356 การนำพุทธศาสนากลับไปดินแดนพุทธภูมิ ว่าด้วยพระอาจารย์อารยะวังโส


เป็นบุญ

 

 

 

 

ศาสนาพุทธเสื่อมและสูญหายไปจากอินเดียหลังจากสมัยพุทธกาลหลายร้อยปีต่อมา เหลือแต่ซากพุทธสถานและวัตถุต่างๆ ให้คนรุ่นหลังได้ระลึกถึงและค้นหา ซึ่งก็ได้มีการสืบต่อพุทธศาสนาโดยพระธรรมทูตที่พระเจ้าอโศกส่งออกไปทั่วสารทิศ มีความพยายามของพระสงฆ์ในประเทศที่นับถือพุทธศาสนาต่างๆ กลับเข้าไปอินเดียเพื่อที่จะศึกษาและฟื้นฟูพุทธศาสนา จนเมื่อมีการค้นพบโบราณสถาน พุทธสถานเป็นระยะ และมีการพบมหาเจดีย์พุทธคยาและต้นพระศรีมหาโพธิ์ ที่คยา และที่อื่นๆ ในเวลาต่อมา ก็ยิ่งทำให้ชาวพุทธกลับมาสนใจอินเดียและพยายามที่จะฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียอีกครั้งและผู้ที่ทำให้พุทธศาสนากลับมาสู่อินเดียอย่างเป็นระบบได้แก่ ดร.เอ็มเบดก้า ที่นำชาวอินเดียในวรรณต่ำสุด ตั้งแต่ ปี 2499 มานับถือศาสนาพุทธจากที่แทบจะไม่มีเลยจนมีเพิ่มขึ้นเป็นแสนเป็นล้านและหลายสิบล้านในปัจจุบัน
ในส่วนของความสัมพันธ์ทางด้านพุทธศาสนาไทยกับอินเดีย ในปัจจุบัน นอกจากจะมีพระไทยไปเรียนที่อินเดียอย่างสม่ำเสมอแล้ว  นับตั้งแต่ที่รัฐบาลอินเดียได้เชิญประเทศไทยร่วมฉลองกึ่งพุทธกาล 2499 โดยเชิญให้ไปสร้างวัดไทยที่พุทธคยา ซึ่งไทยก็ได้ไปสร้างวัดไทยพุทธคยาซึ่งถือว่าเป็นวัดไทยของทางการในต่างประเทศวัดแรก จากนั้นมา ในทุกสังเวชนียสถานทั้ง 4 แห่ง ไม่ว่าจะเป็นที่พุทธคยา สารนาถ กุสินาราในอินเดียและลุมพินีในเนปาล ก็มีการสร้างวัดไทยเพื่อเผยแพร่ศาสนาพุทธในอินเดีย รวมทั้งรองรับการไปแสวงบุญของชาวไทย ซึ่งนิยมไปแสวงบุญช่วงเดือนตุลาคมถึงมีนาคมของทุกปี อย่างไรก็ดี การฟื้นฟูพุทธศาสนาในอินเดียจากประเทศไทยก็ยังไม่ชัดเจน

 

ผมได้รับอีเมล์จากลูกศิษย์ของพระอาจารย์อารยะวังโส 2 คน 2 ฉบับ เกี่ยวข้องกับการไปอินเดียของพระอาจารย์อารยะวังโส  จึงขอเรียบเรียงมานำเสนอ ดังนี้

การเดินทางไปจำพรรษาในดินแดนพระสัมมาสัมพุทธเจ้าของหลวงพ่อพระอาจารย์อารยวังโส
ครั้งที่ ๑ เมื่อพ.ศ. ๒๕๔๙
ท่านไปจำพรรษาที่ดงคสิริ ประเทศอินเดีย อันเป็นสถานที่ที่พระพุทธองค์ประทับอยู่ เพื่อบำเพ็ญทุกรกิริยาถึง ๖ ปี
ครั้งที่ ๒ พ.ศ.๒๕๕๐ ที่นิโครธาราม ประเทศเนปาล ซึ่งเคยเป็นมหาวิหารในครั้งพุทธกาล ที่ซึ่งพระเจ้าสุทโธทนะ พระพุทธบิดาสร้างถวาย และ
ครั้งที่ ๓ คือ พ.ศ. ๒๕๕๒ นี้ พระอาจารย์เลือกไปจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ โดยจำวัดที่วัดญี่ปุ่น ซึ่งอยู่บนเทือกเขารัตนคีรี อันเป็นเทือกเขาเดียวกับเขาคิชฌกูฏ สถานที่ประดิษฐานพระคันธกุฎีของพระพุทธองค์ ในขณะที่พระลูกศิษย์ที่ติดตามไปด้วย ๓ รูป เข้าพักจำพรรษาที่วัดไทยสิริราชคฤห์

พระที่วัดญี่ปุ่นนี้เป็นมหานิกาย แต่พระอาจารย์เป็นพระนิกายธรรมยุต เป็นพระป่าอรัญวาสี ซึ่งมีข้อวัตรแตกต่างกัน ระหว่างพระธรรมยุตกับพระมหานิกาย ระหว่างพระอรัญวาสีกับพระแต่ด้วยความที่เป็นผู้เคร่งครัดในพระธรรมวินัยของพระพุทธเจ้าอย่างมาก ไม่ว่าท่านจะอยู่ที่ใด ในวัดหรือนอกวัด ในประเทศหรือต่างประเทศ ทำให้ไม่มีปัญหาในเรื่องนี้

ปฏิปทาของพระอาจารย์
พระอาจารย์อารยะวังโสออกบิณฑบาตและฉันในบาตร ฉันมื้อเดียว ยกเว้นในบางครั้งที่อาพาธเจ็บกระเพาะ อาจฉันโอวัลตินในช่วงเช้าเพื่อบรรเทาเวทนา เมื่อหายจากอาพาธก็กลับไปฉันมื้อเดียว
บาตรเดียวที่นั่งเดียว ไม่เคยแตะต้องอาหารนอกมื้อโดยเด็ดขาด ยกเว้นสิ่งที่พระพุทธองค์ทรงอนุญาต เช่น สมอ มะขามป้อม น้ำตาลน้ำผึ้ง เนยข้น เนยเหลว เป็นต้น

เวลาท่านอาพาธ ก็จะไม่ยอมให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ได้แตะต้องตัว !(อาจต้องยกเว้นเวลาสลบหรือมรณภาพ) และจำเป็นมากที่ต้องมีลูกศิษย์ดูแล เพราะท่านไม่ถือเงินทอง ไม่สะสมเงินทอง แม้มีผู้ถวายเงินท่านสำหรับใช้ส่วนตัว พระอาจารย์ก็ให้ลูกศิษย์จัดการดูแล หรือไม่ก็ตั้งเป็นกองทุนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือทำกิจต่างๆในพระพุทธศาสนา
พระอาจารย์นั้นมีความประสงค์จะนำพุทธศาสนากลับไปสู่ดินแดนพุทธภูมิ ท่านจึงได้เดินทางไปอินเดียหลายครั้งเพื่อการนี้ ซึ่งการไปของท่าน นับเป็นข่าวที่น่ายินดีและตื่นเต้นของชาวพุทธอินเดีย
เล่ากันว่าชาวพุทธอินเดียซึ่งเรียกตนเองว่าชาวพุทธใหม่จะศรัทธา และยึดมั่นในคำสอนของดร.อัมเบ็ดก้าร์ ผู้นำชาวต่าง เฝ้ารอ “พระสงฆ์ผู้ปฏิบัติดีปฏิบัติชอบ” ซึ่งจะมาช่วยฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในประเทศอินเดีย ตามคำพยากรณ์ของ ดร.อัมเบ็ดก้าร์

เมื่อได้มาพบพระอาจารย์ซึ่งกำลังภาวนาเข้มใต้พระศรีมหาโพธิ์ตลอดวันอันร้อนจัด จีวรเปียกชุ่มด้วยเสโท อีกครั้งหนึ่งเมื่อได้ยินท่านบอกบริสุทธิ์ ก่อนจะสวดพระธัมมจักกัปปวัตนสูตร ในถ้ำมหากะลา ณ เทือกเขาดงคสิริ สถานที่ทรงบำเพ็ญเพียรของพระพุทธองค์ก่อนทรงตรัสรู้ พวกเขาได้กระจายข่าวให้ผู้นำชุมชนชาวพุทธในเมืองต่างๆ ในรัฐมหาราษฎร์ได้รับทราบ จึงเกิดการขอเข้ากราบนมัสการพระอาจารย์บนขบวนรถไฟ ขณะท่านเดินทางจากพุทธคยาไปเมืองนาสิก รัฐมหาราษฏร์ และในครั้งนั้นดร.วิโนด รังการี (Dr. Vinod Rangari) แกนนำชาวพุทธเมืองนาคปุระ แห่งรัฐมหาราษฎร์ ได้กราบเรียนหลวงพ่อว่า
“พวกเราเชื่อว่ากูรูยี(Guruji) คือผู้ที่จะสามารถหว่านเมล็ดพืชแห่งพระพุทธศาส!นาลงบนแผ่นดินประเทศอินเดีย จึงขอนิมนต์ให้กูรูยีช่วยทำการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในอินเดีย หากมีสิ่งใดที่กูรูยีเห็นสมควรโปรดบัญชามา พวกเราจะทำตามทุกประการ”
และนี่คือ ประตูด่านแรก ที่เปิดสู่เส้นทางการทำงานเพื่อพระพุทธศาสนาของพระอาจารย์ โดยเริ่มจากการแนะนำและให้คำปรึกษาในการจัดตั้งองค์กรฟื้นฟูพระพุทธศาสนาในชมพูทวีป Buddhist United Dhamma Organization in Jambu D’vipa (BUDOJ) บริหารโดยชาวพุทธอินเดีย ซึ่งบัดนี้ได้ดำเนินการจัดตั้งขึ้นในเมืองต่างๆ เสร็จเรียบร้อย ทั้งนี้พระอาจารย์มีเจตนาจะให้ BUDOJ นี้ เป็นตัวประสาน และดำเนินการในการทำงานเพื่อฟื้นฟูพระพุทธศาสนากับองค์กรพุทธศาสนาต่างๆ ทั่วโลก ณ บัดนี้


ในพรรษา ปี 2552 นี้หลวงพ่อจึงเลือกที่จะจำพรรษาที่กรุงราชคฤห์ เพื่อประกอบศาสนกิจ ประพฤติปฏิบัติธรรม ตามรอยพุทธบาท เพียรเพ่งภาวนา สร้างพลังบารมี เพื่อความพร้อมในการเป็นผู้นำใ!นการฟื้นฟูพระพุทธศาสนา และเพื่อสร้างศรัทธาในพระพุทธศาสนาให้เกิดขึ้นในดวงจิตชาวอินเดีย

วัดเวฬุวันนี้เป็นสถานที่ที่พระสัมมาสัมพุทธเจ้า ทรงจำพรรษาอยู่ ๖ ปี ทรงใช้เป็นที่ประกาศ และ เผยแผ่พระพุทธศาสนาเป็นแห่งแรก ปัจจุบันวัดเวฬุวันมิได้เป็นวัด แต่กลายเป็นสวนสาธารณะ ซึ่งอยู่ในความดูแลของกรมป่าไม้และกองโบราณคดี

หนึ่งในกิจกรรมสำคัญที่หลวงพ่อตั้งใจจะทำให้เกิดขึ้นคือการจัดงานวันมาฆบูชาโลก ซึ่งล่าสุดทราบว่าพระนานาชาติได้จัดประชุมที่สมาคมมหาโพธิ พุทธคยา เพื่อสนับสนุนและให้ความร่วมมือในการจัดงาน “วันมาฆบูชาโลก ๒๕๕๓” ณ วัดเวฬุวันมหาวิหารแล้ว  ตามแนวทางที่หลวงพ่อได้วางไว้ให้ชาวพุทธในชมพูทวีปดำเนินการ และได้มีมติให้การสนับสนุนการจัดงานดังกล่าว โดยมีพระสีวลีมหาเถระเป็นประธานในที่ประชุม
คณะสงฆ์นานาชาติมีมติรับรองว่าจะดำเนินการเรื่องการประชาสัมพันธ์และการเชิญพระจากประเทศต่างๆ มาร่วมในงานวันมาฆบูชาโลก ๒๕๕๓ ครั้งนี้ ซึ่งคงมีพิธีการอันสำคัญเพื่อแสดงให้เห็นถึงความสำคัญของวันมาฆบูชาที่มีต่อพระพุทธศาสนาและพุทธศาสนิกชน เช่น การสวดโอวาทปาฏิโมกข์ และพระสูตรต่างๆที่พระพุทธองค์ได้ทรงประทานไว้ ณ วัดเวฬุวัน โดยเฉพาะพระสูตรสำคัญคือ พระธัมมจักกัปปวัตนสูตร
ส่วนภาคฆราวาส จะมีการรวมตัวของชาวพุทธจำนวนมากในเมืองสำคัญของรัฐมหาราษฎร์ เช่น เมืองนาคปุระ เมืองนาสิก เมืองอัมราวตี ฯลฯ
ดังนั้น  “วันมาฆบูชาโลก ๒๕๕๓” ที่จะถึงนี้ จะยิ่งใหญ่และอบอวลด้วยพระพุทธานุภาพ พระธรรมานุภาพ พระสังฆานุภาพ แผ่พลังไพศาลให้ปรากฏแก่ชาวโลก เพื่อการฟื้นฟูพระพุทธศาสนาที่แม้จะกลับมาสู่ประเทศอินเดียหลังจากที่เคยหายไปแล้วครั้งหนึ่ง ให้กลับมาเข้มแข็งและรุ่งเรืองอีกครั้ง เพื่อการสืบทอดพระพุทธศาสนาให้ดำรงคงอยู่ต่อไปจนถึง ๕,๐๐๐ ปี ตามพุทธทำนาย 

 ..................

 

 

หมายเลขบันทึก: 305897เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 16:13 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ครีเอทีฟคอมมอนส์แบบ แสดงที่มา-ไม่ใช้เพื่อการค้า-อนุญาตแบบเดียวกันจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (10)

ขอบพระคุณที่นำข้อมูลของพระอาจารย์มาให้อ่านกันค่ะ

เวลาท่านอาพาธ ก็จะไม่ยอมให้ผู้หญิง ไม่ว่าจะเป็นหมอ พยาบาล ได้แตะต้องตัว !(อาจต้องยกเว้นเวลาสลบหรือมรณภาพ) และจำเป็นมากที่ต้องมีลูกศิษย์ดูแล เพราะท่านไม่ถือเงินทอง ไม่สะสมเงินทอง แม้มีผู้ถวายเงินท่านสำหรับใช้ส่วนตัว พระอาจารย์ก็ให้ลูกศิษย์จัดการดูแล หรือไม่ก็ตั้งเป็นกองทุนเพื่อเผยแผ่พระพุทธศาสนา หรือทำกิจต่างๆในพระพุทธศาสนา

ท่านเคร่งครัดจริง ๆ นะคะ

แอร์

วรวลัญช์

เท่าที่ผมได้สัมผัสกับพระอาจารย์ในช่วงที่ไปเยือนเดลีนะครับ

ท่านเคร่งครัดในพระวินัยและข้อปฏิบัติมากครับ ยืนยันได้

หากสนใจนะครับ ลูกศิษย์ของพระอาจารย์อยุ่ที่กระทรวงสาธารณสุขเยอะ หากมีใครรู้จักลองหาหนังสือของพระอาจารย์มาอ่านนะครับ ได้ความรู้มากครับ

ขอบคุณที่แวะมาทักทายกันครับ

สวัสดีค่ะ

หนูเคยไปฟังที่กระทรวงฯ 3 ครั้งค่ะ จริง ๆ เค้ามีจัดมาตั้งนานแล้ว แต่หนูไม่เคยเห็นประกาศ หรือถึงเห็นก็อาจไม่เคยสนใจเลย ครั้งแรกที่ไปไม่รู้นึกยังไง เห็นประกาศติดอยู่ แล้วสนใจ ทั้ง ๆ ที่ไม่เคยไป ไม่เคยฟังพระเทศน์ แล้วก็ไม่รู้จักท่านมาก่อนด้วย

รู้แต่ว่าอยากไป วันไป ก็ชวนพี่หัวหน้าไปเป็นเพื่อนด้วย กลัวทำตัวไม่ถูกค่ะ แต่ไปแล้ว ดีมาก พระอาจารย์ก็ดี ผู้จัดงานก็ดี และมีญาติธรรมท่านนึง ให้หนังสือการปฏิบัติธรรมเบื้องต้นของพระอาจารย์มาอ่านด้วย

พอไปแล้วหนูประทับใจ ที่พระอาจารย์สอนเรื่องการแผ่เมตตา 7 ขั้น มาก ทุกทีที่เคยแผ่เมตตาจะเหมือนแค่ ท่อง สัพเพ สัตตาฯ เฉย ๆ แต่พอทำตามพระอาจารย์สอนแล้วเหมือนส่งไปให้พ่อ ให้แม่ได้จริง ๆ ค่ะ ทุกวันนี้ก็ยังถือปฏิบัติอยู่ค่ะ

แล้วพอไปครั้งที่ 2 พระอาจารย์สอนเรื่องการทำสมาธิด้วยการนับ คือ หายใจเข้าพุธ - หายใจออกโธ นับ 1 ทำไปจนถึง 5 แล้วก็หายใจเข้าพุธ - หายใจออกโธ นับ 5 ทำไปจนถึง 1 ทำอย่างนี้ไปเรื่อย ๆ วิธีนี้เหมาะสำหรับผู้ที่ฝึกสมาธิใหม่ ๆ หรือผู้ที่ปฏิบัติมานานแล้วแต่รู้สึกว่าไม่ก้าวหน้า ก็ให้ลองเปลี่ยนมาทำวิธีนี้ดู หนูก็ไม่รู้ว่าคนอื่นรู้สึกยังไง แต่รู้ว่า ตัวเองมาถูกทาง พอกลับไปทำที่บ้าน ก็รู้สึกว่าจิตนิ่งขึ้นมากกว่าแต่ก่อน (แต่ยังมีคิดเรื่อยเปื่อยอยู่นะคะ แต่ทำวิธีนี้แล้วดีกว่าแต่ก่อนจริง ๆ) ครั้งนี้เริ่มพัฒนาไปคนเดียวได้แล้วค่ะ

พอไปครั้งที่ 3 พระอาจารย์สอนเรื่องการเดินจงกรม วิธีนี้ก็ดี แต่หนูยังทำไม่ค่อยคล่องเลย แต่ในช่วงท้ายได้เรียนถามพระอาจารย์ว่า ที่พระอาจารย์สอนนั้นหนูนำกลับไปปฏิบัติที่บ้านหมดเลย แต่มาสังเกตุตัวเองดูว่า ตอนนั่งสมาธิจะไม่ค่อยมีสมาธิ แต่จะมีสมาธิตอนแผ่เมตตา 7 ขั้น ตามที่พระอาจารย์สอนมากกว่า อาจเป็นเพระจิตจดจ่อกับคนที่เราระลึกถึงก็เป็นได้ หนูก็เลยพลิกแพลงใหม่ พอสวดมนต์เสร็จ หนูก็แผ่เมตตาก่อน แล้วค่อยนั่งสมาธิค่ะ รู้สึกว่าดีกว่าเดิมจริง ๆ แต่ไม่ทราบว่าทำผิดหรือเปล่า พระอาจารย์บอกว่า ดีแล้ว ไม่เป็นไร แผ่เมตตาก่อนทำสมาธิก็ได้ เพื่อให้เกิดการ concentrate ค่อย ๆ ทำไป จะดีขึ้น แล้วให้ไปเดิน

จงกรมเพิ่ม (แต่จนป่านนี้หนูยังหา CD การบรรยายของพระอาจารย์ในวันนั้นไม่ได้เลยค่ะ) แค่พระอาจารย์พูดแค่นี้หนูก็มีกำลังใจปฏิบัติแล้ว ไม่ใช่อะไร ทุกทีหนูสวดมนต์นั่งสมาธิเองอยู่ที่บ้าน หนูก็กลัวจะปฏิบัติไปผิดทางเหมือนกัน ก็คิดว่าตัวเองคงมีบุญอยู่เหมือนกัน ที่ได้รับคำชี้แนะจากพระอาจารย์

หนูไปได้แค่สามครั้ง เพราะไม่สามารถลางานไปได้บ่อย ๆ ส่วนวันเสาร์ที่ท่านบรรยายที่มูลนิธิก็ไม่สะดวก เพราะต้องเลี้ยงลูกค่ะ

แต่หนูก็หา CD และหนังสือ ของพระอาจารย์มาฟัง มาอ่านนะคะ ที่สำคัญคือการปฏิบัติทุกวัน หนูเจอท่านแค่ 3 ครั้ง ก็จริง แต่เหมือนหนูได้เจอท่านทั้งปี เพราะเวลาแผ่เมตตา หนูจะนึกถึงหน้าพระอาจารย์ทุกครั้งค่ะ

เขียนมาซะยาวเลย ขอโทษด้วยนะคะ ไว้วันหลังหนูจะเขียน blog ถึงการไปพบพระอาจารย์มาให้อ่านบ้างค่ะ

วรวลัญช์

สวัสดีจ๊ะหนูวรวลัญช์

สาธุกับความตั้งใจปฏิบัติดีของหนู ถือว่าเป็นผู้ใฝ่ในธรรมและมีบุญเก่าสั่งสมอยู่ จึงมิได้ใฝ่ไปในทางอื่น

การปฏิบัติธรรม ต้องทำอย่างต่อเนื่องและเนื่องๆ เรียกว่าไม่ต้องดูข้างๆ หรือข้างหลัง ดูแต่ข้างหน้า เพราะจะเห็นว่ามีทางที่จะต้องเดินต่อไปเรื่อยๆ

หนูเล่าเรื่องได้ดีและจริงใจ จึงควรเล่าบ่อยๆ

ถือเป็นการเผยแพร่เพื่อบุญและกุศล

คนอ่านได้อนุโมทนาสาธุไปด้วย

เจริญสุขจ๊ะ

 

ลืมบอกไปว่า เพราะหนูหาข้อมูลของพระอาจารย์นี่ล่ะค่ะ เลยมาเจออาจารย์แพรภัทรและคุณอาพลเดช (ขออนุญาตเรียกคุณอานะคะ) ใน G2K นี่ล่ะค่ะ

ธรรมะนี่ก็ดีนะคะ ทำให้เราได้รู้จักญาติธรรมในโลกไซเบอร์ด้วย > __ <

วรวลัญช์

ขอให้สุขสันต์ วันแห่งประทีป Diwali

ให้ความสว่างจงปรากฏ ลด ไล่ ทำลายความมืดให้หายไป ชั่วนิรันดร์

อยากสอบถามว่าหลวงพ่อมาที่กระทรวงวันไหนบ้างค่ะของคุณค่ะ

คุณจิรมณฑ์ครับ

ต้องขออภัยจริงๆ ผมอยู่ที่เดลี อินเดีย ไม่ทราบจริงๆ ว่าหลวงพ่อไปกระทรวงสาธารณสุขวันไหนครับ

แต่ค่อนข้างจะแน่ใจว่า หากโทรไปถาม น่าจะมีคนทราบครับ

หรือหากกัลยาณมิตรใน G2K ทราบ ขอความกรุณาแจ้งให้ทราบด้วยนะครับ

22 ตุลาคม 2559 สมโภชกฐิน ณ วัดป่าอารยวังสาราม อ.บางไทร จ.อยุธยา ค่ะ

23 ตุลาคม 2559 สวดพระปริตร ณ วัดระฆังโฆสิตาราม ค่ะ..

29 ตุลาคม 2559 สมโภชกฐิน ณ วัดป่าพุทธพจน์หริภุญไชย ต.ต้นธง อ.เมือง จ.ลำพูน ค่ะ

30 ตุลาคม 2559 สมโภชกฐิน ณ วัดป่าญาณสัมปันโนอารยาราม ต.โยนก อ.เชียงแสน จ.เชียงรายค่ะ

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท