เตรียมเค้าโครงวิทยานิพนธ์ภาคปฎิบัติ + การวางแก้ปัญหาที่ทำให้ขาดสมาธิทำวิจัยของพี่พยาบาล รพ.สารคาม


พี่พยาบาลแห่ง รพ.สารคาม ซึ่งกำลังเรียนสาขาการจัดการสารสนเทศสาธารณสุข มมส. จะต้องเร่งจัดทำโครงร่างวิจัยแล้วครับ

ชื่อโครงร่างวิทยานิพนธ์ที่คิดไว้ คือ "การจัดอัตรากำลังบุคลากรพยาบาล ตามการวิเคราะห์ภาระงานพยาบาล โรงพยาบาลมหาสารคาม"

แนวคิดหลักๆ คือ การศึกษาวิเคราะห์ภาระงาน โดนศึกษาเวลาที่ใช้ในการดูแลผู้ป่วยในแต่ละประเภท แต่ละวันแต่ละเวร โดยการใช้สูตรจากงานวิจัยที่ค้นคว้ามา นำมาปรับให้เหมาะสมกับ รพ.สารคาม รูปแบบการวิจัย เป็นแบบ Action Research ผลที่ได้ จะนำไปทำแผนของ รพ.ต่อไป

การเริ่มต้นศึกษาข้อมูล เจอหนังสือในห้องสมุด จุฬา มหิดล ม.ขอนแก่น ซึ่งได้ติดต่อพรรคพวกให้ไปถ่ายเอกสาร ส่งมาให้พี่พยาบาลที่บ้านพัก เรียบร้อยแล้ว และ เพื่อนร่วมรุ่นที่ สสจ. มุกดาหาร ส่งเอกสารข้อมูล เรื่องการจัดอัตรากำลังมาให้ศึกษาเพิ่มเติม

เทอม summer จะต้องส่งเกรดในวันที่ 15 มิ.ย.2549 นี้ พี่พยาบาลจะต้องรีบอ่าน รีบประมวลข้อมูล และรีบสอบให้ผ่าน รีบจัดทำเค้าโครงฉบับสมบูรณ์ให้เสร็จเร็วที่สุด เนื่องจากติดเงื่อนไขสำคัญ

หลังจากเค้าโครงได้รับการอนุมัติ "ผ่าน" จากคณะกรรมการสอบเค้าโครงแล้ว จะมีสิทธิ์สอบปากเปล่าได้ นับจากวันที่ส่งเค้าโครงฉบับสมบูรณ์....

ถ้าส่งเค้าโครงทัน 15 มิ.ย. นับไปอีก 3 เดือน คือ 15 ก.ย. 49 พี่พยาบาล สามารถสอบปากเปล่า และจบตามหลักสูตรได้ทันในเทอมการศึกษา 1-2549  .. ทันที่จะเข้ารับปริญญาพร้อมกับเพื่อนในรุ่น ส.ม.1 มมส.

ถ้าไม่ทัน คงคิดหนัก เพราะเหลือพี่พยาบาลคนเดียว เป็นนิสิตปริญญาโท คนสุดท้าย ในสาขา.. หรืออาจจะในรุ่น ส.ม.1 ก็ย่อมได้

เพราะเพื่อนร่วมรุ่นที่เหลือ ต่างเร่งมือทำวิจัยให้เสร็จ สอบโดยเร็ว  จะได้เสร็จสิ้นภาระเรื่องการเรียนนี่เสียที




ความจริง พี่พยาบาลมีอุปสรรคเยอะ ทำให้ขาดสมาธิในการทำวิจัยอย่างต่อเนื่อง ทั้งการขึ้นเวรในแต่ละวัน ลูกทั้ง 2 คนที่ติดแม่ไม่ยอมห่าง ทำให้มีเวลาอ่าน ศึกษาเอกสารน้อยลงไปอีก

เพื่อนๆร่วมรุ่น เห็นใจ เทน้ำใจช่วยกันเต็มที่ ทั้งโทรศัพท์ กระตุ้น วางแผนชวนมานั่งทำงานนห้องสมุด มมส. เพื่อจะได้มีสมาธิ ถ้าลูกทั้ง 2 คนตามแม่มาด้วย เตรียมแผนสำรองไว้อีกชั้น พี่หมออนามัย ที่จะมานั่งวิเคราะห์ข้อมูลที่ห้องสมุด มมส. ก็จะพาลูกสาวทั้ง 2 คนมาด้วย ให้เด็กๆ พากันไปเล่นที่ไหนซักแห่ง ให้พี่พยาบาล กับพี่หมออนามัย มีสมาธินั่งทำงาน

เวลาที่มีน้อยลง จากวันนี้ ถึง 15 มิ.ย. ความจริง ควรจะสอบเค้าโครงผ่าน 5 มิ.ย.  จะมีเวลาเรียบเรียงเค้าโครงเพียงไม่กี่วันเท่านั้น

พี่พยาบาลจะต้องจับประเด็น มองเห็นภาพรวมให้ได้  เพื่อนๆเตรียมแผนช่วยเหลือกันเต็มที่

คราวนี้ มาถึงทฤษฎีที่หลายคนชอบอ้างอิงกันมาก 
ซึ่งบางครั้ง เมื่ออ้างหลักการ และทฤษฎีที่อ่านแล้วดูดี แต่เมื่อเจอสถานการณ์จริง กลับทำตามหลักการไม่ได้เลย ก็มีให้เห็นกันบ่อยๆไป

พลิก ขั้นตอนการศึกษาค้นคว้าเพื่อเขียนบทนิพนธ์ จากคู่มือการเขียนบทนิพนธ์ ของ มมส
ในส่วนที่พี่พยาบาลจะต้องดำเนินการในช่วงเวลาไม่กี่วันนี้ครับ

เพื่อให้การเขียนบทนิพนธ์เป็นไปด้วยดีมีประสิทธิภาพ ในการเขียนบทนิพนธ์ควรปฏิบัติตามขั้นตอนดังนี้

1. การเลือกเรื่อง
  ควรคำนึงถึงสิ่งต่างๆ ดังนี้
  1.1 เวลาที่จะต้องส่งงาน เพื่อให้ได้งานมีคุณภาพดีทันตามเวลาที่กำหนด
  1.2 ควรเลือกเรื่องที่ตนสนใจจะศึกษาค้นคว้าให้ละเอียดลึกซึ้ง และเป็นเรื่องที่มีประโยชน์
  1.3 เรื่องที่เลือกจะต้องมีวัสดุสารนิเทศ สำหรับศึกษาค้นคว้าได้อย่างเพียงพอ
  1.4 ขอบเขตบทนิพนธ์ไม่ควรกว้างเกินไป จะทำให้ไม่สามารถศึกษาได้อย่างลึกซึ้ง
  1.5 เรื่องที่เลือกไม่ควรยากและซับซ้อนเกินไป
  1.6 เมื่อเลือกเรื่องแล้ว ควรปรึกษาอาจารย์เพื่อขอคำแนะนำ


2. การสำรวจและการอ่านเพื่อค้นคว้ารวบรวม
  2.1 ดูรายการค้นที่เรียกว่า OPAC (Online Public Access Catalog) รายการค้นที่ควรได้อย่างยิ่ง ค้นหาเรื่องที่ต้องการ คือ หัวเรื่อง (Subject Heading)  และหัวเรื่องย่อย (Subheading)
  2.2 ดูดัชนีวารสาร (Periodical Index) เพื่อค้นหาบทความเกี่ยวกับเรื่องที่จะเลือกเขียน
  2.3 ดูจากหนังสืออ้างอิง  จากจุลสาร ตู้กฤตภาค ฐานข้อมูล CD-ROM
  2.4  อ่านบทความ (Articles)  เกี่ยวกับเรื่องที่ตนจะเขียนบทนิพนธ์ในวารสาร หรือ สารานุกรม ซึ่งจะช่วยให้เห็นความหมาย ขอบข่าย และหัวข้อย่อยของเรื่อง อีกทั้งในตอนท้ายของบทความมักจะมีบรรณานุกรมที่ผู้ศึกษารวบรวมไว้สำหรับการค้นคว้าต่อไป
  2.5 เลือกหนังสือเกี่ยวกับเรื่องที่จะเขียนอีก 3-5 เล่ม ดูสารบัญและดัชนีที่มีอยู่ในหนังสือแต่ละเล่ม เพื่อใช้ในการวางโครงเรื่อง


3. การวางโครงเรื่อง
   3.1  โครงเรื่องประกอบด้วย หัวข้อ และหัวข้อย่อย
   3.2  การใช้ชื่อหัวข้อ ควรสั้นๆ กระทัดรัด ได้ใจความครอบคลุมเนื้อหาในตอนนั้นๆ โดยเฉพาะ
   3.3 หัวข้อในโครงเรื่องจะต้องมีความสัมพันธ์ต่อเนื่องกันโดยลำดับ


4. การเตรียมทำบรรณานุกรมขั้นแรก
  ควรมีบัตรบันทึกสำหรับเขียนบรรณานุกรม และบันทึกข้อความหรือเนื้อหาจากหนังสือและวัสดุสารสนเทศ ซึ่งในระหว่างรวบรวมนั้น จะมีทั้งหนังสือและวัสดุสารสนเทศที่จะใช้จริงในขั้นสุดท้าย และที่อ่านแล้วไม่ตรงกับความต้องการ ฉะนั้น บรรรณานุกรมจึงต้องปรับปรุงเพิ่มเติมและตัดทอนจนกว่าจะเรียบร้อย

คำสำคัญ (Tags): #ส.ม.1#มมส#learning
หมายเลขบันทึก: 30577เขียนเมื่อ 24 พฤษภาคม 2006 11:10 น. ()แก้ไขเมื่อ 31 มีนาคม 2012 21:17 น. ()สัญญาอนุญาต: จำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (1)
 ขอให้ประสบความสำเร็จอย่างที่ตั้งใจไว้ ...

http://gotoknow.org/panarat

 

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท