หลักสูตรเก่าใครว่าเชย : วิทยาศาสตร์ ป. 5


ความทันสมัยไม่น่าจะขึ้นอยู่กับหลักสูตร แต่น่าจะขึ้นอยู่กับความสามารถ ทัศนคติ อุดมการณ์ ความเอาใจใส่ของครู ที่มีต่อลูกศิษย์ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยใจรักอย่างจริงจังต่างหาก

หลักสูตรเก่าที่ผมกล่าวถึงนี้ เป็นหลักสูตรเมื่อ 30 กว่าปีที่แล้ว สำหรับคนที่มีอายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป คงจะจำแบบเรียนภาษาไทย เรื่อง นกกางเขน และเด็กชายใหม่รักหมู่ได้นะครับ (http://gotoknow.org/blog/attawutc/310355) แต่ที่ผมจะกล่าวถึงนี้เป็นแบบเรียนหนังสือ “วิทยาศาสตร์เบื้องต้น ชั้นประถมปีที่ ๕” ของ นายสิงห์โต  ปุกหุต, นางเปรมจิตต์  สระวาสี และ นางชุลี  ชัยพิพัฒน์ หนังสือเล่มนี้เป็นมรดกตกทอดมาจากพ่อผมเองที่เป็นครูประชาบาลบ้านนอกสอนวิทยาศาสตร์ เมื่อประมาณ 40 กว่าปีที่แล้ว หนังสือยังคงความสมบูรณ์ทุกหน้า ยกเว้นหน้าปกที่ได้ขาดหายไปแล้วเท่านั้น

สมัยนั้นแบบเรียนวิทยาศาตร์ที่โรงเรียนประจำจังหวัดในตัวเมือง บังคับใช้ตอนผมอยู่ป . 5 ป. 6 เป็นแบบเรียนเชยๆ รูปประกอบก็เป็นภาพขาวดำ ผมโชคดีตรงที่มีพ่อเป็นครูสอนวิทยาศาตร์ ก็เลยมีตำราที่ไม่เหมือนกับชาวบ้านอ่านประกอบด้วย ทำให้ผมชอบวิชาวิทยาศาสตร์ไปโดยปริยาย พ่อบอกว่าเป็นหนังสือที่พ่อใช้สอนในโรงเรียนที่พ่อประจำอยู่ (โรงเรียนบ้านนาโป่ง สังกัดโรงเรียนประชาบาลในสมัยนั้น http://school.obec.go.th/napongloei/home.htm) ที่ผมชอบในตอนนั้นก็เพราะหนังสือเล่มนี้มีรูปภาพประกอบเป็นภาพสีสวยงาม เนื้อหาอ่านสนุก โดยเฉพาะเรื่องราวที่มาที่ไปของนักประดิษฐ์ นักวิทยาศาสตร์ที่มีชื่อเสียงต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น โทมัส อัลวา เอดิสัน, กาลิโล , อคิมิดีส ทำให้เกิดแรงบันดาลใจในการเรียนรู้และอยากที่จะเอาแบบอย่าง และที่สำคัญตอนนั้นเริ่มมีการเรียนแข่งกับเพื่อนร่วมห้องในวิชานี้ ผมก็ใช้หนังสือเล่มนี้อ้างอิงเนื้อหาที่แตกต่างจากเพื่อนที่ยึดตำราที่เขาบังคับใช้

วันนี้กลับมาอ่านในมุมมองของผู้ใหญ่ก็พบว่า เนื้อหายังมีความทันสมัยอยู่ แล้วยิ่งได้มาอ่านกิจกรรมท้ายบทเรียน ก็ทำให้พบว่าเป็นกิจกรรมที่ส่งเสริม ทักษะ ลักษณะ และกระบวนการคิดเป็นอย่างยิ่ง เพียงแต่ว่าเมื่อก่อนนั้นครูจะสอนด้วยวิธีการง่ายๆ ทื่อๆ คือ สอนให้จดบนกระดาน แล้วท่องไปสอบ ถ้าเมื่อก่อนครูมีความสนใจ ดูแลเอาใจใส่นักเรียน อย่างจริงจัง ผมคิดว่าผลที่ได้คงไม่แพ้ครูสมัยปัจจุบันเท่าใดนัก

สมัยนั้นวิชาที่ผมคิดว่าชอบและสนุกกับมันที่สุดเห็นที่จะเป็นวิชาวิทยาศาสตร์นี่แหละครับ อาจจะเป็นเพราะเราได้เล่น ได้ทดลอง ทำของเล่น ตามความอยากรู้อยากเห็นตามประสาเด็กๆ บางครั้งผู้ใหญ่อาจจะไม่เข้าใจคิดว่าเราเป็นเด็กดื้อ เด็กซน เช่น เมื่อก่อนผมถูกห้ามไม่ให้เล่นดอกไม้ไฟ ดินปืน (บ้านผมเรียกว่า “มุ่ย”) เพราะกลัวว่าจะเกิดอุบัติเหตุ แต่ผมก็แอบทำ โดย เก็บเงินไปซื้อดินประสิว กำมะถัน ทีละขีด ส่วนถ่านก็ใช้ต้นสาบเสือแห้งมาเผา แล้วบดให้ละเอียด ดินประสิว กำมะถัน ก็เก็บเอาครกเก่าที่แตกและถูกทิ้งแล้วไปใช้ตำ ส่วนผสมก็คิดเอง ใส่ตามความพอใจ ทดลองจนถูกใจ ดินปืนที่ได้ก็นำไปทำบั้งไฟตามจินตนาการและความอยากรู้อยากเห็น อยากสนุก ผมคิดว่าถ้าผู้ใหญ่ให้ความสนใจส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้กับสิ่งเหล่านี้ ก็น่าจะทำให้เด็กเกิดความมั่นใจในการเรียนรู้มากขึ้น

 

เนื้อหาในหนังสือเล่มนี้ได้ให้นิยามของนักวิทยาศาสตร์ไว้ว่า “เป็นนักสังเกต นักคิด นักทดลอง และนักอ่าน มีความขยันอดทน ไม่ท้อถอยต่ออุปสรรคทั้งปวง” ผมจึงคิดว่าเนื้อหายังคงมีความทันสมัยอยู่เสมอ ลองมาดูตัวอย่างกิจกรรมที่หนังสือเล่มนี้ได้กล่าวครับ

1.  จะทำอย่างไรจึงจะทราบว่า

  • ดอกไม้ดอกหนึ่งเป็นดอกชบา

  • ของเหลวถ้วยหนึ่งเป็นน้ำมะนาว

  • ใบไม้ใบหนึ่งเป็นใบข้าว

  • ในห้องข้างห้องเรียนมีคนนั่งอยู่ 3 คน

  • ของแข็งชิ้นหนึ่งลอยหรือจมน้ำ

2.  ให้นักเรียนช่วยกันหาดอกไม้ มากองรวมกัน แล้วหยิบดอกไม้ขึ้นมาหนึ่งดอก อธิบายให้เพื่อนฟังว่าตนเองสังเกตพบเห็นอะไร หรือรู้จักอะไรจากดอกไม้นั้นบบ้าง แล้วให้เพื่อนชี้แจงเพิ่มเติมว่าเห็นอะไรนอกจากนั้นอีก

3.  อภิปรายเรื่องต่อไปนี้

  • ผีมีจริงหรือไม่ ถ้าเพื่อนคนหนึ่งเป็นคนกลัวผี นักเรียนจะช่วยเหลือเพื่อผู้นี้ให้เข้าใจได้ถูกต้องอย่างไรบ้าง

  • ฟ้าแลบฟ้าร้อง และฟ้าผ่าเกิดจากอะไร

  • ราหูอมจันทร์

  • ทำไมผู้ใหญ่ห้ามมิให้เดินลอดใต้บันไดหรือลอดใต้ราวตากผ้า

  • รุ้งกินน้ำมีตัวตนหรือไม่

  

จะเห็นว่าแต่ละกิจกรรมเป็นเรื่องที่ต้องใช้ ทักษะ ลักษณะกระบวนการคิดทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นการสังเกตด้วยประสาทสัมผัสทั้งห้า การคิดด้วยเหตุและผลคิดลึก คิดกว้าง คิดไกล ฯลฯ  ทั้งหมดทั้งปวงที่ผมได้เล่าบันทึกมานี้น่าจะสรุปได้ว่า ความทันสมัยไม่น่าจะขึ้นอยู่กับหลักสูตร แต่น่าจะขึ้นอยู่กับความสามารถ ทัศนคติ อุดมการณ์ ความเอาใจใส่ของครู ที่มีต่อลูกศิษย์ ในการสร้างแรงบันดาลใจให้ผู้เรียนเกิดการเรียนรู้ด้วยใจรักอย่างจริงจังต่างหาก

หมายเลขบันทึก: 310560เขียนเมื่อ 3 พฤศจิกายน 2009 11:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:50 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (4)

  สวัสดีครับคุณไทเลย-บ้านแฮ่

  • ขอบคุณมากๆที่แวะไปเยี่ยมไปทักทาย
  • เมืองเลย  ผมเคยไปอยู่หลายปี หลายที่ หลายแห่ง
  • ก่อนที่จะเป็นครู ผมเคยไปอยู่ในหลายท้องที่ ของจังหวัดเลย
  • ถึงหน้าหนาวเมื่อไรคิดถึง เมืองเลยที่สุด
  • หนาวนี้คิดว่าจะไปรำลึกถึงอดีตเก่าๆแน่นอน

เคยเรียน ผมนำมาเขียนถึงความเป็นมาในหลักสูตรแกนกลลาง การศึกษาขั้นพื้นฐาน พุทธศักราช 2551

ตั้งแต่เด็กชายใหม่รักหมู่ เป็นเด็กดีตื่นนนอนแต่เช้าเช้า มาสู่มานี มานะ สีเทาชูใ (2521) แล้วก็ แก้ง กล้า รถไฟ

ต่อไปไม่รู้จะเป็นอย่างไร

สวัสดีค่ะคุณไทเลย บ้านแฮ่

เคยเรียนเหมือนกัน มานะมานี ปิติชูใจ เด็กชายใหม่รักหมู่ หรือนกกางเขน แล้วโผผินบินลงเกาะตรงไหล่ เรียนสนุกจำได้ทุกบททุกตอน และแน่นอนค่ะที่ต้องทำข้อสอบได้

ผมเป็นครูครั้งแรก 25 เมษายน 2528 สอนภาษาไทยชั้นป.2 มานะชูใจ สีเทา ได้สอน หนังสือเก่าดีมาก ที่ดีเพราะนักวิชาการคนไทย จบในไทย เข้าใจพื้นฐานวิถีชีวิตไทย สภาพแวดล้อมแบบไทยๆ เขาว่าเรียนแล้วโง่ ล้าหลัง สู้ชนชาติตะวันตกไม่ได้ ไอ้พวกที่พูดน่ะ มันก็เรียนมาแบบผมสอนทั้งนั้น พอไปเรียนเมืองนอกเมืองนาเข้าหน่อย มันลืมตัว เลยเนรคุณครู หาว่าสอนแล้วเด็กโง่ คงจะจริง เพาะคนพูดมันคงโง่ มันจึงดูถูกครูไทย หลักสูตรแบบไทยๆ เดี๋ยวนี้เลยตามเวียดนามไม่ทัน ต้องไปศึกษาดูงานการจัดการศึกษาของเวียดนาม........ถุย..ไอ้พวกฉลาด

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท