมาก แต่น้องบางคนยังเล็ก ยังวาดยังเขียนไม่เป็นพวกเราส่วนนึงจึงแบ่งมาเล่นกับน้องๆกลุ่มนี้ ซึ่งข้าพเจ้าเองก็เป็นหนึ่งในนั้น วันนี้มีน้องตัวเล็กหนึ่งขวบมาร่วมกิจกรรมด้วย โดยคุณแม่เป็น คนอุ้มมาพอมาถึงหน้าห้อง ข้าพเจ้าก็ออกไปจะอุ้มน้องเข้ามา ตอนแรกก็กลัวๆว่าน้องจะมาด้วยมั้ย เราจะทำลูกเค้าร้องไห้มั้ยเนี่ย แต่เหนือความคาดหมาย น้องมาด้วยความเต็มใจ ยิ้มสดใส หัวเราะคิกคัก น่ารักมากๆ เลยขออนุญาตคุณแม่พาน้องมาเล่นด้วย แล้วก็ได้คุยกับคุณแม่ของน้องจึงได้ความมาว่า น้องชื่อน้องภูมิ อยู่รพ.เพราะเป็นUTI แอบเห็นมีแผลที่ท้องน้องด้วย จึงไม่กล้าให้น้องเล่นอะไรมาก กลัวน้องจะเจ็บ แต่ที่ไหนได้ น้องแข็งแรงมาก โยนนู่นนี้ ต่อเรโก้ ยิ้มและหัวเราะตลอดเลย พอน้องต่อลงล็อคได้ พวกเราก็จะตบมือให้ เหมือนน้องจะเข้าใจ คราวนี้พอต่อได้น้องก็ตบมือเองเลย ส่งเสียงหัวเราะใหญ่ พลอยให้พวกเราหัวเราะสนุกสนานไปด้วย ผ่านไปเกือบชั่วโมง แม่น้องก็มารับกลับ แต่เหมือนน้องยังอยากเล่นต่อ(หรือพวกพี่ๆอยากเล่นกับน้องต่อ?? ^^) พวกเราก็เลย บอกคุณแม่น้องว่า ให้น้องเล่นอีกสักพักนะคะ ซึ่งคุณแม่ก็ยินดี เราก็เล่นต่อกันจนพักใหญ่ซึ่งเป็นเวลาที่น้องๆต้องไปทานข้าวเที่ยงกันแล้ว ข้าพเจ้าจึงพาน้องไปส่งที่หน้าประตูห้อง ก่อนไปน้องยิ้มให้แล้วหันมาส่งจุ๊บด้วย แววตาน้องสดใส น่ารักมาก ซึ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอิ่มเอม และมีความสุขมากๆ เนื่องจากการที่ข้าพเจ้าเป็นลูกคนแรกและหลานคนแรกของบ้าน จึงมักจะได้อะไรๆที่ต้องการมาตลอด ไม่ค่อยจะได้ให้อะไรกับใครมากนัก แต่กิจกรรมนี้และที่นี่ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจความรู้สึกของการได้ให้ แม้การให้ของข้าพเจ้าจะไม่ใช่เงินทองของมีค่าอะไร เป็นเพียงเวลา การพูดคุย รอยยิ้ม แต่มันก็ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกอบอุ่น มีคุณค่า และรู้ว่าการได้ให้มันมีความสุขกว่าการได้รับมากมายแค่ไหน^^

ณัฐวุฒิ ปรีชาปัญญากุลPBL5(กอล์ฟ)

ถึง พี่แป๊ะ(หรืออ.แป๊ะของพวกเรา)

ก็พอดีไอ้ตอนครั้งสุดท้ายที่ไปก่อนวันเด็กลืมมาเล่า ก็เลยถือโอกาสเล่าพร้อมกันกับตอนวันเด็กเลยละกันนะครับ

สำหรับครั้งสุดท้ายนั้น ก็ไปกันเยอะอยู่ ก็ไปกันเจ็ดคนเลย วันนั้นตอนตื่นมารุสึกมึนๆอยู่ แต่ก็ยังพอไหว ส่วนไอ้ตั้มจำได้ว่ามันบอกว่า "ขอนอนละกัน" เพราะว่าคืนก่อนหน้านั้นเล่นเกมกันถึงหัวรุ่งเลย พอไปถึงวอร์ดเด็กก็ไปเปิดห้องเหมือนทุกครั้ง ครั้งนี้พอเราเปิดประตูก็มีเด็กมายืนออกัน ผมก็แปลกใจนิดนึง พอน้องๆเข้ามาทีมงานของเราก็มีการเปิดการ์ตูนให้น้องฟังและดู ตอนนั้นผมเห็นอิเล็กโทนวางอยู่แถมเปิดติดซะด้วย กะไปโชว์เทพซะหน่อย นึกขึ้นได้เราเล่นไม่เป็นนิหว่า แถมโน๊ตเพลงยังจำได้แต่เพลงชาติด้วย พอคิดได้เช่นนั้นก็เลยลงมานั่งเล่นตัวต่อกับน้องๆละกัน ชื่ออะไรเเล้วหว่าจำไม่ได้ แต่จำได้ว่าตอนนั้น ก็แข่งต่อเลโก้กับน้อง น้องในสังกัดของมะห์ก็ต่อหุ่นยนต์มาสู้กับของผม หุ่นยนต์ของน้องเขานั่งได้ด้วย โปรบ้า แต่ไม่เป็นไร เรามีดาบมีปืนครบ สู้ได้ ก็สนุกทีเดียวล่ะ ส่วนหลังจากนั้น ผมก็ไปหยิบรถยนต์หมุนลานมาเล่นกับน้อง น้องๆกลับชอบอย่างไม่น่าเชื่อ เราเล่นกันสนุกมากจนแทบลืมเวลาไปเลยล่ะ ทุกครั้งที่มาทำกิจกรรม ก่อนมาก็มักจะคิดว่า เฮ้ย ต้องมาอีกเเล้วหรือ แต่พอมาถึงก็ไม่อยากกลับไปซะทุกที ได้เห็นรอยยิ้มน้องๆ ได้เห็นรอยยิ้มของพ่อแม่ พยาบาลเองก็แฮปปี้กับเราไปด้วย ส่วนตอนท้ายของวันนี้ก็ต้องจำใจกลับไปเพราะเวลาหมด หมดเวลา ช่วยกันเก็บของ แล้วกลับครับ

พอเราก้าวเข้าสู่วันเด็ก วันนั้นได้ข่าวว่านัดกันเก้าโมง ผมมาเก้าโมงสิบนาที โดนจ๊ะเอ๋ด่ายับเลย ทั้งๆที่เมื่อเทียบเวลาสัมพัทธ์มันก็เร็วนา เอาล่ะตัดไปที่วอร์ดเด็กเลยละกัน วันนี้เราก็ไปร่วมจัดกิจกรรมันเด็กร่วมกับกลุ่มอาจารย์เปิ้ล

ซึ่งเราก็มีซุ้มให้เล่นมากมาย ไม่ว่าจะเป็นซุ้มตกปลา ระบายสีปูนปลาสเตอร์ ระบายสีผ้า ปั้นดินน้ำมัน หรือเล่นเกมชิงรางวัลก็ตาม พอเห็นซุ้มต่างๆ ผมก็เลยตัดสินใจเข้าไปนั่งตกปลากับน้องอย่างไม่ต้องคิดเพราะเด็กๆไม่เคยได้เล่นกับเขา ปรากฏว่าแพ้น้องกระจุย เช่นเดียวกับพี่ๆอีกหลายคนที่ต้องปราชัยให้กับเด็กที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะกัน แต่ก็สนุกดี ทีเด็ดอยู่ตรงซุ้มเล่นเกมนี้ล่ะ ที่ได้ตั้มไปเล่นกับน้อง แถมยังใช้คำว่า กติกา กับน้องอีก(เด็กมันจะรู้จักคำนี้มั้ยวะ ไอ้ตั้ม) แต่ก็สนุกกันมาก แถมงานเรายังมีไอติมที่แจกทุกคนในโลกนี้เท่าทีว่าเขาอยากกิน ผมเองก็ออกไปถามตามเตียงต่างๆว่ารับไอติมไหมครับ มีอยู่เตียงนึง ทีแรกก็บอกว่าจะกินแต่พอมองไปที่ลูกแล้วบอกว่าลูกทานไม่ได้ งั้นไม่กินดีกว่า....ผมนี้อึ้งไปเลยครับ ซึ่งถึงคำว่ารักของบิดามารดาขึ้นมาทันใด แล้วพอผมไปคุยกับยายของเด็กที่เล่นเกมกับเราอยู่ ยายแกก็บอกว่าดีนะที่มาจัดงานให้กับเด็กเขา เพราะปกติน้องๆก็ไม่ได้ออกไปเที่ยวไหนอยู่แล้วเพราะกลัวติดเชื้อ แล้วเห็นนักศึกษาแพทย์มาทำแบบนี้ก็ดีใจ อยากให้จัดอีกจัง แหมพูดแบบนี้ก็แอบเขินเล็กๆครับ แล้วงานของเราก็จัดต่อกันไปเรื่อยๆจนเวลาทานข้าว ก็มีการแจกใบประเมินกันพอสังเขป เราก็พักกินข้าวกัน ตอนเราจะกลับก็ไปกล่าวขอบคุณพี่ๆพยาบาลที่คอยเอื้อเพื้อให้การสนับสนุนพวกเรามาโดยตลอดโครงการ ก็ใจจริงก็อยากไปต่อนะ เอาไว้ว่างๆชวนสาวๆปีหนึ่งขึ้นไปเล่นกับน้องบ้างดีกว่า หุหุ

ถ้าเปรียบPBL5เหมือนนิ้วที่กางทั้งห้าอาจจะดูไม่มีพลัง แต่ถ้าเรากำมือแล้วล่ะก็ อะไรเราก็สามารถชกมันทะลุได้

ปล.จะเอ๋กับเตยเฝ้าถังไอติมตลอดเลยครับ ไม่ไหวๆ

ขอบคุณครับลูกศิษย์ที่เคารพ

ว่าแล้วก็มาประเมินกันอีก

ผมก็เฝ้าถามทุกทีสินะ ว่าเราประเมินหรือให้เด็กประเมินทำไม

ประเมินแล้วได้อะไร

ใจเราเป็นอย่างไร ดีกว่าไหม

เรารู้สึกอย่างไร อย่างที่เล่ามา ดีกว่าไหม

ปล. ขอรูปบ้างครับ

เปลี่ยนจากคำ "ประเมิน" มาเป็น "reflection" หรือ "การสะท้อนเชิงลึก" ก็น่าสนใจนะครับ

คือไม่เพียงแค่เล่าเรื่อง เล่าความรู้สึก แต่ให้ลองพรรณนาว่าเราเกิด "การเปลี่ยนแปลง" อย่่างไร ทั้งภายในและภายนอก (คือสภาวะจิต กระบวนคิด ความรู้สึุก และด้่่านพฤติกรรม)

การเปลี่ยนแปลงเป็นหัวใจของการเรียน การศึกษา ถ้าเรียนไปไม่มีอะไรเปลี่ยนก็เป็นเพียง "แก่เพราะกินข้าว เฒ่าเพราะอยู่นาน" เท่านั้น แต่ที่ที่เราบอกว่าเรียน เอามานั่งสอบ ตอบได้ นั้น เป็นการเปลี่ยนแค่ knowledge และเพ่ิม set of words ใหม่เท่านั้น ยังไม่ได้จะไปเป็นประโยชน์ต่อเพื่อนมนุษย์ (รวมทั้งตัวเราเองด้วย) สักเท่าไหร่ การสะท้อน หรือ reflective dialogue จึงเป็นทั้งกระบวนการเรียนและกระบวนการประเมิน เป็นทักษะที่สำคัญในการเรียนเพื่อการเปลี่ยนแปลง

ชื่นชมในเรื่องราวที่เกิดขึ้นครับ อยากให้ประสบการณ์เหล่านี้มี impact ต่อการใช้ชีวิต การจะเป็นแพทย์ของน้องๆในอนาคตด้วย ไม่ได้เป็นเพียงแค่ไฟไหม้ฟาง หรือความสวยงามของดอกไม้ไฟ

ขอบคุณครับลุงนก

จะให้เด็กๆเก็บไว้ในกะโหลกเลยเชียว

สวัสดีครับ

วันนี้ได้อ่านรายงานที่เหล่าบรรดานักเรียนแพทย์ที่เคารพได้ส่งต้นฉบับมาให้อ่าน

ภาษาได้รับการแก้ไขจากอาจารย์บ้างในส่วนของเค้าโครงหลักของรายงาน แต่ในส่วนของ reflection เป็นของลูกศิษย์ครับ

จะเอามาลงให้อ่านกันนะครับ

Reflection (1)

 

            เริ่มจากครั้งแรกที่พวกเราได้มานั่งหารือว่าจะทำโครงการอะไรดี  เรานั่งคิดกันหลายวันมากว่าตกลงจะทำโครงการอะไร  สุดท้ายก็ตกลงกันได้ว่าจะไปปลูกต้นไม้ที่ป่าชายเลน แล้วมานั่งคิดต่อว่าพวกเราจะไปทำที่ไหนดี คิดไว้หลายที่มาก สรุปคือเลือกที่จะไปสุราษฎร์ธานี แต่พวกเราก็ไม่รู้จักสถานที่ดีพอ จึงคิดว่าควรไปปรึกษาเจ้าบ้านนั้นดีที่สุด เลยไปปรึกษาอาจารย์ธนพันธ์ ชูบุญซึ่งเป็นอาจารย์ที่ปรึกษาของกลุ่ม PBL นั่นเอง

            ในวันที่พวกเราได้พบอาจารย์และปรึกษาเรื่องการทำโครงการ คำถามแรกที่อาจารย์ถามกลับมาก็คือ พวกเราคาดว่าจะได้อะไรจากกิจกรรมและกิจกรรมที่เราทำนั้นจะให้ประโยชน์แก่ใครบ้าง บอกตามตรงว่าพวกเราถึงกับตอบไม่ถูก ตอบได้แค่ว่าต้องการไปปลูกต้นไม้เพื่อลดภาวะโลกร้อน แล้วอาจารย์ก็ถามอีกว่าที่พวกเราคิดว่าจะไปปลูกต้นไม้นั้น มันจะช่วยลดโลกร้อนได้มากแค่ไหน โอ๊ยยิ่งอาจารย์ถามก็ยิ่งรู้สึกว่าโครงการเราไม่ค่อยสร้างสรรค์เลย (หลังจากที่ใช้เวลาคิดและวางแผนเอาไว้หลายวัน) อาจารย์เลยขออนุญาตแนะนำกิจกรรมหนึ่ง คือ การไปทำกิจกรรมบนหอผู้ป่วยเด็ก หือ!!!!! กิจกรรมนี้ไม่เคยอยู่ในตัวเลือกของกลุ่มพวกเราเลย อาจเป็นเพราะเราไม่เคยไปสัมผัส ไปดูหอผู้ป่วยและไม่เคยรู้ความเป็นอยู่ของพวกเขามาก่อนเลย เพิ่งได้มีโอกาสรับรู้เรื่องราวขึ้นมาบ้างก็ตอนที่อาจารย์ธนพันธ์ได้เล่าเรื่องเกี่ยวกับพวกเขา และความรู้สึกของอาจารย์ตอนที่อาจารย์ขึ้นไปอยู่หอผู้ป่วยเด็ก ตอนที่เป็นนักศึกษาแพทย์ชั้นคลินิก ได้ฟังอาจารย์เล่าเรื่องแล้วก็เริ่มเห็นด้วยกับอาจารย์ และเริ่มเกิดแรงบันดาลใจ มันน่าจะมีประโยชน์กว่ากิจกรรมที่เราคิดไว้ตอนแรก

            พูดถึงผู้ป่วยเด็กที่ป่วยเป็นโรคเรื้อรังแล้วทำให้ดิฉันนึกถึงเด็กคนหนึ่งที่เคยไปเจอมา น้องเค้าเป็นเนื้องอกที่เส้นเลือดในสมองแล้วลุกลามมากดเส้นประสาทที่ตา ทำให้เธอตาบอด  ตอนที่ได้รับรู้อาการของน้องแล้วรู้สึกสงสารมาก คิดตามต่อไปไม่ทันและพูดไม่ออก และคิดว่าชีวิตประจำวันของเขาจะเป็นอย่างไร  พอมานึกถึงโครงการที่เราจะทำ นึกถึงน้องๆที่เราจะไปทำกิจกรรมด้วยแล้วก็รู้สึกว่าชีวิตของเขาคงจะน่าเบื่อเพราะต้องไปมาโรงพยาบาลหลายหน ต้องขาดเรียนบ่อย และเขาเองคงต้องการกำลังกายและกำลังใจเป็นอย่างมากที่จะต้องต่อสู้กับโรคที่ตัวเองเป็นอยู่  เด็กๆคงต้องการใครสักคนที่มาเติมเต็มชีวิตในส่วนที่ขาดหายไป การที่จะได้ไปทำกิจกรรมนี้ก็ดีทำให้รู้สึกว่าตัวเองมีค่ามากขึ้น  สามารถทำประโยชน์แก่ผู้อื่นอีกด้วย

            กิจกรรมที่ได้ไปทำก็ผ่านไปได้ด้วยดี ได้เจอน้องที่เป็นมุสลิม (สรรพนามที่ใช้แทนคนที่นับถือศาสนาอิสลาม) อยู่หลายคน เพื่อนๆเลยส่งมาให้ดิฉัน เนื่องจากน้องพูดภาษาไทยไม่ได้ เลยต้องเป็นหน้าที่ของดิฉันตามเคย  เท่าที่ได้ทำกิจกรรมกับน้อง หลายคนมักจะไม่กล้าพูดออกมาเพราะเป็นคนขี้อาย ดิฉันพยายามอย่างมากที่จะให้น้องๆพูดด้วย แรกๆน้องก็ไม่มีปฏิกิริยาโต้ตอบใดๆทั้งสิ้น โดยเฉพาะน้องคนหนึ่งที่ไม่ยอมออกห่างจากแม่เลย  จะไม่ให้แม่ไปไหนเลย  ต้องอยู่ใกล้ๆตัวเท่านั้น แต่พวกเราก็ไม่ลดความพยายาม จึงได้หาของเล่นชนิดต่างๆเพื่อดึงดูดให้น้องเข้ามาร่วมกิจกรรมด้วยให้ได้ ซึ่งท้ายที่สุดก็เป็นอันสำเร็จ เพราะในที่สุดเธอก็ยอมมาเล่นด้วย เล่นไปเล่นมาก็ถึงเวลาที่น้องต้องทานข้าวแล้ว  ดิฉันก็เลยไปส่งน้องที่เตียงเพื่อให้น้องได้ทานข้าว

            พอมานั่งคิดทบทวนเวลาที่ผ่านมาทำให้เรามีความรู้สึกดี ถึงแม้ว่ามันจะดูว่าไม่มีอะไร แต่สำหรับดิฉันคนที่ได้เข้าไปทำให้เด็กคนหนึ่งๆ ได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำอยากเล่น เห็นรอยยิ้มที่เค้าได้แสดงออกมามันก็น่าชื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว ถึงกับทำให้เรายิ้มตามเลยทีเดียว 

อาลีม๊ะห์

..........................................................................................................ง

จากอาจารย์

ม๊ะห์เป็นหนึ่งในความรู้สึกใหม่ของผม เพราะเธอเป็นนักเรียนมุสลิมคนเดียวในกลุ่ม การที่ผมมักจะจัดปาร์ตี้กับลูกศิษย์บ่อยๆ ทำให้เราต้องวางแผนการกินกันก่อนเสมอ ซึ่งม๊ะห์เองก็สามารถปรับตัวให้เข้ากับงานเลี้ยวเราได้อย่างดีโดยไม่ผิดหลักศาสนาเลย

การที่ม๊ะห์ได้เขียนมาให้อ่านในรายงานฉบับนี้ ได้แอบแก้คำผิดไปเล็กน้อยครับ ใส่คำเชื่อมให้บ้าง ลบคำเชื่อมบางตัวออกไปบ้าง โดยไม่ได้รบกวนเนื้อหาของม๊ะห์เลย

ม๊ะห์คงจะเป็นกำลังหลักของหมอเราต่อไป ที่จะทำงานในส่วนของจังหวัดนราธิวาส ดินแดนที่การใช้ภาษายาวีเป็นภาษาหลัก

ขอบคุณสำหรับการแบ่งปันนะครับ


Reflection (2)

 

แบ่งปันรอยยิ้มเป็นกิจกรรมเสริมหลักสูตร ทำเป็นกลุ่ม ตามกลุ่ม PBL การทำกิจกรรมก็คือพวกเราต้องไปเล่นกับน้องๆที่หอผู้ป่วยเด็ก 2 ในโรงพยาบาล “เล่นกับเด็ก” ก็ฟังดูดีหรอก เสียก็แต่ที่เราไม่ชอบเด็ก ตอนได้ยินครั้งแรกก็อยากจะค้าน มีเหตุผลพันแปดที่คิดขึ้นมาได้ ไม่ว่าจะการติดต่อประสานงาน น้องๆที่โรงพยาบาลอ่อนแอติดเชื้อง่าย ไหนจะต้องมานั่งคิดกิจกรรม จะทำครั้งเดียวก็ไม่ได้ กิจกรรมเดียวทุกครั้งก็กลัวน้องๆจะเบื่อ และที่สำคัญที่สุด “เราไม่ชอบเด็ก”

ในที่สุดพวกเรากลุ่ม PBL5 ก็เลือกโครงการนี้ โดยกิจกรรมจะถูกจัดขึ้นในวันเสาร์แบ่งกันไปสัปดาห์ละ 5 คน ซึ่งจัดกันแบบสุ่ม ครั้งแรกที่ไป ถึงแม้จะไม่ชอบเด็กก็ตาม แต่เราก็เป็นเด็กเหมือนกัน จะได้ไปเล่นก็ต้องมีตื่นเต้นกันบ้าง รู้สึกว่าอะไรใหม่ๆที่เราไม่เคยทำ และก็เป็นสิ่งที่ดี เราก็ควรจะเต็มที่กับมัน วันนั้นนัดกันที่ใต้หอ โอ้ว....เมื่อฝนตกหนักถึงเช้า น้ำนองเต็มทางเดิน กว่าจะไปถึงโรงพยาบาล ทั้งฝนระหว่างทาง และน้ำบนทางเดิน ทำให้แอบเหนื่อย ไม่อยากไป แต่ไหนๆก็ตกลงจะทำและก็ตื่นมาแล้ว ก็ไปสิ ที่หอผู้ป่วยมีห้องและที่ว่างสำหรับเด็กเล่นด้วย เพิ่งรู้เลย แล้วในห้องก็มีทั้งของเล่น หนังสือนิทาน หนังสือการ์ตูน ตุ๊กตา หุ่นยนต์ เต็มไปหมด มีพี่ๆนักศึกษาแพทย์ชั้นปี 2 อีก 5 คน แต่ไม่มีน้องๆมาเล่นด้วย วันนั้นถ้าจำไม่ผิดมีพี่พยาบาลใจดีช่วยพาน้องมาหาพวกเรา แล้วก็มากันเรื่อยๆ เราก็เล่นเรื่อยๆ เล่นอันนี้เบื่อก็ไปเล่นอันโน้นตามประสา แต่ดูน้องกลับสนุกไปกับเราด้วย ไม่น่าเชื่อ เดี๋ยวเดียวก็เที่ยงแล้ว น้องๆก็ไปกินข้าวกัน พี่ๆล่ะ นั่งเล่นต่อแล้วค่อยกลับหอ   จากครั้งแรกทำให้เราได้รู้ว่าจริงๆแล้วเราก็แค่ไม่ชอบเด็กที่พูดไม่รู้เรื่อง

 ครั้งที่สอง ไปตรงกับอีกกลุ่มที่โครงการคล้ายๆกับเรา วันนั้นกลุ่มนั้นเค้ามีกิจกรรมมา กลุ่มเราเลยได้ที ร่วมกิจกรรมกับเค้าซะเลย พอดีว่าใกล้กับวัน Christmas แล้ว ก็เลยได้ทำการ์ดกัน แต่เป็นการ์ดวันปีใหม่นะ เพื่อนกลุ่มโน้นมีของขวัญมาให้น้องๆด้วย ดูรู้เลยว่าน้องๆตื่นเต้นที่ได้ทำการ์ดแล้ว ยังดีใจที่ได้ของขวัญเป็นกอบเป็นกำกลับเตียงอีก เป็นอีกวันที่ได้ทำอะไรเพลินๆ ถึงจะไม่ชอบศิลปะ แต่ก็ได้เห็นน้องๆที่วันๆก็นอนอยู่บนเตียง แต่ความสามารถ และจินตนาการก็ไม่มีใครด้อยไปกว่ากัน ครั้งนี้ได้คุยกับคุณพ่อคุณแม่ที่มาเฝ้าน้องด้วย เสร็จแล้วก็ช่วยกันเก็บของกลับหอ อ้อ... จำได้ว่าครั้งนี้มีน้อง 1 คนที่ไม่กินข้าว อยากเล่นกีบพี่ๆต่อ (ภูมิใจจัง) ประสบความสำเร็จแล้วเรา แต่ที่จริงถ้ามองกันง่ายๆแค่น้องยิ้ม ก็แปลว่าน้องมีความสุข ถ้างั้นพวกเราก็สำเร็จตั้งแต่ต้นแล้ว

ครั้งที่สาม เราชวนน้องที่สนิทมาด้วย 1 คน ครั้งนี้มีน้องที่น่าสนใจ 3 คน คนแรกเป็นน้องมุสลิมเราเรียกน้องเค้าว่า “เด๊ะ” (แปลว่า น้องสาว) น้องคนนี้สื่อสารกับเราไม่ได้ เพราะน้องไม่พูดภาษาไทย แล้วน้องก็ไม่ยอมพูดด้วย พอดีว่าวันนั้นเพื่อนในกลุ่ม มะห์ พูดภาษายาวีได้ ก็เลยให้มะห์เล่นกับน้อง  อีกคนก็น้องแชมป์ คนนี้ทำให้ความคิดที่ได้มาครั้งแรกว่า “เราแค่ไม่ชอบเด็กที่พูดไม่รู้เรื่อง” เปลี่ยนไป เพราะเราชอบแชมป์มาก แชมป์จะพูดแต่ “เฮ้ย!!” ถูกใจมาก คนสุดท้ายเราไม่รู้จักชื่อน้อง รู้แต่ว่าน้องเพิ่งผ่าตัดมา ยังเจ็บแผลอยู่มาเล่นไม่ได้ คุณแม่อุ้มมาเดินดูที่ห้องเล่น แต่ไม่ได้เข้ามา พอเราเห็นก็เข้าไปหา แค่เรายิ้มเท่านั้น น้องก็ร้องไห้ซุกหน้ากับไหล่แม่ จนแม่ต้องพากลับเตียง พอใกล้เวลามื้อเที่ยง เหมือนรู้หน้าที่พวกเราก็ทยอยกันไปส่งน้องที่เตียง เราเลยถือโอกาสไปเยี่ยมน้องคนนั้นอีกครั้ง เหมือนเดิม น้องร้องไห้ ขอคิดแบบเข้าข้างโครงการตัวเองสุดๆ คิดว่าน้องคงจะอยากเล่น แต่ก็เจ็บเล่นไม่ได้ และร้องไห้ ถ้าเป็นอย่างนี้จริง สงสารน้องจับใจ

ครั้งสุดท้าย “วันเด็ก” ครั้งนี้ไม่ค่อยได้เล่นกับน้องๆเท่าไหร่ เพราะต้องเก็บรายชื่อผู้เข้าร่วมกิจกรรม และออกไปซื้อของเพิ่ม บวกกับกิจกรรมวันนั้นคือ ระบายสีปูนปาสเตอร์ ไม่ชอบสุดๆ เพราะไม่เคยทำได้ดี ไม่ว่าจะตั้งใจเท่าไหร่ แต่ก็ได้เดินตามเตียง เอาของขวัญวันเด็กไปแจก และเล่นกับน้องที่มาเล่นที่ห้องเล่นไม่ได้

ถึงตรงนี้คงคิดว่าเราจะหายไม่ชอบเด็ก แต่ไม่เลย เราก็ยังไม่ชอบเด็กอยู่ เพียงแต่อาจจะน้อยลง เพราะเด็กก็คือเด็ก ไม่มีเหตุผล ร้องไห้โยเย เล่นทั้งวัน พูดไม่รู้เรื่อง ฯลฯ แต่เด็กก็มีความน่ารักในตัวเอง ไม่ต้องหน้าตาดี บ้านรวย หรือสะอาดสะอ้าน บวกกับความน่าสงสารที่ต้องมาติดอยู่กับเตียงในโรงพยาบาล พี่พยาบาลกับคุณหมอใจร้าย ยาเม็ดมากมาย และเข็มฉีดยา สรุปคือ เรามีความสุขที่ได้ไปที่นั่น ความรู้สึกอยากหนีในครั้งแรกได้ถูกแทนที่ด้วยความกระตือรือร้นทุกครั้งที่จะไปที่นั่น และเชื่อว่าน้องๆก็คงสุขไม่มากก็น้อยไม่ต่างกัน ประโยชน์อีกอย่างที่เราเห็นชัดเลยคือ คุณพ่อคุณแม่ของน้องๆ ได้พัก อย่างน้อยๆก็ 1 ชั่วโมง น้องๆหอผู้ป่วยเด็ก 2 น่ารักทุกคนเลย และอยากให้มีโครงการนี้ต่อไป

 ฟ้าใส

.........................................................................................................

จากใจอาจารย์

แมง หรือฟ้าสวย หรือฟ้าใส

แมงเป็นคนตรง ไม่อ้อมค้อม ไม่รักเด็ก

สิ่งที่แมงสะท้อนออกมานั้น classic อย่างมากเลยครับ เพราะถึงแม้แมงจะยังไม่ได้รักเด็กมากขึ้น แต่แมงก็บอกผมว่า "แมงไม่ได้เกลียดเด็ก"

ขอบคุณนะครับ

Reflection (3)

3 เดือนจากใจนักศึกษาแพทย์อยากทำดี: นางสาวบุศวรรณ ถิระผลิกะ

เมื่อเราได้รับมอบหมายให้ทำโครงการหนึ่งโครงการ ตอนแรกก็ไม่รู้จะทำโครงการอะไรดี เลยมานั่งคุยๆกัน มีโครงการที่แต่ละคนเสนอเข้าชิงหลายโครงการอยู่ เช่น สอนหนังสือน้องๆตามโรงเรียน ปลูกป่า ขอบริจาคฝาแบรนด์ทำขาเทียม  แต่คิดแล้วก็ไม่ค่อยเข้าท่า จึงไปขอคำปรึกษากับอาจารย์แป๊ะ คำแรกหลังจากที่อาจารย์ได้ยินรายชื่อโครงการ อาจารย์ก็พูดว่า “ผมว่าพวกหมอคิดได้ดีกว่านี้” พวกเราก็แบบอึ้ง นี่สุดความสามารถแล้วนะ คิดตั้งนาน (ฮ่า ฮ่า ฮ่า)   อาจารย์เลยเสนอโครงการ “นักศึกษาแพทย์อยากทำดี” เป็นโครงการที่ไปใช้เวลากับน้องๆผู้ป่วยเรื้อรังที่วอร์ดเด็ก เล่านิทาน คุยกับน้อง อาจารย์ปิดท้ายว่า แล้วพวกคุณจะได้อะไรดีๆ ส่วนตัวข้าพเจ้าก็แอบคิดว่า แล้วจะได้อะไรล่ะ ก็แค่ไปนั่งเล่นนั่งคุยกับน้อง 

วันแรกที่ไปดูสถานที่ ข้าพเจ้ารู้สึกห่อเหี่ยวมาก เห็นน้องตัวเล็กๆ แต่มีเครื่องอะไรก็ไม่รู้มีท่อเยอะแยะต่อกับตัวน้อง เห็นแล้วก็รู้สึกเจ็บแทน น้องบางคนนอนอยู่บนเตียง สีหน้าเศร้าสร้อย เห็นแล้วก็คิดว่าแล้วจะเล่นอะไรกับน้องดีล่ะ น้องจะลุกจะเดินได้มั้ย จึงปรึกษากับกลุ่มได้ผลสรุปเป็นว่ากิจกรรมที่ไม่ต้องเคลื่อนไหวมากแต่สนุก เพลิดเพลินและเหมาะกับช่วงอายุน้อง นั่นคือ เล่านิทาน ระบายสี และพับกระดาษ วันแรกที่ไปทำโครงการ น้องๆไม่ค่อยกล้าเข้ามาเล่นด้วย ต้องส่งหน้าม้าไปชวนน้องๆที่เตียง บางคนก็มา บางคนก็ยังไม่กล้า ครั้งแรกจึงมีน้องมาร่วมกิจกรรมไม่มาก น้องยังไม่ค่อยกล้าคุย  ถามอะไรก็ไม่ค่อยกล้าตอบ กิจกรรมจึงดำเนินไปอย่างเรียบๆ  สำหรับครั้งที่สองของข้าพเจ้า (ครั้งที่สามของกลุ่ม) ครั้งนี้มีน้องมาร่วมกิจกรรมมากขึ้นกว่าครั้งแรก บางคนเดินมาเองเลย น้องครั้งนี้ส่วนใหญ่จะเป็นคนละชุดกับกลุ่มน้องครั้งที่แล้ว น้องบอกว่าจะมาโรงพยาบาลทุกๆสองหรือสามอาทิตย์ มาให้ยา แต่บางคนก็ยังอยู่  ตัวข้าพเจ้าก็รู้สึกสงสารน้องมาก ขนาดตัวเองมาโรงพยาบาลนานๆครั้งยังรู้สึกไม่ชอบเลย นี่น้องต้องมาทุกเดือน กิจกรรมครั้งนี้เป็นช่วงใกล้ปีใหม่ จึงมีการทำการ์ดปีใหม่มาเพิ่ม ดูน้องๆจะสนใจและสนุกกันมาก ครั้งนี้มีน้องมาร่วมกิจกรรมเยอะขึ้น  มีเสียงพูดคุยระหว่างพี่กับน้องมากขึ้น มีเสียงหัวเราะสนุกสนาน กิจกรรมครั้งนี้เหมือนจะผ่านไปอย่างรวดเร็ว พอถึงเวลาพวกเราต้องกลับ มีน้องที่เพิ่งกินข้าวเสร็จเดินกลับมาเล่นต่อ แต่น้องเห็นพวกเราเก็บของแล้วน้องก็ดูเศร้าๆ น้องถามว่า พี่จะมาอีกมั้ย พวกเราก็ปลื้ม แสดงว่าน้องมีความสุขที่พวกเรามาทำกิจกรรมด้วย พวกเราก็ตอบไปว่า เดี๋ยวพี่มาใหม่นะ ตอนนี้ข้าพเจ้าเริ่มรู้สึกแล้ว ว่าอะไรดีๆของอาจารย์แป๊ะนั้นคืออะไร แต่มาคิดอีกที ตามที่เพื่อนในกลุ่มคนหนึ่งพูดก็ถูก มาครั้งหน้าไม่อยากเจอน้องเลย เพราะมันแสดงว่าน้องยังป่วยอยู่  ครั้งที่สามของข้าพเจ้า (ครั้งสุดท้ายของกลุ่ม) ครั้งนี้ตรงกับวันเด็กพอดี ทั้งกลุ่มของข้าพเจ้าและกลุ่ม PBL 7 ที่ทำโครงการคล้ายๆกันมาจัดกิจกรรมร่วมกัน กลุ่มของข้าพเจ้ารับผิดชอบในส่วนกิจกรรมและกลุ่มเพื่อนรับผิดชอบเรื่องอาหาร กิจกรรมวันนี้เป็นระบายสีปูนปลาสเตอร์ ระบายสีภาพบนผ้าดิบ ปั้นดินน้ำมัน และเกมอื่นๆเล็กๆน้อยๆ ส่วนของรางวัลวันเด็กก็เป็นเกมที่ฝึกความแม่นยำให้น้อง นั่นคือ การโยนลูกบอลชิงของรางวัล ใครโยนได้อันไหนก็ได้รับชิ้นนั้นไป รางวัลก็มี กระปุกออมสิน ตุ๊กตา ชุดเครื่องเขียน และรางวัลใหญ่ที่ต้องใช้ความแม่นยำมากที่สุดนั่นคือ กระเป๋า ซึ่งเป็นที่ต้องการของน้องๆมาก สุดท้ายของตกเป็นของน้องผู้หญิงตัวเล็กที่มาด้วยสายตามุ่งมั่น หลังจากนั้นก็มีแจกน้ำ และไอศกรีม น้องๆชอบมากเลย บางคนกินไปสามโคน อิ่มจนไม่ต้องกินข้าวเที่ยงกันเลย กิจกรรมครั้งนี้จบลงด้วยรอยยิ้มและเสียงหัวเราะ น้องสนุกพี่ก็สนุก วันนี้มีน้องจากวอร์ดเด็กอื่นมาเล่นด้วย กิจกรรมครั้งนี้มีน้องมาเล่นด้วยเยอะมาก ผู้ปกครองก็เยอะ เลยครึกครื้นมากเป็นพิเศษ

 ตลอดระยะเวลาที่ข้าพเจ้าได้ร่วมกิจกรรมนี้ อะไรดีๆที่อาจารย์แป๊ะบอกก็ได้ค่อยๆซึมเข้ามาในความรู้สึกของข้าพเจ้าอย่างไม่รู้ตัว รู้ตัวอีกทีก็เมื่อจบกิจกรรม รู้สึกคิดถึงน้องๆเหมือนกัน อย่างที่ข้าพเจ้าเคยบอก ข้าพเจ้าเป็นลูกคนแรกถูกตามใจ อยากได้อะไรก็ได้มาแต่เด็ก ไม่ค่อยได้ให้อะไรกับใคร แต่กิจกรรมนี้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการได้ให้นั้น รู้สึกดีกว่าการได้รับมากมายแค่ไหน

 

บุศวรรณ

..........................................................................................................

จากใจอาจารย์

ลูกตาล มีรูปแบบการเล่าเรื่องที่น่าอ่านมากครับ

เลยได้รู้ว่า ลูกตาลเป็นเด็กที่ถูกตามใจมามาก และรู้สึกดีมากๆกับการให้ในครั้งนี้

ดีใจด้วยจริงๆ

Reflection (4)

ความรู้สึกก่อนทำโครงการ

            นับได้ว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจ เริ่มแรกความเดิมตัวผมเองคิดจะทำโครงการเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ ไปปลูกต้นไม้ ไปรณรงค์เพื่อที่จะอนุรักษ์ แต่พอไปปรึกษาอาจารย์ธนพันธ์  ซึ่งเป็นอาจารย์ประจำกลุ่มการเรียน PBL (Problem- Based Learning) อาจารย์ธนพันธ์ ไม่เห็นด้วยอย่างยิ่งด้วยหลายๆเหตุผล จากนั้นอาจารย์ก็เสนอให้มาทำโครงการแนวที่จะพัฒนาตัวเราไปพร้อมๆกับผู้ร่วมโครงการ ผลสุดท้ายจึงเกิดโครงการแบ่งบันรอยยิ้มขึ้น

ในคราวแรกที่มติของกลุ่มตกลงจะทำโครงการนี้ ผมรู้สึกไม่ค่อยอยากจะทำโครงการแนวนี้เนื่องจากโดยส่วนตัวเป็นคนไม่ชอบจ๊ะจ๋ากับเด็กๆอยู่ และจะรู้สึกรำคาญเสียงร้องของเด็ก นอกจากนี้เด็กที่เราเข้าหาก็เป็นผู้ป่วยเรื้อรัง ซึ่งในความคิดส่วนตัวแล้วผู้ป่วยโรคเรื้อรังน่าจะมีสภาพจิตใจที่ไม่ดีแล้วเราจะจัดกิจกรรมอย่างไรให้ผู้ร่วมโครงการมีสภาพจิตใจดีขึ้น และไม่รู้ว่าจะเข้าหาเด็กๆอย่างไร นับได้ว่าเป็นสิ่งที่ยากมากสำหรับตัวผม  แต่เนื่องจากเป็นมติของกลุ่ม รวมถึงวัตถุประสงค์ของโครงการล้วนแต่ทำให้เกิดประโยชน์ต่อตัวเราทั้งสิ้น จึงให้ความร่วมมือในการวางแผนโครงการ กำหนดวัตถุประสงค์ วิธีดำเนินการ  จัดซื้ออุปกรณ์ และเตรียมพร้อมที่จะท้าทายความสามารถของตัวเอง

 

ความรู้สึกหลังทำโครงการ

            รู้สึกแปลกใจมาก เนื่องจากสิ่งที่เราคิดไว้ กับสิ่งที่เราประสบจากการดำเนินโครงการกลับตรงข้ามกันในหลายๆอย่าง เช่น

-                     เด็กๆมีสภาพจิตใจ และกำลังใจจากผู้ปกครองและบุคลากรทางการแพทย์ มากกว่าผู้ที่มีร่างกายสมบูรณ์และแข็งแรงบางคนเสียอีก

-                     เด็กๆมีความประสงค์จะร่วมโครงการต่อๆไปอีก เห็นได้จากเมื่อเรามากันในครั้งสุดท้ายเพื่อปิดกิจกรรม น้องๆจะมารออยู่หน้าห้องที่จัดกิจกรรม และขณะร่วมกิจกรรม เด็กๆมีแต่รอยยิ้ม มีเสียงหัวเราะ

-                     เด็กๆบางคนไม่ได้กลัวเนื้อร้ายที่อยู่ในร่างกายด้วยซ้ำ แต่กลับกลัวต้องเรียนซ้ำชั้น กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน

-                     เวลาเพียงไม่กี่ชั่วโมงเราก็สามารถสร้างความสนิทสนมกับเด็กๆได้ บางทีน้องๆก็มาถามว่าจะมาอีกไหม แล้วจะมาอีกวันไหน

รู้สึกถึงความปิติที่เด็กๆมีให้เรา ไม่ว่าจะเป็นรอยยิ้ม เสียงหัวเราะ ความสนิทสนม แม้จะเป็นเพียงช่วงเวลาสั้นเพียงไม่กี่ชัวโมงในหนึ่งสัปดาห์แต่ก็ทำให้เราอิ่มเอิบใจไปเต็มๆ  รู้สึกว่าเด็กๆไม่ได้เป็นสิ่งที่น่ารำคาญ เข้าหาก็ไม่ยากอย่างที่คิดไว้ และรู้สึกมีความสุขที่ได้จัดทำโครงการนี้ อยากจะให้มีโครงการแบบนี้มีขึ้นมาอีกกับผู้อื่น  

 

ธนพฤธ

.........................................................................................................

ตั้ม

ลักษณะการเล่าเรื่องราวมานั้น สมแล้วกับการที่เป็นคนประเภท CS ต้องแยกแยะออกเป็นข้อๆ ซึ่งตรงกับบุคลิกเมื่อเราอยู่ในกลุ่ม PBL

ผมได้แอบแก้ไขคำผิดอยู่คำหนึ่งที่ตั้มเขียนเล่าความรู้สึกว่า "รำคาญ" ต้องเขียนว่า รำคาญ ไม่ใช่ ลำคาน ฮ่า ฮ่า ฮ่า อย่างหลังนั้นเอาไว้สำหรับสาวโสดครับ (ฮาอีก...ล้อเล่น)

Reflection (5)

ครั้งแรกที่ผมได้รับทราบว่าจะทำโครงการเกี่ยวกับผู้ป่วยเด็ก ผมก็มีความรู้สึกหลายอย่างปะปนกันไปในสมอง ทั้งเรื่องของสถานที่ ระยะเวลาการดำเนินการ การปฏิสัมพันธ์ติดต่อกับผู้คนต่างๆ ที่สำคัญคือมารยาทและการพูดคุยกับผู้ป่วยเด็ก เพราะในความรู้สึกของผม ผู้ป่วยมีอาการป่วยทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจ ผมรู้สึกกลัวว่าเวลาที่ผมพูดอะไรที่กระทบความรู้สึกของผู้ป่วยไปแล้ว ผู้ป่วยจะเกิดความเศร้าเสียใจ มีความรู้สึกที่ไม่ดี ที่แย่ที่สุดคือผู้ป่วยอาจมีความรู้สึกที่ไม่ดีต่อบุคลากรทางการแพทย์ได้ ทั้งๆที่คนอื่นได้ฟังแล้วอาจจะรู้สึกเฉยๆก็เป็นได้

            ผมจึงมีความกังวลมากเป็นพิเศษ ผมได้สอบถามเรื่องรายละเอียดของโครงการกับเพื่อนๆว่าเป็นอย่างไรบ้าง ระยะเวลาการดำเนินงานเท่าไร มีผลกระทบต่อการเรียนมากน้อยเพียงใด และที่สำคัญคือ ผู้ป่วยเด็กที่เราจะไปทำกิจกรรมด้วยนั้นมีบุคลิกอย่างไร ป่วยในด้านไหนบ้าง และเราจะจัดกิจกรรมอะไรให้พวกเขาบ้างเพื่อให้พวกเขา “ได้” อะไรจากเราไป

            ผมเห็นด้วยกับโครงการที่เพื่อนๆเสนอมานี้ เพราะมันเหมือนเป็นการ “ให้” อะไรอย่างยั่งยืน ดีกว่าที่เราไปปลูกป่า แล้วเราก็ไม่รู้ว่า ที่เราปลูกไปนั้นจะเจริญเติบโตงอกงามดีหรือไม่ ยิ่งผมได้ฟังเนื้อหา รายละเอียดโครงการอย่างคร่าวๆแล้ว ผมก็ยิ่งรู้สึกเห็นด้วยกับการทำโครงการ เพราะไม่ใช่แค่การแจกของ การทำบุญ การเลี้ยงข้าวกลางวันแบบที่ทำแล้วก็จบกันไป แต่เป็นการทำแบบต่อเนื่องในทุกสัปดาห์ และมีการจัดกิจกรรมเพื่อเสริมสร้างพัฒนาการของน้องๆอีกด้วย ซึ่งนั่นเป็นสิ่งสำคัญที่ผมต้องการมากที่สุด นั่นก็คือ ถ้าจะจัดกิจกรรมอะไรก็ตามแล้ว ก็ควรจะ “ได้” อะไรที่คุ้มค่า ยั่งยืน และสามารถเผยแพร่สิ่งที่ดีๆนั้นออกไปในวงกว้างได้

            หลังจากที่เพื่อนๆได้ตกลงเรื่องเวลา และรายละเอียดต่างๆของโครงการเพิ่มเติมแล้ว ผมก็ไม่ได้ทราบรายละเอียดของข้อมูลโครงการต่างๆมากนัก ทำให้บ่อยครั้งที่เมื่อมีการนัดประชุม ผมมักจะไม่ได้เข้าประชุมอยู่เสมอ ซึ่งผมก็มารู้เรื่องหลังจากประชุมทุกครั้ง ซึ่งก็เป็นสิ่งที่บกพร่องที่สุดของผมที่ไม่ได้เอาใจใส่ในการติดตามการดำเนินงานอย่างเต็มที่ และก็ส่งผลร้ายในเรื่องของการที่ผมไม่สามารถเสนอความคิดเห็นใดๆของผมได้เลย

            นอกจากความกังวลในเรื่องของรายละเอียดของโครงการแล้ว เรื่องที่กังวลไม่แพ้กันคือ การปรับตัวเข้าหากับผู้ป่วยเด็ก โดยอุปนิสัยส่วนตัวของผมแล้ว ผมเป็นคนที่ชอบเล่นกับเด็ก เนื่องด้วยในบ้านของผม ผมเป็นคนโตสุดของบ้าน ผมจึงเล่นสนุกสนานกับน้องๆและลูกพี่ลูกน้องเป็นประจำ แต่ในกรณีนี้ ผมมีความรู้สึกว่ามันต่างกันออกไปเพราะ เด็กที่ผมจะไปทำกิจกรรมด้วยนั้นคือ ผู้ป่วยเด็กเรื้อรังซึ่งต้องได้รับการรักษาอย่างเป็นประจำสม่ำเสมอ ในความรู้สึกของผมนั้นการนอนในโรงพยาบาลเป็นอะไรที่อึดอัดมาก เราทำอะไรที่เราอยากทำไม่ได้ เราต้องอยู่แต่บนเตียงแข็งๆ เรากินอาหารที่เราอยากกินไม่ได้ และที่สำคัญที่สุดคือ เราต้องมีสายน้ำเกลือแขวนไว้อยู่ข้างตัวของเราตลอดเวลา ทำให้เราเหมือนถูกจำกัดอิสรภาพเป็นอย่างมาก  ผมเข้าใจความรู้สึกนั้นได้เป็นอย่างดี เพราะผมก็เคยอยู่โรงพยาบาลมาแล้ว เพียงแค่ไม่กี่วันผมที่ผมนอนในโรงพยาบาล สภาพจิตใจของผมก็รู้สึกแย่และรู้สึกไม่ดีได้ถึงเพียงนี้ แล้วสภาพจิตใจของเด็กที่ต้องได้รับการรักษาตัวในโรงพยาบาลตลอดเวลา จะมีสภาพจิตใจที่เศร้าหมองถึงเพียงไหน ผมจึงคิดว่าเป็นเรื่องยากอยู่เหมือนกันที่จะทำความคุ้นเคย สนิทสนมกับเด็กๆ เพราะสภาพจิตใจของเด็กเหล่านั้นไม่น่าจะเหมือนเด็กทั่วไป พวกเขาอาจจะมีความปิดกั้นตัวเองกับโลกภายนอกก็ได้

เมื่อผมได้เริ่มจัดทำกิจกรรม ผมได้ไปที่โรงพยาบาลสงขลานครินทร์ แผนกผู้ป่วยเด็ก 2 ซึ่งอยู่ชั้นที่ 6 ผมไปกับเพื่อนๆรวมกันแล้ว 5 คนเพื่อจัดทำกิจกรรมตั้งแต่เวลา 9.00 น. - 12.00 น.

            ความรู้สึกแรกที่ผมได้สัมผัสกับผู้ป่วยเด็กเหล่านี้แล้ว ผมได้พบสิ่งต่างๆที่ผิดไปจากสิ่งที่ผมได้คาดเอาไว้หลายอย่าง เช่น ผู้ป่วยเด็กเหล่านี้ไม่ได้อยู่โรงพยาบาลอย่างเดียว พวกเขาก็กลับบ้าน ไปเรียนหนังสือเหมือนกับเด็กคนอื่นๆเหมือนกัน แต่พวกเขาอาจจำเป็นต้องขาดเรียนในบางช่วง เพื่อความต่อเนื่องในการรักษา เด็กบางคนอยู่ต่างอำเภอก็ต้องเดินทางมาทุกเสาร์ อาทิตย์

            ผู้ป่วยเด็กถึงแม้จะต้องให้สายน้ำเกลือตลอดเวลา แต่ไม่เป็นอุปสรรคกับการทำกิจกรรมเลย เพราะพวกเขาสามารถทำกิจกรรมได้อย่างคล่องแคล่ว แม้จะต้องจำกัดการเคลื่อนไหวไม่ให้ไปไกลมาก แต่ก็ไม่เป็นปัญหาเลย เพราะส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมที่ไม่ต้องออกแรงมากนัก เช่น พับกระดาษ วาดรูป ระบายสี เป็นต้น

            แม้เด็กเหล่านี้จะต้องอยู่ในโรงพยาบาลเป็นประจำ และต้องอยู่ในแผนกเตียงรวม แต่พวกเขาก็สามารถดูโทรทัศน์ได้ ผมสังเกตเห็นแทบทุกเตียงจะมีพวกโทรทัศน์พกพา เครื่องเล่นวิดีโอพกพา หรือเกมส์กดต่างๆ ซึ่งผมคิดว่าอย่างน้อยพวกเขาก็มีอะไรทำ ไม่น่าเบื่ออย่างที่ผมคิดไว้

            และที่สำคัญที่สุดคือ ผมคิดผิดไปในด้านการพูดคุยกับเด็กเหล่านี้เป็นอย่างมาก เด็กเหล่านี้ไม่ได้มีความรู้สึกแย่อย่างที่ผมคิดไว้ พวกเขาก็เหมือนเด็กปกติ มีอารมณ์เหมือนเด็กปกติ และก็สามารถพูดคุย ทำความสนิทสนมได้เหมือนเด็กปกติเช่นเดียวกัน พวกเขาพร้อมที่จะทำกิจกรรมกับพวกผม ซึ่งเป็นสิ่งที่ดีมาก เพราะพวกผมก็พร้อมที่จะจัดกิจกรรมให้แก่น้องๆเหมือนกัน

            ผมไปทำกิจกรรมสลับกับกลุ่มเพื่อน สัปดาห์เว้นสัปดาห์ในทุกวันเสาร์ และทำร่วมกันครบทั้ง 10 คนในวันเด็กแห่งชาติที่ผ่านมา

            ทางกลุ่มของผมได้จัดกิจกรรมหลายอย่าง แม้ไม่ได้ตรงใจในสิ่งที่ผมคิดไว้มากนัก เช่น การสอนหนังสือให้เด็กๆ แต่อย่างน้อยเราก็ได้ “ให้” สิ่งดีๆแก่เด็กๆเหล่านี้ นั่นก็คือ การดูแลเอาใจใส่ แม้เราจะทำได้ไม่ตลอดไป แต่เราก็ได้สอนความรู้สึกเป็นมิตรต่อคนรอบข้างให้แก่พวกเขา เด็กบางคนอาจมาด้วยความก้าวร้าว แต่เมื่อเราสอนพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ยอมเล่นด้วยกัน และแบ่งปันกัน

            สำหรับผม ผมรู้สึกว่า ผมคงต้องปรับความคิดของผมเสียใหม่ ปรับความเข้าใจของผมให้ถูกต้องกว่านี้ นั่นคือ ผู้ป่วยไม่จำเป็นต้องรู้สึกเศร้า ท้อถอย ผู้ป่วยบางคนก็แค่ป่วยทางกาย แต่ทางด้านจิตใจ บางที พวกเขายังแข็งแกร่งกว่าผมเสียอีก และที่สำคัญที่สุดคือ ถ้าผู้ป่วยรู้สึกเศร้าหมอง ทุกข์ใจแล้ว เราก็ต้องเป็นคนรักษาพวกเขาทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจด้วย เราต้องอย่ารู้สึกเศร้าตามเขา แต่เราให้เขารู้สึกมีความสุขเหมือนเรา

            ความรู้สึกที่ทำให้ผมรู้สึกกล้าที่จะทำให้ผู้ป่วยมีความสุขนี้เกิดจาก ตอนวันเด็ก ผมเห็นเด็กๆทำกิจกรรมกันเป็นกลุ่มๆ แต่กลับมีเด็กคนหนึ่งซึ่งแม่ปล่อยให้มาทำกิจกรรม ซึ่งผมเข้าใจไปเองว่า แม่คงจะไปรับประทานอาหารกลางวัน เด็กคนนั้นนั่งไกวชิงช้าอยู่คนเดียว และคอยมองหาแม่อยู่บ่อยๆ เมื่อผมเห็นอย่างนั้น ผมรู้สึกว่า ผมก็เคยเป็นอย่างนั้น ท่ามกลางกลุ่มเพื่อนที่ทำกิจกรรมกันอยู่ ผมกลับมานั่งอยู่คนเดียว ไม่ร่วมทำกิจกรรม ไม่ใช่เพราะ ผมไม่อยากทำกิจกรรมนั้น แต่เป็นเพราะผมไม่อยากขัดจังหวะสนุกสนานของเพื่อนๆที่กำลังทำกิจกรรมอยู่ต่างหาก ผมจึงลุกขึ้นไปเล่นเกมส์กับน้องคนนั้น น้องคนนั้นก็มานั่งใกล้ผมแล้วก็เล่นเกมส์ตกปลาด้วยกัน

            ผมคิดว่า ถ้าเราไม่ทำ แล้วใครจะทำล่ะ? เพราะตอนนั้นเพื่อนๆก็ต่างทำกิจกรรมกับน้องๆกลุ่มอื่นๆอยู่เหมือนกัน ทำไมเราต้องกลัวว่าเราจะเศร้าตามผู้ป่วย ในเมื่อเราเป็นแพทย์รักษาคนไข้ เราก็ต้องรักษาคนไข้ทั้งร่างกายและจิตใจสิ!

 

วรรธนะ

.............................................................................................................

ชิวอิดครับ

หมอสอนผมอีกเรื่องหนึ่ง นั่นก็คือคุณธรรมเรื่อง "อุเบกขา" ครับ ขอบใจ ขอบใจ

ชิวอิดเป็นคนช่างสังเกต ช่างเก็บรายละเอียด ดีมากเลยนะครับ

ท้ายที่สุดก็คือ ขอบใจ ที่อุตส่าห์ลุกขึ้นไปนั่งเล่นเกมตกปลากับเด็กอีกคน ที่ไม่กล้าเข้ามารวมกลุ่มกับคนอื่นๆ

Reflection (6)

            ตั้งแต่ได้รู้ว่าคณะให้นักศึกษาแพทย์แบ่งกลุ่มทำโครงการอะไรก็ได้ ที่ทำแล้วเป็นโครงการที่อยู่ได้อย่างถาวรและมีประโยชน์ต่อตัวเองและต่อสังคม (ไม่ใช่โครงการที่ทำแล้วจบก็จบเลย) แค่ได้รับโจทย์มาอย่างนี้ก็มึนหัวแล้ว โครงการอะไรบ้างที่ทำแล้วอยู่ได้ถาวรและเกิดประโยชน์ด้วย ทางกลุ่มเลยลองนั่งนึกและเขียนออกมาดูว่ามีอะไรบ้าง เราเลยตกลงกันว่าจะไปปลูกป่าชายเลน เราจึงไปปรึกษาอาจารย์ธนพันธ์ (ซึ่งอาจารย์เคยบอกไว้ว่าถ้าจะไปเที่ยวที่ไหนให้มาถามได้) อาจารย์ถามว่า “ปลูกป่าแล้วได้อะไร คิดว่าพวกคุณปลูกต้นไม้คนละสิบต้นจะช่วยลดโลกร้อนได้จริงเหรอ” อาจารย์เลยแนะนำให้ทำโครงการที่อาจารย์เคยอยากทำสมัยเป็นนศพ. คือให้ไปเล่านิทาน และเล่นกับน้องที่ตึกผู้ป่วยเด็กสอง เราเลยกลับไปปรึกษากันสรุปว่าเราน่าจะลองทำดูนะ เพราะมันดูมีประโยชน์และไม่เปลืองงบประมาณคณะมากเกินไป

            ช่วงที่เขียนโครงการก็ต้องมานั่งนึกกันอีกว่าเด็กป่วยเรื้อรัง เค้าสามารถเล่นอะไรได้บ้าง กินขนมอะไรได้บ้าง พอมานั่งดูดีๆ ก็เห็นว่ามีปัญหาเยอะเหมือนกัน พอเอาเข้าจริงก็เริ่มไม่ชอบเด็กขึ้นมาแล้วเหมือนกัน

            วันแรกที่ไปทำก็เกิดความประหม่าเล็กน้อย จะมีเด็กมาร่วมกิจกรรมกับเราหรือเปล่า น้องจะสนุกกับเรามั้ย พอไปเจอน้องที่มาร่วมกิจกรรมกับเราแล้วเหมือนมีอะไรมาดึงความประหม่าออกจากตัวไป ต้องรีบไปรับน้องเค้ามาร่วมเล่น น้องบางคนก็ยังไม่ค่อยกล้าที่จะมาร่วมกิจกรรม  เราจึงต้องสร้างความคุ้นชินกันนานทีเดียว ตอนจะกลับก็จะมีคำถามจากน้องๆว่า “พี่จะมาอีกมั้ย? พี่จะมาอีกวันไหน?” ทำให้ทุกครั้งก่อนกลับต้องหดหู่กลับไปทุกครั้ง

            เราได้ทำกิจกรรมกันไปเรื่อยๆประมาณ 3 ครั้งทำไปเรื่อยรู้สึกสนิทกับน้องเค้ามากขึ้น เด็กก็กล้าที่จะคุย ที่จะถามกันมากขึ้น จากที่รู้สึกว่าเค้าเป็นเด็กที่มีปัญหาเยอะ อุปสรรคและปัญหาก็ดูหายไป เสาน้ำเกลือที่เคยเกะกะรำคาญ พอเราจัดให้ดีแล้วมองว่ามันให้มันไม่มีปัญหา มันก็จะไม่มีปัญหากับเรา

            วันสุดท้ายของโครงการเราได้จัดวันเด็กให้แก่น้องๆที่ตึก วันนี้คนมาเยอะมาก มีทั้งผู้ปกครองและเด็กๆมาร่วม งานนี้เราทำร่วมกันสองกลุ่มโครงการทำให้ได้คุยกับเพื่อนอีกกลุ่มมากยิ่งขึ้นอีกด้วย หลังจากจบกิจกรรมแล้วหันกลับมาดูบรรยากาศภายในตึกผู้ป่วยแล้วเห็นภาพน้องๆที่ถือของขวัญวันเด็ก นอนเล่นของขวัญอยู่บนเตียงแต่ละเตียงก็จะมีผู้ปกครองเฝ้าอยู่เตียงละคนสองคน อีกไม่กี่ชั่วโมงเด็กเหล่านี้ก็ต้องให้ยาเคมีบำบัดต่อ ต้องทนทรมานกันต่อ แค่นี้ก็คงดีแล้วนะที่มาทำให้เค้ามีสามชั่วโมงในวันนี้มีความสุขเพิ่มขึ้น จากวันนี้ภาพเด็กๆที่ตึกผู้ป่วยเด็กสองและภาพการมาทำงานกับเพื่อนๆได้มาเล่น ได้มารับรู้ความรู้สึกลึกๆของน้องๆภาพเหล่านี้คงเป็นภาพที่ต้องจดจำไว้อีกนาน หวังว่าน้องเหล่านี้คงได้มีโอกาสหายดีแล้วกลับมามีความสุขกับเพื่อนตามช่วงวัยของเค้าบ้าง เพิ่งได้รู้ในวันนี้ว่าเด็กที่มีปัญหามากเหมือนที่เราเคยคิดไว้นั้น ปัญหานั้นมันไม่ได้เกิดจากตัวน้องเค้า แต่มันเกิดมาจากปัญหาของตัวเราเองต่างหากขึ้นอยู่กับว่าเราจะแก้ปัญหานั้นหรือเราจะปล่อยมันไว้อย่างเดิม พี่คิดถึงน้องๆทุกคนนะ หายเร็วๆล่ะ

 

ภาณุพงศ์

.........................................................................................................

แดนเป็นหัวหน้ากลุ่มที่เราทุกคนเห็นพ้องต้องกัน ว่า "ดีมากๆ" แดนเป็นนักประสานงาน ไม่ใช่ประสานงา

อยากจะบอกข่าวดีว่า ผมติดต่อพี่หมอที่เกาะพงันไว้แล้วนะครับ ปิดเทอมใหญ่หัวใจว้าวุ่นเตรียมตัวยกโขยงไปได้เลย

อย่าลืมพกต้นโกงกางไปคนละต้น ช่วยกันปลูกแถวๆท่าเรือ จะได้สมความตั้งใจกันเสียที (ฮา....)

Reflection (7)

ตั้งแต่ที่พวกเราได้เข้าไปคุยกับอาจารย์เรื่องโครงการและได้ตัดสินใจจะทำโครงการนี้ขึ้น ความรู้สึกแรกคือรู้สึกว่าเป็นโครงการที่น่าสนใจดี เป็นอะไรที่แปลกใหม่ที่ไม่เคยทำและไม่มีโอกาสได้ทำมาก่อน ตอนนั้นคิดแค่ว่ามันน่าจะสนุกดี จนกระทั่งวันที่ได้ไปที่วอร์ดผู้ป่วย ก็ได้ไปเห็นอะไรหลายๆอย่างที่ไม่เหมือนกับที่เรานึกภาพเอาไว้ วันนั้นยังไม่ได้เริ่มทำกิจกรรม เพียงแค่ขึ้นไปดูสถานที่ ไปสอบถามข้อมูลจากพี่พยาบาลว่าน้องขาดเหลืออะไร และต้องการให้พวกเราทำอะไรให้บ้าง ก่อนหน้านี้อาจารย์ธนพันธ์ได้เล่าให้พวกเราฟังแล้วว่าที่นี่เป็นวอร์ดผู้ป่วยเด็กโรคเรื้อรัง ซึ่งส่วนหนึ่งก็เป็นมะเร็ง และการรักษาด้วยเคมีบำบัดก็จะทำให้น้องๆผมร่วงจนหมด ตอนนั้นก็แค่รับทราบแต่ยังนึกภาพตามไม่ออก จนได้มาเห็นด้วยตาตัวเองก็รู้สึกแปลกๆไป ตอนแรกไม่รู้ด้วยซ้ำว่าน้องๆเป็นผู้หญิงหรือว่าผู้ชาย วันนั้นก็ได้มีการเข้าไปคุยกับน้องๆบางส่วนเป็นการสร้างความคุ้นเคยให้ทั้งกับน้องและตัวเราเอง น้องๆจะรู้และสามารถบอกเราได้ว่าตัวเองเป็นโรคอะไร มีน้องคนหนึ่งบอกว่าเป็นโรคมะเร็งเม็ดเลือดขาว สีหน้าท่าทางน้องดูเป็นปกติมากจนเราดูไม่ออกว่าน้องรู้สึกยังไง และก็ไม่รู้ว่าน้องๆรู้รึเปล่าว่าโรคที่น้องเป็นคืออะไร เมื่อได้คุยกับพี่พยาบาลเพื่อสอบถามข้อมูลก็ได้ทราบว่าผู้ป่วยส่วนใหญ่จะเป็นผู้ป่วยโรคไต และโรคมะเร็ง น้องๆหลายคนยังเป็นเด็กเล็กๆที่ไม่ค่อยรู้เรื่องราวอะไรก็ต้องมาอยู่ที่วอร์ดผู้ป่วย ต้องได้รับการรักษาต่อเนื่อง ถูกฉีดยาอะไรต่อมิอะไรเต็มไปหมด รู้สึกเหมือนกับว่าเราได้มาเห็นอีกด้านของชีวิตที่เราไม่เคยได้สัมผัสมาก่อน ความรู้สึกหลังจากวันนั้นก็เลยค่อนข้างหดหู่และก็สงสารน้องๆรวมทั้งพ่อแม่ของน้องด้วย แต่อีกใจหนึ่งก็เลยมีแรงฮึดที่จะทำให้น้องๆมีความสุขขึ้นมา

            ครั้งแรกๆที่เราได้ไปทำโครงการ ก็ได้มีการวางแผนว่าจะทำกิจกรรมอะไรบ้าง แต่ไม่ได้คิดถึงระยะเวลาว่าการทำกิจกรรมในแต่ละอย่างมันไม่ได้ทำให้สนุกได้ตลอดระยะเวลาของกิจกรรม รวมทั้งน้องๆที่มาเข้าร่วมก็เป็นเด็กๆที่เราก็รู้กันอยู่แล้วว่าเด็กๆมักจะเบื่อง่าย พอทำกิจกรรมเดิมๆวนไปมานานๆเข้าต่างฝ่ายต่างก็เริ่มเบื่อ ในความรู้สึกส่วนตัวก็เลยคิดว่าการทำกิจกรรมครั้งแรกไม่ค่อยประสบผลสำเร็จเท่าที่ควร ครั้งต่อๆมาของกิจกรรมก็เลยพยายามหาอะไรมาทำให้มากขึ้น เราได้เห็นแล้วว่าของเล่นในมีอยู่ค่อนข้างมาก สามารถนำมาใช้ในกิจกรรมได้อีกหลายอย่าง พอมีกิจกรรมให้ทำมากขึ้น เราก็เลยสามารถควบคุมกิจกรรมให้สอดคล้องกับเวลาได้ดีขึ้น รวมทั้งก็พยายามที่จะเข้าหาน้องๆ สรรหาเรื่องต่างๆมาพูดคุยด้วยให้มากขึ้น จากปกติแล้วเป็นคนที่ถ้าไม่สนิทด้วยก็จะไม่ค่อยพูดมากเท่าไหร่ และในการทำกิจกรรมก็มักจะเป็นการเจอกับน้องๆเป็นครั้งแรก แล้วถ้าเราไม่พูด น้องก็ไม่พูด แล้วจะยังไง.. ก็เลยทำให้เราต้องเปลี่ยน เห็นได้ตั้งแต่ครั้งแรกที่ทำกิจกรรมจนถึงวันสุดท้าย เราต้องเป็นฝ่ายที่เริ่มเข้าหาน้องๆก่อน พยายามชวนคุย ชวนเล่น ทำยังไงก็ได้ให้น้องๆได้สนุก และมีความสุขที่เรามาใช้เวลาด้วย แม้จะเป็นแค่ช่วงสั้นๆ แต่ความสุขในช่วงสั้นๆนี่แหละที่จะช่วยเป็นแรงขับดันให้เราเดินต่อไปได้

            วันนี้ การทำโครงการได้ดำเนินมาจนถึงบทสรุปแล้ว อาจารย์ธนพันธ์เคยพูดไว้ตั้งแต่แรกว่า โครงการนี้นอกจากเราจะได้ไป “ให้” อะไรกับผู้อื่นแล้ว ยังจะ “ได้” อะไรกลับมามากกว่าที่คิด พอมองย้อนกลับไป ก็เห็นด้วยกับอาจารย์ ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นในระยะเวลาเพียงไม่นาน จากความรู้สึกตื่นเต้น สนุกสนาน และก็หดหู่ไปกับความเจ็บป่วยของน้องๆ ก็เปลี่ยนมาเป็นความรู้สึกที่อยากจะทำให้น้องๆได้มีความสุข แม้จะเป็นแค่ช่วงเวลาสั้นๆก็ยังดี ยิ่งในตอนท้ายๆโดยเฉพาะในวันเด็กซึ่งเป็นวันสุดท้ายของกิจกรรมและเป็นวันที่สนุกมาก ทั้งพี่ทั้งน้อง ครั้งนี้เราได้ให้น้องได้มีส่วนร่วมกันทุกคน สำหรับคนที่ไม่สามารถมาร่วมกิจกรรมได้ พวกเราก็ได้ไปพูดคุยกับน้องและพ่อแม่ที่เตียง แล้วก็ได้ให้ของขวัญวันเด็กกับน้องๆ เป็นความรู้สึกประทับใจอย่างหนึ่ง เพราะโดยปกติแล้วจะมีน้องๆมาร่วมกิจกรรมเพียงไม่กี่คน ครั้งนี้ก็เลยรู้สึกดีมากๆที่ได้ให้ความสุขกับน้องๆได้ครบทุกคนที่อยู่บนวอร์ด นอกจากนี้ดังที่ได้บอกไว้ตั้งแต่แรกว่าตอนนั้นคิดแค่ว่าโครงการน่าจะสนุก ตอนนี้ก็ได้เห็นแล้วว่าความสุขทางใจ ไม่ได้เกิดจากการเป็นผู้รับเสมอไป แต่ความสุขที่เกิดจากการให้ก็ทำให้รู้สึกอิ่มเอมได้ไม่แพ้กัน

 

ชมพูนุท

..........................................................................................................

จ๊ะเอ๋ครับ

ทำได้ดี ไม่มีคำผิดในข้อความที่เขียนมาเลย ประทับใจ ภาษาสวย น่าฟัง

นอกจากจะรำโขน (เป็นลิงชุดแดง) ได้สวยแล้ว ภาษายังสวยอีกด้วย

จ๊ะเอ๋ก็เป็นอีกคนหนึ่งครับ ที่ร่วมวางแผนและติดตามแดนไปประเมินด่านหน้าก่อน เลยต้องมารับบทวิตกจริตอยู่มากโขก่อนเริ่มงาน

ขอบใจนะครับ

Reflection (8)

ตอนแรกที่ได้ข่าวว่าต้องทำโครงการเสริมหลักสูตรในใจผมก็คิดอยากจะทำเรื่องหนังสือเสียง แต่เนื่องด้วยเราไม่ค่อยรู้รายละเอียดเรื่องนี้มากนัก หัวข้อนี้จึงตกไป  พอต่อมาเราก็คิดว่าจะไปปลูกป่า ซึ่งผมก็เป็นอีกคนที่คิดว่าไม่ค่อยได้ประโยชน์สักเท่าไหร่ แต่ก็เฉยๆ ไม่ได้ค้านไป  พอหลังจากตั้มได้ติดต่อกับอาจารย์แป๊ะแล้ว เราก็ทราบว่ายังมีโครงการอีกโครงการหนึ่งที่น่าจัดอยู่ ก็คือไปเล่นกับน้องที่วอร์ดเด็กเรื้อรัง ซึ่งเรากลุ่มPBL5ก็ต่างเห็นพ้องต้องกันว่ามันเป็นโครงการที่ดูมีประโยชน์ดี หลังจากที่เราเสนอโครงการเรียบร้อย เราก็มานั่งคิดชื่อกันก่อน ก็ดังที่ได้เห็นกัน ว่าชื่อโครงการดูคุ้นๆเหมือนว่าเราอยู่ร่วมสังคมเดียวกันยังไงไม่รู้  หลังจากที่ได้ชื่อ เราก็มาถึงขั้นตอนที่สำคัญ คือเราจะไปทำอะไรให้น้องบ้าง ก็ตกลงว่าเราจะไปเล่านิทานให้น้องฟังและก็เตรียมรูปให้น้องระบายสีกัน ตอนนั้นเราก็จินตนาการไปว่าจะมีเวทีให้เราไปร่วมสนุกกับน้อง  แล้วน้องเขาจะมาเต้นลูบเป้าโชว์เราหรือเปล่า หรือน้องเขาจะอาการหนักจนไม่ได้แม้แต่ทักทายเรา   ก็คิดว่ามันน่าจะท้าทายเราอยู่ทีเดียว แล้วอีกอย่างตอนที่เพื่อนๆไปดูสถานที่ครั้งแรกผมไม่ได้ไป ก็เลยไม่รู้ว่าจะเจออะไรบ้าง แต่เนื่องจากเวลากลับบ้านก็เลี้ยงหลานบ่อยก็คิดว่าน่าจะสนุกเหมือนน้องเรานะ  ผมตอนไปครั้งแรกก็แอบบ่นอุบอิบอยู่เหมือนกัน ยังจำได้อยู่เลยว่าเรื่องที่เอาไปให้น้องระบายสี ดราก้อนบอล ขบวนการห้าสี แล้วก็เจ้าหญิงแห่งความมืดอะไรสักอย่าง พอเราขึ้นไปที่วอร์ด เห็นห้องที่ให้เราจัดกิจกรรมก็เจ๋งนี่หว่า ใช้ได้ๆ วันแรกที่แรกผมไม่รู้จะไปอยู่ตรงไหน เพราะระบายสีก็ไม่ค่อยจะเป็น แต่ทำไปทำมา รู้สึกตัวอีกทีก็ตามไประบายสีกับน้องถึงเตียงซะแล้ว อันนี้ก็เพราะน้องเขาถึงเวลาให้ยา แล้วพี่เตยซึ่งกำลังเล่านิทานไปได้ครึ่งเรื่อง เพื่อไม่ให้เกิดโศกนาฏกรรมกับน้องเขา บวกกับความชาญฉลาดของผมแล้ว จึงเสนอให้พี่เตยตามไปเล่าที่เตียงน้องระหว่างน้องโดนลงเข็มอยู่ แล้วเราก็ตามไปด้วยเผื่อเตยอารมณ์ขึ้นยังไงจะได้ช่วยทัน พอไปถึงผมก็เล่นเป็นหมาป่า พยายามเล่นให้ฮาที่สุด ก็พอจะได้ผลอยู่ น้องเขาก็ดูแช่มชื่นยิ่งขึ้น ต่อมาเราก็ระบายสีด้วยกัน ผมยังจำภาพที่น้องบอกว่าไม่ต้องเอาปลาสเตอร์พันไว้ไม่ให้เข็มหลุดก็ได้  มันระบายสีไม่สะดวกๆ โอ้โหใจถึงจริงๆ  ถ้าเป็นพี่พี่คงบอกว่า ให้ผมระบายเสร็จก่อนได้ไหมแล้วค่อยจิ้ม  และในที่สุดวันแรกก็จบไป  ผมรู้สึกหวิวๆเมื่อเดินออกจากวอร์ดมา ถึงแม้ความรู้สึกนั้นจะถูกกลบจากการคุยโม้ในลิฟท์และดื่มชาเย็นก็ตาม แต่ความรู้สึกนั้นมันก็บอกผมว่าการได้ทำอะไรเพื่อใคร สักคนมันมีความสุขอย่างนี้นี่เอง ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นความรู้สึกนั้นจะเหลือเพียงความว่างเปล่าตามระบบฮอร์โมนของเราที่จางไป  แต่ภาพๆนั้นยังจำได้ไม่จางเลย

            และหลังจากผมและเพื่อนๆได้ร่วมกิจกรรมครั้งแรกของตนไปแล้ว คงมีหลายคนรวมทั้งผมที่คิดอยากจะพัฒนาฝีมือตัวเองให้เก่งขึ้น เข้ากับน้องๆได้ดีขึ้น เพื่อที่จะได้ไม่ปล่อยเวลาแห่งความสุขให้ล่วงเลยไปอย่างเปล่าประโยชน์ในโอกาสหน้าที่ได้ไป  พอเราไปครั้งที่สองครั้งนี้ดูเหมือนกิจกรรมจะมีมากขึ้นและน้องๆต่างมากันทั้งวอร์ด สร้างความเฮฮากันมากทีเดียว น้องๆหลายคนที่ไม่ค่อยพูดเพราะเป็นมุสลิมแล้วมีปัญหาด้านการสื่อสาร ก็ไม่ใช่ปัญหาสำหรับเราที่จะมาแบ่งปันรอยยิ้มให้ทุกหมู่เหล่า เพราะเรามีอาลีมะห์  ที่พูดภาษายาวีได้ จึงทำให้น้องๆมุสลิมต่างไม่เหงา แม้จะต้องทนกับการเล่านิทานของพี่เขาก็ตาม  น้องๆก็มาเข้ากลุ่มตามความชอบของตน มาต่อเลโก้บ้าง เล่นโดมิโนบ้าง ระบายสีบ้าง ทุกคนต่างมีความสุขที่ได้ทำ ร่วมทั้งผมที่เฝ้ามองนาฬิกาข้อมือเพราะอยากกลับไปเล่นเกม เอ้ย อยากให้มันหยุดเดินไปเลยต่างหาก  จะได้เล่นกับน้องได้ทั้งวันทั้งคืน  น่าจะดีพิลึกถ้าน้องๆที่เคยไม่มีใครเป็นเพื่อนเล่นด้วย กลับมีพี่ๆเล่นด้วยตลอด  ถ้าเป็นผมผมคงจะดีใจมากทีเดียวถ้าพี่ๆอยู่เล่นกับเขาได้ทั้งวัน  จบครั้งที่สองเดินกลับมา  ระหว่างเดินเราก็กำลังดื่มด่ำถึงความงดงามของโครงการของเราที่ได้สร้างโอกาสดีๆทั้งแก่ตัวผมและเพื่อนๆ  รวมทั้งน้องๆอีกด้วย

 

            ว่าแต่ว่า ก่อนเรามานี้แต่ละคนก็มักจะบ่นว่านอนไม่พอ เล่นเกมหนัก ดูละครมาแปดรอบเมื่อคืนบ้าง แต่พอทุกคนได้มาทำกิจกรรม ก็ต่างหายเหนื่อยเป็นปลิดทิ้งเมื่อเห็นน้องๆยิ้มได้ น้องๆไม่เครียด  บางครั้งผมก็ทำตัวตลกๆไปบ้างก็เพราะอยากให้ๆน้องๆและเพื่อนๆมีความสุขในการทำโครงการ และช่วยสร้างบรรยากาศกันด้วย

            และในที่สุดเราก็เดินทางมาถึงบทสุดท้ายของโครงการ  ก็คือวันเด็กนี่เอง วันนี้คึกคักมาก เพราะน้องๆก็ต่างดีใจที่ได้มีวันเด็กเหมือนกับเพื่อนๆ เอาเป็นว่าน้องคนไหนที่ไม่นอนก็มาร่วมกิจกรรมกับพวกเราหมดละครับ ผมก็เหมือนได้ย้อนกลับไปในวัยเยาว์  ได้ทำสิ่งที่เราไม่ได้ทำในตอนเด็กๆ เช่นตกปลาที่ปลามันอ้าปากปิดปาก ผมสารภาพว่าผมไม่มีปัญญาซื้อเล่นในตอนเด็ก  ตอนนั้นเลโก้คือของเล่นที่ดีที่สุดที่ผมมี นอกจากนั้นก็เป็นหุ่นยางเสียส่วนใหญ่ เพราะมาเล่นกับน้องก็แพ้เด็กตามฟอร์ม  พอได้เล่นกับน้องๆนานๆเหมือนเด็กน้อยในตัวเราถูกปลุกให้ตื่นยังไงไม่รู้สิ แล้วเราก็จบโครงการกัน  ก็กะว่าจะหาสาวๆขึ้นวอร์ดไปเล่นกับน้องบ้างอยู่เหมือนกัน น่าจะดี

            เอาเป็นว่าตอนเริ่มโครงการนั้นผมไม่ได้คาดหวังอะไรกับโครงการนักหวังเพียงแต่ว่าโครงการของเราจะทำให้น้องๆคลายทุกข์จากโรคภัยได้ แม้ว่าจะเป็นช่วงเวลาสั้นๆก็ตาม  แต่พอมาทำจริง มันมีอะไรที่มากกว่านั้นเยอะเลยครับ  เราได้เห็นความมหัศจรรย์ของเพื่อนหลายๆอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา เช่นคนที่ดูไม่ได้เรื่อง  จู่ๆเด็กเดินมาหาและไม่ยอมไปไหนนี้หมายความว่าไง  แล้วก็เป็นโครงการที่ทำแล้วไม่รู้สึกอึกอัด ไม่อยากทำ มีแต่ไม่อยากหยุด  ทำแล้วเกิดผลคุ้มค่ากว่าเวลาที่เสียไปด้วยซ้ำ  เพราะเราไปเสริมพื้นฐานจิตใจของน้องเขาให้แกร่งยิ่งขึ้น  ถึงบ้านชีวิตของน้องเขาจะสร้างต่อไปได้แค่ชั้นเดียวหรือสองชั้น  แต่ผมและเพื่อนๆต่างๆก็มั่นใจว่ามันจะไม่มีทางล้มอย่างแน่นอนครับ

 

 

            รากฐานบ้านคืออิฐ   รากฐานชีวิตคือความรัก

 

ณัฐวุฒิ

..........................................................................................................

คารมคมคายสไตล์แบบนี้ ก็คงมีในกอล์ฟคนเดียวเท่านั้นในกลุ่มเรานี้ ฮา....

ไม่ยักกะรู้ ว่ากอล์ฟชาญฉลาดที่ซู๊ด (ฮา.........) ที่เสนอแนะการตามเด็กไปที่เตียง

ท้ายที่สุดนี้ ขอให้หาคนไปเดินเล่นในวอร์ดเด็กได้จริงๆนะครับ

พึ่งทราบว่านักเรียนของเราเป็นนักเล่าเรื่องตัวยงทีเดียวนะครับแป๊ะ

ดูจากปริมาณงานที่เขียนลงมา ถ้าสะท้อนโดยการพูด เล่า ไม่ทราบว่าจะยิ่งมากกว่านี้ ละเอียดกว่านี้หรือไม่ (อันนี้แล้วแต่ บางคนชอบเขียน ให้พูด พูดไม่ออก บางคนยิ่งพูดยิ่งลื่นไหล)

สิ่งที่เราเรียนใน classroom เขาบอกว่ามันจะเหลือเพียง 5% ตอนจบ และที่เหลือ 5% นี้หลังจากออกไปทำงาน มันจะเหลือใช้จริงๆแค่ 5% (0.05 x 0.05 = 0.0025) ที่เหลือส่วนใหญ่คือสิ่งที่เราได้ทำจริงๆ เรียนรู้ตอนปฏิบัติจริงๆเท่านั้น การที่แป๊ะจัดเวทีและน้องๆได้มีโอกาส "ลงมือ" ทำจริงๆ เป็นการเพิ่ม essence ที่จะคงอยู่ยาวนาน

เห็นบางคนสะท้อน เกือบจะเป็นมืออาชีพทีเดียว คือมีเปรียบเทียบก่อนและหลังกิจกรรม มองเห็นตนเองก่อนและหลัง และข้อสำคัญ มองเห็นไม่เพียงความคิด แต่เริ่มเข้าใจใน "ความรู้สึก" อารมณ์ ของเราเองด้วย ซึ่งเป็นทักษะชีวิตอันเป็นประเสริฐ เป็นมงคลอย่างย่ิง การเร่ิมรู้ตัวเราเองเป็นจุดเริ่มต้นแห่งการเรียนรู้ระยะยาว ยิ่งถ้่า "ภาวนา" (คือคิดใคร่ครวญ เชื่อมโยง ลงลึก) การเรียนแบบแตกฉานและซึมซับเพื่อพัฒนาบุคลิก ไม่ใช่เพียงแค่ขนาดสมอง ก็จะยิ่งงอกงาม ไม่เพียงตัวเราเองเติบโตมีความสุข เราเองอาจจะเริ่มสังเกตเห็นว่าคนรอบข้างพลอยซึมซับมีความสุขไปด้วย

อนุโมทนาสาธุให้น้องๆ นศพ.ทุกคน อย่างนี้ตัวผมเองเรียก "อภิชาตศิษย์" คือ ดีกว่าครู (คือผมเอง ไม่ใช่แป๊ะหรอกนะ) สมัยผมเรียน ไม่มีโอกาสจะได้ทำอะไรแบบนี้เลย แต่ก็ยังดี ได้มีโอกาสได้ยิน ได้ฟัง ตอนมาเป็นครู ก็เป็นบุญของตัวเองแท้ๆ

Reflection (9)

            “ไปเล่นกับน้องที่วอร์ดเด็กกันไหม” แวบแรกของความรู้สึกหลังจากได้ยินคำพูดนั้นจากอาจารย์ธนพันธ์ อาจารย์ที่ปรึกษากลุ่ม PBL พ่วงตำแหน่งที่ปรึกษาโครงการ(อย่างไม่เป็นทางการ) แถมยังลามไปถึงที่ปรึกษาปัญหาชีวิตสากกะเบือยันเรือรบของพวกเรา ฉันแปลกใจมาก ..วอร์ดเด็กเหรอ เด็กเนี่ยนะ แถมยังเป็นโรคเรื้อรังอีก จะทำยังไงดีล่ะ.. ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะ เดิมทีแล้วฉันเป็นคนไม่ค่อยชอบเด็ก ไม่รักเด็ก (ก็ไม่ใช่นางงามนี่) ไม่ได้เกลียดนะ แต่ไม่คิดจะข้องเกี่ยวด้วย เรียกได้เลยว่า ถ้ามีฉันต้องไม่มีเด็ก แต่ท่ามกลางความรู้สึกที่ติดลบ ยังมีความคิดแปลกๆผุดขึ้นในใจว่าเด็กที่วอร์ดเป็นเด็กป่วย คงไม่มีแรงพยศหรอก น่าจะยังพอรับได้ แถมเมื่อวันก่อน หนังญี่ปุ่นที่เพิ่งดูไป มีนางเอกเป็นแพทย์ฝึกหัดที่วอร์ดเด็กโรคเรื้อรัง เวลาเล่นกับเด็กแล้วดูดีจัง อยากเป็นแบบนั้นบ้าง และแล้ว..ด้วยแรงบันดาลใจอันยิ่งใหญ่ (จากความบ้าหนัง ฮ่าๆๆ) ก็ทำให้ฉันยินดีที่จะทำโครงการนี้ในที่สุด

            จากวันนั้นจนถึงวันนี้ จากวันแรกที่ตัดสินใจทำโครงการ ผ่านการเรียนรู้อย่างูๆปลาๆ เล่นกับน้องแบบเงอะๆงะๆ จนรู้จัก สนิทสนม สั่งสมความผูกพัน มีประสบการณ์ดีๆร่วมกัน ระยะเวลาที่หมุนผ่าน ไม่ใช่เพียงแค่เลยผ่าน แต่ยังฝากข้อคิดหลายๆอย่างเอาไว้

            จากที่เคยไม่ชอบเด็ก ก็มีความพยายามที่จะทำความเข้าใจพวกเขาให้มากขึ้น                    

จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยาก กลัวที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ก็คิดได้ว่า ทุกความสัมพันธ์ต้องมีการเริ่มต้นเสมอ และมันก็ไม่ได้ยาก ถ้าหากเรามีความตั้งใจ

จากที่เป็นคนขี้เหงา ขี้น้อยใจ ตอนนี้ก็ยังขี้น้อยใจอยู่ เพียงแต่น้อยลงไปมาก เมื่อได้เห็นเด็กๆที่ดูเหมือนจะต้องการความรัก การดูแลเอาใจใส่และกำลังใจมากกว่าเรา

ได้เก็บพลังความเข้มแข็งของน้องๆ ที่ได้ส่งต่อให้กับพวกเรา ไว้ใช้ในเวลาที่เหนื่อยหน่ายท้อแท้ เก็บรอยยิ้มและความสดใสแบบเด็กๆ ไว้ใช้ในตอนเหงาหรือเศร้า เก็บความรู้สึกดีจากการได้รับความไว้วางใจ ไว้ระลึกถึงในช่วงเวลาที่คิดว่าตัวเองไม่เหลือใคร

วันนี้โครงการนี้ได้จบลงแล้ว (อย่างประสบความสำเร็จ) ดูแลทำความเข้าใจ ต่บอยู่นั่นแหละ เพียงแต่นผ่านเรียนรู้อย่างูๆปลาๆ เล่นกับน้องแบบเงอะๆงะๆ จนรู้จัก สนิทสนม เป็นวันที่ฉันได้ทบทวนตัวเอง และพบว่า “ได้รับ”สิ่งต่างๆอย่างมากมาย ทั้งๆที่เป็นโครงการที่ตั้งใจจะ “ให้”

สัญญาค่ะ ว่าจะนำความทรงจำที่สวยงามและประสบการณ์ดีๆเหล่านี้ไว้ เป็นแรงผลักดัน ในการดำเนินชีวิตต่อไป ให้เป็นประโยชน์ และมีความสุขที่สุดค่ะ

 

ณัฐชนา

.............................................................................................................

เพิ่งรู้นะเนี่ย ว่าเตยไม่ชอบเด็ก ขี้น้อยใจ ขี้เหงา และขี้ไม่ค่อยออก เลยดูบวมๆ ฮ่า ฮ่า ฮ่า

แต่ผมก็รู้สึกดี ที่น้องเตยเข้าใจว่า ท้ายที่สุดแล้ว เราได้รับอะไรมากมาย (จากเด็กๆ)

ว่าแต่าว่า ปิดโครงการแล้ว น่าจะไปทำกับข้าวกินกันอีกสักทีดีไหม จบด้วนการเล่นกับลูกสาวของผมต่อ คราวนี้จะได้แอบสังเกตว่า คนไม่ชอบเด็กจะทำอย่างไร มีพัฒนามากน้อยแค่ไหน

ปล. กรุณาโทรศัพท์ถามแม่เรื่องสูตรอาหารให้เสร็จก่อนปรุงจริงๆนะครับ

Reflection (10)

จากการปฏิบัติกิจกรรมในโครงการ ทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกได้ว่าเด็กที่นี่น่าสงสารที่เขาอาจจะขาดโอกาสในการทำกิจกรรมร่วมกับโลกภายนอก ขาดความสดใสในชีวิตเหมือนเด็กปกติทั่วๆไป และทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสงสารน้องเขา แต่เราเองก็ไม่ได้มีความสามารถที่จะช่วยเหลือได้ทั้งด้านค่าใช้จ่ายในการรักษาพยาบาล หรือการช่วยเหลือในด้านการรักษา ก็คงช่วยได้แค่ด้านจิตใจ เด็กคนแรกที่ข้าพเจ้าได้พบเป็นเด็กที่ไม่ยอมปริปากพูดเลยแม้แต่น้อย เสียงสักแอะข้าพเจ้าก็ยังไม่ได้ยิน ทั้งที่มีความพยายามที่จะให้น้องคนนี้พูดให้ได้ แต่ก็ยังไม่มีใครทำได้อาจด้วยเนื่องปัญหาที่เกิดขึ้นกับน้องเขาหรือสภาพจิตใจที่แตกต่างออกไป ซึ่งยิ่งทำให้ข้าพเจ้ารู้สึกสะท้อนมายังตัวเองว่า ควรจะทำหน้าที่หรือโอกาสที่มีของตัวเองให้ดีที่สุด แต่ถ้ามองอีกแง่ น้องๆที่นี่เขามีความสดใสไปอีกแบบหนึ่งที่เราไม่เคยได้รับจากเด็กทั่วๆไป เด็กชั้นหกที่นี่มีความสดใสที่ไม่ได้เจือปน หรือปรุงแต่งมาจากสภาพสังคมทั่วไป มีความสดใส รอยยิ้มที่เหมือนกระจกสะท้อนความคิดและจิตใจออกมาจริงๆ เนื่องด้วยน้องๆที่นี่ค่อนข้างที่จะเป็นเด็กที่อยู่ในโรงพยาบาลมานานจึงมีชิวิตที่แตกต่างออกไปจากเด็กที่อยู่ข้างนอก ข้าพเจ้ามีโอกาสได้เห็นพ่อแม่ของเด็กที่มาคอยดูแลลูก ความรู้สึกที่ข้าพเจ้าได้เห็นคือเค้ามีความเสียสละและมีความพยายาม และมีความน่านับถือเป็นอย่างมาก เพราะเขาเป็นพ่อแม่ที่ต้องทำงานหนักกว่าคนอื่นเพื่อลูก

จากการปฏิบัติกิจกรรมทั้งหมดสะท้อนให้ตัวของข้าพเจ้ารู้จักที่จะพยายามใช้โอกาสของตัวเองให้ดีที่สุด เพราะเห็นภาพที่สะท้อนจากน้องๆที่เขาไม่ได้มีโอกาสแบบเรา แต่เขาก็ยังคงไว้ซึ่งความน่ารักและความสดใสได้และมีความพยายามที่จะต่อสู้กับโรคร้ายเพื่อโอกาสของตัวเอง

 

ชวลิต

..........................................................................................................

ขอบคุณครับซัน

และแล้วซันก็เข้ามา ผมรออย่างใจจดใจจ่อเป็นที่สุด

ดีครับดี

วันนี้มีรูปเด็กๆมาให้ดูนะครับ

สมชาย สุนทรโลหะนะกูล

อาจารย์แป๊ะครับ

ขอบคุณอาจารย์ที่ได้ช่วยพัฒนาน้องๆ นักศึกษาแพทย์ และเปิดโลกทัศน์ ให้เขาได้รู้จักกับคำว่า ”ให้”

ขอบคุณนักศึกษาแพทย์ทุกคนที่ได้มีส่วนร่วมในการพัฒนาคุณภาพชีวิตเด็กป่วยเรื้อรัง รวมทั้งการพัฒนาตนเอง

ขอบคุณที่ได้ส่งเรื่องดีๆ มาให้อ่าน รู้สึกชื่นชมและยินดีเป็นอย่างยิ่งที่นักศึกษาแพทย์ได้มีโอกาสทำกิจกรรมและได้ประสบการณ์อันดีงามจากโครงการนี้

มีหลายประโยคจากบท “ Reflection” ที่ผมคิดว่านักศึกษาได้เรียนรู้ จากกิจกรรมครั้งไม่ว่าจะเป็นการให้แก่เด็กและสิ่งที่ตนเองได้รับและขอให้นักศึกษาทุกคนจำประสบการณ์ที่ดีงามนี้เพื่อพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองต่อไป ตามปณิธานที่ได้ตั้งไว้

“คนที่ได้เข้าไปทำให้เด็กคนหนึ่งๆ ได้มีความสุขกับสิ่งที่ตัวเองอยากทำอยากเล่น เห็นรอยยิ้มที่เค้าได้แสดงออกมามันก็น่าชื่นใจไม่น้อยเลยทีเดียว”

“เรามีความสุขที่ได้ไปที่นั่น ความรู้สึกอยากหนีในครั้งแรกได้ถูกแทนที่ด้วยความกระตือรือร้นทุกครั้งที่จะไปที่นั่น และเชื่อว่าน้องๆก็คงสุขไม่มากก็น้อยไม่ต่างกัน”

“เป็นลูกคนแรกถูกตามใจ อยากได้อะไรก็ได้มาแต่เด็ก ไม่ค่อยได้ให้อะไรกับใคร แต่กิจกรรมนี้ทำให้ข้าพเจ้าเข้าใจว่าการได้ให้นั้น รู้สึกดีกว่าการได้รับมากมายแค่ไหน”

“เด็กๆบางคนไม่ได้กลัวเนื้อร้ายที่อยู่ในร่างกายด้วยซ้ำ แต่กลับกลัวต้องเรียนซ้ำชั้น กลัวเรียนไม่ทันเพื่อน”

“แต่เราก็ได้สอนความรู้สึกเป็นมิตรต่อคนรอบข้างให้แก่พวกเขา เด็กบางคนอาจมาด้วยความก้าวร้าว แต่เมื่อเราสอนพวกเขาแล้ว พวกเขาก็ยอมเล่นด้วยกัน และแบ่งปันกัน”

“เราก็ต้องเป็นคนรักษาพวกเขาทั้งทางด้านร่างกายและทางด้านจิตใจด้วย เราต้องอย่ารู้สึกเศร้าตามเขา แต่เราให้เขารู้สึกมีความสุขเหมือนเรา”

“ในเมื่อเราเป็นแพทย์รักษาคนไข้ เราก็ต้องรักษาคนไข้ทั้งร่างกายและจิตใจสิ!”

“เพิ่งได้รู้ในวันนี้ว่าเด็กที่มีปัญหามากเหมือนที่เราเคยคิดไว้นั้น ปัญหานั้นมันไม่ได้เกิดจากตัวน้องเค้า แต่มันเกิดมาจากปัญหาของตัวเราเองต่างหากขึ้นอยู่กับว่าเราจะแก้ปัญหานั้นหรือเราจะปล่อยมันไว้อย่างเดิม”

“ตอนนี้ก็ได้เห็นแล้วว่าความสุขทางใจ ไม่ได้เกิดจากการเป็นผู้รับเสมอไป แต่ความสุขที่เกิดจากการให้ก็ทำให้รู้สึกอิ่มเอมได้ไม่แพ้กัน”

“การได้ทำอะไรเพื่อใคร สักคนมันมีความสุขอย่างนี้นี่เอง ถึงแม้ว่าหลังจากนั้นความรู้สึกนั้นจะเหลือเพียงความว่างเปล่าตามระบบฮอร์โมนของเราที่จางไป แต่ภาพๆนั้นยังจำได้ไม่จางเลย”

“เราได้เห็นความมหัศจรรย์ของเพื่อนหลายๆอย่างที่ซ่อนอยู่ในตัวเขา เช่นคนที่ดูไม่ได้เรื่อง จู่ๆเด็กเดินมาหาและไม่ยอมไปไหนนี้หมายความว่าไง แล้วก็เป็นโครงการที่ทำแล้วไม่รู้สึกอึดอัด ไม่อยากทำ มีแต่ไม่อยากหยุด”

“จากที่เคยคิดว่าตัวเองเป็นคนที่เข้ากับคนอื่นยาก กลัวที่จะสร้างความสัมพันธ์ใหม่ๆ ก็คิดได้ว่า ทุกความสัมพันธ์ต้องมีการเริ่มต้นเสมอ และมันก็ไม่ได้ยาก ถ้าหากเรามีความตั้งใจ”

“ได้รับ”สิ่งต่างๆอย่างมากมาย ทั้งๆที่เป็นโครงการที่ตั้งใจจะ “ให้”

“น้องๆที่เขาไม่ได้มีโอกาสแบบเรา แต่เขาก็ยังคงไว้ซึ่งความน่ารักและความสดใสได้และมีความพยายามที่จะต่อสู้กับโรคร้ายเพื่อโอกาสของตัวเอง”

สวัสดีครับอาจา่รย์

ขอบคุณที่อ่านครับ และรู้ได้เลยว่า อาจารย์เป็นนักอ่าน นักจับประเด็นที่เก่งสุดๆครับ

ขอบคุณที่อาจารย์อนุญาตให้เด็กๆจัดกิจกรรมใจหอผู้ป่วยเด็ก

อาจารย์รู้ไหม ผมส่งโครงการนี้ไปมหาวิทยาลัย เพื่อส่งประกวดด้วยครับ

และคิดว่าจะส่งชื่อนักเรียนประกวดชิงรางวัล "นักกิจกรรมดีเด่น" ด้วย

รอฟังผลนะครับ

มีนักเรียนถามมาเรื่องเรียนแพทย์

คิดว่าน่าสนใจ จึงนำมาลงที่นี่ครับ


หัวเรื่อง: อยากเป็นหมอมาก
ข้อความ:
สวัสดีครับตอนนี้ผมกำลังศึกษาชั้นมัธยมตอนต้นครับผมอยากเป็นหมอมากครับต้องเรียนนักมากรึเปล่าครับ


ตอบ: ไม่ว่าเรียนวิชาอะไร อาชีพไหน ก็ต้องเรียนให้มากเหมือนกันครับ (ถ้าอยากรุ่งนะครับ)

ได้ยินว่าต้องอ่านหนังสือจนไม่หลับไม่นอนกันเลยทีเดียว


ตอบ: มีบ้างครับ ที่บางช่วงเวลาแทบไม่ได้นอน แต่เรียนไปเรียนมา สอบไปสอบมา ก็พบว่า อ่านทุกวันจะดีกว่า ถ้าอดนอนก่อนสอบ เป็นอันว่าจบเห่ครับ อันนี้ใช้ได้ตั้งแต่เป็นนักเรียนเลยครับ

เป็นหมอต้องเฝ้าศพเปล่าครับ(เข้าใจแล้วว่าต้องเรียนกับศพ ..แต่ต้องเฝ้าศะทั้งคืนรึเปล่าครับ)


ตอบ: ไม่ต้องเฝ้าศพหรอกครับ ยกเว้นว่าอยากอ่านหนังสือในห้อง gross

เรียนหมอ  ต้องซื้อศพมาเรียนรึเปล่าครับ


ตอบ: ไม่ครับ

ถ้าเราเรียนหมออยู่ชั้นปี3  แล้วเราตกชั้นปีสามเราต้องเรียนปี2ใหม่รึเปล่าครับ


ตอบ: ถ้าตกปีไหน ก็ซ้ำปีนั้นครับ

ถ้าเราเรียนหมอ จบ แล้วเราเป็นหมอได้เรียนรึเปล่า..
รึเราต้องศึกษาอีกรึเปล่าครับ....


ตอบ: ไม่แน่ครับ เพราะการจบหมอ นั่นคือ ปริญญาแพทยศาสตรบัณฑิต จากมหาวิทยาลัย แต่เราต้องสอบการประเมินผลจากส่วนกลาง นั่นคือ national test หรือ NT เพื่อประเมินความรู้เบ็ดเสร็จ ถ้าผ่านทุกขั้น ก็จะได้ใบประกอบโรคศิลป์ ซึ่งสามารถประกอบวิชาชีพได้ครับ

นี่ผมหมายถึง แพทย์ทั่วไปนะครับ หากเราอยากเรียนเป็นแพทย์เฉพาะทาง นั่นก็ต้องไปเรียนต่อครับ

ผมถามคงไม่รู้สึกรำคาญนะ  คุน ธนพันธ์ (พี่ครับ)


ตอบ: ไม่รำคาญครัีบ แต่ผมว่า ผมน่าจะเป็นน้ามากกว่าพี่นะครับ

  ผมเด็กชาย .............................  เป็นอิสลาม 
คุนหมอ  ต้องส่งอีเมลล์ถึงผมบ้างนะอยากจะรู้ครับ
ส่งมาที่ผมถามนะครับ

ตอบ: เป็นอิสลาม พุทธ หรือคริสต์ ก็ยินดีทั้งนั้นแหละครับ เป็นคนดีของสังคม รับผิดชอบต่อสังคม มีจิตอาสา นั่นน่าจะเป็นคุณสมบัติพื้นฐานของวิชาชีพครับ

ส่วนที่นำลงมาตอบที่นี่ เพราะเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับคนอื่นบ้างนะครับ

ได้มาเจอสิ่งที่ต้องการพอดีคะ ตัวอย่างการ Reflection การเรียนรู้จากประสบการณ์ เพิ่อนำไปปรับการเรียนการสอน นศพ. ปี 6 ที่จะออกชุมชน

ชื่นชมอาจารย์มากมายคะ และเห็นด้วยกับเรื่องการประเมิน..เคยรู้สึกแปลกๆ ที่วิธีการประเมินวิชา Medical Professional Development (MPD) คือ ส่งรายงาน โดยสิ่งที่ประเมิน คือ มีคำผิดไหม เนื้อหาครบถ้วน (ตาม pattern ที่กำหนดให้)ไหม..ตกลงแล้ว outcome ที่ได้คือรายงาน ที่ past and copy กันมา..

แต่สิ่งที่เราต้องการที่สุด คือ เขามี inspiration ให้เกิดเปลี่ยนแปลง ซึ่งการใช้ dialouge น่าจะเป็นตัวเลือกที่เหมาะกว่า

ขอบพระคุณอาจารย์ CMUpal อย่างมากเลยนะครับ ที่เข้าใจในวิถีและวิธีการประเมินที่ผมและเด็กๆร่วมกันคิด

เชื่อไหมว่า เด็กๆก็ยังคงวิตกหน่อยๆ ที่เขาไม่ได้ประเมินกิจกรรมเหมือนกลุ่มเพื่อนๆ จนท้ายที่สุด เขาก็แอบนำเอาผลการประเมินความรู้สึกพอใจของสมาชิก และผู้ปกครองมาใส่อีกหยดหนึ่งในท้ายรายงาน

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท