"วัฒนธรรมนำชีวิต" มรดกทางวัฒนธรรมอาจสูญสิ้นเพราะ เศรษฐกิจทุนนิยม


"ทุน" และ "ผลประโยชน์" ทำลายมรดกทางวัฒนธรรม

"การท่องเที่ยวแบบล้างผลาญ" "เอาวัฒนธรรมมาขายเพื่อเงินตรา" "ชีวิตวัฒนธรรมไม่ใช่ศิลปะวัฒนธรรม" "บ้านเกิดเมืองนอนเป็นชาติ" "มรดกวัฒนธรรมคนขุนยวมไม่ใช่มรดกโลก" "ระบบราชการสร้างความเหลื่อมล้ำในสังคม" ผมนำคำพูดของนักวิชาการด้านประวัติศาสตร์และโบราณคดีระดับชาติดร.ศรีศักดิ์ วัลลิโภดม ที่ได้กล่าวไว้ในคราวการจัดเสวนา "คนขุนยวมกับประวัติศาสตร์และการจัดการมรดกทางวัฒนธรรม" เมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2552 ที่ผ่านมา มากล่าวอ้าง เพื่อให้ผู้รักวัฒนธรรมทั้งหลายได้ตระหนักรู้ คิดวิเคราะห์ไตร่ตรองอย่างถ้วนถี่

ท่ามกลางความขัดแย้งของผู้คน เมื่อ "ทุน" และผลประโยชน์เข้ามามีบทบาทในท้องถิ่น นับวันจะสูงขึ้น รุนแรงขึ้น ทำลายรากเหง้าทางวัฒนธรรมที่เคยมีความรัก ความสามัคคี เอื้ออาทรต่อกัน แบบค่อยๆกร่อนไปทีละน้อยๆ น่าใจหาย ทั้งๆที่สถานการณ์เช่นนี้ไม่เคยปรากฏมาก่อนในจังหวัดแม่ฮ่องสอน พอระบบเศรษฐกิจ "ทุนนิยม" เข้ามาจัดการ รุกล้ำโดยเฉพาะทุนต่างชาติ ปัญหาก็เลยเกิดขึ้นแบบไม่รู้ตัว

ท่านดร.ศรีศักดิ์ได้เตือนสติชาวขุนยวมว่า บ้านเกิดเมืองนอนเป็นชาติ เราต้องศึกษาเรียนรู้ประวัติศาสตร์และจัดการมรดกทางวัฒนธรรมของเราเอง อย่าให้เกิดลักษณะ "การท่องเที่ยวแบบล้างผลาญ" ซึ่งเคยเกิดมาแล้วในบางอำเภอ ต้องคำนึงถึงคำว่า "ชีวิตวัฒนธรรม"ไม่ใช่เพียงศิลปะวัฒนธรรมซึ่งเป็นเรื่องของกระทรวงวัฒนธรรม มันแคบมาก ประวัติศาสตร์ท้องถิ่นคือประวัติศาสตร์สังคม ความเป็นสังคมวัฒนธรรมต้องนำหน้าและสำคัญกว่าคำว่า เศรษฐกิจและการเมือง

ที่ผ่านมาเราพัฒนาด้านเศรษฐกิจ โดยชูการท่องเที่ยวเป็นหลัก แบบไม่ระมัดระวัง จึงต้องสูญเสียรากเหง้าทางวัฒนธรรมไป ต้องสนับสนุนและจัดการ การท่องเที่ยว"แบบยั่งยืน" ซึ่งไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะคุณภาพด้านจริยธรรมของคนไทยยังไม่ถึงพร้อมเฉกเช่นชาวเอเซียด้วยกันในบางประเทศ

การก้าวเข้าสู่คำว่า "มรดกโลก" ก็ยังเป็นฐานคิดที่ผิด มรดกของเรา มรดกของท้องถิ่นไม่ใช่มรดกโลก (ดูตัวอย่างเรื่องเขาพระวิหาร) ต้องรักและหวงแหนอย่าให้ทุนต่างชาติเข้ามาครอบงำ

การตระหนักรู้ ภาคภูมิใจ หวงแหน แล้วร่วมมือกันเพื่อจัดการกับมรดกทางวัฒนธรรมของเราอย่างมีส่วนร่วมจึงเป็นหน้าที่ของพวกเรา เป็นไปตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ อย่าตกเป็นเครื่องมือของทุนและผลประโยชน์ใดๆ บางครั้งก็ต้องตัดสินใจเลือกเอาระหว่างทาง 2 แพร่ง นั่นก็คือ มรดกทางวัฒนธรรม หรือ เศรษฐกิจทุนนิยม มิเช่นนั้นเราอาจสูญเสียทั้งสองอย่างโดยไม่ได้อะไรเลย เพราะเมื่อไหร่ก็ตามที่ต่างชาติเข้ามาครอบครอง จัดการในระบบเศรษฐกิจของเรา คนท้องถิ่นก็เป็นได้เพียงลูกจ้างรายวัน รายเดือน หรืออย่างมากก็แค่ผู้จัดการ ส่วนกำไรที่เป็นกอบเป็นกำก็ตกอยู่ในมือของชาวต่างชาติทั้งหมด แถมยังต้องสูญเสียมรดกทางวัฒนธรรมอย่างย่อยยับอีกด้วย คิดไตร่ตรองดูให้ดีนะครับ

อาจารย์เก

หมายเลขบันทึก: 307331เขียนเมื่อ 21 ตุลาคม 2009 10:22 น. ()แก้ไขเมื่อ 13 มิถุนายน 2012 20:33 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (2)

มรดกทางวัฒนธรรมเป็นเครื่องชี้วัดความเป็นสังคม เมื่อทุนนิยมเข้ามา ธุรกิจจะมุ่งผลกำไร มากกว่าความเป็นคน

เรียนคุณครูพร

ขอบคุณสำหรับตำสอนที่ดีๆ ผมอยากบอกให้พี่น้องขุนยวมได้เข้าใจเช่นนั้น แต่..บางครั้งในเวทีผมก็ไม่สามารถพูดอะไรได้มาก นอกจากพูดหลักการให้เขาไปตีความเอาเอง ขอบคุณอีกครั้งครับ

อาจารย์เก

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท