โง่ก่อน มี "โอกาส" ก่อน...


ยุคสมัยนี้จะเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ Econony of Speed... ก็ได้ คือ "ใครเร็ว ใครได้"

บันทึกนี้ขอโอกาสต่อยอดการ "ปั่นเกลียวความรู้" จากบันทึก  ชมรมนักปั่นสัญจรครั้งที่ ๓ : โง่อย่างเดียวไม่พอต้อง “บ้า” ด้วย... ซึ่ง "นักปั่น" หลักครั้งนี้ได้แก่ ใบไม้ร้องเพลง


 

อย่างที่เรามานี้เขาเรียกว่า "โง่อย่างถูกที่ ถูกเวลา..."

เวลาที่สมควรโง่ก็โง่ เวลาที่เข้าไปในเตาเผาศพนั้นก็ต้องโง่อย่างนี้แหละ

เห็นไหมมีคนฉลาดนั่งดูข้างนอกอยู่สองคน (คนงานไง) เขาฉลาดอย่างไร...?

เขาฉลาดที่คิดโน่น คิดนี่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง "คิดกลัว" คิดกลัวกับสิ่งที่ไม่ได้มีอะไร ไม่ได้เป็นอะไรเลย...

ความคิดมันมาหลอกเราทั้งนั้น คนฉลาดมากก็คิดมาก คิดมากก็กลัวมากอยู่อย่างนั้น

ความคิดต่าง ๆ นั้นเป็นสิ่งปิดกั้นโอกาสในการกระทำของเราหลาย ๆ อย่าง

ก็เพราะว่าเรามัวแต่นั่งคิด คิด คิด คิด แล้วก็คิด

คิดได้ก็ทำ คิดไม่ได้ก็ไม่ทำ

คนโง่อย่างพวกเรานั้นต้องรู้ว่าสิ่งใดควรคิด สิ่งใดไม่ควรคิดอย่างนี้แหละถูกต้องแล้ว

การมีโอกาสทำความดีนั้น ไม่ต้องเสียเวลาคิด

ตอนนี้ก็ไม่รู้ว่าชายหนุ่มชื่อน้อยนั้น กลับไปนั่งคิดเสียใจที่ "คิดนาน" ปล่อยให้ "ใบไม้ร้องเพลง" กระโดดเข้าไปใน "เตาเผาศพ" ก่อนหรือเปล่า...

นี่เองเขาเรียกว่า "เสียเวลาคิด" เสียโอกาสที่จะ "ทำความดี"

คนที่ไม่ได้คิดอะไร เขาจะทำอะไรเขาก็ "ทำไปเลย"

ส่วนคนคิดมากต้องคิดให้ดีก่อน

อย่างเช่นครั้งนี้มีคนเดียวที่มี "โอกาส" จะได้เข้าไป

คนไม่คิดเข้าก่อน คนที่คิดอยู่ คิดได้ก็เข้าไปไม่ทันแล้ว...

ยุคสมัยนี้จะเรียกได้ว่าเป็นยุคสมัยของ Econony of Speed... ก็ได้ คือ "ใครเร็ว ใครได้"

ใครทำอะไรเร็วกว่าคนนั้นมี "โอกาส" ก่อน...

คนคิดมาก คิดโน่น คิดนี่ อาจจะคิดดีแต่ "ช้า..."

ยุคสมัยก่อนเป็นยุคสมัยของ Economy of Scale ทำอะไรมาก ๆ เยอะ ๆ แล้วถูก แล้วดี แต่ยุคสมัย "จรวด" นี้ ไม่ทัน "กาล..."

สิ่งนี้นั้นเองคือข้อได้เปรียบของ "คนโง่" คือ จะคว้าโอกาสดี ๆ ได้ "เร็ว" กว่าคนฉลาดเพราะไม่ต้องเสียเวลา "คิด" มาก

คนฉลาดมากยิ่งมี "ข้อมูล" มาก

การมีข้อมูลมากนั้นทำให้การตัดสินใจนั้น "ช้า"

สื่อต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งระบบการศึกษานั้นทำให้เรารู้มากแล้ว "คิดมาก"

แต่ระบบการศึกษานั้นไม่ได้ทำให้เราใช้ความรู้ที่มีมากนั้นมาทำให้ชีวิตนี้ "ดี" ขึ้นเลยในแง่ของ "โอกาส..."

โอกาสของคนเรียนมาก รู้มากนั้นมักสูญหายไปกับ "อัตตา" และ "ตัวตน"

หยิ่ง ผยอง ลำพองอยู่ว่าตนเองรู้มากกว่าคนอื่น พอคนอื่นพูดอะไร บอกอะไร ให้ทำอะไร ก็มัวแต่ "ยะโส" คิดว่า ฉันแน่ ฉันแน่ เรื่องอะไรฉันจะไปทำอย่างนั้น

การปฏิเสธเสียก่อนที่แม้นเพียงจะฟังข้อมูลต่าง ๆ ให้จบนั้นเป็นการเสียโอกาสของชีวิตอย่างใหญ่หลวง

ยิ่งเมืองนอก เมืองนา ยิ่งเป็นกันมากนะ

สัปดาห์ก่อนเจอโยมป้าที่ไปอยู่เมืองนอกเมืองนามานาน จะทำอะไรแต่ละอย่างคิดมากน่าดู เหตุผลเยอะ ไม่เชื่อเรื่อง "นอกเหตุ เหนือผล"

ตอนนี้โยมป้าบินกลับเมืองนอกไปแล้ว วัดก็ไม่ได้ไป ไม่ได้เจอหลวงพ่อฯ ไม่ได้ทอดกฐิน ก็เพราะคิดมาก สังคมเมืองนอกเขาสอนให้ "สนุกสนาน" กลับมาเมืองไทยต้องไป "สนุกสนาน" ญาติ ๆ ไม่ได้เจอกันนาน นัดมากิน นัดมาเที่ยว และโดยเฉพาะอย่างยิ่งการจัดการ "ทรัพย์สมบัติ"

โยมป้าก็เลยวุ่นวายแต่เรื่องของ "ทรัพยสมบัติ" ตามค่านิยมของเมืองนอกที่ได้รับมา

วุ่นวายติดต่อธุรกิจว่าบ้านหลังนี้ที่ไม่มีใครอยู่จะทำอย่างไร วางแผนโน่น วางแผนนี่ จะปรับปรุง จะหาลูกค้าเมืองนอกมาเช่าอย่างไร ทำไป ทำมา จะชวนไปวัด ไปไหนก็ "ไม่ว่าง" เอาไว้ "โอกาสหน้า..."

ตอนเจอกันครั้งสุดท้ายเราก็เลยบอกโยมป้าว่า โอกาสหน้าก็ว่ากันใหม่ "ชาติหน้า" เลยนะ

แต่นั่นก็เน๊อะ จะว่าท่านก็ไม่ถูก เพราะสังคมที่ท่านอยู่เขามี "ค่านิยม" ประพฤติ ปฏิบัติกันมาอย่างนั้นจนเป็น "ประชาธิปไตย"

ใคร ๆ ที่นั่นเขาก็ทำกันอย่างนี้ ถ้าเกิดจะไปทำอย่างอื่น ไม่ทำตามอย่างเขาก็เป็นคนแปลก "แปลกประหลาด"

การไปอยู่เมืองนอก เมืองนาก็มิใช่ว่าดีเสมอไปนะ

เพราะว่าถ้าหากเราไม่เข้มแข็งพอ เราก็จะไปซึมซับวัฒนธรรมเขาแล้วมา "ทับ" วัฒนธรรมเรา

แต่ถ้าเราเข้มแข็งดีแล้วในระดับหนึ่ง การไปได้รู้ ได้เห็น "สรรพสิ่ง" ในโลกใบนี้ ก็จะทำให้เราได้เห็นเหรียญทั้งสองด้าน

ต้องระวังให้ดี อย่าให้เหรียญด้านนอก มาทับเหรียญด้านใน รู้อะไรต่ออะไรจากภายนอกแล้วก็นำมาทับสิ่งดี ๆ ที่มีอยู่ภายใน คุณธรรมความดีงามที่สังคมไทยเคยมี เคยฝากไว้ตั้งแต่รุ่นปู่ ย่า ตา ยาย...

งานที่ทำเมื่อวานนี้มี "อานิสงส์" มากนะ

มรณสติกัมมัฏฐาน เป็นประโยชน์อย่างยิ่งสำหรับชีวิตที่ยังดำเนิน "ชีวิต" อยู่ในสังคม

ระลึกถึงความตายให้มาก ชีวิตนี้จะตั้งอยู่บนความ "ไม่ประมาท..."

บุญ กุศล พลาอานิสงส์ใด ๆ ที่เกิดได้ เกิดมีในครั้งนี้ ขออุทิศให้แด่ผู้ที่จากโลกนี้ไป ผู้ที่ "เสียสละ" ชีวิตให้เราได้ระลึกถึงซึ่ง "ชีวิต..."

ชีวิตนี้จึงเป็นธรรมะที่ทรงคุณค่านัก

การให้ธรรมเป็นทาน ย่อมชนะการให้ทั้งปวง...

หมายเลขบันทึก: 305727เขียนเมื่อ 14 ตุลาคม 2009 07:33 น. ()แก้ไขเมื่อ 6 กันยายน 2013 21:43 น. ()สัญญาอนุญาต: ไม่สงวนสิทธิ์ใดๆจำนวนที่อ่านจำนวนที่อ่าน:


ความเห็น (7)

สาธุเจ้าค่ะ

ของอุทิศกุศลที่เกิดขึ้น ให้กับผู้ที่เสียสละชีวิต ให้หนูได้เรียนรู้เรื่องนี้ อย่างถึงอกถึงใจ

เป็นโอกาสที่หาได้ยากยิ่ง กราบขอบพระคุณพระอาจารย์ ของพระคุณพี่ Kapoom

กราบขอบพระคุณพี่น้อย ขอบพระคุณคนขับ Taxi และทุกสรรพสิ่งที่มีผลเกี่ยวเนื่อง

ให้เกิดการกระทำอันเป็นกุศลนี้ ขอให้ทุกสรรพสิ่งได้รับผลนี้ด้วยเทอญ

 

 

รู้สึกดีที่ได้อ่านเรื่องดีดี การทำความดี ของคุณใบไม้ร้องเพลง

บางครั้งการทำความดีนั้น ก็ประกอบด้วยหลายอย่าง โดยเฉพาะ { โอกาส }

ซึ่งน่าจะเป็นสิ่งที่สำคัญที่สุด ถ้าไม่มีโอกาส ก็คงไม่ได้ทำ

ดีมาก ดีมาก เดี๋ยวอย่างไรมีโอกาสจะให้ไปช่วยเก็บกระดูกที่เชียงใหม่บ้าง...

หลาย ๆ คนมีโอกาสแต่ด้วยความ "คิดมาก" ก็ทำให้โอกาสหลุดลอยไป

มีโอกาสผ่านเข้ามาต้องรีบคว้า รีบจับไว้ให้ "มั่น" นะ เพราะถ้าโอกาสผ่านไปแล้ว โอกาสก็จะไม่มีทางได้หวนคืนกลับมาใหม่

เหมือนดั่งเช่นครั้งนี้ "ชมรมนักปั่นสัญจร" ครั้งนี้ แบบนี้ก็มี "ครั้งเดียว"

เรื่องอะไรบ้า ๆ โง่ ๆ แบบนี้ก็มีกันแค่ครั้งเดียว จะไปมัวคิดว่าโง่ไหม บ้าไหม จะบ้า จะโง่ดีไหม แล้วเห็นไหมเสียโอกาสให้ "ใบไม้ร้องเพลง" ไปเลย

เนี่ยแหละเขาถึงเรียกว่าทำอะไรใกล้ ๆ "เมรุ" เป็น "บุญใหญ่"

เป็น "บุญใหญ่" เพราะว่าเราได้รู้จักพิจารณาถึงความตายในทุก ๆ "ลมหายใจ..."

สาธุทำอะไรที่ใกล้ๆเมรุ เป็นบุญใหญ่

ทั้งภาพและบทความเป็นบุญที่ได้อ่าน

กราบขอบพระคุณค่ะ

ยินดีอย่างยิ่งเจ้าค่ะ หากมีโอกาส จะมิมีอิดออดเจ้าค่ะ

ผลที่ปราการณ์จากวันนั้น ทำให้หนูมีอะไรที่ค้างคาในใจ

ให้รีบจัดการ  รีบสะรีบสาง ไม่ให้เป็นขี้วัว ที่ต้องถือต้องแบก

ปรากฏว่าใจเบาขึ้น เพราะมันคิดว่าต้องรีบทำ เดี๋ยวตายแล้วอด

 

ได้ทำความเข้าใจว่า ปัญหาที่ค้างคาใจหลายอย่าง แท้ที่จริง ไม่ใช่ผู้อื่น

ทำให้เกิดขึ้น พอมีโอกาสได้ลงมือสะสาง กลับพบว่า

 

เรานี้แหละ เป็นผู้ไม่รู้จักให้อภัยตนเอง ตลอดมา

เพราะทุกคนพร้อมจะให้อภัยคน รู้จักสำนึกเสมอ

มีเพียงความคิดเราเอง ที่ไม่เปิดโอกาสให้ตนเองได้ ออกจากคุก ที่คุมขังใจ

ด้วยเรื่องราวมากมาย

 

มองย้อนไป โอ้ ผู้หญิงคนนั้นช่างน่าสงสาร

มีความโกรธ ความ เพ่งโทษ ความไม่พอใจ

มีขี้วัว เกาะเต็มหัว เกาะ เต็มใจ

แต่พอยอมรับว่า สิ่ง ๆ นั้นเป็นขี้วัว เป็น ปฏิกูล

เป็นส่วนเกินของใจ ค่อย ๆ ใช้ สติ ค่อย ๆ ใช้ปัญญา สะสางปัญหาคาใจ

 

ใจมันโล่ง ปราศจากการดึงรั้ง ไม่มียึด ไม่มีผลักไส แต่ก็ไม่ใช่เฉย ๆ

มันเป็นสภาพวะ ว่าง ๆ ไม่คุ้นเคย

จนครูบาอาจารย์ท่านเมตตาชี้แนะว่า สิ่ง ๆ นี้คือ วาง  

คนเดี๋ยวนี้อ่านหนังสือธรรมะกันมากก็เลยรู้มาก

คนเดี๋ยวนี้ฟังซีดีธรรมะกันมากก็ยิ่งรู้มาก

แต่สัดส่วนแห่งความรู้มากเมื่อเทียบกับการ "ปฏิบัติ" แล้วนั้น การปฏิบัติมีสัดส่วนที่น้อยกว่ามาก

ธรรมะนั้นจักเกิดขึ้นได้ด้วยการ "ปฏิบัติ"

เพราะธรรมะนั้นเป็น "ปัจจัตตัง" ธรรมะนั้นเป็นสิ่งที่รู้และเห็นได้ด้วยตนเอง

มรณานุสสติกัมมัฏฐานก็เช่นเดียวกัน

จะท่องเอา อ่านเอามันก็ไม่ได้ดอก ไม่ได้ผล

ต้องสู้ ต้องลงมือปฏิบัติ

นำชีวิตนี้ให้เข้าไปอยู่ใกล้ความตายให้มากที่สุด "ตายเสียก่อนตาย"

ใครหน้าไหนเล่าที่จะ "หนีความตาย" ไปได้พ้น...

คนในสังคมทุกวันนี้จึงหนีความจริง ความจริงแห่ง "ความตาย..."

จะรวยสักเท่าใด จะหล่อ จะสวยสักปานใด ถึงคราวจะตายอะไรอะไรก็ "ช่วย" ไม่ได้

คนเราเดี๋ยวนี้เหนื่อยกันมาก เหนื่อยหาเงิน หาทอง บำรุงหน้า บำรุงตา หาแล้วก็ตาย สวยแล้วก็ "ตาย..."

ไม่รู้สินะ ทำไม "เงิน" ถึงมีค่า มีบทบาทสำคัญต่อคนในสังคมแห่งนี้

ทำไมคนถึงเอา "เงิน" เป็นตัวกำหนด "ทิศทาง" ของชีวิต

มีเงินก็ตาย ไม่มีเงินก็ตาย

มีเงินน้อยก็ตาย มีเงินมากก็ตาย

ตายไปก็เอาเงินสักแดงไปไม่ได้...

ตอนเช้า ๆ เห็นมนุษย์เงินเดือนขับรถกันให้ขวักไขว่

ขับรถไปทำงาน "หาเงิน หาทอง..."

ออกจากบ้านกันตั้งแต่เช้า "กุลี กุจอ..."

กว่าจะกลับบ้านก็ดึก "เหนื่อยจนสายเอ็นแทบขาด"

สิ้นเดือนมาก็ได้ผลตอบแทนเป็น "เงินบาท" ก่อนกลับบ้านก็แวะจ่ายตลาด ใช้หนี้ ใช้สิน...

ในอีกทาง สุนัขตัวจ้อย เจ้าของมีข้าวให้ตอนเช้าหนึ่งกาละมัง ตอนเย็นหนึ่งกาละมัง

กินอิ่มแล้วก็นอนผึ่งแดดหลับ "สบาย..."

ตอนเย็นก็วิ่งไป วิ่งมา วิ่งเล่นกับ "เพื่อน ๆ" สบาย...

แต่สัตว์ประเสริฐอย่างเราน่ะสิ

ทำงานก็เหนื่อยแล้ว กลับบ้านยังต้องมีภาระหนี้สินติดตามมาจนต้องนอนเอาเท้าก่ายหน้าผาก

ถึงแม้นจะมีเตียงนุ่ม ๆ แต่ก็นอนไม่มีความสุขสู้สุนัขที่นอนเล่นอยู่ข้างถนน

เฮ้อ เกิดเป็นคน คนมีกรรม กรรมของคน คน "กรรม" เงิน...

พบปัญหาการใช้งานกรุณาแจ้ง LINE ID @gotoknow
ClassStart
ระบบจัดการการเรียนการสอนผ่านอินเทอร์เน็ต
ทั้งเว็บทั้งแอปใช้งานฟรี
ClassStart Books
โครงการหนังสือจากคลาสสตาร์ท