ไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง


การเตรียมการ ระบบข้อมูลกับความเชื่อมโยงของบริการ การเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายประชากรตามฤดูกาล

พวกเราทราบดีกันแล้วว่า เราอยู่ในความเสี่ยงของการระบาดของไข้หวัดใหญ่ 2009 ระลอกสอง หวังว่าคงมีการเตรียมการสรุปบทเรียนจากประสบการณ์ที่ผ่านมา เพื่อรับมือกับสถานการณ์

วันก่อนฟังรายการวิทยุ ดร.สุเนตร (ขอโทษที่ไม่แน่ใจว่าจะเขียนนามสกุลถูก เลยละไว้) สนทนากับเรื่องสงครามไทย พม่า ได้ฟังตอนสมเด็จพระนเรศวร วางแผนป้องกันเมือง นอกจากการขุดคูคลองกป้องกันกำแพงเมืองแล้ว พระองค์ได้จัดทัพย่อยออกไปสกัด ทำสงครามแบบสงครามกองโจร โจมตีหน่วยเสบียงของพม่า เพื่อไม่ให้ข้าศึกประชิดกำแพงเมืองได้ อาจารย์สุเนตรท่านศึกษาหลักฐานต่างๆมากมายทั้งของไทย และพม่า

ประเด็นก็คือ เราจะทำอย่างไรไม่ให้ไข้หวัดใหญ่ระบาดหนักและคนไข้ตื่นตระหนก มาประชิดโรงงพยาบาลอย่างถล่มทลาย เชื่อว่าท่านทั้งหลายทำอยู่แล้ว แต่พอปัญหาซาๆไป อ.ส.ม อาจจะเพลามือลงไป ทำอย่างไรให้หน่วยปฐมภูมิของเราจัดบริการที่สะกัดกั้น กลั่นกรอง และให้การบำบัด ติดตามกรณีสงสัยหรือผู้ป่วยอย่างต่อเนื่อง เชื่อมโยงกับครอบครัวและชุมชน จะต้องมีกลไกใดที่ประสานทุกระดับและให้มีการไหลของข้อมูลข่าวสารที่ถูกต้อง เชื่อถือได้ และแม่นตรง จะเฝ้าระวังการเคลื่อนย้ายของประชากรตามฤดูกาลได้อย่างไร อีกไม่กี่วันก็จะลอยกระทง หลังจากนั้นก็จะมีหยุดยาววันพ่อ วันชาติ ฯลฯ พวกขับแท๊กซี่ที่กรุงเทพกว่าครึ่ง ที่มาจาก อิสาน เช่น ร้อยเอ็ด ศรีษะเกษ กาฬสินธุ์ สุรินทร์ ฯลฯ เขาเหล่านี้จะกลับไปดูไร่นา ที่หว่านไว้ ข้าวกำลังตั้งท้องพอดี การไหลเคลื่อนย้ายของประชากรตามฤดูกาล อาจพกพาเชื้อไข้หวัดใหญ่ไปด้วยก็ได้ ทำอย่างไรที่เราจะให้มีระบบเฝ้าระวัง ไม่เพียงแต่เฝ้าระวังการป่วยไข้ แต่รวมถึงการเฝ้าระวังทางประชากรและปัจจัยเสี่ยงต่างๆ อย่างต่อเนื่อง อาจารย์หมอสุจริค (อดีตปลัดกระทรวงสาธารณสุข) มักเน้นเสมอว่า เราต้องเฝ้าระวังปัจจัยเสี่ยง ก่อนที่จะนำไปสู่วิกฤต

ลองแลกเปลี่ยนกันหย่อยนะครับ ว่าเราเตรียมการกันอย่างไร? และทำอย่างไรที่จะให้การเตรียมการและงานต่างๆที่วางแผนไว้ เป็นงานประจำ ไม่ใช่งานเฉพาะกิจ เพราะการเฝ้าระวังและการแก้ปัญหาโรคระบาด เป็นงานหลักอย่างหนึ่งของการสาธารณสุข ที่สำคัญคือการบูรณาการการดูแลสุขภาพระดับบุคคลกับการสาธารณสุข อย่าให้มีลักษณะเป็นสองนครา ทีแยกกันในการทำงาน

ช่วยแลกเปลี่ยนประสบการณ์กันนะครับ

ชนินทร์

หมายเลขบันทึก: 309102เขียนเมื่อ 28 ตุลาคม 2009 09:43 น. ()แก้ไขเมื่อ 12 กุมภาพันธ์ 2012 10:24 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (14)

เสียดายที่ตอนนี้คนไทยไม่ค่อยกลัวไข้หวัด 2009 เสียแล้ว พวกสื่อต่าง ๆ ถอนกำลังออกไป ดพราะมีเรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจกว่า จะกลับมาก็คงมีการระบาดอย่างรุนแรงอีกครั้ง ผมเชื่อว่าคนไทยหลายคนที่อยู่ในเขตระบาดได้ติดเชื้อไปแล้ว ข้อดีคือพวกเขาจะไม่เป็นโรคนี้อีก แต่ก็น่ากลัวว่าคนในพื้นที่ที่ไม่เคยระบาดจะระบาดขึ้นมาอีก และคราวนี้ก็อาจจะกระจายไปอย่างรุนแรง และมีคนเสียชีวิตอีกก็ได้ ก็คงต้องให้ข้อมูลชาวบ้านอยู่เป็นระยะ และพยายามไม่ให้ โรงพยาบาลเป็นแหล่งแพร่โรคนี้อีกเพราะคนป่วยแห่กันมาเลยไม่รู้ว่าใครเป็นหรือไม่เป็น รวมทั้งการให้ความรู้สำหรับกลุ่มเสี่ยงเช่น หญิงตั้งครรภ์ และคนอ้วน ส่วนการเดินทางตามเทศกาลคงต้องมีการรณรงค์เรื่องไข้หวัดควบคู่ไปกับเมาแล้วขับด้วย รวมทั้งการดูแลตัวเองเมื่อป่วย และการป้องกันตัวเมื่ออยู่ใกล้ชิดกับผู้ป่วย หรือในที่ชุมชนเหมือนที่เคยทำตอนที่มีการระบาดใหม่รอบแรก

ไม่อยากเปิดคลินิกพิเศษสำหรับไข้หวัดอีกแล้วครับ

กสิวัฒน์

ไม่อยากเปิดคลินิกพิเศษแล้ว มีแผนจะจัดการอย่างไร ช่วยขยายความคิดหน่อยนะครับ ดูโจทย์ข้างบนด้วยนะครับ

ชนินทร์

ผมว่าเราคงต้องรณรงค์กันไปเรื่อยๆจนทำให้มันเป็นกลายเป็นนิสัยติดตัว (กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ) แต่อย่าโหมกันจนเป็นกระต่ายตื่นตูม วิตกจริตกันไปหมด ซึ่งถ้าทำ(กินของร้อน ใช้ช้อนกลาง และล้างมือ)ได้ ผมว่ามันจะช่วยป้องกันได้อีกหลายๆโรคเลย ที่จะได้อานิสงค์จากการรณรงค์เช่น โรคอุจจาระร่วงที่มีแนวโน้มลดลงหลังการรณรงค์เรื่องไข้หวัดใหญ่

ได้ฟังข่าวเหมือนกันค่ะอาจารย์ ยิ่งช่วงใกล้หน้าหนาวก็ยิ่งน่ากลัวนะคะ แต่จริง ๆ น่าจะมีการรณรงค์ถึงการป้องกันอย่างต่อเนื่องไม่ใช่แค่รณรงค์ช่วงที่ระบาดหนัก ควรรณรงค์ผ่านทาง mass media communication รวมถึงในการเดินทางเข้า-ออกประเทศไทย เช่น ทางเครื่องบิน น่าจะมีมาตรการที่เข้มงวดมากกว่านี้ค่ะ เหมือนประเทศต่าง ๆ ที่เขามีมาตรการป้องกันทั้งขาเข้าและขาออกของประเทศ

ผมมองว่าการรณรงค์นั้นมีความจำเป็น ในการสร้างความตระหนัก (Create wareness) ในประเด็นปัญหา ซึ่งจะขับเคลื่อนการสร้างกระแสให้เกิดความตื่นตัวในระดับกว้าง สารที่ให้ต้องกระชับและเร้าใจ แต่สิ่งที่เราต้องคิดต่อคือ ความต่อเนื่อง ซึ่งเราจะต้องมีแผนงานที่ชัดเจนและมีโครงสร้างรองรับ การรณรงค์เองก็ต้องต้องมีการออกแบบสารที่จะสื่อให้มีความหมายและเป็นที่ยอมรับของ TARGET AUDIANCE ด้วย เช่นการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันการแพร่เชื้อ ที่ทำให้คนขับรถตู้โดยสาร ไล่ผู้โดยการที่สวมหน้ากากลงจากรถ เพราะทำให้ผู้โดยสารอื่นไม่กล้านั่งรถร่วมด้วย ซึ่งเป็นเรื่องที่น่าเศร้า แต่เราต้องตระหนัก เพราะภาพลักษณ์ (Image) ของการสวมหน้ากากอนามัย เป็นที่พบชินตาในโรงพยาบาล หากกลับกัน เราสร้าง Image ของการสวมหน้ากากอนามัย เป็น Image ของผู้รับผิดชอบ ผู้ที่แคร์และมีความห่วงใยต่อสุขภาพของผู้อื่น อาจทำให้มีการยอมรับการสวมหน้ากากอนามัยกันกว่างขวางมากขึ้น

ประเด็นเรื่องการสวมหน้ากากอนามัย ที่ไม่ได้รณรงค์แต่แรกเริ่ม เพราะมีความกลัวว่าจะกระทบต่อภาพลักษณ์ของประเทศ ทำให้นักท่องเที่ยวน้อยลง และกลายเป็นประเด็นทางการเมือง

ชนินทร์

จริงๆแล้ว ตอนนี้ หลายคนคงรู้ว่าในช่วงปลายปีจะมีการระบาดของไข้หวัดใหญ่2009 อีกระลอก ขณะนี้เราควรเริ่มหันมารณรงค์ ป้องกันก่อนที่จะมีการระบาดครั้งใหญ่ เริ่มตั้งแต่ระดับประเทศควรมีการเริ่มให้ข้อมูลความรู้ที่ถูกต้อง เป็นไปแนวทางเดียวกัน เพื่อให้เกิดความเข้าใจที่ตรงกัน สำหรับระดับชุมชนครวเน้นยำเกี่ยวกับความรู้ให้แก่ประชาชน เน้นเจ้าหน้าที่ทุกส่วนที่ต้องรับผิดชอบการป้องกัน รักษาเพื่อจะได้อธิบายอาการแก่ประชาชนที่สอบถาม

สำหรับประชาชนที่เป็นกลุ่มเสี่ยง ตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง โรคหัวใจ อ้วน เป็นต้น ในแต่ละโรงพยาบาลมีข้อมูลรายชื่อผู้ป่วยที่เป็นกลุ่มเสี่ยงอยู่แล้ว ให้มีการออกบัตรประจำตัว เกี่ยวกับโรคแต่ละคน แนวทางปฏิบัติตัวป้องกันโรค2009 เวลามีอาการอะไรที่ต้องมาโรงพยาบาล และเมื่อผู้ป่วยรายนี้เข้ารักษาโรงพยาบาลที่ไม่ได้รักษาประจำ ให้ยื่นบัตรใบนี้เพื่อให้แพทย์ได้ทราบว่าบุคคลนี้เป็นกล่มเสี่ยงของ2009 จะได้เฝ้าระวัง

สำหรับสถานที่เป็นที่แผ่กระจายของเชื้อได้ดี คือที่แอออัด ที่มีการรวมตัวของประชาชนนานมากกว่า5นาที เช่น โรงเรียน โรงงาน บ้าน เป็นต้น ควรมีการคัดกรองผู้ที่มีอาการสงสัย 2009 ให้แยกออกโดยเร็ว จำกัดบริเวณ แนะนำให้เข้ารักษาโดยเร็ว

สำหรับที่บ้าน เมื่อมีผ็ป่วยที่เป็น2009 ควรมีการแนะนำการปฏิบัติตัวทั้งผู้ป่วยและญาติเพื่อป้องกันการแพร่กระจาย เช่น กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ ใส่หน้ากากอนามัย แยกที่นอน งดการออกนอนบ้าน

ทั้งนี้ทั้งนั้นการที่จะปฏิบัติได้ดี ในการป้องกันโรค ขึ้นอยู่กับการตระหนัก เอาใจใส่ ของประชาชนทุกคน ไม่ใช่คนใดคนหนึ่ง แต่ต้องเป็นความร่วมมือของคนทั้งประเทศ

ความผิดพลาดครั้งแรกควรเอามาเป็นบทเรียน

เรื่องที่มีการพบเด็กประจำป่วยเป็นไข้หวัด2009 หลายคนขณะที่โรงเรียนเปิด ทำให้มีการประกาศหยุดเรียนและให้นักเรียนกลับบ้าน เพื่อทำความสะอาดโรงเรียน ล้างเชื้อ ..ลืมคิดหรือเปล่าว่าเป็นการแพร่กระจายสู่ประชาชนอื่นๆ เนื่องจากอาจมีนักเรียนที่กำลังอยู่ในระยะแพร่เชื้อ และไม่มีอาการ กลับบ้านทั้งต่างจังหวัด ในกรุงเทพ ทำให้แพร่เชื้อต่อที่บ้าน ชุมชนอื่นขยายออกไป ..ขณะเดียวกันถ้ามีการจำกัดนักเรียนอยู่ที่เดิม เชื้อก็ยังไม่มีการแพร่กระจายที่อื่นๆ สามารถกำจัดเชื้อ ลดการแพร่กระจายทางหนึ่ง

เรื่องที่เมื่อมีผู้ที่ป่วยเป็น2009 เข้ารับการรักษา แต่ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล มีการออกใบรับรองแพทย์ให้หยุด แต่ไม่มีการเน้นยำว่า ต้องหยุดอยู่บ้านที่อยู่ปัจจุบัน แต่กลับ เดินทางกลับบ้านเกิดต่างจังหวัด หรือออก ไปเที่ยวสถานที่ต่างๆ เป็นทางหนึ่งที่ทำให้เกิดการแพร่กระจายเช่นกัน

ครวมีการเอาข้อผิดพลาดตางๆมาทบทวนร่วมด้วย เพื่อให้เกิดการปฏิบัติที่ดียิ่งขึ้น

ตอนนี้ไข้หวัดใหญ่กลับมาระบาดอีกรอบแล้ว

น่ากลัวกว่าเดิมอีกค่ะ

ขอบคุณค่ะ

ตอนนี้เป็นช่วงเปลี่ยนฤดู อากาศเริ่มหนาวแล้ว คนหลายคนก็เร่ิมป่วย เป็นจังหวะดีที่จะประชาสัมพันธ์อีกครั้งเกี่ยวกับโรคระบาด ผมได้ดำเนินการต่อเนื่องโดยมีพยาบาลประชาสัมพันธ์คอยคัดแยก(Triage)และให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเจ็บป่วย สำหรับผู้ให้บริการทุกระดับก็จะต้องมีการป้องกันตัวอย่างต่อเนื่องเพราะเป็นกลุ่มเสี่ยงหลัก เพราะมีประสบการณ์ว่าผู้ช่วยเหลือคนไข้ป่วยหลายคน เป็นแผนเชิงรับในโรงพยาบาล ส่วนแผนเชิงรุกตอนนี้ใช้บริการของ อสม.ให้เข้าไปทำความเข้าใจเกี่ยวกับการดูแลเบื้องต้นเมื่อมีการเจ็บป่วย มีออกเสียงตามสายให้กับชุมชน โดยจะมีเปิดรับบริการปรึกษาปัญหาสุขภาพ 24 ชม.โดยทีมงานพยาบาลห้องฉุกเฉินและพยาบาล ward ซึ่งทำงานตลอด 24 ชม.อยู่แล้ว และกำลังส่งทีมงานเข้าให้ข้อมูลในโรงเรียนและสถานที่ที่ให้บริการสาธารณะ

นพ.กสิวัฒน์ ศรีประดิษฐ์

ช่วงนี้รัฐบาลมีการลงทุนเพื่อกระต้นเศรษฐกิจ ตามนโยบายไทยเข้มแข็ง น่าจะมีการลงทุนเชิงโครงสร้างที่เป็นประโยชน์ในการป้องกันโรค

เช่นอ่างล้างมือ ห้องส้วมสาธารณะ ในโรงเรียน สถานีขนส่ง ตลาดสด บ้างก็ดีนะคะ

สภาพเท่าที่เห็น ขอโทษนะคะ คุณยายบอกขี้หดตดหายค่ะ

คนไทยเป็นคนลืมง่าย
ตอนไข้หวัด 2009 ระบาดรอบแรก เห็นตื่นเต้นกับไปทั่วประเทศ ไปที่ไหนก็เห็นแต่คนสวมใส่หน้ากากกันไปหมด
เจลล้างมือก็หาซื้อติดบ้านกันแทบทุกบ้าน

ตอนระบาดรอบสองไม่เห็นมีใครใส่ใจเฝ้าระวังกัน ผ้าคาดปากก็ไม่มีสวมใส่ให้เห็น สื่อก็ไม่ทำข่าว
และไม่ค่อยมีใครพูดถึง

ประเสริฐ ตั้งจิตธรรม

ถึงตอนนี้ไข้หวัดใหญ่ 2009 ก็ระบาด น่าจะทั่วประเทศแล้ว เราคงต้องคิดว่าจะลดป่วย ลดตาย อย่างไร

กระทรวงเองก็พยายามโดยวิธีต่างๆ ไม่ว่าจะฉีดวัคซีนป้องกัน การรณรงค์การป้องกัน(กินร้อน ช้อนกลาง ล้างมือ สวมหน้ากากอนามัย...) การจัด cpg เรื่องการดูแลผู้ป่วย การส่งต่อ การประชาสัมพันธ์ประชาชน ซึ่งน่าจะ work พอสมควร แต่ผมก็รู้สึกเหมือนหลายๆท่านว่าต่างจากการระบาดครั้งก่อนที่ การลดลงของความตระหนักของทั้งประชาชนและผู้เกี่ยวข้องรวมถึงสื่อสารมวลชน สังเกตุจากสื่อพูดถึงการป้องกัน/การปฎิบัติตนของประชาชน ประชาชนยังมีพฤติกรรมทางสุขภาพไม่เหมาะสม(สวมหน้ากากอนามัยลดลง ล้างมือลดลง............) รวมถึงบุคคลกรที่ดูแลระบบบริการสุขภาพ/บุคคลกรที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับระบบสุขภาพ

ต้องบอกว่า ตอนเรียน Epidermiology ที่ตอนเรียนแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว ผมไม่ชอบเพราะเรียนไม่เข้าใจ รวมทั้งไม่ได้ตระหนักว่า มันจำเป็นอย่างไร เพราะไม่คิดว่าจะได้ใช้ เนื่องจากเราดูแลผู้ป่วยเป็นคนๆอยู่แล้ว

ตอนที่ได้เรียนกับ อ.ฉวีวรรณและ อ.ดุสิต รู้สึกว่ามันจับต้องและสามารถนำไปใช้ได้จริง แต่ก็ยังต้องพัฒนาตัวเองอีกมากครับ

สำหรับไข้หวัดใหญ่รอบสอง ต้องบอกว่า ที่รพ.ของผม ไม่ค่อยตื่นตัว ไม่มีการรณรงค์เลย จริงๆแล้วมันก็น่าจะธรรมดานะ เพราะเมื่อตอนระบาดหนัก ก็คงเป็นรพ.เดียวในจังหวัดที่ไม่มีการแยกตรวจผู้ป่วยออกมาเป็น Fever Clinic ผู้ป่วยทุกรายที่มาตรวจสามารถเข้าออกได้ทุกประตู โชคดีที่ผมไปตรวจเป็นแพทย์ประจำอยู่ที่สถานีอนามัย...แต่ในชุมชนก็ไม่ค่อยตระหนักเท่าไรครับ ผิดกับรพ.เอกชนที่ผมทำงานอยู่หน้ามือเป็นหลังมือเลยครับ

ที่น่าเสียใจก็คือ รอบแรกที่ระบาด มีการระบาดในหมู่นิสิต นิสิตเป็นกันเยอะมาก แต่ทางรพ.ก็ไม่ได้จัดการอะไรที่เป็นรูปธรรม หน่วยงาน IC บอกว่า หน้าที่ของเค้าอยู่แต่ใน รพ. ชุมชนไม่เกี่ยว....

รอบสองนี้ มีวัคซีนแล้วครับ ผมว่ากำลังจะไปฉีดอยู่ครับ

ถ้าแลกเปลี่ยนกันตามตรง หลังจากที่ได้ฟังอาจารย์ ศุภมิตร บรรยาย เรื่องโรคร้อนกับภาวะสุขภาพ ทำให้เข้าใจบริบทและการทำงานของทีมงานมากขึ้น เป็นกำลังใจให้อาจารย์นะครับ

การทำงานเชิงรุก เพื่อเตรียมรับหวัด 2009 รอบสอง โดยไม่มีกระแสนี่ ลำบากมากครับ ระดับจังหวัด อำเภอ ก็ไม่มีการพูดถึงแล้วครับ ในรพ.ที่ใหญ่แบบของผม ก็ไม่รู้ว่าจะเริ่มตรงจุดไหนครับ แต่ถึงอย่างไร ก็จะพยายามให้ดีที่สุดครับผม

ขอบคุณครับ

กฤษฎิ์

ผมเห็นแนวโน้มของการระบาดไข้หวัดใหญ่ 2009 ในระลอกนี้ เปลี่ยนแปลงไปค่อนข้างจะมาก

1.ความตระหนกและตื่นตัวของประชาชนแทบไม่มีเลย ต่างจากคราวที่แล้ว ทุกวันนี้แม้แต่คนที่เป็นไข้หวัด ก็ไม่มีการใส่mask jelล้างมือก็ไม่ใช้ การปฏิบัติสุขนิสัยส่วนบุคคล เพื่อทำให้เกิดภูมิต้านทานต่อโรคเช่น การออกกำลังกาย กินผักผลไม้ ก็ไม่ทำ ดูเหมือนว่าคนไทยจะฮิตอะไรเป็นช่วงๆ พอมีการระบาดขึ้นมาก็ตื่นไฟ รอซักพักหนึ่งก็ซาไปเอง ซึ่งจะทำให้การควบคุมการระบาดทำได้ยากและการแพร่เชื้อก็จะง่ายขึ้น เราเองในฐานะนักสาธารณสุข จะต้องเพิ่มการรณรงค์กับประชาชนให้มากขึ้นและที่สำคัญต้องทำตัวเป็นตัวอย่างที่ดีด้วย

2.ในเรื่องวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่ 2009 นั้น ตอนนี้คนตื่นกลัว เรื่อง AEFI (Adverse Effect Following Immunization)กันมาก ว่าฉีดวัคซีนแล้วจะมีผลข้างเคียงอย่างไรบ้าง จริงอยู่ว่าโอกาสที่จะเกิดขึ้นเป็นหนึ่งในล้านหรือน้อยมาก แต่ในโลกโลกาภิวัตน์เช่นนี้ แม้เกิดเพียงรายเดียว สื่อก็แพร่กระจายไปทั่วประเทศในชั่วข้ามคืนได้ ดังนั้น เราจะต้องระวัง เตรียมการป้องกันปัญหาที่จะเกิดขึ้น อธิบายและทำความเข้าใจกับคนไข้ก่อน ไม่ปล่อยให้เป็นเรื่องลุกลามใหญ่โต และถ้ามีปัญหา ก็ทำให้เรื่องจบในเวลาอันสั้น

ได้แต่หวังว่า ไข้หวัดใหญ่ 2009 ที่จะระบาดในรอบที่สองนี้ ขอให้มีความรุนแรงลดลง กลายสายพันธุ์ไปเป็น Seasonal Flu โดยเร็ว สาธุๆ

นพ.สุพัฒน์ ธาตุเพชร

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท