(๓)การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ


การเรียนรู้จริงต้องอิงธรรมชาติ

การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ

ความหมาย

            แหล่งเรียนรู้ในชุมชน  หมายถึง 

1. สถาบันของชุมชนที่มีอยู่แล้วในวิถีชีวิตและการทำมาหากินในชุมชน  เช่น  วัด  โบสถ์  วิหาร  ศาลาการเปรียญในวัด  ซึ่งเป็นสถานที่ทำบุญตามประเพณี  ตลาด  ร้านขายของชำ  ลานนวดข้าว  โรงงานขนาดเล็กในหมู่บ้าน  ป่า  ห้วย  หนอง  คลอง  บึง  ที่ชาวบ้านมาหาอาหาร  เก็บหน่อไม้  เก็บเห็ด  หาปลา ฯลฯ

2. สถานที่หรือสถาบันที่รัฐและประชาชนจัดตั้งขึ้น  เช่น  อุทยานการศึกษาในวัด  และในชุมชน  อุทยานประวัติศาสตร์  อุทยานแห่งชาติทางทะเล  อุทยานแห่งชาติในท้องถิ่นแถบภูเขา  ศูนย์วัฒนธรรม  ศูนย์ศิลปาชีพ  ศูนย์เยาวชน  ศูนย์หัตถกรรมชุมชน  หอสมุด  ห้องสมุดประชาชน  พิพิธภัณฑ์สถาน  พิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น  พิพิธภัณฑ์พื้นบ้าน พิพิธภัณฑ์ธรรมชาติเกี่ยวกับ สัตว์ พืช ดิน หิน แร่ เป็นต้น

3. สื่อเทคโนโลยีที่มีอยู่ในโรงเรียนและชุมชน  เช่น  วีดิทัศน์  ภาพสไลด์  โปรแกรมสำเร็จรูป  ภาพยนตร์  หุ่นหรือโมเดลจำลอง  ของจริง  เป็นต้น

4. สื่อเอกสารสิ่งพิมพ์ต่าง ๆ ที่มีอยู่ในโรงเรียนและชุมชน เช่น  หนังสือสารานุกรม  วารสาร  ตำรายาพื้นบ้าน  ภาพจิตรกรรมฝาผนัง  ภาพถ่าย  เป็นต้น

5. บุคลากรผู้ที่มีความรู้ด้านต่าง ๆ ในชุมชน เช่น  ผู้นำทางศาสนา  เกษตรกร  ศิลปิน  หมอพื้นบ้าน  ผู้นำชุมชน  ปราชญ์ชาวบ้าน  เป็นต้น

            แหล่งเรียนรู้ธรรมชาติ  หมายถึง

1. สิ่งแวดล้อมทางธรรมชาติ  เช่น  ภูเขา  แม่น้ำ  ป่าไม้  ต้นไม้  สวน  ไร่นา  ดิน  หิน  แร่  ลม  ฟ้า  อากาศ   เป็นต้น

2.มนุษย์และสัตว์ต่าง ๆ เช่น บุคคลต่าง ๆ รอบตัวและสัตว์ทุกชนิด  เป็นต้น

 

        การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติ  หมายถึง  กระบวนการเรียนรู้ที่ใช้ทักษะกระบวนการต่าง ๆ ในการวางแผนเพื่อแสวงหาความรู้จากแหล่งเรียนรู้ในโรงเรียนและชุมชนร่วมกันระหว่างผู้สอนและผู้เรียนอย่างเป็นระบบ

ขั้นตอนการจัดการเรียนรู้

            การจัดการเรียนรู้โดยใช้แหล่งเรียนรู้ในชุมชนและธรรมชาติมีขั้นตอนสำคัญ   ดังต่อไปนี้

1.   ขั้นวางแผน  ควรดำเนินการดังนี้

1.1 ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดวัตถุประสงค์หัวข้อ เรื่องหรือประเด็นที่จะศึกษาเรียนรู้

1.2  สำรวจแหล่งเรียนรู้ประเภทต่าง ๆ ซึ่งอาจเก็บรวบรวมข้อมูลโดยการสัมภาษณ์แบบสอบถาม  แบบสำรวจ เป็นต้น

1.3  นำข้อมูลที่ได้มาจัดทำทะเบียน  หมวดหมู่  รายชื่อ  รายละเอียดของแหล่งเรียนรู้

1.4  ผู้สอนแลผู้เรียนเลือกแหล่งเรียนรู้ที่สอดคล้องกับหัวข้อเรื่องและวัตถุประสงค์ที่ต้องการเรียน

1.5  ประสานขอความร่วมมือในการใช้แหล่งเรียนรู้

1.6  ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกันกำหนดกรอบเนื้อหา  ประเด็นศึกษากิจกรรมหรือวิธีการที่จะศึกษา  เช่น จะใช้วิธีการสังเกต  การจดบันทึก  อัดเทป  ถ่ายภาพ  ถ่ายวีดิทัศน์  สัมภาษณ์  ลงมือปฏิบัติหรือทดลอง  เป็นต้น  ซึ่งวิธีการใดจำเป็นจะต้องใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์ก็จะต้องมีการจัดเตรียมให้เรียบร้อย

1.7  กำหนดและมอบหมายหน้าที่ความรับผิดชอบให้ผู้เรียนทุกคนอย่างชัดเจน  อาจจะจัดทำเป็นเอกสารแจกให้สมาชิกทุกคนรับรู้ตรงกัน  หรือกรณีที่แบ่งผู้เรียนออกเป็นกลุ่ม  อาจจะให้โอกาสสมาชิกประชุมเตรียมการร่วมกัน

1.8  กำหนดวัน  เวลา  วิธีการเดินทางและค่าใช้จ่าย ( ถ้ามี )

2.    ขั้นเก็บรวบรวมข้อมูล  ควรดำเนินการดังนี้

2.1  ผู้สอนนำผู้เรียนไปเรียนที่แหล่งเรียนรู้  ซึ่งผู้สอนควรจะดูแลเอาใจใส่ในเรื่อง ความปลอดภัย  สังเกตพฤติกรรมของผู้เรียนและให้คำปรึกษา  แนะนำตามความเหมาะสม

2.2  ผู้เรียนจะได้นำทักษะกระบวนต่าง ๆ ไปใช้ในการเก็บรวบรวมข้อมูล  เช่น  สังเกตการใช้ภาษาในการสัมภาษณ์  การจดบันทึกข้อมูลด้วยวิธีการต่าง ๆ เป็นต้น  โดยผู้สอนคอยดูแล  ช่วยเหลือให้ผู้เรียนมีการศึกษาเรียนรู้  คอยไต่ถามถึงการทำกิจกรรมต่าง ๆ ตามที่เตรียมไว้  เพื่อให้ได้ข้อมูลมากที่สุด

3.    ขั้นสรุปผลการเรียนรู้  อาจทำได้ดังนี้

3.1  สรุปการเรียนรู้ทันที  ในกรณีที่สามารถจัดสรรเวลาได้และไม่รีบเดินทางกลับ   ควรให้โอกาสผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้ทันที ณ สถานที่ศึกษาดูงาน จะทำให้ได้ผลดีมากเพราะยังจำความคิด  ประสบการณ์  ข้อมูล  และความรู้สึกต่าง ๆ ได้ดี

3.2 สรุปการเรียนรู้หลังจากกลับถึงสถานศึกษา  ซึ่งโดยทั่วไปหลังจากศึกษาเรียนรู้แล้ว  ผู้สอนและผู้เรียนมักจะไม่มีเวลาสรุปทันที  ดังนั้น  เมื่อเดินทางกลับถึงสถานศึกษาแล้วควรรีบหาโอกาสให้ผู้เรียนสรุปผลการเรียนรู้โดยเร็ว  การสรุปผลการเรียนรู้ ทำได้หลายวิธี   เช่น  ให้ผู้เรียนแต่ละคนนำเสนอประสบการณ์ และข้อมูลที่ตนได้รับจากการศึกษา  จัดให้มีการอภิปรายร่วมกันในประเด็นหรือหัวข้อที่สำคัญ  การเขียนรายงาน  การจัดนิทรรศการ  เป็นต้น  และในการสรุปผลการเรียนรู้นั้น ผู้สอนควรดูแลให้มีการสรุปให้ครอบคลุมประเด็นการเรียนรู้ทั้ง 3 ด้าน  ได้แก่ ด้านความรู้ที่ได้รับ  ด้านเจตคติ  และด้านทักษะกระบวนการที่ใช้ในการแสวงหาความรู้  เช่น  กระบวนการคิด  กระบวนการทำงานเป็นกลุ่ม  เป็นต้น

4.   ขั้นประเมินผล

            เป็นขั้นที่ผู้สอนและผู้เรียนร่วมกัน ประเมินผลเพื่อให้ทราบว่าการไปทัศนศึกษาครั้งนี้มีผลเป็นอย่างไร  เช่น  บรรลุผลตามวัตถุประสงค์หรือไม่  ปัญหาและอุปสรรคมีอะไรบ้างตลอดจนข้อเสนอแนะอื่น ๆ ซึ่งอาจประเมินได้จากการสอบถาม  การสังเกต  หรือข้อเสนอแนะต่าง ๆ

เป็นต้น

 

 

หมายเลขบันทึก: 310070เขียนเมื่อ 1 พฤศจิกายน 2009 07:58 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 19:28 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)
  • เยี่ยมเลยค่ะ ครูอ้อยนำไว้ในห้องทำงานของครูอ้อยแล้วนะคะ 
  • มีอ้างอิง ให้สักนิด ให้ดาว 5 ดวงเลยค่ะ

ขอบคุณมากค่ะ

-  ขอบคุณสำหรับข้อมูลแหล่งเรียนรู้ในชุมชน

-  ครูนกอยากเห็นภาพการบริหารจัดการเรื่องนี้อย่างเป็นระบบ จากชุมชนเพื่อชุมชน

สวัสดีค่ะ

ครูอ้อย ครูคิม ครับ

ขออภัยครับที่พลาดการลงอ้างอิง

เป็นข้อเขียนของ ดร.สุวิทย์ - ดร.อรทัย มูลคำ ครับ

ท่านทั้งสอง มีคุณูปการแก่การศึกษาไทยมากครับ

เคยพบพูดคุยแล้ว น่ารักมากครับ

เพียงต้องการเผยแพร่ ให้การจัดการศึกษา มีรูปแบบที่น่าสนใจขึ้น สำหรับนักเรียนครับ

โครงการน่าสนใจ..จะต้องเริ่มถอดบทเรียนจากแหล่งเรียนรู้ที่อยู่ใกล้ตัวก่อนแบบนี้ถูกต้องมั้ยคะ..หรือว่าเจาะลงลึกไปถึงสถายที่เลยคะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท