เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า


งานเกษตรกำแพงแสน ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 3 ถึง 10 ธันวาคม 2552

งานเกษตรกำแพงแสน  ประจำปี 2552 ระหว่างวันที่ 3 ถึง 10 ธันวาคม 2552

เทคนิคการเพิ่มประสิทธิภาพการขยายพันธุ์มะนาวเชิงการค้า

Increase efficiency techinque of Lemon propagation for commercial

 สามารถ เศรษฐวิทยา¹,กาญจน์ จันทร์ลอย¹,นางมณฑา วงศ์มณีโรจน์¹,รศ.ดร.รวี เสรฐภักดี²

 ศูนย์วิจัยและพัฒนาไม้ผลเขตร้อน สถาบันวิจัยและพัฒนา กำแพงแสน¹

 ภาควิชาพืชสวน คณะเกษตร มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ วิทยาเขตกำแพงแสน²          

 

ปัจจุบันราคาผลมะนาวจะขยับราคาสูงขึ้นในช่วงเดือนมีนาคม  ถึง เมษายน   จึงเป็นช่วงที่มีการผลิตมะนาวนอกฤดู ทำให้เกษตรกรมีความต้องการซื้อหากิ่งพันธุ์มะนาวที่มีคุณภาพเป็นจำนวนมาก  แต่การเตรียมกิ่งพันธุ์มะนาวให้เพียงพอต่อความต้องการของเกษตรกรนั้นจะต้องมีการวางแผนการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว เทคนิคและวิธีการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว   ให้ได้ต้นมะนาวที่สมบูรณ์สามารถให้ผลผลิตได้ดีตามความต้องการของตลาด  ดังนั้นการเพิ่มทักษะการขยายพันธุ์มะนาวให้แก่เกษตรกรตั้งแต่ขั้นตอนการวางแผนการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว เทคนิคและวิธีการผลิตกิ่งพันธุ์มะนาว   จึงมีความจำเป็นอย่างยิ่ง ซึ่งเกษตรกรสามารถนำความรู้ที่ได้รับไปเผยแพร่และสร้างอาชีพให้แก่ครัวเรือนและชุมชนได้ต่อไป

การตัดชำกิ่งมะนาว  การตัดชำ คือ การตัดส่วนส่วนของกิ่งพันธุ์มะนาวที่มีสภาพต้นที่สมบูรณ์ แล้วนำมาชำไว้ในสภาพแวดล้อมที่เหมาะสมเพื่อให้เกิดรากและยอด พัฒนาเป็นพืชต้นใหม่ โดยที่ต้นใหม่มีลักษณะเหมือนต้นแม่ทุกประการและจะช่วยร่นระยะเวลาในการออกดอกติดผลให้เร็วขึ้นเมื่อเปรียบเทียบกับการเพาะเมล็ด

วิธีการตัดชำกิ่ง

1.  เมื่อตัดกิ่งพันธุ์มะนาวมาแล้วควรพ่นน้ำให้แก่กิ่งพันธุ์มะนาวเป็นระยะ เพื่อช่วยลดการคายน้ำ

 2.   เตรียมกิ่งขนาดยาวโดยทั่วไปประมาณ  6 – 9   นิ้ว ขนาดของกิ่งประมาณ  1   นิ้วโดยรอยตัดควรอยู่บนข้อและใกล้กับข้อให้มากที่สุด

3.   กิ่งจะต้องมีข้อจำนวน ประมาณ 3 - 5 ข้อ และมีใบอยู่ 4-6 ใบ

4. โคนกิ่งควรตัดเป็นรูปปากฉลามหรือฝานบวบ จะมีรอยแผลช้ำบริเวณรอยตัดให้ใช้คัดเตอร์ตัดรอยช้ำออกซ้ำ เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกราก

5.ใช้คัดเตอร์กรีดบริเวณโคนกิ่งในแนวตั้งความยาวประมาณ 1 เซนติเมตร 3-4 รอย

6.หลังจากนั้นนำกิ่งมะนาวแช่ลงในน้ำที่ผสมสารป้องกันเชี้อรา และเชื้อแบคทีเรีย เพื่อไม่ให้เชื้อราและเชื้อแบคทีเรียเข้าทางรอยแผล หรือใช้ สเตร๊พโตมัยซิน ซัลเฟต ใช้ในอัตรา 10 กรัมต่อน้ำ 20 ลิตร โดยนำกิ่งมะนาวลงแช่นานประมาณ 20 นาที

7.นำกิ่งพันธุ์จุ่มลงในสารเร่งการเกิดรากจำพวก NAAและ IBA เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพการออกรากของกิ่งพันธุ์มะนาว 300 ซีซี ต่อน้ำ 1ลิตร (เทคนิคการจุ่มเร็ว นำปลายกิ่งจุ่มในสารเร่งรากนานประมาณ 20 วินาทีแล้วยกขึ้น)

8. หลังจากเตรียมกิ่งพันธุ์มะนาวเสร็จแล้ว ใช้ไม้ที่มีขนาดเล็กหรือเท่ากับขนาดของกิ่งปักชำ แทงลงในวัสดุปลูกก่อนนำกิ่งลงปักชำ เพื่อป้องกันการเกิดรอยช้ำบริเวณแผล

9.  ฝังกิ่งลึก  ½  ส่วน ของความยาวกิ่ง และที่สำคัญคือต้องกดบริเวณโคนกิ่งให้แน่น 

10.  ใช้วัสดุพรางแสง ในช่วง 1-2 สัปดาห์แรก และต้องบังกระบะปักชำไม่ให้มีลมมาปะทะเพื่อไม่ให้กิ่งปักชำขยับและลดการคายน้ำของกิ่งพันธุ์มะนาว

11.สังเกตดูว่าวัสดุเพาะชำหรือน้ำที่จับบริเวณใบแห้งเกินไปหรือไม่ ถ้าแห้งเกินไปควรพ่นน้ำให้ถี่ขึ้น

ปัจจัยที่จะทำให้กิ่งตัดชำออกรากดี

                1. การเลือกกิ่ง  ควรจะเลือกกิ่งที่มีลักษณะดังต่อไปนี้

                 1.1 อายุของต้นมะนาวที่จะนำมาตัดชำควรเลือกกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อย (นับจากเพาะเมล็ด)เพราะกิ่งจากต้นที่มีอายุน้อยจะออกรากได้ง่ายกว่ากิ่งที่นำมาจากต้นที่มีอายุมากๆ
                 1.2 เลือกชนิดของกิ่งให้เหมาะกับการเกิดราก โดยพิจารณาดังนี้ คือถ้าเป็นการตัดชำกิ่งแก่ ควรเลือกกิ่งข้างมากกว่ากิ่งกระโดง เพราะกิ่งข้างมีอาหารภายในกิ่งมากกว่ากิ่งกระโดง  แต่ถ้าเป็นการตัดชำกิ่งอ่อนหรือกิ่งมีใบ การใช้กิ่งกระโดงจะออกรากง่ายกว่ากิ่งข้าง 
                 1.3  การเลือกฤดูการตัดชำกิ่งให้เหมาะ  คือ เป็นการตัดชำกิ่งแก่ที่ไม่มีใบ  ควรจะตัดชำกิ่งในระยะที่กิ่งพักการเจริญ  โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อตาบนกิ่งเริ่มจะเจริญใหม่อีกครั้งหนึ่ง  ส่วนการตัดชำกิ่งอ่อนนั้น อาจทำได้เมื่อกิ่งเจริญได้ระยะหนึ่งโดยกิ่งที่เจริญ นั้นมีความแข็ง พอสมควร และมีใบเจริญเติบโตเต็มที่แล้ว 

                   1.4 การทำแผลโคนกิ่ง  แผลโคนกิ่งจะช่วยให้กิ่งมีเนื้อที่ที่จะเกิดรากได้มากขึ้นการกระจายตัวของรากจะเกิดรอบๆปลายกิ่งเมื่อนำไปปลูกจะช่วยพยุงตัวได้ดี ซึ่งนอกจากจะช่วยให้กิ่งเกิดจุดกำเนิดรากได้ง่ายแล้วยังช่วยให้กิ่งดูดน้ำและฮอร์โมนได้มากขึ้นอีกด้วย
                 1.5 การใช้ฮอร์โมนและสารบางอย่างช่วยการออกราก  ฮอร์โมนช่วยให้กิ่งตัดชำออกรากดีขึ้น  ช่วยให้เกิดรากมาก ออกรากไวและรากเจริญได้เร็ว สารฮอร์โมนสังเคราะห์ที่เป็นตัวสารเคมีที่ใช้ผสมอยู่ในชื่อฮอร์โมนการค้าต่างๆ มักจะมีสารฮอร์โมนอยู่สองชนิด คือไอบีเอ(IBA)หรือชื่อเต็มคือ กรดอินโดลบิวไทริค (indolebutyric acid) และ เอ็นเอเอ (NAA) หรือชื่อเต็มคือกรดแนฟทาลีนอะซีติก (naphthaleneaceticacid)

การจัดสภาพแวดล้อมให้กับกิ่งตัดชำในระหว่างรอการออกราก
                    1. การจัดความชื้นในอากาศรอบๆ  กิ่งตัดชำความชื้นในอากาศเกี่ยวข้องกับ การตัดชำโดยที่กิ่งตัดชำเหล่านี้จำเป็นต้องรักษาใบไว้ปรุงอาหาร เพื่อช่วยการออกราก ฉะนั้นจึงต้องรักษาใบไว้ให้สดและติดอยู่กับกิ่งตลอดไป แต่การที่ใบจะสดอยู่ได้ก็จะต้องมีความชื้นในอากาศรอบๆ ใบสูงพอ น้ำจากใบจึงจะไม่คายออกมาและใบก็จะไม่เหี่ยว ควรฉีดหรือพ่นละอองน้ำให้จับใบอยู่ตลอดเวลาหรือเป็นระยะ

                    2. แสงสว่างกับการออกรากแสงสว่างมีความจำเป็นสำหรับการตัดชำกิ่งพืชที่ต้องมีใบติด เพราะแสงสว่างจำเป็นในการปรุงอาหาร รวมทั้งสร้างสารฮอร์โมนเพื่อช่วยการออกรากของกิ่งตัดชำ การให้กิ่งตัดชำได้รับแสงมากเท่าไร ก็จะช่วยให้การออกรากดีขึ้น
                    3. วัตถุที่ใช้ในการตัดชำการออกรากของกิ่งตัดชำ จะไม่เกี่ยวกับอาหารที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น  แต่จะเกี่ยวข้องกับความชื้น และอากาศ ที่มีอยู่ในวัตถุปักชำนั้น โดยที่วัตถุปักชำแต่ละชนิดจะดูดความชื้นและมีอากาศผ่านเข้าออกได้ต่างกัน  ซึ่งจะเป็นผลให้การออกรากแตกต่างกันไปด้วย  วัตถุที่จะช่วยให้การออกรากเกิดได้ดี  จะต้องดูดความชื้นได้มาก และมีอากาศผ่านได้สะดวก สำหรับวัตถุปักชำที่นิยมใช้กันทั่วๆ ไป ได้แก่ทรายหยาบ  ถ่านแกลบที่ล้างด่างหมดแล้ว หรือส่วนผสมของทรายหยาบกับถ่านแกลบอย่างละเท่ากัน

หมายเลขบันทึก: 311050เขียนเมื่อ 5 พฤศจิกายน 2009 10:03 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:51 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (3)
  • สวัสดีค่ะ
  • แวะมาทักทายคนเคยรู้จัก (555) พร้อมทั้งหอบกำลังใจมาให้เพียบเลย
  • อากาศเปลี่ยนแปลงรักษาสุขภาพตัวเองด้วย
  • ด้วยความระลึกถึงค่ะ

NAA นี่มี ประโยชน์ ทั้งหมดกี่อย่างกันแน่ครับ

สาร auxins โดยทั่วไปในระดับความเข้มข้นต่ำแล้ว มักมีผลส่งเสริมให้ด้านการเจริญเติบโตครับ ทางตรงข้าม หากใช้ในระดับความเข้มข้นที่สูงมากขึ้นกลับมีผลในการยับยั้งการเจริญเติบโต ซึ่งมักใช้ในรูปของสารกำจัดวัชพืช สารกลุ่มนี้ จะแบ่งย่อยตามลักษณะของโครงสร้างทางเคมีได้อีก 4 กลุ่มย่อยด้วยกัน เมื่อรวบรวมข้อมูลเสร็จจะแจ้งให้ทราบครับ เรื่องฮอร์โมนจะแสดงที่งานเกษตรบางเขน ช่วงเดือนมกราคมครับ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท