รักวลัยลักษณ์ (4) กับพลังการเรียนรู้แบบเคออดิก


เล่าอย่างมีศิลปะ เปิดเผยและจริงใจ เรียนรู้ในมิติที่ซ่อนเร้นอย่างสนใจใคร่รู้

ผมประสานกับอู๊ด(บรรจงวิทย์)เรื่องประชุมทีมคุณอำนวย แต่เวลากระชั้นและฟังว่าเป้าหมายของการจัดสัมมนาที่เขื่อนเชี่ยวหลาน 4-6 ก.ย.นี้ เป็นการทำความเข้าใจกระบวนการจัดการความรู้เป็นหลัก ไม่หวังผลในส่วนของเนื้อหามากนัก เป้าหมายจึงตั้งไว้กว้าง ๆ จะอะไรนั้นอู๊ดบอกว่าจะประสานกับคุณธวัชอีกที เลยนัดหมายทีมคุณอำนวยเจอกันในวันที่ 4 ตอนเย็นทีเดียว
ผมเจอะเจอปรากฏการณ์อย่างนี้มาหลายครั้งแล้วคือ เราเริ่มจากชุดเครื่องมือที่มี input - outputชัดเจน ผมจึงเปรียบเหมือนเล่มเกมคือ ต้องเข้าใจเป้าหมายในการเล่นและกติกาของเกม กอล์ฟก็แบบหนึ่ง ฟุตบอลก็อีกแบบหนึ่ง ใครไม่เข้าใจก็เล่นไม่สนุก แม้แต่ดูก็ไม่สนุก คนส่วนมากย่อมไม่เข้าใจเกมใหม่ ๆ การจัดการความรู้ก็เป็นเกมอีกชนิดหนึ่งเพื่อใช้ฝึกฝน/พัฒนาตนเองและองค์กร
ใครอ่านคู่มือการเล่นปิงปอง คงรู้ว่าลงเล่นกับโค้ชจะง่ายกว่ากันเยอะเลย
เกมจัดการความรู้เป็นวิถีปกติของการทำงานในปัจจุบันที่ต้องใฝ่เรียนรู้ พัฒนาตนเอง เป็นเกม   มองตน มิใช่มองนอกตน
ไม่ใช่ระดมความรู้ความเห็นเพื่อสร้างมาตรฐานที่ดีเลิศ
แต่เริ่มจากประสบการณ์การทำงานอย่างมีเป้าหมายของผู้เข้าร่วมแต่ละคน
ทำอะไร เพื่ออะไร และทำอย่างไรที่ก่อให้เกิดความเปลี่ยนแปลงอย่างน่าชื่นชมทั้งต่อตนเองและ หน่วยงาน
เล่าให้เพื่อนในกลุ่มฟังอย่างมีศิลปะ อย่างเปิดเผยและจริงใจ
ขณะเดียวกันผู้ฟังก็ต้องมีศิลปะในการฟังด้วยคือฟังอย่างตั้งใจ เรียนรู้ในมิติที่ซ่อนเร้นอย่างสนใจใคร่รู้
ศิลปะในการฟังยากยิ่งกว่าศิลปะในการเล่าเรื่องที่ดี
จากเรื่องเล่าในวิถีคิด วิถีการทำงานของแต่ละคนในกลุ่มซึ่งมีทิศทางแต่ไร้ระเบียบ จะถูกนำมาจัดแต่งให้เป็นระบบระเบียบ เพื่อก่อรูปแก่นแกนของความรู้จากเรื่องราวที่วิจิตรพิสดารบรรดามี ความรู้ฝังลึกที่ไร้ระเบียบจะถูกถ่ายเทเรียนรู้อยู่ภายในกลุ่ม ขณะเดียวกันก็ได้รับการขัดเกลาให้กลายเป็นแก่นความรู้ที่เป็นระบบระเบียบ
การเรียนรู้จากแก่นความรู้ที่เป็นระบบระเบียบโดยนำเสนอตัวอย่างเรื่องเล่าเร้าพลังระหว่างกลุ่มย่อย จะช่วยเสริมพลังการเรียนรู้ในวงเรียนรู้ทั้งหมด และอาจจะนำมาปรับแต่งเป็นแก่นความรู้ที่เป็นระบบโดยเชื่อมโยงกับฐานที่มาจากประสบการณ์การทำงานอย่างมีเป้าหมายซึ่งก่อเกิดผลอย่างน่าชื่นชมของแต่ละคน
ผมเข้าใจว่า นี่แหละเป็นกระบวนการเรียนรู้แบบเคออดิก แบบเดียวกับที่ได้จากการเดินแอร์โรบิคในตอนเช้าและเย็น ซึ่งแต่ละคนย่อมมีท่วงทำนองในการสร้างพลังการเรียนรู้ของตนเอง

หมายเลขบันทึก: 3074เขียนเมื่อ 26 สิงหาคม 2005 14:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 11 กุมภาพันธ์ 2012 13:57 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)

เรียน คุณภีมที่เคารพ  ในช่วงเช้าของวันที่1/9/2548 คุณธวัชได้ประสานงานขอข้อมูลความคืบหน้าในการเตรียมการจัดกิจกรรมแลกเปลี่ยนเรียนรู้ฯ ในวันที่ 4-6 /9/48 เช่น การเตรียมวัสดุอุปกรณ์ต่างๆ  การเดินทางของคุณธวัช และคุณอุรพิณ(กำหนดพบกันที่เขื่อนเชี่ยวหลาน / รับประทานอาหารค่ำร่วมกันเวลาประมาณ 18.30-19.30น.)  และกำหนดประชุมปรึกษาหารือร่วมกับคุณภีม คุณธนิต และทีม FA เวลาประมาณ 21.00น. ค่อนข้างดึกไปหน่อย  เนื่องจาก FA บางท่านต้องเข้าร่วมกิจกรรมกลุ่มสัมพันธ์กับคณะของคุณกิจ    โดยคุณธวัชจะชี้แจงและทำความเข้าใจในกระบวนการทำ KM/KS ก่อน แล้วให้ทีม FA จากม.วลัยลักษณ์ ช่วยกันกำหนด KVหรือกำหนดเรื่องที่จะให้คุณกิจเล่า/ถ่ายทอดความรู้และทักษะประสบการณ์ อาจจะรวมถึงพฤติกรรมการทำงานและคุณลักษณะส่วนบุคคลที่จำเป็นในการปฏิบัติงานของแต่ละคน    เพื่อไม่ให้เรื่องเล่ากว้างมากเกินไปและจะทำให้ได้ KA ขึ้นมาในระดับหนึ่งก่อน   เมื่อคุณกิจได้เข้าใจในกระบวนการ/วิธีการทำ KM แล้ว  จึงค่อยๆขยายผลไปสู่การกำหนด KV ที่แคบลงในวิธีการปฏิบัติงานในแต่ละด้านต่อไป เช่น  การจัดเก็บเอกสารที่ดี   การจัดเตรียมห้องปฏิบัติการทางวิทยาศาสตร์  เป็นต้น 

      ในโครงการนี้ จะมีคุณกิจเข้าร่วม 47 คน (คุณธวัช ขอให้ผมแบ่งออกเป็น 5 กลุ่ม กลุ่มละ9-10คน โดยให้คละกันทุกหน่วยงาน  ขณะนี้ผมได้ขอให้คุณนมิตา ซึ่งดูแลเรื่องนี้อยู่เป็นผู้ดำเนินการ  โดยจะรีบส่งข้อมูลไปยังคุณธวัช ต่อไป  นอกจากนี่จะมีอีก 1 กลุ่มคือกลุ่มของคุณเอื้อ(หัวหน้าหน่วยงานที่ไปสังเกตการณ์)ประมาณ 10 คน

      จึงประสานงานมายังคุณภีมเพื่อรับทราบความคืบหน้า รวมถึงอาจจะประสานงานเพิ่มเติมตามความเหมาะสมต่อไป โดยผมต้องขอออกตัวก่อนว่า  ผมยังเป็นมือใหม่หัดขับ km ไม่รู้รายละเอียด/วิธีการมากนัก  คงต้องฝากตัวไว้กับคุณภีม และคุณธวัช ด้วยครับ   ขอบคุณมากครับ

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท