ทำบันทึกความรู้หน้างานของคุณกิจอย่างนี้ได้ไหม


สิ่งหนึ่งที่ได้ยินได้ฟังในโอกาสต่างๆของการจัดการความรู้ คือ ตัวละคอน ที่แสดงบทบาทผู้เรียนในวงเรียนรู้ต่างๆไม่มีการบันทึก เก็บร่องรอย หลักฐาน การทำงานและหลักฐานการเรียนรู้ของตนไว้ ไม่ว่าจะเป็นวงเรียนรู้ของคุณเอื้อ คุณอำนวย และคุณกิจ เวลานักวิจัยต้องการข้อมูลก็ดี ถอดบทเรียนก็ดี สรุปผลโครงการก็ดี ฯลฯ มีปัญหาทุกที ไม่รู้จะใช้หรืออาศัยแหล่งข้อมูลใด ทำให้มีการวิจัย ถอดบทเรียน หรือสรุปอย่างโมเม(ชั่น) หรือพูดกันตามความรู้สึก ไม่มีมีข้อมูลเชิงประจักษ์รองรับยืนยัน

เมื่อวานนี้ ผอ.วิมล วัฒนา ผอ.กศน.นครศรีฯ จึงได้เชิญให้ไปร่วมคิดหนทางและสร้างเครื่องมืออย่างหนึ่งในโครงการจัดการความรู้แก้จนเมืองนคร จะเรียกว่าอะไรไม่รู้ สมมติว่าชื่อบันทึกความรู้หน้างานไปก่อน (เพราะยังไม่ยุติในความคิดเห็น บางคนก็ว่า บันทึกแก้จนตามวิถีคนคอน...) จึงสรุปว่าแขวนเอาไว้ก่อนเรื่องชื่อบันทึก   ประชุมกลุ่มย่อยกันกันราว 10 คน ที่ห้อง ของ ผอ.วิมล วัฒนา ผอ.กศน.นครศรีฯ  มีรองผู้อำนวยการสถานศึกษา อ.เกษร ธานีรัตน์ ทำหน้าที่คุณอำนวย อำนวยการประชุม ( ระยะหลังๆ วัฒนธรรมการทำงาน ชาว กศน.เริ่มเปลี่ยนไป นั่งหัวโต๊ะก็ไม่นิยมเรียกว่าประธานเท่าไรแล้ว เรียกคุณอำนวยแทน .....ผมว่าอิทธิพล ของ KM แน่ๆ)


ที่ประชุมได้พูดกันเรื่องบันทึกความรู้ที่ว่านี้ จะใช้สำหรับให้คุณกิจบันทึกความรู้อะไรมั่ง  ก็มีความเห็นไปในทำนองที่ว่าเป็นความรู้ปฏิบัติของคุณกิจ ความรู้ที่เกิดขึ้นหน้างานนั่นแหละ เช่น จะแก้จนในทางเพิ่มรายได้ด้วยการปลูกผักสวนครัว จะลดรายจ่ายด้วยการทำน้ำยาล้างจานใช้เอง จะออมด้วยการถือหุ้นในกลุ่มพัฒนาอาชีพ หรือกองทุนการเงินชุมชนต่างๆ เป็นต้น ก็บันทึกความรู้ ( ความรู้สึก ความคิด ความเชื่อ ทักษะ ....ได้ทุกเรื่อง) ตามแต่เป้าหมายงานและวิธีการทำงานที่แต่ละคนได้กำหนดขึ้น ( เป้าหมายและวิธีการแก้จนของแต่ละคน ก็เสมือนว่าเป็นหลักสูตรและวิธีเรียนวิธีสอนของคุณกิจแต่ละคน ) คว้าอะไรมาได้ เกิดความคิดใดขึ้นในตัวเองก็ดึงออกมา บันทึกไว้ในเล่มนี้

ที่ประชุมมอบหมายให้ผมมาคิดและจัดทำร่างต้นฉบับ จากนั้นนำกลับเข้าที่ประชุมอีกครั้ง เพื่อให้หน่วยงานภาคีเครือข่าย ได้ร่วมกันพิจารณา เช่น พิจารณาว่า เล่มที่ทำนี้จะใช้ควบคู่อย่างไรกับเล่มอื่นที่หน่วยงานอื่นเขาทำแล้ว ใช้แล้ว เช่น บันทึกบัญชีครัวเรือน ที่กรมส่งเสริมสหกรณ์ทำขึ้น ( ใช่หรือเปล่า) ของกรมอนามัย ...กรมส่งเสริมการการเกษตร .....ธกส.......เป็นต้น เรียกว่าจะไม่เกิดซ้ำซ้อน อีกทั้งเป็นการเชื่อมโยงการทำงาน เสริมการทำงานของภาคีเครือข่ายหน่วยงาน ชาวบ้านเองก็ไม่รู้สึกเป็นภาระมากนัก

ผมจึงคิดต่อ ...(ทำการบ้าน) ว่าในเล่มนี้ควรมีอะไรบ้าง จะให้ว่างทั้งเล่ม ( ไม่มีการนำทางใดๆเลย  อิสระเต็มที่ ) กับมีการแนะนำ ปูพื้นฐานบ้าง อย่างหลังน่าจะดีกว่า ว่างทั้งเล่มก็อิสระเกินไป จึงคิดว่าองค์ประกอบของเล่มจะประกอบด้วย

  • ประโยชน์ของบันทึก

  • ความรู้หน้างานคืออะไร

  • แนะนำวิธีบันทึกพร้อมตัวอย่างบันทึก

  • เป้าหมายการทำงานเพื่อแก้ไขปัญหาความยากจนและเป้าหมายการเรียนรู้ (หลักสูตรและวิธีเรียนรู้ด้วยตัวเอง) เป้าหมาย 3 อย่างแก้จน คือ เป้าหมายเพิ่มรายได้ ลดรายจ่าย และการออม

  • พื้นที่บันทึก ที่เป็นทั้งความรู้แจ้งชัด ทั้งที่เป็นลายมือเขียนตัวเอง ที่ค้นคว้ามาจากที่อื่น รูปภาพ กราฟ แผนผัง แผนภูมิ ฯลฯ ทั้งความรู้ก่อนทำงาน ระหว่างทำงาน และเมื่อเสร็จการทำงาน

  • พื้นที่สำหรับการถอดบทเรียนแต่ละครั้งเพื่อการปรับปรุงงานคราวต่อไปให้ดียิ่งขึ้น (โดยให้ทีมคุณอำนวยตำบลช่วยกันทำกระบวนการถอดออกมา) ความรู้ที่มีแต่ยังไม่ได้เขียนออกมา หรือผู้ที่ไม่มีทักษะการเขียน เขียนไม่เป็น เขียนไม่คล่องจะได้ใช้ช่องทางนี้

  • พื้นที่สำหรับการสัมภาษณ์คุณกิจดึงความรู้ฝังลึกออกมา ( บันทึกเรื่องเล่า/ บันทึกการสัมภาษณ์ ) เพื่อการสังเคราะห์ความรู้แต่ละเรื่องในแต่ละเป้าหมายของการเรียนรู้

  • พื้นที่สำหรับ Comment ให้รางวัล ชมเชย ในความสำเร็จ แนะนำ จูงใจ ฯลฯ สำหรับผู้พบเห็น เยี่ยมเยียน

ผมคิดว่าคุณกิจ 400 หมู่บ้าน ๆละ 72 คน เกือบ 30,000 คน เป้าหมายของปี 2549 นั้น คงบันทึกกันได้ไม่หมดทุกคน (แน่ๆ...บันทึกกันหมดทุกคนคงอัศจรรย์สำหรับประเทศนี้)  ผมจึงคิดว่าแกนนำหมู่บ้านๆละ 8 คน นั่นแหละน่าจะเป็นกลุ่มตัวอย่างแรก เพราะแกนนำหมู่บ้านทักษะการเขียนดีกว่าครัวเรือนอื่น (อาจจะไม่ใช่ก็ได้นะ.....) แกนนำทำกิจกรรมบันทึกความรู้เป็นตัวอย่างแก่ครัวเรือนอื่น แต่ก็ไม่ปิดกั้นครัวเรือนอื่นที่สนใจบันทึก อยากทำก็สนับสนุนให้ทำ (เต็มที่)  เหตุผลที่ทำกับกลุ่มแกนนำเพราะต้องการ Try out เครื่องมือ (บันทึกผู้เรียน) เมื่อปรับปรุงแก้ไข หาความมั่นใจ ( ความเชื่อมั่น)ด้วย  เสร็จเรียบร้อยแล้วจึงจะใช้เป็นการทั่วไปสำหรับผู้ที่ต้องการบันทึก

ผมคิดว่าผลพวงหรือผลกระทบจากการที่ชาวบ้านบันทึกเรื่องราววิถีชีวิต ความเป็นอยู่ได้สักเล่มหนึ่ง หรือหลายเล่มก็แล้วแต่ คือความสำเร็จ ความภาคภูมิใจของเขาน่ะ เมืองแห่งการเรียนรู้ที่เป็นวิสัยทัศน์ของจังหวัด สังคมการเรียนรู้  สังคมฐานความรู้ ก็ดี ก็จะเกิดขึ้นได้จริงด้วยการปฏิบัติ  ตลาดนัดความรู้ แก้ไขปัญหาความยากจนเมืองนคร (น่าจะมีสักครั้ง หรือหลายๆครั้ง)จะเป็นเรื่องเล่าที่มีสันสัน (เพราะชาวบ้านได้ปฏิบัติจริง) และมีบันทึก ร่องรอย หลักฐาน รองรับยืนยัน ที่สำคัญนิสัยของพลเมืองในการเขียนบันทึกเรื่องราวได้ติดตัวไปแล้ว

 

หมายเลขบันทึก: 30825เขียนเมื่อ 25 พฤษภาคม 2006 06:34 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 15:01 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

เป็นประโยชน์มากเลยครับ อาจารย์น่าจะออกแบบบันทึกสำหรับวงเรียนรู้อื่นๆด้วย ตั้งแต่วงคุณเอื้อ คุณอำนวยอำเภอ และคุณอำนวยตำบล ถ้าทุกอำเภอเปิดBlogเราจะได้คลังความรู้จำนวนมากและหากทุกตำบลเปิดBlogก็จะเรียนรู้กันอย่างขนานใหญ่  แต่วัฒนธรรมไทยไม่ค่อยชอบบันทึก ชอบพูดมากกว่า อันนี้เป็นข้อจำกัดในการเรียนรู้ผ่านICTมากเลยครับ

 

   ดีมากเลยครับ จะคอยติดตามเพื่อศึกษารูปแบบสำหรับนำไปปรับใช้ด้วยคนนะครับ
พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท