เพิงผาถ้ำลอดในฐานะห้องเรียนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม-ตอนที่ 1


เพิงผาถ้ำลอดเป็นห้องเรียนทางธรรมชาติและวัฒนธรรมที่โดดเด่นของอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน

เพิงผาถ้ำลอดในฐานะห้องเรียนทางธรรมชาติและวัฒนธรรม ตอนที่ 1

 

หากท่านมีโอกาสได้ไปเยือนถ้ำลอด  ในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอนในช่วงวันหยุดหรือหน้าหนาว  อย่าลืมแวะไปชมเพิงผาถ้ำลอด ก่อนเข้าไปยังถ้ำลอด  เพราะเป็นแหล่งโบราณคดีสมัยก่อนประวัติศาสตร์ที่สำคัญ  มีร่องรอยการอยู่อาศัยของคนโบราณตั้งแต่ 32,380 ปีมาแล้ว  มีชั้นทับถมหลายหมื่นปี

ข้อมูลที่นำเสนอนี้เป็นส่วนหนึ่งของงานวิจัยเรื่องโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน นำความรู้นี้มาแบ่งปันกัน  โดยแบ่งเป็นตอนๆ  อาจจะขาดหายไปบ้างเมื่อเปิดเทอม

 

 แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด  ตั้งอยู่ภายในสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด  ในเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำปายตอนเหนือ  ในท้องที่ตำบลถ้ำลอด  อำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอน ซึ่งเป็นถ้ำขนาดใหญ่ที่มีลำน้ำลางไหลผ่าน  มีหลักฐานทางโบราณคดีประเภทโลงไม้และเป็นสถานที่ท่องเที่ยวที่สำคัญของจังหวัดแม่ฮ่องสอน  และเคยมีการสำรวจโดยโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ)  กรมศิลปากรเมื่อพ.ศ. 2529 โบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด  เป็นเพิงผาขนาดเล็ก  อยู่ภายในบริเวณของศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอด   ใกล้กับทางเข้าของศูนย์ศึกษาฯ  ห่างจากเพิงผาถ้ำลอดประมาณ 250 เมตร  สูงจากระดับน้ำทะเลปานกลางประมาณ 640 เมตร  ตั้งอยู่ตำแหน่งพิกัดทางภูมิศาสตร์ที่ 47QMB247636 (แผนที่ทางทหารระวาง 4648II  ลำดับชุด L7017  พิมพ์ครั้งที่ 2  RTSD  มาตราส่วน 1:50,000)

 

ประวัติการค้นคว้าในอดีต    

แหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดได้มีการสำรวจตั้งแต่การดำเนินของโครงการการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกับถ้ำ จังหวัดแม่ฮ่องสอน เมื่อปี พ.ศ. 2542 แต่การทำงานในครั้งนั้นยังไม่ได้เก็บข้อมูลและรายงานอย่างเป็นทางการ จนกระทั่งโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนเข้ามาทำการสำรวจและทำการขุดค้นเมื่อปี พ.ศ. 2545 ในหัวข้อนี้จึงเป็นการทบทวนการศึกษาในอดีตที่ผ่านมาเพื่อเป็นการประเมินความรู้โดยรวมในพื้นที่ศึกษาแห่งนี้

ความเป็นมาของพื้นที่ในบริเวณเพิงผาถ้ำลอด  สมศักดิ์  เลายี่ปา อดีตหัวหน้าสถานีพัฒนาและส่งเสริมการอนุรักษ์สัตว์ป่าถ้ำลอด ได้เขียนประวัติความเป็นมาของถ้ำน้ำลอด ไว้ดังนี้

“ถ้ำน้ำลอด เป็นชื่อของถ้ำขนาดใหญ่ถ้ำหนึ่งของจังหวัดแม่ฮ่องสอน ได้ชื่อเรียกตามลักษณะของถ้ำที่มีลำน้ำไหลลอดผ่านทะลุเขา อาณาบริเวณของถ้ำน้ำลอดแต่เดิม เป็นเขตป่าสงวนแหล่งชาติป่าแม่น้ำฝั่งขวาตอนบน    ต่อมาเมื่อมีประกาศจัดตั้งแม่ปายฝั่งขวาตอนบนบางส่วนเป็นเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าในปี พ.ศ. 2515 

ถ้ำน้ำลอด  จึงได้รับการผนวกเข้าไว้อยู่ในพื้นที่ของเขตรักษาพันธุ์สัตว์ป่าลุ่มแม่น้ำปายด้วยภายหลังเส้นทางคมนาคมระหว่างจังหวัดแม่ฮ่องสอน กับอำเภอปาย  ได้รับการพัฒนาดีขึ้น  ชุมชนที่อาศัยอยู่บริเวณใกล้ถ้ำน้ำลอด  จึงได้ขยายใหญ่ขึ้นเป็นหมู่บ้านพัฒนาตนเอง “บ้านหน้าถ้ำ”  ในปี พ.ศ. 2520  บริเวณหมู่บ้านตั้งอยู่ห่างจากตัวถ้ำเพียง 1 กิโลเมตร  และได้มีพระภิกษุจากวัดเจดีย์หลวง จังหวัดเชียงใหม่  เข้ามาเผยแพร่พระพุทธศาสนาและก่อตั้งสำนักสงฆ์ที่บริเวณปากถ้ำด้านน้ำไหลออก  ซึ่งปัจจุบันคือสำนักสงฆ์ธรรมจาริกคูหาสวรรค์คีรีเขต  ต่อมาเมื่อปี พ.ศ. 2521  ถึง พ.ศ. 2522  จังหวัดแม่ฮ่องสอนได้มีการพัฒนาตัดเส้นทางจากบ้านสบป่องเข้าไปถึงบ้านหน้าถ้ำ  ระยะทางประมาณ 8 กิโลเมตร  การเดินทางไปถ้ำน้ำลอดจึงสะดวกขึ้น.…ได้พิจารณาจัดตั้งเป็นศูนย์ศึกษาธรรมชาติและสัตว์ป่าถ้ำน้ำลอดปี พ.ศ. 2533…” 

ในปี พ.ศ. 2529 เควิน เครย์แมน (Kevin Kierman) จอนห์ สปีร์ (John Spies) และ จอนห์ ดังคลีย์ (John Dunkley) นักสำรวจถ้ำชาวออสเตรเลียได้สำรวจเพื่อจัดทำฐานข้อมูลถ้ำ   ได้สำรวจถ้ำที่เป็นแหล่งโบราณคดี 31 แหล่ง ซึ่งรวมทั้งถ้ำลอดด้วย นอกจากนี้ยังได้ทำการวิเคราะห์หลักฐานทางโบราณคดีเบื้องต้น

สำหรับการศึกษาทางโบราณคดี ณ แหล่งโบราณคดีถ้ำลอดโดยนักโบราณคดีชาวไทย  มีการสำรวจเป็นครั้งแรกโดยกรมศิลปากรตามโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) เมื่อปี พ.ศ. 2529 นำโดยนายบวรเวท รุ่งรุจี ซึ่งเป็นหัวหน้าโครงการฯ ในขณะนั้น ได้สำรวจและบันทึกหลักฐานทางโบราณคดีภายในถ้ำลอด พร้อมกับมีการเคลื่อนย้ายโลงไม้จำนวน 1 โลง (2 ฝา) กลับมาที่พิพิธภัณฑ์สถานแห่งชาติ จังหวัดเชียงใหม่

ในปี พ.ศ. 2530  นายสถาพร  ขวัญยืน  หัวหน้าโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ) คนต่อมาได้สำรวจแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดเพิ่มเติม  การสำรวจทั้งสองครั้งโดยกรมศิลปากรได้สำรวจเฉพาะภายในถ้ำลอดบริเวณที่พบโลงไม้เท่านั้น และในปีเดียวกันนายสุรศักดิ์ อนันต์เวทยานนท์ นักศึกษาภาควิชาโบราณคดี  คณะโบราณคดี  มหาวิทยาลัยศิลปากร  ได้ทำการศึกษาข้อมูลเบื้องต้นจากโครงการโบราณคดีประเทศไทย (ภาคเหนือ)  เป็นสารนิพนธ์ตามหลักสูตรศิลปศาสตรบัณฑิต (โบราณคดี) เรื่อง “การศึกษารูปแบบเรือขุด  ที่พบบริเวณ วนอุทยานถ้ำน้ำลอด  ตำบลสบป่อง อำเภอเมือง  จังหวัดแม่ฮ่องสอน”  ภายใต้การควบคุมของ อาจารย์รัศมี  ชูทรงเดช  สารนิพนธ์ของสุรศักดิ์  อนันต์เวทยานนท์  นับเป็นงานชิ้นแรกที่ศึกษาเกี่ยวกับเรื่องโลงไม้จากแหล่งโบราณคดีโบราณคดีถ้ำน้ำลอดใน จังหวัดแม่ฮ่องสอน อย่างจริงจัง    โดยทำการศึกษาเปรียบเทียบกับโลงไม้ที่พบในจังหวัดกาญจนบุรี

ปี พ.ศ. 2538 มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ได้จัดทำรายงานการศึกษาเพื่อจัดทำแผนการจัดการอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมธรรมชาติ บริเวณถ้ำน้ำลอด เสนอต่อสำนักนโยบายและแผนสิ่งแวดล้อม โดยในด้านโบราณคดี  ผศ. ม.ล. สุรสวัสดิ์ สุขสวัสดิ์ และนายจิรศักดิ์ เดชวงศ์ญาได้ทำการศึกษาหลักฐานทางโบราณคดีภายในถ้ำลอด เพื่อเป็นข้อมูลพื้นฐานในการจัดการพัฒนาแหล่งโบราณคดีถ้ำลอด ดังนั้น การดำเนินงานในครั้งนี้จึงยังคงเป็นการสำรวจเฉพาะถ้ำโลงไม้เท่านั้น ไม่ได้มีการสำรวจบริเวณโดยรอบของแหล่งโบราณคดีถ้ำลอด

ปี พ.ศ. 2537-2538   ปีเตอร์  เกรฟ (Peter Grave) ทำการศึกษาวิจัยสำหรับวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก มหาวิทยาลัยซิดนีย์  ประเทศออสเตรเลีย  ได้เจาะตัวอย่างไม้จากแหล่งโบราณคดีถ้ำลอดเพื่อนำไปกำหนดอายุของโลงไม้   เป็นค่าอายุทางวิทยาศาสตร์ที่สำคัญสำหรับโครงการฯ ในการศึกษาเปรียบเทียบรูปแบบของโลงไม้และกำหนดอายุเบื้องต้นของแหล่งโบราณคดี คือ1450±110 และ 1240± 90 ปีมาแล้ว (BP.)

ปี พ.ศ. 2541-2542 โครงการสำรวจและจัดทำระบบฐานข้อมูลเกี่ยวกัยถ้ำจังหวัดแม่ฮ่องสอน มีผศ. ดร. สิทธิพงศ์       ดิลกวณิช   เป็นหัวหน้าทีมวิจัย  ด้านโบราณคดี ดำเนินงานโดยผศ. ดร. รัศมี ชูทรงเดช ได้ทำการสำรวจและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีในอำเภอปางมะผ้าได้เน้นการสำรวจเฉพาะแหล่งโบราณคดีถ้ำ ซึ่งมักจะเป็นแหล่งโบราณคดีประเภทที่ฝังศพในวัฒนธรรมโลงไม้    มีการสำรวจและบันทึกข้อมูลเกี่ยวกับโลงไม้ภายในถ้ำลอดเท่านั้น นอกจากนี้ได้ทำการสำรวจเบื้องต้นโดยการสำรวจโบราณวัตถุบนผิวดินของแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดแต่ไม่ได้รายงานอย่างเป็นทางการ เพราะเป้าหมายการวิจัยในโครงการดังกล่าวเน้นการสำรวจแหล่งโบราณคดีประเภทถ้ำเท่านั้น

ปี พ.ศ. 2544  โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน    ได้สำรวจแหล่งโบราณคดีบริเวณที่ราบริมน้ำ   หุบเขาและรอบๆ แหล่งโบราณคดีที่เป็นถ้ำซึ่งเคยสำรวจในปี 2541-42  ในระหว่างเดือนเมษายน-มิถุนายน 2545 เพื่อหาแหล่งที่อยู่อาศัยและแหล่งโบราณคดีประเภทอื่นๆ ที่นอกเหนือจากแหล่งโบราณคดีประเภทที่ฝังศพในวัฒนธรรมโลงไม้ และทำการสำรวจบริเวณแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอดอีกครั้งเพื่อรายงานแหล่งโบราณคดีที่พบในพื้นที่วิจัย   โดยโบราณวัตถุที่พบจากการสำรวจ ประกอบด้วย เครื่องมือหินกะเทาะและเศษภาชนะดินเผา กระจายอยู่บนผิวดิน  ดังนั้นทางโครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอ    ปางมะผ้า จังหวัดแม่ฮ่องสอนจึงคัดเลือกแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด  เป็นตัวแทนของแหล่งโบราณคดีที่น่าจะมีอายุเก่ากว่าวัฒนธรรมโลงไม้  และเป็นข้อมูลที่ดีสำหรับการอธิบายความต่อเนื่องทางวัฒนธรรม  เชื่อมโยงความสัมพันธ์ระหว่างแหล่งโบราณคดีโลงไม้ภายในถ้ำลอด  และแหล่งโบราณคดีเพิงผาถ้ำลอด

ปีพ.ศ. 2546-49  โครงการโบราณคดีบนพื้นที่สูงในอำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ระยะที่สอง  ได้ทำการวิเคราะห์โบราณวัตถุทั้งหมดที่ได้จากการสำรวจและขุดค้น  ทำให้ทราบเรื่องราวเกี่ยวกับสิ่งแวดล้อมโบราณเมื่อหลายหมื่นปี  ลักษณะของคนโบราณ  อาหารการกิน   วิถีชีวิตของคนสมัยก่อนประวัติศาสตร์

ปีพ.ศ. 2549-51  โครงการจัดการแหล่งโบราณคดีเพิงผาบ้านไร่และถ้ำลอด  อำเภอปางมะผ้า  จังหวัดแม่ฮ่องสอน  ได้ดำเนินงานในการอนุรักษ์  ดูแลและจัดกระบวนการมีส่วนร่วมของชุมชนในการดูแลแหล่งโบราณคดี  รวมทั้งเตรียมการอบรมความรู้เกี่ยวกับแหล่งโบราณคดีและวัฒนธรรมท้องถิ่นเพื่อเตรียมรับการท่องเที่ยวในอนาคต

 

หมายเลขบันทึก: 306545เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 13:54 น. ()แก้ไขเมื่อ 18 มิถุนายน 2013 20:57 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (5)

คืนความรู้สู่มวลมนุษยชาติ....เพื่อทบทวนอดีต เป็นฐานคิดในการดำรงอยู่อย่างเท่าทัน...วิถี...แห่งวิวัฒนาการ..ชื่นชมยิ่ง

ขอบคุณค่ะ ความรู้เกี่ยวกับความเป็นมาของผู้คนที่อยู่ในดินแดนประเทศไทยยังมืดมนและต้องการแนวร่วมในการสืบค้นอดีตค่ะ

อยากทราบ ความหมายของคำว่า เพิงผา นะครับ หมายถึงอะไร

เพิงผาเป็นส่วนหนึ่งของเทือกเขาหรือภูเขาหินปูน หรือหินชนิดอื่นๆ ที่หักพังลงมาจากธรรมชาติและมีลักษณะคล้างเพิงที่ใช้ป้องกันแดดกันฝนได้ คนโบราณจะเลือกพื้นที่ดังกล่าวในการพักพิงชั่วคราว เช่นเพิงผาถ้ำลอด ค่ะ

ขอบคุณสำหรับคำถามค่ะ ได้เขียนตอบข้างบนแล้วลืมลงชื่อค่ะ หากมีอะไรที่สงสัยกรุณาสอบถามมาได้เสมอค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท