คำถามที่มักถูกถามบ่อย เรื่อง การวิจัยในชั้นเรียน/วิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้


ในกระบวนการวิจัย หากสามารถออกแบบการวิจัยด้วยความเข้าใจที่ถูกต้อง ก็จะสามารถเพิ่มน้ำหนัก "ความถูกต้องตามหลักวิชา" ให้กับผลงานได้มากขึ้น

        ในวันที่ 13-14 ตุลาคม 2552 ผมได้ไปเป็นวิทยากรในการอบรมหลักสูตร “การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้” ของสถาบันการศึกษาทางไกล สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ เป็นการอบรมรุ่นที่ 5  จัด ณ โรงแรมรอยัล ซิตี้ กทม.(เป็นการสัมมนาในช่วงสุดท้ายของหลักสูตร เป็นระยะเวลา 2 วัน) ในช่วงสุดท้ายของการอบรม ผมได้เปิดโอกาสให้ผู้เข้ารับการอบรม ซึ่งส่วนใหญ่เป็นครูในสังกัด สพฐ. และ กศน. ได้ซักถามข้อข้องใจที่เกี่ยวข้องกับการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้  ต่อไปนี้เป็นตัวอย่างคำถาม พร้อมคำตอบ ที่ผมเห็นว่าน่าจะเป็นประโยชน์กับผู้สนใจด้านการวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้ โดยทั่วไป จึงได้นำมาเสนอไว้ ณ ที่นี้

ตัวอย่างคำถามและคำตอบ

1) การเรียน/อบรมหลักสูตร “การวิจัยเพื่อพัฒนาการเรียนรู้” ของสถาบันการศึกษาทางไกลฯ สำนักงาน กศน. สำนักงานปลัดกระทรวงศึกษาธิการ  สามารถเทียบโอนความรู้ความสามารถในมาตรฐานด้านการวิจัย เพื่อขอในประกอบวิชาชีพครู จากคุรุสภา ได้หรือไม่

   คำตอบ คือ ได้

2) การระบุกรอบเวลาในการทำวิจัย ควรระบุอย่างไร

   คำตอบ

-ที่ปก มักนิยมระบุปี พ.ศ.ที่เขียนรายงาน/เผยแพร่ผลการวิจัย

-ในขอบเขตของการวิจัย มักจะระบุช่วงระยะเวลาในการทดลอง/เก็บรวบรวมข้อมูล หรือ

 ในกรณีของการวิจัยเชิงทดลอง มักระบุระยะเวลาที่ใช้ในการทดลองว่า ใช้กี่ชั่วโมง กี่วัน

 

3. หนังสือส่งเสริมการอ่าน/หนังสืออ่านเพิ่มเติม/หนังสือเล่มเล็ก มีความแตกต่างกันอย่างไร และเหมาะสมกับการนำไปใช้สอนแบบใด

   คำตอบ

    -คงต้องให้คำ “นิยามเชิงปฏิบัติการ” ว่า คืออะไร ให้ชัดเจน(ในบทที่ 1 ของรายงานการวิจัย)

    -เท่าที่พบและโดยชื่อ “หนังสือส่งเสริมการอ่าน/หนังสืออ่านเพิ่มเติม”  น่าจะใช้ในกรณีที่เป็นนักเรียนกลุ่มปานกลาง-เก่ง เพื่อเสริมให้มีสมรรถนะสูงขึ้น   ส่วน “หนังสือเล่มเล็ก”  ไม่สามารถสื่อสารได้ชัดเจนว่าควรใช้สำหรับการสอนเด็กเก่ง หรืออ่อน   แต่โดยกิจกรรมการเรียนรู้แล้ว “น่าจะเหมาะสมกับการสอนเด็กที่เก่งมากกว่าที่จะใช้กับเด็กเรียนอ่อน” (เด็กเรียนอ่อน คงจะไม่ชอบอ่านหนังสือเพิ่มเติมอยู่แล้ว ไม่ว่าจะเป็น หนังสือส่งเสริมการอ่าน หนังสืออ่านเพิ่มเติม หรือหนังสือเล่มเล็ก) 

4. การหาค่าดัชนีประสิทธิผลของนวัตกรรม ต้องหาทุกนวัตกรรมที่ใช้หรือไม่ อย่างไร

    คำตอบ  เมื่อไรที่มีการพัฒนานวัตกรรม หากสามารถตรวจสอบดัชนีประสิทธิภาพของทุกรายการได้ก็น่าจะดี หรือสมบูรณ์มากขึ้น  จะอย่างไรก็ตาม ในกรณีที่ใช้ในลักษณะของสื่อประสม  อาจ หาดัชนีประสิทธิผลในภาพรวมก็ได้

5. ช่วยอธิบายขยายความเรื่อง “ประชากรในการวิจัย” อีกครั้ง ยังงงอยู่

    คำตอบ  “ประชากร” คือกลุ่มเป้าหมายที่ต้องการศึกษา หรือต้องการหาข้อสรุป  ในกรณีของการวิจัยและพัฒนานวัตกรรม ก็คือ “กลุ่มเป้าหมาย ที่ตั้งใจจะนำนวัตกรรมไปใช้(ทั้งหมด)”   เช่น นักเรียนชั้น ม.1 ของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีรุ่นละประมาณ 250-300 คน(ตราบใดที่ยังไม่ปิดหรือยกเลิกสถานศึกษา)  ส่วนกลุ่มตัวอย่างก็คือ “ส่วนหนึ่งของนักเรียนชั้น ม.1 ในปีที่ทำการทดลองนวัตกรรม(หรือ อาจใช้นักเรียนชั้น ม.1  ทั้งหมดที่เรียนชั้น ม.1 ในปีนั้น ๆ เป็นกลุ่มตัวอย่างก็ได้ ในกรณีที่มีจำนวนนักเรียนมีไม่มากนัก)...จะอย่างไรก็ตาม ในกรณีที่เราใช้นักเรียนทั้งหมดในปีนั้นเป็นกลุ่มทดลอง โดยระบุว่าเป็นประชากร ก็ทำได้  แต่ในกรณีนี้ในการวิเคราะห์ข้อมูลก็ควรใช้วิธีการทางสถิติ หรือสัญลักษณ์ที่เหมาะสม (เช่น ค่า มิว   ซิกม่า เป็นต้น) และไม่ต้องใช้สถิติอ้างอิง(เช่น t-test)

6. ในการบอกว่าประชากร คือนักเรียนที่เรียนตามหลักสูตร 2551 ถ้าหลักสูตรนี้ มีอายุยืน 20 ปี แปลว่า นวัตกรรมเหมาะสมไปตลอดเวลา 20 ปีหรือ

   คำตอบ  ไม่น่าจะเหมาะสมตลอดไป จะต้องดูความเปลี่ยนแปลงของบริบทอื่น ๆ ด้วย  เช่น ความทันสมัยของนวัตกรรม ธรรมชาติของผู้เรียน  สภาพองค์ความรู้ในเรื่องนั้น ๆ เป็นต้น

7. ในกรณีที่เราเก็บนวัตกรรมไว้แล้ว 5 ปี แล้วนำมาใหม่ แต่สภาพกลุ่มตัวอย่างเปลี่ยนไป เราจะเชื่อมั่นได้อย่างไรว่านวัตกรรมของเรายังมีคุณภาพ(ร.ร.เดิม  ชั้นเดิม)

   คำตอบ  ควรทดลอง หรือตรวจสอบซ้ำ

8. หาผลสัมฤทธิ์หลังการใช้นวัตกรรม ใช้ข้อมูล ร่วมกับ E ได้หรือไม่

   คำตอบ  จริงๆ แล้ว ค่า E1 / Eน่าจะหาในช่วงทดลองใช้นวัตกรรมกับกลุ่มตัวอย่างที่มีขนาดพอสมควร  หลังจากเรามั่นใจในนวัตกรรมในระดับมั่นใจ ว่า “ดี-มีคุณภาพ” พอสมควร จึงนำไปทดลองในรอบ “ทดลองจริงกับกลุ่มตัวอย่าง หรือกลุ่มทดลอง”   ซึ่ง “ ผลสัมฤทธิ์หลังการใช้นวัตกรรม” น่าจะหาในรอบทดลองจริง(จึงเป็นคนละตัวกับ ค่า E2)

9. การทำผลงานทางวิชาการที่สร้างนวัตกรรม จำเป็นหรือไม่ที่ต้องมีการทดสอบก่อนเรียน   หาค่าเฉพาะ E1 / Eผลสัมฤทธิ์ทางการเรียน และความพึงพอใจ เพียงพอหรือไม่

   คำตอบ การไม่ทดสอบก่อนเรียน จะทำให้ไม่มีฐานข้อมูลเดิมของนักเรียนกลุ่มทดลองว่า มีมากน้อยเพียงใด อาจทำให้อธิบายพัฒนาการได้ไม่ชัดเจน   จะอย่างไรก็ตาม การวิจัยหลายรายการได้ใช้ผลสัมฤทธิ์หลังเรียน เทียบกับเกณฑ์ที่กำหนด(เช่น ต้อง ไม่ต่ำกว่า 70 % ของคะแนนเต็ม) โดยไม่มีการทดสอบก่อนเรียน ทั้งนี้เพราะผู้วิจัยเห็นว่า เรื่องนี้ เป็นเรื่องใหม่ ๆที่กลุ่มเป้าหมายไม่เคยเรียนมาก่อน( “ทึกทัก” เอาว่า ก่อนเรียน ยังไม่มีความรู้)

หมายเลขบันทึก: 305898เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 16:15 น. ()แก้ไขเมื่อ 19 มิถุนายน 2012 21:39 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (0)

ไม่มีความเห็น

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท