เยี่ยมชมโรงเรียนประจำ (Public School) ที่ประเทศอังกฤษ


ถึงแม้ว่าโรงเรียนที่เยี่ยมชมจะมีทั้งความเก่าแก่ และขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง

เยี่ยมชมโรงเรียนประจำ (Public School) ที่ประเทศอังกฤษ

ในโอกาสที่วชิราวุธวิทยาลัยจะมีอายุครบ 100 ปีในปี 2553 นี้ โรงเรียนฯ ได้ส่งคณะผู้บริหารและครูวชิราวุธวิทยาลัยไปเยี่ยมชมโรงเรียนประจำ หรือ Public School ที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ 5 แห่งคือโรงเรียน Eton, Harrow, Rugby, Shrewsbury และ Bromsgrove  ซึ่งแต่ละโรงเรียนมีอายุประมาณ 600 ปี  เพื่อเสริมสร้างความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับโรงเรียนพับลิคสกูลของอังกฤษในยุคปัจจุบันว่ามีความเปลี่ยนแปลง และพัฒนารูปแบบการเรียนการสอน และการกำกับคณะอย่างไรทั้งนี้ ก็เพื่อที่จะนำมาใช้ในการปรับปรุงความเป็นอยู่ ตลอดจนการจัดการศึกษา ให้ทันสมัยอยู่เสมอ และทำให้วชิราวุธวิทยาลัยยังคงความเป็นโรงเรียนที่ทันสมัยอยู่เสมอ โดยเดินทางระหว่างวันที่ 21 – 27 กันยายน 2552

คณะเดินทางของวชิราวุธวิทยาลัยออกเดินทางจากกรุงเทพฯ เมื่อวันที่ 21 กันยายน 2552 เวลา 10.30 น.โดยสายการบิน Gulf Air แวะเปลี่ยนเครื่องที่บาห์เรนแล้วจึงบินต่อไปยังกรุงลอนดอน ประเทศอังกฤษ ถึงที่นั่น ประมาณ 3 ทุ่มแล้วจึงเดินทางเข้าโรงแรมที่พัก Lancaster London ซึ่งอยู่ติดกับ Hyde Park/Kensington Garden ซึ่งเป็นสวนสาธารณะใหญ่กลางกรุงลอนดอน

 

Bromsgrove School

เช้าวันที่ 22 กันยายน 2552 หลังจากจัดการเรื่องรถเช่าเรียบร้อยแล้ว คณะฯ ก็ได้ออกเดินทางขึ้นเหนือไปตามเส้นทางมอเตอร์เวย์ M40 มุ่งไปยังเมือง Bromsgrove ซึ่งอยู่ใกล้ๆ กับ Birmingham เพื่อไปเยี่ยมชม โรงเรียนบรอมส์โกรฟ (Bromsgrove School) เป็นอันดับแรก ใช้เวลาเดินทางประมาณ 2 ชั่วโมง โรงเรียนนี้มีประวัติเก่าแก่มากกว่า 600 ปี แต่ย้ายมาบริเวณที่ตั้งปัจจุบัน และเป็นโรงเรียนประจำชายล้วนเมื่อปี 1692 หรือเมื่อประมาณ 300 ปีเศษที่แล้ว ต่อมาในปี 1976 มีการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่ คือเริ่มรับนักเรียนหญิงเป็นครั้งแรก และจำนวนนักเรียนก็เพิ่มขึ้นด้วยจาก 350 คน เป็นประมาณ 800 คนในปัจจุบัน โดยมีนักเรียนหญิงและชายเท่าๆ กัน นอกจากนี้ โรงเรียนนี้ยังมีบริเวณที่เป็นส่วนของเด็กเล็ก และส่วนของชั้นอนุบาล และเตรียมอนุบาลอีกด้วย รวมนักเรียนทั้งสิ้นประมาณ 1,500 คน  สำหรับโรงเรียน Bromsgrove นี้ยังเป็นโรงเรียนเก่าของผู้เขียนอีกด้วย

ที่นั่นทางโรงเรียนได้จัดนักเรียนชั้น 6th Form (ม.5-6) มาต้อนรับและพาคณะฯ เยี่ยมชมส่วนต่างๆ ของโรงเรียน ได้แก่ อาคารเรียน ห้องสมุด หอสวดมนต์และหอประชุม ห้องรับประทานอาหาร คณะ Elmshurst ซึ่งเป็นคณะหรือหอพักเก่าของผม ตลอดจนคณะ Houseman Hall ซึ่งเป็นคณะใหม่ล่าสุด

จุดเด่นของ Bromsgrove School อยู่ที่ความก้าวหน้าในการปรับปรุงโรงเรียนอย่างต่อเนื่อง และเป็นระบบ โดยไม่ยึดติดอยู่กับอดีตอันเก่าแก่มากนัก นอกจากการเปลี่ยนจากโรงเรียนประจำชายล้วนมาเป็นโรงเรียนสหศึกษาที่มีทั้งนักเรียนประจำและไปกลับแล้ว การพัฒนาโรงเรียนยังรวมถึง              

  • การมีนักเรียนจากต่างประเทศเพิ่มมากขึ้น จากเดิมมีประมาณ 10 – 15 คน เป็นมากกว่า 300 คน
  • เปลี่ยนเวลาเรียนจาก คาบแรก 7.00 น. เป็น 9.00 น. และเรียนช่วงบ่ายยาวนานขึ้น และเปลี่ยนจากการเรียนวันเสาร์เป็นไม่มีการเรียนในวันเสาร์
  • เปลี่ยนการรับประทานอาหาร จากการให้ทุกคนรับประทานอาหารพร้อมกัน เป็นการแยกเข้าตามเวลา และรับประทานอาหารแบบบุฟเฟต์
  • เปลี่ยนวันและเวลาเข้าโบสถ์ จากเดิมที่ต้องเข้าสวดมนต์ทุกวันเป็นอาทิตย์ละ 3 ครั้ง โดยสลับเปลี่ยนกันไป
  • การก่อสร้างสิ่งปลูกสร้างที่ทันสมัยต่างๆ เช่น ห้อมสมุดใหม่ สนามกีฬาชนิดต่างๆ ห้องเรียนและห้องทดลองวิทยาศาสตร์
  • สร้าง Sixth Form Centre สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลาย (Sixth Form) ใช้เป็นที่ศึกษาค้นคว้า เตรียมงาน ตลอดจนพักผ่อนและสันทนาการ
  • แต่สิ่งที่เปลี่ยนแปลงมากที่สุดในช่วง 5 ปีที่ผ่านมาคือการซื้อโรงแรมเก่า (ซึ่งมีประวัติผูกพันกับโรงเรียนคือเคยเป็นบ้านของอดีตนักเรียนเก่าที่เป็นกวีที่มีชื่อเสียงของอังกฤษ คือ A E Houseman) มาปรับปรุงเป็นคณะ Houseman Hall โดยเป็นคณะเดียวที่มีทั้งนักเรียนหญิงและชาย และมีเฉพาะนักเรียนชั้น Sixth Form เท่านั้น บรรยากาศในคณะจึงมีความแตกต่างจากคณะอื่นๆ

 

Shrewsbury School

วันต่อมาคือวันที่ 23 กันยายน เราเดินทางต่อโดยทางรถยนต์อีกเพียงชั่วโมงเศษก็ถึงเมือง Shrewsbury ซึ่งที่นี่มักออกเสียงว่า ชโรส-เบอริ และได้เข้าเยี่ยมชม โรงเรียนชโรสเบอรี (Shrewsbury School) เป็นอันดับต่อไป         

Shrewsbury เป็นโรงเรียนที่มีประวัติใกล้ชิดกับวชิราวุธวิทยาลัยมาเป็นเวลายาวนาน โดยเป็นโรงเรียนเก่าของพระยาปรีชานุสาสน์ (เสริม ปันยารชุน) อดีตผู้บังคับการวชิราวุธวิทยาลัย และทุกๆ ปีจะมีนักเรียนวชิราวุธฯ 1 คนที่ได้ทุนพระยาปรีชานุสาสน์มาศึกษาที่นี่เป็นเวลา 1 ปี 

Shrewsbury เป็นโรงเรียนชายเก่าแก่ที่เพิ่งจะเปลี่ยนนโยบายมารับนักเรียนหญิงเมื่อปี 2008 ที่ผ่านมา ปัจจุบันมีนักเรียนหญิงในชั้น 6th Form 35 คน ส่วนนักเรียนชายมีประมาณ 800 คนเศษ ในจำนวนนี้เป็นนักเรียนที่อยู่ประจำประมาณ 600 คน มีคณะ 11 คณะและกำลังสร้างใหม่อีก 1 คณะ และที่นี่มีนักเรียนไทยรวมทั้งสิ้น 14 คน โดยเป็นชาย 13 คน ส่วนใหญ่มาจากโรงเรียน Shrewsbury International Bangkok

คณะฯ ได้เยี่ยมชมบริเวณโดยรอบของโรงเรียนฯ ที่กว้างใหญ่ และสวยงามมาก โดยเฉพาะสวนดอกไม้ ซึ่งก็อาจเป็นเพราะ Shrewsbury เป็นโรงเรียนเก่าของ Charles Darwin ผู้ค้นคิดทฤษฎีว่าด้วยวิวัฒนาการของสิ่งมีชีวิต นอกจากนี้ ที่นี่ยังมีห้องสมุดที่มีหนังสือโบราณมากมาย โดยเฉพาะเอกสารของ Charles Darwin ต่อมาได้ชมอาคารดนตรีที่ออกแบบพิเศษ มีหลังคาสูงเป็นปล่องเพื่อให้เสียงกระจายขึ้นโดยไม่สะท้อนกลับลงมาข้างล่าง

หลังจากเยี่ยมชมโรงเรียน Shrewsbury แล้ว จึงได้ขับรถกลับเข้ากรุงลอนดอน เพื่อเตรียมเยี่ยมชมโรงเรียนอื่นๆ ต่อไป และเนื่องจากระยะทางช่วงนี้ยาวมาก คณะฯ จึงต้องแวะรับประทานอาหารค่ำในเมือง Oxford และก็นับว่าโชคดีเพราะได้แวะชมมหาวิทยาลัย Oxford ที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงเป็นของแถมอีกแห่งหนึ่ง

 

Eton College

วันพฤหัสฯ ที่ 24 กันยายน 2552 คณะของเรามีกำหนดเข้าเยี่ยมชมโรงเรียนประจำที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษและของโลกก็ว่าได้ 2 แห่งคือ Eton และ Harrow ซึ่งทั้งสองโรงเรียนตั้งอยู่เขตรอบนอกของกรุงลอนดอน โรงเรียนแรกที่ไปดูในช่วงเช้าคือ Eton college ซึ่งอยู่ใกล้ปราสาท Windsor  

Eton ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี 1440 รับเฉพาะนักเรียนประจำชายเท่านั้น มีนักเรียนอายุ 13 – 18 ปีจำนวน 1,200 คน โดยเป็นนักเรียนจากต่างชาติประมาณ 120 คน ในแต่ละปี Eton จะรับนักเรียนใหม่ปีละ 259 คน  และที่นี่มีคณะ 25 คณะโดยยังคงใช้ชื่อผู้กำกับคณะเป็นชื่อของคณะเช่นเดียวกับใน ช่วงแรกของวชิราวุธวิทยาลัย แต่ละคณะมีนักเรียน 45 – 55 คน ยกเว้นคณะของนักเรียนทุน King’s Scholars ซึ่งมีนักเรียนประมาณ 70 คน ส่วนครูของโรงเรียน Eton นั้น มีครูประจำ 170 คน และยังมีครูพิเศษอีก 55 คน

คณะฯ ได้เข้าพบ Mr. Anthony Little อาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน Eton และได้เข้าเยี่ยมชมอาคารประวัติศาสตร์ต่างๆ โดยเฉพาะห้องเรียนห้องแรกที่มีอายุกว่า 600 ปี ปัจจุบันยังคงอนุรักษ์ไว้เป็นอย่างดี และมีร่องรอยแกะสลักชื่อนักเรียนบนโต๊ะ ม้านั่ง และเสา ตั้งแต่เมื่อประมาณปี 1,400 จนเมื่อประมาณ 100 ปีที่ผ่านมา จึงยกเลิกและห้ามสลักชื่อ ต่อมาได้เข้าชมสวนพระเจ้ากรุงสยาม ซึ่งพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 โปรดเกล้าฯ ให้สร้างขึ้นเพื่อเป็นอนุสรณ์ที่ทรงสำเร็จการศึกษาจากโรงเรียน Eton แห่งนี้

อนึ่ง Eton นับเป็นแหล่งผลิตบุคคลชั้นผู้นำของโลกมากมาย โดยมีผู้นำของรัฐบาลจากทั่วโลกที่จบการศึกษาจากโรงเรียนแห่งนี้ถึง 17 คน คนล่าสุดคือนายอภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ นายกรัฐมนตรีของประเทศไทย นอกจากผู้นำรัฐบาลแล้ว Eton ยังขึ้นชื่อทางด้านผู้นำทางการทหาร จนเป็นที่กล่าวขานว่าครั้งหนึ่งในสงคราม Waterloo ซึ่งฝ่าย Napolean ของฝรั่งเศสพ่ายแพ้ให้กับฝ่ายอังกฤษนั้น Duke of Wellington แม่ทัพอังกฤษกล่าวว่า The Battle Waterloo was won on the playing fields of Eton – สงครามครั้งนี้ชัยชนะได้มาจากสนามกีฬาของโรงเรียน Eton

สำหรับการเปลี่ยนแปลงที่นี่มีน้อยมาก เนื่องจากเป็นโรงเรียนดีที่สุดและที่มีชื่อเสียงที่สุด และยังอยู่ในความต้องการของคนจำนวนมากที่ต้องการจะส่งบุตรหลานมาเรียนที่นี่ จึงไม่เห็นความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงหรือเปลี่ยนแปลง ทั้งนี้ Eton ไม่มีนโยบายที่จะรับนักเรียนหญิง หรือนักเรียนไปกลับ หรือแม้แต่มีสาขาในต่างประเทศแต่อย่างใด

Harrow School 

ในช่วงบ่าย คณะฯ ได้เดินทางต่อไปชมโรงเรียน Harrow School ซึ่งตั้งอยู่ที่ Harrow-on-the-Hill ทางตอนเหนือของกรุงลอนดอน ที่นี่เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีประวัติโด่งดัง เป็นเลิศทางด้านการศึกษา กีฬา และความเป็นผู้นำ อีกทั้งยังเป็นคู่ปรับตลอดกาลของโรงเรียน Eton อีกด้วย

โรงเรียน Harrow มีนักเรียนประจำชาย 815 คน มีคณะ 15 คณะ แต่เนื่องจากสภาพแออัด จึงกำลังก่อสร้างคณะใหม่อีก 1 คณะ โรงเรียนนี้มีพื้นที่ประมาณ 500 เอเคอร์ (มากกว่า 1,000 ไร่) เป็นเนินเขาสูงกว่าบริเวณโดยรอบ อาคารเรียน หอประชุม และคณะส่วนใหญ่ตั้งอยู่บนยอดเนินเขาซึ่งมีถนนตัดผ่าน ส่วนสนามกีฬาอยู่บนที่ราบทางด้านล่างของเนิน

การที่ Harrow เป็นโรงเรียนเก่าแก่ที่มีชื่อเสียงเช่นเดียวกับโรงเรียน Eton ทำให้มีศิษย์เก่าที่มีชื่อเสียงมากมาย และได้แกะสลักชื่อไว้เป็นอนุสรณ์ในห้องเรียนห้องแรกที่ยังคงเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเช่นเดียวกับที่ Eton ซึ่งรวมทั้งอดีตนายกรัฐมนตรีที่มีชื่อเสียงที่สุดของอังกฤษคือ Sir Winston Churchill ผู้นำสมัยสงครามโลกครั้งที่ 2 อีกด้วย

ที่นี่เราได้เข้าพบและสนทนากับอาจารย์ใหญ่ของ Harrow Mr. B.J.Lenon ซึ่งมีนโยบายเชิงอนุรักษ์นิยม โดยยังคงความเป็นโรงเรียนประจำสำหรับนักเรียนชายเท่านั้น ไม่มีนักเรียนไปกลับ และไม่มีนักเรียนหญิง

การคัดเลือกผู้กำกับคณะของโรงเรียน Harrow นั้น จะทำการคัดเลือกจากครูในโรงเรียนที่ผ่านการทำงานมากว่า 10 ปี และจะประกาศให้ทราบก่อนเข้ารับตำแหน่ง 2 ปีเพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวอย่างพอเพียง ส่วนการคัดเลือกนักเรียนใหม่ก็เช่นกัน นักเรียนจะทราบก่อนที่จะได้เข้าเรียนที่นี่เป็นเวลา 1 ปีครึ่งถึง 2 ปีก่อนที่จะเข้าเรียนตอนช่วงอายุ 13 ปี

อย่างไรก็ตาม เนื่องจากคณะฯ มีเวลาค่อนข้างน้อยในการเยี่ยมชมโรงเรียนทั้ง Eton และ Harrow จึงทำให้ได้ข้อมูลในเชิงลึกน้อยกว่า 2 โรงเรียนแรก โดยเฉพาะอย่างยิ่งข้อมูลด้านกำกับคณะ เนื่องจากไม่มีโอกาสได้เข้าชมภายในคณะ

Rugby School

วันศุกร์ที่ 25 กันยายน คณะออกเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียน Rugby ซึ่งอยู่ทางตอนกลางของอังกฤษ ในแคว้น Warwickshire ใกล้เมือง Coventry และโรงเรียนนี้เป็นต้นกำเนิดของกีฬารักบี้ โดยมีตำนานว่านักเรียนคนหนึ่งชื่อ William Webb Ellis ใช้มือหยิบและพาลูกวิ่งไประหว่างการเล่นฟุตบอล ในขณะที่ผู้เล่นคนอื่นๆ พยายามที่จะจับตัวเขาไว้ ทำให้เกิดเป็นกีฬาชนิดใหม่ขึ้นและได้รับความนิยมแพร่หลายไปทั่วโลก โรงเรียน Rugby ได้สร้างรูปปั้นของเขาไว้เป็นอนุสรณ์ ทั้งนี้ สนามกีฬาที่กีฬารักบี้ถือกำเนิดขึ้นนั้น ปัจจุบันก็ยังคงใช้เป็นสนามรักบี้ของโรงเรียน

คณะฯ ได้เข้าพบปะและสนทนากับอาจารย์ใหญ่ของโรงเรียน Rugby คือ Mr. P.S.J. Derham  ซึ่งเล่าให้เราฟังว่า Rugby ได้ปรับเปลี่ยนนโยบายว่าด้วยการรับนักเรียนหญิงมาตั้งแต่ปี 1975 แล้ว ปัจจุบันมีนักเรียนอายุตั้งแต่ 13 ถึง 18 ปีประมาณ 800 คน เป็นชายร้อยละ 55 และหญิงร้อยละ 45 และประกอบด้วยครูประจำ 106 คน และครูพิเศษอีก 104 คน ในจำนวนครูทั้งหมดมีศิษย์เก่า Rugby เพียง 2 คน อย่างไรก็ตาม ถึงแม้ว่า Rugby จะรับนักเรียนหญิงมากว่า 30 ปีแล้ว แต่จำนวนนักเรียนโดยรวมของโรงเรียนเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือจากประมาณ 704 คนในปี 1975 เป็นประมาณ 815 คนในปัจจุบัน ทั้งนี้ โรงเรียน Rugby ต้องการควบคุมจำนวนนักเรียนไม่ให้เพิ่มขึ้น เนื่องจากต้องการให้นักเรียนทั้งโรงเรียนสามารถเข้าพิธีสวดในโบสถ์ใหญ่ของโรงเรียนในเวลาเดียวกัน

 นอกจากนี้ Mr. Derham ยังพาคณะฯ เข้าชมห้องทำงานครูใหญ่ ซึ่งยังคงใช้ห้องเดิมที่ใช้ต่อกันมาเป็นเวลานับร้อยปี โดยมีหนังสือเก่าแก่ โต๊ะนักเรียนโบราณสำหรับนักเรียนที่โดนส่งมานั่งทำโทษหรือที่วชิราวุธฯ เรียกว่าไปนั่ง “กรงลิง” ในห้องครูใหญ่ และในห้องยังมีบันไดลับที่ยังใช้งานได้ สำหรับนักเรียนที่มีความประสงค์จะเข้าพบครูใหญ่โดยไม่ต้องการให้ผู้อื่นรู้

ส่วนการรับนักเรียนใหม่ของที่นี่ก็คล้ายกับโรงเรียน Harrow คือจะรับนักเรียนใหม่ก่อนเข้าเรียนจริง 4 เทอม หรือประมาณ 1 ปีเศษ โดยจะเปิดให้นักเรียนใหม่ที่สนใจเข้าชมโรงเรียนและคณะที่จะอยู่พร้อมด้วยผู้ปกครอง นอกจากนี้ระบบการคัดเลือกผู้กำกับคณะ ตลอดจนระยะเวลาการปฏิบัติหน้าที่ก็ไม่แตกต่างจากโรงเรียนประจำอื่นๆ

ในการเยี่ยมชมครั้งนี้ คณะได้เข้าร่วมรับประทานอาหารกลางวันที่คณะแห่งหนึ่งของโรงเรียน Rugby โดยที่นี่ยังคงแยกครัวทำอาหารตามคณะทั้ง 15 คณะ และแยกรับประทานอาหาร โดยยังคงใช้ระบบเสริฟอาหาร ทั้งนี้ ผู้กำกับคณะจะนำสวดขอบคุณพระเจ้าก่อนและหลังรับประทานอาหาร ซึ่งเป็นการรักษาพิธีการดั้งเดิมของการรับประทานอาหารไว้อย่างเหนียวแน่น ถึงแม้ว่าโรงเรียนประจำส่วนใหญ่จะเปลี่ยนรูปแบบการรับประทานอาหารเป็นแบบ Cafeteria คือนักเรียนแต่ละคนถือถาดอาหารเดินเข้าไปตักอาหารที่ต้องการทีละคน โดยใช้ครัวและห้องอาหารรวมสำหรับทั้งโรงเรียน ซึ่งทำให้ง่ายและประหยัดกว่าการแยกทำครัวตามคณะ

สำหรับด้านกีฬา นอกจากจะมีสนามรักบี้ที่สวยที่สุดและเป็นตำนานของกีฬารักบี้แล้ว ที่นี่ยังมีกีฬาที่ไม่เหมือนใครอีก 2 ชนิด คือรักบี้ไฟฟส์ และเดอะแรกเก็ต สำหรับไฟฟส์ของรักบี้แตกต่างจากอีตันไฟฟส์ที่คอร์ตเป็นพื้นราบที่ไม่มีแยกเป็นสองระดับ และไม่มี Buttress เหมือนของ Eton  ส่วนกีฬาเดอะแรกเก็ตนั้นเป็นกีฬาในร่มคล้ายสควอช แต่คอร์ตใหญ่กว่า และลูกเป็นยางอัดคล้ายข้างในของลูกกอล์ฟ จึงทำให้ลูกเด้งแรงและเร็วกว่าสควอช ทำให้ผู้เล่นจะต้องคอยหลบลูกให้ดี นอกจากนี้ ที่โรงเรียนรักบี้ยังมีสปอร์ตเซ็นเตอร์สำหรับเล่นกีฬาอื่นๆ หลายชนิดที่ใหญ่และทันสมัยกว่าโรงเรียนอื่นๆ คณะฯได้ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้

ประเด็นที่ได้จากการเยี่ยมชม

จากการเยี่ยมชมโรงเรียนพับลิคสกูลทั้ง 5 แห่งที่ประเทศอังกฤษในครั้งนี้ คณะเดินทางของวชิราวุธวิทยาลัยได้พบเห็นประเด็นที่น่าสนใจเกี่ยวกับการจัดการโรงเรียนประจำสมัยใหม่มากมาย  ดังนี้

ภาพรวมของโรงเรียนประจำอังกฤษ – โรงเรียนทั้งหมดที่คณะเดินทางของวชิราวุธฯ ไปเยี่ยมชมในครั้งนี้ ต่างก็มีประวัติเก่าแก่ด้วยกันทั้งสิ้น คือมีอายุประมาณ 600 ปี และทุกโรงเรียนเริ่มต้นด้วยการเป็นโรงเรียนประจำชายล้วน แต่ในปัจจุบันมีการพัฒนาที่แตกต่างกัน คือ Bromsgrove และ Rugby ได้เปลี่ยนแปลงเป็นโรงเรียนสหศึกษาตั้งแต่ยุค 1970’s จนปัจจุบันมีนักเรียนชายหญิงเท่าๆ กัน ในขณะที่ Shrewsbury เพิ่งเริ่มรับนักเรียนหญิงเมื่อปี 2008 และปัจจุบันมีนักเรียนหญิงประมาณ 35 คน โดยทั้งหมดเป็นนักเรียนชั้นมัธยมปลาย (6th Form) ทั้งสิ้น  ส่วนโรงเรียน Eton และ Harrow เป็นโรงเรียนสำหรับนักเรียนประจำชายล้วนเท่านั้น และไม่มีแผนที่จะรับนักเรียนหญิงหรือแม้แต่นักเรียนไปกลับในอนาคต เนื่องจากเป็นโรงเรียนพับลิคสคูลที่เก่าแก่และมีชื่อเสียงที่สุด นอกจากนี้ ทั้งสองโรงเรียนเชื่อว่าการมีนักเรียนหญิงอาจทำให้คุณภาพการศึกษาลดลง เนื่องจากนักเรียนไม่มีสมาธิอยู่กับการเรียน

สำหรับโรงเรียนที่มีการเปลี่ยนแปลงคือ Bromsgrove, Shrewsbury และ Rugby นั้น เหตุผลที่ใช้ในการเริ่มต้นรับนักเรียนหญิง ส่วนหนึ่งมากจากเหตุผลด้านการเงิน ส่วนอีกด้านหนึ่งมาจากการเรียกร้องของผู้ปกครองและนักเรียนเก่าที่ต้องการให้บุตรหลานสาวได้เข้าเรียนในโรงเรียนนั้นๆ ทั้งนี้ โรงเรียนเหล่านี้เชื่อว่าการที่มีนักเรียนหญิงทำให้ผลการเรียนโดยรวมดีขึ้น และนักเรียนชายมีความสนใจในการเรียนมากขึ้น

1. การกำกับคณะ – คณะของโรงเรียนทั้ง 5 แห่งมีลักษณะ และการปกครองที่คล้ายคลึงกัน คือมีนักเรียนประมาณ 45 ถึง 60 คน และแต่ละคณะประกอบด้วย ผู้กำกับคณะ ผู้ช่วยผู้กำกับคณะ ครูอนุสาสกที่พำนักอยู่ในคณะ (Live-in tutor) ครูแม่บ้าน (Matron) ซึ่งอาจจะอยู่หรือไม่พำนักอยู่ในคณะ และยังมีครูอนุสาสกอื่นๆ ที่เข้ามาดูแลนักเรียนอีกประมาณ 10 ถึง 15 คน จึงอาจกล่าวได้ว่าในแต่ละคณะที่มีนักเรียนโดยเฉลี่ย 60 คนนั้น จะต้องมีผู้ดูแลมากกว่า 10 คน

ทั้งนี้ โรงเรียนทั้ง 5 เชื่อว่าการกำกับคณะที่ดีคือปัจจัยสำคัญที่ทำให้โรงเรียนประสบความสำเร็จ เพราะคณะคือที่ที่นักเรียนมีความเป็นตัวของตัวเองได้ จึงให้ความสำคัญกับเรื่องการดูแลนักเรียนตามหลักศาสนา (pastoral care) มากเป็นพิเศษ

2. ผู้กำกับคณะ –โดยมากได้รับการคัดเลือกจากครูในโรงเรียนที่ทำการสอนที่โรงเรียนนั้นๆ มาเป็นเวลานาน แต่ในบางโอกาส โรงเรียนอาจจ้างผู้กำกับคณะจากโรงเรียนอื่นได้ในกรณีที่ไม่สามารถหาผู้ที่มีคุณสมบัติเหมาะสมมาปฏิบัติหน้าที่ได้ (ซึ่งแตกต่างจากการสรรหาครูใหญ่ – Headmaster ที่มักคัดเลือกมาจากที่อื่นๆ)

นอกจากนี้ผู้กำกับคณะจะได้รับการคัดเลือกก่อนปฏิบัติหน้าที่จริง 1 ถึง 2 ปี และดำรงตำแหน่งเป็นเวลา 12 ปี (แต่อาจขอลาออกจากการกำกับคณะได้หลังจาก 5 ปีไปแล้ว) และในบางกรณีอาจได้รับการต่ออายุเมื่อครบวาระ 12 ปีแล้ว  ทั้งนี้ ผู้กำกับคณะจะได้รับค่าตอบแทนเพิ่มเติม และค่าตอบแทนอื่นๆ เช่น บ้านพัก อาหาร ค่าใช้จ่าย น้ำ-ไฟ

ช่วงที่นักเรียนอยู่โรงเรียน ครั้งละ 3 สัปดาห์นั้น จะมีการประชุมผู้กำกับคณะ 1 ครั้ง และจะพบปะกันอย่างไม่เป็นทางการเกือบทุกวัน

ผู้กำกับคณะโดยมากจะต้องทำการสอนหรือมีภาระกิจอื่นๆ ในโรงเรียนด้วย

ในอดีต ผู้กำกับคณะจำนวนมากเป็นนักเรียนเก่าของแต่ละโรงเรียน แต่ในปัจจุบันมักคัดเลือกจากครูในโรงเรียน

3. อนุสาสก (House tutor) – แต่ละคณะจะมีครูอนุสาสกคณะละ 5 – 6 คน ซึ่งแต่ละคนทำหน้าที่ดูแลด้านการศึกษาของนักเรียนในคณะจำนวน 8 – 10 คน โดยผู้กำกับคณะจะกำหนดว่านักเรียนคนไหนอยู่ในความรับผิดชอบของอนุสาสกคนใด แต่ในกรณีของชั้น 6th Form นักเรียนอาจขอเลือกอนุสาสกเองได้

นอกจากจะต้องดูแลเรื่องการเรียนแล้ว อนุสาสกจะให้คำปรึกษาด้านอื่นๆ ด้วย และยังให้ความช่วยเหลือเด็กที่มีปัญหาด้านการเรียนรู้ (Learning Disorder – LD)โดยประสานงานกับครูการศึกษาพิเศษที่มีหน้าที่ด้านนี้โดยตรง และในบางกรณีอนุสาสกจะสับเปลี่ยนกันอยู่เวรที่คณะสัปดาห์ละ 1 วัน เพื่อช่วยงานผู้กำกับคณะและผู้ช่วยผู้กำกับ ในขณะที่บางโรงเรียนมีอนุสาสกที่พำนักอยู่ในคณะ

4. ครูแม่บ้าน – Matron มีหน้าที่ดูแลเรื่องความเป็นอยู่ในคณะ โดยเฉพาะด้านการรักษาความสะอาด การซักเสื้อผ้า และการรับประทานอาหาร บางแห่งที่มีนักเรียนจำนวนมาก อาจมีผู้ช่วย Matron

5. วิชาการ  - การทำงานของครูส่วนใหญ่ มิได้จำกัดอยู่เฉพาะการเรียนการสอนในห้องเรียนเพียงอย่างเดียว หากแต่จะต้องช่วยงานด้านอื่นๆ ด้วย เช่น กีฬา หรือกิจกรรมอื่นๆ โดยเฉพาะงานอนุสาสก ซึ่งจะต้องใช้ครูจำนวนมากในการดูแลและให้คำปรึกษานักเรียนอย่างทั่วถึง โดยมากครูโรงเรียนประจำที่อังกฤษจะทำงานสัปดาห์ละ 6 หรือ 7 วัน ทั้งนี้ รายจ่ายส่วนใหญ่ของโรงเรียนมาจากค่าจ้างและเงินเดือนครู

ในอดีตตารางเวลาเรียนของโรงเรียนประจำที่อังกฤษไม่แตกต่างจากตารางเรียนของวชิราวุธวิทยาลัย คือเริ่มเรียนคาบแรกเวลา 07.00 น. และเลิกเรียนเวลา 13.00 น. โดยเรียน 6 วันๆ ละ 5 คาบ แต่ปัจจุบันทุกโรงเรียนเปลี่ยนไปเริ่มเรียนคาบแรกเวลา 09.00 น. และเลิกเรียนเวลา 16.00 น. โดยเรียนคาบละ 40 นาที และไม่มีเรียนวันเสาร์ เนื่องจากเป็นวันที่มีกิจกรรมและแข่งขันกีฬาระหว่างโรงเรียน

ทั้งนี้ อาจกล่าวได้ว่าปัจจุบันโรงเรียนพับลิคสกูลของอังกฤษมักเน้นด้านผลการเรียนมากขึ้น ในขณะที่ชั่วโมงการเล่นกีฬา และในการแข่งขันกีฬาระหว่างคณะได้ลดระดับของความเข้มข้นลงจากในอดีต

6. คุณภาพชีวิตทั่วไป – บางโรงเรียนมีนักเรียนที่ได้รับทุนหรือความช่วยเหลือทางด้านการเงินต่างๆ มากถึงร้อยละ 30 เช่นทุนเรียนดี ทุนดนตรี กีฬา และศิลปะ

นักเรียนทุกคนสามารถนำอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ laptop และ MP3 MP4 มาโรงเรียนได้ แต่จะต้องรู้สถานที่และเวลาที่จะใช้งาน ส่วนในหลายโรงเรียนจะไม่มีการตีระฆังในคณะ นักเรียนต้องรู้เวลาเองว่าเวลาไหนต้องทำอะไร

ห้องนอนนักเรียนชั้น ม.ต้น จะอยู่ห้อง 4 คน หรือ ห้องคู่ ส่วนนักเรียน ม.ปลาย โดยเฉพาะปีสุดท้าย (Upper Sixth) จะมีห้องเป็นของตนเอง ส่วนชั้น ม.5 (Lower Sixth) มักอยู่ห้องคู่หรือห้องเดี่ยว

7. ด้านการรับนักเรียนใหม่ - การรับเด็กเข้าเรียนในโรงเรียน มักเริ่มช่วงอายุ 13 ปี โดยจะมีการคัดเลือกนักเรียนและประกาศผล 4 – 6 เทอมก่อนที่เด็กจะเข้าเรียน เพื่อให้มีเวลาเตรียมตัวมากพอ ในโรงเรียนหลายแห่ง ผู้ปกครองจะยื่นใบสมัครเข้าเป็นนักเรียนเป็นเวลามากกว่า 10 ปีก่อนถึงเวลาเข้าเรียน

8. อาหาร – ปัจจุบันโรงเรียนส่วนใหญ่ใช้ระบบ cafeteria คือนักเรียนเดินตักและเลือกอาหารเอง แทนการเสริฟอาหารอย่างเดิม ทั้งนี้ ก็เพื่อประหยัดเวลาและรับจำนวนนักเรียนได้มากขึ้น โดยที่นักเรียนไม่ต้องรับประทานเวลาเดียวกัน อีกทั้งนักเรียนก็ชอบเพราะสามารถเลือกชนิดและปริมาณได้ ยกเว้นกรณีของโรงเรียน Rugby ซึ่งยังคงแยกครัวทำอาหารตามคณะทั้ง 15 คณะ และแยกรับประทานอาหาร โดยยังคงใช้ระบบเสริฟอาหาร ทั้งนี้ ผู้กำกับคณะจะนำสวดขอบคุณพระเจ้าก่อนและหลังรับประทานอาหาร 

ประเด็นอื่นๆ

–         Bromsgrove มีการจัดการคณะที่แตกต่าง คือซื้อโรงแรมเก่ามาปรับปรุงเป็นคณะ Houseman Hall สำหรับนักเรียนชั้นมัธยมปลายเท่านั้น โดยเป็นคณะเดียวที่มีทั้งนักเรียนหญิงและชาย และมีลักษณะคล้ายความเป็นอยู่ในมหาวิทยาลัย

–         Eton มี King’s Scholars ที่มีการปกครองที่แตกต่าง เนื่องจากมีจำนวนนักเรียนมาก และยังคงมีประเพณีที่เป็นเอกลักษณ์ เช่นการสวดมนต์เป็นภาษาละติน

–         Rugby เปลี่ยนจากโรงเรียนชายเป็นสหศึกษาตั้งแต่ปี 1975 โดยคำนึงถึงสภาวะทางการเงิน แต่จำนวนนักเรียนเพิ่มขึ้นเพียงประมาณ 100 คน คือจากประมาณ 700 คนในยุคที่เป็นโรงเรียนชายล้วน เป็นประมาณ 800 คนในปัจจุบัน แต่จำนวนนักเรียนของ Bromsgrove กลับเพิ่มขึ้นมากกว่าเท่าตัว ภายหลังจากที่กลายเป็นโรงเรียนสหศึกษา คือเพิ่มจากประมาณ 350 คนในปี 1975 เป็นประมาณ 800 คนในปัจจุบัน ทั้งนี้ Rugby จำกัดจำนวนนักเรียนเพื่อให้ทุกคนสามารถนั่งสวดในโบสถ์ใหญ่ของโรงเรียนในเวลาเดียวกันได้ ส่วน Shrewsbury ซึ่งเพิ่งเริ่มรับนักเรียนหญิงได้เพียง 1 ปี มีนักเรียนหญิงชั้น 6th Form จำนวน 35 คนอยู่ในคณะที่สร้างใหม่

–         Eton ซึ่งมีนักเรียนมากถึง 1,200 คน และมีคณะถึง 25 คณะ ยังคงใช้ชื่อคณะตามชื่อผู้กำกับคณะ เช่นเดียวกับในยุคแรกของโรงเรียนวชิราวุธฯ

–         Harrow เป็นโรงเรียนที่มีสาขาในต่างประเทศมากที่สุด ในขณะที่ Eton ไม่มีสาขาที่ไหนเลย (และไม่คิดจะมีสาขา) และยังคงความเป็นโรงเรียนอนุรักษ์นิยมมากที่สุด โดยนักเรียนทุกคนต่างเครื่องแบบ สูตรแบบหางยาว (black tailcoat) สวมเสื้อกั๊ก (vest)  และสวมกางเกงลายทาง (pin striped trousers) ในขณะที่ครูก็ต้องผูกไทแบบโบราณสีขาวเช่นกัน

 

การเดินทางไปเยี่ยมชมโรงเรียนประจำที่ประเทศอังกฤษในครั้งนี้นับว่ามีประโยชน์ต่อการพัฒนาด้านการจัดการศึกษาที่มีคุณภาพตามแบบของโรงเรียนประจำมาก ดังจะเห็นได้ว่าถึงแม้โรงเรียนที่ได้ไปเยี่ยมชมจะมีทั้งความเก่าแก่ และขึ้นชื่อว่าเป็นโรงเรียนที่มีคุณภาพ แต่ก็ยังมีการเปลี่ยนแปลง และพัฒนาก้าวหน้าต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ดังนั้น โรงเรียนที่มีชื่อเสียงของประเทศไทยทั้งหลายก็ไม่ควรนิ่งนอนใจ และพยายามปรับปรุงด้านการศึกษาให้มีความก้าวหน้าและทันสมัยอยู่เสมอ

หมายเลขบันทึก: 306542เขียนเมื่อ 17 ตุลาคม 2009 13:46 น. ()แก้ไขเมื่อ 23 มิถุนายน 2012 13:27 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท