เรียนรู้เรื่อง “ภาวะผู้นำกับการขับเคลื่อนองค์กร” ด้วยภาพยนตร์เรื่อง “อนุบาลเด็กโข่ง”


เป็นหนังที่ให้แง่คิดปรัชญาการทำงาน การดำเนินชีวิตได้ดีมาก ผมคิดว่าน่าจะใช้หนังเรื่องนี้ไปใช้อบรมพนักงานในองค์กรได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเรื่อง ภาวะผู้นำและการขับเคลื่อนองค์กร

หนังเรื่องนี้ดูเผินๆ อาจจะเป็นหนังใสๆสำหรับเด็ก สนุกสนานเรื่องหนึ่ง แต่ถ้าเราดูแล้วทำการวิพากษ์ตามแนวทางการบริหารองค์กรจะพบว่า ตัวหนังอุดมไปด้วยปรัชญาต่างๆ ให้ตีความมากมายเลยทีเดียว โดยมี “โอม” นักเรียนโข่งตัวใหญ่ รูปร่างหน้าตาหน้าเกลียด ชั้นอนุบาล 3 ของโรงเรียนอนุบาลวันทา เป็นตัวละครหลักในการเดินเรื่อง โอมต้องทำหน้าที่เป็นหัวหน้าแก๊งในการบริหารจัดการองค์กร ขยายอาณาจักรปราบแก๊งอื่นๆให้ครอบคลุมไปทั้งตำบล ซึ่งต้องพบกับปัญหาและอุปสรรคต่างๆ ทั้งภายในและภายนอก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการจัดการบริหารกฎเกณฑ์ เช่น การห้ามผู้หญิงเข้าแก๊ง การห้ามมีแฟน เรื่องการสร้างความเชื่อถือ ศรัทธาให้แก่สมาชิกภายในแก๊ง

 

ลักษณะผู้นำของโอมในช่วงแรกของเรื่อง เปรียบเหมือนผู้นำยุคอุตสาหกรรมเก่าที่มีลักษณะของการใช้อำนาจเผด็จการในการปกครอง ใช้กำลังตัดสินใจเด็ดขาด ปกครองด้วยความกลัว ถือตนเองเป็นใหญ่ และมีความเชื่อที่ปลูกฝังจากพี่อู๊ด อดีตสมาชิกแก๊งคิงคองรุ่น 4 ว่าต้องทำให้ลูกน้องเกรงกลัว อยู่ภายใต้อำนาจของหัวหน้าแก๊ง พี่อู๊ดเปรียบเหมือนคนเก่าแก่ขององค์กรที่ติดอยู่กับภาพความสำเร็จเก่าๆ จนกลายเป็นกบนอกกะลา ไม่มีการเรียนรู้หรือพัฒนาอีกต่อไป

 

“จอน” และ “ด.ญ. จำเนียร” เปรียบเหมือนคนรุ่น Gen X ในองค์กร ที่พยายามแสดงศักยภาพของตนในการพัฒนาให้ถึงจุดหมายที่ตนได้วางไว้ ทุ่มเทให้กับองค์กร แต่ก็พร้อมที่จะเปลี่ยนงานเมื่อเห็นว่ามีที่อื่นๆดีกว่า

 

ลักษณะผู้นำของจำเนียร เป็นตัวอย่างที่ดีของผู้นำในยุค Gen X ที่ใช้สติปัญญาในการแก้ปัญหา เช่น การปราบเด็กโข่ง (โหด) อย่างน้องลูกหมี โดยยืมมือจากครูสอนคณิตศาตร์ หรือการใช้จดหมาย back mail กับหัวหน้าแก๊งอื่นๆในการขยายอาณาจักร เป็นต้น  จำเนียรยังได้สร้างความศรัทธาให้ทีมงานด้วยปัญญาบารมี ไม่กดขี่ข่มเหงลูกน้อง เช่น จากตอนที่เล่นฟุตบอลด้วยกัน บทบาทของโอมจะต้องเป็นผู้ชนะเท่านั้น เมื่อเปรียบการยิงประตูของโอมและจำเนียรจะพบว่า หลังจากที่โอมยิงประตูแต่ผู้รักษาประตูรับไว้ได้ โอมจะใช้อำนาจของหัวหน้าแก๊งให้ผู้รักษาประตูต้องจำยอมทำให้ลูกเป็นประตู แต่ในสถานการณ์เดียวกันสำหรับจำเนียรแล้ว เมื่อผู้รักษาประตูรับไว้ได้จะแสดงการให้กำลังใจแสดงความยินดีกับเขา

 

ตัวอย่างความเก่งกาจของจำเนียรได้สร้างความศรัทธาให้กับทีมงาน อีกหลายเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นการขยายอาณาจักรยึดอำนาจจากแก๊งอื่นๆ การช่วยเหลือเปี๊ยกในการไปทวงคืนจักรยานที่ถูกขโมยไป ทำให้โอมหวั่นไหว และกังวลในความสั่นคลอนของอำนาจตน จนกระทั่งต้องเสียตำแหน่งผู้นำให้กับจำเนียรไปในที่สุด สำหรับตัวผมเองคิดว่าสไตล์การปกครองของจำเนียรอาจจะมีข้อบกพร่องอยู่บ้างตรงที่มีความไฟแรงเกินไป การตัดสินใจโดยไม่เห็นหัวของหัวหน้า ความมั่นใจตัวเองสูง ซึ่งสักวันหนึ่งก็อาจจะมีคนแบบจำเนียรอีกคนขึ้นมาวัดรอยเท้าได้ ทำให้การเป็นผู้นำต้องต่อสู้ดิ้นรนตลอดเวลา

 

ในตอนท้ายของเรื่องพบว่าโอมได้พัฒนาความเป็นผู้นำของเขาขึ้นมา ตามแบบฉบับของผู้นำในอนาคต คือ นำแบบไม่นำ นำแบบเนียน นุ่มลึก โดยใช้ Keyword ของคำว่า “เพื่อน” ที่น้าหมานและพี่อู๊ดได้สลักไว้ที่ต้นไม้ที่โอมได้ค้นพบระหว่างการปลีกวิเวกหลังการสูญเสียอำนาจ โดยก่อนหน้านั้น พี่อู๊ดได้ปลูกฝังไว้ว่าน้าหมานเป็นคนขี้ขลาด แต่ตอนนี้โอมได้เข้าใจความรู้สึกของน้าหมานแล้ว โอมยังได้ค้นพบความหมายของคำว่าเพื่อนอีกจาก คู่ของรองเท้าที่อยู่เป็นคู่ได้ แต่มีลักษณะที่ไม่เหมือนัน คือ ความหมายของคำว่า “แตกต่าง แต่ไม่แตกแยก” “แสวงจุดร่วม สงวนจุดต่าง”เมื่อโอมนำเอาแนวคิดนี้กลับไปปฏิบัติกับผู้เกี่ยวข้องกับชีวิตของเขา จึงทำให้โอมกลับมาใช้ชีวิตได้อย่างมีความสุขอีกครั้ง แนวคิดเรื่องผู้นำในลักษณะนี้ทำให้ผมนึกถึง หนังสือ “ผู้นำกับวิทยาศาสตร์ใหม่” ที่ มาร์กาเร็ต เจ. วีตเลย์ ได้เขียนไว้ โดยการนำเอาทฤษฎีไร้ระเบียบมาเชื่อมโยงกับองค์ความรู้ของการบริหารองค์กร ที่มีแนวคิดดูเหมือนจะยุ่งเหยิงสะเปะสปะไร้ทิศทาง ไม่สมดุล คาดเดาไม่ได้ แต่ความจริงแล้วภาพรวมของมันคือความสวยงาม ที่มีระเบียบ และสมดุล  บทบาทผู้นำของโอมในตอนจบของเรื่องนั้นดูเหมือนไม่ใช่ผู้นำ แต่จริงๆแล้วเขามีความเป็นผู้นำที่เต็มเปี่ยมด้วยความสวยงามและกลมกลืนอย่างที่สุด

นอกจากเรื่องภาวะผู้นำและการขับเคลื่อนองค์กรแล้ว หนังเรื่องนี้ยังมีมุมมองการเรียนรู้ในด้านอื่นๆ อีก เช่น เรื่องการจับประเด็นการสื่อสาร จากตอนที่เปี๊ยกพยายามจะบอกว่าจักรยานของเขาถูกขโมยไป แต่สื่อสารไม่ตรงประเด็น ในตอนนี้โอมยังได้แสดงภาวะผู้นำในการจับประเด็นการสื่อสารว่าลูกน้องมีปัญหาอะไรอีกด้วย  เรื่องปรัชญาการดำเนินชีวิตที่ผู้สร้างตั้งใจให้ “ออม” เพื่อนสาวของโอมถามคำถามกับโอมที่ทำให้ผู้ชมต้องคิดตามอยู่บ่อยครั้ง นั่นคือคำถามที่ว่า “ชีวิตคืออะไร” ทำให้นึกถึงหนังเรื่อง Final Score ที่มีตัวละครตัวหนึ่งถามคำถามกับเพื่อนๆ และครูว่า “ความรู้คืออะไร” ด้วย

 

หนังเรื่องนี้เป็นหนังในดวงใจของผมอีกเรื่องหนึ่ง ที่ให้แง่คิดปรัชญาการทำงาน การดำเนินชีวิตได้ดีมาก ผมคิดว่าน่าจะใช้หนังเรื่องนี้ไปใช้อบรมพนักงานในองค์กรได้ดีทีเดียว โดยเฉพาะเรื่อง ภาวะผู้นำและการขับเคลื่อนองค์กร และน่าจะใช้เป็นอีกทางเลือกหนึ่งของการใช้หนังเป็นสื่อการอบรมเพิ่มเติมจากที่ก่อนหน้านี้ผมเคยใช้หนังเรื่อง Master & Commander (http://gotoknow.org/blog/attawutc/286837) อบรมพนักงานในเรื่องภาวะผู้นำมาแล้ว ซึ่งหนังเรื่องอนุบาลเด็กโข่งจะใช้เวลาน้อยกว่าประมาณครึ่งชั่วโมง

 

ภาพและข้อมูลบางส่วนจาก http://www.thaicinema.org/kits130dekkhong.asp และ http://www.suan-spirit.com/products_book_more.asp?prod_type=book&code=P-SM-0068

หมายเลขบันทึก: 307079เขียนเมื่อ 20 ตุลาคม 2009 09:08 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:44 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-ไม่ดัดแปลงจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (9)

     *  เพิ่งเคยพบครับ ในเรื่องของหนังไทย  ที่เป็นตัวอย่างในเรื่องภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนองค์กร

    *  ผมว่าถ้าหนังไทย  สร้างเรื่องแบบนี้เพิ่มขึ้นมาสักหน่อย ก็จะดีมากครับ

                   ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

     *  เพิ่งเคยพบครับ ในเรื่องของหนังไทย  ที่เป็นตัวอย่างในเรื่องภาวะผู้นำในการขับเคลื่อนองค์กร

    *  ผมว่าถ้าหนังไทย  สร้างเรื่องแบบนี้เพิ่มขึ้นมาสักหน่อย ก็จะดีมากครับ

                   ขอบคุณสำหรับสาระดีๆครับ

ขอบคุณท่าน อ. Small man ที่มาเยี่ยมเยือนกันครับ ผมว่ายังหนังไทยหลายเรื่องที่ให้แง่คิดดีๆครับ แม้แต่หนังที่คิดว่าเป็นหนังตลก หนังผีไร้สาระ มันก็ยังมีแง่คิดให้เรียนรู้ได้เช่นกันครับ เช่น หนังเรื่องหลวงพี่กับผีขนุน ที่ให้แง่คิดด้านธรรมต่างๆ เช่น เกิดมาเพื่ออะไร บวชเพื่ออะไร ชีวิตคืออะไร เป็นต้น

ขอบพระคุณครับ จะไปหามาเรียนรู้ ครับ

ขอบคุณท่าน อ. JJ ที่เข้ามาเยี่ยมเยือนกันครับ

ขอบคุณมากครับสำหรับการถอดบทเรียน ผมคงต้องหามาดูบ้างแล้วครับ

สาระดีมากเลยคับ

ขอบพระคุณมากคับ

เข้ามาเรียนรู้ค่ะและได้สาระดีค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท